‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ อีกปีหนึ่ง กับเวลา 20 ปี ของการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง

‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ อีกปีหนึ่ง กับเวลา 20 ปี ของการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง

พรุ่งนี้ (6พ.ย. 2560) เครือข่ายสลัม 4 ภาค จากทั่วประเทศ ราว 2,000 คน นัดหมายกันร่วมเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกซึ่งถูกเลื่อนจากทุกปีที่จะจัดงานในช่วงวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมตามการกำหนดขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญของคนไทยทั้งประเทศ

4 ต.ค.2553 เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล

กำหนดการในปีนี้จะมีการยื่นหนังสือถึงตัวแทนองค์การสหประชาชาติ บริเวณถนนราชดำเนินนอก หน้าองค์การสหประชาชาติ จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้ช่วยเหลือคนจนใน 2 ด้านหลัก คือ ด้านที่อยู่อาศัยและด้านคุณภาพชีวิต

นอกจากนั้น เครือข่ายสลัม 4 ภาคและภาคีเครือข่ายคนจนเมืองจะมีการอ่านแถลงการณ์ต่อรัฐบาล เพื่อติดตามการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในทางนโยบายด้วย

บนหนทางต่อสู้อันยาวนานเพื่อที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม 4 ภาคได้จัดงาน “20 ปี การต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัย คนกับคลอง อยู่ร่วมกันได้” ที่ชุมชนเพชรคลองจั่น เขตบึงกุ่ม เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองในปัจจุบัน

เมื่อปี 2538 ชุมชนเพชรคลองจั่นคือชุมชนคนจนเมืองแห่งแรกๆ ที่ถูกไล่รื้อ จากนั้นเมื่อปี 2540 จึงมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยริมคลอง และได้มีกระบวนการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรวมทั้งรัฐบาลมาแล้วหลายสมัย

สำหรับข้อเสนอล่าสุดของคนในชุมชนคือกระบวนการทำ “โฉนดชุมชน” เพื่อนำที่ดินมาจัดทำโครงการบ้านมั่นคงต่อ ซึ่งเป็นข้อเสนอการแก้ปัญหาที่ถูกตอบรับแต่ไม่มีการดำเนินการจริงจากหน่วยงานรัฐมานานหลายปี

ตอนหนึ่งของวงเสวนามีการตั้งคำถามถึงการเดินหน้าโฉนดชุมชนให้กับ 4 ชุมชนนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ ชุมชนเพชรคลองจั่น เขตบึงกุ่ม รวมทั้งชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ เขตวัฒนา, ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง และ ชุมชนหลวงวิจิตร เขตคันนายาว

ทั้ง 4 พื้นที่ดังกล่าว กทม.เคยรับปากจะแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการให้ชาวบ้านทราบเป็นระยะๆ แต่ตอนหลังกลับติดปัญหาการเป็นชุมชนในพื้นที่ลำรางสาธารณะที่เคยถูกใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครจึงไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่

ขณะที่ฝั่งของชุมชนเองก็อธิบายว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ถูกใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำมาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปีแล้ว

สันติ เที่ยงประเทศ ผู้แทนจากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องระเบียบข้อกฎหมายซึ่งก็มีวิธีการแก้ไข คือการถอนสภาพเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่จากเขตคลองใหม่เป็นที่ดิน โดยหน่วยงานปกครองท้องที่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือ กทม.และ ผอ.เขตท้องที่ต้องเป็นคนดำเนินการ แต่ไม่สามารถชี้แจงลงลึกในรายละเอียดมากไปกว่านี้ได้

ขณะที่ยุทธพันธ์ มีชัย ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมรับการร่วมตัวของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ว่า พร้อมพบปะกับประชาชนเพื่อร่วมพูดคุยถึงการแก้ปัญหา พร้อมยอมรับว่าผู้บริหารอาจมีข้อจำกัดเนื่องจากมีภาระรับผิดชอบในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง

ด้านอรทัย จันทร์สา ชาวชุมชนเพชรคลองจั่น กล่าวว่า ขณะนี้ในชุมชนมีปัญหาหลัก ๆ คือการไม่สามารถทำเรื่องขอใช้น้ำและไฟเป็นรายหลังคาเรือนได้ ต้องใช้หม้อแปลงรวม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งมีเรื่องสาธารณูปโภค ถนนไม่สามารถปรับปรุงได้เพราะยังคงเป็นที่สาธารณะอยู่

ข้อเสนอของชาวชุมชนคือการทำโครงการบ้านมั่นคงภายใต้โครงการโฉนดชุมชน แต่ก็ติดปัญหาว่ามีโครงสร้างหน่วยงานแต่ที่ผ่านมากลับไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง ทำให้การดำเนินงานไม่เกิดขึ้นจริง

อรทัย ให้ข้อมูลด้วยว่าชุมชนเพชรคลองจั่นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 64 หลังคาเรือน รวมแล้ว 87 ครอบครัว ชาวชุมชนพยายามยืนยันตัวเองว่า “คนอยู่ร่วมกับคลองได้” โดยการขยับชุมชนมาอยู่ในพื้นที่บนบกทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาว่ากีดขวางทางน้ำและพยายามพัฒนาคลองให้สะอาด จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐในฐานะชุมชนที่อยู่คู่กับคลอง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังถูกบอกว่าพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่ดี

“ทุกคนบอกว่าเราอยู่ได้ แต่ไม่มีใครการันตีรับรองให้เราอยู่” ชาวชุมชนเพชรคลองจั่นกล่าว

การยอมรับโดยกฏหมาย โดยการรับรองจากรัฐ จึงมีความสำคัญต่อชุมชนเพชรคลองจั่นและชุมชนริมคลองอีกหลายพื้นที่ และนี่คือหนึ่งในข้อเรียกร้องเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกที่ดำเนินมาหลายต่อหลายปี

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 รัฐบาลดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาโดยให้มีการการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาบุกรุกริมคูคลอง ส่งผลให้ต้องมีการรื้อย้ายชุมชนริมคลองใน 9 คลองสายหลัก คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองลาดบัวขาว คลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระโขนง คลองพระยาราชมนตรี และคลองสามวา

ที่มากไปกว่านั้นคือชุมชนริมคลองย่อยที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ถูกพูดถึงมากนักในหน้าสื่อ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐทั้งงบอุดหนุนที่อยู่อาศัย และการช่วยเหลือเงินกู้ยืมจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.

ตรงนี้จึงยังคงเป็นปัญหาที่ชุมชนริมคลองอยากส่งเสียงไปถึงผู้กำกับนโยบาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ