เครือข่ายคนจนรวมพลังรณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2563’ กว่า 2,500 คน เดินขบวนจากบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทรวงคมนาคม ก่อนไปปิดที่หน้า UN ยื่นข้อเรียกร้องแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน หนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ หวังประชาชนมีส่วนร่วม
5 ต.ค. 2563 – เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ศูนย์รวมพัฒนาชุมชน สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) และประชาชนผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจากทั้วประเทศ กว่า 2,500 คน ร่วมจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยสากล ประจำปี 2563 โดยเดินขบวนจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคมบนถนนราชดำเนินนอก ก่อนไปที่องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่ออ่านแถลงการณ์ ยื่นหนังสือให้แก่ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ
ทั้งนี้ ที่บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เดินทางมารับหนังสือจากทางเครือข่ายผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก
ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าวถึงข้อเสนอ ด้านต่างๆ ดังนี้
ข้อเสนอด้านการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
- ต้องมีกระบวนการในการรับฟัง และให้อำนาจคนในพื้นที่มีส่วนร่วมสำคัญในการกำหนดแผนพัฒนาในพื้นที่ตัวเอง
- ต้องมีนโยบายให้หน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐประเภทต่าง ๆ แบ่งปันที่ดิน เพื่อจัดเป็นที่อยู่อาศัยให้กับคนจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย
- กรณีชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของกระทรวงคมนาคม ด้านการขนส่งระบบราง และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในที่ดินการรถไฟ นายกรัฐมนตรีต้องประสานงานไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้จัดที่ดินของการรถไฟเพื่อรองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ และการพัฒนาที่อยู่อาศัย
- ต้องนำนโยบายโฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน ที่ภาคประชาชนผลักดันขับเคลื่อน มาใช้ในการรับรองสิทธิในที่ดิน และสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อสร้างหลักประกัน และความมั่นคงในชีวิต
ข้อเสนอด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องดำเนินการพัฒนาระบบสหกรณ์ โดยเพิ่มประเภทสหกรณ์ที่สอดคล้องกับการดำเนินการที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องสนับสนุนให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง สำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์แต่ละจังหวัด ร่วมมือกับภาคประชาสังคมทำงานในเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้าน โดยจัดให้มีสถานที่รองรับ และมีมาตรการในการช่วยเหลือคนไร้บ้านที่สูงอายุและเป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
- รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามในร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ของภาคประชาชน ที่ได้ยื่นต่อรัฐสภา และอยู่ในขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนาม เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
- ต้องดำเนินการให้เด็กทุกคน อายุ 0-6 ปี ได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กอย่างถ้วนหน้า
- ต้องดำเนินการให้ทุกคนเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียว
ข้อเสนอด้านสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความเห็น และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย
- รัฐบาลต้องหยุดละเมิดสิทธิ และหยุดคุกคาม นักเรียน นักศึกษา ที่เคลื่อนไหว เรียกร้อง และแสดงความเห็นทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และต้องสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักเรียนที่ต้องการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย และมีเสรีภาพ
- ต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างระบบที่เป็นธรรม
จำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ “พีมูฟ” กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาที่อยู่อาศัยในขณะนี้ว่า สถานการณ์ที่ดินเกือบทุกประเภทกำลังได้รับผลกระทบจากโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในกรุงเทพฯ และ จ.ขอนแก่นในเรื่องของโครงการ TOR หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) ที่จะไปพัฒนาเมืองขอนแก่นซึ่งจะส่งผลกระทบกับคนที่นั่น และในภาคใต้ ที่ จ.ตรัง และ จ.สงขลา จะได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่
“โครงการเมกะโปรเจกต์จะทำให้พี่น้องโดนคดีมากขึ้นและไม่สามารถที่จะอยู่ในพื้นที่ได้ เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและจะเป็นปัญหามากขึ้นกับโครงการพัฒนาของรัฐบาล โดยเฉพาะกับกระทรวงคมนาคม” จำนงค์กล่าว
ประธานพีมูฟ ให้ข้อมูลด้วยว่า สำหรับวันที่อยู่อาศัยสากล 2563 มีประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินจากทั่วประเทศ มาร่วมรณรงค์ประมาณ 2,500 – 3,000 คน คือ จากพีมูฟ 7 เครือข่าย จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค 9 เครือข่าย รวมทั้งพี่น้องเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไปความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน คือนิคมมักกะสัน โดยข้อเรียกร้องในปีนี้หลักๆ คือการแก้ปัญหาของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบหลายหมื่นครอบครัวทั้วประเทศ จากโครงการของรัฐบาล การเดินทางไปที่กระทรวงคมนาคมก็เพื่อต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้
ส่วนเรื่องการศึกษา เป็นการเเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม และหยุดคุกคามนักเรียนนักศึกษา ให้สิทธิในการแสดงสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
“การเข้าถึงการศึกษาของพี่น้องเครือข่ายสลัม 4 ภาค ส่วนใหญ่ไม่สามารถศึกษาต่อได้ อย่างที่เรามีกิจกรรมผ้าป่าทุนการศึกษาให้กับประชาชน เพราะว่าไม่มีทุนในการศึกษา จบแค่ประถมบางคนก็ไม่ได้เรียนต่อแล้ว เพราะฉะนั้นเราเลยผลักดันให้มีการเรียนฟรี จากอนุบาลถึงปริญญาตรี อย่างป้ายที่มีการรณรงค์กัน” จำนงค์กล่าว
จากแคมเปญในปีนี้ที่ว่า “สิทธิที่อยู่อาศัยมันแย่ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ” จำนงค์ อธิบายว่า ในรัฐธรรมนูญความจริงแล้วจะต้องเขียนเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพ ในเรื่องการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รัฐบาลต้องจัดที่ดิน ที่อยู่อาศัยให้กับทุกคน โดยหลักแล้วต้องจัดให้ไม่ใช่มาไล่รื้อแบบทุกวันนี้ จะต้องจัดให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างเพียงพอ รัฐบาลถึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
“การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องที่ดิน เรื่องปากท้อง เรื่องปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรมันก็ไม่สามารถแก้ได้ คือรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาทุกปัญหา”