“แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง
แม่เป็นมิ่งมงคลชนทั่วหล้า
แม่เดินทางยาวไกลไม่เคยล้า
แม่มหานทีศรีแผ่นดิน
ขอแม่จงเริงรื่นผิวคลื่นพลิ้ว
ไหลละลิ่วละล่องผ่านแก่งผาหิน
ปลายทางแม่มีทะเลกล่อมชีวิน
ขอแม่โบกโบยบินถิ่นฟ้าไกล…”
ปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการนิตยสารทางอีศาน ประพันธ์ร้อยกรองถึง “แม่น้ำโขง” ในโอกาสจัดงาน “แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ” ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัด (หลังเก่า) จ.หนองคาย ระหว่างวันที่ 11-14 สิงหาคม 2566 ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน และได้รับการสนับสนุนงานแสดงภาพจาก Sumernet Mekong และ Canon Thailand ผลงานภาพถ่าย The Mekong of River โดย สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดี ผู้บอกเล่าเรื่องราว มุมอง ผ่านงานภาพถ่ายสารคดี โดยมีเนื้องานหลากหลายไม่ว่าจะเป็น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การเมือง ฯลฯ และแม่น้ำโขง พร้อมทั้งมีการแสดงดนตรีอีสานคลาสสิคจากวงหมาเก้าหาง ฉายภาพยนตร์ การประชุมเสวนา และอบรมนักสื่อสารเยาวชนลุ่มน้ำโขง
“เรากำหนดงานขึ้นมาว่า แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ ถ้านิยามคำนี้มาจากทาง concept งานคุณสุเทพ the “Mekong River,Mother of the Rier”Week เราเลยมาผนวกกัน ทีแรกเราดูว่าเราจะจัดช่วงไหนดี ซึ่งมันมาตรงกับงานวันแม่ในทางสาธารณะชนก็รับรู้อยู่แล้วว่าเป็นงานวันแม่ เลยจัดให้เข้ากับ concept งานแม่โขง มารดาแห่งสายน้ำครับ”
“มารดาแห่งสายน้ำ” ปรีชา ศรีสุวรรณ ช่างภาพสารคดี หนึ่งในคณะจัดงานให้ความหมาย คำนิยามและแนวคิดในการจัดงานเพื่อร่วมสื่อสารถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงที่กำลังเผชิญข้อท้าทายอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง ทั้ง การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผันผวนซึ่งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์น้ำ ตลอดจนวิถีชีวิตคนริมโขง ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นอีกครั้งที่เครือข่ายชุมชนต้องลุกขึ้นมาสื่อสารและพูดแทนแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีต้นกำเนิดจากภูเขาหิมะบนเทือกเขาหิมาลัย – บนที่ราบสูงทิเบตในมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ความยาวรวม 4,909 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร
“การทำงาน และการดีไซน์ออกมาเป็นแบบนี้เดิมทีเครือข่ายสมาคมองค์กรชุมชนน้ำโขง เป็นตัวหลักอยู่ทางภาคอีสานก็ค่อนข้างแสดงบทบาทในเชิงเราไม่เอาเขื่อน ทั้งที่ทำมานานแล้ว ส่วนใหญ่เราขับเคลื่อนทางนโยบาย ทางข้างบนผู้บริหารประเทศ ด้วยต่อจากเมื่อเราไปยื่นหนังสือเมื่อ 11 มีนาคม ปี 2564 ทีนี้เรามามองมิติใหม่ คือว่าเรามองเรื่องช่องทางใหม่การสื่อสารต่อคนรักแม่น้ำโขง หรือสื่อสารต่อเรื่องการปกป้องแม่น้ำโขง ปกป้องสิ่งแวดล้อมในมุมของศิลปะเข้ามาแทน”
ปรีชา ศรีสุวรรณ ย้ำถึงความแนวคิดการส่งต่อเรื่องราวและวาระทางสังคมผ่านแง่มุมใหม่ โดยใช้งานศิลปะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ นั่นทำให้กิจกรรมครั้งนี้ มีทั้งการจัดแสดง ภาพ เสียง และศิลปะดนตรีเข้ามาร่วมเพื่อบอกเล่าสื่อสารเรื่องราวแม่น้ำโขง
“เราคิดว่าเรื่องพวกนี้สามารถสื่อสารไปถึงกลุ่มคน ไปถึงสาธารณะได้ในอีกมิติ เช่น การจัดนิทรรศการเรื่องภาพถ่าย มันทำให้คนเห็นคุณค่า เรียนรู้ความเป็นแม่น้ำโขงในรูปแบบวิถีชีวิต แบบระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และพอดีมาทำงานร่วมกับคุณสุเทพ กฤษณาวารินทร์ มีผลงานรวมจากการทำงานมา 20 ปี ในพื้นที่ เราเองก็อยากให้เข้าถึงการสื่อสารในเรื่องของศิลปะจากที่ทำรูปแบบเดิมมานาน อีกด้านเราต้องการเพิ่มเรื่องกลุ่มเป้าหมาย SOFT POWER ของความเป็นแม่น้ำโขงมาเสริม เพื่อสื่อสารถึงสาธารณะในแง่ของการเติมเต็มแม่น้ำ”