ภาคประชาชนตะวันออกเสนอ 3 นโยบายแก้ปัญหาช้างป่า เยียวยาให้ตรงเป้า

ภาคประชาชนตะวันออกเสนอ 3 นโยบายแก้ปัญหาช้างป่า เยียวยาให้ตรงเป้า

วันนี้ (26 ก.ค. 2566) ตัวแทนศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก และเครือข่ายศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก เข้ายื่นหนังสือระบุ 3 ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการจัดการปัญหาช้างป่าตะวันออกอย่างยั่งยืน ให้กับนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.จังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล และคณะ ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา โดยมีวาระเร่งด่วนเรื่องการเยียวยาอย่างเป็นธรรม และเงื่อนไขที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาปัจจุบัน

ที่มาภาพ: ตาล วรรณกูล 

เนื่องจากปัญหาช้างป่าในพื้นที่ 5 จังหวัดตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และจันทบุรี มีสถานการณ์รุนแรง ต่อเนื่องมายาวนานและยังไม่มีการจัดการจากภาครัฐที่ตอบโจทย์เท่าที่ควร จึงมีการประสานมาเพื่อขอเสนอแนะแนวทาง เพื่อให้รัฐสภาและพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมถึงพรรคก้าวไกลพิจารณานำไปเสนอเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา

หนังสือดังกล่าวระบุข้อมูลว่า พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกมีเนื้อที่ประมาณ 2,453 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีจำนวนประชากรช้างป่าอาศัยอยู่ราว 592 ตัว เมื่อคาดการณ์จากอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรช้างป่าดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2572 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 1,100 ตัว แต่กลุ่มป่าตะวันออกมีพื้นที่ที่สามารถรองรับประชากรช้างป่าได้เพียงราว 325 ตัว เท่านั้น

กลายเป็นวิกฤตความสมดุลระหว่างจำนวนประชากรช้างป่ากับศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กลุ่มป่าตะวันออก ส่งผลให้ช้างป่า จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งต้องออกมาอาศัยหากินในพื้นที่ชุมชน จนก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของมนุษย์และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น

แม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะมีแผนแม่บทการจัดการช้างป่ า 20 ปี (พ.ศ.2561-2581) และได้
กำหนดแผนการจัดการปัญหาช้างป่าตะวันออก ปี พ.ศ.2561-2570 รวมระยะเวลา 10 ปี และมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้น ก็ยังไม่สามารถลดความเสี่ยงรวมถึงการสูญเสียชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนได้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนการออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของช้างป่าและจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ในรอบ 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2561-2565 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

• ปี พ.ศ.2561 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,399 ครั้ง เกิดความเสียหาย 942 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 13 ราย
• ปี พ.ศ.2562 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,358 ครั้ง เกิดความเสียหาย 319 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 19 ราย
• ปี พ.ศ.2563 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 4,761 ครั้ง เกิดความเสียหาย 1,371 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 17 ราย
• ปี พ.ศ.2564 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 8,006 ครั้ง เกิดความเสียหาย 1,398 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 12 ราย
• ปี พ.ศ.2565 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 16,376 ครั้ง เกิดความเสียหาย 1,510 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 14 ราย

ที่มาภาพ: ตาล วรรณกูล 

จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้

  1. นโยบายด้านการคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมถึงพืชผลทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบนฐานความเป็นจริงและเป็นธรรม
  2. นโยบายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. นโยบายด้านการควบคุมช้างป่า และการพัฒนาความสมดุลระหว่างจำนวนประชากรช้างป่ากับศักยภาพพื้นที่รองรับ
ที่มาภาพ: ตาล วรรณกูล 

ด้านนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะรับเรื่องดังกล่าวและเตรียมนำเสนอเพื่อผลักดันให้เป็นวาระในรัฐสภา ร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ นอกจากนี้จะยื่นกระทู้ถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามปัญหาช้างป่าที่เกิดขึ้น หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้ทราบ ทั้งนี้หากในอนาคตสภาฯ มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น ก็พร้อมจะผลักดันเรื่องนี้ไปสู่การแก้ปัญหา ผ่านกลไกกรรมาธิการและกลไกอื่นของสภาต่อไปด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ