ฟังเสียงประเทศไทย : เมืองมรดกโลกอยุธยากับรถไฟความเร็วสูง

ฟังเสียงประเทศไทย : เมืองมรดกโลกอยุธยากับรถไฟความเร็วสูง

‘อยุธยา’ เมืองโบราณสถานของไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกจากยูเนสโก้  และเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมเยือน แต่ในวันนี้ เมืองเก่าอย่างอยุธยา กำลังเผชิญหน้ากับโจทย์ท้าทายจากโครงการเมกะโปรเจกต์หลาย ๆ โครงการที่เข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่  


โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ที่เป็นความหวังทางการค้า การลงทุน และการคมนาคม อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพมหานคร – หนองคาย – เวียงจันทน์) ที่ปัจจุบันกำลังชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากติดปัญหาการก่อสร้าง “สถานีอยุธยา” ที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อทรัพย์สินวัฒนธรรม หรือ HIA เพราะมีข้อกังวลถึงผลกระทบที่อาจทำให้เมืองเก่าแห่งนี้ถูกถอดถอนออกจากการเป็นเมืองมรดกโลก

นี่เป็นโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยเราเดินทางไปที่เทศบาลเมืองอโยธยา เพื่อชวนตัวแทนคนอยุธยา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา และภาคธุรกิจกว่า 30 คน มาร่วมพูดคุย เพื่อมองภาพอนาคตโอกาสและทิศทางการไปต่อของเมืองมรดกโลกกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเข้ามา

000 ความเป็นมาของอยุธยา เมืองมรดกโลก 000

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดในภาคกลาง ห่างจาก กรุงเทพ เพียง 75 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ 2,556 ตารางกิโลเมตร  เป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว ของจังหวัด ในปี 2564 สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ 

ที่นี่เป็นจังหวัดเดียว ที่ไม่มีอำเภอเมือง แต่มี “อำเภอพระนครศรีอยุธยา” เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ชาวบ้านโดยทั่วไป นิยมเรียกว่า “กรุงเก่า” ด้วยฐานะที่เคยเป็นราชธานี ของอาณาจักรอยุธยา หรืออาณาจักรสยามในอดีต ตั้งแต่ พ.ศ.1893 กระทั่งเสียกรุง เมื่อ พ.ศ. 2310 มีกษัตริย์ปกครอง รวม 33 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ นับเป็นราชธานีของไทยที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย


คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่หลงเหลืออยู่นี้ ส่งผลให้ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลก ในชื่อ นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม  2534 มีพื้นที่ครอบคลุมในบริเวณโบราณสถานเมืองอยุธยา 1,810 ไร่

แหล่งมรดกโลก ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย และ ต.ท่าวาสุกรี พื้นที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี บริหารจัดการภายใต้อนุสัญญามรดกโลก โดยกรมศิลปากร 

ปี 2540 กรมศิลปากร ได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน พระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยา และพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้าน ที่ปรากฏหลักฐาน ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ทำให้เขตโบราณสถาน ขยายไปเป็น 4,810 ไร่ อย่างไรก็ตามถึงปัจจุบันยังไม่มีการเพิ่มเติมเป็นพื้นที่มรดกโลก

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลกรมศิลปากร ในพื้นที่แหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง มีโบราณสถาน รวมทั้งสิ้น 395 แห่ง

พระนครศรีอยุธยา อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร จึงเป็นภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพในการเข้าถึง และการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนน แม่น้ำ และทางรถไฟ อีกทั้ง ยังเป็นที่ตั้ง ของนิคมอุตสาหกรรมถึง 5 แห่ง ทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภาคกลาง ที่สามารถเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก โครงการพัฒนา และเมกกะโปรเจ็กต์หลายโครงการ จึงมุ่งหน้ามายังอยุธยา

000 โครงการรถไฟความเร็วสูง กับพื้นที่เมืองมรดกโลก 000

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกำลังติดขัดปัญหาอยู่ในขณะนี้ อยู่ในช่วงการก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร  งบประมาณกว่า 179,400 ล้านบาท มีเส้นทางผ่านใกล้พื้นที่มรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ทำให้การก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่เรียกได้ว่าเป็นความหวังของประเทศต้องชะลอตัว จากความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทยนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง คุนหมิง – สิงคโปร์ สาย Central Route ซึ่งเป็นโครงข่ายที่จะเชื่อมต่อประเทศกลุ่ม CMLV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เข้าเป็นผืนแผ่นเดียวกัน ภายใต้ยุทธศาตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือที่รู้จักกันในชื่อเส้นทางสายไหมใหม่

มีการลงนามบันทึกความเข้าใจไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557  ว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อที่จะสร้างรถไฟความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เส้นทางจากกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะทางทั้งหมด 606 กิโลเมตร ผ่าน 8 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย  

เส้นทางนี้ประกอบด้วย 11 สถานี คือ 1.สถานีกลางบางซื่อ 2.ดอนเมือง 3.อยุธยา 4.สระบุรี 5.ปากช่อง 6.นครราชสีมา 7.บัวใหญ่ 8.บ้านไผ่ 9.ขอนแก่น 10.อุดรธานี และ 11.หนองคาย

หากโครงการเสร็จสิ้นการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคายด้วยระบบราง จะใช้เวลาเพียงแค่ 3 ชั่งโมง 45 นาที

และนี่คือ 1 ใน 4 เส้นทาง โครงข่ายทางรถไฟความเร็วสูงของไทย ซึ่งมีระยะทางทั้งหมด รวมกัน 2,700 กิโลเมตร  เชื่อมจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองใหญ่ 4 ภูมิภาค ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ

000 ความคืบหน้าที่ดูเหมือนยังไม่คืบหน้า 000

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2560 หลังรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบ ท่ามกลางความกังวลว่า การก่อสร้างอาคารสถานีขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อาจกระทบกับโบราณสถาน ทัศนยภาพและคุณค่าอันโดดเด่น และส่งผลให้ถูกถอดออกจากมรดกโลก แม้โครงการฯ จะอยู่บนเส้นทางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว

โดยเมื่อ 7 กันยายน 2563 ศูนย์มรดกโลก UNESCO มีข้อห่วงกังวล และแจ้งให้ประเทศไทยรายงานการศึกษา ผลกระทบที่อาจเกิดกับแหล่งมรดกโลก หรือ HIA 

ต่อมา 25 ตุลาคม 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำรายงาน HIA โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 6 เดือน

ปัจจุบัน พื้นที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในเส้นทางก่อสร้างช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติการจัดจ้างให้มีการก่อสร้างในส่วนของงานรางก่อน โดยเว้น “สถานีอยุธยา” ไว้ก่อน เนื่องจากรอการประเมินผลกระทบ HIA

ตามแผนเดิม “สถานีอยุธยา” จะสร้างคร่อมสถานีรถไฟทางไกลเดิม ในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมือง ฝั่งตะวันออก ริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งอยู่ในพื้นที่การดูแลของเทศบาลเมืองอโยธยา และเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา 1.5 กิโลเมตร

ในส่วนโครงสร้างอาคารจะมีลักษณะเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นชานชลารถไฟทางไกล และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ชั้นที่ 2 เป็นส่วนจำหน่ายตั๋วโดยสาร และโถงพักคอย และชั้นที่ 3 เป็นชานชลารถไฟความเร็วสูง สายอีสาน และสายเหนือ และจะมีท่าน้ำเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งทางเรือ 

นอกจากนี้ ยังมีแผนงานการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) หรือ TOD ในพื้นที่รอบสถานีรถไฟอยุธยา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจยกระดับศักยภาพพื้นที่เมืองแบบครบวงจร 

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 กระทรวงคมนาคม มีข้อเสนอแนวทางการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง “สถานีอยุธยา” 4 ทางเลือก แต่ยังยืนยันทางเลือกที่ 3  คือ ดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานเดิม ตามแผนงาน EIA และทำ HIA แจ้งต่อยูเนสโก้ แม้จะมีข้อกังวลผลกระทบต่อมรดกโลก

000 โอกาสและความท้าทายจากโครงการพัฒนา 000

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนที่อาจจะเกิดขึ้น อาจกระทบแผนงาน และวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้ง ผลการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม  หรือ EIA  ก่อนหน้านี้ หากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง หรือการเปลี่ยนแนวเส้นทาง จะต้องหาแนวทางลดผลกระทบ ซึ่งต้องประเมินมูลค่าผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน จากงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ และผลกระทบอีกหลายด้าน

ในด้านเศรษฐกิจ โครงการรถไฟความเร็วสูง คือความหวัง ในเส้นทางผ่านจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญโดยช่วงหนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด เชื่อมต่อกับลาวซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงกว่า ร้อยละ 8 ต่อเนื่องสู่จังหวัดใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลงสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือที่ส่งออกสินค้าหลักของประเทศ ไปสิ้นสุดที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง แหล่งผลิตปิโตรเลียมสำคัญของไทย

ขณะที่ช่วง แก่งคอย-บางซื่อเชื่อมต่อ อยุธยา ฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ และไปสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศ

ส่วนด้านการท่องเที่ยว เว็บไซต์ในเครือนิตยสาร Forbas advisor ปี 2565 จัดอันดับให้อยุธยา เป็น 1 ใน 50 เมืองทั่วโลก ที่ควรมาเยือนหลังโควิด-19 เพราะสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นโบราณสถาน  แต่รถไฟฟ้าความเร็วสูงจะส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างไร ก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน อีกทั้งในระดับพื้นที่อาจสะเทือนต่อการเดินหน้าแผนพัฒนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปี 2566 – 2570 ที่มีเป้าหมายของการเป็น เมืองมรดกโลก แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ที่น่าเรียนรู้ น่าอยู่ น่าลงทุน 

000 4 มุมมอง ทิศทางการไปต่อของรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา 000

จากชุดข้อมูล สู่การร่วมมองสถานการณ์ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อหาทางออกไปพร้อมกันกับแขกรับเชิญทั้ง 4 ท่าน

  • รศ. ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
  • ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม (HIA)
  • ศุภสุตา ปรีเปรมใจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ศุภสุตา ปรีเปรมใจ ในฐานะนักวิชาการที่เกิดและโตในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้ทำการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นที่ผ่านการพูดคุยกับชาวบ้าน กล่าวว่า ถ้าเรามองแบบเบสิคเลย เวลาความเจริญอะไรมาลงที่จังหวัด ส่วนใหญ่นำเสนอเชิงบวกเสมอ ผลกระทบเชิงลบอาจจะไม่ได้รับการนำเสนอ มันก็เลยเป็นไปในทางที่อยากจะให้มีการสร้าง ข้อมูลจะน้อยมาก ไม่ว่าจะทางโซเชียลมีเดีย หรือว่าทางข่าวที่จะมาเป็นระลอกแล้วก็หายไป มาอีกทีก็คือเซ็นสัญญาแล้ว จะสร้างแล้ว แต่มีเสียงคัดค้าน หรือข้อกังวล ตอนนั้นเองถึงจะเริ่มมีกระแสการให้ความสนใจกับคนในท้องถิ่น จะเห็นได้จากการที่ประชุม HIA ครั้งที่ผ่านมา มีการเชิญคนในท้องถิ่นเข้ามา

แต่ในภาพรวมข้อมูลเรื่องรถไฟความเร็วสูงเท่าที่คนอยุธยาทราบจะเป็นข้อมูลเชิงโครงสร้าง วิศวกรรม เศรษฐกิจ ก่อสร้างจากตรงไหนไปถึงไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง ประหยัดเวลาเท่าไหร่ แต่กลับไม่ค่อยมีข้อมูลว่าการสร้างตรงนี้ ส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

รวมถึงข้อมูลเรื่องกังวลการถูกถอนจากมรดกโลก ถ้าพูดจริง ๆ คนที่อยู่อยุธยาจะถูกขู่เรื่องนี้บ่อยมากว่าเดี๋ยวก็โดนถอด แต่ที่ผ่านมาไม่เคยโดนสักครั้ง ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งที่ซีเรียสที่สุด อาจจะมีแนวโน้มที่อาจจะเป็นไปได้จริง ๆ ว่าถ้ามีการสร้างก็จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนมรดกโลก แต่พอมีมรดกโลกห้ามทำโน้นทำนี่ ห้ามค้าขายตรงนี้ ชาวบ้านต้องออกไปจากพื้นที่ แล้วจะมีไว้ทำไมกลายเป็นว่า บางสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ กลายเป็นทัศนคติเชิงลบกับการมีมรดกโลกในพื้นที่ 

บางคนอาจจะคิดว่า อยุธยาเป็นที่รู้จักของทั่วโลกอยู่แล้ว การมีหรือไม่มีเหมือนเป็นแค่ป้ายแปะไว้เฉย ๆ หรืออาจจะมองแค่ชื่อเสียงที่หายไป การถูกถอนออกจากมรดกโลกเป็นเรื่องที่ต้องซีเรียสมาก นอกจากเรื่องชื่อเสียง ก็จะมีผลกระทบต่าง ๆ  ทั้งทุน การศึกษา การช่วยเหลือจากนักวิชาการ การพัฒนาจะถูกถอดถอนออกไปหมด เหมือนกับมีต้นทุนราคาแพงที่ต้องจ่าย

ด้าน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ  มองประเด็นเรื่องการถอดถอนเมืองมรดกโลกว่า มรดกโลกที่เคยถูกถอนมา 4 แห่งมี 2 แห่งที่คล้ายกันกับอยุธยา ก็คือที่เมืองลิเวอร์พูล ที่เป็นเมืองล่าสุดที่ถูกถอด แล้วก็เมืองเดรสเดน ที่เยอรมันอันนั้นถูกถอนเมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา แต่ว่ามีประเด็นคล้ายกันที่ทำให้ถูกถอด ก็คือมีการก่อสร้างทำให้ภูมิทัศน์ดั้งเดิมในเมืองที่ถูกยอมรับและขึ้นเป็นมรดกโลกสูญเสียทัศนียภาพแบบเก่า ที่เขารับประกันว่าเป็นมรดกของโลก 

ยูเนสโกก็ขู่แบบนั้นมาเรื่อย ๆ แต่เพิ่งจะทำจริงเมื่อตอนปี 2550 ตั้งแต่ตอนนั้นประมาณ 16 ปี ถูกถอดจริง ๆ เพราะเขาเริ่มเห็นว่า คนไม่สนใจว่าจะมีการถอด ผมเลยคิดว่าเราน่าจะเป็นที่แรกในเอเชียที่ถูกถอด อย่างเครสแรกที่ถูกถอนมรดกโลกก็คือ โอมาน ที่ได้เพราะที่นั้นมีตัวออริกซ์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเฉพาะถิ่น เลยทำให้เป็นสถานที่เพาะพันธุ์ตัวออริกซ์ แต่ปรากฎว่าโอมานเขาเจอก๊าซธรรมชาติตรงนั้น เขาเลยยอมถูกถอด

ตัวปัญหาเรื่องมรดกโลกของประเทศนี้ คือการที่เอามาแล้วไม่มีแผนงานที่จะใช้ประโยชน์เหมือนได้มิชลินสตาร์แล้วไม่ PR เอาไปแปะไว้ข้างบ้านเฉย ๆ อยุธยาไม่แปะด้วย ถ้าไปดูที่พระนครทุกปราสาทแปะตรามรดกโลกหมด เขามีการบริหารจัดการ ที่กัมพูชาเขาไม่ได้ใช้ราชการในการบริหาร แต่จ้างบริษัทที่เป็นเอกชน เอกชนไปประมูลมาก็มีการคำนึงถึงกำไรที่จะได้รับและพยายามใช้ความเป็นมรดกโลกในการขาย

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ในฐานะนักวิชาการที่ทำการศึกษาผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม (HIA) กล่าวว่า อยุธยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อ เนื่องจากว่าที่นี่เขาขึ้นทะเบียนเป็นเมือง เป็นพื้นที่ ดังนั้นข้อที่ 1 ก็คือเรื่องของภูมิศาสตร์อันโดดเด่นศักยภาพดีเยี่ยม เรื่องที่ 2 คือภูมิปัญญาสถาปัตย์แบบไทยที่ดีเยี่ยม ข้อที่ 3 คือเรื่องของการจัดการน้ำที่อยู่ของเมืองกับน้ำ หลักการก็คือถ้ามีโครงสร้างแปลก ๆ มาลง ต้องดูว่าโครงสร้างนี้มีผลต่อ 3 ข้อนี้หรือไม่ ยูเนสโกเขาจะกังวลเรื่องนี้ 

การถอดถอนหรือไม่ถอดถอน อาจจะเป็นประเด็นปลายทาง ต้องบอกว่า อยุธยาเป็นเมืองซ้อนเมือง หมายความว่า อยุธยาเป็นเมืองเก่า ถูกทิ้งร้างไปช่วงหนึ่งแล้วก็กลับมามีชีวิต และก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาอย่างถูกบ้าง ผิดบ้าง สมมติถ้าเรามองว่าย้ายรถไฟฟ้าไปข้างนอก หรือไม่มีเลย ถ้าไม่อนุรักษ์ให้ถูกทิศถูกทางก็เละเหมือนเดิม

แต่ปัจจุบันต้องมาโฟกัสกันที่เรื่องของการเกิดขึ้นของสถานี อย่างที่บอกว่ามันติดกระดุมผิดเม็ด ตรงที่เราทำงานจริง เห็นว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น แค่ ทางการรถไฟอย่างเดียว ต้องบูรณาการทั้งหมด เพื่อให้อยุธยากลับมารุ่งเรือง แต่ถ้าพัฒนาเสร็จแล้วและไม่มีการพัฒนาต่อเนื่องก็จะไม่รุ่งเรืองอยู่ดี

สิ่งสำคัญคือ เมื่อรัฐบาลทำมาแล้วต้องตัดสินใจบนฐานข้อมูลความจริง ซึ่งต้องบอกกับประชาชนด้วยข้อเท็จจริงว่า  ถ้าไม่สร้างจะเกิดอะไร และถ้ายอมเสี่ยงกับการสร้างจะต้องสูญเสียอะไร อันนี้ต้องตอบให้ชัด

รศ. ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน กล่าวถึงโอกาสของระบบคมนาคมที่จะเข้ามาว่า ถ้าเรากำลังใฝ่ฝันว่าเราจะมีเมืองที่มีระบบคมนาคมขนส่งที่สะดวก สบาย ปลอดภัย ประหยัด สามารถควบคุมเวลาให้ตรงต่อเวลาจนทำให้เราสามารถวางแผนหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตได้ ระบบขนส่งมวลชนที่พูดถึงนี้อาจจะไม่ได้หมายความถึงรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว แต่หมายถึงรถเมล์ดี ๆ หรืออาจจะหมายถึงรถไฟทางคู่ดี ๆ และอาจจะหมายถึงรถไฟที่เราใช้อยู่ตามสถานีอยุธยาที่เราเคยเห็น ถูกพัฒนาจากรถไฟที่เราคุ้นเคยไปเป็นรถแอร์หรือว่ารถไฟฟ้า ถ้าเป็นแบบนั้นผมคิดว่านั่นเป็นภาพความฝันที่สอดรับกับสิ่งที่เราอยากจะได้คิดว่าทุกคนก็อยากจะได้อะไรแบบนี้

แต่ประเด็นเรื่องของรถไฟความเร็วสูงถ้าเราเอาเข้ามาใส่ในสมการ จะต้องทำความเข้าใจอีกภาพหนึ่งรถไฟความเร็วสูง เจตนาเป้าหมายหลักไม่ได้ขนผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ มาที่อยุธยา เพราะเป้าหมายปลายทางในเฟสที่ 1 คือกรุงเทพฯ ไปโคราช เพื่อไปสู่หนองคายแล้วไปเชื่อมต่อทางลาว และเชื่อมต่อทางจีน ก็จะกลายเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ เป็นประโยชน์หลายมิติมาก ทั้งเรื่องเชิงเศรษฐกิจขนสินค้าจากจีน มาลาว และมาที่ไทย ขนส่งผู้โดยสารจากจีนมาลาวมาไทย และไทยเดินทางไปที่จีน อันนี้คือภาพยาว ๆ 

เราต้องถอดรหัสก่อนว่าพอเราจะคุยเรื่องนี้ ทำอย่างไรที่โจทย์ของเราจะทำให้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟประเภทอื่น ๆ ร่วมบูรณาการเข้าไปในระบบ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือว่าจังหวัดไหนและทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ตามแนว เส้นทางต่าง ๆ ดีขึ้นระบบเศรษฐกิจดีขึ้นโดยที่เราไม่ต้องสูญเสียความมีตัวตน ไม่สูญเสียแหล่งมรดกโลก ไม่สูญเสียสิ่งที่เป็นของดีของเรา ซึ่งเป็นจุดขายที่ทำให้ผู้คนทั้งโลกอยากจะเดินทางมาที่นี่ 

“ถ้าเราจะคุยเรื่องนี้โจทย์ของเราไม่น่าจะกลายเป็นโจทย์ตั้งว่าต้องเลือกระหว่างการอนุรักษ์ หรือเลือกระหว่างการพัฒนา แต่ถ้าเราต้องการทั้งสองอย่างและบูรณาการร่วมกันเราจะทำอย่างไร” รศ. ดร.ประมวลกล่าว

อ่านเนื้อหาฉบับเต็มจากวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทย ตอน เมืองมรดกโลกอยุธยากับรถไฟความเร็วสูง  

000  3 ฉากทัศน์ อยุธยา เมืองมรดกโลกกับรถไฟความเร็วสูง 000

หลังจากได้อ่านข้อมูลของโครงการรถไฟความเร็วสูง และข้อเสนอการพัฒนาที่ควบคู่ไปพร้อมกันกับความเป็นเมืองมรดกโลกของอยุธยาแล้ว เรามีฉากทัศน์ที่เป็นตุ๊กตาตั้งต้นให้ 3 ทาง เพื่อให้ทุกคนได้เลือกว่าอนาคตแบบไหนที่อยากให้เกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 1 เต่าในกระดานหมากล้อม

พระนครศรีอยุธยา นครประวัติศาสตร์ ยังคงรักษาคุณค่า อันเป็นเอกลักษณ์ของโบราณสถาน เมืองเก่าอโยธยา และมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 2 ของประเทศ ให้มนุษยชาติได้ร่วมชื่นชม และคนในพื้นที่ได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

รัฐบาลมีการชะลอโครงการพัฒนาออกไป จนกว่าจะได้ข้อยุติจากยูเนสโก แต่ต้องแลกด้วยความสูญเสียโอกาสในการพัฒนาจากรถไฟความเร็วสูง และอาจกระทบกับข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับประเทศจีน รวมทั้งความสูญเสียมหาศาลจากการลงทุนก่อสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

แต่ถึงอย่างไร เมืองยังคงเผชิญหน้ากับการพัฒนาและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งท้าทายต่อการอนุรักษ์โบราณสถานให้คงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล

ดังนั้น นอกจากความภาคภูมิใจ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและชุมชน กระจายอำนาจในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้คนในพื้นที่สามารถได้รับประโยชน์จากคุณค่าที่มีร่วมกับประชาคมโลกด้วย

ฉากทัศน์ที่ 2 นกอินทรีย์อยู่ร่วมกับแม่ไก่

กรุงศรีอยุธยาสถานีการค้าสำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิได้รับการคืนชีพอีกครั้ง จากโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่การพัฒนากับการรักษาเมืองโบราณสถานไว้ด้วยกัน

รัฐต้องเสียงบประมาณและใช้เวลามากขึ้น ในการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบของทางเลือกอื่น ๆ ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง ย้ายที่ตั้งสถานี หรือการใช้เส้นทางเลี่ยง รวมไปถึงการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางอื่น ๆ เพิ่มเติมจาก EIA ที่ได้เคยทำไว้ 

ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อการตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสม โดยไม่ทำลายคุณค่าของเมืองมรดกโลก สิ่งแวดล้อม และตรงความต้องการของคนพื้นที่ มีการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม แต่เวลาที่เสียไปอาจส่งผลให้แผนการพัฒนาในภาพใหญ่ล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักประกันสำหรับอนาคตว่าโครงการพัฒนาที่เข้ามาจะไม่กระทบเมืองมรดกโลก

ฉากทัศน์ 3 โขลงช้างป่าลงทุ่ง

จังหวัดพระนครศรีอยุธยามุ่งไปข้างหน้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมขนส่งระดับภูมิภาค ลดเวลาในการเดินทางที่เชื่อมโยงกับประชาคมโลก เปิดโอกาสใหม่ ๆ ด้านการค้า การลงทุน ขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 

แต่อาจต้องแลกด้วยการสูญเสียสถานะมรดกโลก หากคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า “แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ไม่ได้รับการดูแลหรือป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและรายได้จากการท่องเที่ยวของคนในพื้นที่

รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเกิดจากการเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง และการมีสถานีรถไฟความเร็วสูงในพื้นใกล้กับแหล่งวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน ให้ตอบโจทย์ความคุ้มค่าในการลงทุน และเงินรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูญเสียไป อีกทั้งต้องมีความชัดเจนในการพัฒนาพื้นที่และผังเมืองโดยรอบ ที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนด้วย

แล้วฉากทัศน์ในที่คุณอยากให้เกิดขึ้น คือฉากทัศน์ไหน ร่วมโหวตด้านล่างนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ