‘6 องค์กรสิทธิ’ ร้องยุติการจับกุม-ควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจ

‘6 องค์กรสิทธิ’ ร้องยุติการจับกุม-ควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจ

20162704233829.jpg

27 เม.ย. 2559 องค์กรสิทธิมนุษยชน 6 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ‘ให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจ’ 

แถลงการณ์ระบุ เรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยปล่อยบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และต้องยุติการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจและยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นที่มาของการใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ และยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก่อให้เกิดความการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา

สืบเนื่องจาก วันนี้ (27 เม.ย. 2559) ตั้งแต่ช่วงเช้ามีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพฯ และขอนแก่นจำนวน 8 คน โดยที่ติดตามและรวบรวมข้อมูลได้มีเพียง 5 ราย ได้เเก่ นายนพเก้า คงสุวรรณ นายศุภชัย สายบุตร น.ส.วรารัตน์ เหม็งประมูล (สงวนชื่อจริง) นายหฤษฏ์ มหาทน นายนิธิ กุลธนศิลป์ และนายธนวรรธ บูรณศิริ โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสาเหตุของการควบคุมตัว

ต่อมา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “วันนี้ 18.00 น. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยืนเฉยๆ เพราะไม่เห็นด้วยกับกรณีทหารบุกจับพลเมืองวันนี้ 8 คน” ทำให้มีการตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้เข้าร่วมจำนวน 16 คน ไปที่ สน.พญาไท รายชื่อดังนี้

1.นายอานนท์ นำภา
2.นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
3.นายปกรณ์ อารีย์กุล
4.นายอภิสิทธิ์ ทรัพนภาพันธ์
5.นายปิยะรัฐ จงเทพ
6.นายณัทพัช อัคฮาด
7.นายบุรินทร์ อินติน
8.นายนัชชา กองอุดม
9.นางนัตยา ภาณุทัต
10.นายศุภชัย เจริญศักดิ์วัฒนา
11.น.ส.สุวิมล ไทยเจริญ
12.นางอาภรณ์ ยี่ร่อสา
13.นางยุภา แสงใส
14.นายวศิน ไวยริยา
15.นายวิศรุต อนุกูลการน์
16.นายกิติธัช.สุมาลย์นพ

 

กรณีจับกุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมยืนเฉยๆ ปล่อยแล้ว 13 คน

ส่วน ประชาไท รายงานสถานการณ์ล่าสุดว่า เวลาประมาณ 22.20 น. ที่ สน.พญาไท ตำรวจปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาแล้ว หลังควบคุมตัวอยู่ราว 4 ชั่วโมง

ผู้ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไปทั้งหมดมี 16 ราย ได้รับการปล่อยตัวทั้งสิ้น 13 ราย ขณะที่อีก 1 รายคือ นายบุรินทร์ อินดิน ถูกทหารควบคุมตัวขึ้นรถตู้มีป้าย ‘ส.พัน.12 รอ.’ ออกจาก สน.พญาไทไป เบื้องต้นยังไม่ทราบนำตัวไปไหน และด้วยสาเหตุอะไร

ส่วนนักกิจกรรมอีก 2 รายคือ ปกรณ์ อารีกุล และอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ถูกควบคุมตัวต่อไปยัง สน.ปทุมวัน เนื่องจากทั้งคู่มีหมายจับที่ สน.ดังกล่าวจากกรณีชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่หน้าหอศิลป์เมื่อ 22 พ.ค.2558

ในบรรดาผู้ที่ถูกปล่อยตัว 13 รายนั้น มี อานนท์ นำภา เพียงคนเดียวที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุม เนื่องจากจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ขณะที่อีก 12 รายได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องเซ็นบันทึกข้อตกลงใด

 

โฆษก คสช.เผยคุมตัว 10 ผู้กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพ์

ด้าน ผู้จัดการ Online รายงานข่าวกรณีการควบคุมตัวประชาชนในวันนี้ (27 เม.ย.) ว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จำนวน 10 คน แบ่งเป็นในกรุงเทพมหานคร 8 คน และ จ.ขอนแก่น 2 คน 

เมื่อมีหลักฐานสมบูรณ์เจ้าหน้าที่ก็เลยดำเนินการ ในขั้นแรกอยู่ในควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารไม่เกิน 7 วัน เป็นไปตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ ในกระบวนการสืบสวนมีเจ้าหน้าที่ของ คสช. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมดำเนินการด้วย 

สำหรับช่วงที่อยู่ในการควบคุมนั้น ทางเจ้าหน้าที่ทหารจะเน้นหนักไปที่มาตรการขอความร่วมมือ หารายละเอียดข้อมูล พูดคุย เพื่อดูว่าเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร ตั้งใจ เจตนา มีการจ้างวานหรือไม่ มีความเชื่อมโยงอย่างไร ในระยะที่ 2 ก็จะดูพฤติกรรมด้วยว่าจะมีการดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งต้องดูองค์ประกอบด้วย ทั้งหมดที่ควบคุมตัวเรามีหลักฐานที่เข้าข่ายจะดำเนินคดีได้อยู่แล้ว 

ส่วนบุคคลที่ถูกควบคุมตัวที่ จ.ขอนแก่น 2 รายนั้นจะมีการส่งตัวมาที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาก็จะส่งมาที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามาถึงหรือยัง ทั้งนี้ ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ ขอตรวจสอบและทราบรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ก่อน

พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า ตนยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาหรือข้อความที่กลุ่มคนดังกล่าวนำไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย แต่ในเบื้องต้นเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ยังไม่พบข้อมูลว่าข้อความเหล่านั้นขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงของการแจ้งเตือนด้วยว่าทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงออกระเบียบวิธีการออกมา ทางนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ก็บอกแล้วว่าแม้จะแสดงความคิดเห็นได้แต่ต้องอยู่ในกรอบและช่องทาง โดยพิจารณาจากเนื้อหาไม่ให้ขัดต่อเงื่อนไขกฎหมาย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ก็ดูภาพรวมในทุกเรื่อง ทุกประเด็น ไม่ได้เจาะจงกลุ่มใดเป็นพิเศษ เราก็พยายามทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทำงานเปิดเผย แต่ถ้าใครหยิบยกตรงนี้เป็นประเด็น สังคมก็มองออกว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์

ส่วนการจับกุมครั้งนี้เป็นไปตามการตั้งข้อสังเกตของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มองว่ามีการจับกุมเฉพาะกลุ่มหรือไม่นั้น ตนคิดว่า ไม่ใช่ เพราะผู้ต้องสงสัยล่าสุดเกิดจากเฝ้าติดตามพฤติกรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ได้ดูพฤติกรรมเฉพาะเจาะจง เมื่อมีข้อมูลเพียงพอเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการ

 

ทั้งนี้ แถลงการณ์องค์กรสิทธิมนุษยชนมีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์
เรื่อง ให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจ

สืบเนื่องจากช่วงเช้าวันนี้ (27 เมษายน 2559) มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าทำการจับกุมควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดขอนแก่นอย่างน้อย 10 ราย โดยมีการบุกค้นตรวจยึดทรัพย์สินไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสาเหตุของการควบคุมตัว และไม่แจ้งว่าจะนำตัวไปควบคุมไว้ ณ สถานที่ใด จนปรากฏข้อมูลในเวลาต่อมาว่ามีการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวไว้ยังมณฑลทหารบกที่ 11 และสืบเนื่องจากเหตุการณ์การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลดังกล่าว ในช่วงเย็นของวันเดียวกันนั้นได้มีนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนหนึ่งทำการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวไว้เมื่อช่วงเช้า แต่ต่อมากลุ่มบุคคลที่แสดงออกดังกล่าวก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวไปอีกกว่า 16 คน 

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่เป็นไปตามหลักการพิจารณาที่เป็นธรรม (Fair trial) โดยเฉพาะการจับกุมโดยไม่มีหมายที่ออกโดยศาล ไม่แจ้งข้อกล่าวหาและเหตุผลในการจับกุม และไม่มีการแจ้งสถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว ซึ่งการใช้อำนาจโดยพลการในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารแม้บางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารจะอ้างอำนาจตามกฎหมาย แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ออกโดยอำนาจของหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ (Rule of Law) เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาอย่างไร้เหตุผลหรือตามอำเภอใจ ไม่สอดคล้องกับหลักแห่งความจำเป็นและหลักสัดส่วน (necessity and proportionality) การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจในลักษณะดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง 

สิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง พ.ศ. 2509 ตลอดจนอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีซึ่งรัฐมีหน้าที่เคารพ คุ้มครองและส่งเสริมให้สิทธิตามพันธกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงและไม่อาจจำกัดหรือละเมิดได้ไม่ว่าในสภาวะไม่ปกติหรือสภาวะฉุกเฉินใด

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยปล่อยบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และต้องยุติการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจและยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นที่มาของการใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ และยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก่อให้เกิดความการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ