รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน เรื่อง/ภาพ
ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมากำหนดแผนการพัฒนาจังหวัด ในพื้นที่ภาคอีสานใต้ นอกจากจังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีการประกาศธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข และประกาศใช้แผนพัฒนาภาคประชาชนสู่เมืองธรรมเกษตรแล้ว ที่จังหวัดสุรินทร์เอง ภาคประชาชน และภาคีหลายภาคส่วน กำลังดำเนินกระบวนการทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และกำลังจะขมวดความต้องการร่วมกันของคนสุรินทร์ผลักดันสู่แผนการพัฒนาในระดับจังหวัด ซึ่งจะมีการประกาศแผนในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 นี้ เพื่อให้คนสุรินทร์อยู่ดีมีสุข หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า “สุรินทร์โนวเจียเมียนเซาะ” กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด ให้เกิดขึ้นในทศวรรษหน้าให้ได้
(1) “สุรินทร์โนวเจียเมียนเซาะ”
ถ้าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริง มีการวิแคราะห์กันว่า “คนสุรินทร์คือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง” คำนี้ทำให้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสุรินทร์ คิดเห็นร่วมกันว่าต้องปลุกให้พี่น้องคนสุรินทร์ได้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการออกแบบแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และผลักดันให้เป็นแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่ความอยู่ดีมีสุข หรือโนวเจียเมียนเซาะ
นางลาวัณย์ งามชื่น ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสุรินทร์ มองว่า การจะไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนสุรินทร์นั้น ขึ้นอยู่กับพี่น้องที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง โดยต้องกินอิ่ม อิ่มในที่นี้ไม่ใช่อิ่มท้องอย่างเดียว แต่ที่พี่น้องคิดคืออิ่มอกอิ่มใจ อิ่มในที่นี้อาหารต้องปลอดภัย เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและเรื่องสุขภาวะต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนคำว่านอนอุ่นที่พี่น้องทำยุทธศาสตร์นี้ไว้ อุ่นในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ในที่ดินทำมาหากิน ทุนในที่นี้คือเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติก็มี ทุนในเรื่องของการมีกลุ่มมีองค์กร มีคนที่ลุกขึ้นมาทำงานภาคประชาสังคม หรือที่เราคุ้นชินกับคำว่าเอ็นจีโอ ทุนดีๆ ของคนในสุรินทร์มีค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าแหล่งของพลัง ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เราจะเอาเรื่องดีๆ เหล่านี้มาทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องดีร่วมกันได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่กำลังร่วมกันผลักดัน
และเรื่องหนี้ลด ที่มาเป็นปัญหาอันดับหนึ่งจากการสะท้อนของคนสุรินทร์ในเวทีรับฟังจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งต้องมีการจัดการด้วยการลุกขึ้นมาจัดการตนเองเบื้องต้นให้เป็นระบบอย่างไร โดยเป็นการเอาปัญหาที่เราเจอมาออกแบบจัดการร่วมกัน และหน่วยงานที่ถูกมอบหมาย จัดตั้งให้มาดูแลคุณภาพชีวิตของคนสุรินทร์ จะได้เอาแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของภาคประชาชนที่ออกแบบเอง และเจ้าของที่จะถูกพัฒนาถูกแก้ปัญหาเอาไปจัดการตรงนั้นร่วม เป็นสิ่งที่พี่น้องต้องลุกขึ้นมาออกแบบเอง ต้องกล้าที่พร้อมจะให้คนสุรินทร์รับรู้ว่าสิ่งที่พี่น้องคิดต้องจัดการแบบนี้ จะต้องรวมพลังให้เห็นเป็นนโยบายของจังหวัดให้ได้
เพราะ “คนสุรินทร์ กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด คือเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดสุรินทร์ จะร่วมมือกับท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และกลไกภาครัฐขับเคลื่อนร่วมกันผ่านแนวทางสำคัญที่เน้นการพัฒนาจากฐานราก เสริมศักยภาพคนทำงาน ก่อรูป เชื่อมร้อย ถักทอเครือข่ายให้เข้มแข็ง และมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตคนสุรินทร์ได้อยู่ดีมีสุข อันเกิดจากความต้องการ และการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดสุรินทร์ กล่าวย้ำ
(2) กินอิ่ม
ย่างเข้าเดือนหกหลังสัญญาณฝนแรกที่รินบอกให้ชาวนาเริ่มเตรียมดิน รอท่าฤดูแห่งการหว่านดำ แต่ยุคสมัยนี้พอผ่านฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาบางส่วนก็ขายข้าวทั้งหมดของตน โดยไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ปลูกในปีถัดไป หวังก็แต่จะซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากศูนย์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งมีไม่เพียงพอจำหน่าย แต่ต่างจากที่ ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันทำในเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูกเอง ที่เหลือก็จำหน่าย
นายอดิศักดิ์ ศรีอนุช ประธานศุนย์พันธ์ข้าวบ้านลูกควาย ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ ที่เริ่มทำนามาตั้งแต่อายุ 14 ปี บอกกับผมว่า ทุกวันนี้ในเรื่องของการทำนา ชาวนามักจะใช้เงินลงทุนอย่างเดียว ปุ๋ยก็ลงทุน จ้างไถก็ลงทุน ทุกอย่างลงทุนหมด และทำนาหว่าน ไม่ได้ทำนาหยอด นาโรย นาดำ เมื่อขายข้าวได้ราคาถูก มันจะไม่พอกับการต้นทุนกันเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราทำเองจะมีความผูกพัน ถ้าเราทำเองมันลงทุนน้อย เรื่องข้าวมันเป็นอาชีพของชาวนา ที่ทำข้าวไว้กินเอง ทำข้าวไว้จำหน่าย ถ้าเราทำข้าวพันธุ์ดีไว้เราจะได้มีพันธุ์ไว้ใช้ในปีต่อไป
แต่ทุกวันนี้ที่ตำบลศรีสุข ก็ยังมีชาวนาบางคนเลือกข้าวพันธุ์ไว้ใช้เองในปีต่อไป ก็มีบ้างที่เก็บเกี่ยวเลือกเมล็ดพันธุ์ดีไว้ใช้เอง ซึ่งถ้าแต่ละครอบครัวหันมาทำเมล็ดพันธุ์แค่เพียง 1 ไร่ ในที่นาตนเอง ก็เพียงพอที่จะใช้แล้ว ซึ่งปีที่แล้วมีสมาชิกศูนย์ฯ 40 คน หันมาทำเมล็ดพันธุ์ข้าว ผลผลิตปีแรกที่ส่งไปตรวจคุณภาพที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ก็เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก มีสมาชิก 36 คน ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ได้พันธุ์ข้าวรวมกันกว่า 63 ตันกว่า จากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เริ่มต้นจำนวนเพียง 3 ตัน
“เราทำในเรื่องของพันธุ์ข้าว และมีโรงสีชุมชนของตนเอง ก็ได้สีข้าวเปลือกของเราเอง กินอิ่มเราก็มีข้าวสารให้กินอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือจากที่เรากิน เรามีปัจจัยที่ขายข้าวพันธุ์คุณภาพดี ถ้าเราข้าวขายทั่วไปกิโลกรัมละไม่เกิน 12 บาท ถ้าขายข้าวพันธุ์จะได้กิโลกรัมละ 23 บาท ถือว่าส่วนต่างก็ช่วยดูแลในครอบครัวดีขึ้น ได้ซื้ออยู่ซื้อกินได้ใช้หนี้ อะไรต่างๆ ทำนาข้าวพันธุ์ก็ได้มาขายคนละ 3 ตัน คนละ 4 ตัน ก็พออยู่ได้แล้ว” ประธานศุนย์พันธ์ข้าวบ้านลูกควาย พูดปิดท้ายการสนทนา ยืนยันว่าการทำเมล็ดพันธุ์ข้าวนอกจากจะทำให้อิ่มแล้วยังมีเหลือพอจุนเจือค่าใช้จ่ายอื่นด้วย
ถ้าเรื่องข้าวเป็นฐานสำคัญของการกินอิ่มแล้ว การทำไร่นาผสมผสานจะทำให้เกิดการออมฐานทุนชีวิตด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน อย่างนายไมตรี พร้อมเพรียง เกษตรกรไร่นาผสมผสาน ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ บอกกับผมในขณะที่พาดูการปรับที่นา 10 ไร่ มาปลูกพืชปลูกต้นไม้ที่หลากหลายในที่ของตนเองว่า “ณ ปัจจุบันเราซื้อกินซื้อใช้ โดยใช้เงินเป็นหลัก แต่ว่าการที่มาได้เงินคืออะไร ก็มีแต่หนี้อย่างเดียว เพราะฉะนั้น ผมก็เลยได้แนวคิดในส่วนตรงนี้ว่า สิ่งที่เราจะต้องมาทำอยู่ทำกินให้เกิดความยั่งยืนในตนเองนั้น เราจะต้องมาออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่ทำให้เกิดบำนานชีวิตของตนเอง จากเกษตรเชิงเดี่ยวเราก็ทำมาแล้ว ทำนาอย่างเดียว หรือทำไร่อย่างเดียว มันไปสู่ความล่มสลาย เพราะเนื่องจากเราต้องใช้ทุนมาก ตรงนี้เองเราก็พลิกกลับมาว่า การผสมผสานในน้ำมีปลาในนามีข้าว ในบ่อในขอบสระทุกสิ่งทุกอย่างเรามีของกินโดยไม่ต้องซื้อหา สิ่งเหล่านี้มันก็มาจุนเจือครอบครัวของเรา”
ห่างกันไม่ไกลจากที่ของนายไมตรี แปลงผักขนาด 1 งาน ที่ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ของนายวิลัย บุญอุ่น เกษตรกร ต.ศรีสุข เต็มไปด้วยพืชผัก ทั้งผักกาด ฟักทอง มะละกอ พริก มะเขือ มะเขือพวง ฟักแฟง บวบ ชะพูล โหระพา บลาๆๆๆๆ ในขณะที่ลุงกำลังเก็บถั่วฝักยาวเพื่อเป็นกับข้าวมื้อเย็น ผมก็ขอเด็ดมาชิมไปหลายฝักบอกแลยว่าหวานกรอบอร่อยมาก และยิ่งเพิ่งผ่านฝนมาใหม่ลุงบอกว่าถั่วฝักยาวจะมีรสชาติดีเป็นพิเศษ ซึ่งผักในแปลงของลุงนั้นลำพังกินแค่ในครอบครัวไม่หมดแน่ เลยสามารถแบ่งให้เพื่อนบ้านอยู่บ่อยครั้ง และขายสร้างรายได้ให้เกือบทุกวัน
นอกจากการทำกินในพื้นที่ตนเองของคนตำบลศรีสุขแล้ว ป่าชุมชนโคกชะนำในพื้นที่ 21 ไร่ ก็เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งยาสมุนไพร ที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นซุปเปอร์มาเก็ตมาจับจ่ายฟรีของคนที่นี้ พระอาจารย์อรุณ ปัญญาทโร สำนักสงฆ์ป่าโคกชะนำ บ้านโนง ต.ศรีสุข เล่าให้ฟังว่า “ป่าชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นโดยที่เมื่อก่อนญาติโยมเขาอนุรักษ์ไว้ เป็นป่าช้าเก่า ที่นี้ชาวบ้านก็มีการประชุมร่วมกันว่าต้องอนุรักษ์ป่าไว้ เพื่อให้เป็นที่อาศัย หรือการใช้ในเรื่องของการเก็บอาหาร อาศัยกิน นับตั้งแต่พืชผักผลไม้ และก็แมลง ถ้าตามปกติก็จะได้เก็บเห็ดเป็นอันดับแรก ซึ่งมีเห็ดปลวกเห็ดโคน เห็ดอะไรเยอะแยะมากมาย ที่ญาติโยมเข้ามาเก็บ เข้ากี่รอบก็สามารถได้กลับไป บำรุงใช้กินที่ครอบครัวตัวเองได้ ด้วยของอยู่ของกินที่มีเช่นสมุนไพรก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เป็นของชุมชนสามารถจะมาหาเอาไปต้มรับประทานแก้โรคต่างๆ เนื่องจากป่าตรงนี้ไม่มีการฉีดพ่นสารพิษ กินอิ่มก็คือกินแล้วไม่มีพิษมีภัย สามารถไปบำรุงรักษาซึ่งก็เป็นสมุนไพรเสริมสร้างอีกต่างหาก”
(3) นอนอุ่น
ที่ชุมชนศรีบัวลาย เทศบาลเมืองสุรินทร์ น้าเหมา (นายสวาท สมใจ) ประธานชุมชนแห่งนี้ แกเล่าให้ผมฟังว่า จากเดิมที่ชุมชนแห่งนี้เคยอยู่อย่างแออัด อาศัยในบ้านแบบกระต๊อบเพิงหมาแหงนหลังเล็กๆ พอให้ครอบครัวได้พักพิง คนที่นี่หลายคนก็มีอาชีพเก็บของเก่าขาย และรับจ้างทั่วไป ไม่จำกัดว่างานอะไร งานหนักงานเบาสู้หมด บางส่วนก็ปั่นสามล้อรับจ้างแถวตลาดทั่วไป
“ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มาจากหลายจังหวัด พี่น้องพากันมาเอง ย้ายมาจากกันทราลักษณ์ ย้ายมาจากอุบลบ้าง ย้ายจากแถวท่าสว่างมั้ง มารวมกันอยู่ มาคุยกันจัดตั้งเป็นชุมชนเราก็ต้องช่วยกัน สามัคคีกัน ทำยังไงก็ได้คือให้ชาวบ้านอยู่ด้วยกันแบบมีความสุข พอทำมาหากินแล้วก็มีความช่วยเหลือจากโครงการบ้านมั่นคงมั่ง อะไรมั่ง ก็ขยับขยายจากที่เป็นหลังคาสังกะสีผุๆ วันนี้เปลี่ยนมาเป็นสันไทยบ้าง พวกกระเบื้องบ้าง พอมาเข้าอยู่กับโครงการบ้านมั่นคง ออมจนได้เสร็จ และก็ทำเรื่องกู้ จนได้บ้านมาเป็นแบบถาวรอย่างนี้อยู่อบอุ่นมาก เมื่อก่อนกว่าจะนอนแต่ละทีมันลำบากมาก มันแคบ ก็หาเช้ากินค่ำ กินข้าวเสร็จก็ยกกับข้าวออกแล้วก็เอาเสื่อปูนอนตรงนั้นเลย มันสำคัญมากครับบ้าน ถ้ามีบ้านอยู่แล้วมันอบอุ่นมากเลย ชีวิตจิตใจจะสบายขึ้น กล้าสู้กับงานอันไหนที่หนักที่เบาเรากล้าสู้ เพราะเราต้องการที่อยู่อาศัยที่แบบถาวร” ประธานชุมชนศรีบัวราย เล่าให้ฟัง
“ทุกคนใฝ่ฝันที่อยากจะได้บ้าน คือได้บ้านอยู่แล้วทุกคนก็อุ่นใจ และก็ชีวิตของเขาก็จะดีขึ้นทุกอย่าง ถ้ามีบ้านแบบถาวรแล้วคนในครอบครัวก็มีความสุข” สิ่งที่น้าเหมาพูด ไม่ต่างจาก พี่ปทิตตา พละสาร บ้านมั่นคงหมอกวน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ คนชัยภูมิที่เดินทางมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี 2544 มาเช่าห้องแถวเปิดร้านเสริมสวยหาเลี้ยงครอบครัว และเมื่อเข้าโครงการบ้านมั่นคง รวมกลุ่มกันทำออมทรัพย์ จนทุกวันนี้มีบ้าน 2 ชั้น ขนาด 15 ตารางวา ผ่อนชำระกับโครงการฯเดือนละ 2,400 บาท เปิดเป็นร้านเสริมสวยอย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายตามฐานะ ได้นอนอุ่นในบ้านที่ตนเองเป็นเจ้าของ
(4) ทุนมี
ในอดีตที่ผ่านตำบลเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ก็ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่ชาวบ้านพากันตัดโค่นไม้ในที่ดินของตนเองเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยทำลายป่าหัวไร่ปลายนาที่บรรพบุรุษดูแลกันมาจนโล่งเตียน แต่คนกลุ่มหนึ่งที่เห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ จึงคิดหาวิธี ใช้การจัดเวทีประชาคมชุมชนรอบป่า เพื่อกำหนดกติการร่วมกัน โดยตั้งคำถามว่า “เราจะใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”
นายวิเชียร สัตตธารา แกนนำขบวนองค์กรชุมชนตำบลเมืองลีง เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ทำประชาคมชาวบ้านจึงออกกฏกติกา ป่าชุมชนจึงได้รับการดูแล แต่ต่อมาในปี 2553-2554 เป็นช่วงที่ยางพารากำลังบูมราคาสูง ทำให้ชาวบ้านต่างพากันตัดโค่นต้นไม้ในที่ตนเองจนโล่งเตียนเพื่อปลูกไม้ชนิดนี้ จึงมีการคิดกันต่อว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดการทำลายป่าเพื่อวิ่งตามกระแส ซึ่งก็ไม่ได้มีกฏหมายอันใดที่ห้ามทำลายป่าในที่ที่มีเอกสารสิทธิ จึงเริ่มคิดทำอย่างไรให้คนเมืองลีง “มีป่าอยู่ในใจ” เมื่อสำรวจก็พบหลายครอบครัวที่เก็บรักษาป่าหัวไร่ปลายนาไว้ จึงไปศึกษาว่าชาวบ้านมีแนวคิดอย่างไร จึงทำเครือข่ายป่าครอบครัวขึ้น
“หลายคนไม่ได้มองทุนที่พ่อแม่สะสมไว้ไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องทองอย่างเดียว แต่มันคือการอยู่ดีมีสุข มีทรัพยากร ดินดี น้ำดี ป่าดี จึงเกิดกระแสขึ้นของคนในตำบลเมืองลีงขึ้น ซึ่งก็มีการขยายวงป่าครอบครัวต้นแบบต่อมา ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วม 40 กว่าราย โดยปีที่ผ่านมาได้มีการทำการปลูกป่าเพิ่มเติมอีก มากว่า 100 ไร่ ปีนี้ก็ยังมีการประสานงานขอกล้าพันธ์มาเพาะปลูกเพิ่มเติมต่อเนื่อง”
นายวิเชียร ย้ำถึงความสำคัญของทุนว่า ทุนที่สำคัญคือทุนทางปัญญา เพราะจะรักษาทุกอย่างไว้ได้ ถ้าไม่มีปัญญามีเท่าไหร่ก็ไม่เหลือ การที่จะให้ทุนมีอย่าไปมองเรื่องเงินอย่างเดียว คนที่วิ่งตามเรื่องเงินอย่างเดียวหนี้สินจะพอกพูน และปลดหนี้ไม่ได้ วิ่งตามไม่ทันหนี้ แต่คนไหนมองทุนทรัพยากรที่พ่อแม่ป็ย่าตายายปลูกไว้และเก็บรักษา เขาจะอยู่ดีมีสุข โดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่าทำลายทุนของตนเองโดยไปวิ่งตามสังคม กระแสทุนบริโภคนิยม
และทุนของเมืองลีงที่มีประสิทธิภาพเรื่องหนึ่งคือ ผู้นำที่หันหน้ามาร่วมกันทำงาน ไม่ว่าผู้นำในพื้นที่ หรือหน่วยงานราชการที่มาทำงานในพื้นที่ ทุกคนทุ่มเทใจที่จะบูรณาการการทำงาน สำคัญที่สุดคือทุนภายใน สำคัญมากกว่าทุนภายนอก นอกจากทุนทางทรัพยากรบุคคลแล้ว ทุนทรัพยากรในพื้นที่ก็มีคุณค่าหลายแห่ง มีทั้งลำน้ำชี มีป่าชุมชน ป่าครอบครัว มีองค์กรภาคประชาชนทำงานร่วมกับภาครัฐมากมาย
“ก่อนหน้าที่ยังไม่มีการดูแลรักษา ทุนทางทรัพยากรก็เหมือนพื้นที่อื่นๆ ที่ทุกคนต่างตักตวงผลประโยชน์เพื่อตน โดยเฉพาะลำน้ำชีทุกคนต่างตักตวง ถางไม้ริมลำน้ำชี เมื่อมีการทำกติกา ก็มีการรักษา ปลาไม่ใช่หาอย่างทำลาย แต่เพื่อหาอยู่ดำรงชีพ สภาพพื้นที่ก็มีทั้งที่ลุ่มที่ดอน ที่ราบก็เหมาะกับการปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ที่ดอนก็ปลูกพืชไร่ หลายคนเอาพื้นที่ของตนเองมาปลูกป่าหัวไร่ปลายนาด้วย” นายวิเชียร กล่าว
ผมเองก็คิดตามอยู่ในใจว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ผู้นำเกิดความแตกแยก ต่างคนต่างไม่คุยกัน ต่างคนต่างทำ ชาวบ้านเองก็ไม่รู้จะเข้ากับฝ่ายไหนจะหันซ้ายหันขวาจะทำยังไง แต่เมื่อเกิดพื้นที่กลาง เกิดเวทีสภาผู้นำ ความขัดแย้ง ความระแวงก็เริ่มลดลง เริ่มทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนเช่นในปัจจุบันของตำบลเมืองลีงที่ผู้นำมาร่วมกันคิด จึงเกิด 1 ตำบล 1 แผนพัฒนาที่คิดร่วมกันตามมา
ซึ่งหนึ่งตำบลหนึ่งแผนพัฒนา ไม่ใช่หนึ่งกิจกรรม แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่ทุกองค์กรคิดร่วมกัน ไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองเป้าหมายของหน่วยงาน อบต. ท้องที่ กลุ่มองค์กร ตำรวจ โรงเรียน ฯลฯ แต่ต่างคนก็มีแผนที่จพทำร่วมกันเพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์เดียวกันคือ ตำบลอยู่ดีมีสุข เป็นตำบลสุขภาวะ ชุมชนอยู่ดีมีสุข เป็นโจทย์ที่ทุกหน่วยงานจะพยายามไปให้ถึง และจะเป็นผลงานร่วมกันของทุกฝ่าย หลายเรื่องก็เป็นรูปธรรม บรรลุผลชัดเจนอย่างเรื่องป่า แหล่งอาหารป่าครอบครัวไม่ได้หวงเพื่อตัวเอง ใครก็สามารถเข้าไปหาอยู่หากินได้
หากลองทบทวนจากสิ่งที่ได้พบเห็น ได้ยินได้ฟัง บทเรียนของเมืองลีงในเรื่องการจัดการตนเอง ชุมชนต้องเริ่มจากการหันมาดูทุนภายในของตนเองและจัดการทุนคน ทุนทรัพยากรของตนเองให้ได้ก่อน อย่างเช่นการรวมผู้นำมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ เป็นเรื่องทุนภายในที่หลายพื้นที่มองข้าม เพราะหากเกิดเรื่องของคนแล้ว เรื่องทุกอย่างก็ตามมา เมื่อเราสร้างคนได้ก็สามารถทำกิจกรรมได้ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการรับทุนภายนอกต่อไป การจัดการตนเองไม่ใช่เป็นเรื่องรัฐอิสระไม่พึ่งใคร แต่เป็นเรื่องที่คนทุกฝ่ายต่างมาร่วมกันทำร่วมกันพัฒนาต่างหาก ซึ่งผมเชื่อว่าตำบลเมืองลีงสามารถเป็นตำบลนำร่อง สามารถเป็นอิฐแผ่นหนึ่งที่แข็งแรงของฐานเจดีย์ และจะเป็นต้นแบบให้พื้นที่ตำบลอื่นๆ ได้เรียนรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็งทั้งจังหวัดและที่อื่นๆ
(5) หนี้ลด
ที่ตำบลแนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ตำบลนี้เน้นให้ความสำคัญร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เป็นต้นว่า พัฒนาชุมชนอำเภอกาบเชิง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล อำเภอกาบเชิง ได้มาร่วมกันทำแผนทุกตำบลของอำเภอกาบเชิงให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งภาคีเหล่านี้ได้ช่วยให้หมู่บ้านรู้จักการทำแผนแม่บทชุมชนมากขึ้นจากแต่เดิมที่ทำอย่างขาดความรู้ และเมื่อมาสู่ตำบลก็จะรวบรวมแผนของหมู่บ้านเข้าสู่การกำหนดเป็นวาระแผนของตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลก็นำแผนไปปฏิบัติร่วมกับชุมชน
นายวิศิษฐ์ ภาณุพินทุ ประธานสถาบันองค์กรการเงินชุมชนแนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เล่าให้ฟังว่า ในเรื่องหนี้สินของชาวบ้านที่ตำบลแนงมุด ที่นี่มีสถาบันการเงินชุมชนแนงมุด ที่เกิดจากรวมตัวกันของกองทุนหมู่บ้านทั้งตำบลช่วยกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือสมาชิก กำจัดหนี้นอกระบบ บางคนอาจกู้กองทุนหมู่บ้านอาจไม่พอใช้ ก็มีทางเลือกอีกทางจากการอาศัยสถาบันการเงินชุมชน ซึ่งเป็นการร่วมมือกับธนาคารออมสิน และธกส. ช่วยเหลือ ให้ข้อมูล เชื่อมโยง บางคนติดหนี้นอกระบบเอาโฉนดไปจำนอง ไว้ สถาบันการเงินเข้าไปไถ่ถอนช้อนหนี้มาไว้ให้ผ่อนกับสถาบันฯ โดยร่วมมือกับธนาคารออมสินที่ปล่อยเงินกู้รายละ 2 แสนบาท เพื่อไถ่โฉนดออกมา และเก็บไว้ที่สถาบัน ให้สมาชิกมาผ่อนชำระ เพราะสถาบันการเงินเป็นหลักค้ำประกันให้กับสมาชิกอีกทอดหนึ่ง เพราะถ้าให้ชาวบ้านเดินเข้าหาธนาคารการเข้าถึงจะยากกว่า
ซึ่งสิ่งที่ทำนั้นเป็นการจัดการตนเองคือการพึ่งตนเองในเบื้องต้น สิ่งไหนที่เราทำได้ เรามีทุน กลุ่มองค์กรต่างๆ มีทุนพอ เป็นกระบวนการเริ่มพึ่งตนเอง ไม่หวังแบมือรองบประมาณจากภายนอก บริหารจัดการทรัพยากร ที่มีในชุมชน โดยการทำแผนชุมชน จะรู้ความต้องการ รู้ทุน รู้ทรัพยากรในหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้จะทำให้รู้จักการพึ่งตนเอง หรือการจัดการตนเอง ถ้าเราจัดการตนเองได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่ทางภาครัฐหรือท้องถิ่นจะเข้ามาช่วยหนุนเสริมให้พี่น้องได้กินอิ่มนอนอุ่นทุนมีหนี้ลดได้
(6) “สุรินทร์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ซิตี้”
ในขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นมีแนวคิดอยากเห็นจังหวัดสุรินทร์เป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ซิตี้ เพื่อให้ทัดเทียมกับเมืองสปอตซิตี้อย่างจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งสวนทางกับความต้องการที่คนสุรินทร์กลุ่มหนึ่งอยากเห็นเมืองสุรินทร์คนอยู่ดีมีสุข กินอิ่ม นอนหลับ ทุนมี หนี้ลด หรือที่เรียกกันตามภาษาถิ่นว่าว่า “สุรินทร์ โนวเจียเมียนเซาะ”
แม้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ จะยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำแผนของภาคประชาชนบรรจุเป็นแผน แต่ก็อยู่ในเป้าหมายของ อบจ.เพียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็น ซึ่ง อบจ.จะมีส่วนช่วยเสริมความต้องการของภาคประชาชน ด้วยการส่งเสริมการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนโดยแจกไก่ไข่ ที่ย้ำว่าไก่ 1 ตัวให้ไข่ปีหนึ่ง 360 ฟอง และล่าสุดได้ต้นมะนาวให้ครัวเรือนละ 4 ต้น จะได้มีส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
และยังขยายความคิดต่อว่า เราจะพัฒนาด่านการค้าชายแดนช่องจอม ที่ขณะนี้ที่ดินทำเลอำเภอด่านราคาพุ่งไร่ละ 1 ล้าน แม้ลึกเข้าไปราคาก็อยู่ที่ 5 แสนแล้ว เรามีนโยบายลดถนนลูกรังในจังหวัด เราจะพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อตอบโจทย์การเดินทางไปนครวัดเพียงชั่วโมงครึ่ง ซึ่งต้องทบทวนจุดขายการท่องเที่ยวสมัยพระเจ้าชัยวรมัน เราอาจจะล้าหลังแล้ว
ในส่วนของมุมมองที่มีต่อแนวคิดสุรินทร์โนวเจียเมียนเซาะนั่น นายก อบจ.มองว่า กินอิ่ม ไม่ใช่กินแบบหรูหราหรือทิ้งขว้าง นอนอุ่น นอนตามฐานะความเป็นอยู่ ทุนมี ทุนสูงเท่าไหร่ ทุนเอสเอ็มอีหรือเปล่า หนี้ลด ชาวบ้านต้องรู้จักการประมาณตน และที่สำคัญภาคประชาชนต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เมื่อได้ฟัง นายก อบจ.คนปัจจุบันแล้ว บอกตามตรงผมอึ้งอยู่พักใหญ่และพยายามคิดทบทวนความคิดในหัวสมอง ว่าจริงหรือไม่ ที่ไม่ว่าในยุคสมัยใดประชาชนคนเล็กคนน้อยจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ที่สามารถออกแบบกำหนดชะตาชีวิต กำหนดแผนการพัฒนาทั้งในระดับล่างสุดคือที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด สู่การมีส่วนร่วมในกำหนดทิศทางการพัฒนาระดับประเทศได้ด้วยตนเอง
แต่จากการที่ผมได้เห็นตัวอย่างรูปธรรมจากพื้นที่ต่างแล้ว แม้ทศวรรษหน้าชุมชนท้องถิ่นสุรินทร์จะอยู่ดีมีสุข “โนวเจีย เมียนเซาะ” กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลดหรือไม่! แผนหรือความต้องการของชาวบ้านจะถูกกำหนดเป็นแผนพัฒนาของจังหวัดแค่ไหน! แต่วันนี้ผมเห็นความตั้งใจ ผมเห็นแววตาคนสุรินทร์ที่มีความมุ่งมั่น มีความปราถนาที่จะเห็นคนสุรินทร์อยู่ดีมีสุข โดยเริ่มต้นลงมือกำหนดอนาคตตนเอง เพราะ “คนสุรินทร์คือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง”