เครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขง จัดงานบอกรัก “แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ” ผ่านงานศิลปะ

เครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขง จัดงานบอกรัก “แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ” ผ่านงานศิลปะ

12 สิงหาคม 2566 สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) และภาคีเครือข่าย จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ฉายภาพยนตร์กลางแปง และเสวนาศิลปะปกป้องสายน้ำ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบแม่น้ำโขงเพื่ออนาคต (Mekong For the Future) ผ่านงานศิลปะ “แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ” ระหว่างวันที่ 10 – 14 สิงหาคม 2566 ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัด (หลังเก่า) อําเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

กิจกรรมภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย The Mekong of River โดย  สุเทพ กฤษณาวารินทร์  ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายจาก Sumernet Mekong และ Canon Thailand และจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วม อบรมนักสื่อสารเยาวชน พร้อมประชุมเครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขงเพื่อออกแบบการขับเคลื่อนประเด็นสถานการณ์ลุ่มน้ำโขงภายใต้การผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“เรากำหนดงานขึ้นมาว่า แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ ถ้านิยามคำนี้มาจากทางแนวคิดงานคุณสุเทพ เราเลยมาผนวกกัน ทีแรกเราดูว่าเราจะจัดช่วงไหนดี ซึ่งมันมาตรงกับช่วงสัปดาห์งานวันแม่แห่งชาติ ซึ่งในทางสาธารณะชนก็รับรู้อยู่แล้วว่าเป็น “งานวันแม่” เลยจัดให้เข้ากับแนวคิดงานแม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ  เราคิดว่าเรื่องพวกนี้สามารถสื่อสารไปถึงกลุ่มคน ไปถึงสาธารณะได้ในอีกมิติ เช่น การจัดนิทรรศการเรื่องภาพถ่าย มันทำให้คนเห็นคุณค่า เรียนรู้ความเป็นแม่น้ำโขงในรูปแบบวิถีชีวิต แบบระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และพอดีมาทำงานร่วมกับคุณสุเทพ กฤษณาวารินทร์ มีผลงานรวมจากการทำงานมา 20 ปี ในพื้นที่ เราเองก็อยากให้เข้าถึงการสื่อสารในเรื่องของศิลปะจากที่ทำรูปแบบเดิมมานาน  อีกด้านเราต้องการเพิ่มเรื่องกลุ่มเป้าหมาย SOFT POWER ของความเป็นแม่น้ำโขงมาเสริม เพื่อสื่อสารถึงสาธารณะในแง่ของการเติมเต็มแม่น้ำ” ปรีชา ศรีสุวรรณ ช่างภาพสารคดี หนึ่งในคณะจัดงาน กล่าวให้ความหมาย คำนิยาม และแนวคิดในการจัดงานเพื่อร่วมสื่อสารถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงที่กำลังเผชิญข้อท้าทายอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง ผ่านการส่งต่อเรื่องราวและวาระทางสังคมผ่านแง่มุมใหม่ โดยใช้งานศิลปะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ กิจกรรมครั้งนี้จึงมีทั้งการจัดแสดง ภาพ เสียง ศิลปะดนตรีจากวงดนตรีอีสานคลาสสิกหมาเก้าหาง และกิจกรรมอบรมการทำสื่อของเยาวชนที่สนใจ ได้แก่ การทำข่าวพลเมือง การทำหนังสั้น และศิลปะภาพวาด เพื่อร่วมบอกเล่าสื่อสารเรื่องราวแม่น้ำโขง

“วันนี้ เป็นสำคัญที่เราได้มาบอกฮักแม่น้ำโขงร่วมกัน ซึ่งเราได้พูดคุยถึงวัตถุประสงค์สำคัญ คือ อยากให้สมาชิกมีความเข้มแข็ง ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ย้ำถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมและหารือแนวทางความร่วมมือของเครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขง

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา

“ เราจะทำหน้าที่ในการทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงบูรณาการทำงานทั้งในและการต่างประเทศในการเชื่อมการทำงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศในการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ ในการศึกษาข้อมูลเพื่อรักษาวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สวยงามของพวกเรา ตลอดจนปกป้องแม่น้ำโขงภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา อธิบายความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน

การประชุมจัดตั้ง “เครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขง” ครั้งนี้ นับเป็นอีกความร่วมมือในการรวมกลุ่มการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงจากทั่วประเทศ ได้แก่ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง สมาคมสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต WWF มูลนิธินิตยสารทางอีสาน CCCL Film festival ผู้แทนภาคประชาสังคมจาก สปป.ลาว กลุ่มรักษ์เชียงคาน ผู้แทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงภาคเหนือ และผู้ที่สนใจ เพื่อระดมแนวคิดและออกแบบการทำงาน ภายใต้วัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ  1.ส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งของสมาชิก 2.ประสาน เชื่อมโยง บูรณาการภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรในลุ่มน้ำโขง  3.ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องในการศึกษาข้อมูลและจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงเพื่อรักษาวิถีวัฒนธรรมตลอดจนการปกป้องลุ่มน้ำโขงภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน  และ 4.ติดตามการดำเนินงานโครงการของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง 

ปัจจุบันแม่น้ำโขงกำลังเผชิญข้อท้าทายจาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ส่งผลให้การขึ้นลงของระดับน้ำผันผวนและกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์น้ำ ตลอดจนวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนริมโขง การจัดงานจึงเป็นอีกกิจกรรมที่เครือข่ายชุมชนได้ร่วมสื่อสารแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีต้นกำเนิดจากภูเขาหิมะบนเทือกเขาหิมาลัย – บนที่ราบสูงทิเบตในมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ความยาวรวม 4,909 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ