‘การเมืองยุคปัจจุบัน’ มองมุมนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ

‘การเมืองยุคปัจจุบัน’ มองมุมนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ

20152210004339.jpg

เรื่อง/ภาพ: รุ่งโรจน์ เพชรบูรณิน

ไพโรจน์ พลเพชร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ กล่าวในการสัมมนา “สังเคราะห์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมในอนาคต” เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2558 อิงธารรีสอร์ท นครนายก ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันเราไม่อาจทัดทานอำนาจปืนกับอำนาจทุนได้ รัฐธรรมนูญกับอุดมคติในการสร้างสังคมประชาธิปไตย ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการสร้างกติกาให้ทหารเข้ามามีพื้นที่ทางอำนาจ การออกแบบให้กองทัพ นายทุนเป็นอภิสิทธิ์ชน เช่น ประเทศชิลี หรือแอฟริกาใต้ เป็นตัวอย่างการออกแบบให้ทหาร ทุนมีพื้นที่ในทางการเมืองก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

ปัจจุบันทหารขอพื้นที่ทางอำนาจ โดยอ้างการเป็นผู้พิทักษ์ สร้างความสันติ หยุดการตีกัน และอ้างทำการปฏิรูปก่อน เปิดพื้นที่ให้ข้าราชการ ให้ฝ่ายอนุรักษ์เข้าไปมีบทบาท เช่น ความพยายามที่จะเข้ากุม สสส. ด้วยแนวความคิดอนุรักษ์นิยมที่จำกัดเรื่องสุขภาพไว้แค่การรักษาพยาบาล ไม่เปิดกว้างอย่างแนวคิดสุขภาพที่ สสส.กำลังทำอย่างครอบคลุมในทุกด้าน ที่ผ่านมาคนส่วนหนึ่งสนับสนุนการยึดอำนาจ เพราะอะไร

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งตกไป การบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ให้พื้นที่ทหารมีอำนาจอยู่ในนั้น คือแนวคิดของกลไกปฏิปักษ์เสียงข้างมาก เป็นการสะท้อนว่า ถ้าไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้ทหารอยู่ก็จะเกิดการรัฐประหาร และความรุนแรงเกิดขึ้นได้อีก ถ้าทหารอยู่ก็สามารถแทรกแซงได้ เพราะความกลัวว่าเมื่อนักการเมืองฝ่ายหนึ่งชนะ นักการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งก็จะลงถนน ความขัดแย้งก็ไม่มีที่สิ้นสุดอีก

ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ ก็ยังมีแนวคิดนี้อยู่ แต่ในอนาคตจะมีการยึดอำนาจอีกหรือไม่ อาจมีการยึดอำนาจอีกก็ได้ อย่างสมัยจอมพลถนอน ที่เห็นท่าไม่ดีก็รัฐประหารตนเอง คล้ายกับในยุคสมัย 8 ปี ช่วงพลเอกเปรม ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ เป็นระบบที่ทหารต้องมารักษาความสุข เพราะสมัยนั้นมีความขัดแย้ง มีการฆ่ากันตาย จึงมีทหารเข้ามาปกครอง เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง และพิทักษ์กฏระเบียบของสังคม เป็นภาระกิจของผู้พิทักษ์ คืนความสุข โดยอยู่ในอำนาจเพราะคนยังตีกัน 

แต่ความสุข ณ ปัจจุบัน กลับไปตกที่ชาวบ้านโดนการทวงคืนป่า ตัดโค่นต้นยาง โดนกำหนดพื้นที่ให้ทุนเข้ามาใช้ทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างมีอภิสิทธิ์พิเศษ จากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ที่ว่าเป็นสถาบันปฏิปักษ์เสียงข้างมาก คือคนส่วนหนึ่งเห็นด้วยว่าต้องมีทหารมาพิทักษ์กฏ การที่มีคำพูดว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คือต้องการให้ทหารอยู่ก่อน ให้พิทักษ์ป้องกันความรุนแรงพร้อมทำการปฏิรูปด้วย เป็นการสร้างความชอบธรรมในอำนาจ มีคนว่าสังคมไทยต้องมีระยะเปลี่ยนผ่านก่อนจะเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นทหารจะอยู่แบบไหนถึงจะชอบธรรม ดังนั้นกติการัฐธรรมนูญถึงต้องบรรจุไว้ 

สาระสำคัญคือทหารอยู่แล้วเกิดอะไรขึ้น จะกระทบประชาชนไหม อำนาจตาม ม.44 หรือคำสั่งที่ 3/2558 เป็นเครื่องมือเข้มข้นที่มากที่สุด ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ทหารสามารถจับกุม สอบสวนได้ และเราจะอยู่แบบนี้อย่างน้อยถึงปี 2560 เป็นเครื่องมืออำนาจในการกำราบเพื่อความสงบให้ขยายการลงทุนได้อย่างราบเรียบ

ทหารคือการ์ดของทุน คือผู้พิทักษ์นายทุน จะเห็นว่าเวลาเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเอาที่ดินคืนมา ต้องเอาทหารไปด้วย นายทุนด้านพลังงานจะขุดบ่อแก็สก็มีทหารมาคุม การที่มีทหารในอำนาจรัฐ ไม่ได้เป็นผลบวกต่อชาวบ้านในแง่ของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ 

การรื้อฟื้นอำนาจข้าราชการภูมิภาค ทอนอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เป็นแนวโน้มที่เป็นอยู่ ชัดเจนว่าทหารมีเจตจำนง เป็นประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นแนวคิดสถาบันปฏิปักษ์เสียงข้างมาก คือคนไทยปฏิเสธเสียงข้างมาก จึงเข้าได้กับความเชื่อของคนไทยบางกลุ่ม แต่ในอีกด้านของการเข้ามาก็เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐให้กับทุน และข้าราชการ

ไพโรจน์ กล่าวตอนท้ายว่า แต่ถึงอย่างไร พลังการเติบโตของภาคประชาชนที่ไม่ยอมจำนน ที่ได้เรียนรู้สิทธิ เข้าใจสิทธิ ปกป้องสิทธิ เป็นวิญญาณที่อยู่ในตัวประชาชน เชื่อว่าท้ายสุดอำนาจรัฐจะสะกดไม่อยู่ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ