ภาวะโลกร้อน” อาจเป็นปัจจัยเร่งให้ช้างออกจากป่ามากขึ้น

ภาวะโลกร้อน” อาจเป็นปัจจัยเร่งให้ช้างออกจากป่ามากขึ้น

องค์การสหประชาชาติประกาศว่า “โลกได้ก้าวข้ามจาก “สภาวะโลกร้อน (Global Warming)” เข้าสู่ “สภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาโลกยืนยันจากอุณหภูมิทั่วโลกสูงติดต่อกันถึงสามสัปดาห์ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมาถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่เท่าที่โลกเคยบันทึกเอาไว้ ส่วนประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศที่เสี่ยงจากผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า “สุดขั้ว”

ฝูงช้างป่ามีการเคลื่อนย้ายห่างไกลออกจากป่ามากขึ้น

ยิ่งในปีนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะ “เอลนินโญ” ที่มีทั้งร้อน แล้งและแห้ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำน้อย และระเหยไปจากแหล่งเก็บกักน้ำได้ง่าย และอาจเกิดไฟป่า ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน และมันไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแต่มนุษย์เท่านั้น “ช้างป่า” ก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตขาดแคลน จนอาจมีการเคลื่อนย้ายออกจากป่าได้ง่ายขึ้น สาเหตุเพราะอะไรเหรอ? เดี๋ยวให้ “ตาล วรรณกูล” นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออกเป็นคนเฉลยครับ

ตาล วรรณกูล นักวิจัยศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออก

พอดีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับ “ตาล วรรณกูล” นักวิจัยศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออก ถึง “ปัจจัยการเคลื่อนตัวของช้างฝูง” ในพื้นที่ปัญหา พบว่า “ฝูงช้างป่า” มีการเคลื่อนตัวไกล และ ห่างออกจากป่ามากขึ้น จากปัจจัยหลัก ๆ 3 ประการ ที่ “ตาล” ได้เก็บและบันทึกเป็นข้อมูลไว้

ปัจจัยที่ทำให้ช้างออกจากป่ามีสามปัจจัยหลักคือ อาหาร น้ำ และ พื้นที่หลบพัก

“ในสามปัจจัยมีรายละเอียดยิบย่อยกันออกไป แหล่งอาหารเป็นเหมือนแรงผลักใหญ่ที่พาฝูงที่มีทั้งตัวเมียและลูกน้อยให้เคลื่อนไป แหล่งน้ำเป็นเสมือนแผนที่ให้ฝูงช้างเคลื่อนไปจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่ง ส่วนแหล่งหลบพักมันก็อาจหาป่าปาล์ม ป่ายูคาฯ หรือป่าชุมชนที่อยู่รอบ ๆ เป็นแหล่งหลบพัก แต่ที่ ตำบลทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ก็พบการปรับตัว ยึดเอาไร่อ้อยเป็นทั้งพื้นที่ทำกิน และแหล่งหลบพักในที่เดียวกัน” – ตาล วรรณกูล

ขณะที่การกระจายตัวของช้างแพร่กระจายตัวกันออกไปเป็นวงกว้าง แบบน่าตกใน เพราะมันประชิดเมืองใหญ่ เข้าไปเรื่อย ๆ ตะวันตกถึงอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากกรุงเทพราว 30 – 40 กิโลเมตร ใต้ช้างลงไปถึงชายฝั่งทะเลที่หาดเจ้าหลาว เหนือพบที่กบินทร์บุรีแถวเขาไม้แก้ว ทุ่งพระยา ตัวผู้บางส่วนก็เดินทางทะลุไปถึงปางสีดาที่สระแก้ว ตะวันออกนอกจากรายงานการเคลื่อนตัวของ “สีดอทองแดง” ที่ข้ามประเทศไปยังกัมพูชาและวกกลับมาประเทศไทยก่อนจะเสียชีวิตเมื่อราว 2 ปีที่แล้ว ก็ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีช้างป่าตัวอื่นเดินทางเข้าไปถึงกัมพูชาอีกเลย แต่คำว่าไม่ได้รับรายงานนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนะครับ

จากการนำข้อมูลของ “ตาล วรรณกูล” มาเทียบกับข้อมูลเดิมที่ทำไว้ตอนที่ติดตาม และ ทำสารคดีเกี่ยวกับช้างป่าในปี พ.ศ.2558 ก็พบว่ามีข้อมูลหลายชุดตรงกัน โดยเฉพาะเรื่อง “ช้างตัวผู้” ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพบ “ช้างฝูง” ในเวลาต่อมา จากการรายงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กลุ่มอาสาสมัครดูแลและเฝ้าระวังช้างป่า มักจะพบช้างตามแนวป่าปรากฎเพียง 1 – 2 ตัว ทางฝั่งฉะเชิงเทรา พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2539 ส่วนทางแก่งหางแมว พบราวปี พ.ศ.2548 จะพบช้างตัวผู้ในลักษณะนี้ ก่อนจะพบ “ช้างฝูง” เป็นจำนวนมากในเวลาถัดมา จนปี พ.ศ.2560 มีโอกาสไปทำสารคดีอีกเรื่องที่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรีเช่นเดิม มีรายงานมาว่าการพบช้างตัวผู้ที่สนามกอล์ฟสอยดาว และมีการติดตามจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และสองสัปดาห์ถัดมามีการเคลื่อนย้ายช้างฝูงเข้ามาในพื้นที่ของสนามกอล์ฟสอยดาว และไปถึงผืนป่าที่ทหารดูแล จากช้างไม่กี่ตัว ตอนนี้ย้ายถิ่นฐานแบบรุกคืบจนกระจายเต็มผืนป่าตะวันออกแล้ว

ช้างแต่ละตัวในฝูงแบ่งหน้าที่กันทำงาน

ช้างมันแบ่งหน้าที่กันทำงาน

“โดยเฉพาะช้างตัวผู้ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งกองโจรและฝ่ายสำรวจในช่วงแรก ๆ เราจะพบช้าง 1-2 ตัว อย่างมากก็ 3 ตัวจับกลุ่มเดินไปด้วยกันก่อน ภายหลังมีการสำรวจอัตลักษณ์แล้วพบว่าช้างทั้งหมดเป็นช้างตัวผู้ ซึ่งช้างพวกนี้ทำหน้าที่ในการสำรวจแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และที่พักว่าเพียงพอสำหรับฝูงที่ใหญ่มากน้อยแค่ไหน ถ้าพื้นที่รองรับไม่มากพอมันก็แตกแยกออกเป็นสาย ช้างมันมีการสื่อสาร ถ้ารู้ว่าอาหาร น้ำ ไม่เพียงพอ มันไม่พากันไปทั้งหมด มันก็แยกกันไป สิบตัว ยี่สิบตัวบ้าง ตามที่แหล่งอาหารและแหล่งน้ำจะเพียงพอ และมีตัวผู้เป็นคนนำไป และที่ที่มีปัจจัยพวกนี้อยู่ครบจะเป็นที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่ตามหมู่บ้าน” – ตาล วรรณกูล

ตามหมู่บ้านจะมีผลหมากรากไม้ที่ชาวบ้านปลูก เช่นกล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง บางพื้นที่ก็ยังปลูกข้าวอยู่ มีพืชผลเกษตรก็ต้องมีแหล่งน้ำ แทบทุกบ้านจะขุดบ่อน้ำเพื่อการเกษตรเอาไว้ เมื่อช้างมีความมั่นใจมันจะรุกคืบเข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น ในช่วงที่ติดตามช้างที่จันทบุรีครั้งหนึ่งเคยตั้งข้อสงสัยครับว่า ทำไมช้างฝูงกว่า 100 ตัว ถึงมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำคลองปะแกดระหว่างการก่อสร้าง ก่อนจะแยกย้ายเมื่อยามค่ำเข้าไปในหมู่บ้าน จากข้อมูลที่ ตาล วรรณกูล ได้บอกเอาไว้ เป็นปัจจัยทั้งหมดที่ชักนำพวกมันมา ไม่ว่าจะมีหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ เมื่อมีการขนย้ายบ้านและชุมชนออกไปจากการทำโครงการชลประทาน ขณะเดียวกันมีการปลูกมันสำปะหลังภายในอ่างเก็บน้ำคลองปะแกดระหว่างการก่อสร้าง ที่นี่จึงเป็นเสมือนสโมสรให้ฝูงช้างที่กระจายเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้มารวมและสังสรรค์ ก่อนจะแยกย้ายกันไปหากินตามหมู่บ้าน

ภายหลังจากที่มีการติดตามช้างป่าหลายสัปดาห์ข้อสมมุติฐานก็ค่อย ๆได้รับการยืนยันจนกระทั่งมีการศึกษาอย่างจริงจังจากศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออกมาประกอบอีกทีว่าช้างมี “การสื่อสาร” และมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ช้างตัวผู้ นอกจากจะคอยดูแลฝูงแล้วยังมีหน้าที่เป็นนักสำรวจที่เดินทางออกไปหาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารใหม่ ๆ แล้วกลับมาสื่อสารพาฝูงไป ขณะเดียวกันถึงจะมีการแยกย้ายออกไปหากินกันคนละทางพวกมันก็ยังมีจุดนัดที่มาพบกันได้

ช้างตัวเมียจะมีหน้าที่ดูแลลูกน้อยเป็นหลัก

“แต่หากช่วงนั้นไม่มีช้างตัวผู้ที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ในฝูงเลย บรรดาช้างวัยรุ่นห้าวซึ่งเป็นตัวผู้ จะทำหน้าที่เสมือนบอดี้การ์ดแทน จากการศึกษาก็เคยพบลักษณะนี้อยู่บ้างแต่ไม่บ่อย ถ้ามันเห็นภัยคุกคามที่จะเข้ามารบกวนฝูงหรือลูกเล็ก มันก็จะออกมาไล่ศัตรูอยู่เหมือนกัน แต่มักไม่ไปไกลจากฝูงมากนัก” – ตาล วรรณกูล
ช้างตัวเมียมักอยู่ในฝูงด้านใน ขณะที่ตัวผู้หากินอยู่วงรอบนอกทำให้มีโอกาสในการหาอาหารได้มากกว่า

ช่วงปี 2556 ถึงปลายปี 2559 ในป่าก็ประสบปัญหาร้อนแล้งเหมือนกับปัจจุบันทำให้ช้างออกจากป่าและเรียนรู้ในการหาแหล่งอาหารใหม่ ๆ ขณะที่แหล่งอาหารในป่าในช่วงนั้นก็ไม่ตอบโจทย์ ผมตามช้างป่าไปที่บ้านสามพราน ตำบลคลองตะเกรา พบกับ ผู้ใหญ่วน คำแก้ว ผู้ใหญ่บ้านของบ้านสามพราน พาไปดูร่องรอยของช้างที่ “อ่างเก็บน้ำเขาละลาก” รอบ ๆอ่างเก็บน้ำจะมีร่องรอยของช้างเต็มไปหมด ขณะที่ต้นไม้อ่างส่วนใหญ่จะเป็นไม้สีเสียด ที่อยู่ในแผนการปลูกไม้โตไวของกรมป่าไม้ ถึงจะมีร่องรอยการกัดแทะ ซึ่งถูกอ้างอิงว่าเป็นฝีมือของช้าง แต่ไม้พวกนี้ก็ไม่เหมาะกับการที่จะเป็นอาหารของพวกมันเท่าไรนักแต่หากขาดอาหารมันก็จำเป็นต้องกิน และนิสัยของช้างมันก็ชอบทดลองไปเรื่อย ๆ จนเจอทางที่ใช่ที่ง่าย และไม่เปลืองพลังงานมากนัก ซึ่งก็คือเข้าไปหากินในชุมชนหรือหมู่บ้าน

ช้างที่อายุยังน้อยจะมีแม่หรือครอบครัวตอยดูแล อาหารส่วนใหญ่จะเป็นพืชจำพวกหญ้า

ในช่วง พ.ศ.2558 ระหว่างการติดตามฝูงช้าง มีรายงานว่าช้างฝูงเริ่มเคลื่อนตัวออกห่างจากป่าบริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากขึ้น และมุ่งหน้าไปยังบ้านอ่างเสือดำ อ่างเตย และ หนองปรือกันยาง และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้พูดคุยกับชาวบ้านก็พบว่า ที่หมู่บ้านแถบทางตอนเหนือของอ่างฤาไน ส่วนใหญ่จะทำนา และเจ้าของที่แต่ละคนก็มีประสบการณ์ในการที่ช้างชิงเอาข้าวไปก่อนที่จะเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่อยู่ทางจังหวัดฉะเชิงเทราหรือว่าทางจันทบุรีต่างก็มีประสบการณ์เช่นนี้เหมือนกัน

ฝูงช้างในป่าตะวันออกมีลูกเกิดใหม่ทุกปี

ถึงแม้กินได้อย่างหลากหลายอาหารหลักของช้างคือหญ้า

ที่มันออกมายังพื้นที่ชุมชนเพราะที่ชุมชนที่หมู่บ้านมีการจัดการ พอมีการจัดการต้นไม้ไม่ให้ทึบหญ้าก็ระบัดออกมาเป็นอาหารให้ลูกที่ยังเล็ก พอมาใกล้ชุมชนอย่างที่หนองปรือกันยางก็มาเจอ “ข้าว” อีก ข้าวก็เป็นหญ้า ตั้งแต่ที่มันได้ลิ้มรสข้าว ชาวบ้านก็อยู่ไม่เป็นสุข โดยเฉพาะช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องต้องผลัดกันลงไปเฝ้านาแทบทุกคืน – ตาล วรรณกูล

ช้างเป็นสัตว์ฉลาดที่มีการปรับตัวดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัย อาหารการกินพวกมันก็พร้อมจะปรับตัว ปัจจุบันพบว่ามันกินพืชอาหารได้มากกว่า 300 ชนิด และเมื่อไม่นานก็เห็นการปรับตัวในการกินปาล์มและใบยาง กลุ่มอาสาที่ติดตามและเฝ้าระวังช้างที่มีการติดตามพฤติกรรมของช้างรายงานตรงกันว่า ใบปาล์มและใบยางมันก็กิน แต่ไม่นิยมมากเท่าหญ้าหรือผลไม้

ช้างที่โตแล้วจะกินอาหารได้หลากหลายแต่หลัก ๆ พวกมันเลือกที่จะกินหญ้า

ในช่วงสภาวะร้อนแล้งในปัจจุบันซึ่งน่าจะแล้งกว่า 7 – 8 ปีที่ผ่านมาอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ช้างฝูงเดินทางห่างออกไปจากป่าอีกครั้ง เพราะแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่อยู่ห่างไกลออกไปโดยเฉพาะจังหวัดในโครงการ EEC มีการผันน้ำมาใช้แบบไม่ขาด ขณะที่พื้นที่ป่าที่เป็นต้นน้ำเดิม ในลุ่มน้ำวังโตนด มีเพียงอ่างเก็บน้ำคลองปะแกด ถิ่นเดิมของช้างที่แก่งหางแมวเท่านั้นที่เก็บกักน้ำได้ ส่วนอ่างเก็บน้ำพวาใหญ่ หางแมว และ คลองโตนด อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ไหนมีน้ำ ที่ไหนมีอาหาร และมีที่หลบภัยเพียงเล็กน้อย…ที่นั่นมีช้าง

อ่างเก็บน้ำพวาใหญ่ ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

และยิ่งสถานการณ์การเพิ่มปริมาณของประชากรช้างในป่าภาคตะวันออก ที่มีการเพิ่มขึ้น 6 – 8% ต่อปี นี่ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ นะครับ ทำให้สถานการณ์ของป่าตะวันออกอยู่ในภาวะวิกฤต

ในปัจจุบัน ช้างมีมากเกินกว่าที่พื้นที่จะรองรับที่ประเมินว่าป่ารอยต่อห้าจังหวัดสามารถรองรับช้างได้ 320 ตัว แต่ปัจจุบันมีช้างกว่า 600 ตัวไม่แปลกใช่ไหมครับว่าพวกมันจะสนุกกับการเดินทางและหาอาหารอยู่นอกป่า ขณะที่ช้างออกจากป่า อย่างไรก็ต้องกระทบกับคน หรือ ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบป่ารอยต่อภาคตะวันออก รวมไปถึงพื้นที่ที่มันไปถึง

จากการศึกษาและเก็บข้อมูลของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าภาคตะวันออกมีการเก็บข้อมูลในรอบห้าปีที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตเมื่อช้างออกจากป่า ถึง 77 ราย บาดเจ็บถึง 75 ราย ความเสียหายต่อทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทุกปี สร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐเองก็ไม่มีมาตรการอะไรในการดูแลคนที่อยู่อาศัย และได้รับผลกระทบจนคนรอบป่ารอยต่อต้องรวบรวมข้อเสนอไปยื่นต่อรัฐเพื่อขอให้เกิดการแก้ไข แต่ผลจะออกมาอย่างไร ก็ยังต้องติดตามกันต่อไปครับ

ผู้แทนจากชุมชนไปยื่นข้อเสนอให้กับรัฐในการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่รัฐสภา

ปัญหาโลกร้อน หรือข้ามไปถึงภาวะโลกเดือดในปัจจุบันนี่อาจส่งผลต่อการรุกเข้าชุมชนของช้างป่าได้ง่ายมากขึ้น เพราะแหล่งน้ำ แหล่งอาหารในป่า และในพื้นที่รอบ ๆ ปัจจุบันก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว ขณะเดียวกันโอกาสเกิดไฟไหม้ภายในป่า หรือภาวะแล้งจนทำลายแหล่งอาหารที่มีน้อยอยู่แล้วให้มีจำนวนจำกัด จึงสร้างโอกาสให้พวกมันขยับเข้าใกล้พื้นที่เมืองได้มากขึ้น เพราะเมืองในตอนนี้มีทุกอย่างที่ตอบโจทย์ในการอยู่อาศัยของช้าง แต่เมื่อช้างป่าขยับเข้ามาอยู่ในเมือง…อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง คิดสิคิด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ