เสียงจาก “แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ” ผ่านศิลปะและสื่อสร้างสรรค์

เสียงจาก “แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ” ผ่านศิลปะและสื่อสร้างสรรค์

ภาพโดย : สุเทพ กฤษณาวารินทร์

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลำน้ำโขงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนลุ่มน้ำโขง ชาวบ้าน 2 ฝั่งโขงจึงพยามออกมาส่งเสียงแทนแม่น้ำโขง และบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาต้องเผชิญมาตลอดผ่านการสื่อสารในหลายลักษณะ ทั้งการต่อสู้เคลื่อนไหวตามขั้นตอนของกฎหมาย กิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ รวมถึงสื่อสารผ่านงานสื่อสร้างสรรค์ ทั้งภาพถ่าย สารคดี หนัง เพลง และอื่น ๆ เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงปัญหา และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคม

ภาพโดย : สุเทพ กฤษณาวารินทร์

แม่น้ำโขงนับเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ กว่า 795,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก โดยข้อมูลระบุว่า ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นกกว่า 1,200 ชนิด พันธุ์พื้ชกว่า 20,000 ชนิด และยังเป้นแหล่งหาปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพันธ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด และบางชนิดไม่สามารถพบได้ในส่วนอื่นของโลก และตามสถิติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่ามีปริมาณการจับปลาน้ำจืดใน 4 ประเทศของแม่น้ำโขงตอนล่าง จำนวน กว่า 750,000 ตันต่อปี

แต่ตอนนี้แม่น้ำโขงและผู้คนต่างกำลังเผชิญความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงของไกและผลกระทบต่อชุมชน กรณีบ้านหัวเวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระบุถึงสาเหตุทั่วไปที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงได้แก่

  1. การเสียงเขื่อนขนาดใหญ่
  2. การระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่
  3. การเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งต้องใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี
  4. การเดือนเรือพาณิชย์
  5. การหาปลาแบบผิดวิธี
  6. การทำที่กั้นตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง
  7. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและผู้คน การสื่อสารถึงสถานการณ์แม่น้ำโขง เป็นเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้ และเมื่อแม่น้ำโขงไม่สามารถส่งเสียงได้ ทำให้คนธรรมดาต้องออกมาส่งเสียงแทนแม่น้ำโขง

คุณเล่าเราขยาย โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ จึงชวนสนทนากับ คุณนคร ไยศรี ผู้ออกแบบกิจกรรม CCCL Film festival ถึงแนวคิดการสร้างพื้นที่บอกเล่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านหนังสั้น ของกลุ่ม CCCL Film festival และคุณสุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีที่ออกเดินทางบันทึกเรื่องราวของสายน้ำมากว่า 20 ปี

“ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรืออะไรก็แล้วแต่ในภูมิภาคนี้ ทำให้แม่น้ำโขงมักถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องการใช้ทรัพยากรหรือขุดทรัพยากรในแม่น้ำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐของประเทศไหนในภูมิภาคนี้  โดยไม่ได้ร่วมมือกันเท่าที่ควร ต่างคนต่างใช้แล้วทำให้แม่น้ำมันทรุดโทรมมาก ซึ่งในอนาคตความมั่นคงทางอาหารของคนในภูมิภาค 60-70 ล้านคนที่เขาอ้างกัน ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ที่จะสามารถเป็นทรัพยากรความมั่นคงทางอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกสำหรับคนทั่วไปให้เข้าถึงได้ แต่ว่าทุกวันนี้ปลาธรรมชาติมันลดจำนวนลง ทำให้คนต้องไปซื้อปลากิน หรือว่าต้องไปกินปลาจากกระป๋อง” สุเทพ กฤษณาวารินทร์ กล่าวเสริมถึงแม่น้ำโขงที่ไม่เหมือนเดิม

ออกเดินทาง บันทึกการเปลี่ยนแปลง

การเดินทางเพื่อสื่อสารเรื่องราวแม่น้ำโขงผ่านศิลปะการถ่ายภาพมากว่า 20 ปี ของ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีที่บันทึกเรื่องราวบนสายน้ำนี้ โดยเฉพาะมิติสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเดินทางของเขาว่า

“ สิ่งที่ทำให้เราออกเดินทางในช่วง 20 ปีเพื่อไปบันทึกภาพเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของความประทับใจของเราตั้งแต่เด็ก ๆ ที่เราเคยดูสารคดีแม่น้ำโขงหรือภาพแม่น้ำโขงแล้วเรารู้สึกว่าแม่น้ำสายนี้มันเป็นแม่น้ำนานาชาติ แล้วมันก็เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม เห็นชีวิต เห็นพันธุ์ปลา เวลาเขาจับปลากันมันจับได้เยอะมาก ๆ อย่างโตนเลสาปที่กัมพูชา มันเป็นเหมือนทะเลเลย จับปลากันทีก็หลาย ๆ ตัน แล้วสิ่งเหลานี้ก็อยู่ไม่ไกลจากเรา เราก็อยากไปดู แต่นอกเหนือจากดูเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และบันทึกมันไว้เพื่อสื่อสารต่อไป ”

ความเจ็บปวด ผ่านภาพถ่าย

“แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปเยอะครับก็ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ผมเคยไปจนถึงช่วงหลัง ๆ สัก 3-5 ปีก่อน คิดว่าความเปลี่ยนแปลงมันเยอะมากไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของผู้คน หรือว่าที่เห็นชัดที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะพันธุ์ปลา ซึ่งภาพที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงได้ชัดที่สุดและเจ็บปวดที่สุดก็อาจจะเป็นภาพของปลาหายากอย่างภาพปลากบึก ซึ่งเมื่อก่อนยังสามารถจับปลาบึกได้ตามธรรมชาติอย่างถูกกฎหมาย แต่ทุกวันนี้ปลาบึกก็เป็นหนึ่งในปลาที่อยู่ใน Red list ของ IUCN ว่าเป็นปลาที่จะสูญพันธุ์แล้ว เพราะฉะนั้นการจับปลาบึกในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไทยหรือฝั่งลาว ก็เป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมายไปแล้ว ซึ่งการใช้ภาพเล่าเรื่องเหล่านี้เราก็หวังว่าอย่างน้อย คนเมืองซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากรเป็นหลักนั้น อย่างการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเสิร์ฟคนเมืองเป็นหลัก เขาก็จะได้ตระหนักว่าในไฟฟ้าที่เขาใช้มันมีผลกระทบกับไปสู่ชุมชน ไปสู่แม่น้ำโขง อีกส่วนหนึ่งก็คือคนในพื้นที่หรือชาวบ้านเอง โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่บางทีเค้าอาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นอะไรหลายอย่างแม้เขาจะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงก็จริง แต่เขาอาจจะไม่มีโอกาสเห็นพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในประเทศอื่น ๆ ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือมีอะไรบ้าง ” กว่าเสริมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง” สุเทพ เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เขาบันทึกผ่านภาพถ่ายตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ภาพโดย : สุเทพ กฤษณาวารินทร์

นอกจากภาพถ่าย งานสื่อสารสร้างสรรค์อย่างภาพยนตร์ หรือหนังสั้น เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถส่งเสียงแทนแม่น้ำโขง และถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคนริมโขงที่ต้องเผชิญผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ่ง นคร ไยศรี ผู้ออกแบบกิจกรรม CCCL Film festival พูดถึงแนวคิดการสร้างพื้นที่บอกเล่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านหนังสั้น ของกลุ่ม CCCL Film festival ว่า  “เรามองว่าภาพยนตร์มันเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่ง คือมันทำให้เราได้ปลดปล่อยน้ำเสียงของเรา ปลดปล่อยวิธีคิดแง่คิดของเรา อย่างในงานนี้ก็คือเรื่องของแม่น้ำโขง เราก็มาสำรวจกันว่าแม่น้ำโขงสำหรับเด็ก ๆ ในชุมชนริมโขง มันกระทบยังไงต่อเขาอย่างน้องบางคนเขาบอกว่า พ่อเขาหาปลาได้น้อยลง เขาก็บอกว่าเขาได้กินข้าวที่มีปลาน้อยลง และเงินที่ได้ไปโรงเรียนในแต่ละวันก็ได้น้อยลงด้วย เพราะว่าพ่อเค้าจับปลาไม่ได้ ซึ่งสิ่งนั้นก็ทำให้เขาเห็นว่าปัญหาแม่น้ำโขงที่เรามักคิดว่ามันมีแต่ภาพใหญ่ จริง ๆ แล้วมันส่งผลต่อชีวิตทุก ๆ หน่วยทุก ๆ คน  หรือคนที่แบบตัวเล็ก ๆ หรือเด็กที่เราคิดว่าคงไม่มีผลกระทบอะไรหรือไม่มีส่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่างเลย แต่จริง ๆ แล้วมันส่งผลต่อเขาและเขารู้สึกได้”

หนัง เสมือน Time Machine

“เราว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องมันคือ Time Machine ที่จับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในยุคสมัยหนึ่ง หรือช่วงเวลาหนึ่ง ฉะนั้นในตอนนี้ปัญหาในแม่น้ำโขงมันมีเยอะเหลือเกิน เช่น เขื่อน น้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ หรือว่าพันธุ์ปลาที่มันหายไป มันคือช่วงเวลานี้ และเด็ก ๆ ในชุมชนลุ่มน้ำโขงที่เขาได้ทำหนังเขาก็สามารถส่งเสียงออกมาแล้วก็นำเสนอให้กับคนที่เขารู้จักในช่วงเวลานี้ให้เห็นว่ามันมีปัญหาอยู่ แต่ทีนี้ถ้าเราจะพูดว่ามันจะทำให้มันเป็นการสื่อสารที่ต่อเนื่องในระยะยาวได้อย่างไร มันก็ต้องมีการ Support จากหน่วยงานหรือว่าองค์กรเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นหรอกถ้าเราบอกว่าทำหนังวันนี้ แล้วเอาไปให้ทุกคนดูแล้วทุกคนก็จะเข้าใจว่ามันมีอะไรที่เกิดขึ้น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะตรงนี้มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น ผมมองว่าเด็ก ๆ ที่เขาเริ่มใช้ภาพยนตร์ในการสื่อสารสิ่งที่เขารู้สึกนั้น ถ้าเขาได้รับการ Support เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตมันก็จะช่วยให้ประเด็นที่เขาต้องการจะสื่อสารมันมีการพูดถึงอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่ามันคือสิ่งสำคัญ” นคร เล่าเสริมถึงแนวคิดการทำหนังสั้นกับเยาวชนในพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำโขง เพื่อสะท้อนปัญหาถึงผู้คนที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันของทุกคนในสังคม

แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ เมื่อแม่น้ำโขงไม่สามารถพูดได้ เหล่าลูกหลานผุ้ใช้ประโยชน์จากสายน้ำนานาชาติแห่งนี้จึงทำหน้าที่ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่าน ภาพ และ เสียง และพวกเขาหวังว่า เสียงเหล่านี้จะถูกได้ยินในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มผุ้ที่เสมือนหูหนวก ตาบอด มองไม่เห็นสภาพปัญหา ได้หันมามองและร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ