หาทางออกวิกฤติหนี้นอกระบบชี้เป็นสาเหตุหลักสูญเสียที่ดินทำกิน

หาทางออกวิกฤติหนี้นอกระบบชี้เป็นสาเหตุหลักสูญเสียที่ดินทำกิน

 หาทางออกยั่งยืนวิกฤติหนี้นอกระบบ  ชี้เป็นสาเหตุหลักสูญเสียที่ดินทำกิน

รายงานข้อมูลจากชีวิตไท (โลโคลแอค) ระบุว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญของเกษตรกรประเทศไทยคือปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในระบบเกษตรกรรมเกษตรกรใช้ที่ดินทั้งเพื่อการประกอบอาชีพและการอยู่อาศัย  ที่ดินจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และวิถีการผลิตของเกษตรกรนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลสำรวจลักษณะการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี พ.ศ.2556 พบว่าในพื้นที่ถือครองทำการเกษตร 149.24 ล้านไร่  มีพื้นที่เพียงร้อยละ 28 หรือประมาณ 42 ล้านไร่เท่านั้นที่เป็นพื้นที่ของเกษตรกรเอง ส่วนอีกร้อยละ 72 หรือประมาณ 107 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรไม่มีความมั่นคงในการทำกิน แบ่งเป็นพื้นที่เช่า 29 ล้านไร่ พื้นที่ติดจำนองและขายฝาก30 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 48 ล้านไร่

ขณะที่ตัวเลขหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งรวบรวมโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยล่าสุด ปี พ.ศ.2558 พบว่าเกษตรกรมีหนี้สินจำนวน 1,637,562 ราย มูลหนี้ทั้งสิ้น ประมาณ 388,361 ล้านบาท เป็นหนี้นอกระบบ จำนวน 149,437 ราย มูลหนี้ประมาณ 21,590 ล้านบาท  แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน  อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดียึดที่ดิน  จำนวน 92,945 ราย  มูลหนี้ประมาณ 13,428 ล้านบาท  และ กลุ่มหนี้ไม่เร่งด่วน จำนวน 56,492 ราย มูลหนี้ประมาณ 8,162 ล้านบาท 
เกษตรกรเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ เนื่องจากสภาพปัญหามีความจำเป็นต้องใช้เงินจากภาวะเร่งด่วนฉุกเฉิน ขาดแคลนเงินลงทุนทำการเกษตร และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน  เงื่อนไขและสัญญาการกู้หนี้นอกระบบมีลักษณะที่ไม่เป็นธรรม คือคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าความเป็นจริง ทำให้เกษตรกรไม่มีความสามารถชำระคืน มีการข่มขู่คุกคามเกษตรกร และเจ้าหนี้บางรายมีเป้าหมายต้องการยึดที่ทำกินของเกษตรกร   

รากฐานปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกรมีที่มาจากหลายเหตุปัจจัย ทั้งพื้นฐานการศึกษา การขาดความรู้ในการประกอบอาชีพและการลงทุน การทำการผลิตในระบบที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ได้รับผลกระทบจากนโยบายส่งเสริมเกษตรของรัฐ การขาดแคลนที่ทำกิน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ปัญหารายได้ต่ำและขาดหลักประกันทางรายได้ที่แน่นอน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้ รวมถึงไม่มีหลักทรัพย์และไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะกู้เงินในระบบได้ รากฐานของปัญหาเหล่านี้ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยากที่จะออกจากวงจรหนี้นอกระบบได้ 

รัฐบาลปัจจุบันและในหลายยุคสมัยที่ผ่านมา มีนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบหลายประการ อาทิ โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  โครงการธนาคารประชาชนของธนาคารออมสิน หรือมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่ให้เอกชนที่มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ  รวมถึงการมี พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ถึงแม้นโยบายเหล่านี้จะมีเจตนาที่ดี แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดอยู่มากทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรยังไม่บรรลุเป้าหมาย และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

 วิกฤติปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร เป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมต้องร่วมมือกัน มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค)  จึงร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง คือศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม  ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติโพธาราม  จังหวัดราชบุรี   สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.)
จัดเวทีสัมมนาวิชาการเพื่อเพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกร ผลกระทบต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงในชีวิตเกษตรกร และเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอต่อแนวทางที่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเกษตรกรและการสูญเสียที่ดิน 

งาน สัมมนาวิชาการ “วิกฤติหนี้นอกระบบเกษตรกรกับทางออกที่ยั่งยืน” กำหนดจัดในวันอังคาร ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 8.30 – 12.30 น.ณ ห้อง 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีกำหนดการคือ

09.00 – 10.00 น.   ชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมมนาโดยคุณสมจิต คงทน ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิชีวิตไท  

                            เปิดงานสัมมนาโดยรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
10.00 – 12.00 น.    สัมมนาวิชาการ “วิกฤติหนี้นอกระบบเกษตรกร กับทางออกที่ยั่งยืน” วิทยากรโดย 
1.รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2.คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
3.พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม
4.คุณสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
5.คุณกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย 
ดำเนินรายการโดย คุณพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

12.00 – 12.30 น.    แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เชิญผู้สนใจเข้าร่วมวันเวลาดังกล่าวได้

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ