‘ไพโรจน์ พลเพชร’ เสนอ 8 หลักการสำคัญที่ควรมีในร่างรัฐธรรมนูญ

‘ไพโรจน์ พลเพชร’ เสนอ 8 หลักการสำคัญที่ควรมีในร่างรัฐธรรมนูญ

20152312142609.jpg

เรื่อง/ภาพ : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

วันนี้ (23 ธันวาคม 2558) สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) จัดประชุมครั้งที่ 4 “รัฐธรรมนูญใหม่ : สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์” มุ่งลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ณ ห้องประชุม ชั้น 16 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถ.แจ้งวัฒนะ นนทบุรี โดยมีองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมประมาณ 150 คน

นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ประมวลข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญจากสภาประชาชนเพื่อการปฎิรูป คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย และจากเครือข่ายต่างๆ สรุปเป็น 8 หลักการสำคัญที่ควรบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เสนอในการเสวนาประชาชนหัวข้อ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนอยู่ตรงไหน…?” เพื่อเปิดประเด็นระดมความคิดเห็น และอภิปรายแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

เพราะรัฐธรรมนูญ เป็นที่มาของอำนาจและการใช้อำนาจ การกำหนดความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจ การเข้าสู่อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจของสถาบันการเมือง รัฐธรรมนูญจึงไม่ควรถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจเท่านั้น ประชาชนต้องมีส่วนกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วย

1.หลักการพื้นฐาน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิ และเสรีภาพบุคคล” ต้องได้รับความคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ ศาสนาใด ย่อมได้รับความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

2.ความเสมอภาคหญิงชาย และเพศสภาพ ที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วางแผนการพัฒนา การตัดสินใจ ตลอดจนการตรวจสอบอำนาจในทุกระดับ

3.กระบวนการยุติธรรม บุคคลต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในกระบวนการยุติธรรม แยกศาลแรงงาน ออกจากศาลยุติธรรม การคัดเลือก และแต่งตั้งผู้พิพากษาทุกระดับ ต้องเป็นระบบเปิด ศาลทหารมีอำนาจพิพากษาคดีความตามประมวลกฏหมายอาญาทหารเท่านั้น ความผิดอื่นของทหารให้ดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน 

4.สิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชนย่อมมีสิทธิกำหนดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งการจัดการ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์บำรุงรักษา และการได้ใช้ประโยชน์ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนดำเนินโครงการ หรือกิจกรรม ที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชน ที่ต้องมีการกำหนดหลักการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และชุมชนมีสิทธิในการฟ้องหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สิทธิเกษตรกร ต้องมีการกำหนดมาตรการด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีมาตรการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงสิทธิในที่ดิน ต้องกำหนดให้เกิดการเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

5.สถาบันการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง นายกต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนต้องมีสิทธิกำหนดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีสภาพลเมืองท้องถิ่น กำหนดทิศทางการพัฒนา กำหนดให้ประชามติแก้รัฐธรรมนูญ มีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องที่กระทบประโยชน์ได้เสียของชาติและประชาชน

6.การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ยึดหลัก 3 ประการ ความเป็นอิสระ การมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา และสิทธิในการกำหนดการพัฒนา

7.สิทธิแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม หลักประกันความปลอดภัย สวัสดิภาพ สวัสดิการที่เหมาะสมเป็นธรรม และหลักประกันในการดำรงชีพทั้งก่อนและหลังการทำงาน

8.สวัสดิการสังคม บุคคลต้องได้รับสวัสดิการจากรัฐ ทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การเลี้ยงดูบุตร การมีงานทำ การยังชีพอย่างมีคุณภาพของผู้พิการ อายุ 60 ปี มีบำนาญประชาชน และมีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

การยกร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน นายไพโรจน์ สะท้อนว่าประชาชนเข้าไม่ถึง เหมือนปกปิดซ่อนเร้นการรับรู้ของสังคม ต่างจากชุดที่แล้วที่นำเสนอหลักการและสาระสำคัญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะการร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรผูกขาดที่ตัวบุคคล คณะบุคคลบางกลุ่ม ในฐานะพลเมืองเรามีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกำหนด แม้ว่าเขาจะไม่เขียน เพราะมันเป็นกติการ่วมของทุกคนในสังคม

ประชาธิปไตยบ้านเราเป็นระบบเส้นสาย เป็นระบบยุติธรรมเส้นสาย รัฐมีหน้าที่ต้องเอื้อช่วยเหลือให้ประชาชนได้เข้าถึงความเป็นธรรม เพราะเป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แท้จริงไม่ได้อยู่เพียงในรัฐธรรมนูญ บางประเด็นถึงแม้ว่าจะไม่มีบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจไปเกิดที่กฏหมายลูกในการรองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ณ เวลานี้รอดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่มีหลักการสำคัญ 8 ประเด็นนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ เราก็จะไม่ลงประชามติรับ นายไพโรจน์ กล่าวในตอนท้าย               

อย่างไรก็ตาม การประชุมของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ได้เปิดให้มีการระดมความคิดเห็นเพิ่มเติม แบ่งเสนากลุ่มย่อยออกเป็น 7 กลุ่ม 1) การปฏิรูปการเมือง องค์กรอิสระ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม 2) การกระจายอำนาจ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง 3) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 4) การปฏิรูประบบสวัสดิการ และสิทธิผู้บริโภค 5) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” 6) การปฏิรูปแรงงาน และ 7) การปฏิรูปสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ