‘เมือง’ ต้องถูกจัดการ เพื่อ ‘คน’ บทสนทนาจากสยามสมาคมฯ

‘เมือง’ ต้องถูกจัดการ เพื่อ ‘คน’ บทสนทนาจากสยามสมาคมฯ

“การรับฟังหรือทำตามคำสั่งตามแนวทางพัฒนาเมืองของภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีโอกาสที่จะได้คิดแย้งนั้น ไม่อาจทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ”

กนิษฐา กสิณอุบล
ผู้จัดการทั่วไปสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

ท่ามกลางสถานการณ์การไล่รื้อชุมชนเก่าในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อการจัดระเบียบเมืองหลวงให้งดงามชวนมอง โดยเฉพาะกรณีที่มีการขีดเส้นตายเวนคืนที่ดินชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองของสังคม กับข้อต่อสู้หลักของชาวชุมชนในฐานะ ‘แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมที่มีชีวิต’

ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาถึง ‘การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ’ ท่ามกลางความเจริญและความเปลี่ยนแปลงของเมือง กับพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร กรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และกนิษฐา กสิณอุบล ผู้จัดการทั่วไปสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งคู่ต่างอยู่ในตำแหน่งกรรมการ ‘โครงการพิทักษ์มรดกสยาม’ ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

ล่าสุด ‘โครงการพิทักษ์มรดกสยาม’ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จัดทำเอกสาร ‘เสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม’ ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีบทบัญญัติเรื่อง ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ในรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมในความหมายที่กว้างขึ้น เสริมสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้มีบทบาทที่ชัดเจนขึ้นในการรักษาและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม คงต้องเริ่มต้นก่อนว่า ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ของกรุงเทพฯ คืออะไร?

 

20162804215442.jpg

(ซ้าย) พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร (ขวา) กนิษฐา กสิณอุบล 

 

‘มรดกทางวัฒนธรรม’ แท้จริงคืออะไร?

“ปีนังที่ได้มรดกโลก ไม่ใช่ได้เพราะสร้างตึก แต่ได้เพราะไม้กระดานลงน้ำ ซากบ้านไม้โบราณ และหมู่บ้านริมท่าน้ำ” พิมพ์ประไพ กรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หยิบยกตัวอย่างความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมตามหลักสากล จากตัวอย่างเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ซึ่งหากตีความแล้ว มรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่อง ก็คือ ‘ชุมชน’ นั่นเอง

นอกจากนี้ การเก็บรักษาอาคาร บ้านไม้ หรือวิถีชีวิตริมน้ำ ยังเป็นการรักษาจิตวิญญาณของชุมชน ซึ่งหากย้อนกลับมามองกรุงเทพฯ พิมพ์ประไพยอมรับว่า ไม่มีจุดไหนจะได้เห็นจิตวิญญาณกรุงเทพฯ ได้ดีกว่าพื้นที่คลองรอบกรุง

ดังนั้น เมื่อถามถึงเรื่องการอนุรักษ์ป้อมมหากาฬ กรรมการสยามสมาคมฯ ท่านนี้จึงชี้ว่า กรุงเทพมหานครควรจะตีความการอนุรักษ์ใหม่ ให้รวมถึงการอนุรักษ์คลองรอบกรุง รอบกำแพงเมือง ที่มีมาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ควรปล่อยให้น้ำในคลองมันเน่าเฟะ หรือกลายเป็นท่อระบายน้ำเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเช่นนี้อยู่ภายใต้ความเข้าใจถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการปรับปรุงพื้นที่รอบคลองได้ เฉพาะที่เป็นพื้นที่ของรัฐ หรือของวัดเท่านั้น แต่ลักษณะของการอนุรักษ์โดยรวมทั้งคลองรอบกรุง ไม่ใช่รักษาแค่เพียงป้อม หรือตัวกำแพงเมืองยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น

“อย่างนี้เห็นชัดๆ ว่าคุณบกพร่องในการมองเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม ถ้าคุณจะรักษาป้อมก็ต้องรักษาท่าน้ำของคลองนั้น หรือชุมชน จะไปดูว่าเป็นป้อมเฉยๆ ไม่ได้” พิมพ์ประไพ กล่าว

 

20162804215947.jpg

ภาพจาก Facebook : ชุมชนป้อมมหากาฬ

 

ในขณะเดียวกัน กนิษฐา กสิณอุบล ผู้จัดการทั่วไปสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีมุมมองสอดคล้องกันว่า มรดกทางวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นชิ้นเดียว แต่เป็น ‘องค์รวม’ เพราะตัวตนของแต่ละบุคคล หรือชุมชนก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเช่นกัน เพราะมีคนเดียว ชิ้นเดียว เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งมีความพิเศษของตัวตน

นอกเหนือไปจากอาคาร บ้านเรือน ที่ก็ต่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง ตามความหมายเช่นนี้กนิษฐาอธิบายว่า มรดกทางวัฒนธรรม จึงไม่ได้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ที่จะบอกได้ว่า 1 2 3 สิ่งไหนเป็น หรือไม่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม แต่เป็นเรื่องของตัวตน และความรู้สึก

 

ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้หรือไม่?

พิมพ์ประไพ ยืนยันว่า ไม่เพียงชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้เท่านั้น แต่มีความจำเป็น ที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครต้องตั้งวงเสวนา มีการคุยกันเพื่อให้ข้าราชการทุกท่านได้เห็นพ้องต้องกันว่า เรากำลังจะรักษาอะไร เพราะขณะนี้ทุกคนต่างมีความเห็นต่อการอนุรักษ์ไม่ตรงกัน

ข้าราชการอาจเห็นว่าอุตส่าห์มีงบประมาณมาทำสวนสวยๆ ที่สะอาดให้ แล้วคุณยังไม่อยากได้อีกหรือ? ในขณะที่บางส่วนของสังคมอยากเห็นกรุงเทพเป็นเมืองที่มีคนอยู่ ไม่ใช่กำแพงวังกับสนามหญ้า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องมานั่งคุยกันว่าคนกรุงเทพเห็นอย่างไร

เช่นเดียวกับในมุมมองของกนิษฐา ที่ให้ความสำคัญกับภาพของกรุงเทพในอนาคตที่คนมีร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต่อการอนุรักษ์หรือพัฒนาเมือง โดยทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต้องดูแลร่วมกัน เพื่อมองให้ออกว่ากรุงเทพจะผสมผสานความเก่าและความใหม่อย่างไร

“ถ้ามองว่าไม่สวยงาม ควรมีการจัดการอย่างไร? เช่นการขายของริมถนน หลายแห่งในต่างประเทศทำแล้วคนเดินไม่รู้สึกอึดอัดหรือเกะกะ เพราะอยู่ที่การจัดการ เป็นการมองว่าปัญหาที่เกิดจะแก้ไขและจัดการอย่างไร ไม่ใช่คนจะอยู่ร่วมกับสิ่งที่สวยงามอย่างอื่นไม่ได้” กนิษฐากล่าว

กนิษฐาจึงมองว่า ความเจริญไม่ได้เกิดจากการรื้อของเก่าออก แต่เกิดจากการหาหนทางให้ของเก่าอยู่ร่วมกับของใหม่ได้ เมื่อชีวิตของคนอายุ 80 ยังคงดำเนินอยู่ และคนอายุ 10 ขวบก็ไล่ตามขึ้นมา จึงเป็นปกติที่ทั้งความเจริญ และความเก่าแก่เดินมาคู่กัน หากรู้จักการบริหารจัดการก็สามารถผสานได้

20162904010208.jpg

การจัดการอย่างมีส่วนร่วม สำคัญอย่างไร?

พื้นที่สวนหน้าอาคารของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ที่อยู่ควบคู่กับสวนที่ออกแบบ และดำเนินการโดยกรุงเทพมหานครฯ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของแนวทางการจัดการเมืองโดยการมีส่วนร่วมออกแบบของคนในพื้นที่

“การรับฟังหรือทำตามคำสั่งตามแนวทางพัฒนาเมืองของภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีโอกาสที่จะได้คิดแย้งนั้น ไม่อาจทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ” กนิษฐา ให้ความเห็น

กนิษฐา เล่าว่า สวนที่ถูกจัดการโดยภาครัฐ และสวนที่ออกแบบโดยสยามสมาคมฯ สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีลักษณะที่เหมือนกัน เพราะทางสยามสมาคมฯ ก็มีลักษณะเฉพาะขององค์กรเช่นกัน

เธอมองว่า คนในพื้นที่บางจุดของเมือง อาจมีมุมมองต่อแนวทางการอนุรักษ์ หรือการดูแลพื้นที่ของตน แต่เมื่อมุมมองเหล่านั้นมีความแตกต่างจากมุมมองของภาครัฐ จึงทำให้ไม่มีโอกาสแสดงออก

พิมพ์ประไพ จึงได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งแนวทางการทำงานของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการจัดการเพื่อจัดเวทีให้ผู้บริหารมาร่วมรับฟังแนวคิดของชุมชน เพื่อให้นโยบายไม่ได้ถูกสั่งจากบนลงล่างเพียงอย่างเดียว และเพื่อเป็นการสมานความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ตามคติของสยามสมาคมฯ ที่ว่า ‘วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ’ จึงมีความจำเป็นในการนำวิชา ความรู้ในทุกแขนงมานั่งพูดคุยกัน เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทย

จึงอาจต้องให้ท่านผู้อ่านซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ ได้ลองมองว่ากรุงเทพฯ กำลังอนุรักษ์อะไร ? และอะไรที่เราควรอนุรักษ์ ?

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ