โอกาสและข้อท้าทายของระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน บนทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย

โอกาสและข้อท้าทายของระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน บนทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย

“เสื่อผืนหมอนใบ” สู่เจ้าของกิจการห้างร้านใหญ่โต คือเรื่องราวที่เราได้ยินบ่อยครั้ง เมื่อฟังเรื่องเล่าประวัติชีวิตบรรพบุรุษชาวจีน ที่จากเมื่อก่อนอพยพหนีภัยสงครามมากับเรือสำเภา มาตั้งรกรากถิ่นฐานที่สยามประเทศ ทำมาค้าขายเริ่มจากเมืองหลวง กระจายตัวออกสู่หัวเมืองใหญ่ในภาคต่าง ๆ ตามเส้นทางรถไฟไปถึง ใช้ความขยันฟันฝ่า บวกกับความสามารถในการค้าขายจนกลายเป็นเถ้าแก่ หรือเจ้าสัว ร่ำรวยหลายแซ่หลายตระกูล เป็นบทเรียนการทำมาหากินได้อย่างดี จนมาทุกวันนี้จีนจะไม่ได้มาแค่เสื่อผืนหมอนใบ แต่มากับรถไฟความเร็วสูงที่เป็นหนึ่งในรูปแบบการคมนาคมที่สร้างเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล บทเรียนการทำมาหากินแบบใหม่ กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

สถานีนครหลวงเวียงจันทน์

เส้นทางรถไฟที่ความเร็วสูงนี้ จีนเป็นผู้ลงทุนหลัก จะเชื่อมต่อกับสามประเทศ คือ จีน ลาว และไทย เป็นระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  สามารถเชื่อมโยงสำหรับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ร่วมมือกับประเทศจีนและประเทศลาว ในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงทางราง เพื่อขนส่งสินค้า รวมถึงขนส่งผู้โดยสาร โดยคาดหวังว่าความร่วมมือนี้ จะสามารถยกระดับรูปแบบของการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศให้มีความเชื่อมโยง และมีทางเลือกมากขึ้น

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่เส้นทางรถไฟเริ่มเปิดให้บริการ เดินทางระหว่างจีนและลาว ก็สร้างกระแสการท่องเที่ยวประเทศลาวได้อย่างคึกคัก พร้อมทั้งเริ่มมีการขนส่งสินค้าไปขาย โดยประเทศลาวได้ทำ MOU ในการส่งขายสินค้าไปจีน ซึ่งทางทีมวิจัยโครงการการศึกษาและพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่ประเทศไทยและประเทศลาว ได้ข้อมูลจากอาจารย์เวียงสะกุน นาปะเสิด รองหัวหน้าภาควิชาเลี้ยงสัตว์และการประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ผู้ค้นคว้าการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ใน สปป.ลาว ว่าเริ่มมีสินค้าด้านเกษตรส่งออกทางรถไฟไปยังจีนแล้ว

ทางรถไฟสร้างโอกาสให้ลาวอย่างสูง ถ้าพูดเรื่องเส้นทางที่จะส่งผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบันเราส่งสัตว์ใหญ่ อย่างวัว ควายไปจีน เราได้รับโอกาสค่อนข้างสูง จากตลาดที่ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรือจีน เราก็มีพื้นที่ดีในการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงโอกาสอื่น ๆ เช่น อาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีอาชีพ มีเศรษฐกิจดีกับนักลงทุน ในปัจจุบันด้านการส่งออกเรามีการส่งออกวัวส่งออกไปจีน เรามีโควตา สัญญาส่งไปจีน 500,000 ตัว มีการส่งไปแล้ว 1-2 ล็อต

และคุณแววมมะนีเพ็ด ดวงดารา เจ้าหน้ากรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน ก็ให้ข้อมูลเสริมเรื่องการส่งออกด้านสินค้าอื่น ๆ

ปัจจุบันมีสินค้าเกษตรกว่า 50 ชนิด เช่น ถั่วเหลือง ข้าว ธัญพืชเป็นหลัก เรามีการเซ็นต์สัญญาโควตา จีนให้มาในส่วนนี้ ก็เป็นการอิงจากแผนพัฒนาของเรา ที่เป็นแผนพัฒนาสีเขียวและยืนยง จะเน้นเรื่องเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเหมาะสม ในแผนพัฒนาเรา ช่วงปี 2021-2025

หากมองสิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเกิดการค้าขายผ่านเส้นทางรถไฟ ซึ่งแน่นอนว่าการเจรจา และการทำข้อตกลงที่เป็นธรรมชัดเชน ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ระเบียงเศรษฐกิจกิจ มีผลประโยชน์เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน หรือผู้ประกอบการรายเล็ก ก็จะสามารถค้าขายขายแลกเปลี่ยนได้ แต่ว่าการตัดสินใจในการทำธุรกิจ หรือลงทุนอะไรลงไป ข้อมูลที่จะใช้ประกอบการคิดการตัดสินใจ กลับยังไม่มีเป็นรูปเป็นร่าง ในสามประเทศมีข้อมูลกันคนละชุด มีน้อยมากไม่เท่ากัน ซึ่ง รศ.ปริญญาเอก สิดทิไซ ไซยะวง ผู้อำนวยการศูนย์ค้นคว้าจีน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มองว่า ด้านข้อมูลยังเป็นสิ่งที่ยังต้องพัฒนากันต่อร่วมกันทั้งสามประเทศ

ถ้าเรามีข้อมูล มีผลการศึกษาแนวทางของแต่ละประเทศ ถ้าได้รู้มีโอกาสได้ช่วยเหลือกัน ถ้าเราศึกษารู้จุดแข็งแต่ละประเทศจะเสริมสร้างตรงนั้น และสื่อต้องเอาข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลจริงมาเสนอให้นักวิชาการวิเคราะห์ บางทีก็มีการนำเสนอข้อมูลที่แฝงเรื่องอารมณ์ แฝงเรื่องการเมือง ทำให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึก ความสัมพันธ์ ถ้าความรู้สึกความสัมพันธ์ไม่ดี  คนไม่ยากมาเที่ยว ไม่อยากมาลงทุนค้าขาย เพิ่มความยุ่งยาก ต้องแก้ไขร่วมกัน ทำยังไงให้ตลาดตรงนี้มีความก้าวหน้าร่วมกัน

บนระเบียงเศรษฐกิจนี้ ในภาคอีสานของไทยจะผ่าน 4 จังหวัด คือ หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งทีมวิจัย ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้วบางส่วน ได้เห็นข้อมูลว่าผู้ประกอบการไทยเอง ก็มองเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้น ทั้งมิติด้านการท่องเที่ยว การบริการ รวมถึงการซื้อขายสินค้า ซึ่งประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดหนองคายสะท้อนว่า กลุ่มธุรกิจในพื้นที่เริ่มตื่นตัว มองเห็นโอกาสที่กำลังจะมาถึง

ประชากรจีนมีประมาณ 200 ล้านคน ถ้า 10 เปอร์เซ็นต์ มากับรถไฟ นั่นหมายความว่าคนประมาณ 20 กว่าล้านคนที่จะมาเที่ยวประเทศไทย ก่อนที่จะไปเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ต้องผ่านเมืองหนองคาย ซึ่งหมายความว่า เมืองหนองคายจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สินค้า Skill คนทำงาน ถือว่าปี 2566 เป็นจุดเปลี่ยนคนหนองคาย

เช่นเดียวกับคุณดนัยธรรม ตั้งวิบูลย์พาณิชย์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ที่คิดว่าจะเกิดช่องทางค้าขายใหม่ ๆ หากสามารถปรับตัว พัฒนาตัวเองรับโอกาส

ถ้ามองในมุมของคนทำธุรกิจทั่วไป หรือขายสินค้าที่สามารถส่งออกไปจีนไปลาวได้ ต้องพัฒนาในส่วนของโปรดัก เริ่มต้นจากการศึกษาตลาดว่า ลาวเป็นยังไงจีนเป็นยังไง เขาต้องการแบบไหน อันนี้คือสิ่งแรกที่นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์เขา อาจจะยังไม่มีเงินทุน แต่ถ้าพัฒนาตรงนี้ได้จะต่อยอดธุรกิจไปยังลาวและจีนได้

แน่นอนว่าในช่วงที่กำลังดำเนินการ เชื่อมต่อเส้นทางให้มาถึงไทยจุดแรกที่ จ.หนองคาย ในสถานการณ์ที่การให้ข้อมูลที่ยังไม่แน่ชัด แผนการทำงานที่ยังรับรู้ไม่ทั่วถึง ทำให้มีคำถาม ข้อกังกล ข้อห่วงใยเกิดขึ้นมากมาย ว่าโอกาสที่เห็นจะสร้างผลกระทบดีหรือร้ายอย่างไร หรือจะเข้าไปมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์แบบไหนได้บ้าง โดยเฉพาะคนทำธุรกิจในพื้นที่ อย่างคุณจิราพร จันลา ผู้ประกอบการธุรกิจเสื้อผ้าก็มีข้อกังวลที่มาพร้อมโอกาส

นโยบายรัฐที่สนับสนุนให้เกิดเส้นทางรถไฟ อันนี้พี่เห็นด้วยมาก ๆ แต่ว่าอาจจะมีกฎหรือนโยบายบางอย่างมาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย อย่างทุกวันนี้ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเรื่องแรงงาน ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับสินค้าที่ขายได้ รวมถึงเรื่องฐานภาษี ก็มีผลกับผู้ประกอบการ ในอนาคตถ้าเกิดแรงงานเปิดเสรีมากขึ้น ต้องมีนโยบายที่จะมาควบคุมแรงงานที่จะเข้ามาและออกไปด้วย ถ้ามองในภาครัฐก็เหมือนผู้ประกอบการจะไหลออกไปต่างประเทศ เสียผลประโยชน์ตรงนี้ เราจะมียโยบายใดที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ยังประกอบการในประเทศได้

และคุณชาตรี โอฬารอุ้มบุญ ประธานนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ จ.อุดรธานี ก็เห็นข้อท้าทายเช่นกัน

เราไปดูโอกาสที่ลาว จีน เวียดนาม ดูโอกาสว่าเราจะเอาอะไรไปขายได้บ้าง ในขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าเขาเอาอะไรมาขายให้เราได้บ้างเหมือนกัน เพราะเส้นทางรถไฟมันเชื่อมไปและกลับ เราน่าจะเริ่มมองไปที่ทดลองสินค้าที่ไม่หมดอายุ เพราะระยะทางกว่าจะขนส่ง เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในปัจจุบัน

แน่นอนว่าข้อกังวลนั้น เป็นเพียงสภาวะหนึ่งที่ทำให้หายไปได้ เมื่อรู้ทางออก เห็นทางแก้ไข ในกรณีนี้การได้รับข้อมูลที่รอบด้านมากพอ อาจจะช่วยคลายความกังวลนี้ลงได้ อีกทั้งอาจจะช่วยให้เกิดการวางแผน จัดการตนเองเพื่อคว้าโอกาสที่กำลังมากับรางรถไฟ ซึ่งทีมงานวิจัยโครงการการศึกษาและพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) จึงตั้งประเด็นการศึกษาอย่างรอบด้านทั้งในเชิงลึกและศึกษาในภาพรวม โดย ดร.อรรฆพร ก็กค้างพลู อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายเป้าหมายการทำโครงการนี้ว่า ต้องการให้เห็นภาพในองค์รวมเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ลาว-ไทย ที่จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสามประเทศ

งานวิจัยนี้จะลงเก็บข้อมูลบริบทพื้นที่ สถานการณ์ ข้อมูลพื้นฐานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern economic corridor: NEEC baseline) ห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่ในรูปแบบเดิม และห่วงโซ่อุปทานรูปแบบใหม่ (Potential supply chain) และภาพรวมโครงการการพัฒนา (Development project) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่จีน-ลาว-ไทย ทั้งทางตรง และทางอ้อม นอกจากนี้ยังศึกษาถึงภาคีที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนในพื้นที่ และลำดับความสำคัญด้านการลงทุน (Priority ranking) รวมไปถึงข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานที่จะสามารถสร้างความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว-ไทยร่วมกันที่สามารถยกระดับคุณค่า และการยกระดับรายได้ในพื้นที่ เพื่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายและการลงทุนระหว่างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว-ไทยได้ในอนาคต

คาดการณ์ว่างานวิจัยนี้จะรวบรวมข้อมูล ทำการศึกษาเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2566 เป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยให้ทั้งผู้ลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจการมาของรถไฟจีน ลาว ไทย  ให้มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เพิ่มโอกาสให้ไม่ตกขบวน และมีข้อเสนอทางนโยบายที่ให้ผู้คนบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ไปต่อด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ