“หลบเริน” เป็นคำภาษาใต้ที่แปลว่า “กลับบ้าน” แต่การกลับบ้านในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การกลับมาเยี่ยมครอบครัว แต่เป็นการตั้งรกรากใหม่ของชีวิต หลังผ่านช่วงวัยของการเรียนรู้ ทำงาน และเผชิญกับโลกที่ใหญ่กว่าบ้านมาแล้ว อะไรคือสาเหตุที่พวกเขากลับบ้าน และวันนี้ “บ้าน” ของพวกเขามีความพร้อมมากพอที่จะทำให้พวกเขาอยู่ที่นี่ตลอดไปได้หรือยัง บทความนี้ชวนทำความรู้จักการผลิบานในบ้านเกิดผ่านมุมมองของคนที่กลับมาอยู่บ้านแล้ว และคนที่กำลังตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน รวมถึงคนที่ได้มาสัมผัสความเป็นสงขลา ในวันที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเทศการงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 Pakk Taii Design Week 2023 หรือ PTDW2023
หลบเริน แล้วผลิบาน
เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ หรือเอก ผู้กำกับหนังสั้น สารคดี และเป็นผู้จัด Singorama Film Festival ที่เป็นส่วนหนึ่งของงเทศการงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 (ปักษ์ใต้ดีไซน์วีค) กำลังถึงช่วงเวลาที่ตัวเองเลือกกลับมาอยู่บ้านเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเป็นการตัดสินใจอีกครั้งสำคัญของเขาและคู่หมั้น
ก่อนจะกลับมาอยู่บ้านผมไม่ได้คิดอะไรเยอะ คิดแค่ว่าจะกลับมาพร้อมคู่หมั้น เพื่อมาหมั้นกัน แล้วต่างคนก็ต่างทำงานของตัวเอง ผมก็ตัดต่อหนังยาวของตัวเอง คู่หมั้นก็ทำงานนิทรรศการของเขาไป แต่เมื่อลงมาอยู่จริงแล้วคิดว่าหากต้องการจะอยู่ยาว เราต้องมีเพื่อน เลยเริ่มหาเพื่อน ผูกมิตรกับคนแถวนี้ ก็เริ่มมีสังคมขึ้นมา
เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์
“การกลับมาเพื่อตั้งรกราก ค้นหาตัวตนของตัวเอง กลับมาเปิดกล่องสมบัติเก่า ว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง แล้วเราจะเอากล่องสมบัติกล่องนี้ หรือทรัพยากรตรงนี้ไปพัฒนาต่ออย่างไร เพราะอีกนัยหนึ่งคือการกลับมาตั้งรกรากที่บ้านของตัวเอง ไม่ได้เป็นความรู้สึกกลับบ้าน แต่เป็นการตั้งรกราก(ชีวิต) ใหม่อีกครั้งหนึ่ง” เอกอธิบายถึงความหมายของคำว่า “หลบเริน แล้วผลิบาน” ตามที่ตัวเองเข้าใจ
“Singorama Film Festival เป็นกิจกรรมฉายหนังที่จะมาปลุกพื้นที่ประวัติศาสตร์ในย่านเมืองเก่าตรงนี้ ให้ขึ้นมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อยากให้ภาพยนต์เป็นตัวแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างยุคสมัยของคนรุ่นก่อนกับคนยุคใหม่ ทำให้โปรแกรมหนังที่นำมาฉายมีความหลากหลาย ทำอย่างไรเพื่อที่จะดึงกลุ่มผู้สูงอายุ(ย่านเมืองเก่า) ออกมาจากบ้านให้ได้ เพื่อจะดูหนัง ขณะเดียวกันก็เป็นหนังที่กลุ่มคนรุ่นใหม่อยากมาดูเหมือนกัน” เอกเล่าถึงเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้
“ลอง” สร้างสรรค์บ้านตัวเอง
อิงกมล รัตนกาญจน์ หรืออิง ดีไซน์เนอร์ เจ้าของร้านดอกไม้ในเมืองหาดใหญ่ หนึ่งในทีมพาร์ทลอง ในปักษ์ใต้ดีไซน์วีคครั้งนี้ เล่าถึงจุดแข็งสำคัญของย่านเมืองเก่าสงขลาที่เธอสัมผัสได้หลังกลับมาอยู่บ้านได้ 3 ปีแล้ว
“งานพาร์ทลอง เป็นการ parody ของเชฟเทเบิ้ล เราต้องการให้อาหารที่เป็นเชฟเทเบิ้ลเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เลยเกิดการ parody นี้ขึ้นมา ส่วนคำว่า “ลอง” มีความพ้องเสียงกับคำว่า “Long table” และอีกความหมายคือการ “ลองทำ” ทำให้เราแตกโปรแกรมออกมา มีทั้ง ลอง Table ลองดู ลองดื่ม และลองทำ เราจะดึงคนที่กลับมาสร้างธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง ให้มีพื้นที่แสดงผลงาน ดึงร้านในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม แล้วออกแบบอาหารให้เข้ากับงานนี้”
“เป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสปล่อยของที่เขามี อย่างตอนอิงกลับมาแรก ๆ แล้วพยายามเริ่มทำธุรกิจ ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเห็นงานของเราได้บ้าง พอมีงานนี้ก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้แสดงศักยภาพตัวเองในบ้านของตัวเอง ถ้าเทียบระหว่างตอนนี้กับเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เห็นได้ชัดแล้วว่าบ้านเรามีอะไรให้กลับมาทำแล้วจริง ๆ”
อิงกมล รัตนกาญจน์
“โอกาสที่เราได้ทำอะไรในบ้านตัวเอง สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ในบ้านตัวเอง มีอะไรแบบนี้ให้ทำไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเราอยู่ที่นี่ได้ มีอะไรให้เราได้ทำมากกว่างานประจำ และเพื่อน ๆ ที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดก็เริ่มพูดถึงในทางที่ดีว่าอยากกลับมาทำอะไรแบบนี้บ้าง หากปีหน้ามีโอกาสพวกเขาสามารถเข้าร่วมอะไรได้บ้าง”
The Next Spring of Songkhla
ปีย์วรา ปรีชาวีรกุล หรือเฟิร์น ดีไซน์เนอร์ชาวหาดใหญ่ ที่ปัจจุบันยังทำงานอยู่กรุงเทพฯ เป็นหลัก และมีโอกาสมีช่วยออกแบบนิทรรศการจีน 5 เหล่า จัดแสดงที่สมาคมฮกเกี้ยนอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคครั้งนี้
อยากให้คนรู้สึกว่าตอนที่พวกเขา(บรรพบุรุษชาวจีน) ย้ายมาจากเมืองจีน พวกเขาก็เป็น Next Spring ใน generation ของพวกเขาเหมือนกัน แล้วคนที่มาชมนิทรรศการ โดยเฉพาะคนรุ่นเดียวกับเรา ได้รับความรู้สึกกลับไปว่าตอนนี้เราก็เป็น Next Spring ของ generation ปัจจุบันเหมือนกัน
ปีย์วรา ปรีชาวีรกุล
“เฟิร์นเป็นส่วนหนึ่งของทีมช่วยเรื่องออกแบบนิทรรศการ ทำงานร่วมกับกลุ่ม Sour South เราต้องการสื่อสารกับคนที่มาเยี่ยมชมนิทรรศการว่า “รากของคนจีน” ที่ย้ายมาจากเมืองจีนมาอยู่ในสงขลา มีกลุ่มไหนบ้าง และส่งต่อเรื่องราวของผู้คนที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ ว่าพวกเขาทำอะไรกันบ้าง และทำให้เมืองสงขลาเป็นอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร”
“เมื่อก่อนที่มีการรวมตัวกันเป็นสมาคมชาวจีน จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นเหมือนกันที่พยายามสร้ามคอมมูนิตี้หรือสังคมที่มีความชอบคล้าย ๆ กัน มาขับเคลื่อนเมืองให้ไปด้วยกันได้ จากความถนัดของแต่ละคน เฟิร์นมองว่าคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ที่ออกไปเรียน หรือเติบโตที่ต่างจังหวัด หรือกรุงเทพฯ อยากให้กลับมาผลิบาน หรือร่วมกันทำอะไรที่ช่วยขับเคลื่อนให้หาดใหญ่ และสงขลา เติบโตไปอีกระดับหนึ่งเหมือนกัน”
ปีย์วรา ปรีชาวีรกุล
“ต้นทุนสำคัญคือ “คนในพื้นที่” เพราะคนที่เคยเป็น Next Spring ในยุคก่อนก็เริ่มอายุเยอะขึ้น แล้วหากเรื่องราวทั้งหมดที่เราไปค้นคว้ามาไม่ได้ถูกส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ไปเก็บข้อมูลมา ก็เอามาจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด เราหยิบบางส่วนที่เป็นใจความสำคัญมาส่งต่อ และอยากให้คนเข้ามาเรียนรู้เรื่องความเป็นมาของเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือคนไทยเอง เราก็อยากให้เขาได้มารู้จักพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น”
บ้านที่น่าอยู่ ด้วย “ราก” ที่แข็งแรง
นักรบ มูลมานัส ศิลปิน นักทำภาพประกอบ และนักเขียน ชื่อดังจากกรุงเทพฯ ที่ครั้งนี้ลงมาฝังตัวเก็บข้อมูลในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา เพื่อเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ผ่านนิทรรศการ Chinese Spring ฟ้า, ดิน, ถิ่น, บ้าน การเดินทางในระหว่างกลาง
“ผมได้ทำนิทรรศการที่บอกเล่าคนจีน 5 เหล่า ที่อยู่ในปักษ์ใต้ ประกอบไปด้วยจีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง และจีนฮากกา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่บทบาทเยอะในภูมิภาคนี้ รวมถึงในประเทศของเรา เราได้ลงมาหาข้อมูลที่นี่(เมืองเก่าสงขลา) ทำเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ของย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นมาก ๆ มีสถาปัตยกรรมดั้งเดิม และประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เมื่อเราเดินในย่านนี้ก็จะเห็นร่องรอยของความเก่าแก่ คนในชุมชนมีความหวงแหน รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกไป”
“เราเป็นคนนอก มาทำกิจกรรมที่นี่ แต่พบว่าทุกคนยินดีมาก ๆ ที่จะมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวของบ้านเกิดของตัวเอง อย่างครั้งนี้ของผมเป็นโคมไฟ แล้วให้คนสงขลาได้หยิบจับรูปเก่าเมืองสงขลา มาประดิษฐ์เป็นโคมไฟของตัวเอง ก่อนจะนำไปประดับเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ซึ่งมีคนหลากหลายรุ่นของย่านเมืองเก่าสงขลามาร่วมกันทำ แล้วเกิดบทสนทนาดี ๆ ระหว่างกัน เราก็ได้เกร็ดประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เกิดความสัมพันธ์ดี ๆ ระหว่างที่ได้ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน”
ถ้ามองสงขลาเป็นโมเดล มีพี่ ๆ มีเพื่อน ๆ หลายคนที่ตั้งใจกลับมาเปิดกิจการของตัวเองที่นี่ ซึ่งอยู่ได้อย่างสวยงามและมีคุณค่า ศักยภาพของที่นี่สามารถรองรับสิ่งเหล่านี้ได้ดี และคนก็แฮปปี้ที่ได้มาอยู่ตรงนี้ ได้ทำอะไรอยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง
นักรบ มูลมานัส
“เป็นปรากฎการณ์ที่ดีมากเลย ที่ศิลปวัฒนธรรม หรืองานเทศกาลงานออกแบบ ไม่ได้กระจุกอยู่แค่เมืองหลวง(กรุงเทพฯ) อย่างเดียว แต่เรามองว่าแต่ละพื้นที่จะมีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ละเมืองจะมีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน การที่งานดีไซน์วีกเกิดขึ้น ทำให้พื้นที่มีความตื่นตัวเรื่องการออกแบบ เรื่องศิลปะ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ดีมากที่จะกระจายออกจากศูนย์กลาง แล้วหารสชาติ หาน้ำเสียง หารูปแบบอัตลักษณ์ที่ไม่ได้เหมือนส่วนกลาง เป็นสิ่งที่น่าสนใจและอยากให้เกิดขึ้นทุก ๆ ภูมิภาค ทุกหัวระแหง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอก็ได้”
ระบบนิเวศนักสร้างสรรค์ แรงจูงใจคนกลับบ้าน
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการคุณเล่า เราขยาย สถานีโทรทัศช่อง Thai PBS ซึ่ง CEA เป็นหน่วยงานที่คอยสนับสนุน และผลักดันให้เกิดพื้นที่ และเวทีสำหรับนักสร้างสรรค์ทั่วประเทส ซึ่งมองว่างานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคในครั้งนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ได้
“ภารกิจหลัก ๆ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA คือการผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 15 สาขา ในส่วนของงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคเป็นการรวมตัวกันของนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ช่วยกันสร้างผลงาน ทำให้สินค้าและบริการมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น CEA ทำหน้าที่บ่มเพาะผู้ประกอบการ มีเวทีให้กับคนรุ่นใหม่ เปิดพื้นทีให้นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ได้มีโอกาสแสดงผลงาน โชว์ศักยภาพ และได้เชื่อมต่อกับตลาดด้วย ไม่ใช่แค่ความสวยงามอย่างเดียว แต่มีกลุ่มคนที่เข้ามาเพื่อจับจ่ายสินค้า มีนักธุรกิจมาเยี่ยมชมเพื่อนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ หนึ่งตัวอย่างสำคัญก็คืองานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคในครั้งนี้”
โดยงานปักษ์ใต้ดีไซน์วีคได้จัดขึ้นใน 3 พื้นที่หลักในจังหวัดสงขลา ได้แก่ ย่านเมืองเก่าสงขลา ท่าเรือแหลมสน ชุมชนหัวเขา และหาดใหญ่ พร้อมกับการจัดกิจกรรมในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ ได้แก่ ย่านทับเที่ยง จังหวัดตรัง ย่านอา-รมย์-ดี จังหวัดปัตตานี โดยนำเสนอผ่าน 5 คอนเซ็ปต์หลัก ได้แก่
เราอยู่ในช่วงที่ทำเรื่องธุรกิจและเรื่องพัฒนาคนมามากแล้ว ต่อจากนี้ถ้าเราสามารถมีแหล่งทุนจากภาครัฐได้มากขึ้น ก็น่าจะตอบโจทย์การพัฒนาเหล่านี้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีกองทุนสร้างสรรค์ ก็คงต้องฝากถึงคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามา
ดร. ชาคริต พิชญางกูร
อาชีพยอดนิยมของแรงงานคืนถิ่น
(1) กลุ่มแรงงานที่เชียวชาญด้านเทคโนโลยี หันมาค้าขายบนช่องทางออนไลน์ การสร้างตัวตนในรูปแบบ Youtuber และหรือบางส่วนก็ใช้ทักษะ Digital Marketing นำเสนอสินค้า หารายได้ผ่านออนไลน์ ด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสของวัตถุดิบท้องถิ่นและสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน
(2) กลุ่มแรงงานวัยกลางคนที่พอมีทุนทรัพย์ หันมาเป็นผู้ประกอบการ นิยมเปิดร้านอาหาร หรือ Café ขนาดเล็กเน้นสร้างจุดขายที่โดดเด่นในเมืองรอง
(3) กลุ่มแรงงานที่กลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากมีที่ดินหรือเคยทำการเกษตรมาก่อน ซึ่งมีบางส่วนนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้วย
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)