16 ปี คนแม่เมาะ พลัดถิ่น: วิถีชีวิตเปลี่ยน สิทธิสูญหายและเอกสารสิทธิในที่ดินที่ยังรอคำตอบ

16 ปี คนแม่เมาะ พลัดถิ่น: วิถีชีวิตเปลี่ยน สิทธิสูญหายและเอกสารสิทธิในที่ดินที่ยังรอคำตอบ

ถิ่นฐานบ้านเรือน ที่ลงหลักปักฐาน หาอยู่หากินกันมาเนิ่นนาน ต้องทิ้งเรือน ทิ้งไร่ผืนใหญ่ มาพักพิงอาศัยในผืนดินใหม่ เหลือบ้าน 1 หลัง ที่ดิน 1 ไร่ พร้อมคำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้น แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 16 ปี และนี่คือชะตากรรมของพวกเขา คน 4 หมู่บ้าน ที่แม่เมาะ

“จุดเปลี่ยนชีวิต”  ของคนกลุ่มนี้ เริ่มต้นขึ้น เพียงเพราะมีบ้านพักอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้า  ทำให้พวกเขาต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานบ้านเกิด ไปอาศัยอยู่ยังพื้นที่แห่งใหม่ ที่ได้รับการจัดสรรจาก กฟผ.แม่เมาะ

มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549  ให้มีการอพยพราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ ครั้งที่ 6 จำนวน 4 หมู่บ้าน  คือ บ้านห้วยคิง บ้านห้วยเป็ด บ้านหัวฝาย และ บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง   รวม 493 ครัวเรือน  และเห็นชอบในการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับราษฎร

การโยกย้ายจึงเริ่มขึ้นในปี  2551 จากผู้คนที่เคยมีบ้านพักอาศัยของตนเอง และมีที่ดินทำมาหากินคนละหลายไร่  ต้องมาอยู่ในพื้นที่จัดสรร เหลือที่ดินเพียง 1 ไร่ และบ้าน 1 หลัง  ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 16  ปี พวกเขาก็ยังไม่ได้รับสิทธิในที่ดินดังกล่าว  แม้จะมีมติ ครม.ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้าน

พื้นที่จัดสรรใหม่สำหรับตั้งบ้านเรือน ที่กฟผ.เช่าจากกรมป่าไม้ไว้ 30 ปี

วิถีชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนไปตลอดกาล         

มะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  หนึ่งในผู้อพยพครั้งที่ 6 เล่าว่า  การอพยพครั้งที่ 6  เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจ  การต่อสู้จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544  และเดินหน้ามาต่อเนื่อง จนมีมติ ครม.ในปี 2549

“การต่อสู้เรียกร้องครั้งนี้ผ่านมายาวนาน เป็นการรบไปเจรจาไป จนในที่สุดชาวบ้าน 493 ครอบครัวได้อพยพมาอยู่พื้นที่แห่งใหม่ในปัจจุบัน  เป็นพื้นที่ที่ กฟผ.เช่าจากกรมป่าไม้ไว้ 30 ปี  เมื่อปลูกบ้านเสร็จ ในปี 2551 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับเอกสารสิทธิ์  จนปัจจุบันผ่านมา 16 ปี ยังไม่มีการเพิกถอนป่าและการออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน  นั่นเป็นเพราะหน่วยงานของรัฐไม่ได้ทำตามมติ ครม.ที่มีกำกับเอาไว้”

มะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  พาไปดูที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่รอการออกเอกสารสิทธิ์

ที่ผ่านมาพวกเธอติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด เปลี่ยนรัฐบาลครั้งใดก็ไปยื่นหนังสือทุกครั้ง  จนรู้สึกว่าทำไมต้องมีวิบากกรรมอะไรขนาดนี้ เพราะอยู่บ้านเก่าก็มีโฉนด พออพยพย้ายมาก็สัญญาว่าจะออกโฉนดให้  แล้วทำไมถึงไม่ทำ  ทำไมรัฐแก้ปัญหาไม่จบ?!

วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป

“วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไปทั้งหมด  กว่าจะปรับตัวเข้ากับพื้นที่ใหม่เป็นเรื่องยากมาก  เดิมชาวบ้านเป็นเกษตรกร หากินตามป่าตามดอย แต่พื้นที่อพยพมาเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ไม่สามารถไปทำมาหากินได้  ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้จากเบี้ยยังชีพเพียง 700 บาท  อยู่บ้านเดิมเราไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ แต่ถ้าไม่ได้รับผลกระทบ ใครจะอยากทิ้งบ้านเกิดมา” 

สภาพดินในพื้นที่จัดสรรใหม่ที่แข็งและเต็มไปด้วยก้อนหินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก

สิทธิที่สูญหาย   

เงินค่าชดเชยที่ได้ เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วเงินก็หมด  คนที่ไม่มีสมบัติเดิมติดตัว ก็ต้องการขายบ้าน ขายที่ดิน  แต่ก็ทำไม่ได้  ต้องใช้วิธีทำสัญญาซื้อขาย ขายทะเบียนบ้าน ย้ายออกและย้ายเข้าแทน  นอกจากนั้น เราเสียสิทธิมากมาย ในเรื่องการประกอบอาชีพ มีการตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ  มีปัญหาในสิทธิที่ควรได้ สิทธิที่จะการันตีการขอสนับสนุนเงินทุนที่จะมาหมุนเวียน  รวมถึงการขอ มอก.  ทั้งที่มีการตั้งกลุ่มอาชีพมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังเป็นอาชีพที่ไม่มีอะไรรองรับได้เลย ทั้งที่งานของเราเทียบเท่ามาตรฐานได้

ถ้าได้รับเอกสารสิทธิ์ เราก็จะได้รับสิทธิที่ดีกว่าเดิม  ซึ่งสามารถนำไปการันตีกับธนาคาร หรือนำมาเปลี่ยนเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้   เราไม่รู้ว่าจะมีอายุอีกเท่าไร แต่อยากให้จบในรุ่นของเรา เพื่อไม่ให้ลูกหลานเดือดร้อน

ชาวแม่เมาะผลัดถิ่นรวมตัวกันเพื่อทวงถามความคืบหน้าในเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ชีวิตที่ไร้ความมั่นคง

เราไม่ได้รับความมั่นคงอะไรเลย  แม้แต่ที่ดินที่ปลูกบ้านก็ยังเป็นที่ป่า  ถ้าป่าไม้จะจับเราเรื่องบุกรุกป่าก็สามารถทำได้  เพราะ กฟผ.แม่เมาะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ป่าไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 65 แล้ว   หน่วยงานภาครัฐ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่กระตือรือร้นที่จะดำเนินการให้  จนชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องกับคณะกรรมาธิการที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร

“ที่ผ่านมาเรียกร้องและทวงถามมาตลอดทุกรัฐบาล  ร้องไปครั้งก็มารังวัดมาสำรวจ แต่สุดท้ายก็หายไปกลางอากาศ  พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบายที จนในที่สุดมีความคืบหน้าเมื่อเราไปยื่นคณะกรรมาธิการที่ดิน แม้กระทั่งการได้ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  ซึ่งได้มาลงพื้นที่ติดตามและบอกว่าให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จนป่านนี้ 6 เดือน 2 รอบแล้วก็ยังไม่จบ”

บุคคลที่ถูกละเลย

มะลิวรรณ ว่า  มาอยู่ตรงนี้โครงสร้างพื้นฐานยังลำบาก  น้ำประปาเป็นหินปูน น้ำขาดแคลน  ต้องขอรถขนบริการน้ำมาให้  ทุกวันนี้ขอให้ขุดบ่อเสริม ขุดประปาใหม่ ทราบว่าอนุมัติมาแล้วแต่ก็เงียบไป  ยังไม่มีน้ำประปา หรือน้ำบาดาลมาเสริมใช้ในชุมชนเลย  เรากลายเป็นบุคคลที่ถูกละเลย

น้ำปะปาเป็นหินปูนและตกค้างอยู่ในท่อส่งน้ำ

 “การอยู่อย่างเลื่อยลอย การอยู่อย่างไม่มั่นคง  เป็นเรื่องที่แย่มากสำหรับโครงการพัฒนาแห่งรัฐ  ที่อวดอ้างว่าเป็นต้นแบบแห่งการอพยพโยกย้าย  แม่เมาะโมเดล  เป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่  ขอถามหน่อยว่าน่าอยู่อย่างไร เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านยังอยู่ยาก

พลังงานเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ แต่แล้วทำไมต้องให้ผู้เดือดร้อนจากพลังงานต้องมาอยู่อย่างอนาถาแบบนี้  มันไม่เป็นธรรม”

การต่อสู้ครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีคำว่า “ท้อ” สำหรับพวกเขา เพราะคำนี้กลายเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้จะต้องสู้ต่อไป  แม้จะก้าวเดินไปเพียง 10 คน แต่ทำให้ให้คนเป็นร้อยเป็นพันได้ประโยชน์ ไปด้วย พวกเขาก็จะทำ

สุดท้ายพวกเขาได้กล่าวไว้ว่า  “แม้จะมีคนหยุดเดิน แต่เราจะไม่หยุด  พวกเราเดินมาไกลเกินกว่าจะท้อ”   จุดหมายปลายทางของเอกสารสิทธิ์จะเป็นเช่นไร ก็ยังคงรอคำตอบต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ