โฮมบุญดินอีสาน กับแนวทางจัดการที่ดินโดยชุมชน

โฮมบุญดินอีสาน กับแนวทางจัดการที่ดินโดยชุมชน

เรื่อง/ภาพ : ศรายุทธ ฤทธิพิณ

สำนักข่าวเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน esaanlandreformnews.com

เมื่อวันที่ 15 มี.ค.58 ณ.ศาลาบ้านดินชุมชนโนนหนองลาด ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายไทบ้านคนไร้สิทธิสกลนคร และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น (กลุ่มฟ้าใหม่) เข้าร่วมงาน “โฮมบุญกองทุนที่ดินอีสาน” เพื่อร่วมระดมกองทุน มอบให้เครือข่ายป่าไม้ที่ดินภาคอีสานชุมชนบ้านโนนหนอง ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินทำกินของภาครัฐ รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวที่ถูกดำเนินคดี และส่วนหนึ่งมอบเป็นทุนแก่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโนนหนองลาด

นอกจากนี้ได้ร่วมจัดเวทีเสวนา “ชุมชนอีสานกับแก้ไขปัญหา” โดยวิทยากรเข้าร่วม อาทิ นายนิวาส โคตรจันทึก เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน นายเด่น คำแหล้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน ที่ปรึกษา กป.อพช.ภาคอีสาน ร่วมแลกเปลี่ยนถึงผลกระทบและการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน รวมทั้งกระบวนการต่อสู้ของแต่ละเครือข่ายองค์กรประชาชนอีสาน เพื่อผลักดันให้ภาครัฐร่วมแก้ไขปัญหา อย่างถูกต้อง เป็นธรรม

สังวาลย์ อันทเกตุ ประธานกรรมการรับรองโฉนดที่ดินชุมชนโนนหนองลาด เล่าวา โนนหนองลาดเดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ต่อมาช่วงปี 2508  ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้แยกตัวออกจากหมู่บ้านโนนเชือก ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างที่สาธารณะประโยชน์กับพื้นที่ทำกิน ทำให้ชาวบ้านเข้ามาบุกเบิกที่ทำกินใหม่ เริ่มแรกมีเพียง 2 ครอบครัว ต่อมาได้มีการขยายครอบครัวสืบมาเรื่อย กระทั่งปี 2511 กำนันได้ร่วมมือกับชาวบ้านกว่า 30 ครอบครัว ก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนโนนหนองลาด เพื่อจัดสรรพื้นที่กันไว้ให้แยกออกจากพื้นที่สาธารณะ กระทั่งมีการเปลี่ยนตัวกำนันคนใหม่ และมีแนวคิดขัดแย้งกับชาวบ้าน โดยพยายามไล่ชุมชนออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ จึงเริ่มเกิดขึ้นและบานปลายความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ถึงที่สุดได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน และต่อสู้กัน 3 ศาล

สังวาลย์  เล่าอีกว่า ตามที่ร่วมต่อสู้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรมที่ยืดเยื้อยาวนาน จนปี 2558 ศาลพิพากษามีคำสั่งยกฟ้อง โดยพิเคราะห์ว่า ชาวบ้านไม่มีความผิด เพราะไม่ได้เป็นผู้บุกรุกที่สาธารณะดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับหน่วยงานท้องถิ่นมาก นับจากนั้นชาวบ้านเริ่มถูกคุกคาม ข่มขู่ หนักขึ้น โดยเฉพาะตน (พ่อใหญ่สังวาลย์) พร้อมชี้รอยแผลจากคมกระสุนทั้งบริเวณท้ายทอย แผ่นหลัง และตามลำตัว ภายหลังถูกลอบยิงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่รอดชีวิตกลับมาได้ถึงปัจจุบันนี้

ประธานกรรมการรับรองโฉนดฯ  กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหา อีกว่า จากอดีตที่มีปัญหาและข้อขัดแย้งกรณีที่ดินทำกิน แต่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ยอมออกเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินให้ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกไม่มีความมั่นคงทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน จึงพยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ กระทั่งปี 2539 เข้าร่วมต่อสู้กับสมัชชาคนจน เรียกร้องความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา กระทั่งปี 2555 ได้รับความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น จัดทำแผนพัฒนาสู่การพึ่งตนเอง ร่วมกันปลูกท้องถิ่นในรูปแบบเกษตรอินทรีย์และเข้าร่วมตลาดสีเขียวขอนแก่น ในปีถัดมาได้รับการติดตั้งไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชน อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันถูกกล่าวหาอีกว่าเป็นผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งเพื่อความยั่งยืนของชุมชน จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อร่วมกันวางแนวทางจัดการที่ดินโดยชุมชน ตามมติได้ร่วมกันออกใบรับรองสิทธิชุมชนโนนหนองลาด โดยให้คนในชุมชนรับรองการออกเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดิน เพื่อรับรองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของบุคคลที่ถือครองเอกสารสิทธิ์นั้น โดยผู้ถือครองจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงอย่างเคร่งครัด

“ปัจจุบันชุมชนมีสมาชิกกว่า 36 ครัวเรือน ชาวบ้านได้ร่วมกันใช้ประโยชน์ในที่ดินบนพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ โดยมีการบริหารจัดการที่ดินแยกประเภทออกเป็นที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันประกอบไปด้วย ห้วย หนอง คลองบึง และมีวัดเกาะแก้ววนาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจทางพุทธศาสนา ปัจจุบันชาวบ้านร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น(กลุ่มฟ้าใหม่)  ได้ร่วมกันสร้างศาลาบ้านดิน เพื่อจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งในพื้นที่สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีทั้งบึง หนองน้ำ โดยจะมีผู้นำชุมชน(ปราชญ์ท้องถิ่น) ครูอาสา เข้ามาร่วมเรียนรู้และถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานให้ได้รับการสืบทอดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน กระบวนการต่อสู้ และวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมของชุมชนอีสาน เพื่อเป็นการยกระดับการเรียนรู้ชุมชนให้มีการสืบทอดทั้งประเพณี วัฒนธรรม และให้ได้รับการเผยแพร่สู่สังคมภายนอกให้เกิดความเข้าใจ และรับรู้ เป็นต่อไป” ประธานกรรมการรับรองโฉนด กล่าวทิ้งท้าย

 

20151703104707.jpg20151703104707.jpg20151703104708.jpg20151703104709.jpg20151703104710.jpg20151703104711.jpg20151703104712.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ