จากวังเวียง สปป.ลาว ในตอนที่แล้ว ทีมงานเราเดินทางต่อมายังหลวงพระบาง เรามีนัดกับน้องนุ่มนิ่ม สวรินทร์ คำหว่าง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรุ่นใหม่ชาวน่าน ซึ่งเดินทางจากน่านผ่านด่านห้วยโก๋นเพื่อมาพบกับเราที่นี่
น้องนุ่มนิ่มมีความเชี่ยวชาญในภาษาจีน เนื่องจากเคยเรียนและท่องเที่ยวในเมืองจีนมาก่อน ทำให้มองเห็นโอกาสของการติดต่อธุรกิจท่องเที่ยวผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นโอกาสที่น่าสนใจหากประเทศจีนเปิดด่านพรมแดนที่ติดกับลาว แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางผ่านรถไฟไฟเส้นนี้เข้ามายัง สปป.ลาว จังหวัดน่านมีพรมแดนติดกับลาว มีเส้นทางถนนที่สะดวกสบายและใกล้เมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง การจะดึงนักท่องเที่ยวจีนไปท่องเที่ยวต่อยังจังหวัดน่านจึงมีความเป็นไปได้สูงมาก
มองในเรื่องของการนักท่องเที่ยวที่มาจากจีนที่เข้าลาวมาค่ะ โดยที่ จ.น่าน เรามีด่านพรมแดนห้วยโก๋น ซึ่งติดกับเมืองเงิน การเดินทางเนี่ยเริ่มสะดวกสบายมากขึ้น เส้นทางไปมาหาสู่กันก็เป็นเส้นทางที่สามารถเดินทางหากันได้โดยง่าย ถ้าจะสามารถพานักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในน่านได้เนี่ย ก็จะมาได้ทั้งทางเมืองไซ ก็คือเข้าจากบ่อเต็น เสร็จแล้วก็นั่งรถไฟจากสถานีรถไฟมาลงที่เมืองไซ เสร็จแล้วก็ต่อรถมาที่เมืองน่านได้ หรือแม้แต่ถ้าอยู่ที่หลวงพระบางก็สามารถที่จะต่อรถมาที่น่านได้เหมือนกัน
นั่นเป็นสาเหตุที่น้องนุ่มนิ่มเดินทางมายังหลวงพระบางเพื่อสำรวจทิศทางและเชื่อมเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวกับคนในพื้นที่เพื่อเตรียมตัวกับแผนการท่องเที่ยวที่ต้องการวางรูปแบบไว้ในอนาคตอันใกล้
ระหว่างรอน้องนุ่มนิ่มเดินทาง เราออกสำรวจเมืองหลวงพระบางในตอนเช้า รอบนี้เราสนใจในเรื่องของคนจีนในเมืองหลวงพระบาง จึงติดต่อกับ ลิซ่า ชาวจีนที่อาศัยอยู่ที่หลวงพระบางมานานช่วยเป็นไกด์พาเราสำรวจย่านตลาดจีนในเมืองหลวงพระบางครับ
ลิซ่าพาเราไปสำรวจย่านตลาดจีน ซึ่งออกนอกเขตมรดกโลกของตัวเมืองหลวงพระบางมาเล็กน้อยและเล่าให้เราฟังว่าคนจีนที่มาขายของที่นี่ส่วนใหญ่มาจากมณฑลหูหนาน สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องใช้อุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีราคาไม่แพง ทำให้เป็นที่นิยมในการจับจ่ายซื้อหาของคนลาว
ช่วงเย็นหลังจากได้พบกับนุ่มนิ่ม เราพากันไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารจีนกลางเมืองหลวงพระบาง ระหว่างทางนุ่มนิ่มได้แนะนำให้เรารู้จักกับ อ.จรัสพงศ์ วงศ์ศิลป์จิตดารา ชาวหลวงพระบางแท้ๆ อาจารย์ได้เล่าถึงธุรกิจคนจีนในเมืองหลวงพระบางให้ฟัง ซึ่งมีความน่าสนใจมาก
ธุรกิจของคนจีนในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นโซนใหม่ โซนใหม่ที่คนจีนเขามาอยู่ซึ่งเป็นจีนสมัยใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมาทำธุรกิจเรื่องของที่ระลึกเยอะที่สุด นอกจากนั้นก็จะมีนักธุรกิจจีนที่มาเปิดโรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษา เริ่มตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมตอนปลายที่เอาหลักสูตรการเรียนการสอนของจีนเข้ามา โดยเฉพาะภาษาจีน ถ้าจบที่นี่ก็สามารถเทียบกับการเรียนการสอนที่เมืองจีนได้ และก็ไปเทียบกับกระทรวงศึกษาได้เลยเพราะว่าเอาหลักสูตรจากเมืองจีนมา
นุ่มนิ่มดูจะมีความสุข สนุกสนานกับที่ร้านอาหารจีนมาก เปรยให้เราฟังว่าเหมือนได้กลับไปเมืองจีนอีกครั้ง เพราะลักษณะของร้าน การจัดวางหลายๆ อย่างเหมือนที่เมืองจีนมากๆ ที่สำคัญยังแนะนำการกินอาหารโต๊ะจีนในแบบคนจีนให้เราได้เรียนรู้อีกด้วย
คนจีนเนี่ย เขาจะมีลักษณะการกินก็คือ เขาจะกินน้ำซุปก่อน เพื่อเป็นการปรับให้ท้องเริ่มคายน้ำย่อย หลังจากนั้นก็จะกินกับแต่ละอย่าง และสุดท้ายถึงจะเป็นข้าว เพราะฉะนั้นเขาจะกินน้ำซุปให้หมดก่อน น้ำซุปหมดแล้ว ถึงจะตักข้าวใส่ ใส่ถ้วยและกินกับแต่ละอย่าง ส่วนจานเล็กๆ เอาไว้ใส่เศษอาหารไม่ใช่ข้าว
หลังจากอิ่มอร่อยกับมื้อเย็น นุ่มนิ่มได้ชักชวนให้เราเดินทางต่อด้วยรถไฟลาว-จีนในวันพรุ่งนี้ โดยจุดหมายอยู่ที่เมืองไซ นุ่มนิ่มบอกว่าได้นัดหมายกับคนจีนคนหนึ่งที่นั่น เพื่อไปสำรวจและหาแนวทางเชื่อมต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่นั่น
เมืองไซอยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบางขึ้นไปทางเหนือประมาณ 193 กิโลเมตร แต่ด้วยระบบขนส่งทางรถไฟลาว-จีน ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น จากที่จะต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวันก็เหลือเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง
พอมาถึงสถานีเมืองไซ นุ่มนิ่มแนะนำให้เรารู้จักกับคุณ Hu Dakui หรือ ลุงหู นักธุรกิจชาวจีนที่มาทำธุรกิจและอาศัยอยู่ที่เมืองไซมากว่า 5 ปี
ตอนนั้นมาเมืองไซรอบแรกค่ะ แล้วก็พอดีเขามีร้านรับ Shipping ส่งของจากลาวไปจีน ตอนนั้นน้องส่งของไปให้เพื่อนที่จีนก็เลยไปใช้บริการร้านเขา แล้วเขาก็ชวนคุย คุยไปคุยมาก็แลกคอนแทคกัน ติดต่อกัน เวลามาก็มาเจอกัน ค่ะ เขาเป็นช่างแล้วก็ทำเกี่ยวกับรับซ่อมเครื่องจักร ขายอะไหล่เครื่องจักรต่างๆ และเดินสายซ่อมรถแบกโฮล อะไรอย่างนี้ค่ะ
นุ่มนิ่มยังเล่าให้ฟังอีกว่า ลุงหูเลือกมาทำธุรกิจที่เมืองไซเพราะเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่ดี ไม่ไกลจากจีนมากนัก และยังมีระบบขนส่งทั่วถึง สามารถกระจายสินค้าไปในหลายพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากที่นี่มีสถานีขนส่งขนาดใหญ่และมีรถโดยสารประจำทางวิ่งไปเมืองต่างๆ ในลาวรวมไปถึงบางเมืองในจีนและเวียดนามตลอดทั้งวัน
ด้วยความที่เมืองอุดมไซหรือเมืองไซเนี่ย เป็นเมืองที่อยู่จุดศูนย์กลางที่สามารถแยกไปได้ในหลายๆ ที่ ทั้ง 4 ทิศนะคะ ทำให้สถานที่ตรงนี้หรือขนส่งตรงนี้มีสถานีปลายทางอยู่มากมายหลายสถานี ไม่ว่าถ้าเราจะไปเวียงจันทน์ก็มีรถไป เราจะไปปากแบ่งก็มีรถไป ไปเมืองเงินมีรถไป ไปหลวงน้ำทา ไปบ่อแก้ว มีรถไปหมดค่ะ ทำให้ที่นี่เป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งขนย้ายคนไปยังเมืองต่างๆ รอบๆ เมืองของอุดมไซรอบทิศทางเลยค่ะ
เราได้ขอให้นุ่มนิ่มพาไปเที่ยวสำรวจตัวเมืองไซ เห็นบรรยากาศเมืองที่ค่อนข้างคึกคัก สองข้างทางมีป้ายร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีทั้งภาษาลาวและภาษจีน และมีธนาคารการค้าระหว่างประเทศเพื่อรองรับนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมืองนี้ รวมทั้งยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ลงทุนโดยคนจีนอีกด้วย
อันนี้จะเป็นห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ของเมืองอุดมไซ โดยลงทุนแล้วก็บริหารจัดการโดยคนจีนค่ะ สินค้าภายในก็จะมีทั้งของที่มาจากจีนและก็เป็นของจากไทยก็มีค่ะ บรรยากาศการจัดโซนการจัดร้านค้าคือเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตในจีนทุกอย่าง ลักษณะของเขาคือโซนด้านหน้าจะเป็นพวกเสื้อผ้า ของกิ๊ฟช๊อป และข้างในถึงจะเป็นโซนของกินของใช้ ตรงนี้สามารถเปย์ได้ทั้งเงินลาวและก็เงินจีน ไข่นกกระทา ปีกไก่ สามารถฉีกซองแล้วกินได้เลย ถ้าเรานั่งรถไฟและเดินทางระยะไกล เราสามารถซื้อแบบนี้และพกพาไปได้ด้วย และเอามาฉีกกินในห้องโดยสารบนรถไฟได้เลย
หลังจากสำรวจเมืองไซแล้ว นุ่มนิ่มได้นัดหมายพูดคุยกับน้องเวียร่า นักธุรกิจรุ่นใหม่ชาวลาวและคุณแม่กองสี มะนีพอน เจ้าของกิจการวิทยาลัยลาซานานาชาติแขวงอุดมไซ ซึ่งเมืองไซและจังหวัดน่านได้มีการทำ MOU แลกเปลี่ยนการค้าและการศึกษาร่วมกันมาโดยตลอด
ระหว่างน่านกับอุดมไซ เราก็เป็นเครือข่ายกันมานานแล้ว คืออุดมไซของเราโดยเฉพาะลาวนานาชาติของพวกเรานี่ก็ไปทำความร่วมมือทางด้านการศึกษาก็ถือว่าหลายที่มาก โดยเฉพาะนับตั้งแต่ชุมชน วิทยาลัยชุมชนน่าน และมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เพราะเราเคยเซ็น MOU กัน และนอกจากนั้นเราได้ส่งบุคลากรไปเรียนจบมา 3 คนแล้ว เราก็ยังมีแผนร่วมมือกันในการสร้างบุคลากรร่วมกันอีก จะเป็นนักศึกษาเรียนอยู่ที่นี่ด้วย ละก็ไปเรียนอยู่นู่นด้วย เรากำลังดำเนินเอกสารอยู่ตอนนี้นะคะ
จะเห็นได้ว่าการเดินทางมาสปป.ลาวของน้องนุ่มนิ่มในครั้งนี้ น้องได้มีการเชื่อมธุรกิจไว้หลากหลายด้านมากไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหรือธุรกิจทั้งการลงทุนและการท่องเที่ยว หลังจากเราร่ำลากับผู้คนน่ารักๆ ในเมืองไซ เราเลือกเดินทางกลับมายังจังหวัดน่านด้วยเส้นทางรถยนต์จากเมืองไซตรงมายังเมืองเงิน สปป.ลาว และกลับเข้าจังหวัดน่านผ่านด่านห้วยโก๋น ด้วยระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร
หลังจากกลับมายังจังหวัดน่าน เราได้ถามถึงแผนธุรกิจการท่องเที่ยวที่น้องนุ่มนิ่มไว้วางเอาไว้ ซึ่งน้องนุ่มนิ่มก็มองเห็นโอกาสของการเชื่อมการท่องเที่ยวระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ไว้ได้อย่างน่าสนใจครับ
ก็มองในเรื่องของการนักท่องเที่ยวจากที่มาจากจีนที่เข้าลาวมาค่ะ โดยที่ จ.น่านเรามีด่านพรมแดนห้วยโก๋น ซึ่งติดกับเมืองเงิน การเดินทางเนี่ยเริ่มสะดวกสบายมากขึ้น เส้นทางไปมาหาสู่กันก็เป็นเส้นทางที่สามารถเดินทางหากันได้โดยง่ายค่ะ ไม่ว่าเราจะออกจากน่านไปจีนหรือจากจีนจะมาน่าน การเดินทางโดยรถประมาณ 5 ชม.ก็ถึงกันแล้วค่ะ
สิ่งสำคัญที่นุ่มนิ่มบอกเราคือเมืองน่านเองมีรูปแบบของเมืองและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง นักท่องเที่ยวที่จะมาที่น่านมักจะชื่มชอบสิ่งที่น่านเป็นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตัวตนของเมืองน่านเองก็ถือว่าคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เข้ากันได้กับสิ่งที่น่านเป็นไปในตัว
ถ้านักท่องเที่ยวที่เขาชอบเรื่องวัฒนธรรมอยู่แล้ว และก็ชอบวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบที่น่านเป็นเนี่ยนะคะ ก็เขาก็จะประทับใจในเรื่องของธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมที่น่านมีนะคะ และน่านเป็นเมืองสะอาดเขาก็จะเห็นว่าโอเคมันสะอาดหูสะอาดตาและผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดีค่ะ นี่ก็จะมีความเป็นน่านนะคะ และก็ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์เนี่ย ก็จะมีถนนคนเดินนะคะ ก็สามารถมาช้อปปิ้ง แล้วก็ลองชิมอาหารที่เป็นอาหารโลคอลของทางน่านได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นจุดที่แนะนำให้นักท่อง เที่ยวมาเยี่ยมชมนะคะ เพราะว่ามีหลากหลายกิจกรรมทั้ง ในเรื่องของการศึกษาในเรื่องประวัติศาสตร์ ดูงานศิลปะนะคะ และก็มีของอร่อยให้ชิมค่ะ
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ชาวน่านที่มองเห็นโอกาสจากการเชื่อมต่อของพรมแดนที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น และหยิบจับสิ่งที่จะเป็นประโยขน์กลับมาให้บ้านเกิดของตัวเอง ทำให้เมืองน่านที่เคยถูกเรียกว่าเมืองปิดกลายเป็นเมืองมีมีศักยภาพสูงในการเชื่อมต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าสนใจในอนาคต