นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับข้อเสนอปฏิรูประบบเลือกตั้ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับข้อเสนอปฏิรูประบบเลือกตั้ง

นาทีนี้ไม่มีใครปฏิเสธเรื่อง “การปฏิรูป” แต่ว่าจะปฏิรูปอะไร และด้วยวิธีไหน ‘ชลณัฏฐ์ โกยกุล’ สัมภาษณ์ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ผู้ซึ่งเฝ้ามองการเมืองไทยและพูดถึงการปฏิรูปมานาน ในรายการ ก(ล)างเมืองสนทนา วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2557 ทางไทยพีบีเอส

นิธิ บอกว่า ประชาชนต้องเลือกเองว่าจะปฏิรูปแนวไหน ปฏิรูปอะไร โดยที่สังคมไทยหลีกเลี่ยงการปฏิรูปในเชิงประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะเป็นระบอบเดียวที่ให้เราเถียงกันโดยที่เราไม่ต้องฆ่ากัน พร้อมทั้งเสนอการปฏิรูประบบเลือกตั้ง โดยปฏิรูประบบพรรคการเมือง นำระบบไพรมารี่โหวตมาใช้ เพื่อให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนที่ยึดโยงกับประชาชน

+ถ้าพูดถึงเรื่องการปฏิรูป เราจะปฏิรูปอะไรแล้วก็ปฏิรูปด้วยวิธีไหน?

วิธีปฏิรูปเนี่ย คุณหลีกเลี่ยงการปฏิรูปในเชิงประชาธิปไตยไม่ได้ ประเทศไทยผ่านการปฏิรูปโดยไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมาอย่างน้อยที่สุดสองครั้งใหญ่ๆ หรือสามครั้งใหญ่ๆ ครั้งหนึ่งก็คือ รัชกาลที่ห้า อย่างที่ทราบกันอยู่ ครั้งที่สองก็คือ 2475 ครั้งที่สามก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ทั้งสามครั้งผ่านมาโดยที่เราไม่ได้ใช้กระบวนการในเชิงประชาธิปไตย ผลเป็นยังไงยังไม่พูดถึงก่อน เอาแต่เพียงว่า ประเทศไทยในปัจจุบันไม่เหมือนในสามสมัยที่ผ่านมาแล้ว

เพราะฉะนั้นกระบวนการปฏิรูปในทางที่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมไทยปัจจุบันไปเสียแล้ว และถ้าคุณต้องการการปฏิรูปจริง คุณต้องเลือกตั้ง เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่าในการเลือกตั้งนั้น ทำยังไงคุณจะผลักดันเรื่องการปฏิรูปให้เป็นญัตติสาธารณะที่ทุกพรรคการเมืองต้องเล่น แล้วเวลานี้มันมีพรรคการเมืองบางพรรคที่ เขาเสนอโครงการปฏิรูปเยอะแยะไปเลย ถึงตอนนั้นประชาชนจะเลือกเองว่าเขาอยากจะปฏิรูปแนวไหน ปฏิรูปอะไร คือคุณมาถามผม ผมก็มีความคิดของผมว่ายังงั้นๆ แต่ขอโทษทีเถอะ ผมไม่มีสิทธิหรือไม่มีอำนาจที่จะไปตัดสินใจแทนคนอื่นเขาได้

+ถ้าเกิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ เราต้องปฏิรูปเรื่องอะไร

ไอ้แก้ปัญหาทั้งหมด ไม่มีนะครับ เป็นแต่เพียงว่าเราปล่อยให้ปัญหาสะสมมาในประเทศเรานานมากเลย จริงๆ ก็คือ กว้างๆ ก็คือ สมัยคุณสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี สืบมาจนถึงทุกวันนี้ นโยบายพัฒนาทั้งหมดเหล่านี้ให้ทั้งผลดีแน่นอน เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่เขาเสียโอกาสอีกจำนวนมากเหลือเกิน หรืออีกจำนวนมากไม่ได้โอกาสที่ควรจะได้ ทั้งๆ ที่บรรพบุรุษเขาอาจจะสูญเสียอะไรบางอย่าง จะเป็นที่ดิน จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ไปแล้ว แต่เขาก็ควรจะได้โอกาสเหล่านั้นในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เขาไม่ได้ เราทิ้งปัญหาในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง ในทางสังคม ในทางวัฒนธรรม แยะมากเลยโดยไม่ได้เข้าไปแก้ไขอะไรมัน

เพราะฉะนั้น ถ้าถามผม ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูป ผมเห็นด้วย แต่ปฏิรูปอะไร และอย่างไรเนี่ย ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมาคิดกันลับๆ เพียงไม่กี่คน

+หากการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องของนักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ที่อาจารย์บอกว่ามันเป็นเหมือนการแบ่งผลประโยชน์กันใหม่ในสังคม เราจะทำยังไงให้คนมาตกลงกันได้ท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้

วิธีหนึ่งที่ผมเคยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ก็คือสมัยที่คุณอานันท์เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ผมจำได้ว่าเราตกลงกันตั้งแต่วันแรกๆ ที่เราเจอกันเลยว่า ไม่ใช่เรา 20 คนในนี้จะมานั่งปฏิรูปประเทศไทยนะ มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราจะเป็นคนคล้ายๆ กับช่วยกันสร้างตุ๊กตาที่เราคิดว่าดีที่สุด แล้วเราโยนออกไป แล้วก็สังคมต้องมาทะเลาะ เถียงกันในเรื่องเหล่านี้ ผมสารภาพเลยว่า ในทัศนะของผม ผมคิดว่าคณะกรรมการปฏิรูปเนี่ย แป้ก คือเราโยนไป เราเพิ่งทำเสร็จสองเรื่องที่เราพอใจแล้ว เอาล่ะ อันนี้ใช้ได้ พอเราโยนไป มันแป้กเรื่องนึง คือเรื่องแรกที่เราคิดว่า เออ คนคงจะพากันสนใจแล้วก็เข้ามาถกเถียงร่วมด้วย คือเรื่องปฏิรูปที่ดิน ปรากฏว่าโยนไปแล้วเงียบฉี่เลย มีแต่ทีดีอาร์ไอที่เข้ามาเถียงกับคณะกรรมการคนหนึ่ง ซึ่งดีมากที่อย่างน้อยยังมีคนมาเถียง แต่นอกจากนั้น ไม่ว่าสื่อ ไม่ว่าพรรคการเมือง ไม่ว่าอะไร ไม่สนใจเลย

จริงๆ อันนี้นอกเรื่องนิดหน่อย เมื่อตอนนั้น เมื่อเราทำเรื่องไหนเสร็จเนี่ย เราไม่ได้ส่งให้รัฐบาลนะ เราส่งให้พรรคการเมืองทุกพรรค คุณอภิสิทธิซึ่งเป็นนายกฯ อยู่ในเวลานั้นได้เรื่องเหล่านี้ไปในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ในฐานะนายกรัฐมนตรีนะครับ คือหวังว่าพรรคการเมืองจะรับแล้วจะมาถล่มเราก็ได้

เรื่องที่สอง คือเรื่องปรับโครงสร้างอำนาจ อันนั้นค่อนข้างประสบความสำเร็จมากกว่าที่เราคิดไว้ คืออย่างน้อยสุดข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทั้งที่ยังรับราชการอยู่และที่ปลดเกษียณไปแล้วพากันออกมาถล่มทลายเราเต็มที่ ซึ่งดี เพราะมันทำให้กลายเป็นประเด็นที่คนสนใจและพูดถึงมากขึ้น ผมยังอยากจะเคลม อยากจะอ้างด้วยซ้ำไปว่า มันส่งผลต่อ การที่หลังจากเลิกคณะปฏิรูปชุดเราไปแล้ว มันมีการเคลื่อนไหวในเรื่องที่เรียกว่า จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้มีถึง 40 กว่าจังหวัดซึ่งมีความคิดเรื่องนี้ไม่ตรงกันนะ แต่ว่าอย่างน้อย 40 กว่าจังหวัด ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมันก็เป็นผลมาจากการที่กระทรวงมหาดไทยกรุณานำเรื่องของเราไปถล่มทลาย มันก็ทำให้เกิดความสนใจในสังคม

และผมคิดว่ากระบวนการปฏิรูป เท่าที่ผมมองเห็นก็คือแบบนี้ หมายความว่า ไอ้ที่มีคนมาสร้างตุ๊กตานี่มันไม่แปลก คุณต้องสร้าง อยู่ๆ บอกว่าปฏิรูปเลือกตั้งผู้ว่า มันไม่ได้ คือคุณต้องสร้างไอ้แผนมาให้ชัดเจนว่า คุณจะทำอย่างนี้ แล้วสังคมจะช่วยกันเถียง จะช่วยกันสนับสนุน จะช่วยกันค้าน จนเกิดไอ้ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ปฏิรูปคือความเปลี่ยนแปลง มันมีคนได้และมันมีคนเสียเสมอ มันไม่มีหรอก ไอ้ที่มันได้ฝ่ายเดียว ไม่มีหรอก เพราะงั้นไอ้ที่เขาเสียนี่ เขาต้องเข้ามาต่อรองบ้าง

+พูดถึงเรื่องสิทธิต่อรองของคนต่างจังหวัด ตอนนี้มันมีวาทกรรมที่ว่า คนต่างจังหวัดโดนซื้อเสียงง่ายๆ แล้วก็ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนในเมืองที่มีการศึกษา อาจารย์มองตรงนี้อย่างไร

คือยังงี้นะครับ ขอนิยามคำว่า “ซื้อเสียง” คือจ่ายเงิน เพราะซื้อเสียงในรูปอื่นๆ เช่น ผมซื้อเสียงด้วยนโยบาย ไอ้นี่เป็นของปกติธรรมดา ทุกแห่งในโลกนี้ทำทั้งนั้น เอาล่ะ ซื้อเสียงด้วยการจ่ายเงิน ถามว่ามีไหม มันมีงานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งในประมาณซักสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ชิ้นเดียวนะ ทำทั้งไทยทำทั้งฝรั่ง ทำระดับจังหวัด ทำระดับหมู่บ้าน แยะมากตลอดมา ทุกอันให้การตรงกันหมดนะครับว่า การซื้อเสียงน่ะมีจริง แต่กระบวนการตัดสินใจ หรือกระบวนการวินิจัยของชาวบ้านว่าเขาจะเลือกใครเนี่ย เงินกลับกลายเป็นปัจจัยตัวท้ายๆ หน่อย

ปัจจัยที่มาก่อนอื่นเลย “พวก” คุณอาจจะบอกว่า “เหย พวก ในประเทศไทยนี่มันแยะมากเลย” แยะก็แยะ พวกที่ไหนๆ มันก็แยะทั้งนั้นแหล่ะ พวกนี่เป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับคนในชนบท

อันที่สองต่อมา เขาต้องการดูผลงาน ผมคิดว่าเวลาที่เขาบอกว่าเขาดูผลงานเป็นอันดับสองเนี่ย ผมกำลังสงสัยว่าอาจจะมากกว่าคนกรุงเทพว่ะ คือคนกรุงเทพจะมองพวกว่า กูประชาธิปัตย์มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว กูก็ต้องเลือกประชาธิปัตย์ต่อไป ไอ้ยังงี้ก็คือการมองพวกโดยไม่ได้ดูผลงานเลย แต่คนชนบท ผลงานจะเป็นอันดับสองนะ แล้วก็มีปัจจัยอื่นๆ อีก เงินเนี่ยเป็นอันดับสุดท้าย ฉะนั้นคุณจะพบเสมอว่าคนจ่ายเงินมากที่สุด “แพ้” การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ผ่านมามันมีพรรคพรรคนึงที่ร่วมรัฐบาลก่อนกับคุณอภิสิทธิ์ แล้วก็ปรากฏว่าแพ้หลุดลุ่ยเลยในอีสานใต้ จ่ายกันยังไงก็แพ้ เป็นต้น

แสดงว่าเงินไม่ใช่ตัวปัจจัยสำคัญ รวมทั้งกรณีของคนที่จ่ายน้อยมากเลย ที่ผมเคยเจอด้วยตัวเองที่จังหวัดเชียงใหม่ก็คือ 10 บาท เพราะว่าแกเป็นตำรวจเก่าที่ซื่อสัตย์ เป็นผู้กำกับตำรวจที่ซื่อสัตย์มาก ทุกคนรักแกหมด แต่ว่าไม่จ่ายเลย มันรู้สึก คุณไม่ค่อยเห็นใจ เพราะงั้นจ่ายเป็นพิธีกรรมวะ 10 บาท แกชนะท่วม รู้สึกว่า ถ้าผมจำไม่ผิด แกจะเป็นคนที่ได้คะแนนที่หนึ่งในประเทศไทยช่วงนั้น เพราะคนรักแกทั้งจังหวัด เพราะงั้นเงินเนี่ย ถามว่าจ่ายไหม จ่าย แต่ไม่ใช่เป็นตัวตัดสินสำคัญ

จริงๆ ผมคิดว่าคนชนบทในฐานะผู้ไร้อำนาจ ไม่มีสื่อของตัวเอง ไม่มีอะไรซักอย่าง เส้นสายของตัวเองก็ไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่ คุณยิ่งไร้อำนาจ คุณยิ่งต้องคิดเรื่องการเลือกตั้งมากกว่าไอ้คนกรุงเทพฯ ที่มันมีอำนาจอยู่พร้อมแล้ว คุณมีทั้งสื่อ คุณมีทั้งเงิน คุณมีทุกอย่างพร้อมหมด เพราะงั้นไอ้การเลือกตั้ง คุณจะได้นาย ก. หรือนาย ข. มาเป็นผู้แทนคุณ มันไม่เปลี่ยนขีวิตคุณ แต่คนชนบท เปลี่ยนนะ เปลี่ยนพอสมควรนะ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเขาใช้ความคิดในการเลือกตั้งแยะมาก

+เราจะปฏิรูปพรรคการเมืองให้รับใช้มวลชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร

ปัญหาจริงๆ ในเมืองไทย ผมว่าพรรคการเมืองไม่เคยเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พูดอย่างนี้มันก็ไม่ถูก หมายความว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของคนกลุ่มใด มันก็เป็น เป็นของคนกลุ่มหนึ่งนะ ตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคมาเลย ประเด็นที่ผมหมายความว่า เป็นตัวแทนของคนกลุ่มจำนวนมากๆ น่ะ ผมอยากจะหลีกเลี่ยงว่าเป็นชนชั้น จริงๆ พรรคการเมืองเนี่ยเกิดขึ้นจากการเป็นตัวแทนของชนชั้น หมายความว่าอย่างนี้ก็แล้วกัน แต่ปัจจุบันคุณอาจจะไม่อยากใช้คำนี้ หรือคุณคิดว่าชนชั้นมันเริ่มจางลงไปแล้วในปัจจุบัน แต่อย่างน้อยที่สุด ถามว่าคนคอปกขาวในกรุงเทพ ใครเป็นพรรคของคุณวะ คนงานคอปกขาวที่ทำงานตามบริษัทห้างร้าน คำตอบคือไม่มี ชาวนา ใครเป็นตัวแทนของคุณ กรรมกร ใครเป็นตัวแทนของคุณ มันไม่มีหมด

ผลก็คือทำให้พรรคการเมือง มันกลายเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ ไม่ได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ ไม่ได้เป็นตัวแทนการต่อรองของคนที่เลือกมันมา ผมชอบยกตัวอย่างนี้เสมอว่า สมัชชาคนจนไปยึดหัวเขื่อนที่ปากมูลหนึ่งปีกว่า ไม่มี ส.ส.ไปเยี่ยมซักคนเดียว ผมไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณเป็น ส.ส.อุบลฯ แล้วคุณต้องคัดค้านเขื่อนปากมูลนะ คุณเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนปากมูลก็ได้ แต่ประชาชนของคุณไปนอนในเขื่อนปากมูลเป็นปี จำนวนหลายร้อยคน หลายร้อยครอบครัว อย่างน้อยคุณต้องไปคุยกับเขาบ้างว่าอะไรนักหนาวะ ไปยึดเขาทำไมวะ ก็แล้วแต่ คุณต้องไปคุย ไปฟังความเห็นของเขาบ้าง ฟังแล้วคุณบอกผมไม่เห็นด้วยกับคุณก็ได้ แต่มันต้องไป แต่คุณบอกว่า ไปทำไม ไม่เห็นจำเป็นเลย คือไม่ได้รู้สึกว่าประชาชนในเขตเลือกตั้งตัวเองคือคนที่เราต้องเป็นตัวแทนเขา

+ถ้าการแก้ปัญหาอันนึงคือการปฏิรูปพรรคการเมือง แล้วระบบการเลือกตั้งที่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของเมืองไทย มันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยหรือเปล่า

ไอ้ระบบเลือกตั้งในประเทศไทยเนี่ย ผมว่า พูดกว้างๆ คืออย่างนี้เลยก็ได้ เมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่คุณรู้สึกอยากให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองกับอำนาจอื่นๆ ประเทศไทย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่อำนาจสูงสุดนะ คุณต้องต่อรองกับกองทัพ คุณต้องต่อรองกับเศรษฐี นักธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งหลาย มันมีอะไรที่คุณจะต้องต่อรองอำนาจแยะมาก เมื่อไหร่ที่คุณอยากให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองน้อย เมื่อนั้นคุณใช้ระบบเลือกตั้งเป็นพวง เขาเรียกอะไร หลายคนต่อหนึ่งเขตน่ะ เพราะว่าในระบบเลือกตั้งแบบนี้เสียงมันจะแตก พอเสียงแตกปั๊บรัฐบาลก็จะต้องตั้งรัฐบาลผสม พอเป็นรัฐบาลผสมปั๊บ คุณต่อรองไม่ได้มาก ต่อรองมาก ไอ้พรรคที่ร่วมรัฐบาลคุณหนีไปอยู่กับอีกพรรค ไม่ต้องไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็ได้ นอกค่ายทหารมันก็หนีไปอยู่อีกพรรคนึง กลายเป็นอีกพรรคได้ เพราะงั้นคุณต่อรองไม่ได้มาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึก เฮ้ย จำเป็นที่จะต้องให้รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่มีเสถียรภาพระดับหนึ่ง ไม่ใช่ชั่วกัลปาวสาน มีเสถียรภาพระดับหนึ่ง คุณต้องให้เขามีสมรรถภาพในการคุมลูกพรรคเขาได้พอสมควร ถ้าอย่างนั้น คุณก็จัดการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว ความคิดเรื่องให้ ส.ส.เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนผู้เลือกตั้งตัวมา ผมคิดว่าถึงมีอยู่ ก็ยังไม่ได้จัดการในเชิงระบบเพียงพอที่จะทำให้ตัว ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นตนเอง

+ถ้าการเลือกตั้งมันคือเวทีของประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่จะมาถึงในครั้งนี้ เราจะทำยังไงไม่ให้มันว่างเปล่า ไม่ได้มีความหมายแค่เข้าคูหาแล้วก็กาเบอร์แค่นั้น

เวลาเราพูดถึงการเลือกตั้งว่ามันไม่มีความหมายเนี่ย ผมว่าจริงๆ แล้วเราละเลยรายละเอียดบางอย่างไป ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันมีการเลือกของประชาชน คือการเลือกนโยบายหลักของพรรค มากพอสมควร ซึ่งพรรคที่ได้ชัยชนะก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นนโยบายประชานิยม โอเค มันเป็นจริงไม่เป็นจริง ทิ้งไว้ก่อน แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด คนเลือกนโยบาย เข้าใจไหมฮะ เหตุผลที่ทำไมการใช้เงินมันถึงน้อยลงๆ ในการเลือกตั้งระยะหลังๆ เพราะว่าคนเริ่มเลือกนโยบายมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นมันไม่ถึงขนาดว่างเปล่า แต่ที่เราอยากจะเห็นมากขึ้นก็คือว่าไม่ใช่เลือกเฉพาะนโยบายหลักอย่างเดียว มันต้องเลือกคนที่จะสามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของเราได้ แม้แต่เราเห็นด้วยในนโยบายของเขา ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวบางอย่างที่ทำให้เราได้รับผลประโยชน์นั้นได้ไม่เต็มที่ หรือแม้แต่ขัดกับผลประโยชน์ของเราเอง

+แล้วหลังจากการเลือกตั้งเราจะมีการตรวจสอบนักการเมืองที่เราเลือกเข้าไปได้ยังไง เราต้องมีวิธีการ มีกระบวนการตรงนี้ยังไง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้รู้สึกว่าจะให้อำนาจไว้ในการที่จะมีสิทธิในการถอน สิทธิในการ recall ถอนตัวแทนของเรากลับคืนมา ซึ่งอันนี้ก็น่าจะช่วยกันคิดต่อไปว่า มันยังไม่ได้ถูกใช้ในเวลานี้ ทำยังไงให้มันถูกใช้มากขึ้น แล้วก็ง่ายขึ้นในการที่จะต้องถอนไอ้คนที่เป็น ส.ส. ของเรากลับมาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ให้ใบอะไรมันทั้งสิ้น มันก็มีสิทธิในการลงสมัครอีก แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด คุณต้องมาพิสูจน์ตัวเองก่อนว่าคุณยังเป็นตัวแทนของประชาชนจริงหรือเปล่า

+หนึ่งในประเด็นปฏิรูปที่อาจารย์พูดถึงก่อนหน้านี้ก็คือว่า การที่มีกลุ่มนักธุรกิจออกมาต่อต้านคอรัปชั่น ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการคอรัปชั่นเอง แล้วเราจะแก้ปัญหาเรื่องของการคอรัปชั่นในชนชั้นกลางและในกลุ่มนักธุรกิจนี้ยังไง

อย่าแก้เฉพาะนักธุรกิจกับคนชั้นกลาง คนคอรัปชั่น เวลานี้ทุกคนเป็นหมด ชนชั้นไม่กลางก็เป็น ไม่ว่าสูง ไม่ว่าต่ำสุดก็เป็นทั้งนั้นนะครับ ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เป็นผู้รับก็เป็นผู้ให้ หลักสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาคอรัปชั่นก็คือ ผมคิดว่าสองอย่างด้วยกัน

อันที่หนึ่งก็คือ สิ่งที่คุณอานันท์เคยพูดสมัยที่ตัวท่านเป็นนายกรัฐมนตรี คือความโปร่งใส โปร่งใส แปลว่าคนอื่นๆ รู้หมดว่าคุณทำอะไรอยู่ สิ่งที่คุณทำนั้นมีอะไรน่าเคลือบแคลง ก็สามารถจะชี้ให้เห็นความเคลือบแคลงนั้นได้ ซึ่งต้องมีคำอธิบายที่กระจ่าง ถ้าคุณอธิบายไม่ได้ ก็ต้องมีองค์กรอื่นเข้ามาตรวจสอบว่ามันเคลือบแคลงเพราะอะไร เป็นต้น

อันที่สองต่อมาก็คือว่า ต้องไม่ลูบหน้าปะจมูก ความสำเร็จในประเทศที่สามารถปราบคอรัปชั่นได้ทุกแห่งในโลกนี้ก็คือ ใช้กฎหมายให้เป็นจริง เมื่อถึงเวลาที่คนที่มีข้อระแวงในเรื่องเกี่ยวกับการคอรัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่ เขาถูกจับ ถูกพิจารณาในศาล ถูกลงโทษ ทันตาเห็นด้วยนะครับ ไม่ใช่ลงโทษกันสามสิบปียังไม่สำเร็จซักที ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นสองอย่าง ถ้าคุณทำได้ คุณปราบคอรัปชั่นได้ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มนะ แต่ปราบได้แยะเลย

+ระบบตรวจสอบที่จะมีประสิทธิภาพ มันต้องมีปัจจัยอะไรบ้างในการส่งเสริม

จริงๆ เวลานี้ ในแง่ของภาครัฐ ในแง่ของภาคบริหาร ผมคิดว่าเขาทำพอสมควรแล้ว เช่นเป็นต้นว่า คุณมี ปปช. มีอะไรร้อยแปดพันประการ ซึ่งโอเค ไม่พูดถึงตัวบุคคลนะ พูดถึงกลไกของการตรวจสอบก่อน อันนี้ใช้ได้

สิ่งที่เราขาดไปคือกลไกทางสังคม ผมคิดว่า อันที่หนึ่งเลย ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เลย ผมว่าสื่อในประเทศไทย ทั้งแหย ทั้งสตึ คือมันไม่ได้เรื่อง คุณไม่สามารถไปเจาะเรื่องราวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นได้จริง คุณได้แต่ไปเปิดกระเป๋าคน นี่เป็นตัวอย่างอันนึง คล้ายๆ กับว่าถ้าคุณรวยให้ล้นฟ้า คุณเป็นคนดีว่ะ แต่ถ้าคุณเป็นคนธรรมดาแล้วคุณมีเงินกับเขาขึ้นมาบ้าง คุณต้องทำชั่วอะไรซักอย่างแล้ว คือการเปิดกระเป๋ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลยซักอย่าง แต่คุณต้องลงไปเจาะให้ได้ว่าเงินเหล่านั้นได้มาอย่างไร มันมีอะไรที่น่าเคลือบแคลง แต่สื่อเราไม่สนใจที่จะทำข่าวเชิงเจาะลึกซักฉบับเดียวหรือซักช่องเดียว โดยสิ้นเชิง ดังนั้นกลไกทางสังคมของเราในการปราบคอรัปชั่นอ่อนแอยิ่งกว่ากลไกภาครัฐ ไอ้กลไกภาครัฐนี่มันยังเถียงกันได้ว่าคนนี้เป็นผู้พิพากษาไม่ได้ คนนี้เป็นปปช.ไม่ได้ เถียงกันไปเถอะ แต่ผมคิดว่ากลไกเหล่านั้นเขาก็มีความพยายามจะทำพอสมควร แต่เพิ่มอีกได้ไหม ได้ มันเป็นรายละเอียดแล้ว เช่น ประมูล ต้องเป็นการประมูลอิเล็กทรอนิกส์อะไรก็แล้วแต่ อันนั้นคือความโปร่งใสทั้งหลาย ซึ่งเพิ่มอีกได้ แต่ผมว่าที่อ่อนที่สุดคือกลไกเชิงสังคม

+ถ้าสื่อเป็นส่วนนึงของปัญหาด้วยในการทำงาน เราจะปฏิรูปสื่ออย่างไร

ปฏิรูปสื่อนี่เป็นเรื่องยากนะ คือผมไม่ไว้วางใจให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าไปจัดการกับสื่อโดยตรง เพราะว่ามันจะเอาอำนาจอันนั้นไปใช้ในทางที่ใช้สื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวมัน ฉะนั้นไอ้ปฏิรูปสื่อชนิดที่คนนอกเข้าไปปฏิรูป ผมว่าต้องระวังนะครับ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ ผู้รับสื่อ คุณต้องพัฒนาผู้รับสื่อขึ้นมา ซึ่งในแง่นี้ผมว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะว่าถ้าเราดูย้อนหลังไป 4-5 ปี ผมคิดว่ามันมีสื่อทางเลือกที่ปรากฏอยู่ในอินเทอร์เนต ผมคิดว่ามันก้าวหน้าเร็วมาก เวลานี้ข้อมูลจากสื่อทางเลือก มีคนรับสารมากกว่าสื่อเดิมที่มันมีอยู่ ไม่ว่าวิทยุ ไม่ว่าโทรทัศน์ ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ ซะอีก และเป็นข้อมูลที่ถ่วงดุลกันกับสื่อกระแสหลักพอสมควรทีเดียว ด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่าต้องส่งเสริมให้คนเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

+ปัญหาทั้งหมดที่มันเกิดขึ้น มันจะนำพาเราไปสู่รัฐล้มเหลวหรือเปล่า ปัญหามันรุนแรงขนาดนั้นเลยไหม

ก่อนหน้านี้ เมื่อตอนที่คุณสุเทพแกเริ่มเคลื่อนไหวอะไรของแก รวมทั้งการไปยึดกระทรวงทบวงกรมอะไรด้วย ผมก็ยังยืนยันว่ารัฐไทยยังไม่ล้มเหลว คือรัฐล้มเหลวหรือไม่ ต้องดูว่าคุณเจ็บป่วย คุณไปโรงพยาบาลได้ปล่าว คุณส่งลูกไปเรียนหนังสือได้หรือเปล่า อะไรต่างๆ นานาร้อยแปด อันนี้ผมก็ยังคิดว่าคนไทยก็ยังดำเนินชีวิตเป็นปกติอยู่ได้ แต่มาใน 2-3 วันนี้ที่คุณสุเทพไปปิดล้อมสถานที่รับสมัครการเลือกตั้ง จนกระทั่งการเลือกตั้งไม่สามารถที่จะ สามารถหรือเปล่าก็ไม่รู้ จนถึงนาทีนี้ยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปในเรื่องของการเลือกตั้งได้ ตอนนี้มันเริ่มปรากฏสัญญาณรัฐล้มเหลว แล้วเป็นสิ่งที่อันตรายมาก แล้วผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลถึงปล่อยให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ เพราะว่าถ้าถึงระดับนี้ อนาคตต่อไปในภายหน้า ใครๆ ก็ทำได้ สิ่งที่คุณสุเทพทำ ไม่ใช่ทำได้คนเดียว มีคนทำอย่างนี้ได้อีกเยอะแยะเลยในสังคมไทย

ผมว่าน่ากลัวมาก เพราะว่าแทนที่เราจะเดินเข้ามาสู่ระเบียบ เข้ามาสู่กติกาที่เราจะมีการต่อรองกันโดยสงบ บัดนี้เรากำลังจะเดินเข้าไปสู่การใช้กำลังเข้ามาหักกันด้วยมวลชนจำนวนมากๆ ใครสามารถที่จะสร้างมวลชนขนาดนี้ได้ก็มาหักกันด้วยกำลัง ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่มีรัฐ ก็เหมือนกันนั่นแหล่ะ ผมจึงคิดว่านี่เป็นช่วงวิกฤต ช่วงอันตรายที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ถ้าคุณปล่อยให้คนทำอย่างนี้ได้ จนกระทั้งเราไม่สามารถเลือกตั้งได้ อันนี้แหล่ะ รัฐล้มเหลวแล้ว

+จากมุมมองของอาจารย์ ทำไมคุณสุเทพและกปปส.จึงคิดว่าถ้าสามารถกำจัดสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณออกไปได้ เราจะสามารถแก้ปัญหาได้

ทำไมคุณสุเทพถึงคิดอย่างนั้นเนี่ย ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ คำตอบผมง่ายมากก็คือ มันเป็นประโยชน์ทางการเมืองของคุณสุเทพกับพรรคประชาธิปัตย์ จบแค่นั้นเองเลย ก็แล้วแต่คุณจะเล่นอะไร เล่นอย่างนี้คุณได้ประโยน์ทางการเมือง คุณก็เล่น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมมากกว่าก็คือ ทำไมคนจำนวนมากจึงออกไปร่วมมือกับคุณสุเทพเช่นนั้น ผมว่าตรงนี้น่าสนใจกว่า แล้วในทัศนะของผมมันมีเหตุผลอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกก็คือว่า คนที่อยู่ในเมือง มีการศึกษาระดับหนึ่ง จริงๆ เรียกไม่ถูก ต้องเรียกว่ามีวุฒิบัตรระดับหนึ่ง คนเหล่านี้เคยมีอำนาจในการควบคุมรัฐบาลสูงมาก เพราะว่าเขาคือคนที่เคยสามาร ยี้ใคร นักการเมืองคนไหนก็ได้ เขายี้คนนั้น แล้วนายกฯ ก็ไม่กล้าตั้งไอ้คนที่เขายี้มาเป็นรัฐมนตรี เป็นต้น

จนกระทั่งมาถึงยุคคุณทักษิณ คุณทักษิณสามารถตั้งยี้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรบ้าง รัฐมนตรีโดยตรงบ้างอะไรเนี่ยอยู่หลายคนพอสมควรด้วยกัน โดยที่คนที่อยู่ในเมืองไม่สามารถที่จะโวยวายอะไรได้อีกเลย คุณยี้ไปสิ จนถึงขนาดที่อาจารย์รังสรรค์บอกว่ายียาธิปไตย คือไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว มันเอาไอ้คนที่ยี้ๆ ขึ้นมาบริหารประเทศ ผมคิดว่าตรงนี้คุณทักษิณทำให้คนที่อยู่ในเมืองตกใจมากเลย ที่จริงคนในเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เนี่ย คือคนที่ปกครองประเทศไทยตลอดมานะ ในระยะหลัง 14 ตุลามาแล้ว ผมว่าแม้แต่รัฐบาลรัฐประหารก็ต้องฟังไอ้คนเหล่านี้เป็นหลัก เพราะงั้นคุณทักษิณเป็นคนที่มาทำให้เห็นว่า ไม่ใช่คุณนะ มันยังคนอื่นๆ ต่างหากที่อยู่ข้างนอก และผมว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการที่คนในเมืองรู้สึกว่ารับคุณทักษิณไม่ได้

+แล้วกับคนที่เขาออกมาเพื่อต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยจริงๆ ล่ะ

คนที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยจริงๆ ก็อาจจะมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยกับผมไม่ตรงกัน เพราะว่าถ้าคุณต้องการเป็นประชาธิปไตย คุณจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของบ้านเมืองโดยคนกลุ่มน้อยไม่ได้ แล้วก็มีนักคิดนักวิชาการของกลุ่มนี้ออกมาบอกเลยว่า คนไม่เท่ากัน ไอ้คนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่มีวุฒิบัตร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้งเท่ากับตัวเขา ถ้าคุณเป็นนักประชาธิปไตยจริง คุณกลับบ้านตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว คุณไม่อยู่มาถึงวันนี้อย่างเด็ดขาด

เพราะว่าเราพูดถึงประชาธิปไตย ถามว่าอะไรสำคัญที่สุด ในทัศนะผม ผมว่าไม่มีอะไรเกิน “ความเสมอภาค” คุณต้องรับความเสมอภาคก่อน เสรีภาพหรืออะไรก็แล้วแต่ มันต้องมาจากความเสมอภาค

+กลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาตอนนี้บอกว่าเป็นการปฏิวัติประชาชน มันเป็นการปฏิวัติของประชาชนจริงๆ หรือเปล่า

คำว่าประชาชน มีความหมายสองอย่างด้วยกัน อันที่หนึ่งก็คือ หมายถึงคุณ ผม คนทั้งหมดเป็นประชาชนอยู่ตรงนี้ อีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายเชิงนามธรรม ไอ้ความหมายเชิงนามธรรมนี่หมายถึงคนหมดทั้งประเทศเหล่านี้ที่ไม่สามารถแจงนับเป็นรายหัวได้ ไอ้ตรงนี้มันมีจริงหรือไม่ก็ตามแต่ แต่คนที่เป็นนักเผด็จการทั้งหลายจะอ้างตัวเองเป็นตัวแทนของประชาชนที่เป็นนามธรรมเสมอ ไม่ว่าฮิตเลอร์ ไม่ว่ามุสโสลินี ตลาลิน เหมาเหมิว ทั้งนั้นแหล่ะคุณ เป็นตัวแทนของไอ้ประชาชนที่อยู่ในหมอกควันเนี่ย ผมใช้คำนี้ มันจับต้องไม่ได้ อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณคิดแทนเขาได้หมด คุณฆ่าบางคนในนั้น คุณก็ไม่ได้ฆ่าประชาชน คุณฆ่านาย ก. นาย ข. คุณไม่ได้ฆ่าประชาชน ทั้งนี้ นาย ก. นาย ข. ควรตาย เพื่อรักษาไอ้ประชาชนในหมอกควันเอาไว้ เป๊ะเลยนะครับ มันตรงกับที่คุณสุเทพอ้างความเป็นประชาชน ประชาชน ตลอดมา คือประชาชนในเชิงนามธรรม

อย่างที่นักวิชาการบางคนพูดถึง นี่เป็นการปฏิวัติประชาชน แล้วยกไปยกมา ที่พูดถึงปฏิวัติประชาชน คือปฏิวัติของเผด็จการทั้งนั้นเลย อย่างที่บางคนพูดว่า ถ้ามาร์กซ์กลับมามีชีวิตใหม่แล้วมาเห็นโซเวียตสมัยสลาลินเนี่ย แกลมจับเลย แกไม่ได้คิดว่าลัทธิคอมมิวนิสต์กูจะเป็นอย่างนี้

+ในตอนต้นที่เราพูดถึงการปฏิรูปว่า สุดท้ายต้องให้คนทั่วไป ต้องให้มวลชนเป็นคนตัดสิน ทีนี้กับภาวะตอนนี้ที่ไม่มีการตกลงกัน สุดท้ายไม่ได้ข้อสรุปอะไร แล้วเราจะไปต่อกันยังไง

ถ้าถามว่าการเมืองปัจจุบันจะไปต่อกันอย่างไร ผมคิดว่าคำถามนี้มีความหมายสองอย่าง อย่างที่หนึ่งก็คือว่า  ถ้าตอบแบบนักวิชาการก็คือ คุณไม่สนใจว่าคุณคิดอะไร แต่คุณดูจากปัจจัยที่แวดล้อม สภาวะทางการเมืองปัจจุบันนี้ เราก็คาดเดาว่ามันน่าจะไปอย่างนี้ ผมอยากจะลองตอบอันแรกซึ่งมันอาจจะยากหน่อยว่า จริงๆ แล้วเรามองเห็นความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย คือฝ่ายคุณสุเทพกับฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่าเทียมกัน ทั้งสองฝ่ายมีความชอบธรรมเท่าเทียมกัน ซึ่งผมยืนยันว่ามีความชอบธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน แล้วก็ไม่ใช่ผมเห็นคนเดียวนะ ผมคิดว่าทางมหาอำนาจต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยก็แสดงจุดยืนให้เห็นว่าคุณไม่มีความชอบธรรมที่จะทำอย่างนี้ ในขณะเดียวกันเนี่ย ถามว่ามหาอำนาจต่างประเทศอาจจะไม่มีความสำคัญเป็นปัจจัยชี้ขาด มันยังมีอำนาจอื่นๆ ในประเทศไทยอีก เช่น กองทัพ

ผมเชื่อว่าถ้ากองทัพอยากจะทำรัฐประหารโดยอาศัยเหตุของความวุ่นวายที่เกิดขึ้น คงทำไปนานแล้ว ที่ไม่ทำด้วยเหตุใด ผมเดาเขาไม่ถูกครับ แต่เข้าใจว่าเขาน่าจะได้เรียนรู้บทเรียนแล้วว่า การรัฐประหารไม่แก้ปัญหาหรอก เช่นเป็นต้นว่าหลังคุณทำรัฐประหารเสร็จแล้วเนี่ย ใครจะมาเป็นนายกฯ แค่นี้คุณก็หาไม่ได้แล้วในเวลานี้ คนที่ได้รับความนับถือยกย่องอย่างสูงแล้วก็รู้สึกว่าเป็นกลางอย่างแท้จริง เวลานี้เท่าที่ผมนึกออก เหลืออยู่คนเดียว เป็นคนติงต๊อง เป็นผู้หญิงอยู่ข้างบ้านผมซึ่งแกเจอหน้าผมต้องขอสตางค์ทุกทีไป คนนั้นแหล่ะเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง นอกนั้นมันไม่มีเหลือในประเทศไทยแล้ว แล้วคุณจะเอาคนนั้นมาเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้ เหตุดังนั้นเนี่ย ผมคิดว่า คนที่จะเจอทางตันอย่างแน่นอน แม้จะเป็นฝ่ายชนะนะ คือฝ่ายคุณสุเทพ แต่ทีนี้จะไปตันตรงไหน ตันก่อนการเลือกตั้ง ตันหลังการเลือกตั้ง อันนี้ผมเดาไม่ถูก

คราวนี้ ไม่ตอบแบบนี้แล้ว ตอบแบบมนุษย์ธรรมดาคนนึง แบบความหมายที่สองก็คือ ผมคิดว่า คุณต้องรักษาระบอบการตัดสินใจที่มีระเบียบแบบแผนโดยที่เราไม่ต้องฆ่ากันตายเอาไว้ให้ได้ เพราะจากนี้เป็นต้นไป เมืองไทยจะไม่มีวันที่จะเห็นพ้องต้องกันภายใต้การนำ ไม่ว่าจะเป็นของจอมพลนั้นจอมพลนี้ หรือนายโน่นนายนี่อะไรอีกแล้ว มันไม่มีอรหันต์มาทำอะไรให้เราได้อีกแล้ว เราจะต้องทะเลาะกัน เราจะต้องเถียงกัน เราจะต้องต่อรองกันมากมายทุกเรื่องไปหมด ดังนั้นผมจึงคิดว่าคุณจะต้องรักษากติกาและระบบประชาธิปไตยไว้ เพราะมันเป็นระบอบเดียว กติกาเดียว ที่ให้เราเถียงกันโดยที่เราไม่ต้องฆ่ากัน และผมคิดว่าถ้าคุณทำตรงนี้ไม่ได้ เมืองไทยจะเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ที่สุด เราจะอยู่ท่ามกลางความรุนแรงเสียจนกระทั่งไม่รู้จะอยู่กันไปได้อย่างไร แล้วกองทัพ อย่าคิดว่าเขาจะเก่งพอที่จะเข้ามาทำให้ไม่เกิดการทะเลาะกันได้ภายใต้การนำของเขา ยิ่งเข้ามายิ่งทะเลาะกันหนักยิ่งไปกว่าเก่าอีกด้วยซ้ำไป ดังนั้นผมคิดว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเวลานี้สังคมไทย นอกจากคุณต้องยืนอยู่ในหลักประชาธิปไตยให้ได้

+เรื่องที่อาจารย์พูดถึงการเป็นผู้แทนที่เป็นผู้แทนไม่พอ แล้วคนตัวเล็กๆ อย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง

ไอ้นี่เป็นหัวใจใหญ่เลย คือคนตัวเล็กๆ ทำอะไรได้บ้าง ก็ร่วมไปกับกระแสต่างๆ ที่สำคัญคือร่วมผลักดัน ผลักดันอะไร? ผลักดันการปฏิรูปพรรคการเมือง สิ่งที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนอันนึง นอกจากสื่อ นอกจากทุนที่ตัวเองแต่ชอบไปว่าคนอื่นโกงแล้ว ผมคิดว่าคุณต้องปฏิรูปพรรคการเมืองอย่างรวดเร็วที่สุด

ที่ผมนึกออกสองสามอย่าง อย่างที่หนึ่ง ผมคิดว่าคุณจะต้องทำให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกเลือกเป็นผู้สมัครโดยประชาชน วิธีนี้ พูดสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือไพรมารี่โหวต ไอ้ไพรมารี่โหวตเนี่ยมันทำได้หลายวิธีมาก ฝรั่งเศสทำอย่าง อเมริกันทำอย่าง อะไรเยอะแยะไปหมด อเมริกันเองแต่ละรัฐยังทำไม่เหมือนกันด้วยซ้ำ อันนี้ต้องไปศึกษา แต่สรุปหัวใจก็คือว่า ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต้องเป็นคนเลือกเองว่าเขาจะเอาใครมาเป็นตัวแทนของเขาในการแข่งขันกับอีกพรรคหนึ่ง ไม่ใช่หัวหน้าพรรคเป็นคนเซ็น ไม่ใช่อาเฮีย อาเจ๊อะไรทั้งหลายเป็นคนเซ็นอยู่ข้างหลังฉาก

ประเด็นที่สอง ที่ผมอยากเห็นมากๆ ก็คือว่า เลิกเชื่อซักทีว่าพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย ไม่จริง ยิ่งคุณพยายามจะไปบีบให้พรรคการเมืองเหลือแค่สองพรรคใหญ่ ยิ่งจะมีปัญหาที่แก้ไม่ตกเลย อย่านึกว่าไอ้การเมืองสองพรรคใหญ่ อย่างเช่นในอังกฤษในตาม ในสหรัฐก็ตาม ไม่มีปัญหา มีแยะมาก คนที่ไม่มีตัวแทนของตัวเอง คนที่ไม่มีใครที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง ไม่รู้เท่าไหร่ๆ แต่อเมริกาโชคดีที่เขาเปิดเสรีภาพ มันมีสื่อที่มีกึ๋น และอื่นๆ ร้อยแปด คุณคงเคยดูหนังของไมเคิล มัวร์ ซิกโก้ คือคุณเอาคนน่ะ เก็บเงินค่าเรือก็ยังได้ ขนคนลงเรือไปคิวบา รับการรักษาฟรี ดีกว่า ได้ผลประโยชน์ดีกว่า ทุกอย่างดีกว่า แล้วเอาเรือกลับไปส่งที่ฟลอริด้าอย่างเก่า ถูกกว่าที่คุณจะเดินด้วยเท้าไปที่โรงพยาบาลในอเมริกา คนจำนวนมาก ไม่มีใครดูแลผลประโยชน์เขาเลย เขามีสองพรรคการเมืองใหญ่ ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะงั้นผมอยากจะเห็นรัฐธรรมนูญ ถ้าเราจะมีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ส.ส.อิสระ ต้องมี ใครอยากเป็น ส.ส. ต้องสมัครเลย ไม่เห็นเกี่ยวกับพรรคการเมือง คืออย่าไปออกกฎหมายที่ไปช่วยทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นตัวชี้ขาดของเวทีการเมือง.

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ