‘รถไฟความเร็วสูง’ โจทย์ใหญ่โครงการพัฒนากับคุณค่าเมืองมรดกโลก

‘รถไฟความเร็วสูง’ โจทย์ใหญ่โครงการพัฒนากับคุณค่าเมืองมรดกโลก

เมื่ออยุธยา เมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘นครประวัติศาสตร์’ และได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปเมื่อ 32 ปีที่แล้ว กำลังจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางการค้าสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือกันของรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558-2565 


รถไฟสายนี้เป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง คุนหมิง – สิงคโปร์ สาย Central Route ที่จะเชื่อมต่อประเทศกลุ่ม CMLV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เข้าเป็นผืนแผ่นเดียวกัน ภายใต้ยุทธศาตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)”  หรือที่รู้จักกันในชื่อเส้นทางสายไหมใหม่ 
โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกันไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เพื่อที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เส้นทางจากกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะทางทั้งหมด 606 กิโลเมตร โดยจะวิ่งผ่านทั้งหมด 8 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งประกอบไปด้วย 11 สถานี คือ 1.สถานีกลางบางซื่อ 2.ดอนเมือง 3.อยุธยา 4.สระบุรี 5.ปากช่อง 6.นครราชสีมา 7.บัวใหญ่ 8.บ้านไผ่ 9.ขอนแก่น 10.อุดรธานี และ 11.หนองคาย

โครงการนี้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ กำลังก่อสร้างอยู่ในระยะที่ 1 คือ ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2570 นี้ แต่ ณ ปัจจุบันโครงการอยู่ในช่วงชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากติดปัญหาอยู่ที่สถานีอยุธยา ที่มีการเรียกร้องว่าให้ศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือ HIA ก่อน เพราะมีข้อกังวลเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน และอาจทำให้ถูกถอดออกจากมรดกโลกได้

นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยเราเดินทางไปที่เทศบาลเมืองอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อชวนทุกท่านมารับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างรอบด้าน หาจุดสมดุลการไปต่อ ระหว่างความเจริญจากโครงการพัฒนา และการอนุรักษ์ รักษาไว้ซึ่งความเป็นมรดกโลก

000

อนาคตรถไฟความเร็วสูงอยุธยาในสายตาคนอยุธยา –

 ‘ย้ายเส้นทาง’ โดยสนับสนุนให้สร้างรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา และมีความเห็นอีกแนวหนึ่งว่า การย้ายเส้นทางไปทางถนนสายเอเชียจะสร้างความสะดวกให้กับพื้นที่ และความเจริญให้กับประเทศมากกว่า

ภาณุพงษ์ ศานติวัตร Save อโยธยา

‘สร้างไปเถอะ’ เพราะมองว่าการรถไฟเอาความเจริญเข้ามาให้ เราจะเปลี่ยนสถานี สมัย ร.5 ท่านสร้างไว้ให้ นี่คือสถานีแรกของเรา สถานีที่สองคือ โคราช ทำไมสถานีถึงต้องอยู่ตรงนี้ เพราะสะดวก เวลาลงจากรถไฟ สามารถเดินทางไปทางเรือได้ ไปรถตุ๊ก ๆ ได้ และขอให้คนอยุธยาทำที่รองรับนักท่องเที่ยว อย่าไปขวางกั้นการสร้างรถไฟ 

ฉวี สีบุบผา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา

‘ไปด้วยกัน’ เพราะมองว่าการพัฒนาและการอนุรักษ์สามารถไปด้วยกันได้ และเห็นตรงกับเพื่อนว่า มันสามารถย้ายเส้นทางได้สามารถสร้างความเจริญไปด้วยกันได้ ทำให้เรารู้สึกว่าถ้ามันสามารถไปด้วยกัน มันก็จะไปได้ไกลมากขึ้นกว่าเดิม

พีรกิตติ์ ศรีกุล Save อโยธยา

‘วิ่งสู้ฟัด’ เพราะรถไฟความเร็วสูงเดินด้วยสปีด เกี่ยวกับเรื่องของการเดินทาง แต่ในกระบวนการเมื่อผ่านในอยุธยา ขณะนี้กำลังมีปัญหา ด้วยความที่เป็นเหรียญสองด้าน เกิดความคิดที่ต่างมุมกันแต่คำว่าสู้ฟัดไม่ได้หมายความว่าให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน บางอย่างที่วันนี้ที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้คืออดีต แต่เราเอาอดีตมากลั่นกรองเพื่อนำสู่อนาคต ตอนนี้เราอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับความเป็นปัจจุบันเท่านั้น ที่จะบอกว่าเราฝันเหมือนกันหรือเปล่า เรามองเห็นภาพเดียวกันหรือยัง เราคิดไปทางเดียวกันด้วยหรือเปล่า สิ่งตรงนี้คือคำว่าวิ่งสู้ฟัด 

วุฒิชัย ด่านชัยวิจิตร นายกเทศบาลเมืองอโยธยา

ตอนอยู่กับรถไฟได้รับความปลื้มปิติว่าเมืองเรามีรถไฟผมเลยเขียนไปว่า ‘ทับรอยเดิม’ เพราะว่ามันเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าคนโบราณมองออกว่าจะเป็นยังไง ทำไมต้องมาแยกตรงนี้ ประวัติศาสตร์รถไฟงดงามมาตลอด เป็นการพัฒนาประเทศชาติที่เจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งไม่มีทรัพยากรให้เขาแล้วตอนนี้ต้องไปขยายมาจากเมืองจีน ทำรถไฟเส้นทางพิเศษ ผมไม่ปฏิเสธอะไรเลย แต่คิดว่าเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มหานครเก่าจะกลับมารุ่งเรือง มหานครกรุงศรีอยุธยา มหานครอโยธยาตรงนี้คือเทศบาลเมือง อีกหน่อยก็จะเป็นเทศบาลมหานครเหมือนกับฝั่งตรงข้าม เพราะว่าเป็นภูมิทัศน์ที่พระมหากษัตริย์โบราณคิดไว้แล้วว่ารถไฟคือมรดกของประชาชน มอบให้ประชาชน ผมขึ้นมาตั้งแต่ 4.50 บาท ในกรุงเทพฯ แล้วก็มีบัตรสวัสดิการที่รัฐบาลให้ ก็ขึ้นฟรีมาหลายปี รถไฟความเร็วสูงเราอยากเห็น แต่ว่าคงไม่มีโอกาสวาสนาไปขายของบนรถไฟเหมือนเดิม เรายอมจำนนต่อสิ่งนี้ เพื่อให้บ้านเมืองเราเป็นมหานครการท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเอเชีย 

นภดล มีสมสิบ ชุมชนสุริยมุนี

000

4 มุมมอง ทิศทางการไปต่อของรถไฟความเร็วสูงในเมืองอยุธยา –

เริ่มต้นที่ ศุภสุตา ปรีเปรมใจ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ในฐานะนักวิชาการที่ลงสำรวจพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ถึงประวัติศาสตร์โดยรอบของสถานีรถไฟ เล่าให้ทุกคนฟังว่า เท่าที่ได้สัมผัสเสียงส่วนใหญ่คนในพื้นที่บอกว่าเห็นด้วยกับการสร้าง เพราะว่าเหมือนกับเป็นการพัฒนาในพื้นที่ แม้ว่าบางคนจะเป็นบ้านที่ถูกรื้อถอนออกไป แต่ก็ยินยอม เพื่ออนาคตของลูกหลาน อาจจะให้คุณค่ากับการพัฒนารถไฟมากกว่าการเก็บโบราณสถาน เพื่อการศึกษาโบราณคดี แต่ยังไม่ทิ้งข้อกังวลเรื่องของการรื้อย้าย ผลกระทบในพื้นที่ หรือว่าการเปลี่ยนแปลงของมรดกโลก แต่ถ้ามองแบบเบสิคเลย เวลามีความเจริญอะไรที่มาลงในจังหวัดส่วนใหญ่นำเสนอเชิงบวกเสมอ ผลกระทบเชิงลบอาจจะไม่ได้รับการนำเสนอ มันก็เลยเป็นไปในทางที่อยากจะให้มีการสร้าง 

ความหวังที่อยากจะเห็นอนาคตของลูกหลานไปในทางที่ดีขึ้นมีหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจของคนในพื้นที่เอง โอกาสการเดินทางไปในจังหวัดอื่น ๆ การเข้ารับการศึกษา โอกาสการไปทำงาน การขนส่งสินค้า การเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ถ้าเป็นปากเสียงของคนในพื้นที่เอง อาจจะมองที่ตัวเองเป็นหลัก คนที่เขารอที่จะลืมตาอ้าปาก ปากท้องอาจจะมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจที่จะเดินหน้าดีกว่าอยากจะเห็นการสร้าง แต่อีกฝั่งนึงอาจจะมีข้อกังวลเรื่องการสร้างที่กระทบต่อมรดกโลก แต่ส่วนใหญ่เท่าที่สัมผัสเวลาเจอใครก็ถามว่าสร้างไหม ส่วนใหญ่ก็บอกว่าเอา

ด้าน รศ. ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองประเด็นรถไฟความเร็วสูงกับความต้องการของคนในพื้นที่ว่า ถ้าเรากำลังใฝ่ฝันว่าเราจะมีเมืองที่มีระบบคมนาคมขนส่งที่สะดวก สบาย ปลอดภัย ประหยัด สามารถควบคุมเวลาให้ตรงต่อเวลาจนทำให้เราสามารถวางแผนหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตได้ ระบบขนส่งมวลชนที่พูดถึงนี้อาจจะไม่ได้หมายความถึงรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว แต่หมายถึงรถเมล์ดี ๆ หรืออาจจะหมายถึงรถไฟทางคู่ดี ๆ และอาจจะหมายถึงรถไฟที่เราใช้อยู่ตามสถานีอยุธยาที่เราเคยเห็น ถูกพัฒนาจากรถไฟที่เราคุ้นเคยไปเป็นรถแอร์หรือว่ารถไฟฟ้า ถ้าเป็นแบบนั้นผมคิดว่านั่นเป็นภาพความฝันที่สอดรับกับสิ่งที่เราอยากจะได้คิดว่าทุกคนก็อยากจะได้อะไรแบบนี้

แต่ประเด็นเรื่องของรถไฟความเร็วสูงถ้าเราเอาเข้ามาใส่ในสมการ จะต้องทำความเข้าใจอีกภาพหนึ่งรถไฟความเร็วสูง เจตนาเป้าหมายหลักไม่ได้ขนผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ มาที่อยุธยา เพราะเป้าหมายปลายทางในเฟสที่ 1 คือกรุงเทพฯ ไปโคราช เพื่อไปสู่หนองคายแล้วไปเชื่อมต่อทางลาว และเชื่อมต่อทางจีน ก็จะกลายเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ เป็นประโยชน์หลายมิติมาก ทั้งเรื่องเชิงเศรษฐกิจขนสินค้าจากจีน มาลาว และมาที่ไทย ขนส่งผู้โดยสารจากจีนมาลาวมาไทย และไทยเดินทางไปที่จีน อันนี้คือภาพยาว ๆ แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าจะทำให้เราเข้าใจผิดพออยู่ในระหว่างกระบวนการ 

เฟสที่ 1 ที่เราคุยกันคุยกันมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ 10 ปีนี้เฉพาะแค่เฟส 1 กรุงเทพฯ โคราชยังไม่เสร็จและต้องยอมรับก่อนว่าภายใต้เงื่อนไขที่ว่านี่ คือโครงการรถไฟความเร็วสูงโครงการแรก และหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้ก็เป็นครั้งแรกของประเทศไทย การทำ HIA ก็เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ประเด็นปัญหาที่เรามานั่งคุยกันว่ามีผลกระทบกับโบราณสถานแล้วก็เรื่องมรดกโลกนี่ก็เป็นครั้งแรกของประเทศไทยเหมือนกัน แล้วก็เป็นการเรียนรู้ร่วมกันครั้งแรกว่าเราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร เราต้องถอดรหัสก่อนว่าพอเราจะคุยเรื่องนี้จะทำอย่างไรที่โจทย์ของเราจะทำให้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟประเภทอื่น ๆ ผลึกรวมบูรณาการเข้าไปในระบบไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือว่าจังหวัดไหนและทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ตามแนว เส้นทางต่าง ๆ ดีขึ้นระบบเศรษฐกิจดีขึ้นโดยที่เราไม่ต้องสูญเสียความมีตัวตน ไม่สูญเสียแหล่งมรดกโลก ไม่สูญเสียสิ่งที่เป็นของดีของเรา ซึ่งเป็นจุดขายที่ทำให้ผู้คนทั้งโลกอยากจะเดินทางมาที่นี่ ถ้าเราจะคุยเรื่องนี้โจทย์ของเราไม่น่าจะกลายเป็นโจทย์ตั้งว่าต้องเลือกระหว่างการอนุรักษ์ หรือเลือกระหว่างการพัฒนา แต่ถ้าเราต้องการทั้งสองอย่างและบูรณาการร่วมกันเราจะทำอย่างไร

โครงการรถไฟความเร็วสูงกับโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอยุธยา

ศุภสุตา ปรีเปรมใจ กล่าวว่า ในวงวิชาการเราจะทราบว่ามีการสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ในท้องถิ่นข้อมูลจะน้อยมาก ไม่ว่าจะทางโซเชียลมีเดีย หรือว่าทางข่าวที่จะมาเป็นระลอกแล้วก็หายไป มาอีกทีก็คือเซ็นสัญญาแล้ว จะสร้างแล้ว แต่มีเสียงคัดค้าน หรือข้อกังวล ตอนนั้นเองถึงจะเริ่มมีกระแสการให้ความสนใจกับคนในท้องถิ่น จะเห็นได้จากการที่ประชุม HIA ครั้งที่ผ่านมา มีการเชิญคนในท้องถิ่นเข้ามา 

แต่ในภาพรวมข้อมูลเรื่องรถไฟความเร็วสูงเท่าที่คนอยุธยาทราบจะเป็นข้อมูลเชิงโครงสร้าง วิศวกรรม เศรษฐกิจ ก่อสร้างจากตรงไหนไปถึงไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง ประหยัดเวลาเท่าไหร่ แต่กลับไม่ค่อยมีข้อมูลว่าการสร้างตรงนี้ ส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน อาจจะมีบ้างแต่ไม่ได้เขียนเป็นข้อ คนฟังก็กังวล แต่เขาไม่ได้อินกับข้อมูลส่วนนี้มาก รวมถึงข้อมูลเรื่องกังวลการถูกถอนจากมรดกโลก ถ้าพูดจริง ๆ คนที่อยู่อยุธยาจะถูกขู่เรื่องนี้บ่อยมากว่าเดี๋ยวก็โดนถอด แต่ที่ผ่านมาไม่เคยโดนสักครั้ง ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งที่ซีเรียสที่สุด อาจจะมีแนวโน้มที่อาจจะเป็นไปได้จริง ๆ ว่าถ้ามีการสร้างก็จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนมรดกโลก ซึ่งส่วนนี้เองข้อมูลยังไม่ได้มากพอสำหรับการตัดสินใจของคนในพื้นที่

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มองเรื่องความเป็นโบราณสถาน และการเป็นเมืองมรดกโลก ประเด็นสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดชะลออยู่ตอนนี้ว่า ถ้าเทียบจากที่เคยมีการถอดถอนมาในโลกนี้ ผมคิดว่าที่นี่น่าจะถูกถอดเนื่องจากว่าก่อนจะถูกถอดจะมีการเตือนมาก่อน ซึ่งมรดกโลกที่เคยถูกถอนมา 4 แห่งมี 2 แห่งที่คล้ายกันกับอยุธยา ก็คือที่เมืองลิเวอร์พูล ที่เป็นเมืองล่าสุดที่ถูกถอด แล้วก็เมืองเดรสเดน ที่เยอรมันอันนั้นถูกถอนเมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา แต่ว่ามีประเด็นคล้ายกันที่ทำให้ถูกถอด ก็คือมีการก่อสร้างทำให้ภูมิทัศน์ดั้งเดิมในเมืองที่ถูกยอมรับและขึ้นเป็นมรดกโลกสูญเสียทัศนียภาพแบบเก่า ที่เขารับประกันว่าเป็นมรดกของโลก ตัวอย่างเช่น การก่อสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ของสโมสรเอฟเวอร์ตัน 

ในเคสของเมืองเดรสเดนมีการสร้างสะพาน ตัวสะพานแห่งนี้แทบไม่ได้ทำให้หน้าตาต่างไปจากสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเมือง แต่มันเสียภูมิทัศน์ ดังนั้นทั้งเมืองเดรสเดน และเมืองลิเวอร์พูล ทั้ง 2 เมืองตอนที่ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีเงื่อนไขที่ให้เราขึ้นทะเบียนว่าเป็นข้อ 1 ข้อ 2 หรือ ข้อ 3 ซึ่งทั้งสองเมืองรวมถึงอยุธยาใช้ข้อ 3 เหมือนกัน จึงเป็นเงื่อนไขที่ใช้เทียบเกณฑ์เดียวกันได้

ถ้าถามว่าคณะอนุกรรมการมรดกโลก ที่มาประชุมที่ประเทศไทยเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เขามีมติแสดงข้อหวงกังวล ที่อาจารย์ปิงปองพูดเมื่อกี้ว่า เราถูกขู่มาตลอด จริง ๆ ยูเนสโกก็ขู่แบบนั้นมาเรื่อย ๆ แต่เพิ่งจะทำจริงเมื่อตอนปี 2550 ตั้งแต่ตอนนั้นประมาณ 16 ปี ถูกถอดจริง ๆ เพราะเขาเริ่มเห็นว่า คนไม่สนใจว่าจะมีการถอด ผมเลยคิดว่าเราน่าจะเป็นที่แรกในเอเชียที่ถูกถอด 

ตัวสถานีและรางไม่ได้ทำบนพื้นที่มรดกโลกแต่มองออกมาแล้วเห็น  พบเห็นในโซเชียลมีเดียหลายคนที่เอาปราสาทฮิเมจิในญี่ปุ่นมาเทียบ ต้องบอกว่ามันไม่เหมือนกัน อันนั้นเขาขึ้นทะเบียนตัวปราสาท หรือวิหารเมืองโคโลญเขาขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ตัวอาคาร จะเทียบกับประเทศจอร์เจียที่ถูกถอดถอนมรดกโลกเหมือนกันไม่ได้ เพราะว่าอันนั้นมีการปรับเปลี่ยนตัวอาคาร เนื่องจากเขาขึ้นทะเบียนโดยเงื่อนไขที่ 1 ที่เป็นการแสดงอัจฉริยภาพทางสถาปัตยกรรมของมนุษย์ แต่มีการปรับเปลี่ยน ซึ่งถ้าปราสาทฮิเมจิมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ก็จะโดนเหมือนกัน เพราะว่าเขาไม่ได้ขึ้นเรื่องเกณฑ์ของเมือง ดังนั้นจะเทียบกันไม่ได้ 

ข้อกังวลของยูเนสโกต่อพื้นที่มรดกโลกอยุธยา

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม (HIA) กล่าวว่า UNESCO กังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ที่มีผลต่อคุณค่าและความสำคัญที่โดดเด่นที่ทำให้เป็นมรดก ต้องดูว่าจะทำลายตรงนี้ไหม ซึ่งที่นี่เป็นครั้งแรกของประเทศผมเองที่เข้ามาช่วยดูก็มีลำบากใจพอสมควร เพราะว่าที่นี่เป็นบทเรียนที่สำคัญของประเทศอย่างหนึ่งที่ใส่เสื้อแล้วติดกระดุมผิดเม็ด ทั้งที่ควรจะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะมาทำเรื่องนี้ แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว และมีข้อกังวลมาพึ่งจะมาทำการศึกษา ซึ่งก็ศึกษาได้เฉพาะทางเลือกได้แค่ที่สถานีตรงนี้ 

ความสำคัญในการประเมิน HIA ก็คือต้องดูเรื่องคุณค่าความโดดเด่นที่อยุธยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อ เนื่องจากว่าที่นี่เขาขึ้นทะเบียนเป็นเมือง เป็นพื้นที่ ดังนั้นข้อที่ 1 ก็คือเรื่องของภูมิศาสตร์อันโดดเด่นศักยภาพดีเยี่ยม เรื่องที่ 2 คือภูมิปัญญาสถาปัตย์แบบไทยที่ดีเยี่ยม ข้อที่ 3 คือเรื่องของการจัดการน้ำที่อยู่ของเมืองกับน้ำ หลักการก็คือถ้ามีโครงสร้างแปลก ๆ มาลง ต้องดูว่าโครงสร้างนี้มีผลต่อ 3 ข้อนี้หรือไม่ ยูเนสโกเขาจะกังวลเรื่องนี้ 

แต่ตอนนี้ต้องแยกว่าโครงการนี้สร้างอยู่นอกพื้นที่มรดกโลก แต่มันมีพื้นที่คอนโซล และ Bubble Zone ซึ่งต้องมองให้รอบด้าน เราจะไม่มองพื้นที่แค่ตรงมรดกโลก เพราะเมืองไม่ได้เกิดมาที่นี่ที่เดียว มันมีบริวารด้วย ในที่นี่ก็คือจะมีผลต่อพื้นที่อโยธยาตรงนี้ ซึ่งก็คือพื้นที่ก่อนที่จะเป็นอยุธยา ถ้าเรามองเรื่องทัศนียภาพอยู่ในเมืองบางที่ก็จะเห็น อาจจะไม่ได้มีความกังวลมาก แต่จุดที่เรานั่งอยู่ตรงที่จะทำสถานี เราต้องมากังวลว่ามันจะมีผลกระทบอะไรไหม อย่างที่บอกว่าเขาผ่าน EIA มาแล้ว แต่ไม่ได้เป็น EIA ของสถานีใหญ่ ๆ แต่มันเป็นโครงสร้างที่แปลกปลอมยังไงก็ต้องมีการศึกษาดูว่าสถานีที่จะทำมีผลต่อเรื่องพวกนี้ไหม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เสริมต่อว่า ผมเคยเห็นจริง ๆ ถ้าดูจากเครสที่เขาตัด อย่างสะพานที่เดรสเดน มันเล็กมาก ไม่ได้ใหญ่อะไร แต่เขามองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ซึ่งต่างกับอยุธยาตรงที่เดรสเดนขึ้นทะเบียนผ่านตรงลุ่มแม่น้ำทั้งสาย เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร แล้วตัวสะพานนี้ดันอยู่ในน้ำ แต่สุดท้ายก็โดนเอาออก หรือถ้าเราไปเทียบกับสนามบอลเอฟเวอร์ตัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีการเรื้อเอาท่าเรือโบราณ ตรงกับที่ลิเวอร์พลูไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกสิ่งประกอบตรงปากน้ำเมอร์ซีย์ ซึ่งมันเปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 18 

ดังนั้นถ้าเราตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงไว้ตรงนี้ ทำให้ทัศนียภาพเปลี่ยนหรือเปล่า ถ้าถามผม ผมคิดว่าเห็นนิดเดียวก็มีผล สิ่งที่ยูเนสโกเขาต้องการคือ เขาจะไม่ให้มรดกโลกพร่ำเพื่อแล้ว ประเทศไหนไม่เคยได้ก็จะได้แค่ที่เดียว เขาไม่ให้เพิ่ม เขาให้เหมือนกับมิชลินสตาร์ เพื่อบอกว่า มาตรฐานของอยุธยาเท่านครวัด และลิเวอร์พลู เพื่อทำให้แต่ละประเทศมีสิ่งที่เป็นจุดขาย สร้างมาตรฐานในการที่จะทำให้คนเข้าไปเที่ยว หรือทำธุรกิจ แต่พอให้เยอะก็ทำให้มาตรฐานเขาดรอปลง จากการที่พยายามถอดถอนจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น

อย่างเครสแรกที่ถูกถอนมรดกโลกก็คือ โอมาน ที่ได้เพราะที่นั้นมีตัวออริกซ์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเฉพาะถิ่น เลยทำให้เป็นสถานที่เพาะพันธุ์ตัวออริกซ์ แต่ปรากฎว่าโอมานเขาเจอก๊าซธรรมชาติตรงนั้น เขาเลยยอมถูกถอด เขาคิดว่าเขาได้ผลประโยชน์จากตรงนั้นเยอะกว่าการเป็นมรดกโลก

มรดกโลกที่ไม่ได้ยึดโยงกับชีวิตของผู้คน

ศุภสุตา ปรีเปรมใจ กล่าวว่า เท่าที่เคยเห็น บางคนบอกให้ถอดเลย เพราะการมีมรดกโลกไม่ได้ยึดโยงอะไรกับประชาชน การมีมรดกโลกห้ามทำโน้นทำนี่ ห้ามค้าขายตรงนี้ ชาวบ้านต้องออกไปจากพื้นที่ แล้วจะมีไว้ทำไม กลายเป็นว่า บางสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ กลายเป็นทัศนคติเชิงลบกับการมีมรดกโลกในพื้นที่ 

บางคนอาจจะคิดว่า  อยุธยาเป็นที่รู้จักของทั่วโลกอยู่แล้ว การมีหรือไม่มีเหมือนเป็นแค่ป้ายแปะไว้เฉย ๆ หรืออาจจะมองแค่ชื่อเสียงที่หายไป แต่ยังไงคนก็รู้จักอยุธยาขึ้นหิ้ง ดังนั้นจะมีหรือไม่มี ก็แคร์ปากท้องคนในท้องถิ่นก่อนดีกว่า 

แต่เมื่อมีด้านหนึ่งก็ต้องมีอีกด้าน การถูกถอนออกจากมรดกโลกเป็นเรื่องที่ต้องซีเรียสมาก นอกจากเรื่องชื่อเสียง ก็จะมีผลกระทบต่าง ๆ  ทั้งทุน การศึกษา การช่วยเหลือจากนักวิชาการ การพัฒนาจะถูกถอดถอนออกไปหมด เหมือนที่บอกว่า เขาให้มิชลินสตาร์มาแล้ว แต่คนในพื้นที่มองว่ามันสร้างผลกระทบ ทำให้มันไม่ได้รับการดูแลที่ดี และถูกถอดถอน สิ่งนี้จะสร้างผลกระทบ และมีต้นทุนราคาแพงที่ต้องจ่าย    

ดังนั้นเรื่องถอด หรือไม่ถอดมรดกโลกมองได้หลายแง่ เพราะคำว่ามรดกโลก หรือมรดกของคนทั้งโลก จะมีนิยามว่าถ้าสูญเสียมรดกโลกไป เป็นความสูญเสียของคนทั้งโลก แต่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจจะมาฟังเสียงใคร ฟังเสียงของคนอยุธยา หรือฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้คุณค่ากับความเป็นมรดกโลก บางคนอาจจะอยู่เชียงใหม่  บางคนอยู่อีสาน อยู่ใต้ แต่บอกว่าทุกปีต้องมาอยุธยา พอถูกถอดถอนจากมรดกโลกแล้วเกิดอะไรขึ้น อาจจะเป็นผลกระทบต่อจิตใจของคนที่อยู่นอกพื้นที่ 

สิ่งนี้น่าสนใจ เพราะการที่โครงการนี้เข้ามา คนในพื้นที่เสียงต่อต้านน้อยมาก แต่กลายเป็นว่าคนข้างนอกเข้ามารักษา มองที่ตัวเองด้วยซ้ำ ในฐานะที่สอนประวัติศาสตร์ แต่คนในพื้นที่รับรู้ความสำคัญตรงนี้น้อยเกินไปหรือเปล่า หรืออยู่มาด้วยความเคยชิน หรือมีผลกระทบต่อกายภาพอะไรที่ทำให้เขาคิดว่ามันไม่ดีไปกว่านี้แล้ว สร้างดีกว่า แต่คนข้างนอกรวมกลุ่ม ช่วยกันทำโครงการรักษา ซึ่งเครสนี้กับเครสของการรื้อสุสานของวัดพนัญเชิงเทียบกันไม่ติดเลย อันนั้นป้ายติดทั้งเมือง ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ คนไทยเชื้อสายจีนสู้สุดใจมาก จัดเวทีสาธารณะ จนสามารถรักษาสุสานของตัวเองไว้ได้ แต่กรณีนี้เดินไปไหนไม่เจออะไรเลย  อาจจะมีการพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วก็ผ่านไป

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว กล่าวว่า การถอดถอนหรือไม่ถอดถอน อาจจะเป็นประเด็นปลายทาง ต้องบอกว่า อยุธยาเป็นเมืองซ้อนเมือง หมายความว่า อยุธยาเป็นเมืองเก่า ถูกทิ้งร้างไปช่วงหนึ่งแล้วก็กลับมามีชีวิต และก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาอย่างถูกบ้าง ผิดบ้าง สมมติถ้าเรามองว่าย้ายรถไฟฟ้าไปข้างนอก หรือไม่มีเลย ถ้าไม่อนุรักษ์ให้ถูกทิศถูกทางก็เละเหมือนเดิม ถ้ามองอีกมุมมันอยู่ที่การร่วมมือของหน่วยงานที่เข้ามาร่วมพัฒนามากกว่า  เมื่อมีโครงสร้างหนึ่งเข้ามา ก็ต้องกังวลแล้วว่าโครงการนี้มีผลกระทบอย่างไร เช่น ผมเคยไปลงพื้นที่ เจอประเด็นเดียวกันคือทีมงานไม่สนใจเรื่องมรดกโลก กลายเป็นคนข้างนอกที่บอกว่าอาจารย์ทำแบบนั้น แบบนี้ ไม่ดูแลเลยหรอ แต่เมื่อมาฟังข้างในบอกให้สร้างเลย กลับกันแค่วัดหนึ่งวัดจะโดนรื้อ ดังขึ้นมาเลย หรือหลวงพ่อคอหักก็ดังขึ้นมา มันกลายเป็นคนละมิติ คนละมุมมอง ถามว่าอยุธยาคนเขารักไหม เขารักของเขานะ  

ถ้าจะให้การอนุรักษ์และการพัฒนาไปต่อด้วยกันได้ ต้องปรับอะไร ในรายงาน HIA ที่ทำการประเมินไม่ได้บอกว่าควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง จะบอกว่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นคืออะไร ตอนนี้เขาจะบอกว่า ไม่เกิดโครงการนี้ ก็คือไม่สร้าง ก็ไม่มีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก แต่ถึงแม้ไม่สร้างคุณก็ต้องรักษา ทุกวันนี้เราไปศึกษาจริง ๆ พบว่า การพัฒนาเป็นไปแบบไม่มีทิศทางจริง ๆ ทำให้เมืองเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ คลองก็โดนถ่มหมด อันนี้กระทบ OUB มาตั้งแต่อดีต

ถ้าเกิดโครงการนี้เกิดขึ้นจะมีข้อกังวลว่าอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถอดถอนจากมรดกโลก เพราะว่ามีใบเหลืองเตือนมาเรื่อย ๆ คนที่ตัดสินใจคือรัฐภาคี หรือว่ารัฐบาลในรายงานบอกว่าถ้าจะทราบต้องลดผลกระทบอย่างไรบ้าง ลดสถานี หรือปรับสถานีให้มีความกลมกลืน สิ่งที่ผมประเมินไม่ได้ประเมินสายของจีน ประเมินสายที่เล็กลงมาแล้ว ซึ่งชุมชนกังวลเรื่อง TOD แต่เท่าที่ดูมันยังไม่เกิดขึ้นจริง เหมือนเป็นไอเดียของ TOD มากกว่า ถ้าจะสร้างต้องดูแหล่งโบราณคดีด้วย ตอนทำรายงาน EIA ยังถามเลยว่า แหล่งโบราณคดีหายไปไหนหมด ไม่เจอเลย ต้องมาศึกษาใหม่ ซึ่งก็เจอเยอะ ดังนั้นต้องทำตามมาตรการถ้าจะสร้าง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เสริมต่อว่า ที่เขื่อว่าโดนถอนแน่ ๆ เพราะว่าการประชุมอนุกรรมการครั้งนั้น มีเอกสารที่ถูกส่งมาโดยคณะอนุกรรมการ คนที่นั่งหัวโต๊ะในวันนั้นคือคุณประวิทย์ คณะอนุกรรมการมรดกโลก เสนอว่าให้ทำทางลอดใต้ดินแทน หรือให้เบี่ยงเส้นทาง แปลว่าถ้าอยู่ข้างบนเขาไม่โอเค นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่าถ้าทำก็จะถูกถอด

ตัวปัญหาเรื่องมรดกโลกของประเทศนี้ คือการที่เอามาแล้วไม่มีแผนงานที่จะใช้ประโยชน์เหมือนได้มิชลินสตาร์แล้วไม่ PR เอาไปแปะไว้ข้างบ้านเฉย ๆ อยุธยาไม่แปะด้วย ถ้าไปดูที่พระนครทุกปราสาทแปะตรามรดกโลกหมด เขามีการบริหารจัดการ ที่กัมพูชาเขาไม่ได้ใช้ราชการในการบริหาร แต่จ้างบริษัทที่เป็นเอกชน เอกชนไปประมูลมาก็มีการคำนึงถึงกำไรที่จะได้รับและพยายามใช้ความเป็นมรดกโลกในการขายแต่บ้านเราไม่มีแบบนั้น ราชการพอได้มา และเอาสิ่งนี้ไปกลั่นแกล้งประชาชนที่อยู่รอบ ๆ สิ่งนี้เลยเป็นปัญหา

ความคุ้มค่า และความคุ้มทุนของโครงการ

รศ. ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน  กล่าวว่า  นี่เป็นปัญหาหลักสำคัญของประเทศไทยเวลาที่ทำโครงการขนาดใหญ่ เอาแค่เฉพาะกรณีของรถไฟความเร็วสูง โครงการนี้เกิดขึ้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปี 2557 เกิดโครงการพยายามจะกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และอาจจะเป็นต้นตอสำคัญ จุดตั้งต้นตรงนั้นเกิดจากโครงการทั้งหมดบริหารจัดการโดยกระทรวงคมนาคม หมายความว่า อภิมหาโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันไม่รู้ว่ามูลค่ารวมอยู่ที่เท่าไหร่ แต่มารวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงเดียว ขณะที่มิติอื่น ๆ อย่างเช่นมิติที่ผมพยายามต่อสู้ตลอดคือการทำโครงการรถไฟเยอะแยะที่เกิดขึ้นควรจะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ เพราะว่าจะเป็นการพัฒนาเครื่องมือ พัฒนาวิศวกร พัฒนาช่าง เพื่อไปต่อยอดทำสิ่งอื่น ถ้าจะพูดเรื่องนั้น แปลว่าจะต้องมีกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างน้อยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงคมนาคม อยู่กระทรวงเดียว

เมื่อมีประเด็นเรื่องมรดกโลกของอยุธยามันเกิดกระทรวงใหม่ขึ้นมาอีก 1 กระทรวง ก็คือกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้อยู่ในสมการนี้ตั้งแต่ต้น  HIA มีการทำตอนปี 2565 และมาเสร็จตอนปี 2566 เรื่องoujอยู่ปลายแถว แทบจะไม่ได้อยู่ในสมการตั้งต้นตั้งแต่แรก เรื่องนี้สำคัญ ผมคิดว่าถ้าเราจะทำการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เราต้องการคณะทำงาน หรือทีมทำงานที่ครบเครื่องมากกว่านี้ในการคิดทุกมิติ การทำโครงการรถไฟความเร็วสูงมาที่อยุธยาไปหนองคาย ตลอดแนวเส้นทางเราจะเพิ่มมูลค่าเพิ่ม หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ กับชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ตามแนวพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่รูปแบบการทำมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ได้อย่างไร 

เวลาพูดแบบนี้จะกลับมาที่อาจารย์ศิริพจน์พูด อะไรคือความสำคัญของการเป็นเมืองมรดกโลก ถ้าให้เปรียบเทียบแบบสุดโต่ง ฟังแล้วอาจจะไม่ค่อยถูกหู ผมมองว่า เหมือนลิงได้แก้ว อยุธยาเป็นเมืองที่ดีเป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีสิ่งดึงดูดหลายอย่าง ผมคิดว่าผมพูดได้เต็มปาก เพราะผมมาอยุธยาบ่อย พาแขกที่เป็นนักวิชาการต่างประเทศมา เพราะอยู่ใกล้ที่สุด มีครบทุกอย่าง ทุกคนที่มีโอกาสมาเที่ยวชมแฮปปี้ คำถามก็คือเหมือนสิ่งนี้เป็นแก้ว และถ้าเราเห็นประโยชน์ของแก้วใบนี้แค่มิติเล็ก ๆ นิดเดียว ถ้าความสามารถของผู้คนมีข้อจำกัดเรื่องเศรษฐกิจกลายเป็นเปิดร้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ขายของอยู่ตามทางใกล้เมืองมรดกโลก

แต่ถ้าภาพใหญ่ถ้าเราคิดว่าความเป็นเมืองมรดกโลกจะทำให้เกิดชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเกิดคุณค่าใหม่ ๆ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ แบบเดียวกับช่วงที่ออเจ้าดัง อยุธยาการเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ต้องเดินทางมาที่นี่ แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้ามีจุดขายมากกว่านั้น มีสิ่งที่ดึงดูดมากกว่านั้นก็จะไม่ใช่แค่มาโดยรอบ ๆ แต่จะต้องมีการเดินทางมาที่นี่ตลอดเวลา และการเป็นหมุดหมายของการเป็นเมืองมรดกโลกนั่น เหมือนมีเสาหลักที่น่าสนใจ เหมือนเรามีแก้ว คำถามก็คือเราเห็นแก้วใบนี้เราจะเสกประโยชน์จากแก้วใบนี้ได้มากขนาดไหน ถ้าเรามองไม่เห็นแล้วไปทำลายแก้วทิ้งซะ ผมคิดว่าน่าเสียโอกาส 

อนาคตสมมุติว่าเราทำลายทิ้งไป ตอนนี้เรามองว่าเมืองมรดกไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้วก็ปล่อยให้ถูกทำลายไป อีก 10 ปีข้างหน้า หรือ 30 ปีข้างหน้า เมื่อลูกหลานของเราโตขึ้น เขาอาจจะค้นพบว่าบรรพบุรุษของเขาทำลายแก้วที่จะเป็นโอกาสในการทำเศรษฐกิจใหม่ ๆ ทิ้งไป โดยไม่รู้ตัว หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ประเด็นที่คิดว่าอยากจะฝาก ผมคิดว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องที่ภาครัฐ ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงคมนาคม แต่ต้องเป็นทุกกระทรวงรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยว ต้องมีการจับเข่าคุยกัน และคุยกับคนในพื้นที่ว่าเราจะทำอย่างไร ถึงจะสามารถรีดประโยชน์จากที่รัฐลงทุนไปมหาศาลขนาดนี้ได้ทุกมิติที่ไม่ใช่แค่เรื่องรถไฟวิ่งผ่านเมืองอยุธยาไป เหมือนเรามีบ้านอยู่ข้างทางด่วนเราไม่ได้วิ่งไปบนทางด่วน เราเห็นรถผ่านไปผ่านมาแต่เราไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากรถที่วิ่งผ่านไปผ่านมาได้เลย

ผมยกตัวอย่างเคยมีโอกาสนั่งคุยกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเจ้าหนึ่งที่อยู่แถวๆนี้เขาบ่นให้ผมฟังว่าเพราะเรามีโครงการรถไฟทั้งคู่ผ่านแถวนี้เขาอยากเอาสินค้าของเขามาขึ้นบนรถไฟเพื่อเดินทางไปยังปลายทางที่อื่นเขาพบว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่จะช่วยให้สินค้าเขาจากโรงงานไปสถานีรถไฟไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาคาดหวังรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายเพื่อแลกกับอะไรบางอย่างเช่นเคยขนส่งด้วยรถบรรทุกหรือวิธีการอื่นเขาค้นพบว่าในที่สุดแล้วสภาพแวดล้อมหรือ Eco System ทางธุรกิจไม่ได้เอื้อให้เขาสามารถรีบประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นได้นี่เป็นเพียงตัวอย่างด้านเดียวในมิติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปลว่าถ้าเราต้องการจะรีบประโยชน์จากทุกวันทุกสตางค์ของภาษีที่เราจ่ายขึ้นไปเพื่อทำโครงสร้างขนาดใหญ่ขนาดนี้รวมไปถึงโครงการขนาดอื่นที่จะตามมาด้วยน่าจะต้องถูกระดมสมองและคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราใช้ประโยชน์มันได้อย่างคุ้มค่า 

เวลาที่จีนคุยกันเรื่องการทำโครงการรถไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใกล้ตัวเราที่เราเห็นเส้นทางคุนหมิง ผ่านลาว เพื่อจะมาเชื่อมกับไทย ที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เขาไม่ได้คิดแค่นี้ จีนมีโครงการที่ใหญ่กว่านั้นตอนแรกเขาเรียกโครงการนี้ว่า One Belt One Road (OBOR)  ต่อมาเรียกว่า Belt and Road Initiative สรุปแบบไว ๆ คือโครงการสายไหมใหม่ของทศวรรษนี้ นั่นหมายความว่าจีนกำลังต้องการผนึกพื้นที่เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับประเทศจีน ตั้งแต่ตะวันตกสุดจนถึงตะวันออกสุด เขาต้องการทำอะไรบางอย่าง 

เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมมีโอกาสได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนผ่านกระทรวงพาณิชย์ ทางกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือเทียบเชิญผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่สนใจโครงการ Belt and Road ไปรับฟังว่าจีนกำลังจะทำอะไร เฉพาะเจาะจงว่าภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย มีผู้แทนจากไทยไป ซึ่งมีผมไปคนเดียว มีผู้แทนจากประเทศลาว และจากประเทศเมียนมาที่ไป จีนมีแผนการที่ใหญ่มากว่าจะแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทางรัฐศาสตร์ รวมไปถึงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ มีการแบ่งเป็นเสาหลัก และโครงข่ายรถไฟ เป็นเครื่องมือของเขาในการทำสิ่งนั้นเขาไม่ได้ทำรถไฟเพื่อเป็นรถไฟ แต่เขาใช้รถไฟเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่อะไรบางอย่าง และใช้เป็นเครื่องมือในการทำอาณานิคมทางเศรษฐกิจในมุมกลับกัน ประเทศไทยจะเชื่อมตัวเองเข้าไปในโครงการนี้ เราต้องมองโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รถไฟ เราต้องมองมันเป็นเครื่องมือเหมือนกัน

คำถามที่ต้องตอบวันนี้ก็คือโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือโครงการรถไฟทางคู่ หรือการปรับเปลี่ยนทางด่วนมอเตอร์เวย์ต่าง ๆ ในระดับประเทศ แม้แต่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ต้องคิดว่าเราทำไปเพื่อขายอะไรเราต้องการส่งออกอะไร เราจะนำอะไรเข้ามา เพราะเส้นทางรถไฟมี 2 ขา มีขาไป ขามา ไม่ใช่แค่สินค้าหรือผู้โดยสารของเราเดินทางไป สินค้าและผู้โดยสารของเขาก็เดินทางเข้ามาที่นี่ได้โดยสะดวกเหมือนกัน

ถ้าติดตามข่าวสารตอนนี้จะพบว่าผู้ประกอบการ SME ของไทยจำนวนมากเริ่มเดือดร้อน จากการที่อุตสาหกรรมจีนผู้ประกอบการจีนเข้ามา ทั้งสินค้าการเข้ามาแข่งขันทำตลาด จนหลายท่านอาจจะบอกว่ากรุงเทพมหานครหลายพื้นที่แทบจะกลายเป็นมณฑลของจีน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันอย่างจริงจัง และต้องวางแผนกันเป็นขนาดใหญ่ การที่เราจะเอาอยุธยาแปะเข้าไปในระบบสมการนี้ จะต้องแปะเข้าไปในฐานะที่ว่าเราจะรีดศักยภาพของอยุธยา รวมถึงหัวเมืองอื่น ๆ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด และเกิดผลกระทบกับพี่น้องในประเทศน้อยที่สุด

ด้าน ผศ.ชวลิต ขาวเขียว มองว่า คงเป็นทุกมิติ แต่ปัจจุบันต้องมาโฟกัสกันที่เรื่องของการเกิดขึ้นของสถานี อย่างที่บอกว่ามันติดกระดุมผิดเม็ด ตรงที่เราทำงานจริง เห็นว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น แค่ ทางการรถไฟอย่างเดียว ต้องบูรณาการทั้งหมด เพื่อให้อยุธยากลับมารุ่งเรือง ถ้าพัฒนาเสร็จแล้วและไม่มีการพัฒนาต่อเนื่องก็จะไม่รุ่งเรืองอยู่ดี 

ต้องมองกลับมาว่า เมื่อรัฐบาลทำมาแล้วต้องตัดสินใจบนฐานข้อมูลความจริง ซึ่งต้องบอกกับประชาชนด้วยข้อเท็จจริงว่า  ถ้าไม่สร้างจะเกิดอะไร และถ้ายอมเสี่ยงกับการสร้างจะต้องสูญเสียอะไร อันนี้ต้องตอบให้ชัด เนื่องจากมีการศึกษามาบางส่วนว่าถ้าลอดอุโมงค์จะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร หรือถ้าจะเบี่ยงทางไปจะเป็นอย่างไร เพราะ HIA เล่มนี้ที่ศึกษา ทำการศึกษาแค่ตัวสถานีปัจจุบันว่าถ้าทำจะเป็นอย่างไร ซึ่งปกติ HIA ใช้เวลา 1-2 ปี แต่ว่าครั้งนี้ใช้เวลา 6 เดือน ถือว่าหนักหน่วงมาก ๆ ในการทำงาน สุดท้ายคือมีทั้งผลดีและผลเสีย ต้องเลือกผลดีที่สุด

โครงการพัฒนากับพื้นที่ ต้องพัฒนาไปคู่กัน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ  เสริมต่อจากอาจารย์ประมวลว่า  ตอนที่จีนคิดว่าจะทำ One Belt One Road เขาไม่ได้คิดที่จะทำแล้วเริ่มที่รถไฟ แต่เขาเริ่มที่ Content โดยใช้ประวัติศาสตร์ เขาศึกษาประวัติศาสตร์ของเขาว่าคนรู้จักอะไรเยอะที่สุดในเส้นทางไปจีน ก็คือ Silk Road เส้นทางสายเอเชียกลางที่พระถังซัมจั๋งเดินไปชมพูทวีป แล้วเขาก็ไปสร้างเส้นทางใหม่ขึ้นมา ประดิษฐ์คำใหม่มา เป็น maritime silk road เส้นทางสายไหมทางทะเล ในตำราประวัติศาสตร์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เส้นนี้เรียกว่า Spice Route เส้นทางการค้าเครื่องเทศเป็นศัพท์ที่ใช้ทั่วไป แต่จีนเปลี่ยนคำนี้ แล้วใช้ว่าเส้นทางสายไหมทางทะเล เพื่อทำให้ไปทางนี้ แล้วมาอยุธยาด้วย เพื่อที่จะพูดถึงการค้าขายทั้งหมดแล้วก็สร้างพลังเส้นทางรถไฟตัวนี้ นี่คือประวัติศาสตร์ นี่คือพลังที่เขาใช้ในฐานะ Soft Power อยุธยามีมรดกโลกสำคัญมากเวลาฝรั่งหรือนักท่องเที่ยวเขามา 

ผมยกตัวอย่างมีน้องคนนึงที่ผมรู้จักจบเมืองนอกพาเพื่อนมา ซึ่งฝรั่งก็ถามว่าที่นี่สำคัญอย่างไรเด็กไทยตอบไม่ได้ และตอบไปคำเดียวว่า มหาลัยที่เราเรียนเก่ากว่าที่นี่ แต่ก็เจอคำถามว่าแล้วทำไมถึงได้มรดกโลก เพราะว่าในหัวของนักท่องเที่ยว อยุธยาเท่ากับนครวัด อันนี้คือแบรนด์ที่มีพลังเข้มแข็ง

ผมสนับสนุนให้สร้างรถไฟความเร็วสูงแน่นอน แต่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ประมวลว่า มันต้องไปด้วยกัน เราชอบมีภาพที่ผิดก็คือการอนุรักษ์เป็นคู่ตรงข้ามกับการพัฒนา เรื่องนี้การอนุรักษ์คือการ Maintenance รักษาสถานภาพของ Soft Power แล้วเอามาใช้ในการพัฒนา เราไปคิดว่าเป็นคู่ตรงข้ามกัน มันผิดตั้งแต่แรก เราควรที่จะใช้พลังจากมันให้ได้

สำหรับผมถ้าเปลี่ยนเส้นทางมันมีผลกระทบอย่างอื่นในเรื่องของการเวนคืนที่ดินที่ต้องต่อสู้กันไป แต่สิ่งที่ควรจะทำก็คือ ตัวของสถานีรถไฟมันทับอยู่ตรงเมืองเก่าอยุธยาซึ่งสำคัญมากเป็นเมืองที่แทบจะไม่มีคนพูดถึงเลยคนที่พูดถึงเมืองนี้คนแรกคือรัชกาลที่ 5  ในพระราชกระแสตอนมาเปิดโบราณคดีสโมสรที่พระราชวังรัชกาลที่ 5 พูดว่า เมืองอยุธยาเก่าคืออยุธยา และเมืองอยุธยาใหม่ ท่านรู้ว่ามันสำคัญ เพียงแต่ว่านักโบราณประวัติศาสตร์รุ่นหลังไปตัดมันทิ้ง ตอนนี้เรามีหลักฐานที่มันเยอะพอ ถ้าดูประวัติศาสตร์มันมีกฎหมายอย่างน้อย 1 ฉบับ ที่เขียนขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 120 ปี มันเขียนด้วยภาษาไทย แปลว่าเป็นกฎหมายของคนที่พูดภาษาตระกูลไทยที่เก่าที่สุดที่เรารู้จัก การมีกฎหมายแปลว่ามีชุมชนของคนไทยที่ใหญ่ที่สุด ก็คืออยุธยา ตอนนี้ถ้าเราไม่พูดถึงมรดกโลกเลย เรากำลังทำลายเมืองเก่าที่สำคัญเมืองหนึ่ง

ด้าน ศุภสุตา ปรีเปรมใจ ในฐานะนักวิชาการประวัติศาสตร์และเป็นคนในพื้นที่ที่เกิดและโตที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มองว่า ในฐานะคนในพื้นที่อยากได้ข้อมูลที่เยอะกว่านี้ เรามาชั่งน้ำหนักกันเหมือนคำโบราณที่บอกว่า เสียน้อย เสียมาก เสียยาก เสียง่าย มีรถไฟความเร็วสูงแล้วเมืองอยุธยาถูกทำลายก็ต้องมาเทียบกันว่าทำลายกี่เปอร์เซ็นต์มากน้อยแค่ไหน มาส่องกันเลยว่ามีพื้นที่ที่เป็นโบราณคดีที่ควรได้รับการศึกษาจริง ๆ กี่เปอร์เซ็นต์ และกี่เปอร์เซ็นต์ที่ทาง รฟท. จะต้องให้ความสำคัญกับการสำรวจครั้งนี้ หรือถ้าเจอโบราณสถานน้อยเราเดินหน้าต่อไปได้ไหม อาจจะต้องเอาข้อมูลมาสนับสนุนกันว่าเราจะทำไงกับชุดข้อมูลที่มีอยู่ 

บางคนอาจจะบอกว่าได้ แต่ก่อนโบราณสถานอนุรักษ์กันจนหญ้าขึ้น แต่เราต้องทำให้เห็นว่า สิ่งนี้มันสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ภายภาคหน้าได้อย่างไร ไม่นั้นกลุ่มนักอนุรักษ์จะกลายเป็นตำบลกระสุนตกช่วยอนุรักษ์เก็บรักษา ถนอมเสร็จแล้วนักอนุรักษ์มีการการันตีให้คนที่อยู่ตรงนี้ไหมว่า สมมุติว่าถ้ามีการเรียกร้องกันจนสำเร็จไม่สร้างแล้ว จะมีการสืบค้นทางโบราณคดีจริงไหม ใช้เวลานานเท่าไหร่ ถ้ามันไม่เกิดขึ้นจริง มันจะกลายเป็นว่าการขุดคุ้ยทางโบราณคดีที่ต้องได้รับข้อมูลก็ไม่มี สถานีก็ไม่ได้ แล้วเราจะรับผิดชอบอย่างไรกับปากท้องของคนที่ยังรอโอกาสอยู่ จะคิดอย่างไรกับคนที่อยากจะลืมตาอ้าปากกับการที่เขาจะได้มีรถไฟความเร็วสูง แต่ละฝ่ายจะต้องเอาข้อมูลมาแบกันว่าเสียน้อยเสียมากเสียยากเสียง่ายอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ทิ้งท้ายที่ ผศ.ชวลิต ขาวเขียว เสริมต่อว่า ข้อมูลที่อาจารย์ปิงปองถามก็มีการศึกษาไว้เกือบครบแล้วว่าตัวที่เป็นรางจริง ๆ ผ่าน 6 จุด ในระยะ 1 กิโลเมตรมีกี่แหล่ง มีการศึกษาไว้ และมีการบินถ่ายพวกนี้ไว้หมด มีการศึกษาการจัดการน้ำโบราณไว้หมดแล้วว่าโดนถมไปกี่เปอร์เซ็นต์ถ้าโครงการนี้เกิดจะมีการถมเป็นระยะเท่าไหร่บ้าง 

แต่ในกรณีถ้าไม่เกิดโครงการและไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นเหมือนเดิม ถึงมีโครงการก็อยู่ที่การจัดการ ถ้าจะจัดการให้มันดีมันก็ดี ซึ่งตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงคมนาคมอย่างเดียว กระทรวงคมนาคมจริง ๆ การรถไฟเขาก็ทำในพื้นที่ของเขา แต่พื้นที่อื่น ๆ เขาจะไปขุดไม่ได้ ต้องเป็นกรมศิลปากร ซึ่งกรมศิลปากรก็ไปคุยมา มีการประกาศมรดกโลกมาแต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน คนก็น้อยก็ ล้มเป็นโดมิโน มรดกโลกของเราเหมือนได้มาแล้วก่อนไว้ มันไม่มีการจัดการให้มันเต็มที่ ผมว่าจะมีรถไฟหรือไม่มี ถ้าไม่มีการจัดการให้ดีมันก็เท่านั้น สิ่งสำคัญก็คือเหมือนที่ทุกคนพูด คนในพื้นที่ต้องสะท้อนความต้องการของตัวเอง ซึ่งก็มีคนข้างนอกที่มองกลับมาอีกทีบางทีก็ไม่ได้อยู่ข้างในก็ไม่รู้ว่าคนข้างในเขาเจออะไรบ้าง 


ติดตามเสวนารายการฟังเสียงประเทศไทย : เมืองมรดกอยุธยากับรถไฟความเร็วสูง ย้อนหลัง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ