ทบทวนแผนอนุรักษ์ที่ ‘มีปัญหา’ บทเรียนรื้อชุมชนป้อมฯ
“เนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นวิธีการบริหารจัดการใช้เงินภาษีประชาชน
มีการจัดซื้อ เวนคืน จ่ายค่าชดเชย ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะทราบได้ว่า พื้นที่ตรงนี้จะมีการจัดการอย่างไร
และเขาจะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดทำ และประกาศให้สาธารณะได้รับทราบ”
รศ. ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า
หลังจากกรุงเทพมหานครเข้ารื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬในส่วนบ้านที่ยินยอม เมื่อวันที่ 3 – 4 ก.ย. 2559 เป็นไปตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่เน้นเปิดมุมมองและพื้นที่โล่ง ปรับปรุงโบราณสถาน ที่จัดทำขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2537 กรอบแนวทางการอนุรักษ์ที่ถูกกำหนดขึ้นมากว่า 22 ปี
คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า คือหนึ่งในบทบาทสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบาย กำหนดพื้นที่ และจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและความเห็นโครงการของรัฐในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นผู้ที่สามารถมีบทบาทในการร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตรง
ทีมข่าวพลเมืองจึงได้สัมภาษณ์ รศ. ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร หนึ่งในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ถึงความเป็นไปของแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ที่จะมีการดำเนินการทบทวนใหม่ หลังจากกรณีของการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ
Q: กรณีของการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬจะนำไปสู่อะไรต่อไป ?
A: จากกรณีป้อมมหากาฬ “การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นเรื่องที่คนควรจะเห็นชอบร่วมกัน กลายเป็นจุดตั้งต้นของ “ความขัดแย้ง” ระหว่างราชการ กับประชาชน ทั้งนี้ปัญหาคือการกำหนดหลักเกณฑ์ว่า คุณค่าความสำคัญของพื้นที่อยู่ที่ส่วนไหน เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีการทบทวนแผนแม่บทฯ
คำถามที่ว่า “อะไรคือมรดกทางวัฒนธรรม?” อาจจะกว้างกว่าที่คิดไว้ก็ได้ ดังนั้นพอกำหนดความหมายไว้ไม่กว้าง พอมีการดำเนินการจัดการในพื้นที่จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง จากคนที่คิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมเช่นกัน
Q: ถ้าจะแก้ไข และจัดการกับความขัดแย้งตอนนี้ต้องทำอย่างไร ?
A: ในการจัดทำแผนต่างๆควรมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แต่ภาครัฐ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเดียวที่เข้ามากำหนดทั้งหมด การรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และประเมินว่าใครสามารถเข้ามาร่วมเสนอแนวทาง และรักษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมด้วยได้บ้าง จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์มากขึ้น
ส่วนของเดิมที่มีการรักษาอย่างดีแล้วก็ไม่ควรละเลย ส่วนที่ต้องเสริมคือเรื่องของชุมชน กิจกรรม หรือาคารบ้านเรือน ที่ยังไม่ได้ทำบัญชีไว้ตั้งแต่แรก ควระจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
Q: มาถึงขั้นนี้จะสามารถมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่ ?
จากกรณีมติการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 1 / 2559 วันที่ 20 ม.ค. 2559 ที่เห็นชอบให้ทบทวนปรับปรุงแผนแม่บทฯที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2540 ให้เป็นปัจจุบัน
A: เรื่องการปรับปรุงแผนแม่บทฯจะต้องทบทวนหลักคิดของแผนเดิม ที่ในยุคหนึ่งน่าจะเหมาะสม เพราะถ้าตีกลับไปในปี พ.ศ.2520 ทุกคนคงจะนึกถึงแต่เรื่องก่อสร้างอาคาร ดังนั้นทำให้การพิจารณาในเรื่องการอนุรักษ์ในช่วงนั้น ออกมาเป็นเรื่องการรักษาแหล่งโบราณสถานที่มีความสำคัญ จึงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการเคลียร์พื้นที่ เปิดเป็นสวนสาธารณะ ควบคุมความสูงของอาคาร แต่ในปัจจุบันการกำหนดนโยบายการอนุรักษ์โดยไม่ให้มีชุมชนอยู่ร่วมด้วย เมืองประวัติศาสตร์จะขาดมิติความน่าสนใจมาก
“ข้อเท็จจริงก็คือชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งประวัติศาสตร์ จึงนำมาสู่การพิจารณาว่าเมื่อสภาพการเปลี่ยนแปลงไป ความร่วมมือของชุมชน และภาคประชาชน ในการมีส่วนร่วมดูแลรักษา หรือเสนอความคิดเห็นต่อสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์มีมากขึ้น การทบทวนแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์จึงมีความสำคัญ เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจของคณะกรรมการ”
Q: ตอนนี้การทบทวนแผนแม่บทฯยังไม่ได้เริ่มต้นใช่ไหม ?
A: พอมีความคิดว่าจะทบทวนแผนแม่บท จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมก่อน และฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องนำเรื่องนี้เข้าขอจัดสรรงบประมาณจากทางการ ต้องมีการศึกษาวิจัย เก็บข้อมูล หรือว่าจ้างทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้
Q: กรณีของป้อมมหากาฬทันหรือไม่ ที่จะได้รับการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ตามการทบทวนแผนแม่บทฯ ?
A: คงไม่ทัน แต่สิ่งที่น่าคิดคือ แผนแม่บทปัจจุบันมีแต่แผนกายภาพกับงบประมาณโดยคร่าวๆ เรื่องการเคลียร์พื้นที่ และการสร้างอาคารบดบังทัศนียภาพ แต่เรื่องการบริหารจัดการแต่ละพื้นที่นั้นไม่มีเลย
ลองนึกไปถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การริเริ่มโครงการนี้ภาคประชาชนไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องมากเลย จะไม่เท่าในปัจจุบันที่ประชาชนอยากมีส่วนกำหนดว่าอะไรคือมรดกทางวัฒนธรรม เหมือนกับเขารู้สึกมีส่วนเป็นเจ้าของ เพราะเขาก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ดังนั้นถ้ามีการกำหนดกระบวนการมีส่วนร่วมแบบนี้ จะส่งผลต่อวิธีการบริหารจัดการ
สมัยก่อนมีการเวนคืนที่ดิน การครอบครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งรัฐจะนำมาจัดการอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป ภาคประชาชน สังคม และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ถ้าส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะเราจะได้เข้าใจว่า จริงๆแล้วกรุงรัตนโกสินทร์มีความหลากหลายมากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน สะท้อนว่าการบริหารจัดการควรจะทำอย่างไร ซึ่งในแผนแม่บทฯไม่ได้ระบุการบริหารจัดการที่มีทางเลือก หรือการกำหนดกรอบเรื่องต่างๆขึ้นมา
Q: คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าได้มีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ?
A: กรุงเทพมหานครฯ ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ ได้ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ การเวนคืนที่ดิน และจ่ายค่าชดเชยตามกรอบกฎหมาย ซึ่งมีแนวกรอบมาจากแผนแม่บทฯ เพราะฉะนั้นเรื่องที่เข้ามาในคณะกรรมการ จึงเป็นการทำหนังสือแจ้งเข้ามาให้ทราบว่ากำลังดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บท แต่ไมได้ทำเรื่องขอให้ทบทวนว่าป้อมมหากาฬควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นเรื่องที่มีการพิจารณามาแล้ว และกรุงเทพแค่แจ้งว่ากำลังจะดำเนินการ
จริงๆแล้วถ้าต้นเรื่องที่มามีการบอกว่า โปรดพิจารณาทบทวนว่าพื้นที่ในป้อมมหากาฬจะมีการดำเนินการ ทางคณะกรรมการเห็นว่าควรมีการดำเนินการอย่างไร ? หรือท่ามกลางกระแสอย่างนี้จะทบทวนอย่างไรบ้าง ? ควรมีการรักษาแบบไหน ? แต่เรื่องไม่ได้มาในลักษณะนั้น…อาจย้อนไปไม่ได้แล้ว
Q: การไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทั้งจากทางคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า หรือภาคประชาชน ชี้ว่าแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ของเรามีปัญหาไหม ?
A: ผมว่าปัญหาหลักอันหนึ่งคือเรื่องการสื่อสาร การกำหนดเกณฑ์ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรอนุรักษ์ และต่อมาคือไม่มีกรอบการดำเนินงานที่โปร่งใสเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น หลังเกิดการรื้อชุมชนทางกรุงเทพมหานครสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้ว่า จะรักษาป้อมมหากาฬและพื้นที่บริเวณโดยรอบด้วยมาตรฐานอย่างไรบ้าง ควรแจ้งให้สาธารณะได้รับทราบ เช่น จะดูแลรักษาป้อม หรือจะบริหารจัดการสวนสาธารณะอย่างไร มีกิจกรรมอย่างไร มีการบริหารจัดการร้านค้า การเข้ามาของนักท่องเที่ยวอย่างไร
สิ่งนี้เรายังไม่เห็นเนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะดังนั้นวิธีการบริหารจัดการใช้เงินภาษีประชาชน มีการจัดซื้อ เวนคืน จ่ายค่าชดเชย ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะทราบได้ว่าพื้นที่ตรงนี้จะมีการจัดการอย่างไร และเขาจะมีส่วนได้เสียอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดทำ และประกาศให้สาธารณะได้รับทราบ
“หลังจากมีเหตุการณ์เคลียร์พื้นที่ตามกฎหมายแล้ว อาจเป็นจุดตั้งต้นใหม่ว่า จะมีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างไร โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์อย่างถูกต้อง โดยหากกรุงเทพมหานครฯไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นคนดูแลตรงนี้ผู้เดียว…
มีทางออกในการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะในลักษณะ ‘หุ้นส่วน’ ผสมผสานระหว่างภาคเอกชน หรือการรวมกลุ่มของชุมชน เพื่อยื่นข้อเสนอให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ และเป็นการลดความขัดแย้ง พร้อมทั้งคงความสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้”
Q: การอนุรักษ์ในแง่ที่แบ่งออกเป็นสองฝั่งชัดเจน อนาคตจะไปต่ออย่างไร ?
A: อนาคตในพื้นที่อื่นๆ มันจะดีกว่านี้ ถ้ากระบวนการหรือวิธีการัจดทำแผนแม่บทไม่ได้มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเดียว เป็นเรื่องที่น่าท้าทายมากสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนิการและหลักคิดอย่างไร
“ภาครัฐจะต้องปรับตัวให้ทัน สิ่งที่เห็นคือการอ้างระเบียบว่า อันนั้นทำไม่ได้ อันนี้ทำไม่ได้ แต่ถ้าหันไปคิดว่า มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้ว จะจัดการเปลี่ยนแปลงกรอบหรือระเบียบอย่างไร ให้เป็นไปตามกรอบตามยุคใหม่ได้ ที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันในพื้นที่ของภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุมชน”
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าทำเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ลดความขัดแย้ง และอาจได้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในความหมายที่คนปัจจุบันเห็นว่ามีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่กำหนดไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว