ปรับ รู้ รอด ทางออกเกษตรกรฝ่าวิกฤต ‘เอลนีโญ’

ปรับ รู้ รอด ทางออกเกษตรกรฝ่าวิกฤต ‘เอลนีโญ’

อากาศร้อน ฝนทิ้งช่วง น้ำมาเขื่อนเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง นี่คือสัญญาณเตือนว่า เราได้เข้าสู่ปรากฎการณ์ ‘เอลนีโญ’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากใครได้ติดตามข่าวสาร จะเห็นว่า หน่วยงานและนักวิชาการด้านน้ำได้ออกมาประกาศเตือน ให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะตามมากับปรากฎการณ์เอลนีโญในครั้งนี้  โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในรอบ 74 ปี 

‘เอลนีโญ’ คือ ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้สภาพอากาศมีความร้อนสูงขึ้น ฝนตกน้อยลง หรือตกทิ้งช่วง จนทำให้ปริมาณน้ำเหลือน้อย และตามมาด้วยความแห้งแล้ง ซึ่งจะเกิดเฉลี่ยทุก ๆ 2-7 ปี และมีระยะเวลายาวนานประมาณ 9-12 เดือน 

แน่นอนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยแล้ง อาจจะทำให้เศรษฐกิจในภาคเกษตร และอุตสาหกรรมของบ้านเราสั่นสะเทือน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า เอลนีโญในครั้งนี้ อาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยเสียหายสูงถึง 4.8 หมื่นล้านบาท หากไม่เตรียมพร้อมรับมือให้ดี 

นี่จึงเป็นโจทย์ที่เราเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และตัวแทนเกษตรกรภาคกลางกว่า 30 คน มาช่วยกันคิด ร่วมกันมอง หาทางออกของเรื่องนี้ไปด้วยกันในวงเสวนาฟังเสียงประเทศไทย : เอลนีโญ เกษตรกลางวิกฤต แต่ละท่านจะมีข้อเสนอแนะกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กันอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้ 

000

การรับมือของเกษตรกรภาคกลาง –

นิมนวรรณ ชินบุตร เกษตรกร จ.ลพบุรี

ลพบุรีเจอภัยแล้งมาตลอด ที่อื่นไม่แล้ง ที่นี่แล้ง เนื่องจากเป็นเขตทำนา เขตชลประทาน ที่ถูกมองที่หลังอยู่เสมอ เพราะว่าน้ำที่อยู่ทิศเหนือก่อนที่จะลงมาทางจังหวัดลพบุรี จะมีพื้นที่การทำงานที่เยอะมาก เมื่อมาถึงส่วนของจังหวัดลพบุรีจะถูกคั่นไป แล้วใต้จังหวัดลพบุรีจะได้ทำนาอีกที เช่น จังหวัดนครปฐมจังหวัดสุพรรณบุรี 

ดังนั้น จ.ลพบุรี จะเจอภาวะแล้งต่อให้ไม่เจอเอนนีโญ จ.ลพบุรีก็เจอภาวะแล้ง เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ดีที่หลากหลาย ทั้งภาวะแรง ภาวะหลาก ต้องรอดให้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนทรัพยากรที่มี ณ ปัจจุบันนั้น ๆ ให้อยู่รอด เราไม่สามารถปรับแต่งธรรมชาติได้เราต้องปรับให้ตัวเองอยู่รอดให้ได้ 

กมลชนก สถาพรอมรวุฒิ เกษตรกร จ.พระนครศรีอยุธยา

ทุกวันนี้ทุกหน่วยงานอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถามว่าเราจะไปควบคุมธรรมชาติได้ไหม ควบคุมไม่ได้

ส่วนการลดก็คือ เอนีโญเกิดจากการใช้ทรัพยากรเยอะ เกิดผลกระทบโลกร้อน เราก็ต้องมีการปรับตัวลดลงแล้ว แต่ ณ ตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้เพราะได้เกิดเหตุการณ์นี้ไปแล้ว จึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนอีกครั้งว่าจะปรับอย่างไรให้อยู่กับสภาพอากาศแบบนี้ และปรับเปลี่ยนให้มันดีขึ้น รับมือกับมันให้ได้ 

สะอาด เมียนแมน สภาเกษตรกรจังหวัดนนทบุรี

การเตรียมความพร้อมเหมือนเราเตรียมสอบ ไม่ว่าเราจะประสบปัญหาอะไร ถ้าเรามีความพร้อมเราจะรับสิ่งนั้นได้ ในชีวิตของผมตอนนี้อายุ 62 ปี เจอภัยแล้งมา 2 ครั้ง ชนิดที่ว่าคลองแถวบ้านจับปลาได้เลยครั้งแรกหลังจากปี 54 เพราะตอนปี 2554 น้ำท่วม 5-6 เมตร แต่หลังจากนั้นเขากลัวว่าน้ำจะท่วมเลยปล่อยน้ำจากเขื่อนออกหมด ก็เลยเกิดการแล้งทั่วประเทศ ตอนนั้นผมขายข้าวได้ตันละ 17,000 บาท  

อยากให้ทุกคนเตรียมความพร้อม ถ้าเรามีเงินก็เก็บเงินไว้สำรอง ถ้ามีพื้นที่ก็อาจจะขุดสระไว้ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เวลาจำเป็น ในเขตจังหวัดนนทบุรี ถ้าเก็บน้ำ 4-5 เมตรสามารถเก็บไว้ใช้ได้ 2-3 เดือน 

แต่โดยรวมจังหวัดนนทบุรีจะเจอปัญหาหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ สำหรับภัยแล้ง โอกาสเกิดน้อย แต่ถ้าน้ำเขื่อนน้ำไม่พอก็จะมีผลกระทบกับพืชสวนที่น้ำเค็มหนุนขึ้นมา ทำให้ทุเรียนเมืองนนท์ หรือว่าสวนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าฤดูน้ำหลากเราจะเจอน้ำท่วม แต่หลายจังหวัดเจอปัญหาน้ำเรื่องใหญ่ อย่างปีนี้ที่บอกว่าเอลนีโญจะเกิดขึ้นยาวไปจนถึงกลางปีหน้าจนถึงปี 2567 อาจจะทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงนับแสนล้าน

มูลค่าแสนล้าสำหรับเกษตรถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ขอฝากรัฐบาลชุดใหม่ช่วยดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราโชคดี แต่ถ้าเกิดขึ้นเราก็ต้องพร้อมรับมือ หลายครั้งผมเคยเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่ไม่มีแม่น้ำ มีแต่ทะเลทราย แต่ตามตึกมีน้ำสมบูรณ์หมดเพราะว่าเขารักและห่วงน้ำ แต่ของเราน้ำมากมายเราปล่อยน้ำลงทะเล จะทำอย่างไรให้เรากักเก็บน้ำได้ ขอฝากด้วยครับ 

ปุ้ย บางซ้าย เกษตรกร จ.พระนครศรีอยุธยา

คำว่าหนีไม่พ้น ครอบคลุมทุกคีย์เวิร์ดที่ทุกคนพูดมา และครอบคลุมทุกสถานการณ์ ไม่ใช่แค่เอลนีโญ แต่รวมถึงลานีญา รวมไปถึงปรากฏการณ์โลกร้อน หรือปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก เราหนีไม่พ้น มันคือสัจธรรม 

ถ้าเราเอาแต่ยอมรับไม่ปรับตัว เราจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ สุดท้ายก็คือหนีไม่พ้น อย่างเช่นเกษตรกรที่ต้องประสบกับภัยแล้ง ตอนนี้บางพื้นที่มีการปรับตัวทำโคกหนองนา บางพื้นที่จัดเก็บน้ำในการทำเกษตร 10% หรือ 30% ทั้งพื้นที่อาจจะรวมกันทำธนาคารใต้ดิน เราต้องตั้งหลักสู้กับทุกสถานการณ์ให้ได้


000

5 มุมมอง เตรียมพร้อมรับมือเอลนีโญ –

ทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกษตรกรในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งว่า ภาคเกษตรเป็นภาคที่อยู่กับประชาชนมากที่สุดและได้รับผลกระทบจากเอลโญหรือเหตุการณ์ต่างๆไม่ว่าจะภัยแล้งหรือน้ำท่วมเกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของชลประทานถ้าชลประทานให้น้ำมา หน้าแล้งต้นคลองได้ ท้ายคลองไม่ได้ ท้ายคลองจะแล้ง  พอหน้าน้ำท้ายคลองท่วม ต้นคลองได้น้ำ  

นี่คือการบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทานไม่สามารถควบคุมให้เกษตรกรได้ ภาคกลางเป็นภาคที่ทำเกษตรมากที่สุด ชาวนาเป็นผู้ผลิต ลงทุน แต่จะไปซื้อปุ๋ยต้องถามราคาปุ๋ยเท่าไหร่ จะขายก็ต้องถามว่าให้ราคาขายเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับคนที่รับวัตถุดิบจากภาคเกษตรไปทำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เขาเอาไปผลิตจะสามารถกำหนดราคาได้ ภาคเกษตรกับกลายเป็นภาคที่ไม่มีอะไรมาต่อรอง ธนาคารต่าง ๆ ภาคเกษตร เป็นภาคที่ใช้ดอกเบี้ยแพงที่สุด  6 บาท ถ้าเป็นสหกรณ์ 9-10 บาท แต่ถ้าเกษตรกรไปกู้ภาคเอกชน 4-5 บาท  เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบหลายเรื่องเราจะทำอย่างไร 

เรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม เวลาเกษตรกรจะน้ำท่วมลงทุนไป 5,000 บาทรัฐบาลให้มา 1,000 บาท และอีก 4,000 บาทไปไหนถ้ารัฐไม่ประกาศภัยแล้งก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลืออันนี้คือสิ่งที่ภาคเกษตรเผชิญ เรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคของภาคเกษตร มีแต่ภาคเกษตรเข้าไม่ถึงอยากให้รัฐบาลใหม่ดูแลตรงนี้ ซึ่งกองทุนภาคเกษตรไม่มีเลยที่จะมาช่วยเหลือตรงนี้ น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ถ้าน้ำท่วมยังมีผักหรือมีปลาที่ยังอยู่กับน้ำได้ แต่ถ้าแล้งเกษตรกรไม่มีอะไรเลย 

ถ้าน้ำไม่มี อยากให้มองภาคเกษตร รัฐบาลจะส่งแพ็คเกจจากข้างบนลงมาว่า ภาคกลางที่เคยทำนาให้มาปลูกข้าวโพด ผลสุดท้ายคือเกษตรกรไม่มีความชำนาญ ไม่มีเครื่องมือก็ล้มเหลวหมดอยากเปลี่ยนมุมมองว่า ต่อไปนี้ต้องดูว่า จ.อ่างทองต้องการอะไร จ.อ่างทองต้องการพืชผักตรงไหน เพราะอ่างทองเป็นผู้ผลิตผักส่งออกมากที่สุด มีตลาดใหญ่ ๆ ที่ส่งออก ต้องดูว่าผลิตผักยังไงเพื่อส่ง ผลิตยังไงให้มีน้ำโดยที่หยุดการทำนา แล้วกระจายน้ำ หรือว่าทำนาให้น้อยลงบริหารน้ำอย่างไร ให้นามีเพื่อใช้ในการทำเกษตร หรือรัฐบาลช่วยในการทำแก้มลิง หาพื้นที่ขุดสระให้เกษตรกรมีน้ำ 

ถ้าพูดถึงการใช้น้ำบาดาล ภาคกลางถ้าต่ำกว่า 50 เมตร ใช้ไม่ได้ เพราะว่าเจอน้ำเค็มกับน้ำเปรี้ยวเอามารดผัก ผักตายหมด ถ้าจะขุดน้ำ เพื่อการเกษตรก็ไม่โตต้องใช้ปุ๋ย สู้น้ำธรรมชาติไม่ได้ วิธีแก้คืออ่างเก็บน้ำสำคัญต้องมีไว้ที่สูง น้ำเคยท่วมสุโขทัยและพิษณุโลก ก็ต้องเก็บน้ำตรงนั้น แล้ว 1-2 เดือน ค่อยปล่อยออกมา เราหาแก้มดึงให้เยอะที่สุด และธนาคารน้ำใต้ดินต้องใช้เยอะ ๆ ไม่ใช่ตำบลหนึ่งมีแค่ 4-5 บ่อ ต้องมีเป็นพันบ่อ ถึงจะช่วยได้ รวมถึงภาคเกษตรก็ต้องลดการใช้น้ำให้น้อยลง แล้วปลูกพืชอื่น ให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์และทำอย่างอื่น ดูแลเขาให้อยู่ได้ 

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงปรากฎการณ์เอลนีโญรอบนี้ว่า  มีอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ คือเรื่องของอุณหภูมิ ปริมาณฝน และความชื้นในดิน เป็น 3 อย่างที่พืชต้องการ และเอาไปใช้ ซึ่งเอลนีโญทำให้ 3 อย่างนี้ ไม่มาตามนัด ศูนย์วิจัยคาดการณ์ไว้ว่าผลกระทบจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร 48,000 ล้านบาทอันนี้คือตัวเลขณเวลานี้แต่หนักที่สุดคือ 6 เดือนข้างหน้าหลังจากช่วงเวลานาปรัง ทุเรียนมา ข้าวนาปรังมา

ปี 2554-2555 เรามีผลผลิตข้าวนาปรัง 10 ล้านตันข้าวเปลือก ประมาณปี 2558 – 2559 เหลือแค่ 2 ล้านตันข้าวเปลือก เอาตัวเลขนี้คูณ 1 หมื่นล้านบาท จะได้เท่ากับ 8 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นหายไปแค่ 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าจิ๊บ ๆ แต่หนักที่สุดคือปรังหน้า แล้วทุเรียนจะออกอีก   

เอลนีโญ่รุนแรงที่เราเคยเจอคือปี 2558-2559 และ 2562-2563  แต่เรากลัวว่าปีนี้มันจะมาติดกันเพราะมันมีแนวโน้มว่าเอลนีโญจะมาติดกันจนถึงปี 2572 อันนี้คือการคาดการณ์ ดังนั้นมันจะมาอีก 2 ยอด คือ ปี 2568-2569 นี้ และปี 2572  นี่คือสิ่งที่คาดการณ์ไว้ ตอนนี้สิ่งที่เรารู้ก็คือมันจะมาถึงปีหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะมายาวหรือเปล่า ซึ่งที่เขาคาดการณ์เอาไว้ก็คือเอลนีโญจะเพิ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2150 ยังไงก็ต้องเกิด เพราะมันเป็นธรรมชาติ เราต้องยอมรับ ซึ่้งถ้านโยบายและเราไม่ปรับจะไม่สามารถอยู่กับสิ่งนี้ได้

ส่วนเรื่องปริมาณฝนตั้งแต่ต้นปี ฝนเราติดลบ แต่ช่วงจากนี้ต่อไปเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เราจะได้ฝนดี แต่ต้องดูว่ามันจะมาชดเชยสิ่งที่เราติดลบไปได้หรือไม่ แต่ที่คากการณ์ล่าสุดภาคเหนือไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ซึ่งถ้าต้นทุนน้ำภาคเหนือไม่ดี ก็จะเจอวิกฤตหนัก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนกับตอนกลาง จะมีปัญหา แต่ยังดีที่ขอบน้ำโขงดี ส่วนภาคกลางเราไม่ค่อยดี สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียน ถ้าอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวไม่รอด ต้องอาศัยน้ำชลประทาน ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกเขตชลประทานก็ต้องช่วยตัวเอง คือ ขุดบ่อ หรือขุดสระ ต้องรีบทำให้ไว ถ้าไม่เอาตอนนี้ก็จะไม่ได้แล้ว 

ทรงเกียรติ ขำทอง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 1 ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. เป็นหน่วยงานที่ ทำหน้าที่ในการกำกับนโยบายและบูรณาการหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม 

ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญ สทนช. ได้มีการติดตามตั้งแต่ต้นปี โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการทำงาน ปัจจุบันสถานการณ์เอลนีโญอยู่ในยุคกำลังอ่อน แต่ว่ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ก็จะไปรุนแรงช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ แล้วก็มีการคาดการณ์ว่าถึงช่วงเมษายนยังได้รับผลกระทบอยู่ แต่ว่าไม่ได้หายไป สถานการณ์ยังคงต่อเนื่อง 

ทาง สทนช. มีมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ในมาตรการรับมือฤดูฝนไม่ได้มีแค่เรื่องของน้ำหลากเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของฝนทิ้งช่วง หรือว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ มาตรการนี้มีมาตรการที่รองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำ มาตรการที่ 1 ก็คือชี้เป้าเสี่ยงน้ำแล้ง และส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ในการเฝ้าระวัง มาตรการที่ 2 คือปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ปีนี้เรามองว่าสถานการณ์น้ำน้อยจะต้องมีการปรับแผนให้เหมาะสม มาตรการที่ 5 ต้องไปติดตั้งเครื่องจักรในพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำ หรือจะต้องมีการปฏิบัติการโดยกรมฝนหลวงในพื้นที่ที่การร้องขอ อันนี้ต้องไปชี้เป้าให้กรมฝนหลวง ก็ต้องมีการส่งพื้นที่เสี่ยงให้หน่วยงาน 

มาตราการที่ 9 เร่งพัฒนาเก็บกักน้ำในช่วงฤดูของอุทกภัยจะมีน้ำส่วนเกินที่เกิดจากอุทกภัยไปท่วมขังในพื้นที่ที่เราไม่ต้องการให้อยู่ เราจะต้องเร่งกักเก็บน้ำส่วนนี้ไปใช้ในทางน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีอาคารควบคุม ที่เราจะเก็บไว้ได้ 

มาตราการที่ 12 ติดตามประเมินผล ปรับมาตราการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย กรณีเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำจะต้องมีการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ 

เมื่อดำเนินมาตราการมาแล้ว ในช่วงของเดือนมีนาคมเราเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ที่แรกคือ ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังจากนั้นจะมาที่เพชรบูรณ์ และก็ประจวบคีรีขันธ์ หรือที่ชุมพรที่มีปัญหาเรื่องทุเรียน จะเห็นว่าสถานการณ์เรื่องการขาดแคลนน้ำเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากนั้น ได้มีการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ประชุมหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรับมือสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และรองรับสถานการณ์เอลนีโญ  

มีมาตราการที่กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปขับเคลื่อน ในส่วนของหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างอย่างปราณีต และมีการวางแผนการบริหารจัดการล่วงหน้า 2 ปี เพราะเราคาดว่าในช่วง ฤดูฝนอาจจะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่เมื่อพ้น ฤดูฝนไปแล้ว 1 พ.ย. 66 เราต้องเจอกับช่วงสถานการณ์แล้งหน้า ซึ่งน้ำต้นทุนมีความสำคัญ ได้มีการกำชับหน่วยงาน ให้บริหารน้ำอย่างประหยัด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ด้วย 

มีเรื่องการลดการสูญเสียน้ำในเส้นท่อของการประชานครหลวง การประปาภูมิภาค หรือกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ต้องไปหาแหล่งน้ำขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม เพื่อรับมือในช่วงสถานการณ์เอลนีโญตรงนี้จะเป็นข้อมูลหลัก ๆ ที่ได้ดำเนินการตามนโยบาย 

ข้อมูลเรื่องฝนปีนี้บ่งบอกว่าน้ำต้นทุนปีหน้าเราจะเหลือเท่าไหร่เราไม่ได้มองแค่ปีนี้แต่มาตรการที่ออกไปเราขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องด้วยในช่วงฤดูฝนขอให้ปลูกแค่ครั้งเดียวและเป็นการสร้างความมั่นคงของน้ำของฤดูแล้งถัดไป  ซึ่งจะดูแลถัดไปขอให้ประชาชนติดตามประกาศของหน่วยงานต่าง ๆ และอาจจะต้องลดการทำข้าวนาปรังด้วย

ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเขื่อนหลักที่กักเก็บน้ำอยู่ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ใช้กำลังจะกันน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์ในอดีตจะเห็นว่าปี 2558 ถึง559 เอลนีโญมาน้ำในเขื่อนเรามีไม่ถึง 30% ก่อนที่จะถึงฤดูแล้งในปีนั้นเรามีการประกาศไม่ส่งน้ำเพื่อทำนาปรังแต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือเกษตรกรปลูก 1.98 ล้านไร่ 

ถามว่าเกษตรกรรอดได้อย่างไร เกษตรกรใช้น้ำพื้นที่ที่กักเก็บแล้วก็จากบ่อบาดาลจึงทำให้เหตุการณ์ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนมาถึงปี 2560 ลานีญามา ฝนมากขึ้นปลายปี 2560 เรามีน้ำใช้กันได้ประมาณ 80% ทำให้เราปลูกข้าวได้ 5.9 ล้านไร่ ในนาปรัง เราเจอสถานการณ์แล้งต่อด้วยสถานการณ์ฝน 

ปี 2560/2561 เกิดฝนแล้วก็เกิดอุทกภัยในบางจุดของแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่าน้ำต้นทุนเรามีร่วม 80% เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังในปีนั้น 5.9 ล้านไร่ ต่อด้วยปี 2561 น้ำดีต่อเนื่อง น้ำเยอะต่อเนื่องเกษตรกรปลูกอีก 5.8 ล้านไร่ ประเทศไทยเป็นประมาณนี้ แล้วก็เกิดการแล้งอีกรอบหนึ่ง รวมถึงปี 2563/2564 น้ำต้นทุนมีน้อยประมาณ 30% ทำให้เราประกาศไม่มีแผนเพื่อการเพาะปลูกนาปังแต่ผลที่ได้มีการปลูกอีกประมาณ 1.98 ล้านไร่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น พอมาปี 2564 เกิดอุทกภัยอีก มีน้ำท่วมในลุ่มน้ำและน้ำเจ้าพระยา แต้น้ำต้นทุนปี 2564 ณ 1 พฤศจิกายน มีแค่ 7,700 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 40% เท่านั้น นั่นหมายความว่า ฝนตกท้ายเขื่อน ไม่ลงเขื่อน ทำให้น้ำที่อยู่ในเขื่อนสิริกิติ์มีน้อย แต่ก็มีการปลูกข้าวไปอีกประมาณ 3-4 ล้านไร่ 

แต่มาถึงปี 2565 ฝนยิ่งมากขึ้น  ตกทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ทำให้อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำเกิน 80% จะเห็นว่านาปรังที่ผ่านมาพี่น้องเกษตรกรภาคกลางแฮปปี้เพาะปลูกไปแล้ว 6.35 ล้านไร่ มากที่สุดในรอบ 10 ปีของเขตชลประทาน แต่ตรงนี้อย่างที่บอกว่า น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง ท่วมปีที่แล้ว แล้งปีนี้ได้ปลูกเต็มที่ ถ้าไม่ท่วม น้ำต้นปีน้อยก็จะทำให้ปลูกได้น้อยลง เหมือนอย่างปี 2562/ 2563 หรือแม้แต่ปี 2558/2559 ที่เราไม่มีน้ำส่งนาปรัง

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจารย์เสรีคาดการณ์ไว้อาจะยาวนาน แต่ปีนี้ผมยังไม่ห่วงเท่าปีหน้า เพราะปีนี้จากที่ดูจากสถิติ มันอาจจะเกิด 2 ปี ผมดูที่น้ำต้นทุนปีนี้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากวีดีโอจะมีประมาณ 9,พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีไม่ถึง ใน 4 เขื่อนหลัก เราคาดการณ์ไว้อย่างเก่งก็คือไม่เกิน 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร ที่เป็นน้ำใช้การได้ หรือประมาณไม่ถึง 50% ของน้ำใช้การในส่วนกักเก็บที่เรามีอยู่ 4 เขื่อน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือกรมชลประทานก็ได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปีขึ้นมาเราเอาเกณฑ์ปี 2562/2563 มาเป็นหลักแล้วทำฉากทัศน์ขึ้นมา ถ้าเหตุการณ์เป็นเหมือนตอนปี 2562/2563 จะเกิดอะไรขึ้น 

เช่นเดียวกันถ้าน้ำต้นทุนมีประมาณ 30-40% น้ำใช้การรณรงค์ที่จะทำนาปรังประมาณ 3-4 ล้านไร่คงจะเป็นไปไม่ได้จากน้ำต้นทุนที่มี แต่ทั้งนี้การวางแผนบริหารจัดการน้ำ ในเรื่องของการวางแผนอุปโภค บริโภค ต้องไม่ขาดแคลน ระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องไม่เค็ม การเกษตรต้องสามารถเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้ อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ต้องไม่ขาดเช่นเดียวกัน และการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งที่เรากำลังจะเริ่ม 1 พฤศจิกายน 2566/2567 นอกจากเราต้องบริหารจัดการน้ำในลักษณะของแล้งอย่างเดียวแล้ว เราต้องบริหารแบบ 6 เดือน บวก 3 เดือน 

6 เดือนคือแล้ง 3 เดือนคือฝน ปีนี้ฝนน้อยภาคกลางลบ 30-40% จากค่าเฉลี่ย เราต้องใช้น้ำฤดูฝนจากปีที่แล้วที่เต็มอ่างมาเพื่อการบริหารจัดการน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ฟังดูอาจจะแปลก การบริหารจัดการนำแล้งในช่วงฤดูฝน แทนที่ฤดูฝนเราจะใช้น้ำจากน้ำฝนเป็นหลัก ให้เกษตรกรเพาะปลูกจากน้ำฝน โดยใช้น้ำชลประทานมาช่วยเสริมฝน แต่ตอนนี้เหมือนเป็นการบริหารจัดการน้ำแล้งในฤดูฝนเพราะฝนไม่มี อย่างที่ตัวแทนเกษตรกรบอกว่าฝนน้อย  

เราวางแผนสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนแล้วฤดูแล้งหน้าก็ต้องทำเช่นเดียวกัน ถามว่าปลูก 7.-8 พันล้านไร่ในช่วงต้นฤดูแล้งหน้าจะสามารถปลูกพืชได้ไหม ปลูกได้ เช่นเดียวกับปีนี้มีการเพาะปลูกไป 6.35 ล้านไร่ 3 เดือน ต้นฤดูฝนเอลนีโญมาฝนทิ้งช่วง เกษตรกรต้องการเพาะปลูกแทนที่จะเป็นการส่งน้ำชลประทานในฤดูฝนส่วนฝนที่ตกแต่การเป็นเพราะว่าใช้น้ำชลประทานในการเพาะปลูกในฤดูฝน อันนี้เป็นโจทย์สำคัญที่กรมชลประทานเอง ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ต้องพยายามให้เกษตรกรที่เพาะปลูกไปแล้ว ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหาย อันนี้คือโจทย์ที่เราต้องบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนคล้ายกับในฤดูแล้ง 

ความยากของชลประทานคือการเข้าถึงเกษตรกรหลักการคิดทางวิศวกรรมน้ำ คือทรัพยากรมีหลักมีสูตรคำนวณ แต่จะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการน้ำนั้นเหมาะสมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรไทย ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เคยเจอคำถามว่าถ้าไม่ให้ปลูก เราจะให้ทำอย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่ยากที่สุดที่ชลประทานเก็บไว้ในใจและต้องช่วย

ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center มองว่าเรื่องของการกักเก็บน้ำจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปี เราอาจจะคาดการณ์ทั้งหมดไม่ได้ว่าฝนจะตกตรงไหน อย่างไรบ้าง แต่เราพอจะคาดการณ์ในระยะเวลาหนึ่งได้ ซึ่งตอนนี้แผนของการที่เราจะคาดการณ์ในแต่ละพื้นที่ ต้องบอกว่าเรายังทำได้ไม่เต็มที่นัก ในบางจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับฝนที่ดีพอ อย่างเช่นจังหวัดอุบลราชธานี สามารถบอกได้ว่าระยะเวลา 1 เดือนหลังจากนี้ฝนจะเป็นอย่างไร และการวางแผนการเพาะปลูกอย่างที่ชลประทานว่า จะต้องสัมพันธ์กับฤดูฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ การให้ข้อมูลในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก 

ข้อมูลในภาพรวมเราพอมีอยู่แต่การที่จะเป็นคนช่วยย่อย และกระจายข้อมูล เพื่อทำให้เกิดการพูดคุยและตอบคำถามกับพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยังขาด ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นภาพถ่ายดาวเทียมหรือภาพจากเรดาร์แล้วทุกคนจะอ่านแล้วเข้าใจเหมือนกันหมด ต้องมีคนที่เข้าไปช่วยซึ่งตรงนี้ยังไม่มี เราจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า แม้จะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก แม้เราจะพูดว่าประเทศไทยเราหนี้ไม่พ้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดผลกระทบเท่ากันทุกพื้นที่ มันมีผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

ข้อมูลในแต่ละพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญบวกกับการที่เราต้องมีดัชนีชี้วัดว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่ต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เรามีดัชนีที่เรียกว่าดัชนีความแห้งแล้ง แต่ตัวเลขดัชนีความแห้งแล้งอย่างไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงมากนัก โดยเฉพาะการนำมาพูดถึงในเรื่องของการที่จะเข้าไปจัดการโดยเร่งด่วน อันนี้คือประเด็นแรกว่าเอลนีโญเป็นผลที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หลักการในเชิงนโยบายต้องตั้งหลักจากข้อนี้ก่อน ถ้ามาพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาก็ต้องแก้ไขที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย

ข้อที่ 2 เป็นเรื่องเร่งด่วน มีสิ่งที่เราเรียกว่าจังหวะนรก และจังหวะทอง ทั้งสองเป็นนาทีทอง จังหวะนรก คือ อย่างกรณีสวนทุเรียน ถ้าเข้าไปช่วยไม่ทันก็คงตายไม่สามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาได้ การลงทุนที่เสียไปแล้วก็จะเสียไป ส่วนจังหวะทองคำ นาทีทองอย่างที่อาจารย์เสรีพูดไปจะมีอยู่ช่วง 3 เดือนนี้ที่เราต้องเก็บน้ำเพิ่มขึ้น แต่คำถามก็คือการดำเนินงานในส่วนนโยบายเชิงทรัพยากรที่จะลงไปทำให้เกิดการเก็บน้ำมากขึ้นในระดับครัวเรือนใ นระดับท้องถิ่น ในระดับไร่นา ไปจนถึงลุ่มน้ำต่างๆเรามีการจัดสรรทรัพยากรลงไปแบบนั้นหรือไม่ อันนี้เป็นคำถาม

ประเด็นที่ 3 เราอยากจะให้มองว่าเอลนีโญในขณะที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องเข้าไปดำเนินการ สิ่งที่ถ้าเราดำเนินการเร่งด่วนไม่ทัน หรือทำไม่ดี ปัญหาเอลนีโญจะเกิดปัญหาเรื้อรัง ซึ่งพี่น้องเกษตรกรจะทราบดี กลไกที่ทำให้มันเรื้อรัง คือ หนี้สิน เราจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมกลายเป็นปัญหาหนี้สินที่ต่อเนื่องในระยะยาว และปัญหาหนี้สินจะไม่ได้เป็นเฉพาะของผู้ที่เป็นหนี้ของแต่ละคนเท่านั้น แต่หนี้สินเกษตรเป็นหนี้สินก้อนใหญ่ของหนี้สินครัวเรือนและปัจจุบันนี้ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 90% ของ GDP ถ้าเราป้องกันเอลนีโญไม่ได้จะไม่ได้หายไปแค่หมื่นกว่าล้านที่รายได้หายไป แต่หนี้สินเรายังไม่ได้เอามาคำนวณว่าเท่าไหร่ รวมไปถึงกำลังซื้อที่เรายังไม่ได้เอานำมาคำนวณว่าจะหายไปเท่าไหร่ 

สุดท้ายปัญหาแทรกซ้อนนอกเหนือจากเกษตรที่เราพูดไปแล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องที่แทรกซ้อน เรื่องแรกคือเรื่องน้ำเค็มที่ลุกขึ้นมา ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะการประปา แต่มีปัญหาเรื่องการเกษตร มีปัญหาเรื่องระบบนิเวศ ถ้ามีความเค็มที่นานเกินไป ระบบนิเวศไม่ใช่แค่ตัวน้ำ แต่เป็นตัวพืชที่อยู่ริมน้ำ สัตว์ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำนั้น และอีกหนึ่งปัญหาที่มันสัมพันธ์กัน เมื่อปีไหนมีเอลนีโญปีนั้นฝุ่น PM 2.5 จะเยอะ ถ้าเราไม่เตรียมความรับมือเรื่องนี้ให้ทัน จะเป็นเรื่องที่แทรกซ้อนแล้วก็เรื้อรัง นี่คือสิ่งที่อยากจะให้มองข้อมูลก่อนว่าเอลนีโญเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญกว่าที่คิดและต้องแก้อย่างเร่งด่วน

ระบบกักเก็บน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว  

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กล่าวว่า ดูเหมือนจะไม่ยากแต่ทำไมเราถึงทำไม่ได้ถ้าไปถามเกษตรกร ทุนจะเอามาจากไหนถ้าผลผลิตออกมา 400 กิโลกรัมต่อไร่เขาทำโดยไม่พอจะเอาเงินจากไหนมาขุดบ่อ ซึ่งก็จะต้องกลับมาที่นโยบายว่าจะทำอย่างไรการขุดบ่อขุดฝายสำคัญมาก แม้ตอนนี้เรามีอ่างอยู่แล้วจะไปบังคับให้ ฝนตกเหนืออ่างยากมากก็ต้องกระจายความเสี่ยงเรื่องอ่างทำอ่างเล็กอ่างน้อยซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเขื่อนหรือคอนกรีตแบบเป็นชุมชนขุดบ่อขุดสระ แล้วถ้ามีฝายก็ดึงจากตัวเหนือฝายไปยังบ่อของประชาชนหรือชุมชนตรงนี้ต้องทำเพื่อกระจายความเสี่ยงซึ่งเป็นการกระจายได้ดีที่สุดถามว่างบประมาณจะเอามาอย่างไรอาจารย์เดชรัฐน่าจะมีคำตอบ

ถ้าตอนนี้เราไปดูในพื้นที่ 5,000 บาท ในการขุดสระ เขายังไม่มีเลย  แล้วเขาบอกว่าเขาขอไปทาง Thai Water plan สทนช. ก็ถูกปฏิเสธมาหมด เพราะต่างคนต่างขอไม่มีบูรณาการในพื้นที่หรือจังหวัดอนุมัติไม่ได้ อันนี้เป็นระบบที่ต้องเข้าไปดูแลจัดการ แน่นอนว่าในที่สุดจะต้องมีการกระจายอำนาจเรื่องนี้ไปให้ท้องถิ่น ไปให้ชุมชน หรือสภาเกษตรกร มีการคุยกันให้รู้เรื่องกันในจังหวัด ว่าต้องการกี่บ่อแล้วค่อยยื่นขอ 

ทรงเกียรติ ขำทอง กล่าวว่า ระบบ Thai Water plan เป็นระบบที่ใช้ในการติดตั้งพัฒนาโครงการของทรัพยากรน้ำทั่วประเทศใช้มา 2 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ที่ขอมาแล้วไม่ผ่านก็คือเรื่องของการเตรียมความพร้อม เรื่องที่ดินไม่พร้อม เรื่องเอกสาร ปร.4 หรือ ปร. 5 ไม่พร้อม บางช่วงขอมาแบบสะเปะสะปะ ไม่ใช่พื้นที่ที่เราชี้เป้าว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง ก็จะถูกตัดออกไปหรือบางที่ที่มีการขอจากหน่วยงานซ้ำซ้อน ทั้งอบต.ก็ขอ กรมพัฒนาที่ดินก็ขอ ก็จะมีความซับซ้อน 

สทนช. มีแผนในการเพิ่มจุดกับเก็บน้ำนอกชลประทานอย่างฤดูแล้งช่วงปีที่แล้ว ที่เราออกมาตรการเพื่อไปเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง หลายหน่วยงาน ทั้งกรมพัฒนาที่ดิน หรือหน่วยงานท้องถิ่นมีการขอสระที่เป็นลักษณะเล็ก ๆ ก็ได้รับการสนับสนุนงบกลางในช่วงฤดูแล้งปีที่แล้ว แต่ว่าส่วนของช่วงฤดูแล้งปีนี้เนื่องจากว่าเป็นช่วงของการยุบสภา การอนุมัติงบประมาณก็ทำได้ค่อนข้างยากอันนี้เป็นปัญหา ติดตรงที่เรายังไม่มีรัฐบาลใหม่ด้วย 

 แต่เรามีการประชุมแล้วก็สอนหน่วยงานที่เป็นระดับท้องถิ่น แต่ติดปัญหาตรงที่ท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอโครงการยังไม่สามารถตั้งได้ครบถ้วน ตรงนี้จะมีการอบรมแล้วก็ขอหน่วยงานสนับสนุนพี่เลี้ยงอย่างเช่น เรื่องของการสรุปบทเรียนฤดูแล้งและฤดูฝนที่ผ่านมา ก็มีบางหน่วยงานที่ขอให้มีหน่วยงานพี่เลี้ยงที่ไปสนับสนุนท้องถิ่น อย่างนอกเขตชลประทานอยากขอให้มีกรมทรัพยากรน้ำเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้ 

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เสริมว่า ถ้าจะขออนุญาตในการขุดสระ ท่านจะต้องมี 3 พร้อม คือ 1.แบบพร้อม 2. งบประมาณหลักในการประเมินราคาพร้อม และ 3.ใบอนุญาต แต่ถ้าไปในเขตของอุทยานจะเอาใบอนุญาตมาจากไหน อะไรอันนี้เราอาจจะต้องกลับมาแก้ 

กระจายอำนาจท้องถิ่น สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า อาจถามได้ว่าเกินอำนาจท้องถิ่นหรือเปล่า หรือเราอาจจะพูดได้ว่าเราให้อำนาจท้องถิ่นน้อยเกินไป อันนี้คือสิ่งที่เราได้เจอ เมื่อลงไปทำงานในพื้นที่ที่ชัยนาทกับคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล เราพบว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มีทางออกได้หลายวิธี อย่างเช่น พื้นที่อ่างทองที่พี่ทรงพลพูดถึงว่าปัญหาต้นคลอง ท้ายคลองรับน้ำไม่เท่ากัน 

เราไปดูคลองที่มโนรมย์เขาปรับระบบเรื่องการกระจายน้ำใหม่ทั้งคลอง ซึ่งทั้งคลองได้รับน้ำในเวลาเดียวกัน ภายใน 2 สัปดาห์ จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน กรมชลประทานไปช่วยในการออกแบบและจัดหางบประมาณทำให้ลดการใช้น้ำได้ประมาณ 50% นี่คือตัวอย่างที่จะสามารถเข้าไปแก้ไขได้

เวลาที่พูดถึงท้องถิ่นไม่ได้แปลว่าเงินจะต้องไปที่ อบต. เท่านั้น แต่ว่าเงินอยู่ที่ราชการก็ได้แค่การแก้ไขปัญหานั้นต้องมาจากการพูดคุยในระดับพื้นที่และเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง รวมถึงพื้นที่ใกล้ ๆ กันก็มีส่วนที่จะเสนอเชื่อมโยงบ่อต่าง ๆ ที่มีการขุดไว้ เพราะว่า ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงกัน ถ้าสามารถทำให้เกิดการเชื่อมกันก็จะทำให้เติมน้ำในหน้าฝนได้เต็ม เวลาบอกที่ขุดไม่ได้เชื่อมกันและมีระดับความสูงที่ไม่เท่ากัน บางบ่ออาจจะเต็ม บางบ่อก็อาจจะไม่เต็ม แต่ถ้าเชื่อมกันมีท่อที่จับระดับได้เหมาะสม ก็จะทำให้เรากักเก็บน้ำได้เต็มที่มากขึ้น ทั้งหมดนี้อยู่ที่พื้นที่ 

แต่ขณะเดียวกันก็มีบางพื้นที่ที่อาจารย์เสรีพูดถึงว่าอยู่ในอุทยาน ก็เกิดคำถามที่ว่าขุดไม่ได้เพราะกลัวดินหายไป เพราะดินเป็นดินของรัฐ แต่ถามว่าน้ำเป็นของรัฐหรือเปล่า อันนี้เป็นปัญหาที่เราไม่สามารถเอื้อให้ท้องถิ่นแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ทั้งหมดที่เราคุยกันถ้าเราพูดถึงวิธีการแก้ไขกันแบบปกติเราจะทิ้ง 3 เดือนนี้ไป ถ้าเรารอรัฐบาลจัดตั้งมาแก้กฎระเบียบเราก็ต้องข้าม 3 เดือนนี้แล้วไปเจอ 6 เดือนหน้าที่เป็นภัยแล้ง ยังไม่รวมอีก 3 เดือนถัดไปที่ยังไม่รู้ว่าแล้งหรือเปล่า ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจะต้องกลับเข้าไปหารือในสภาผู้แทนราษฎร เพราะมันไม่ได้หมายความว่าใช้งบไม่ได้ แต่การจะนำงบประมาณในช่วงที่เราเป็นรัฐบาลรักษาการไปใช้จะต้องไปขออนุญาตจาก กกต.

แน่นอนว่าถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีการพูดคุยกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน 25,000 ล้านบาทในการทำให้มีพื้นที่ขุดสระทั่วประเทศก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันได้ว่ามีความจำเป็นเราสามารถใช้งบประมาณของงบกลางปี 2566 ก่อนได้ เพราะกว่าจะรอปีงบ 2567 อาจจะรอถึงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ซึ่งจะไม่ทันการ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพูดกันทั้งสังคมและต้องพูดกันทั้งในทุกระดับ และระดับที่เรายังไม่ได้พูดกันก็คือระดับรัฐสภา อันนี้เป็นเรื่องที่คณะทำงานจัดตั้งรัฐบาลจะต้องนำไปคุย แม้จะยังไม่ได้มีรัฐบาลก็ต้องคุยกันในระดับรัฐสภา

ทรงเกียรติ ขำทอง เสริมต่อว่า จริง ๆ แล้วการขุดสระเล็ก สระน้อย อยู่ในมาตรการรับมือฤดูฝนอยู่แล้ว ก็คือการเร่งพัฒนากักเก็บน้ำ การพัฒนาก็คือสระเล็ก สระน้อย เดิมถ้าเป็นฤดูที่แล้วก็คือเร่งกักเก็บน้ำส่วนเกิน แต่พอเป็นมาตรการรับมือฝนปีนี้ มีการสรุปบทเรียนและขอให้เพิ่มเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเข้าไปด้วยตรงนี้มีมาตรการอยู่แล้ว 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อธิบายต่อว่า มีมาตรการอยู่แล้ว แต่เงินต้องเตรียมลงไป อันนี้คือสิ่งที่จะช่วยทำให้แผนที่มีอยู่ ความคิดที่มีอยู่ หรือความหวังที่มีอยู่ ปรากฏขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นเงินงบประมาณในเบื้องต้นที่เราคำนวณไว้ ถ้าคำนวณเบื้องต้นจาก 25,000 บาทต่อพันลูกบาศก์เมตร เราก็ต้องการประมาณ 25,000 ล้านบาทเพื่อที่จะจัดการกระจายงบประมาณให้เกิดขึ้นทั่วประเทศให้ได้สัก 1 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างน้อยที่จะจัดเก็บไว้ 

ด้าน ทรงพล พูลสวัสดิ์ กล่าวว่า งบประมาณที่พูด ส่วนมากจะทำนอกเขตชลประทาน ในภาคกลางเขตชลประทานจะไม่ได้งบตรงนี้ นี่คือปัญหาที่ภาคเกษตรต้องเจอ ถ้าเรามีบ่อเล็ก ๆ น้อย ๆเยอะ นี่คือธนาคารน้ำใต้ดินธรรมชาติ เพราะว่าน้ำจะเก็บได้ไม่กี่เดือนก็จะแห้ง หรือโคกหนองนาลองมาดู ถ้าเกิดภัยแล้งก็จะไม่มีน้ำ แต่ถ้าทำเยอะ ๆ ทั่วประเทศ หน้าฝนเก็บไว้ให้ซึมใต้ดิน หลังจากนั้นต้องใช้เวลาหลายปีน้ำถึงจะซึมบนดินขึ้นมา นี่คือระบบธนาคารน้ำใต้ดินที่จะซึมขึ้นมาอยู่บนดิน ถ้าเรายังคิดที่จะปล่อยลงทะเล ก็จะไม่มีน้ำพอใช้ 

ส่วนเรื่องการเพาะปลูกเกษตรกรปลูก 20-40 ล้านไร่ แต่ผลผลิตไม่รู้หรอกว่าได้หรือไม่ได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเกษตรกรปลูกข้าวเยอะมาก แต่ข้าวราคาแพง เพราะผลผลิตเกษตรกรไม่ได้เท่าที่ควร บางทีเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล ปลูกเพื่อให้ได้ต้น แต่ก็ต้องรอรัฐบาลผลผลิตอาจจะไม่ได้เก็บเกี่ยว นี่คือสิ่งที่เกษตรกรภาคกลางเผชิญอยู่ ทุกอย่างมีเหตุผลว่าทำไมต้องมีน้ำ ทำให้ขึ้นต้นก่อนและต้องลงทะเบียนเพื่อรอรับอะไรอย่างอื่น และยังเก็บเกี่ยวไม่ได้ ซึ่งเกษตรกรก็ชี้แจงทางกรมชลประทานว่า เกษตรกรเพาะปลูกไปตั้ง 40 ล้านไร่ แต่ผลผลิตไม่มี และอย่างที่บอกว่าน้ำให้มาเท่านี้ ต้นคลองได้ ปลายคลองไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้พืชผลตายหมด นี่คือปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ 

อย่างของอ่างทองที่ประสบความสำเร็จ คลองเรา 20 กิโลเมตร เราเชิญชลประทาน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอมาทำประชาคม เมื่อน้ำมา 3 วันให้ถึงท้ายคลอง จากนั้นค่อยมาต้นคลองแล้วก็วิด ทำแบบนี้ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ถ้าเราทำแบบนี้ทั่วประเทศก็สามารถช่วยกันได้ ถ้าน้ามีน้อยก็ให้มีน้ำแต่ห้ามข้างบนทำนา เรามีน้ำช่วยกัน อันนี้ต้องคุยกันเป็นระดับพื้นที่ไป แต่ถ้าเป็นระดับประเทศ หรือระดับจังหวัด ก็ต้องคุยกันระดับใหญ่ ระดับกระทรวงต้องลงมาช่วย จะบอกว่าน้ำผ่านหน้าบ้านไปห้ามเขาไม่ได้ อันนี้แปลว่าการบริหารจัดการน้ำไม่ดี ทำได้เพียงแต่ขอร้อง ขอความร่วมมือ อันนี้เป็นปัญหาที่เราต้องมาช่วยกัน  เรื่องคลองต่าง ๆ สามารถขุดในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลึกขึ้นได้ไหม ให้มันลึกสัก 2-3 กิโลเมตร แล้วก็เว้นสัก 1 กิโลเมตร ให้เหมือนฝายน้ำธรรมชาติ เพราะว่าปัจจุบันน้ำเจ้าพระยามันตื้น ถ้าขุดให้ลึกบริเวณหน้าวัด เพื่อให้มีแหล่งปลาตามหน้าวัด มันจะเป็นประโยชน์ที่จะกักเก็บน้ำและเอาไว้ใต้ดินได้ เพราะว่าถ้าเราจะไปขอที่มาทำแก้มลิงเยอะ ๆ มันหายาก ตอนนี้ต้องเอาที่สาธารณะมาช่วย 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เสริมต่อว่า โจทย์ที่ว่าขุดลึกเหมือนกับขนมครก ไม่ใช่แค่เฉพาะในแม่น้ำ แต่ในอ่างเก็บน้ำก็สามารถทำได้ เวลาที่น้ำลดแทนที่จะลดแล้วเหลือไปอยู่ตรงก้นบ่อ ก็ให้เหลืออยู่ในจุดต่าง ๆ ที่กระจายอยู่รอบ ๆ อ่าง ก็สามารถที่จะนำขึ้นมาใช้ได้ เพราะเวลาที่น้ำไปอยู่ก้นอ่างบางทีก็ไม่สามารถเอามาใช้ได้ อันนี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่ผมคิดเอง แต่ว่าไปเจอที่จังหวัดชัยนาทที่คนในพื้นที่เขาช่วยกันคิดขึ้นมา

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์  อธิบายว่า จากเหตุการณ์ในปัจจุบัน เอลนีโญก็จะมา งบประมาณก็อย่างที่เห็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า งบประมาณลงอาจจะไม่ทัน เมื่อสักครู่เห็นพี่ ๆ มี 3 คำ ที่เสนอกันมา ผมนั่งคิดเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ผมคิดมา 3 คำเหมือนกัน รู้ ร่วม รอด 

รู้ คือ ต้องรู้เหตุการณ์ รู้สถานการณ์ว่าเอนิโญมาแล้ว น้ำไม่มีแน่นอนน้ำ ในอ่างมีเท่านี้ งบประมาณอาจจะยังไม่ได้รับ อาจจะต้องมาขุดบ่อเสริม ซึ่งเป็นวิธีการที่ดี ที่จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน แต่ว่างบประมาณมาไม่ทัน อันนี้ก็ต้องคิดต่อว่าจะทำยังไง 

คำว่า ร่วม ในระยะสั้น การกักเก็บน้ำปลายฤดูฝนในพื้นที่เอง กลุ่มเกษตรกรเอง หรือว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้ ฤดูฝนในพื้นที่ต้องกักเก็บน้ำให้มากที่สุด อย่างที่บอกว่าขุดบ่อ ขุดสระ อาจจะไม่ทันแล้ว แต่ต้องเก็บเท่าที่มีอยู่ให้ได้ก่อน ร่วมอะไรอีก ร่วมบริหารจัดการ กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่มีในระดับพื้นที่อยู่ติดกับเกษตรกร มีปัญหาอะไรก็ต้องเข้าไปร่วม แต่บางสิ่งบางอย่างพื้นที่เองสะท้อนมาไม่ถึงหน่วยงานในระดับคิดแผน เพราะฉะนั้นทำยังไงที่จะร่วมกับกรมชลประทานในระดับจังหวัด สะท้อนขึ้นมาให้เราช่วยกันคิด ช่วยกันทำ 

มาถึงคำว่า รอด หมายถึง ถ้าน้ำเรามีร้อยมันถึงจะพอดี แต่ปีหน้าถ้าเรามี 40 จากร้อยจะทำอย่างไรเราต้องมาคิดว่าถ้าจะให้รอด เราจะร่วมกันอย่างไร อย่างที่บอกว่าการบริหารจัดการน้ำอุปโภค บริโภคต้องไม่ขาดแคลน ทุกคนต้องมีน้ำดื่ม น้ำใช้ ระบบนิเวศน้ำเค็มจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการประปา การเกษตร ซึ่งเกษตรกรก็อาจจะต้องมีการปรับการเพาะปลูก รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องใช้น้ำสำรองน้ำต้นฤดูฝนในปีหน้า ซึ่งอาจจะเกิดเอลนีโญ เราต้องช่วยกันคิดอีกว่าเราจะรอดอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องรู้เหตุการณ์ร่วมกันดำเนินการ

กรมชลประทานมีหน่วยงานเดียว ไม่สามารถคาดการณ์ทั้งหมดได้ ต้องพึ่งหน่วยงานหรือนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง กรมชลประทานวางแผนได้ วางแผนส่งน้ำอย่างที่พี่ทรงพลว่า วางแผนได้ ทำได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือ แล้วจะเป็นคำสุดท้ายก็คือ รอดทั้งต้น ปลาย กลาง นี่คือสิ่งที่อยากจะสะท้อนให้ทุกคนทราบ 

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์  มองว่า เรื่องของเกษตรพฤติกรรมการทำนาของเกษตรกรภาคกลางเป็นนาเช่าตรงนี้สำคัญมาก ถ้า สทนช. มีเงินให้ขุดบ่อ ก็ไม่สามารถขุดได้ เพราะไม่ใช่ที่ดินเขา อันนี้ต้องคุยกันทั้งระบบไม่ใช่เรื่องง่าย 

งบประมาณกับแผนการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรท่ามกลางวิกฤต 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด  กล่าวว่า เรื่องของงบประมาณไม่ใช่ว่าเราไม่มีเงิน เราแค่กลัวว่าเราจะของบประมาณไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงเราทำได้ งบประมาณที่เราต้องเตรียมอย่างน้อยที่สุดคือ 4 ส่วนส่วนแรกคือเรื่องขุดบ่อให้ได้ 1 ล้านบ่อ ใช้เงินประมาณ 25,000 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 คือถ้าเกษตรกรต้องมีการเปลี่ยนการปลูกในฤดูแล้ง คำถามก็คือเราควรบอกเขาเมื่อไหร่ ควรจะบอกเขาตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หรือว่าบอกเขาเดือนมกราคม เรื่องการตลาดไม่ใช่การที่ปลูกไปก่อนแล้วค่อยไปหา แต่จะต้องวางแผนล่วงหน้า ถ้าเรามีกรอบ 2,000 บาทต่อไร่ ให้งบประมาณไปเลยตำบลนี้จะไปจัดการยังไง 2,000 บาทต่อไร่ ที่จะไปเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชอื่น ทำให้ได้ 2-4 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 2,000 – 8,000 ล้านบาท ถ้าเทียบการเงินไม่ได้ทำให้การคลังเป็นหนี้ ในทางตรงกันข้ามจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรไม่เป็นหนี้ 

อีกเรื่องคือ ปีนี้ข้าวจะราคาแพง เพราะว่าเอลนีโญกระทบทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ผลคือการเป็นแรงจูงใจให้พี่น้องเกษตรกรอยากปลูก ถ้าเราส่งสัญญาณว่าไม่ต้องปลูกหรอก แต่ได้เงินพอสมควร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ 

Image Name

วงเงินงบประมาณอีกส่วนคือเรื่องการประกาศสินเชื่อ ที่ผ่านมาก็คือกู้เสร็จแล้ว พอแล้งหรือท่วม มีปัญหาเรื่องการชำระ คือไม่สามารถชำระคืนได้ ทางออกที่ผ่านมาก็คือ พักชำระหนี้ การพักชำระหนี้ในที่นี่คือพักต้น แต่ดอกไม่ได้พัก ดอกยังคงคิดต่อ หนี้เลยท่วม สิ่งที่เราเสนอก็คือ ประกันสินเชื่อไปเลย ถ้าเกิดปัญหาเกิดขึ้น รัฐบาลจะจ่ายผ่านเบี้ยประกัน แล้วให้บริษัทประกันมาจ่าย พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องไปรับภาระสินเชื่อของปีนั้นที่เกิดจากภัยพิบัติ

ส่วนสุดท้ายก็คือเรายังมีพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค และนครหลวง ส่วนภูมิภาคมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเจอปัญหาน้ำดิบไม่พออีกประมาณ 500 สาขาทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ด้วย อันนี้เป็นงบประมาณที่เราไม่ควรรอ ประเด็นเรื่องการเมืองว่าไป แต่ถ้าเราพยายามผลักดันเรื่องนี้กลับไปที่รัฐสภา ขอวันเดียวในระหว่างที่เขาประชุมกันในหลายเรื่อง มาคุยกันเรื่องนี้แล้วถ้ามีมติ ผมคิดว่า กกต. ฟังแล้วก็อนุมัติเงินส่วนนี้มาใช้ได้ รวมกันประมาณแค่ 30,000 กว่าล้านบาทที่จะมารับมือกับสิ่งเหล่านี้ 

เรื่องนี้ต้องมีคนเสนอเข้าไป แล้วคุยกัน อาจจะเป็นเรื่องที่มีฉันทมติร่วมกัน ถ้าเราเอาหน้างานเป็นตัวตั้ง เอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง เอาท้องถิ่นเป็นตัวตั้งเ ราสู้กับเรื่องนี้ได้ รอดอย่างที่กรมชลประทานบอก ยืนยันว่าไม่อยากให้รู้สึกยอมกับเรื่องงบประมาณ อยากให้มองเป็นเรื่องแรกที่เราต้องแก้ ถ้าเราแก้เรื่องนี้ได้หลาย ๆ เรื่อง เราจะแก้ได้ง่ายขึ้น 

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ตั้งคำถามต่อเรื่องงบประมาณว่า งบประมาณเป็นสิ่งที่เรารอไม่ได้ แต่ที่ผมพยายามสื่อ กว่าจะได้งบประมาณ ถึงแม้ว่าวันนี้จะผลักดันเข้าไปก่อน แต่ปัญหาที่ผมเคยเห็นในอดีตก็คือจะแก้ปัญหาฤดูฝน แต่เงินมาปลายฤดูฝน เราจะแก้ปัญหายังไง 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตอบประเด็นนี้ว่า นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้ประเทศไม่เหมือนเดิม ถ้าประเทศเหมือนเดิม ปัญหาก็จะเหมือนเดิม ความทุกข์ก็จะเหมือนเดิม อันนี้เราต้องช่วยกัน ถ้าเรามองกลับกันอันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เรากำลังจะบอกกับทุกคนว่า มันมีเรื่องเร่งด่วนที่เราทำงานกันแบบเดิมไม่ได้

ปรับและเปลี่ยน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในระยะยาว

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์  กล่าวว่า พื้นที่การเกษตรในประเทศไทยมีประมาณ 150 ล้านไร่ รวมเกษตรทุกอย่าง ปัจจุบันตัวเลขกลม ๆ เขตชลประทานมีทั้งหมด 30 ล้านไร่ มีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้เพียง 60 ล้านไร่ นี่คือโจทย์สำคัญ กรมชลประทานตั้งมา 121 ปี พื้นที่ชลประทานตอนนี้เรามีประมาณ 30 ล้านไร่ เท่ากับว่า 1 ปี เราพัฒนาได้ไม่ถึงล้านไร่ 

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เสริมต่อคุณธเนศรว่า ตัวเลข 60 ล้านไร่ จาก 150 ล้านไร่ แปลว่า 90 ล้านไร่ รอกรมชลประทานไม่ได้แล้ว อันนี้ไม่ได้ว่า 90 ล้านไร่จำเป็นต้องมีทางออกอื่น ๆ ต้องมีการขุดสระขุดบ่อ หรือว่าทำแผน อย่างที่อาจารย์เสรีบอกว่าต้องมีทางอื่น อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ แล้วก็วางแผนล่วงหน้า เอลนีโญรอบนี้ถ้าผ่านไป มันก็ยังคงกลับมาอีก ดังนั้น 90 ล้านไร่ เป็นจุดที่น่าเป็นห่วงที่สุด

ทรงเกียรติ ขำทอง อธิบายถึงแผนของ สทนช. ว่า ในระยะยาว สทนช. ได้ทำแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปีไว้ ปัจจุบันเรามีการปรับปรุง โดยการคำนึงถึงด้านต่าง ๆ ทั้ง climate change โควิด 19 แล้วก็การย้ายถิ่นของคนที่มาทำงานในภูมิลำเนา เรื่องของการแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติ ระบบนิเวศต่าง ๆ เราจัดทำเป็นแผนแม่บท ซึ่งเป็นร่างอยู่ รอเสนอเข้า ครม. โดยตอนนี้ผ่านสภาพัฒน์เรียบร้อยแล้ว 

ตัวแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปี มี 5 ด้าน ด้านการจัดการน้ำผู้บริโภค การสร้างความมั่นคงน้ำด้านการผลิต คือการสร้างอ่าง หรือพื้นที่ชลประทานต่าง ๆ เรื่องของบรรเทาอุทกภัย การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ และการบริหารจัดการ อันนี้มีการปรับปรุงแล้วก็กำหนดไว้ในแผนแม่บท ซึ่งเรื่องของพื้นที่ศักยภาพเราก็มีการกำหนดว่าจะเพิ่มศักยภาพในพื้นที่เกษตรน้ำฝนให้มากขึ้น และในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำชุมชน โดยท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้มามีส่วนวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตัวเอง แล้วก็ขอสนับสนุนงบประมาณ โดยที่งบประมาณภาครัฐจะเป็นคนสนับสนุน อันนี้เรามีการเพิ่มเข้าไปให้แผนแม่บทให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จะมีการรองรับถึงปี 2580 

สำหรับโครงสร้างของ สทนช. ตามโครงสร้างเรามี 3 ระดับ คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ หรือเรียกว่าเป็นฝ่ายเลขาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ระดับที่ 2 ตามกฎหมายทรัพยากรน้ำ เราเรียกว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำปี 2561 มีระดับล่างก็คือ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งตาม พรบ. กำหนดไว้ให้เราบริหารจัดการน้ำ เป็นระบบลุ่มน้ำ โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำก็จะมีหน่วยงานในพื้นที่และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม ระดับล่างเองจะมีองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติผู้ใช้น้ำ ซึ่งก็จะมีกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานไปเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำด้วย อันนี้มีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่จะต้องส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง แล้วตัวองค์กรผู้ใช้น้ำที่อยู่ระดับพื้นที่ สามารถที่จะสมัครคัดเลือกเข้าไปเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ หรือว่าออกความเห็นให้ความเห็นต่าง ๆ พิจารณาแผนแม่บท แผนโครงการ อันนี้เป็นกลไกที่เรามี 3 ระดับ เพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

ทิ้งท้ายด้วย ทรงพล พูลสวัสดิ์ กล่าวถึงแผนการปรับตัวและความคาดหวังของภาคเกษตร ในการเดินหน้าฝ่าวิกฤตครั้งนี้ว่า เกษตรกร 60-70% เช่านาตัวเอง คือทำไปแล้วนายทุนยึด ก็ต้องไปเช่านาตัวเองมาทำ ถ้ายังเป็นแบบนี้รัฐบาลยังคิดแบบเดิม ทุกอย่างก็จะเป็นแบบเดิม เราต้องเปลี่ยนใหม่ ทำใหม่ให้ไวขึ้น อย่างโครงการของ สทนช. อย่างการทำบ่อ ถ้าทำบ่อสูงน้ำจะเข้าได้อย่างไร ทำบ่อในที่ต้องโอนหรือไม่ บางครั้งการจะเอาอะไรไปลงที่ต้องโอนให้เป็นที่สาธารณะแล้วใครจะโอนสุดท้ายก็จะไม่ได้งบประมาณ หลายเรื่องต้องปลดล็อคที่เกี่ยวกับเกษตรกร 

อยากให้รู้ว่าบางทีไม่ใช่ของเกษตรกรเป็นที่เช่า เราต้องฟังเสียงเกษตรกรแต่ละจังหวัดว่าเขาคิดยังไง อยากให้ทำประชาคม  ให้เขาคิดเอง ทำเอง การบริหารจัดการน้ำเขาคิดได้ ถ้าเราลงไปคิด ไปคลุกคลีกับเขา สิ่งนั้นจะเกิดผล แล้วจะรู้เลยว่าบริบทเขาเป็นอย่างไร ถ้าเอาแต่คิดจากข้างบนลงไปข้างล่างก็จะเป็นแบบนี้ 

และส่วนคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ผมเข้าไปไม่ได้ เพราะว่ามันติดนู่น ติดนี่ ทุกอย่างยังไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ส่วนล่างเข้าเป็นคณะกรรมการ ระบบเหมือนกันหมดทั้งประเทศไทย คนที่อยากเข้าไปไม่ได้เข้า อยากให้ปรับเปลี่ยนอยากให้มีการโปร่งใสชัดเจน เอาคนที่สนใจเข้าไป ทุกคนจะได้เท่าเทียมกัน ฟังเกษตรกรแต่ละจังหวัดเป็นหลัก 

000

ข้อเสนอการจัดการน้ำ ช่วยเหลือเกษตรกรไทย  –  

ประเชิญ คนเทศ คณะทำงานหลักสูตรชลกรการจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ฝนตก 100 หยดประเทศไทยเราเก็บได้ 5.5 หยด อันนี้กรมชลประทานรู้ดี จากมิลลิเมตรที่ตกมาทั้งหมด อีก 90 กว่าหยดไปไหน แนวทางแก้ไขแบบเก่าก็คือ หน้าแล้งค่อยทำฝนเทียม แต่ตอนนี้ผมอยากจะชวนว่า 1. ถ้าเรารู้ว่าหน้าฝน ฝนมันไม่พอ ทำฝนเทียมหน้าฝน เอาฝนแท้กับฝนเทียมเติมลงในเขื่อน เอาความชื้นที่ยังพอมีในเดือนสิงหาคม-กันยายน ทำฝนเทียม เพื่อให้ฝนตก ไม่ต้องมาทำตอนหน้าแล้ง เพราะถ้าทำตอนนั้นจะเอาความชื้นที่ไหนมาทำ ตอนนี้ความชื้นยังพอมี เพราะเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เอาไปทำตรงเหนือเขื่อน ช่วงนี้เป็นนาทีทอง เดือนสิงหาคมฝนตกภาคเหนือ กันยายนฝนตกตอนกลาง ตุลาคมลงนครปฐม ท่าจีนเจ้าพระยา จะคุยอะไรกันก็คุยไป แต่ระยะสั้นทำฝนเทียมหน้าฝน

2. เราไม่มีที่ข้างบนเก็บน้ำเลย เรามีที่ใต้ดินเก็บ ผมศึกษาจากหนังสือ ธ ประสงค์ บอกว่าน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำบาดาลพรีเมี่ยมของประเทศไทย คือ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ในหนังสือเล่มนั้นระบุชัดว่าถ้าหากน้ำใต้ดินบาดาลข้างบนไม่พอมีผลกระทบต่อเจ้าพระยาทั้งหมด ในเมื่อเราเก็บไม่ได้บนดินทำไมเราถึงไม่เก็บใต้ดินไว้บ้าง เพราะฉะนั้นธนาคารน้ำใต้ดินเมื่อวานคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ไปมอบให้ธนาคารน้ำใต้ดินที่นครสวรรค์ น้ำชุ่มฉ่ำ ขุดน้ำยังทะลักขึ้นมา 

นอกจากนี้เราได้รับความรู้จากคุณธเนศที่ช่วย 13 หมูป่า เพราะเขาคือผู้เชี่ยววชาญน้ำระดับโลก เขาบอกว่าการแก้ปัญหานั้นเค็มเราไม่ต้องเอาน้ำไปไล่ เราเอาพื้นที่ทั้งหมดหาจุดว่าตรงไหนควรจะทำธนาคารน้ำใต้ดินบ่อละล้านกว่า ไม่ต้องใช้เงินเยอะที่ผ่านมาเราละลายเงินไปกับบอลลูน เมื่อเอาเงินลงไปก็หาที่ขุดไม่ได้ เงินละลายไป แต่ถ้าเรารู้ว่าอ่างนี้เป็นพรีเมี่ยมและถ้าหากเราสามารถเติมได้ในระยะยาว กรุงเทพฯ แผ่นดินจะไม่ทรุด น้ำจากข้างบนจะไหลลงมาข้างล่าง และน้ำทะเลหนุนมา น้ำใต้ดินจะบาลานซ์ เราไม่ต้องเสียน้ำข้างบนลงไป ดังนั้นหลักสูตรชลกรจึงกำหนดว่าทุกคนชุมชนต้องมีองค์ความรู้ยุทธศาสตร์ก็คือสร้างองค์ความรู้ก่อน นัดจัดการความรู้โดยชุมชนตอนนี้จบไปหนึ่งรุ่นแล้วเอาพวกเขาลงไปทำ 

ธนาคารน้ำใต้ดิน เราคุยกันล่วงหน้าก่อนที่เราจะคุยกันว่าปีหน้าเอลนีโญแล้ว เราประกาศิตคำนี้เลยว่า ใครเก่งเรื่องการจัดการน้ำธนาคารน้ำใต้ดินจะได้เป็น Talk Of The Town ของปี 2567-2568 งั้นกลยุทธ์ก็คือ ตอนนี้อีสานมีธนาคารน้ำใต้ดินเยอะ บ้านผึ้ง ที่อุบลราชธานีที่เคยเสีย 2 ล้านบาทตอนน้ำแล้ง และก็ตอนน้ำท่วม 2 ฃล้านบาท ตอนนี้บ้านผึ้งมีน้ำชุ่มฉ่ำ เพราะจริง ๆ องค์ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดินมันสามารถเชื่อมโยงไปกับใต้ดิน

ดังนั้นการแก้ปัญหานาทีทองก่อนที่จะเปลี่ยนผ่าน ลองดูพื้นที่ที่ผมว่าธนาคารน้ำใต้ดินอยู่ตรงไหนตอนนี้ รัฐไม่มีตังค์ แต่เอกชนมีตังค์ มีเครื่องมือ ไปชวนมาทำ ส่วนในระยะยาวการสร้างองค์ความรู้ต้องส่งผ่านให้ชุมชนบริหารจัดการได้เอง เพราะทุกวันนี้น้ำถูกจัดการโดยกรมชลประทานกับธนาคาร ทำแล้วก็ทำได้แค่อย่างต่ำ 30 ล้านไร่ ที่เหลือใครดูแล ธนาคารน้ำใต้ดินเป็นองค์ความรู้ ถ้าทำถูกที่ ถูกจุด ถูกเวลามันสามารถทำได้ เราไม่เคยขาดความรู้ แต่เราขาดใจ เราจนใจ งบประมาณถ้าวางแผนดีเงินกระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน แต่เราไปปักหมุดรอตังค์ของรัฐ ถ้าเราเปิดให้เอกชนทำ CSR เข้ามาทำอย่างเป็นระบบ ไม่มีใครรู้ปัญหาเท่ากับเขา  เราฝากพึ่งรัฐ รอการเยียวยาจึงเจอปัญหาซ้ำซาก เราคิดแต่ในกรอบ ไม่เคยคิดนอกกรอบ ดังนั้นการคิดนอกกรอบก็คือต้องทำฝนเทียมหน้าฝนและ 2 รีบเก็บน้ำลงดิน คุณหญิงกัลยาบอกชัดเจนว่า หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไหล เก็บน้ำไว้ใต้ดิน น้ำคือชีวิต น้ำเพื่อชีวิต และน้ำแก้จน ครบทุกฉากทัศน์

ปริเวท วรรณโกวิท ผู้บริหารโครงการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า  คุณหญิงกัลยาดู 47 วิทยาลัยเกษตรแผนของโครงการ ซึ่งสามารถทำในระดับประเทศได้ เราเคยพูดในเวที สทนช. ก็คือ Hardware, Software และ Peopleware 

Hardware ที่โครงการทำเองเลย เนื่องจากท่านดูแล 47 วิทยาลัยเกษตร สปอนเซอร์ 4 ปี 100 ล้าน ในการไปขุดให้มีธนาคารน้ำใต้ดิน จุดวิทยาลัยเกษตรจึงเป็นจุดเรียนรู้และตัวอย่าง อย่างเกษตรกรที่บอกว่าองค์ความรู้คือสิ่งที่ขาด อันนี้ผมเห็นด้วย เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เรื่องธนาคารน้ำ คุณหญิงกัลยาเจอผมก็เลยชวนเข้ามาทำ เป็นหลักสูตรชลกร เราเน้นว่าต้องประหยัด ตามแนวในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ชุมชนมีส่วนร่วม ชื่อโครงการก็บอกเลยว่าโครงการบริหารจัดการโดยชุมชน 80% เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน เราทำ MOU กับ สทนช. แล้วด้วย เป็นโครงการเล็ก ๆ ที่เราจะทำการอบรมร่วมกัน ใช้วิทยาลัยเกษตรเป็นส่วนกลาง แล้ว สทนช. ก็จะส่งบุคลากรเข้ามา  มีซอฟต์แวร์เป็น 6 วิชาใหม่ ก็คือ อุตุ อุทก การจัดการดินและน้ำ การจัดการน้ำเสียชุมชน และศาสตร์พระราชา รวมทั้งธนาคารน้ำใต้ดิน สิ่งนี้มีแล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะเอาไปใช้ยังไง 

สุดท้ายอยู่ที่ Peopleware ที่เราต้องเดิน จะร่วมกับรัฐ หรือกับใครก็ตาม เข้ามาหาเราหมดที่จะตั้งรัฐบาล เพราะเราเป็นเจ้าเดียวที่เดินอย่างนี้ เราไม่ได้เงินเดือน เราเป็นจิตอาสา แล้วเราทำของเรา อันนี้สิ่งที่เราเดินคือ Peopleware แต่ละ อบต. ที่เรามี Network 7,000 กว่าแห่ง ผมออกไปอบรมเรื่องธนาคารน้ำตอนนั้นไม่มียางรถยนต์ ไม่มีขวดพลาสติก  สิ่งที่ต้องมีคือ ต้องขุดชั้นหิน ชั้นใต้ดินอย่างน้อย 15 เมตร แล้วดูว่ามีชั้นหินอุ้มน้ำหรือเปล่า อบต. ต่าง ๆ รู้แล้วท่านร่วมกับ สนทช. เพื่อเขียนของบไปได้ แต่จะทำอย่างไรในระยะที่ intermedia ตอนนี้ทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน ระยะกลางเราสามารถคุยได้ ยอมรับว่าหลาย ๆ พรรคมีการมาคุยแล้ว ส่วนสุดท้ายคือ ระยะยาว อยู่ที่เราที่ต้องเอาไปทำ ต้องคุยแล้วว่าจะเอาไปทำต่ออย่างไร

ณรงค์ บัวขจร จากพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนเป็นคนสองลุ่มน้ำ คือ น้ำหลาก และน้ำแล้ง ที่ท่านพูดกันว่าเอลนีโญ ตำบลบ้านกุ่ม ผ่านมาทุกปี น้ำแล้ง ทั้งที่อยู่ในเขตชลประทาน และติดแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เกษตรห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ 300 เมตร แต่น้ำแล้ง และอยู่ในเขตชลประทานแต่ไม่มีน้ำทำนาทุกปี แล้วก็เจอน้ำหลากทุกปี น้ำจะไหลมาจากไหนก็ไม่รู้จำไม่ได้แต่ก็จะมาพักอยู่ตรงเรา 

พูดถึงน้ำแล้งหรือเอลนีโญ ผมอาจจะไม่รู้จัก แต่ผมรู้ว่าแล้งเป็นอย่างไร พื้นที่เราทำนาอยู่ 4,000 ไร่ ใช้น้ำจากโครงการมหาราช เราอยู่ปลายน้ำ ซึ่งติดอยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำปล่อยมาพอถึงผม เขาบอกเป็นคลองทิ้งน้ำ ไม่มีน้ำในการทำนาก็แล้ง พอถึงฤดูน้ำหลากบ้านผมก็เป็นที่พักน้ำเมื่อก่อนน้ำท่วม 2-3 เมตร นาน 2-3 เดือน เรารับได้ แต่ ณ ปัจจุบัน เรารับไม่ได้ เพราะว่ามันท่วมนานเกินไป และท่วมถึง 3 เมตร นานถึง 4 เดือน เรารับไม่ได้ แต่ถ้าท่วม 2 เมตรรับได้ เพราะเราชินกับมัน บ้านเราอยู่ริมน้ำ เรายอมรับได้ นาน 2 เดือนเราขาดการประกอบอาชีพ เราก็รับได้ ที่ผ่านมาเราทำนา 2 ครั้งได้ และทางภาครัฐขอให้เราปล่อยพื้นที่น้ำเข้านาเราก็รับได้ แต่บางปีที่น้ำแล้ง เราไม่มีน้ำทำนา เพราะว่าต้นน้ำปล่อยน้ำมา ต้นน้ำก็เอาไปทำหมด พอถึงฤดูทำนาทำหมดเราก็ไม่ได้ทำ 

ชลประทานตั้งมา 100 กว่าปี งบประมาณรับจากกระทรวงเกษตร ผมว่ามาก แต่ท่านยอมรับว่าทำได้ 30% คือท่านยอมรับความจริง แต่ต่อไปต้องดีกว่านี้ ส่วน สทนช. ผมก็คิดอยู่ว่าเขาตั้งมาเพื่ออะไร ตั้งไม่ให้น้ำมาหาเราใช่หรือไม่ มันไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แล้วก็มีคณะกรรมการลุ่มน้ำอีก เหมือนกับโดนบล็อกไปแล้ว แต่พอเล่าให้ฟังก็พอยอมรับได้นิด ๆ 

ผมคิดว่า การบริหารจัดการน้ำชุมชนต้องช่วยกันบริหารจัดการ อบต. เทศบาล ต้องช่วยกัน การบริหารขุดดิน ขุดสระ อย่างที่วิทยากรพูด ดินที่ขุดจากสระจะไปไหน ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพราะบางที่ ขุดบ่อ ขุดสระ กักเก็บน้ำ แล้วเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะการบริหารควบคุมดูแลทำให้เราเอาไปใช้ไม่ได้ ที่ตำบลบ้านกุ่มมี 1 บ่อ ใช้ได้ประมาณ 500 ไร่ แต่เขาจะพัฒนาเป็นโคกหนองนาเพื่อถ่ายรูป ผมคนนึงที่ยืนยันว่า ไม่ให้ทำ ก็มีคนในหมู่บ้านบอกว่า เอาชีวิตไว้นอนกับลูกกับเมียเถอะ ณ ปัจจุบันมีประชาคมผ่านไปแล้ว ผมเป็นคนนึงที่อยู่ในตำบลนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย 

แล้วเรื่องของการใช้กฎหมายทั้งเรื่องน้ำ และขอบเขตการทำนา ชาวนาต้องรู้ว่าจะทำนากี่ไร่ ต้องประกาศบอกไปเลยว่าปีนี้ฉันจะทำนา 50 ไร่ หรือ 100 ไร่ ภาคเกษตรจะได้รู้ว่า ควรทำแค่ไหน แล้วกฎหมายต้องบังคับให้ชัดเจน ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ถ้าภาครัฐบริหารผิดพลาดมารับผิดชอบกับเราไหม เอากฎหมายมาใช้ให้ชัดเจน แล้วก็ระบบชลประทานที่บอกไปตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าการดูแลน้ำในสระที่ขุด ทำอย่างไรให้ประชาชนมีใช้ได้ อย่างของผมที่เห็นมีอยู่ 2 ที่ในพระนครศรีอยุธยา อาจจะเป็นโครงการพระราชดำริ แต่ผมไม่เห็นคนเอามาใช้อาจจะไม่มีการร้องขอก็ได้


อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม ฟังเสียงประเทศไทย : เอลนีโญ เกษตรกลางวิกฤต

ติดตามฟังรายการฟังเสียงประเทศไทต ตอน เอลนีโญ เกษตรกลางวิกฤตแบบเต็ม ๆ ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ