ธนาคารเพื่อความสะอาด โมเดลลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของคนนาเตย จ.พังงา

ธนาคารเพื่อความสะอาด โมเดลลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของคนนาเตย จ.พังงา

“ธนาคารเพื่อความสะอาด” เพียงแค่ได้ยินชื่อธนาคาร เชื่อว่าหลายคนคงจะงุนงง อย่างน้อยก็คงสงสัยว่าธนาคารนี้รับฝากอะไร แล้วได้อะไรเป็นผลตอบแทน  เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับยุพิน คล่องแคล่ว ประธานสภาองค์กรชุมชน ในฐานะผู้ก่อตั้งธนาคารจึงได้คำตอบว่า แท้จริงธนาคารแห่งนี้รับฝากความหวังของคนในชุมชน และมีกำลังใจเป็นผลตอบแทน

“ในช่วงโควิดที่ผ่านมาคนตำบลนาเตยได้รับผลกระทบมาก คนที่ทำงานโรงแรมทั้งหมด ที่ภูเก็ต ที่เขาหลักพังงา ที่กรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้านกันหมดเพราะโรงแรมปิด พอมาอยู่บ้านก็ไม่มีรายได้ บางคนเงินจะซื้อสบู่ แชมพูยังไม่เลย ลำบากมาก เราก็มาคิดว่าจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร ตื่นเช้ามาเราล้างหน้าสระผม เราซักผ้าเราล้างจานใช่มั้ยในชีวิตประจำวัน เราก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ช่วยเขาลดรายจ่าย ช่วยคนที่เขาไม่มีได้”

ยุพิน คล่องแคล่ว ประธานสภาองค์กรชุมชน

ธนาคารเริ่มก่อร่างด้วยแนวคิดนี้ เป็นโครงการธนาคารเพื่อความสะอาด โดยชักชวนคนในตำบลนาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อร่วมกันผลิตเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น สบู่ล้างหน้า แชมพู ครีมอาบน้ำ น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ขัดหม้อ ขายในราคาประหยัดไม่เกิน 20 บาทให้กับคนทั่วไปที่สนใจ และประหยัดไปอีกครึ่งหนึ่งหรือ10บาทสำหรับสมาชิกของธนาคาร ซึ่งในราคาที่ดูจะถูกแสนถูกนี้ได้รับเสียงตอบรับยืนยันคุณภาพจากผู้ที่ได้ลองใช้จำนวนมากว่าใช้ดีกว่าของตลาดที่พวกเขาเคยใช้มาทั้งชีวิต และเกือบทั้งหมดที่ได้ลองใช้ก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำของธนาคารเป็นที่เรียบร้อย

กระจายรายได้ ลดรายจ่ายได้ เพิ่มรายเหลือ

ยุพิน ยังเล่าให้ฟังอีกว่า เป็นความตั้งใจที่จะขายในราคาถูก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้อะไรเลย ธนาคารยังได้กำไรร้อยละ20 หรือเฉลี่ยขวดละประมาณ 2-3บาท ทั้งนี้เพราะต้นทุนที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเกือบทั้งหมดมาจากวัสดุที่หาได้ในชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การทำแชมพูก็จะใช้วัตถุดิบอย่างมะกรูด ดอกอัญชัญ ขิง ใบฝรั่ง ทองพันชั่ง เป็นต้น  น้ำยาล้างจานก็จะทำจากตะลิงปิง มะเฟืองหรือผลไม้รสเปรี้ยวที่หาได้  น้ำผึ้ง มะขามเปียกก็นำมาทำเป็นสบู่ล้างหน้า ข้าวไร่ดอกข่านำมาทำเป็นครีมอาบน้ำ เป็นต้น  โดยธนาคารจะซื้อวัตถุดิบเหล่านี้จากคนในชุมชน ซึ่งก็จะช่วยให้เกิดการกระจายรายแก่คนในชุมชนได้อีกทาง  

ในส่วนของการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารนั้นยุพินเล่าว่า “มีทั้งคนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำสำเร็จรูปแล้ว และบางคนก็สนใจซื้อวัสดุอุปกรณ์ไปทำเองก็มีไม่น้อย เพราะมีความรู้จากการฝึกอบรมแล้วสามารถทำเองได้ที่บ้าน ในส่วนนี้ก็นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของโครงการเพราะเขาจะประหยัดไปได้อีกมาก บางครอบครัวทำน้ำยาล้างจานแค่ 2 ครั้ง ลงทุนไป120 บาท มีน้ำยาล้างจานใช้ได้ตลอดทั้งปี และหากนับรวมค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องใช้ต่าง ๆ ของทั้งครอบครัวเปรียบเทียบกับการเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อความสะอาดแล้ว สามารถประหยัดเงินได้จำนวนหลายพันบาทเลยทีเดียว ตัวเลขเหล่านี้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อมีการทำบัญชีครัวเรือนควบคู่ไปด้วย ซึ่งยุพินเองนอกจากเป็นวิทยากรสอนทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็นครูสอนการทำบัญชีครัวเรือนแก่สมาชิกธนาคารอีกบทบาทหนึ่งด้วย ส่วนบางคนที่มาซื้อผลิตภัณฑ์ของธนาคารคราวละมากๆเพื่อนำไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของธนาคารเช่นกัน เพราะเขาสามารถสร้างอาชีพมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเขาได้”

สังคมได้กำไร คนได้กำลังใจ            

โครงการธนาคารเพื่อความสะอาดนี้ริเริ่มขึ้นราวเดือนสิงหาคม ปี 2565 โดยกิจกรรมแรกที่ทำคือการติดอาวุธทางปัญญาให้คนในชุมชนเรียนรู้การพึ่งตนเองจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด เปิดอบรมการทำเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งสบู่ แชมพู ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังการฝึกอบรมก็คือหลายคนตาสว่าง พวกเขาได้รู้ว่าที่จริงแล้วเครื่องใช้ต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำเองได้ง่ายๆ คุณภาพดี มีความปลอดภัยแถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก หลายคนจึงไม่ลังเลใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกของธนาคาร 

การสมัครเป็นสมาชิกมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพียง100บาท แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก30บาท นำเข้าสมุดฝากเป็นเงินออมของสมาชิกเอง ส่วนที่สอง70บาทเข้ากองทุนสำรองของธนาคารเพื่อเป็นทุนในการผลิตสินค้าและเป็นค่าจ้างงานสำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้  โดยในส่วนของ70 บาทที่สมทบเข้ากองทุนนั้นสมาชิกจะได้ผลิตภัณฑ์ทั้ง6อย่างของธนาคารเป็นการตอบแทนด้วย

ธนาคารเปิดทำการเดือนละ2ครั้ง ทุกวันที่1 และวันที่ 15 สำหรับให้สมาชิกนำเงินมาออมอย่างน้อยเดือนละ30บาท ผู้ที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์สามารถมาซื้อที่ธนาคารได้ทุกวัน ส่วนการผลิตจะไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน ผลิตภัณฑ์ตัวไหนเหลือน้อยจนอาจจะไม่พอขายจึงจะมีการผลิตเพิ่ม  โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกันสำหรับผู้ที่สนใจมีรายได้จากการผลิต ซึ่งธนาคารจะจ่ายค่าจ้างเป็นจำนวนเงิน100บาทต่อผลิตภัณฑ์1กิโลกรัม และยังได้ผลิตภัณฑ์ติดมือกลับบ้านไปใช้ด้วย 

อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารผลิตขึ้นมานี้ ไม่ได้มุ่งไปที่การขายเพียงอย่างเดียว ความมุ่งหมายสำคัญคือการช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบความลำบากในด้านเศรษฐกิจ หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานราชการอย่างศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และวัด ธนาคารให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เป็นประจำโดยไม่ได้ถือว่าเป็นการขาดทุน แต่ถือว่าเป็นกำไรของชุมชนตำบลนาเตย

ภาพและเรื่องราวโดย เมธาปวัฒน์ เชิงทวี
บรรณาธิการโดย แลต๊ะแลใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ