1.
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เริงฤทธิ์ คงเมือง ช่างภาพสารคดีมือฉกาจโพสต์ภาพเหล่านี้บนเฟซบุ๊กของตัวเองพร้อมกับคำบรรยายว่า
“ภาพบางส่วนของผู้ป่วยที่อาศัยใกล้เขตโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินแม่เมาะรายหนึ่งแสดงใบรับรองการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจากพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกโดยโรงพยาบาลราชวิถี” นี่คือคำอธิบายภาพหญิงจากภาพด้านบน ขณะที่อีกหลายใบหน้าด้านล่าง มันมีข้อความนี้ประกอบไว้
“เพื่อนบ้านอีกหลายคน ป่วยด้วยอาการเดียวกันและอีกหลายคนมีอาการภูมิแพ้หอบหืดและกระทั่งมะเร็งปอด”
ข้อความไม่ได้บอกอะไรมากกว่านั้น เขาปล่อยให้ภาพที่ผ่านการลั่นชัตเตอร์เล่าเรื่องแทน
2.
ย้อนกลับไปเพียง 1 วันก่อนหน้า
มันเป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ถึงวันนี้ มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และเจ็บป่วยนับร้อย
10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีนัดพิพากษาคำอุทธรณ์ของชาวบ้านที่เรียกร้องถึงความชัดเจนในมาตรการเยียวยาด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยกว่า 300 คนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
มันเป็นเช้าที่ ‘สมเพียร สายคำ’ และชาวบ้านรอบเหมืองแม่เมาะมีความหวังว่าพวกเขาจะได้รับการเยียวยาหลังจากได้รับผลกระทบมาเป็นเวลานาน
“ชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรม การทำเหมืองเป็นสมบัติของพวกเรา ทำไมการไฟฟ้ามาอุทธรณ์ชาวบ้าน ผมน้อยใจนะ ที่สำคัญชาวบ้านที่เจ็บป่วยตายไปก็มี คนที่ป่วยรอบเหมือง รอบโรงไฟฟ้า เกิดผลกระทบ 24 ชั่วโมง พวกเราอยู่ในพื้นที่ ผมเช็คปอดมันหายไปข้างนึง ที่มายื่นเรื่องชาวบ้านได้เอาเงินมารักษาตัวตอนที่ยังไม่ได้ตาย”
‘สมเพียร’ เคยเป็นพนักงานเหมืองมาก่อน เขาบอกว่าอยากให้เป็นความเป็นธรรมกับชาวบ้าน และฝากถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเยียวยาชาวบ้านที่ได้ความเจ็บป่วย ให้เหมือนในหนังโฆษณาบนจอทีวี
‘มะลิวรรณ วิโรจน์‘ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ พูดก่อนคำพิพากษาว่า ชาวบ้าวนมีความหวังสูงมาก พวกเขาใช้ชีวิตและสุขภาพเดิมพันในการต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม กระนั้นหัวใจ 4 ห้องยังต้องเว้นที่ว่างสำหรับความพ่ายแพ้
“ส่วนหนึ่งเราก็บอกให้ชาวบ้านทำใจไว้ว่ามันอาจจะไม่ได้อย่างที่เราหวัง ถึงคำคำพิพากษาวันนี้จะเป็นอย่างไร หรือว่าผลพิพากษาวันที่ 25 จะเป็นอย่างไร พวกเรายังเกาะเกี่ยวยังยึดมั่นกันอยู่ ถ้าวันนี้ชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาแต่ชาวบ้าน กว่า 131 ราย ที่จะต้องได้รับค่าชดเชยเยียวยา ก็มีความคิดตกลงกันว่าจะช่วยเหลือกันจะประคองกัน โดยการรวบรวมเพื่อช่วยเหลือกันต่อไปคือเราจะไม่ทิ้งกันแน่นอนเพราะเรามาด้วยกันอยู่แล้ว 13 ปีแล้ว เป็น 13 ปีในการเข้าสู้กระบวนการยุติธรรม”
3.
มันเป็นตอนเช้าของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองเชียงใหม่ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 16-31/2553 หมายเลขแดงที่ อ. 749-764/2557 ซึ่งเป็นคดีพิพาท ระหว่าง นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูกฟ้องคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวกรวม 11 คน ในคดีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 สำนวน 318 คน ฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ซึ่งหมายถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อันเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง ละเลยมิได้ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร
หลังจากศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยเมื่อ 4 มีนาคม 2552 ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่มันเป็นเช้าที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาอีกด้าน
ข้อความจากการพิจารณาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 นั้น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1) ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้
2) ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร
3) ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
4) ให้นำพืชที่ปลูกใน Wetlands ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน Wetlands
5) ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด
ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) เสนอต่อ สผ.แล้ว จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามคำพิพากษา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
4.
หลังฟังคำตัดสิน มันไม่เหมือนกับความฝันกลางแดดยามเช้า หากก่อนหน้าหัวใจเคยมี 4 ห้อง ไม่แน่ว่าหลังสิ้นคำพิพากษา พวกเขายังเหลือมันไว้สักกี่มากน้อย
‘สมเพียร สายคำ’ พูดประโยคสั้นๆ ออกมาว่า รู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้รับการเยียวยาที่เต็มที่
“ผิดหวังครับ เพราะเฮาบ่ได้ฮับการเยียวยาอย่างเต็มที่ ที่เฮามาวันนี้เฮาหวังว่า ตั้งใจมาหลาย 10 ปีแล้วเนาะ แต่ว่าเมื่อมีคำพิพากษาแล้วเฮาก็เคารพตามศาล แต่ภายในใจมันเจ็บ”
เขาพูด ขณะที่มือจับไปที่หน้าอกของตัวเองบ่อยครั้ง บางทีนั่นอาจเป็นการสำรวจหัวใจของตนเอง เพราะใจความสำคัญของการศาลตัดสินนั้นระบุว่า ชาวบ้านไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะได้รับการเยียวยา โดยศาลให้ กฟฝ. พื้นฟูพื้นที่ขุมเหมืองเดิมให้กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์ หลังจากวันนี้ที่แห่งนั้นกลายเป็นสนามกอล์ฟ
5.
ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าจากถ่านหินที่แม่เมาะ จ.ลำปาง เกิดขึ้นครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2535 และ พ.ศ.2541 ที่มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะสูงถึง 3,418 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ค่าที่ได้รับการควบคุมอยู่ที่ 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เท่านั้น ส่งผลให้ชาวบ้านนับพันคนต้องล้มป่วยลงพร้อมกัน และทำให้พืชผลของชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
กรณีนี้ กลุ่มจับตาพลังงานเห็นว่า แม้ชาวบ้านจะไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันแต่ก็เจ็บป่วยและได้รับมลพิษจากโรงไฟฟ้าจริง ดังนั้น กฟผ.น่าจะเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น
และจำเป็นจะต้องมีการทบทวนนโยบายส่งเสริมการใช้ถ่านหินของประเทศว่าจำเป็นหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่น
‘สันติ โชคชัยชำนาญกิจ’ กลุ่มจับตาพลังงาน พูดว่า หลังจากที่ได้ไปทำงานในพื้นที่แม่เมาะก็พบว่าชาวบ้าเจ็บป่วยจริงๆ และชาวบ้านก็ยังจะได้รับผลกระทบอยู่เช่นเคย เพราะโรงไฟฟ้าก็จะหมดอายุไปบางส่วนในอีก 2 ปี และก็กำลังจะเริ่มการก่อสร้างโรงฟฟ้าโรงใหม่ และมีการใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะ ซึ่งเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ ถ้า กฟผ. ไม่ได้มีมาตรการหรือไม่ใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่านี้ ชาวบ้านก็จะยังคงเจ็บป่วต่อไปแน่นอน
“เสียใจกับชาวบ้านที่ฟ้องด้วยนะครับ” หนึ่งในเสียงพูดของเขาบอกไว้เช่นนี้
6.
หลังการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองเชียงใหม่ ยังกำหนดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีผู้ป่วย 131 ราย ซึ่งมีเอกสารยืนยันทางการแพทย์ที่ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กฟผ.จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 131 ราย รวมเป็นเงิน 1,086 ล้านบาท