แกะรอยช้างป่า ณ ผืนป่ารอยต่อตะวันออก

แกะรอยช้างป่า ณ ผืนป่ารอยต่อตะวันออก

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประกาศว่าช้างป่าเอเชียอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เหลือเพียง 50,000 ตัวเท่านั้น จากจำนวนประชากรช้างป่าทั้งหมด 13 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 ที่มีช้างมากสุด 

ศูนย์การเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก หรือเรียก กลุ่มฟันน้ำนม กลุ่มภาคพลเมืองที่ศึกษาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ารอบกลุ่มป่าตะวันออก พบว่าปัจจุบันมีช้างอยู่ในป่าตะวันออก 500-600 ตัว (over population) เป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบสัดส่วนความเหมาะสมของพื้นที่ป่าต่อจำนวนช้างซึ่งอยู่ที่ 300-500 ตัวเท่านั้น 

สาเหตุหลักที่แน่ชัดคือ กิจกรรมของมนุษย์ และการขยายตัวของชุมชนมีผลโดยตรงต่อช้าง ทั้งการกำจัดขนาดของพื้นที่ป่าเพื่อให้ช้างอยู่อาศัย พฤติกรรมช้างที่ปรับตัวหรือการทำเกษตรบริเวณรอบป่าทำให้ช้างออกมากินพืชผล จนเกิดปมความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง และมีแนวโน้มมากขึ้นในทุกปี

งานชิ้นนี้จึงอยากนำเสนอปัจจัยและผลกระทบระหว่างคนกับช้างในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ศักยภาพของพื้นที่ป่าที่เหมาะสมกับช้าง เครื่องมือในการจัดการ รวมถึงปรากฏการณ์ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์มากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องรีบวางแผนหาทางออกร่วมกัน

ช้างไทยต่างจากช้างอื่นยังไง

ปัจจุบันช้างที่ยังเหลืออยู่มีอยู่ 2 ชนิด คือ ช้างแอฟริกัน (African elephant) ที่เราคุ้นชินเวลาเห็นในภาพยนตร์วิ่งกลางทุ่งหญ้าสะวันน่า หรือในการ์ตูนเรื่อง The Lion King จะมีขนาดใหญ่ ใบหูใหญ่คลุมไหล่และหัวมี 1 โหนก และ ช้างเอเชีย (Asia elephant) หรือช้างไทยบ้านเรานี่เอง จะมีขนาดเล็กกว่าเมื่อโตเต็มวัยจะมีความสูงประมาณ 2.0-3.5 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3 – 4 ตัน มีใบหูเล็กไม่คลุมไหล่ ตรงหัวมี 2 โหนกและปลายงวงมี 1 จะงอย 

ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อยู่รวมกันเป็นฝูง (โขลง) โดยมีช้างตัวเมียที่ใหญ่สุดเป็นผู้นำฝูง ลูกช้างเพศผู้จะออกจากโขลงหากินลำพังเมื่อถึงวัย และจะดุร้ายเมื่ออยู่ในช่วงผสมพันธุ์หรือที่เรียกว่า ตกมัน ช้างเพศเมียจะตั้งท้องนาน 22 เดือนและตกลูกครั้งละ 1 ตัว และมีระยะเวลาห่าง 4 ปี จะมีการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ทั้งจากการคลอด การล่า หรือการทำร้ายจากช้างเพศผู้ ซึ่งเป็นกลไกควบคุมสมดุลของประชากรช้างในป่า

ช้างยังเป็นสัตว์ที่กระจายตัวหรืออาศัยในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งทุ่งหญ้า ป่าเขาหรือพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ แต่ปัจจัยสำคัญต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างมีหลัก ๆ อยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ อาหาร แหล่งน้ำ และดิน เพราะโดยปกติช้างต้องกินอาหารมากถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน ใช้เวลากินเฉลี่ย 16 ชั่วโมง และต้องการน้ำมากถึง 200 ลิตรต่อวัน และยังต้องการแร่ธาตุอาหารจากดินโดยใช้งาหรือขุดดินมากิน

นอกจากนี้ ช้างยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ คือ เป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์เวลาขับถ่ายออกมา คอยควบคุมปริมาณพืชหญ้าไม่ให้เกินสมดุล สามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพเวลาเคลื่อนตัว สร้างเส้นทางหรือหาแหล่งน้ำ สัตว์อื่นๆ สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้

สมดุลระหว่าง ช้างและผืนป่า

ปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณจำนวน 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยานจำนวน 91 แห่ง โดยแต่ละพื้นที่พบการกระจายตัวช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200-300 ตัว (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) 

แผนที่แสดงประชากรช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ในกลุ่มป่า 5 อันดับแรก

จาก 19 กลุ่มป่าที่กำลังเผชิญกับช้างออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ นี่คือ 5 กลุ่มป่าอันดับแรกที่มีสถิติมากที่สุด

  1. กลุ่มป่าตะวันตก มีพื้นที่ประมาณ 11,700,000 ไร่ ตัวพื้นที่รองรับที่เหมาะสมประมาณ 2,460-2,500 ตัว พบช้าง 1,064 ตัว
  2. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 3,874,863 ไร่ พื้นที่รองรับที่เหมาะสมประมาณ 900 ตัว พบช้าง 450-560 ตัว
  3. กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว มีพื้นที่ประมาณ 3,580,874.25 ไร่ พื้นที่รองรับที่เหมาะสมประมาณ 1,120-1,200 ตัว พบช้าง 638 ตัว
  4. กลุ่มป่าแก่งกระจาน มีพื้นที่ประมาณ 2,938,910 ไร่ พื้นที่รองรับรับที่เหมาะสมประมาณ 600-650 ตัว พบช้าง 600 ตัว
  5. กลุ่มป่ารอยต่อภาคตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 1,363,323.05 ไร่ พื้นที่รองรับที่เหมาะสมประมาณ 320-325 ตัว พบช้าง 592 ตัว

จากทั้งหมด 5 กลุ่มป่า มีประมาณช้างป่าเฉลี่ยตั้งแต่ 500 ตัวไปจนถึง 1,000 ตัว แต่ละผืนป่ามีความเหมาะสมในการรองรับช้างที่ต่างกันไป โดยกลุ่มป่าตะวันตกมีพื้นที่ป่ามากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตามอันดับ และสัดส่วนจำนวนช้างกับพื้นที่ป่ายังอยู่ในระดับที่รองรับได้ รวมถึงลักษณะของผืนป่ามีความลาดชันสูงไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของช้าง ซึ่งเป็นกลไกควบคุมความสมดุลทางธรรมชาติอยู่

ขณะที่กลุ่มป่ารอยต่อ มีสัดส่วนปริมาณช้างค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับความเหมาะสมของพื้นที่ป่าในการรองรับประชากรช้างคือ มีจำนวนช้างเกิน 2 ใน 3 ของพื้นที่ โดยปัจจัยที่ทำให้ป่าตะวันออกมีช้างเพิ่มขึ้นมากกว่าที่อื่น เพราะลักษณะทางกายภาพเอื้อต่อการอยู่ของช้าง คือเป็นที่ราบเหมาะแก่การขยายพันธุ์ของช้าง ขาดนักล่าอย่างเสือที่จะควบคุมประชากรช้าง และทุ่งหญ้า ซึ่งเกิดจากการทำสัมปทานในอดีตกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของช้างป่า และทำให้มีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 9%

แผนที่แสดงขอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติในกลุ่มป่าตะวันออก

กลุ่มป่าตะวันออก หรือที่เรียกว่า ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพราะครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดด้วยกัน คือ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว เป็นผืนป่าขนาดใหญ่มีพื้นที่รวมประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับ 1.3 ของพื้นที่ป่าทั้งหมดในประเทศไทยที่เหลืออยู่ ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ดังนี้

  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบช้าง 277 ตัว
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว พบช้าง 79 ตัว
  • อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น พบช้าง 34 ตัว
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวาย เฉลิมพระเกียรติฯ และอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว พบช้าง 20 ตัว
  • อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง พบช้าง 12 ตัว
  • อุทยานแห่งขาติเขาคิฌชกูฏ พบช้าง 2 ตัว
  • อุทยานแห่งชาติน้ำตกพริ้ว

โดยพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีอัตราการเพิ่มขึ้นของช้างป่ามากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้หรือบริเวณชุมชนตำบลพวา อำเภแแก่งหาวแมว จันทบุรี รองลงมาคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ซี่งเป็นผืนป่าที่ต่อเนื่องกัน

จากข้อมูลไฟล์นำเสนอ เวทีเสวนาวันช้างไทย อนาคต ‘คน ช้าง ป่า’ ภาคตะวันออก นโยบายและแนวทางปฏิบัติใหม่ในการแก้ความขัดแย้งคนกับช้างป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (สืบค้นวันที่ 19 ธ.ค. 65) พบว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ในช่วงปี 2561 – 2566 ที่ผ่านมา มีการออกนอกพื้นที่ของช้างป่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 2561 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,399 ครั้ง สร้างความเสียหาย 942 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 13 ราย

ปี 2562 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,358 ครั้ง สร้างความเสียหาย 319 ครั้ง เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 19 ราย

ปี 2563 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 4,761 ครั้ง สร้างความเสียหาย 1,371 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 17 ราย

ปี 2564 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 8,006 ครั้ง สร้างความเสียหาย 1,398 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 12 ราย

ปี 2565 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 16,376 ครั้ง สร้างความเสียหาย 1,510 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 14 ราย

และช่วงต้นปี 2566 นี้ ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 3,353 ครั้ง สร้างความเสียหาย 954 ครั้ง

ปรากฏการณ์ช้างออกป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เกิดจากปัจจัยหลายอย่างทั้งพื้นที่ป่าที่ลดลงและปริมาณช้างที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมของมนุษย์ การทำเกษตรพืชผลไม้ที่เป็นสิ่งดึงดูดให้ช้างออกมาหากินมากขึ้นและอยู่นอกป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงผลกระทบความเสียหายและการทำร้าย จนเป็นปัญหาระหว่างคนกับช้างที่มีความรุนแรงขึ้นในแต่ละปี

เส้นทางในความทรงจำของช้างเขาอ่างฤาไนป่ารอยต่อ

สาเหตุมีอยู่ 3 อย่างหลัก ๆ คือ ตัวของมนุษย์และตัวของช้างเอง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน หนึ่งในพื้นที่ป่าตะวันออกหรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว มีขนาดพื้นที่ราว 643,750 ไร่ โดย 75% อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไม่ให้ถูกทำลายไป และยังเป็นป่าลุ่มต่ำไม่ผลัดใบที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด

เขาอ่างฤาไน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อุดมด้วยสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหลากหลายชนิด ทั้งสัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลาง เช่น ชะนี อีเก้ง รวมถึงสัตว์ขนาดใหญ่อย่างช้างป่า เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ป่าโป่ง มีแหล่งน้ำและอาหารที่เหมาะสม ซึ่งเหมาะกับการอยู่อาศัยของช้างป่า

แต่ปัจจุบันผืนป่าลดลงเพราะการขยายตัวของพื้นที่เกษตรบริเวณรอบป่า เมื่อที่อยู่อาศัยของลดลงจึงทำให้ช้างออกมากข้างนอกเพื่อหาอาหาร ดร.พิเชฐ นุ่นโต จากเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง จะมาอธิบายปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช้างออกจากป่ามากขึ้นโดยเฉพาะป่ารอยต่อ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขสำคัญที่คววรจะทำ

ปัจจัยจากมนุษย์ หมายถึง เราเข้าไปเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตร จากเดิมมีป่าประมาณ 60% ตอนนี้เหลือสัก 30% หมายความว่าพื้นที่อาศัยและอาหารของช้างนั้นลดลง เส้นทางที่ช้างเคยเดินผ่านก็โดนตัดผ่าน แต่ประชากรช้างก็ยังเดินในเส้นทางทรงจำที่เคยเดินอยู่

ส่วนที่สองซึ่งเป็นปัจจัยหลัก คือ ขนาดพื้นที่ป่า แหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมลดลง ถึงแม้จะเห็นพื้นที่ป่าอยู่สมควรในประเทศไทย แต่ว่าโดยส่วนมากเป็นพื้นที่ลาดชัน พื้นที่สูงดังนั้นตัวอาหาร พืชที่เหมาะสมลดลง เพราะว่าช้างมีลักษณะเป็น mixfeeder คือกินทั้งหญ้าและพืชไม้ลุ่ม ให้โดยสัญชาตญาณช้าง ต้องกินทั้งสองอย่างสลับไปมาเพื่อให้ได้โปรตีน แร่ธาตุเพียงพอเลยออกเดินทางไปหาอาหาร ในพื้นที่ที่จะเติมเต็มในเรื่องของพลังงานอาหารที่เพียงพอ

พฤติกรรมของช้างที่มีการพัฒนา และปรับตัวกับการเผชิญของมนุษย์ก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยปกติการหาอาหารโดยเฉพาะช้างเพศผู้ จะเรียนรู้เส้นทางเคลื่อนที่หรือเส้นทางหากิน แหล่งน้ำ แหล่งอาหารจากช้างเพศผู้อาวุโสดังนั้นเส้นทางที่ใช้จึงเป็นเส้นทางที่ถูกสืบทอดต่อ ๆ กันมา รวมถึงการเผชิญกับคนด้วย

เป็นปัจจัยหลักที่งานวิจัยหลายชิ้นพูดถึง ถ้าพื้นที่เกษตรอยู่ชิดขอบป่าก็เพิ่มความน่าจะเป็นเหตุการณ์ช้างออกป่าเยอะ สูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่มีแหล่งน้ำ พืชที่มีพลังงานสูงก็คือของคนเรา เขาก็กินได้ปรับตัวไป เป็นสาเหตุหลักที่เราไปทำให้มันเสียสมดุ

ข้อมูลลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ของช้างป่าในกลุ่มป่าตะวันออก ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า เมื่อปี 2562

ปัจจัยเชิงนิเวศวิทยาอย่างแหล่งน้ำ อาหาร พื้นที่ราบซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มีความเหมาะสมในการอยู่อาศัยของฝูงช้าง ตอนนี้ตัวของช้างฝูงในภาคตะวันออกก็ออกมาคลอดพื้นที่ข้างนอก คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติมและเริ่มเห็นปรากฏการณ์ ประชากรที่มันเกินพื้นที่รองรับศักยภาพของพื้นที่ จะเห็นชัดในป่าตะวันออกที่พี่น้องประชาชนภาคตะวันออก ค่อนข้างจะจับประเด็นนี้เป็นหลักเพราะเห็นว่าตัวเลขของกรมอุทยานแห่งชาติที่เพิ่มปีละ 8% ซึ่งเปอร์เซ็นการเพิ่มค่อนข้างสูงมาก

แม้กระทั่งเทียบกับต่างประเทศคือค่อนข้างสูง ก็เลยเป็นที่มาว่าทางกรมอุทยานฯ เริ่มศึกษาการคุมกำเนิดช้างในพื้นที่ป่าตะวันออก แต่ว่าอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับช้างเลี้ยง แต่ว่าก็ต้องระมัดระวังการแก้ปัญหาตรงนี้เพราะยังไม่เห็นภาพรวมของทั้งระบบของพื้นที่ป่าตะวันออก หรือการเพิ่มของประชากรในกลุ่มป่าอื่น ๆ

ตอนนี้ถ้ามองประชาชนหลายพื้นที่ก็คิดว่านี่คือสาเหตุหลัก ช้างเพิ่มขึ้น ออกมานอกป่ามากขึ้น แต่ว่าเมื่อดูในภาพรวมมันไม่ได้เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ บางพื้นที่เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ด้วยซ้ำในพื้นที่ภาคใต้ อีสาน หรือทางตอนเหนือ เป็นปรากฎการณ์ที่ช้างออกมาเยอะแต่เปอร์เซ็นการเพิ่มไม่เท่ากับป่าตะวันออก ก็เลยเกิดความเข้าใจผิดว่าสาเหตุหลักคือประชากรช้างเพิ่มขึ้น แล้วทุกคนก็เลยเสนอว่าควรจะคุมกำเนิดแต่ละกลุ่มป่า ทำให้ตัวของหลักฐานกับแนวทางไม่สอดคล้องกัน

บริหารจัดการผืนป่าและเฝ้าระวังช้างป่า

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่า ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง เช่น การป้องกันและการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ เช่น การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่า การสร้างคูกันช้างป่า การสร้างรั้วไฟฟ้า การปลูกพืชเพื่อเป็นรั้วธรรมชาติ การศึกษาวิจัย ได้แก่ การศึกษาประชากรและโครงสร้างชั้นอายุของช้างป่า การแพร่กระจาย พฤติกรรมการกินอาหาร ฯลฯ รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยจากช้างให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

ในระดับประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าขึ้นมา เพื่อให้มีการบูรณการและการแก้ไขเรื่องปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ได้ออก 6 มาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่าและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย

  1. การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า
  2. แนวป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ (สร้างรั้วไฟฟ้า, ขุดคูกันช้าง)
  3. ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า เช่น การลาดตระเวน จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังช้างป่า ร่วมกับเครือข่ายชุมชนอาสาสมัคร
  4. การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า (จ่ายเงินเยียวยา,พัฒนาระบบช่วยเหลือ)
  5. การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน (ปรับปรุงทุ่งหญ้า, แหล่งน้ำ,พื้นที่ป่า)
  6. การควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด

ส่วนในระดับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์รักษาป่าเขาอ่างฤาไน เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กรมอุทยานฯ มีภารกิจดูแลพื้นที่เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อดูการกระจายตัวช้างไปยังป่าอื่นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ส่วนระดับอำเภอจะมีองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตะเกียบ และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา

นอกจากนี้ มีองค์กรภาคพลเมืองที่ขับเคลื่อนประเด็นช้างป่ามาอย่างยาวนานที่สำคัญ เช่น มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออก เป็นต้น

พิเชฐ กล่าวว่า เครื่องมือในการทำงานตอนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กายภาพและสังคม กายภาพ คือ แนวกั้นต่าง ๆ กำหนดพื้นที่เป้าหมายให้ช้างอยู่ ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่เหมะสม ปรับพื้นที่น้อยที่สุด เช่น แหล่งน้ำ พื้นที่โปร่งและความลาดชัน เพราะจะเป็นตัวกำหนดพวกพืชและผลไม้ การทำการกันพื้นที่ในชุมชนที่มีความเปราะบาง โรงเรียนอยู่ใกล้ หรือไม่มีทีมอาสาหรือคนเฝ้าระวัง หรืออยู่ใกล้จุดที่มีประชากรหนาแน่น

การทำสิ่งกีดขวางก็ต้องดูว่าอันไหนเหมะสมในเชิงระบบนิเวศและการดูแลรักษาด้วย ตอนนี้ทางตะวันออกจะใช้การขุดคูเป็นหลัก กำลังคิดเรื่องสร้างแบริเออร์ แต่ก็ต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย หรือการเปลี่ยนทางน้ำจะกระทบกับสัตว์อื่นที่ยังต้องข้ามไปมาเราก็ต้องออกแบบ

ส่วนด้านสังคม มีการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการระดับจังหวัดเพราะว่า มีความซ้อนทับในเรื่องกฎหมายแล้วก็อำนาจในการจัดการ มองว่าต่อไปเรื่องช้างที่ออกมานอกพื้นที่ การรวมศูนย์ในการจัดการอยู่ที่ฝ่ายเดียวมันยิ่งเป็นความขัดแย้ง ต้องมีการกระจายอำนาจในการจัดการเพื่อให้องค์กรอื่น หรือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องนี้

เนื่องจากปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ มีสถานการณ์รุนแรงและยังไม่มีการจัดการจากภาครัฐที่ตอบโจทย์ ล่าสุดวันที่ 26 ก.ค. 2566 ตัวแทนศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออกและเครือข่ายศึกษาเรียนรู้ช้างป่า จึงยื่นหนังสือเสนอนโยบายแนวทางการจัดการช้างป่าในพื้นที่ตะวันออกผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจ ตั้งแต่ระยะเร่งด้วน ระยะกลาง และระยะยาว 3 ข้อหลักๆ คือ นโยบายด้านการคุ้มครองชีวิต นโยบายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และนโยบายด้านการควบคุมช้างป่า (อ่านเพิ่มเเติมได้ที่  ภาคประชาชนตะวันออกเสนอ 3 นโยบายแก้ปัญหาช้างป่า เยียวยาให้ตรงเป้า) ให้กับนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.จังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล และได้รับเรื่องดังกล่าวและพร้อมผลักดันให้เป็นวาระในรัฐสภาต่อไป 

อ้างอิง

การศึกษาข้อเสนอการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและช้างป่า ในพื้นที่การพัฒนา 2 กระแส

แผนแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เขาอ่างฤๅไน กับแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของ ‘คนกับช้างป่า’

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ