ฟังเสียงประเทศไทย : เอลนีโญ เกษตรกลางวิกฤต

ฟังเสียงประเทศไทย : เอลนีโญ เกษตรกลางวิกฤต

อากาศร้อนในวันนี้ ไม่ใช่แค่อุณภูมิที่สูงขึ้น แต่นี่คือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเริ่มแสดงพลังให้เห็นแล้วในหลายพื้นที่ และคาดการณ์ว่าภาวะเอลนีโญในปีนี้จะหนักขึ้นอีกในปี 2567 โดยอาจรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี และสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรถึง 25.6 ล้านตัน อีกทั้งอาจทำให้รายได้ต่อหัวของคนไทยลดลง 5-7.5 %

คลื่นความร้อนเข้าโจมตี ภาวะฝนทิ้งช่วง น้ำน้อย แล้งนาน คือสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญ และคนในภาคการเกษตรที่ต้องใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกต้องเตรียมรับมือ เพราะขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  โดยเฉพาะภาคกลาง ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำไม่ถึงร้อยละ 30 และบางแห่งไม่ถึงร้อยละ 20 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต

ฟังเสียงประเทศไทย ชวนคุณผู้ชมมาร่วมรับฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนหน่วยงานราชการ นักวิชาการ เกษตรกร และประชาชนผู้ใช้น้ำ เพื่อหาแนวทางตอบโจทย์การรับมือผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น

มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและโจทย์สำคัญสำหรับอนาคต กับ “ฟังเสียงประเทศไทย : ‘เอลนีโญ’ เกษตรกลางวิกฤต”


3 คำ ปัญหา ‘เอลนีโญ

เริ่มต้นด้วยการ มองไปข้างหน้ากับ “ 3 คำ ปัญหา ‘เอลนีโญ’ ที่ต้องเตรียมรับมือ” จาก 30 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนทางออนไลน์ สถานการณ์ภัยแล้ง สภาพอากาศแปรปรวนที่หนีไม่พ้น และการปรับตัว เพื่อความอยู่รอด นี่คือ “คำเด่น ๆ” ที่ถูกให้ความสำคัญ

ชวนทุกคนร่วมระดม 3 คำ ไปด้วยกัน


ปรากฏการณ์เอลนีโญ สถานการณ์โลก ประสบการณ์ของไทย

เอลนีโญ หรือสภาพร้อนแล้ง คือ 1 ใน 3 รูปแบบของสภาพอากาศโลกที่วนเวียนเป็นวัฏจักร กับ นิวทรัล หรือสภาพเป็นกลาง และลานีญา หรือสภาพเย็นชื้น โดยมีจุดเปลี่ยนหลักที่อุณหภูมิผิวน้ำตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกตัวของอากาศไม่เท่ากันใน 2 ด้านของมหาสมุทร จนส่งผลต่อภูมิอากาศไปทั่วโลก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ออกประกาศเตือนถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อจำกัดผลกระทบของเอลนีโญต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนระบบนิเวศและเศรษฐกิจที่จะได้รับความเสียหายตามมา

ที่ผ่าน อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเคยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี  2559 จากแรงหนุนของปรากฏการณ์เอลนีโญกับพฤติกรรมของมนุษย์ในการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเกินความพอดี แต่การเกิดเอลนีโญรอบปี 2566 อาจทำสถิติแซงหน้ารอบที่เกิดเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

ปรากฎการณ์เอลนีโญจะเกิดเฉลี่ยทุก ๆ 2-7 ปี และมีระยะเวลายาวนานประมาณ 9-12 เดือน  และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุณหภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง

จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ซูเปอร์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้น เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ผ่านมา และล่าสุดที่กำลังจะเกิดคือปีนี้ และอาจจะลากยาวไปจนถึงปีหน้าด้วย

ปรากฏการณ์เอลนีโญ ในไทย

20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนรายปีของประเทศไทยมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง

  • ช่วงปี 2547-2548 มีปริมาณฝนตกน้อย จนเกิดภัยแล้งรุนแรงบริเวณภาคตะวันออก
  • ต่อมาในปี 2552-2553 เกิดฝนตกน้อยอีก ส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก่อนที่ปีถัดมา 2554 เราเจอกับปรากฎการณ์ลานีญา ฝนตกมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง
  • จากนั้นในปี 2557-2558 เราเจอกับปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรงมาก จนทำให้มีปริมาณฝนตกน้อย ส่งผลให้เกิดภัยแล้งทั่วประเทศ
  • หลังจากนั้นปีเดียว ปี 2560 ปริมาณฝนที่ตกลงมา มีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2554 ก่อนที่ปี 2561 ปริมาณฝนจะลดลงอย่างมาก และลดลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ซึ่งในปี 2562 เป็นปีที่มีฝนตกน้อยเป็นประวัติการณ์ และเป็นปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ทำให้ปีนั้นประเทศไทยเจอกับภัยแล้งทั่วประเทศ
  • เมื่อเข้าสู่ปี 2564 เริ่มมีฝนตก และตกหนักมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่เจอกับปรากฎการณ์ลานิญากำลังอ่อนถึงปานกลาง ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง

เห็นได้ชัดว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอความผิดปกติในเรื่องของปริมาณฝนที่ตกลงมา อีกทั้งยังเกิดสลับกันถี่มากขึ้นอีกด้วย 

การคาดการณ์หลัง 2566 สิ่งที่ประเทศไทยต้องระวัง

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (Met Office) รวบรวมสถิติจากอดีตพบว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มทำให้ประเทศไทยแล้งกว่าปกติช่วงเดือน มี.ค.-ก.ค. และร้อนกว่าปกติช่วงเดือน ต.ค.-มิ.ย.

สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง 5-7.5% และในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก จึงจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง โดยเฉพาะภาคเกษตร

ด้านสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1 พ.ย. 2566 มีปริมาณน้ำเก็บกัก 15,699 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ส่วนปริมาณน้ำใช้การ คาดว่าจะมี 9,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะน้อยกว่าปี 2565 ถึง 5,000 ล้าน ลบ.ม.

การรับมือของแต่ละภาคส่วน

สถานการณ์เอลนีโญ ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับภาครัฐที่ต้องเตรียมแผนรับมือ

  • กรมชลประทาน พิจารณาเรื่องการใช้น้ำฝนเป็นหลัก ควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน และร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดการใช้น้ำ
  • ขณะเดียวกันยังให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง และรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/2567
  • สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ได้หารือร่วมกับกรมชลประทานเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าสองปี ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำผ่านเครือข่ายผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำภาคการเกษตรอย่างประณีต
  • ส่วนสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาระบุว่าการจัดการน้ำภาคการเกษตร ต้องวางแผนพื้นที่เพาะปลูก / ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าว 2 ล้านไร่ ไม่ว่าจะยังไงก็ปลูกควบคู่กับการรณรงค์ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดการใช้น้ำ จนกระทั่งมาตรการพักนา ต้องนำมาปฏิบัติ 

โอกาสที่อาจสูญเสียไป

ภัยแล้งเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ยิ่งแล้งนานยิ่งกระทบยาว ภาพที่จะเกิดก็คือปริมาณผลผลิตอาหารจะลดลง ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น กระทบถึงค่าครองชีพของประชาชนทั้งประเทศ และในรอบนี้โอกาสจะเกิดเอลณีโญมีสูงเกิน 90% และลากยาวถึงเดือน มี.ค. 2567 สภาพอากาศมีแนวโน้มร้อนและแล้งกว่าปกติ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค

สัญญาณนี้จะเริ่มชัดเจนตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีนี้เป็นต้นไป ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกจะได้รับความเสียหายยาวถึงปี 2572 โดยเฉพาะภาวะขาดแคลนอาหาร หรือสินค้าราคาแพง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เอาไว้ว่า ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2566  โดยเฉพาะข้าวนาปี อาจลดลงอย่างน้อย 4.1% – 6% หรือประมาณ 25.1-25.6 ล้านตัน หากปรากฎการณ์นี้ไม่รุนแรงมากนัก

เมื่อช่วง พฤษภาคม 2566 หอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า สินค้าเกษตรกำลังมีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างเช่น ข้าวเปลือกเจ้า 9,800 บาทต่อตัน จากที่ก่อนหน้านี้ ราคาอยู่ที่ 8,000-9,000 บาทต่อตัน /มันสำปะหลัง 2.7-3.2 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนหน้านี้ 1.9 – 2.7 บาทต่อกิโลกรัม

แต่ที่น่าห่วงก็คือ ไทยกำลังเข้าสู่เอลนีโญ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตร และอาจสร้างความเสียหาย 10,000-30,000 ล้านบาท

ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยไว้ว่าอาจเสียหายถึง 36,000 ล้านบาท  เห็นได้จากช่วงปี 2563 ที่ GDP ของไทยเติบโตเพียง 1.5% – 2.5% จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 3.4%

ซึ่งภัยแล้งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ฉุดให้ GDP ของภาคอุตสาหกรรมติดลบสูงถึง 5.94% เช่นเดียวกับปี 2554 ภัยแล้งรุนแรงฉุด GDP ภาคอุตสาหกรรมติดลบถึง 4.12%


5 มุมมอง สถานการณ์ที่ไทยเตรียมรับมือ

ร่วมมองสถานการณ์ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อหาทางออกไป ร่วมกับแขกรับเชิญทั้ง 5 ท่าน

  • รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • คุณทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง
  • ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center
  • คุณทรงเกียรติ ขำทอง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 1 ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
  • ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน

“ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีฝนติดลบ เฉลี่ยภาคละ 25-30 เปอร์เซ็นต์ บางภาคถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นช่วงจากนี้ต่อไป ตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย. เท่านั้นที่เราจะได้ฝน เพราะฉะนั้นมันจะมาทดแทนที่เราติดลบได้หรือไม่…”

รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

การวางแผนบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งที่เราจะเริ่มในฤดูกาลหน้า 1 พ.ย.2566/67 ถึง เม.ย.นอกจากเราจะบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องน้ำแล้งอย่างเดียว เราต้องบริหารแบบ 6 เดือน ฤดูแล้ง บวก 3 เดือน ฤดูฝนด้วย เช่นเดียวกับปีนี้ที่ฝนน้อย จะเห็นว่าเริ่มทำสถิติฝนน้อยลงทั้งประเทศ -20 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าภาคกลาง -30-40 เปอร์เซ็นต์จากค่าเฉลี่ย เราต้องใช้น้ำจากฤดูฝนปีที่แล้วซึ่งเต็มอ่างมาเพื่อการบริหารจัดการน้ำแล้งในช่วงฤดูฝน เพราะฝนไม่มี

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์
ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน

“ถ้าเรามีบ่อเล็ก ๆ น้อย ๆ เยอะจะเป็นธนาคารน้ำใต้ดินโดยธรรมชาติ เพราะน้ำเก็บไม่กี่เดือนก็จะแห้งบ่อ ที่เรียกว่าโคกหนองนาต่าง ๆ พอเกิดภัยแล้งก็ไม่มีน้ำ โคกหนองนาก็ไม่สามารถที่จะอยู่ได้ คือไม่มีน้ำ แต่ถ้าทำเยอะ ๆ ทำทั้งหมดทั่วประเทศ พอหน้าฝนก็เก็บน้ำไว้ มันก็จะซึมลงใต้ดิน จากนั้นใช้เวลาหลาย ๆ ปี น้ำก็จะซึมขึ้นมาบนดิน นี่คือระบบธนาคารน้ำใต้ดิน แต่ถ้าคิดแต่จะปล่อยน้ำลงทะเลแน่นอนว่าจะไม่มีน้ำพอใช้”

คุณทรงพล พูลสวัสดิ์
ประธานสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง

“เรื่องการขุดสระเล็กสระน้อยอยู่ในมาตรการรับมือฤดูฝนอยู่แล้ว ในเรื่องของการเร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำ คำว่าพัฒนาก็คือสระเล็กสระน้อย เดิมที่เป็นฤดูกาลที่แล้วจะมีการเร่งเก็บกักน้ำส่วนเกิน แต่มาตราการรับมือฝนปีนี้มีการสรุปบทเรียน และมีการขอให้เพิ่มการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเข้าไปด้วย… เรื่องการวางแผนระยะยาว สทนช.ได้ทำแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันมีการปรับปรุงโดยคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โควิด-19 การย้ายถิ่นกลับมาทำงานในภูมิลำเนา การแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และระบบนิเวศต่าง ๆ ตอนนี้จัดทำเป็นร่างแผนแม่บท ประกอบด้วย 5 ด้าน รอเสนอเข้า ครม. ตอนนี้ผ่านสภาพัฒน์ฯ แล้ว”

คุณทรงเกียรติ ขำทอง
ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 1 ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

“เอลนีโญเป็นผลที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หลักการในเชิงนโยบายต้องตั้งหลักจากข้อนี้ และหากพูดถึงการแก้ไขปัญหาก็ต้องแก้ต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย ข้อที่สองเอลนีโญเป็นเรื่องเร่งด่วนมีทั้งสิ่งที่เรียกว่าจังหวะนรกและจังหวะทองทั้งสองอันเป็นเรื่องเร่งด่วน… ส่วนประเด็นที่สามหากเราดำเนินการเร่งด่วนไม่ทัน ไม่ดี ปัญหาของเอลนีโญจะกลายเป็นเรื่องเรื้อรัง”

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
ผู้อำนวยการ Think Forward Center


3 ฉากทัศน์ อนาคตเกษตรกรไทยในวิกฤติเอลนีโญ

ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบใหม่เริ่มแล้วในปี 2566 และจะร้อนแล้งรุนแรงขึ้น แต่ฉากทัศน์การจัดการปัญหาจะเป็นอย่างไร


ฉากทัศน์ที่ 1 กลองสะบัดชัย

การพัฒนาเศรษฐกิจเดินหน้า ทำให้ความต้องการใช้น้ำของทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และครัวเรือน เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่การคาดการณ์สภาพอากาศและแนวโน้มผลกระทบด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ ทำได้ในระยะปีต่อปี

รัฐบาลวางแผนรับมือ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และสิ่งก่อสร้าง ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยโครงการและโครงสร้างขนาดใหญ่ แต่ต้องรับมือกับการต่อต้านของผู้ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนน้ำสูงขึ้้น

ขณะที่แผนบริหารจัดการน้ำและควบคุมการใช้น้ำของภาครัฐ มีแนวทางปฏิบัติจากส่วนกลาง ขาดความคล่องตัว อาจไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่และไม่สามารถรับมือปัญหาได้ทันท่วงที

ส่วนการจัดลำดับความสำคัญก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ภาคการเกษตรที่ใช้น้ำจำนวนมากต้องปรับตัวตั้งรับตามการกำกับจากรัฐ และรอคอยความช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายที่รัฐพยายามกระจายให้ แต่ขาดอำนาจต่อรอง คนที่ทนแบกรับภาระไม่ไหวต้องสูญเสียที่ดินและออกจากอาชีพไป


ฉากทัศน์ที่ 2 วงมโหรี

ภาครัฐวางแผนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวของในการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น มีการบริหารภาวะแล้งตามความเสี่ยงเชิงพื้นที่ โดยบริหารจัดการความวัตถุประสงค์การใช้น้ำ รวมทั้งเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในระดับพื้นที่

ปรับการช่วยเหลือ เป็นการช่วยปรับตัวและยกระดับ โดยท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนป้องกันและรับมือวิกฤติตามวัฏจักร ออกแบบแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยมีรัฐหนุนเสริม สร้างความมั่นใจในการทำงานของท้องถิ่น ทั้งด้านองค์ความรู้และงบประมาณ

มีการแก้ไขระเบียบข้อบังคับให้ท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการวางแผน ร่วมบริหารจัดการพื้นที่ การใช้ที่ดิน และทรัพยากรน้ำด้วย

เกษตรกรสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกลไกท้องถิ่นส่วนองค์กรด้านการเกษตรทำหน้าที่หนุนเสริมเพื่อการปรับตัวในแต่ละพื้นที่  อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรที่ผูกกับกลไกตลาดยังคงเป็นความท้าทายของเกษตรกรไทย


ฉากทัศน์ที่ 3 วงรำวง

ภาครัฐกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เอกชน และองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ พร้อม ๆ กับส่งเสริมงานวิจัยและองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อรับมือวิกฤต

นำเอาระบบฐานข้อมูล DATA ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวางแผนออกแบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ลดพื้นที่การเพาะปลูกแต่เพิ่มศักยภาพในการผลิต สร้างมูลค่าให้สินค้าเกษตร และหนุนเสริมศักยภาพของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและอาชีพทางการเกษตร

ภาคเกษตรปรับตัว ยกระดับการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเพาะปลูกที่ลดการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของตนเองในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาในรายกรณี และรวมตัวเข้ามามีร่วมในการบริหารจัดการน้ำในภาพใหญ่ ในฐานะหนึ่งในผู้ใช้น้ำรายใหญ่ทั้งจำนวนและปริมาณ

ขณะเดียวกัน ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป ถึงการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตต่าง ๆ และเกิดความตระหนักถึงต้นทุนของน้ำ ท่ามกลางภาวะวิกฤตด้วย


ฉากทัศน์ไหนที่คุณอยากให้เกิดขึ้น ชวนร่วมโหวตไปกับเรา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ