‘กสม.’ ชมนายกฯ ‘ยุติเหมืองทอง’ ร้องนำบทเรียนปัญหาไปพิจารณา ‘ร่าง กม.แร่’

‘กสม.’ ชมนายกฯ ‘ยุติเหมืองทอง’ ร้องนำบทเรียนปัญหาไปพิจารณา ‘ร่าง กม.แร่’

13 พ.ค.2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง “การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. เพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ยั่งยืน” โดยมีใจความว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ว่าทางราชการจะไม่ต่ออายุการทำเหมืองแร่ทองคำ และภายในสิ้นปี พ.ศ. 2559 จะไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำ ทั้งการสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองอีกต่อไปนั้น

กสม.ได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีเหมืองแร่ตะกั่วในบริเวณชุมชนชาวบ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ถึงแม้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน 593 ล้านบาท จากงบประมาณปี พ.ศ. 2559 – 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนานมากกว่า 10 ปี หลังปิดเหมือง รวมถึงกรณีเหมืองสังกะสีบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก และกรณีเหมืองถ่านหิน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยาวนานเช่นกัน 

ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. …  กสม.ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง พบว่า กลไกการมีส่วนร่วม ขั้นตอนวิธีการ การประเมินผล EIA การกำกับตรวจสอบตามเงื่อนไขเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ยังอาจมีข้อจำกัดทั้งในแง่กฎหมายและวิธีปฏิบัติในการบูรณาการของหลายหน่วยงาน ตลอดจนกลไกในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ยังมีไม่เพียงพอ

กสม. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ใช้ภาวะผู้นำ อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติร่วมกันของ 4 กระทรวงที่ให้ (1) ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย

(2) ในกรณีของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัทอัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ และ (3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังที่สิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ

2. ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก นำบทเรียนกรณีการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – พ.ศ.2563 นโยบายวางแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปให้เกิดความต่อเนื่อง ความมั่นคง คือ ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ใช้ความรุนแรง ความมั่งคั่ง คือ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามสมควรแก่ฐานะเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับตลาดโลก มีการบริหารจัดการภายในประเทศอย่างบูรณาการ และความยั่งยืน คือการคำนึงถึงความเหมาะสม คุ้มค่า ในทุกมิติ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ไม่เป็นเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา

กสม. จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งนี้ เพื่อสร้างกลไกป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดั่งเช่นที่ผ่านมา อันจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป

20161305183637.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ