เสียงสะท้อนชาวชุมชนเสือน้อย ผลกระทบจากการไล่รื้อริมคลอง

เสียงสะท้อนชาวชุมชนเสือน้อย ผลกระทบจากการไล่รื้อริมคลอง

‘ชุมชนเสือน้อย’ ชุมชนริมคลองสาขาของคลองลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ อีกหนึ่งชุมชนริมที่ได้รับผลกระทบจาก นโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงพื้นที่ริมคลอง 9 สายหลักของกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยการขยายพื้นที่คลองให้กว้างขึ้นรองรับการระบายน้ำเมื่อมีฝนตกหนัก 

สภาพบ้านเรือนเกือบ 70 หลังคาเรือน ในชุมชนเสื้อน้อยไม่ต่างจากชุมชนแออัดกลางเมืองทั่วไปที่อยู่กันอย่างแออัด บ้านแต่ละหลังปลูกสร้างอยู่ที่ติดๆ กันตลอดทั้งริมสองฝั่งคลองขนาดเล็ก บ้านบางหลังเก่าและชำรุดทรุดโทรม ขณะที่ปัจจุบันบ้านบางหลังได้ถูกรื้อถอนตามแนวนโยบายการปรับปรุงพื้นที่ริมคลองไปแล้ว

ข้อมูลจากสำนักงานเขตลาดพร้าวระบุว่า ขณะนี้มีชาวบ้านที่ยินยอมให้รื้อที่อยู่อาศัย 30 ราย และได้ดำเนินการรื้อถอนไปแล้วกว่า 10 หลังคาเรือน เหลืออีก 37 หลังคาเรือนที่ยังไม่ยินยอมย้ายออก โดยชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยับยั้งการรื้อถอน ล่าสุดคือการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา

20152210173820.jpg

“ถ้าผมเสนอไปได้ ผมอยากขออยู่ที่เดิม ติดตรงไหน เขาเอาแนวเขตถึงไหน รื้อให้เขา ไม่ขัดขวาง ให้เขาทำ แต่มันยังมีที่เหลือเยอะก็จะขออยู่ที่เดิม” โชติช่วง ราชเจริญ หนึ่งในชาวบ้านจากชุมชนเสือน้อยกล่าว

โชติช่วง กล่าวถึงสิ่งที่ชาวชุมชนเสือน้อยต้องเผชิญว่า ปัญหาหลักที่พบ คือทางรัฐบาลไม่หาที่รองรับให้ จะไล่รื้ออย่างเดียว จากที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานรัฐบอกจะหาที่รองรับให้ จะหาบ้านน็อคดาวน์ให้ แต่กลับไม่มีการดำเนินการและจะให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเอง โดยให้แค่เงินหมื่นเดียวแล้วให้ไปหาอยู่ที่อื่น 

“เงินหมื่นเดียวนี่มันไม่พอหรอกที่จะย้ายไป ค่าขนของก็หมดแล้ว แล้วจะให้ไปเช่าบ้านอยู่ คนแก่ คนเฒ่า คนพิการเขาจะไปอยู่ไหน เขาจะเอาไรทำกิน ปัญหามันก็มีอย่างนี้เหละครับ” โชติช่วงกล่าว

20152210173857.jpg

“ไม่อยากย้ายเลยค่ะ เพราะผูกพันกับที่นี่มาก” วรรณา เฉลิมจารย์ ชาวบ้านชุมชนเสือน้อยอีกคนหนึ่ง กล่าว

วรรณา เล่าว่า เธอก็เป็นคนมาจากต่างจังหวัดและย้ายมาอยู่ที่นี่มากกว่า 30 ปีแล้ว ทำมาหากินอยู่ที่นี่ จึงรู้สึกผูกพันอยู่ที่นี่ แต่ถ้ารัฐบาลหาที่รองรับให้ไปได้ดีๆ ก็จะพิจารณาดูว่าจะไปทำมาหากินได้ไหม แต่การอยู่ที่นี่ทำมาหากินสะดวกกว่า

“ญาติพี่น้องที่อยู่ร่วมกันมันก็ผูกพัน ก็ไม่อยากพลัดพรากจากกัน คนแก่คนเฒ่าอายุมากแล้ว คนพิการก็เยอะ แล้วก็ถ้าไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้จะไปดูแลกันยังไง แตกแยกกันไป ถ้าอยู่นี่ บ้านไหนเดือดร้อนเราก็จะไปช่วยเหลือกันได้” วรรณา เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นพดล พันธ์นอก นายช่างสำรวจปฏิบัติการสำนักงานเขตลาดพร้าว ชี้แจงว่า ชุมชนเสือน้อยเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่โครงการที่จะปรับปรุงเพื่อสร้างเขื่อน การโยกย้ายนั้นทางหน่วยงานรัฐได้มีการออกคำสั่งและแจ้งข้อมูลในเรื่องนี้ให้กับชาวบ้านมากว่า 10 ปี แล้ว และได้ดำเนินการมาเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน โดยมีการติดตามและปฏิบัติตามขั้นตอนที่รัฐบาลได้ให้นโยบายอย่างถูกต้อง ซึ่งก็มีชาวบ้านที่เข้าใจและยอมย้ายออกไปบางส่วนแล้ว

ส่วนการแจ้งให้รื้อถอนออกจากที่สาธารณะ เจ้าพนักงานต้องทำตามหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่นี้ แต่ถ้ายังไม่ย้ายออก เราก็จะมีการแจ้งความดำเนินคดี โดยส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานสอบสวน จากนั้นตำรวจก็จะเรียกสอบดูข้อมูล สอบถามข้อเท็จจริงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และก็เรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำ แล้วจึงทำสำนวนหลักฐาน หากพร้อมก็ส่งอัยการฟ้องคดี

นพดล กล่าวด้วยว่า ในส่วนเงิน 1 หมื่นบาทเป็นระเบียบค่าขนย้ายของ กทม. ซึ่งได้ระบุไว้ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ถามว่าพอไหม ก็คงไม่พออยู่แล้ว แต่ถามว่าสามารถเบิกให้มากกว่านี้ได้ไหม ถ้ากฎหมายยินยอมก็คงทำให้ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำตามที่กฎหมายระบุไว้

หากจะว่าด้วยข้อกฎหมาย การตั้งที่อยู่บนพื้นที่สาธารณะถือเป็นสิ่งที่ผิด แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่มานานและมีความผูกพันกับที่นี่ ภาครัฐควรมีข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาที่ชาวบ้านจะอยู่ในพื้นที่เดิมได้

โดยมีโครงการข้อตกลงร่วมที่ภาครัฐจะสามารถดำเนินการตามนโยบายพัฒนาพื้นที่ริมคูคลอง หรือถ้าหากไม่สามารถทำได้ก็ควรมีกระบวนการช่วยเหลือในการให้ชาวบ้านไปอาศัยอยู่ที่อื่นโดยมีการจัดสรรบ้านและที่รองรับอย่างเหมาะสม 

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชาวบ้านชุมชนเสือน้อย รวมไปถึงชุมชนอื่นๆ ในขณะนี้ คือนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นธรรม และหาแนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนในการจัดการร่วมกันอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ