โบราณสถานล้านนากับพิบัติภัย : อดีตและอนาคต

โบราณสถานล้านนากับพิบัติภัย : อดีตและอนาคต

รศ.สมโชติ อ๋องสกุล ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นประจำปี พ.ศ.2560

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ.2565 เวลาประมาณ 17.15 น.พระเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุ 517 (พ.ศ. 2048-2565) พังทะลาย  โดยมีผู้บันทึกคลิปวีดีโอเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ และโทรทัศน์ได้เห็นการพังทะลายของโบราณสถานเหมือนอยู่ในพื้นที่จริง ทำให้เกิดบทความนี้แบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกรณีการพังทะลายของโบราณสถานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่เกิดจากพิบัติภัยธรรมชาติเท่าที่มีในหลักฐาน ส่วนที่สองนำเสนอในกรอบอริยสัจ 4 โดยประมวลข้อเสนอของนักวิทยาศาสตร์  มาช่วยชี้ทาง เป็นแนวทางในการป้องกันการพังทะลายของโบราณสถานต่อไป

ส่วนที่ 1 กรณีการพังทะลายของโบราณสถานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่เกิดจากพิบัติภัยธรรมชาติเท่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์

1. แผ่นดินไหว

กรณี กู่หลวง หรือเจดีย์หลวง   

กู่หลวงเริ่มสร้างเมื่อ  พ.ศ.1934 สมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ.1928-1944) เสร็จครั้งแรกสมัยพญาสามฝั่งแก่น(พ.ศ.1945-1984)สูง  12 วา  ต่อมาสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) โปรดให้สร้างเสริมให้มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นเป็น  92 ศอก ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 52 ศอก ดัดแปลงซุ้มจระนำด้านตะวันออกให้เป็นซุ้มและแท่นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ครั้งพระแก้วมรกตประดิษฐานที่เชียงใหม่ช่วง พ.ศ.2011-2091 

สมัยพระเมืองแก้วหรือพญาแก้ว (พ.ศ.2038-2068)บูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้งให้สูง 14 วา 2 ศอก ขยายฐานให้กว้างด้านละ 8 วา 2 ศอก (ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า154)  

พ.ศ.2088 สมัยพระนางจิรประภา  (พ.ศ.2088-2089) เกิดพายุและแผ่นดินไหว ยอดกู่หักพังทลายลงมา พร้อมๆ กับพระเจดีย์วัดพระสิงห์  หลังจากนั้นไม่นานใน พ.ศ.2101 เชียงใหม่ก็ตกเป็นของพม่าเป็นเวลากว่าสองร้อยปี (พ.ศ.2101-2317)

กู่หลวง เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์โบราณสถานแบบไม่สร้างใหม่ โดยได้รับการเสริมความแข็งแรงครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2533-2535 ด้วยงบประมาณ 35 ล้านบาท คงสภาพร่องรอยการพังทะลายหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งนั้นสืบมา ซึ่งปัจจุบันมีการเสริมเติมด้วยพลังเทคโนโลยี ดังจะกล่าวในช่วงท้ายบทความนี้

จากปี พ.ศ.2088 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 477 ปี (พ.ศ.2088-2565) คงเกิดแผ่นดินไหวหลายร้อยครั้ง เพราะเชียงใหม่ตั้งบนรอยเลื่อนเชียงใหม่-ลำพูนแต่ยังไม่พบหลักฐานลายลักษณ์ นอกจากหลักฐานไม่เป็นลายลักษณ์เช่นวัดร้างที่พังทลายจำนวนหนึ่ง 

จนถึงปัจจุบันในโลกของข้อมูลข่าวสารเราก็ทราบว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวในเชียงใหม่เมื่อช่วงทศวรรษ 2550  วิหารวัดเสาหิน ต.หนองหอย  อ.เมือง จ.เชียงใหม่  ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังยุคเทศาภิบาลงดงาม เกิดรอยเร้าที่ผนัง ต่อมากรมศิลปากรได้บูรณะให้กลับสู่สภาพเดิม

2.ท่วมใหญ่ น้ำแม่ปิงเปลี่ยนทิศทาง  กรณี เวียงกุมกาม   

ชื่อ “กุมกาม”ปรากฎในหลักฐานสมัยราชวงศ์มังรายเช่นศิลาจารึกวัดพระยืน ลำพูน ใน พ.ศ.1913 และโคลงนิราศหริภุญชัย พ.ศ.2060 แต่ตำนานรุ่นหลังที่เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาเขียนเป็น “กุ่มกวม”เพื่อผูกคำให้เข้ากับพื้นที่ว่า  “การสร้างเมืองคร่อมทับน้ำ”ซึ่งเป็นการสร้างคำใหม่เมื่อแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดินแล้ว (ดู สรัสวดี อ๋องสกุล เวียงกุมกาม:การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา ฉบับพิมพ์ครั้งแรก 2537 หน้า 18-20 ฉบับพิมพ์ครั้งสอง 2546 หน้า24-27 )

2.1 บ้านและเมืองที่หายไปเพราะน้ำท่วมใหญ่

เมื่อกล่าวว่าเวียงกุมกามเป็นเวียงที่ถูกน้ำแม่ปิงท่วมและเปลี่ยนทางเดินจนทำให้เวียงอยู่ใต้แผ่นดินก็นึกภาพไม่ได้ว่าจะเป็นจริง จึงขอนำปรากฎการณ์น้ำท่วมใหญ่สมัยปัจจุบันอย่างน้อย 5 ครั้งต่อไปนี้

  1. เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2531สมัยพลเอกชาติชาย ชุนหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี   เหตุเกิดที่ ต.กระทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราชคนตายไม่น้อยกว่า700 คน 
  2. เมื่อสิงหาคม 2542 สมัยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีเหตุเกิดที่เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรีและจ.ตราด
  3. เมื่อ 4 พฤษภาคม 2544สมัย พตท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกมนตรีเหตุเกิด ที่ ต.สรอย ต.แม่พุง ต.แม่กระต่อม ต.แม่ลา อ.วังชิ้น จ.แพร่ คนตายไม่น้อยกว่า23ราย
  4. เมื่อ 11 สิงหาคม 2544 สมัย พตท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีเหตุเกิดที่ต.น้ำก้อ ต.น้ำชุน ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ คนตายไม่น้อยกว่า73ราย(มติชน 14 สค.2544หน้า 2)
  5. วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547สมัย พตท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี เกิด “สึนามิ” ที่ริมฝั่งอันดามัน  สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

ปรากฎการณ์น้ำท่วมใหญ่ทั้ง 5 ครั้งดังกล่าวทำให้เห็นพลังของสายน้ำ ที่เปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วและรุนแรงทำให้ชีวิต สิ่งของ หมู่บ้านหรือเมืองทั้งเมืองจมอยู่ใต้โคลนดินทรายที่โถมทับได้

 2.3.เมืองในตำนานล้านนา-ล้านช้างที่อยู่ใต้แผ่นดิน

เวียงกุมกามไม่ใช่เป็นเเมืองแรกที่ตกอยู่ใต้แผ่นดินเพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ก่อนหน้านั้นมีหลายเมืองดังปรากฏในตำนาน เช่น

 (1)เมืองแถน ตำนานล้านช้างระบุว่า “แถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่มลีดเลียงท่วมเมืองเพียงละลาย คนทั้งหลายก็ฉิบหายมากนักแล” (ดู ประชุมพงศาวดาร เล่ม 2 คุรุสภา.2506หน้า137)

(2)โยนกนครหรือเมืองนาคพันธ์สิงหนวัตนคร เมื่อประมาณ พ.ศ.1558 ตำนานเชียงแสนระบุว่า”กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่”(ดู ประชุมพงศาวดารภาคที่ 16 เล่มที่ 31 คุรุสภา2512หน้า44-48)

(3)ประมาณพ.ศ.2260 ตำนานเชียงแสนระบุว่า เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงแสนน้ำโขงท่วมเมืองเชียงแสน วัดต้นตอ วัดต้นแก้ว วัดบุญยืน วัดพระบวช ยุบจมลงทั้งสี่วัด (ดู ประชุมพงศาวดาร เล่ม 3 คุรุสภา 2506 หน้า269)

2.4.เริ่มพบร่องรอยโบราณคดีเวียงกุมกาม 

ร่องรอยเวียงกุมกามเมืองในตำนานปรากฏให้เห็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2527โดยชาวบ้านขุดพบพระพิมพ์ดินเผาแบบต่างๆจำนวนมากในเขตวัดช้างค้ำ บริเวณสนามหญ้าหน้าโรงเรียนวัดช้างค้ำ หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ (ชื่อหน่วยงานเวลานั้น)  ต้องเข้าระงับแล้วดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่าบริเวณสนามหญ้าหน้าโรงเรียนวัดช้างค้ำเป็นวิหารใหญ่ (2528) จากนั้นได้ขุดแต่งแหล่งอื่นๆที่ใกล้เคียงเช่นโบราณสถานวัดอีก้าง วัดปู่เปี้ย วัดน้อย (2529)วัดหัวหนอง วัดกู่ไม้ซ้ง วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดธาตุขาว (2532)(ดู  รายงานการขุดแต่งศึกษาและบูรณะโบราณสถานเวียงกุมกาม หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ พ.ศ.2531-2532) และมีการสำรวจเรื่อยมาล่าสุด(2545)พบว่ามีร่องรอยวัดร้างในเขตกำแพงเวียงกุมกามไม่น้อยกว่า วิหารหลวง วัดหลวงราชสัณฐาน  ถูกพายุพัดพัง  เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2527 แห่งและนอกกำแพงไม่น้อยกว่า 5 แห่ง (ไทยรัฐ 16 ส.ค. 2545 หน้า 5)

2.5.การสืบค้นร่องรอยประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม 

ปี 2529 สรัสวดี อ๋องสกุลได้เริ่มทำวิจัยเรื่องเวียงกุมกาม ทำให้ทราบว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชยประมาณพุทธศตวรรษที่ 17  รุ่นเดียวกับชุมชนโบราณริมน้ำปิงแห่งอื่นเช่นเวียงมโน เวียงท่ากาน เวียงเถาะ โดยมีเศษจารึกภาษามอญโบราณเป็นหลักฐาน ครั้นพญามังรายยึดเมืองลำพูนได้ก็มาตั้งเวียงกุมกามเป็นศูนย์กลางการปกครอง 2 ลุ่มน้ำ คือน้ำแม่กกและน้ำแม่ปิง 

 จากการสำรวจร่องน้ำปิง “ห่าง” ( “ห่าง” เป็นภาษาล้านนาแปลว่า “ร้างหรือ ถูกทอดทิ้ง”)  และปิงเก่าประกอบข้อมูลทางธรณีวิทยาทำให้ทราบสาเหตุที่ทำให้เวียงกุมกามอยู่ใต้แผ่นดินคือการเปลี่ยนแปลงเส้นทางของน้ำแม่ปิง  “ห่าง”โดยมีการทับถมของตระกอนทรายปรากฎให้เห็นชัด (ดู สรัสวดี อ๋องสกุล  เวียงกุมกาม:การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา  พิมพ์ครั้งแรก 2537 และฉบับปรับปรุง 2546)

2.6 ปีตั้งเวียงกุมกาม

จากชินกาลมาลีปกรณ์ซึ่งเขียนโดยพระรัตนปัญญาเถระเมื่อ พ.ศ. 2067 ระบุว่า พญามังรายตีได้เมืองลำพูนเมื่อ จุลศักราช654(ตรงกับ พ.ศ.1835) โดยมีแผนยุทธศาสตร์ทำสัญญาสามกษัตริย์เมื่อ จุลศักราช 649 (ตรงกับ พ.ศ.1830) หลักฐานนี้ระบุว่าเมื่อยึดลำพูนได้แล้วก็มาสร้าง “นครกุมกาม”ต่อมาจึงสร้างเชียงใหม่(ดู ชินกาลมาลีปกรณ์ แปลจากภาษาบาลีโดย รตท.แสง มนวิทูร 2517 หน้า 101-102)  

หลังจากยึดลำพูนได้แล้วพญามังรายอยู่ลำพูน 2 ปี จึงสร้างเวียงแห่งใหม่เรียกว่า “เวียงกุมกาม”ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1837  (สรัสวดี อ๋องสกุล เวียงกุมกาม 2537 หน้า 34 ฉบับ 2546 หน้า 44)

2.การดำรงอยู่ของเวียงกุมกาม

เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.1839แล้ว หลักฐานร่วมสมัยยังกล่าวถึงเวียงกุมกามเช่นในศิลาจารึกวัดพระยืน พ.ศ.1913 ในโคลงนิราศหริภุญชัย พ.ศ.2060 

สมัยพญาแสนภู(พ.ศ.1868-1877)โปรดฯให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ   “โถ”ให้นางจิ่มคำอัครเทวีเสด็จไปเวียงกุมกาม  สมัยพญาแสนเมืองมา(พ.ศ.1928-1945)โปรดฯให้ตั้งชื่อโอรสองค์ที่2ว่าท้าวยี่กุมกาม พร้อมได้กัลปนาที่ดินให้วัดกานโถม และสมัยพระเมืองแก้ว(พ.ศ.2038-2068)โปรดฯให้สร้างที่ประทับไว้ที่เวียงกุมกาม

จากร่องรอยปูนปั้นเจดีย์วัดปู่เปี้ยซึ่งคล้ายของวัดเจ็ดยอดล้วนเป็นหลักฐานว่าเวียงกุมกามได้รับการทำนุบำรุงสืบมาอย่างน้อยถึงสมัยพญาแก้ว(พ.ศ.2038-2068) (ดู สรัสวดี อ๋องสกุล เวียงกุมกาม 2537 หน้า 69 ฉบับ 2546 หน้า 72)

ปลายสมัยพญาแก้วใน พ.ศ. 2067 เกิดอุทกภัยใหญ่ในเชียงใหม่คนตายมาก (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หน้า 86)แม้ไม่ได้กล่าวถึงเวียงกุมกามซึ่งน้ำปิงท่วมเป็นประจำดังหลักฐานกล่าวว่า   “ยามกลางวรรษาน้ำท่วมฉิบหายมากนัก”(ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61) ก็กล่าวได้ว่าครั้งนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เวียงกุมกามด้วยแต่ยังมีเวียงกุมกาม

2.ช่วงเวลาที่เวียงกุมกามตกลงไปอยู่ใต้ดิน

ปลายสมัยราชวงศ์มังรายคือสมัยท้าวแม่กุ (พ.ศ. 2094-2101)แม่น้ำปิงยังไหลอยู่ตามแนวปิงห่างแสดงว่าน้ำยังไม่เปลี่ยนทางเดิน แต่สมัยกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2317มาพักทัพที่ท่าวังตาลริมแม่น้ำปิงเส้นทางปัจจุบันแล้ว แสดงว่าแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดินครั้งใหญ่ในช่วงพม่าปกครองเชียงใหม่(พ.ศ.2101-2317)โดยไม่พบเอกสารระบุปี

แต่หลักฐานร่วมสมัยคือพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวถึงเชียงใหม่ว่าเมื่อพ.ศ.2200   “น้ำถ้วมเมืองชุแห่ง” พระแสนเมืองได้เป็นเจ้าฟ้าครองเชียงใหม่ (ดู สรัสวดี อ๋องสกุล เวียงกุมกาม ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2546 หน้า 106 และโปรดดู พื้นเมืองเชียงแสน ปริวรรต ตรวจสอบวิเคราะห์โดยสรัสวดี อ๋องสกุล สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการจัดพิมพ์ในโครงการประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์บรรณาธิการ 2546) หลังการขุดแต่งทางโบราณคดีตั้งแต่2527จึงพบแต่ตะกอนดิน ทรายและกรวดทับถมโบราณสถานหนาประมาณ 1.50-2.00 เมตร (สรัสวดี อ๋องสกุล เวียงกุมกาม 2537หน้า 64-71 ฉบับ 2546 หน้า 98)

หลักฐานลายลักษณ์ชิ้นสำคัญ คือเครื่องถ้วยจีนที่มีจารึกชื่อ ต้าหมิงหวั่นหลี่ จักรพรรดิ์จีนราชวงศ์หมิง (พ.ศ.2116-2166)ที่พบบริเวณวัด “ริมน้ำแม่ปิง” ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดหนานช้าง” ซึ่งเครื่องถ้วยจีนที่พบใต้ดินต้องมาก่อนน้ำท่วมใหญ่ ก่อนเวียงกุมกามตกอยู่ใต้ดิน คือช่วงพม่าปกครองเชียงใหม่ (พ.ศ.2101-2317)ประมาณสมัยพระเอกาทศรถ ครองกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2148-2154)ถึงสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2154-2171)

ส่วนนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยว่าเวียงกุมกามตกอยู่ใต้ดินเพราะน้ำท่วมใหญ่และแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง ก็ต้องหาคำตอบว่า (1)ทำไมพบทรายจำนวนมากในแนวจากปิงห่างมาปิงปัจจุบัน (2)อิฐผนังวิหารวัดหนานช้างล้มลงเรียงตามแนวแรงกระแสน้ำถมด้วยทรายจำนวนมาก (3)ทำไมมีร่อยรอยวัดร้างในแม่น้ำปิงปัจจุบัน ณ บริเวณหน้าประตูกั้นน้ำชลประทาน ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่  

3.พายุใหญ่ หรือลมหลวง 

3.1 กรณี พระวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อ พ.ศ. 2458 ลมหลวงแรงขนาดอาคารวิหารหลวงพังราบ องค์พระประธานเศียรหักตกกองด้านหน้าพระประธาน (ดังภาพในสำราญ กาญจนคูหา รวมสุดยอดพระเครื่องเมืองลำพูน หน้า 41 )

(ที่มา:สำราญ กาญจนคูหา รวมสุดยอดพระเครื่องเมืองลำพูน  หน้า 41 )

3.2 กรณีวิหารหลวงวัดหลวงราชสัณฐาน หรือวัดหลวงใน  อ.เมือง จ.พะเยา เมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2527 วันเกิดเหตุเป็นวันกรรมกรประจำปี 2527 คนงานก่อสร้างหยุดงานจึงไม่มีคนเสียชีวิต แต่อาคารพังราบ  โชคดีคุณบุญรัตน์ ทิพยมณี ถ่ายภาพวิหารหลวงวัดราชสัณฐาน และคุณเกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ นำเผยแพร่ใน จดหมายเหตุเมืองพะเยา  พ.ศ.2556 หน้า 49 และมีผลงานภาพเขียนเส้นและภาพถ่ายของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์  ศิลปินแห่งชาติ  ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดู งานเขียนเส้นของเฟื้อ หริพิทักษ์  พ.ศ.2523 หน้า 170-171  ขอบคุณอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติผู้มอบหนังสือ และขอบคุณอาจารย์วิมล ปิงเมืองเหล็กผู้ยังจำวันเดือนปีที่วิหารหลวงพังให้ข้อมูลเมื่อ 1 ต.ค. 2565)        

(ที่มา : งานเขียนเส้นของเฟื้อ หริพิทักษ์  พ.ศ.2523 หน้า 170-171  )

(ที่มา : งานเขียนเส้นของเฟื้อ หริพิทักษ์ พ.ศ. 2523 หน้า 170-171)
(ที่มา:เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ จดหมายเหตุเมืองพะเยา  พ.ศ. 2556 หน้า 49)

วิหารหลวง วัดหลวงราชสัณฐาน ก่อนถูกพายุพัดพัง

วิหารหลวง วัดหลวงราชสัณฐาน  ถูกพายุพัดพัง  เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2527

4.ฝนตกหนัก 

4.1 กรณีเจดีย์วัดสวนดอก สมัยพญากือนากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 6 (พ.ศ.1898-1928) โปรดให้นิมนต์พระสุมณเถรพระสงฆ์จากกรุงสุโขทัย อัญเชิญพระบรมธาตุ มาประดิษฐานที่วัดสวนดอกตั้งแต่ พ.ศ.1918 โดยมีเจดีย์บริวารรายรอบเจดีย์องค์ประธาน ครั้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2496 ฝนตกหนัก เจดีย์บริวารองค์หนึ่งได้พังทะลาย เหลืออีกด้านติดกับวิหารไม่พัง ปล่อยค้างไว้จะเป็นอันตราย ต่อมามีรายงานข่าวว่า พระครูสุคันธศิล (คำแสน) เจ้าอาวาสวัดสวนดอก ได้ขอกำลังตำรวจพลร่ม จากค่ายนเรศวร ซึ่งเวลานั้นตั้งค่ายที่บริเวณโรงเรียนวัดสวนดอกปัจจุบัน ใช้เชือกดึงส่วนที่ยังค้างลงมา แต่ไม่ลงจึงใช้ระเบิดทำลายให้ส่วนที่เหลือพังลงมา  ครั้งนั้นพบของมีค่าในเจดีย์ที่พังจำนวนหนึ่ง 

ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2496 พระครูสุคันธศิล (คำแสน) เจ้าอาวาสวัดสวนดอกปรึกษากับพระธรรมราชานุวัตร (ฟู อตฺตสิโว) เจ้าคณะตรวจการสงฆ์ภาค 5 แล้วชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวว่าตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรไม่ได้เกี่ยวกับการรื้อถอนครั้งนั้น  อย่างไรก็ดีภาพที่ปรากฎเห็นได้ว่ามีการใช้เชือกดึงเจดีย์ส่วนที่ยังเหลือให้พังลงมา (หนังสือพิมพ์คนเมือง ปีที่ 1 สัปดาห์ที่ 47 ประจำวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2496 (ราคา 1 บาท) อ้างใน เชาว์ ตระการศิลป์ (เตี่ย) ผู้สะสมภาพเก่า ประชา ตระการศิลป์(พ.ศ.2476-2547) (ลูก) ผู้เขียน  สมุดภาพเชียงใหม่ในอดีต กรุงเทพ: บริษัทฟิงเกอร์ปริ้นต์ แกนด์ 2549 หน้า 80) 

 

(ที่มา : หนังสือพิมพ์คนเมือง ปีที่ 1 สัปดาห์ที่ 47 ประจำวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2496  อ้างใน  เชาว์ ตระการศิลป์ (เตี่ย) ผู้สะสมภาพเก่า ประชา ตระการศิลป์(พ.ศ. 2476-2547) (ลูก) ผู้เขียน  สมุดภาพเชียงใหม่ในอดีต  กรุงเทพ : บริษัทฟิงเกอร์ปริ้นต์ แกนด์ 2549 หน้า 80)

4.2 กรณีวัดพันอ้น เมื่อคืนวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549 

บริเวณวัดพันอ้น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เดิมมี 2 วัดคือวัดพันอ้น กับวัดเจดีย์ควัน  ทั้งสองวัดมีเจดีย์ขนาดสูง 4-5 เมตร  สมัยพระอภัยสารทะ วัดทุงยูดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ให้วัดพันอ้นเป็นที่ตั้งสำนักเรียนประจำจังหวัด จึงขยายพื้นที่วัดพันอ้นมาทางตะวันตกที่ตั้งวัดเจดีย์ควันซึ่งเป็นวัดร้าง จึงรวมเข้ากับวัดพันอ้น (พ.ศ.2480 พระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ขณะเป็นพระสมุห์ดวงคำ เคยเห็นควันพุ่งออกจากพระเจดีย์ควัน เป็นกรวยพุ่งประดุจควันไฟ ขนาดลำสาดกะลา(เสื่อที่สานด้วยไม้ไผ่) พุ่งขึ้นประมาณ 20 นาทีก็หายไป : มณี พยอมยงค์ ศรีปริตยานุสรณ์ 25 ก.พ. 2532 หน้า 12)

สมัยพระครูศรีปริยัตยานุรักษ์ (ไฝ ญาณวุฑฺฒิ )(พ.ศ. 2455-2531) เป็นเจ้าอาวาสวัดพันอ้น(พ.ศ. 2489-2526)เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2509-2531) พ.ศ.2500 รื้อเจดีย์วัดเจดีย์ควัน สร้างศาลาการเปรียญ และ  บูรณะเจดีย์วัดพันอ้น สูง 10 เมตร  ต่อมาเจดีย์วัดพันอ้น เกิดรอยเร้าทั้งสองด้าน เมื่อฝนตกหนักเจดีย์พังเมื่อคืนวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549 

4.3 กรณีกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นใน บริเวณประตูหัวเวียงหรือประตูช้างเผือก  เมื่อเช้าวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2565

กำแพงเมืองชั้นในด้านเหนือยาว 1,647 เมตร ด้านตะวันออกยาว 1,594 เมตร ด้านตะวันตกยาว 1,602 เมตร ด้านใต้ยาว 1,623 เมตร เป็นแกนดินอิฐหุ้ม เริ่มสร้างเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ.1839 เวลาประมาณ 4.00 นาฬิกา  มีคูเมือง (อ่านว่าคือ) เดิมกว้าง 20 วาลึก 2 วา ล้อมรอบทั้งสี่ด้าน

ครั้นสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย(พ.ศ.2038-2068)  ในช่วง พ.ศ. 2059-2060 โปรดฯให้ก่ออิฐฉาบปูนหุ้มคันดิน (ดู ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี 2539 หน้า 85 ) 

จากการขุดแต่งทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2539   นักโบราณคดีพบว่าแนวกำแพงชั้นในที่บูรณะ   สมัยเจ้ากาวิละนั้นสร้างซ้อนเสริมแนวกำแพงอิฐมีปูนฉาบที่สร้างสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2038-2068)  ในช่วง พ.ศ.2059-2060 โดยพบที่บริเวณแจ่งศรีภูมิ

กำแพงชั้นในมีประตูเมือง 5 ประตูคือ (1) ประตูหัวเวียง (ต่อมาเรียกประตูช้างเผือก)(2) ประตูเชียงเรือก(ต่อมาเรียกประตูท่าแพชั้นใน)(3) ประตูเชียงใหม่ (เอกสารบางชิ้นเรียกประตูช้างใหม่) (4) ประตูสวนดอก (5) ประตูแสนปุง(ต่อมาเรียกประตูสวนปรุง) 

ประตูหัวเวียงหรือประตูช้างเผือก

เมื่อแรกสร้างใน พ.ศ.1839 เรียกว่าประตูหัวเวียง ต่อมาสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1928-1944)โปรดฯให้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก 2 เชือกด้านทิศเหนือของเวียงซึ่งเป็นบริเวณบ้านเชียงโฉม เพื่อระลึกถึงอ้ายออบและอ้ายยีระยา สองมหาดเล็กที่ช่วยกันผลัดกันแบกพระองค์ครั้งมีศึกกับกรุงสุโขทัย ดังนั้นตั้งแต่ พ.ศ.2089 จึงเริ่มปรากฎชื่อเรียกประตูแห่งนี้ว่าประตูช้างเผือก 

แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ ฉบับเขียนประมาณสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7
(พ.ศ.2416-2440) แสดงที่ตั้งประตูหัวเวียงหรือประตูช้างเผือกและลักษณะประตู 2 ชั้น

สมัยพระเจ้ากาวิละครองเชียงใหม่ ได้บูรณะประตูช้างเผือกเมื่อ พ.ศ.2344 และ โปรดฯให้เรียกชื่อช้างทั้งสองเชือกว่าช้างปราบจักรวาลและช้างปราบเมืองมาร มีการทำพิธีบูชาในช่วงสืบชะตาเมืองเป็นประจำทุกปี

ช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2502-2506) เป็นยุคพัฒนามีการสร้างหอนาฬิกาและน้ำพุในเมืองสำคัญทั่วประเทศ ดังนั้นจึงมีการสร้างน้ำพุ ณ บริเวณด้านหน้าประตูช้างเผือก ต่อมาประมาณ พ.ศ.2508 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีการขยายพื้นผิวจราจรได้มีการรื้อกำแพงเมืองชั้นในบางส่วน และประมาณ พ.ศ.2509-2512 มีการปรับปรุงประตูเมือง

ต่อมากลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมผลักดันโครงการสร้างน้ำพุหน้าประตูช้างเผือกอีกครั้งดำเนินการสร้างน้ำพุที่ประตูช้างเผือก ใน พ.ศ.2542โดยไม่สนใจรากฐานประตูเมืองและไม่ได้ขออนุญาตกรมศิลปากร  นำสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง(พ.ศ.2544-2545)และศาลปกครองสูงสุด(พ.ศ.2546) มีการประนีประนอมระหว่างส่วนราชการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อมามีมติ “ย้ายน้ำพุ” ประตูช้างเผือกไปกองไว้ที่สวนล้านนา ร.9 

ในต้นปี พ.ศ.2552 กรมศิลปากร ขุดแต่งทางโบราณคดีบริเวณประตูช้างเผือก ตามหลักฐานแผนผังเชียงใหม่ ฉบับเขียนประมาณสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7(พ.ศ.2416-2440)ถึงสมัยเจ้าอินทวโรรส เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 (พ.ศ.2444-2452) ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีพบแนวกำแพงหน้าประตูช้างเผือก เห็นช่องกว้างของประตูขนาดช้างเดินผ่าน 1 เชือก ขุดค้นเสร็จก็ถม    

เช้าวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2565 ช่วงฝนตกหนัก กำแพงเมืองชั้นในบริเวณประตูเชียงใหม่ที่บูรณะช่วง พ.ศ. 2509-2512 บางส่วนได้พังลง

4.5 กรณีเจดีย์วัดศรีสุพรรณ  เมื่อเย็นวันพฤหัสที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565

วัดศรีสุพรรณ มีจารึกสมัยพระเมืองแก้วกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย(พ.ศ.2038-2068) เป็นหลักฐานสำคัญ ศิลาจารึกวัดศรีสุพรรณซึ่งทำด้วยหินทรายแดงจารึกด้วยอักษรฝักขามระบุพระเมืองแก้วและพระราชมารดาโปรดเกล้าฯให้เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำรังการสร้างวัดชื่อวัดศรีสุพรรณอารามเมื่อพ.ศ.2043  และระบุปีสร้างเจดีย์ดังนี้

ในปีดับเปล้า(ตรงกับปีฉลู สัปตศก พ.ศ.2048) เดือนวิสาข ไทว่าเดือน 6 โหรออก 2 ค่ำวันพุธ ไท(วัน)ร้วงไส้ ยามกลองงาย(เวลา 07.30-09.00 น.) ก่อมหาเจดีย์ ถาปนาสาริกธาตุพระพุทธเจ้า (ดู ศิลาจารึกวัดศรีสุพรรณ. ใน ประวัติวัดศรีสุพรรณ จัดพิมพ์เนื่องในงานปอยหลวงพระวิหารและเสนาสนะ ถาวรวัตถุวัดศรีสุพรรณ วันที่ 27-31 มีนาคม 2541 หน้า 9-15)

เจดีย์วัดศรีสุพรรณ เป็นรูปแบบเจดีย์ทรงกลมแบบศิลปล้านนา ที่มีการคลี่คลายรูปแบบไปจากเดิมมากเช่น การสร้างฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จ และฐานบัวในผังแปดเหลี่ยม ส่วนประกอบของเจดีย์ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ต่อด้วยชุดฐานบัวหรือฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ที่มีการยกเก็จ ชุดฐานต่อขึ้นไปด้วยชั้นบัวคว่ำบัวหงายที่ทำเป็นกลีบบัวรอบทุกด้าน ทรงแปดเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป 8 ชั้นต่อด้วยองค์ระฆังทรงแปดเหลี่ยม ต่อด้วยบัลลังก์แปดเหลี่ยม ต่อด้วยก้านฉัตรทรงกลม บัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลีและฉัตร (สุรชัย จงจิตรงาม โครงการวิจัยเพื่อหนุนเสริมวิชาประวัติศาสตร์ (ศิลปกรรม)กลุ่มศิลปกรรมย่านโรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ พ.ศ.2554)

จากศักราชในจารึกดังกล่าวทำให้รู้อายุของเจดีย์วัดศรีสุพรรณที่พังลงเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ว่าอายุ 517 ปี( พ.ศ. 2048-2565) และ จากป้ายหินอ่อนด้านข้างเจดีย์ ทำให้รู้ว่า เจดีย์วัดศรีสุพรรณบูรณะเมื่อ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2518 โดยมีเจ้าศรัทธาเป็นญาติผู้ใหญ่ในตระกูลไชยวงศ์ ไชยวรรณ คชรัตน์  ดำรงฤทธิ์ และตระกูลเจ้ากาวิละ การบูรณะครั้งนั้นใช้เงิน 87,000 บาท (อ่านป้ายเมื่อ 1 ตุลาคม 2565 หลังเจดีย์พัง) ช่วงหลัง พ.ศ.2518 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 47 ปีเป็นช่วงเกิดรอยร้าวรับน้ำฝน  

5.โบราณสถานนอกเขตล้านนา ที่สำคัญ เช่น องค์พระธาตุนครพนม ศูนย์รวมจิตใจสองฝั่งแม่น้ำโขง  พังทะลายลงมาเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518  และองค์พระธาตุมุเตา หรือเจดีย์ชเวมอดอว์ เมืองพะโคหรือหงสาวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งพังลงมาเพราะแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460)

อนึ่งกรณีองค์พระธาตุมุเตาเป็นตัวอย่างของการบูรณะเพื่อการเรียนรู้ที่ดีคือหลังบูรณะแล้วยังรักษาจุดที่ยอดพระธาตุตกลงพื้น เหมือนกรณียอดพระธาตุเถรจันทร์ในเขตป่าหลังวัดอุโมงค์ฯ ที่ยังคงไว้จุดเดิมหลังบูรณะ กรณีพระธาตุมุเตารู้วันเดือนปีที่พังจึงเขียนไว้ที่ยอดพระธาตุ  

กรณีเจดีย์วัดศรีสุพรรณซึ่งรู้วันเดือนปีที่พัง ดังนั้นหลังบูรณะแล้ว ควรทำหมุดที่พื้นแสดงจุดที่ยอดพระธาตุตกลงพื้นพร้อมจารึกวันเดือนปีที่พังเพื่อเพิ่มเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าให้วัด โรงเรียนและชุมชนต่อไป  

ส่วนที่ มองในกรอบอริยสัจ (ความจริงอย่างประเสริฐ) โดยเหตุที่โบราณสถานในไทยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาจึงขอนำกรอบอริยสัจ 4 เป็นแนวนำเสนอเพื่อสงฆ์และฆวาวาสผู้รู้ได้ช่วยเพิ่มเติมเพื่อป้องกัน “ทุกข์”ไม่ให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก 

1.ทุกข์  ความเสียหายทุกรายการดังกล่าวในคติพุทธถือว่าล้วนเป็นทุกข์  ซึ่งพจนากรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แปลว่า สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้   

2.สมุทัย (พจนากรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ของพระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต ปัจจุบันคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) แปลว่าเหตุให้เกิดทุกข์) 

2.1 ปัจจัยภายใน  

1) วัสดุในการก่อสร้าง เช่น อิฐซึ่งผสมดินกับแกลบ   ดินเหนียว ปูนตำ  ไม้ กาวจากหนังสัตว์ ฯลฯ ในโบราณสถานรุ่นเก่าที่มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี  เป็นวัสดุที่พร้อมจะเปลี่ยนสภาพไปตามกาลเวลาและภาวะแวดล้อม  ยิ่งนานวัสดุยิ่งเสื่อมสลายและเกิดรอยร้าวขยายขึ้นตามลำดับ เป็นช่องทางให้น้ำฝนลงสะสมและต้นไม้เช่นต้นโพธิ์  เริ่มหยั่งราก 

ปัจจุบัน นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่พบแหล่งถลุงเหล็กโบราณที่บ้านแม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน (ดู ยอดดนัย สุขเกษม “แหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่ลาน :ข้อมูลใหม่ของแหล่งโลหกรรมช่วงต้นสมัยเหล็กในดินแดนล้านนา” นิตยสารศิลปากร ปีที่ 25 ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2565 หน้า 5-18) แม้ไม่พบหลักฐานการใช้เหล็กจากแหล่งดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง     นักโบราณคดีก็พบการใช้เหล็กในเจดีย์ที่มีการประดับฉัตร ซึ่งมีการเสียบเหล็กแกนเจดีย์ไปรับแกนวงฉัตร เช่นพบที่วัดจอมสวรรค์ เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  วัดส้มสุก ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ (ขอบคุณคุณวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีอิสระ ผู้ให้ข้อมูลและภาพ เมื่อ 6 ตุลาคม 2565)

อนึ่ง เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้สำรวจอิฐที่มีแกลบข้าวจากแหล่งโบราณสถานในไทย ทำให้สามารถกำหนดพื้นที่วัฒนธรรมคนกินข้าวจ้าวและคนกินข้าวเหนียวได้  (ดู จุลสารโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 

2)คนโบราณทั้งช่าง สงฆ์และฆราวาส เข้าใจในคติจักรวาล เมื่อสร้างศาสนสถานเช่นเจดีย์  วิหาร อุโบสถแล้ว เทพื้นเป็นทรายเพื่อเป็นเสมือนทะเลสีทันดร  ส่งผลให้การระบายอากาศที่รอบๆ ศาสนสถานเช่น  เจดีย์  วิหาร อุโบสถ ฯลฯมีพื้นทรายเป็นช่องระบายอากาศและความชื้น  ต่อมาในยุคปัจจุบันทั้งช่าง สงฆ์และฆราวาสผู้เป็นเจ้าศรัทธาชื่นชมกับแผ่นกระเบื้องที่มีสีสันงดงาม ยามลมแรงก็ไม่มีฝุ่นฟุ้ง จึงทะยอยเปลี่ยนลานวัดที่เป็นพื้นทรายเป็นลานกระเบื้องเกือบทุกวัดทั่วไทย  ส่งผลให้ปิดช่องทางระบายอากาศและความชื้น องค์พระเจดีย์ได้สะสมความชื้นและความร้อนจนกลายเป็น “หม้อนึ่งไอน้ำ” 

3.นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งตั้งข้อสัณนิษฐานว่า   จังโก (โลหะผสมรีดให้บางเรียบเพื่อหุ้มหรือบุเจดีย์)     ที่ในอดีตกษัตริย์โปรดฯให้หุ้มจังโกและปิดแผ่นทองคำเปลวทั่วองค์พระเจดีย์และต่อมาวัดใหญ่ๆ นิยมนำหุ้มจังโกและปิดแผ่นทองคำเปลวเพื่อให้พระเจดีย์เก่างดงาม  ก็อาจเป็นตัวเร่งให้เจดีย์รุ่นเก่ากลายเป็นหม้อนึ่งไอน้ำ

(เจดีย์วัดศรีสุพรรณพัง
 ภาพโดยสมโชติ อ๋องสกุล 1 ตุลาคม 2565)

สภาพ “หม้อนึ่งไอน้ำ” กรณีเจดีย์วัดศรีสุพรรณ  ทำให้เนื้อปูน/ดิน ในเจดีย์หมดสภาพไม่เกาะกันแล้ว  (รศ.ดร.สาโรช   รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกซ์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  1 ต.ค.2565)

2.2 ปัจจัยภายนอก 

“ทุกข์” ดังกล่าวทุกรายการมาจากพิบัติภัยธรรมชาติ เป็นหลัก เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ ฝนตกหนัก ฯลฯ ซึ่งหนักเบาแล้วแต่ละกรณี  ประเทศไทยโชคดีพายุส่วนใหญ่ที่เกิดจากมหาสมุทรแปซิฟิค เมื่อเข้าไทยลดความรุนแรงลงมากแล้ว มีเพียงรายการเดียว คือ พระธาตุนครพนม ผู้เขียนคิดว่านอกจากพิบัติภัยธรรมชาติแล้ว กรณีนี้เกิดจาก “แรงกดทางอากาศ” ของเครื่องบินรบจากฐานทัพอเมริกาในไทยนำระเบิดถล่มในสงครามเวียดนาม ตั้งแต่ พ.ศ.2505-2518 

พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ไทยยอมให้สหรัฐใช้ดินแดนไทยเป็นฐานทัพหลายแห่งเช่นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์   อ.โคราช จ.นครราชสีมา (เมื่อ พ.ศ. 2505/ค.ศ. 1962) อุดรธานี (พ.ศ. 2507/ค.ศ. 1964) อู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี (พ.ศ. 2508/ค.ศ. 1965) อนุญาตให้สหรัฐฯตั้งศูนย์บัญชาการโทรคมนาคมทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นเครือข่ายอิเลคทรอนิคส์ที่สามารถดักฟังคลื่นวิทยุทั่วอินโดจีนที่ค่ายรามสูร (พ.ศ.2508-2509/ค.ศ. 1965-1666) มีทหารสหรัฐในไทยเพิ่มเขึ้นจาก 7,000 คนในพ.ศ. 2507(ค.ศ.1964) เป็น 45,000 คน ใน พ.ศ.2511 (ค.ศ. 1968) เป็น 48,000 คนใน พ.ศ. 2512(ค.ศ. 1969) ส่งเครื่องบิน B-52 นำระเบิดไปทิ้งในเวียดนาม ถึง 613 เที่ยวบิน โดยมีเครื่องบินขับไล่แบบต่างๆ บินในภารกิจคุ้มกันถึง 2,066เที่ยวบิน (ดู อมร แนวมาลี  สงครามทางอากาศในเวียดนาม กรุงเทพ : เอวิเอชั่น หน้า 51)

ที่มาของภาพhttps://www.silpa-mag.com/history/article_11148

พระธาตุนครพนมพังลงมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518  

3.นิโรธ (ความพยายามที่จะทำให้รู้แจ้ง เพื่อดับทุกข์)

3.1 วัดที่สร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย ที่ผ่านกาลเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 500-700 ปี ล้วนอยู่ในภาวะเสี่ยง ดังนั้นวัดและชุมชนต้องช่วยกันดูแลโบราณสถาน สังเกตความเปลี่ยนแปลง เช่นมีรอยร้าว  มีต้นโพธิ์หยั่งราก ฯลฯ ต้องดำเนินการแก้ไข หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งปัจจบันสะดวกมากเพราะสามารถสื่อสารด้วยสมาร์ทโฟน

3.2  กรณีที่เกิดจากฐานรากใต้ดินทรุดตัวลง   นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งเสนอว่า กรมศิลปากรต้องส่งวิศวกรโครงสร้างประเมินความเสี่ยงเจดีย์รุ่นเก่าแห่งอื่นๆ ที่ล้วนอยู่ในภาวะเสี่ยง  เพื่อหาทางป้องกัน (ดร.ศรันย์  โปษยจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 2 ตุลาคม 2565)

3.3 นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง เสนอว่า เรื่องนี้ควรเสนอให้เป็นงานระดับชาติ ให้หน่วยงานอื่นมีส่วนร่วมเช่น       กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ซึ่งมีเทคโนโลยี ทุกสเกล ตั้งแต่แผนที่ภูมิศาสตร์ บนดิน ใต้ดิน การวัดตำแหน่ง สแกน 3 มิติ  วัดการบิดตัว  วัดการรับกำลัง  วิเคราะห์วัสดุ  เสริมความแข็งแรง กันน้ำ  กันชื้น (รศ.ดร.สาโรช   รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกซ์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  1 ตค.2565) 

ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยจึงขอเสนอให้ผู้บริหารระดับประเทศ คือ นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โปรดพิจารณา เพราะโบราณสถานรุ่นเก่าในประเทศไทยยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ในภาวะเสี่ยง  พร้อมที่จะพังยามเกิดพิบัติภัยจำเป็นต้องมีแผนและงบเพื่อป้องกัน

อนึ่ง  ตั้งแต่  2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เกิดกระทรวงใหม่ชื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อมา พ.ศ. 2565 ได้จัดตั้งสำนักวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Science Humanities and Arts:TASSHA) และสำนักวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences)ระดมนักวิชาการทุกสาขาทุกรุ่นมาร่วมมือกันทำงานทางวิชาการ เป็นแหล่งวิชาการระดับประเทศที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาประเทศ

4.มรรค (ทางดับทุกข์)

4.1 วัด ชุมชน ผู้รู้ทุกฝ่าย ทุกองค์กรที่มีเครื่องมือพร้อม ต้องร่วมมือกัน ผลักดันในเรื่องการป้องกันมิให้โบราณสถานต้องพังเพราะพิบัติภัยอีก    

4.2 รัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนการป้องกันมิให้โบราณสถานต้องพังเพราะพิบัติภัยอีก โดยสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นกรมศิลปากร และหน่วยงานวิชาการที่พร้อมในการสนับสนุนเช่นสำนักวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Science Humanities and Arts:TASSHA) และสำนักวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences) กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ ซึ่งพร้อมทั้งนักวิชาการ เครื่องมือทันสมัยและทุนวิจัย  

  • รีบดำเนินการป้องกันทันทีเมื่อพบว่าโบราณสถานตกอยู่ในภาวะเสี่ยง  เช่น 
  • กรณีวัดพระธาตุดอยสุเทพ

ดอยสุเทพเป็นดอยหนึ่งในทิวเขาถนนธงชัยสูง 1,601 เมตรจากระดับน้ำทะเล สมัยพญากือนากษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 6 (พ.ศ.1898-1928)  โปรดให้รับนิกายรามัญ/ลังกาวงศ์มาจากสุโขทัย พระสุมณเถรพระสงฆ์จากกรุงสุโขทัยผู้เผยแผ่นิกายรามัญอัญเชิญพระบรมธาตุที่ประดิษฐานที่วัดสวนดอก ต่อมาพระบรมธาตุเกิดปาฏิหาริย์แยกส่วน จึงโปรดฯให้อัญเชิญอีกส่วนหนึ่งไปไว้บนดอยสุเทพ  และโปรดฯให้สถาปนาวัดพระธาตุดอยสุเทพ  (สรัสวดี  อ๋องสกุล ประวัติศาสตร์ล้านนา 2561หน้า107) 

ต่อมา พ.ศ. 2081 พญาเกศเชษฐราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 12 (พ.ศ.2068-2088) โปรดให้นิมนต์พระมหาญาณมงคลโพธิ วัดรมนียาราม ลำพูน มาสร้างเสริมองค์พระธาตุให้สูงกว่าเดิมเป็นขนาดกว้างด้านละ 12 ศอก สูง 44 ศอก  โดดเด่นบนดอยสุเทพ 

ท่ามกลางสถานการณ์เกิดพิบัติภัยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ส่งผลกระทบต่อส่วนปลียอดและฉัตรขององค์พระธาตุดอยสุเทพ  ทำให้วัดและกรมศิลปากรเร่งดำเนินการป้องกัน โดยบูรณะองค์พระธาตุและปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ในช่วง  พ.ศ. 2547-2553 และช่วง COVID-19 ระบาด

  • กรณีเจดีย์พระธาตุเถรจันทร์ (ต่อมาเขียนผิดเป็นพระธาตุแสงจันทร์) ในเขตป่า ด้านหลังวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีผู้พบว่าฐานเจดีย์ทรุด มีผู้ส่งภาพให้ผู้เขียนเมื่อคืนวันที่ 29 กันยายน 2565 (วันที่เจดีย์วัดศรีสุพรรณพัง)  ผู้เขียนส่งต่อเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จากนั้นภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 เจ้าหน้าที่กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เข้าดำเนินการแก้ไขทันที (ขอบคุณ คุณยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ผู้ประสานงาน)
(เจ้าหน้าที่กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 ดำเนินการซ่อมแซมเจดีย์พระธาตุเถรจันทร์ทันทีที่ได้รับแจ้ง เมื่อ 30 กันยายน 2565ขอบคุณ คุณยอดดนัย สุขเกษม ผู้ส่งภาพ)

4.4  ดำเนินการเสริมความแข็งแรงส่วนที่ยังเหลือ และสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี   ดังเช่นกรณี กู่หลวง วัดเจดีย์หลวง   ช่วงพ.ศ.2533-2535  กรมศิลปากรดำเนินการเสริมความแข็งแรงของฐานรากและองค์เจดีย์ ด้วยงบประมาณ 35 ล้านบาท   โดยคงสภาพร่องรอยการพังทะลายหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พ.ศ. 2088

กรณียอดกู่หลวง มีหลักฐานลายลักษณ์ปรากฎ คือ โคลงนิราศหริภุญชัย   พ.ศ. 2060 สมัยที่ยอดของกู่หลวงยังไม่พังลงมา  กวีเขียน โคลงนิราศหริภุญไชยฉบับเชียงใหม่ บทที่ 13 ตอนหนึ่งดังนี้ 

กุฎารามรอดด้าน            หลวงเหลียว

ถวายกระพุ่มทางเทียว                 หว่านไหว้ 

(คำอธิบายศัพท์โดยประเสริฐ ณ นคร: กุฎาราม หมายถึงเรือนมียอด เป็นชื่อเดิมของวัดเจดีย์หลวง รอดหมายถึง  ถึง หลวงหมายถึงใหญ่  เทียวหมายถึงเดิน หว่านไหว้เป็นคำใช้คู่กันหมายถึงไหว้ ) (ดู ประเสริฐ ณ นคร โคลงนิราศหริภุญชัย พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพ : โรงพิมพ์พระจันทร์ 2516 หน้า 17)

การใช้เทคโนโลยีช่วยเสริมคุณค่าโบราณสถาน

ปี พ.ศ. 2565 ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการสถาปัตยกรรม และศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมีทีมนักวิชาการจากศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี และล้านนาสร้างสรรค์ พร้อมด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวัดเจดีย์หลวงร่วมกันขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ Awaken KHUM for Innovative and Creative Economy (KHUM) ใช้เทคโนโลยีปรากฎการณ์แสง ต่อยอดองค์เจดีย์หลวง ด้วยแสงเลเซอร์ โดยฉายแสงเลเซอร์เติมไปในบริเวณส่วนยอดขององค์เจดีย์หลวงที่หายไป  เป็นการใช้ปรากฎการณ์แสงเติม  รูปทรง และสัดส่วนให้กับองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Projection หรือภาพฉาย สร้างอุโมงค์แสงเสมือน (Space) ซ้อนทับลงไปกับองค์เจดีย์  ทำให้เกิดแสงรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เพื่อแสดงสัดส่วนและความสูงของเจดีย์หลวงที่สมบูรณ์ เปิดให้ชมทุกวันอาทิตย์เวลา 20.00-22.00 น ณ กู่หลวง วัดเจดีย์หลวง ถึง 25 กันยายน 2565 (ข่าวรอบสัปดาห์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 17 ฉบับที่ 36 วันที่ 5-11 กันยายน 2565)

(ยอดกู่หลวง พ.ศ.2565 ด้วยเทคโนโลยีปรากฎการณ์แสง ต่อยอดองค์เจดีย์หลวง ด้วยแสงเลเซอร์ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Projection เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีที่นำเทคโนโลยีมาฟื้นชีวีโบราณสถานทั้งในวัดที่มีพระสงฆ์และวัดร้างโดยไม่ต้องคิดสร้างใหม่ อนึ่งช่วง พ.ศ.2555 ผู้เขียนเสนอทีมงานทำโปรแกรมประยุกต์ (Application) 3 D สำหรับโทรศัพท์สมาร์โฟน กรณีกู่หลวงและ พ.ศ. 2561 กรณีวัดร้างใน “ป่าวิเศษ” หลังวัดอุโมงค์ฯ ) 

5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นเทศบาล อบจ. ซึ่งมีงบเพื่อบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารควรอนุมัติให้ใช้ได้ทันที เพื่อดำเนินการปกป้องโบราณสถานที่พังลงมาเป็นการเฉพาะหน้า เช่นงบในการทำรั้วกันบริเวณห้ามเข้า งบติดตั้งวัสดุป้องกันฝนที่กำลังตกหนัก หรือน้ำกำลังท่วม งบจ้างกำลังคนเก็บวัสดุเช่นอิฐที่พังลงมา ฯลฯ แทนการผลักภาระให้วัด (คำบอกเล่าเจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ 1 ต.ค.2565)  

ในระดับประเทศ ควรมีกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตรวจสอบโบราณสถานที่อยู่ในภาวะเสี่ยงทั่วประเทศ และงบสำหรับปกป้องแก้ไขเมื่อพบอาการ ก่อนเกิด “ทุกข์” ยามเกิดพิบัติภัยอีกรอบ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ