อาลัยปัญญาชน ศาสตราจารย์นักประวัติศาสตร์ ‘นิธิ เอียวศรีวงค์’

อาลัยปัญญาชน ศาสตราจารย์นักประวัติศาสตร์ ‘นิธิ เอียวศรีวงค์’

This image has an empty alt attribute; its file name is 1365820771_277214468274127_952873440283103300_n-683x1024.jpg

วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นิธิ เอียวศรีวงค์ ศาสตราจารย์นักประวัติศาสตร์ ปัญญาชน นักคิด นักเขียนของสังคมไทยเสียชีวิตในวัย 83 ปี

นอกจากผลิตผลงานทางประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และกิจกรรมทางสังคม อาจารย์นิธิยังมีความสนใจในการสื่อสารของคนชายขอบ และความเป็นธรรมของการสื่อสารของสังคมไทย

ทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส ขอเรียบเรียงเนื้อหาบางช่วงบางตอนจากวงเสวนาสาธารณะเนื่องในวัน เสรีภาพสื่อมวลชน : บทบาทที่ท้าทายในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี โดยช่วงหนึ่งมีการเสวนาหัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิทัลกับสังคมอนาล็อก : สื่อไทยกับการเปลี่ยนผ่านสังคม” เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 ณ โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ กรุงเทพมหานคร โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ได้ร่วมสนทนากับ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรรายการโทรทัศน์ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ Thai Netizen Network, มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน, Friedrich-Ebert-Stiftung ประเทศไทย, Media Inside Out และ SEAPA

This image has an empty alt attribute; its file name is 2banner-ข่าวองศาเหนือ-3-1024x748.jpg

นับแต่ พฤษภาคม 2535 สื่อไทยเดินทางมาถึงไหนแล้ว ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่า นับแต่ พ.ค.ปี 35 ส่วนหนึ่งที่สื่อมีส่วนทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดมาตลอด คือการใช้คำว่า “ม็อบมือถือ” ในยุคนั้น นิธิชี้ว่าไม่ใช่มีแค่คนชั้นกลางเข้าไปมีส่วนร่วม ถ้าไปดูรายชื่อคนเสียชีวิต จะเห็นแต่ “คนชั้นกลางระดับล่าง” อย่างคนขายน้ำแข็ง เกษตรกรที่ปลูกผักไปขาย แต่บทบาทของคนเหล่านี้ กลับหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทย

แม้แต่ในช่วงรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญปี 40 รถขนคนงานตามหมู่บ้านก็ปรากฏให้เห็นความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ คนงานผูกผ้าคาดหัวสีเขียวรณรงค์ให้รับร่าง แต่สื่อไม่ได้นำเสนอ ยังมีคนระดับล่างกว่ากระฎุมพีด้วยซ้ำที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงการเมือง แต่ที่สังคมมองไม่เห็น เพราะความไม่ได้เรื่องของสื่อ ไม่มีสื่อตามไปศึกษาว่า นอกจากม็อบมือถือยังมีใครอีกบ้าง

นิธิเรียกคนเหล่านี้ว่า “คนชั้นกลางระดับล่าง” ซึ่งคนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวมาก่อนปี 35 ด้วยซ้ำ แต่สื่อก็ไม่สะท้อนออกมา ทำให้คนในสังคมทุกวันนี้ก็ไม่มีแม้แต่สำนึก ว่าเราอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว และเปลี่ยนมานานแล้วด้วย

ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้คนสื่อสารกันเองง่ายขึ้น แต่สื่อก็หาช่องทางเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน ในช่วงปี 35 แม้ยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ สังคมก็สามารถตื่นและลุกฮือขึ้นมาได้ ภายใต้ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีสมัยนั้น ทุกวันนี้เฟซบุ๊กมีบทบาทเหมือนที่มือถือมีในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไป คือความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเทคโนโลยีและการสื่อสารของประชาชน

ถ้าจะมองในมุมจากปี 35 เฉพาะกรุงเทพ ในตอนนั้นหนังสือพิมพ์บางฉบับ ทั้งตัวผู้สื่อข่าวหรือเจ้าของซึ่งมีอิทธิพลในวงการสื่อ แม้บางมุมจะคล้อยไปตามกระแส แต่มุมมองตอนนั้นนายกรัฐมนตรีอย่างไรก็ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เวลาผ่านไป 20 กว่าปี ในวันนี้ กลุ่มสื่อมวลชนเดียวกันกลับมีมุมทางการเมืองเปลี่ยนไป “แบบย้อนยุค”

คิดอย่างไร หลังรัฐประหารปี 49 บริบทการเมืองทำให้ มี “สื่อชนเผ่า”ออกมาให้แฟนคลับเลือกเสพ ขณะเดียวกัน นักวิชาการบางคนก็บอกว่า สื่อเหล่านี้เป็นสื่อเลือกข้าง ไม่ใช่สื่อจริง ๆ ?

ก่อนตอบเรื่องนั้น นิธิให้ทรรศนะว่า นับจากปี 35 อันที่จริง สื่อยังไม่มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญเท่าไหร่ โดยดูจาก หนึ่ง สื่อโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ยังมีการจัดองค์กรที่ล้าสมัย ไม่มีการทำงานเชื่อมโต๊ะข่าว ต่างคนต่างรู้เรื่องของตัวเอง ทำให้ไม่ได้ข่าวเจาะลึกจริง 

สองสื่อก้าวไปสู่ธุรกิจแบบทุนนิยมมากขึ้น คือก้าวไปสู่ตลาดหลักทรัพย์

“สิ่งสำคัญของสื่อไม่ได้คิดถึงหน้าที่ตนเองมากกว่าจะรักษาเงินในกระเป๋าหุ้นได้อย่างไร” ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ หลังอำนาจรัฐควบคุมสื่อลดลง อำนาจทุนขยายมากขึ้น ตัวอย่าง โฆษณาทุนรัฐวิสาหกิจซื้อโฆษณาล่วงหน้าไว้ 5 ปี สมมติถ้าเขาระยำไว้ สื่อกล้าแตะไหม สิ่งนี้ทำให้สื่ออ่อนแอ ซึ่งการขายโฆษณาให้รัฐวิสาหกิจแบบนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนยุคทักษิณแล้ว เพียงแต่ทักษิณทำโจ่งแจ้ง

สาม พอสื่อเข้าตลาด ยิ่งแข่งขันหนัก จะแข่งอย่างไร ท่ามกลางการจัดองค์กรที่ไม่ได้เรื่อง หรือแข่งในเรื่องเหลวไหล เช่น ใครสามารถลงข่าวได้ไวกว่า ทั้งๆ ที่ปัจจุบันความไวหนังสือพิมพ์ก็แพ้ทีวีหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่เปลี่ยน คือ คนเข้าถึงสื่อมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 35 ราคามันถูกลง เช่น ในต่างจังหวัดแม่ค้าขายผักและลูกชายก็เข้าถึง ถ้าเขาอยากจะเข้า ดังนั้น “อย่าไปคิดว่าคนต่างจังหวัดไม่รู้เรื่องรู้ราว เขารู้มากเหลือเกิน อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ”

เรื่องสื่อชนเผ่า ในฐานะมนุษย์มันเลือกข้างแน่ ๆ “ในทางหลักการ สื่อเลือกข้างไม่ได้ แม้คนทำสื่อมันเลือกข้าง แต่คุณต้องทำให้ครอบคลุมรอบด้านให้ได้”

“แยกระหว่างหน้าที่กับความเห็นส่วนตัวออกจากกันเสีย”

“เราค่อนข้างจำกัดเรื่องการเมืองจนเกินไป ผมคิดว่า สื่อไทยเลือกข้างตลอดมา ก่อนหน้ามีเสื้อเหลือง เขาก็เลือก”

สื่อเลือกข้างกับธุรกิจขนาดใหญ่ เลือกข้างกับนโยบายการพัฒนา โดยไม่ตั้งคำถามเลยว่า เป็นวิธีการพัฒนาที่ดีที่สุดหรือเปล่า มันมีผลกับสังคมมากมายมหาศาล หวังว่า สื่อดิจิทัลจะสื่อภาพของสังคมให้หลากหลายกว่าสมัยก่อน

“ลึกไปกว่านั้นมันเลือกข้างกับชนชั้นนำ ไม่ว่าโดยรู้ตัว หรือโดนหลอมมา”

นิธิกล่าวว่า ห่วงแห่งการผูกขาดข่าวสารข้อมูล แทนที่จะคิดว่า เขาให้ครองสื่อข้ามกันได้หรือเปล่า แต่เราควรคิดว่าจะป้องกันการผูกขาดข่าวสารข้อมูลอย่างไร อย่างไรก็ตามการแข่งขันในตลาดมีส่วนดีของมันด้วย แต่ไม่แน่ใจว่า ตลาดเพียงอย่างเดียว เพียงพอไหม ถ้ามีรัฐเข้ามาควบคุมแล้วห่วยกว่า ก็คิดไม่ออกว่า จะสร้างกลไกเชิงสังคมวัฒนธรรมมาตรวจสอบถ่วงดุล ควรทำอย่างไร แต่อันนี้สำคัญ

ละครที่ถูกมองว่า น้ำเน่า มันส่งสารอะไรกับสังคม มันส่งสารที่ตอกย้ำให้เห็นอคติทางการเมือง วัฒนธรรม ศาสนา ละครน้ำเน่าก็เป็นตลาดผูกขาดข่าวสารข้อมูล และตลาดไม่อาจสร้างดุลยภาพในการผูกขาดเหล่านี้ได้ด้วย

ควรมีองค์กรกำกับดูแลสื่อดิจิทัลไหม ? สัดส่วนควรไปอยู่องค์กรใด รัฐ ตลาด มากกว่ากัน ?

นิธิมองว่า รัฐไม่น่าไว้วางใจ ไม่ว่าไทยหรือที่อื่น รัฐมักจะเข้ามาคุมสื่อเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เช่น กลุ่มชนชั้นนำที่คุมผลประโยชน์ตนเองผ่านรัฐ ขณะเดียวกัน มันมีสื่อดิจิทัลทั้งหลายที่ช่วยถ่วงดุลตลาดอยู่ในตัว มีข่าวสารที่แตกต่างไปจากช่อง 3 แม้จะมีผู้รับน้อยกว่าก็ตาม

ปฏิรูปสื่อ สำคัญที่สุดคืออะไร ?

นิธิเสนอว่า หน้าที่ของสื่อคือการให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน การให้ข้อมูลข่าวสารที่ขาดดุลยภาพตลอดเวลา

เวลาที่พูดถึงดุลยภาพไม่ใช่แค่เหลืองแดง ดุลยภาพระหว่างกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมก็ยังไม่ได้ถูกสะท้อนออกมา หรือกลุ่มทางการเมืองที่มีมากกว่าเสื้อแดงและกปปส. ก็ยังไม่มีพื้นที่สาธารณะ

ตลอดมา สื่อไทยยังสะท้อนเรื่องราวของคนจำนวนน้อยมาก รู้ว่าพูดง่าย ทำยาก ถ้าไม่ไว้ใจรัฐ ไม่ไว้ใจสื่อเอง ไม่ไว้ใจตลาด

“คุณติดอาวุธให้สังคมตรวจสอบมากขึ้น เช่น ให้บริษัทวัดระดับความนิยม (เรตติ้ง) ไม่ใช่วัดแค่จำนวน แต่วัดกลุ่มคนที่ดูด้วย ให้สังคมรู้จักตนเองมากขึ้น รู้วิธีจะต่อรองกับสื่อมากกว่าการต่อรองผ่านการกดปุ่มว่าจะดูหรือไม่ดู คิดว่าส่วนนี้ ถ้า กสทช.จะสร้างความเข้มแข็งต่อสังคม ในการสร้างการต่อรองเพื่อสร้างดุลยภาพของสื่อก็ดี แต่ทำยังไง ยังนึกไม่ทัน”

ประวัติ : นิธิ เอียวศรีวงค์

  • เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2483 ที่กรุงเทพมหานคร
  • หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2519 ได้เข้ารับราชอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ในช่วงหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่นาน อ.นิธิ จุดประกายในกลุ่มนักคิด นักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมทางสังคมและก่อนตั้งสำนักข่าวประชาธรรม เพื่อทำหน้าที่รายงาน สื่อสารปัญหาและผลกระทบต่อคนจนและผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถแทรกพื้นที่สื่อของรัฐและเอกชนในขณะนั้นได้
  • หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชื่อมโยงเครือข่ายนักวิชาการ นำเสนอการเรียนรู้ เสวนาสาธารณะและกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาโดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
  • ผลงานชิ้นสำคัญ ที่สร้างการยอมรับในแวดวงประวัติศาสตร์คือ ปากไก่และใบเรือ (ปากไก่และใบเรือความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ ที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
  • ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลฟูกูโอกะ และรางวัลศรีบูรพา
  • นิธิ เอียวศรีวงค์ ศาสตราจารย์นักประวัติศาสตร์ ปัญญาชน นักคิด นักเขียนของสังคมไทยเสียชีวิตในวัย 83 ปี

เรียบเรียงโดย : คุณ ธีรมล บัวงาม

คำชี้แจงงาน “75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของนิธิ เอียวศรีวงศ์” จัดใกล้ครบรอบรัฐประหาร

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับข้อเสนอปฏิรูประบบเลือกตั้ง

[คลิป] ‘นิธิ’ วิดีโอคอล ให้กำลังใจ 7 ดาวดิน “ผมอยากจะบอกคุณว่า…”

นิธิ-ชาญวิทย์ นำนักวิชาการ “รดน้ำดำหัวขอขมาเยาวชน” ชม.ในวัดอุโมงค์-กทม.หน้าประตู มธ.

โบราณสถานล้านนากับพิบัติภัย : อดีตและอนาคต

เสวนา “จุดกำเนิดของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทยในยุคสมัยสงครามเย็น”

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ