นาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งอยู่ในวิกฤตเตียงโควิด-19 เต็ม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงอีกหลายจังหวัดที่มีคลัสเตอร์การระบาดและกำลังเผชิญกับภาวะนี้
การ “กักตัวที่บ้าน” หรือ “Home Isolation” ใน ‘ผู้ป่วยโควิดสีเขียว’ ถูกพูดถึงหนาหูและเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางออกลดความแออัดของเตียงในสถานพยาบาล ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตอนนี้ในต่างจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดโควิด -19 ก็เริ่มปฏิบัติการจับคู่โรงพยาบาลร่วมกับชุมชน อย่างที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ตอนนี้ เปิดเตียงเพิ่มในชุมชน ทำเป็น Community Isolation Center ศูนย์กักของชุมชน หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 เพิ่มขึ้นใน 2 สัปดาห์กว่า 300 คน โดยจะแยกตัวผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ในระยะติดต่อโรคออกจากชุมชนทันทีหากพบเชื้อ ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาร่วมกับแพทย์
ทางรอดวิกฤตเตียงเต็ม Home & Community Isolation
วันที่ 30 มิถุนายน 64 เครือข่ายแกนนำชุมชนทั่วประเทศกว่า 100 คน ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประชุมผ่านโปรแกรม Zoom meeting หารือความร่วมมือในการทำ Home & Community Isolation ระดับชุมชนเพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน ซึ่งก็มีหลายชุมชนเข้ามาแลกเปลี่ยน โดยนวัตกรรมในการช่วยกันจัดการดูแลผู้ป่วยโดยชุมชน ซึ่งการจะทำ Home & Community Isolation ที่เป็นศูนย์พักคอยในชุมชน อาจจะใช้สถานที่วัด โรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก แต่จะต้องมาจากความพร้อมของชุมชนในการจะใช้พื้นที่กลางเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เริ่มกระจายตัวในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร พื้นที่เปราะบางในสถานการณ์โควิด-19 มีบางชุมชนที่ช่วยกันดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อยู่แล้ว แต่บางพื้นที่ก็เป็นการดูแลตามสภาพความเป็นอยู่ อย่างที่ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนี้กลับมาเป็นพื้นที่สีแดงอีกครั้ง คนในชุมชนจึงร่วมกันใช้พื้นที่ส่วนกลางจัดคนเข้าไปดูแลกัน ตอนแรกส่งเป็นข้าวสารอาหารแห้ง ให้คนที่ต้องกักตัวทำอาหารกิน มีการให้ความรู้เรื่องการกักตัว รวมถึงประสานเขต รพ.ศูนย์ 47 เพื่อให้มารับส่งผู้ป่วย และตอนนี้ก็มีการทำครัว แต่ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ แต่ทำเป็นเครือข่ายในเมืองภาษีเจริญด้วย
ชุมชนชินเขต เขตหลักสี่ มีไลน์ในการพูดคุยประสานงานโควิด-19 และมีอาสาสมัครคอยช่วยเหลือตลอด ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 (อสส.ศูนย์ 60 ) ก็มีแพทย์แผนไทยสนับสนุนเวชภัณฑ์และยาสำหรับคนที่พักคอยรอการเข้ารับการรักษา รวมถึง ศูนย์ประสานงานหลักประกันวิถีพุทธ ที่มีการช่วยประสานเตียงพระที่ป่วย และช่วยในการจัดการงานศพในวิกฤตโควิด
กว่าจะเป็น Home & Community Isolation แต่การจะทำ Home & Community Isolation ก็ต้องมีพื้นที่ มีคน และมีงบประมาณในการดูแลผู้ป่วย
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานงาน กลุ่มคนทำงานชุมชนกับโควิด เล่าว่า สถานการณ์ตอนนี้การประกาศให้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ สามารถที่จะดูแลรักษาโดยชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการในชุมชนที่บ้านได้ ซึ่งเดิมที่ถ้ามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องเข้ารับรักษาที่ รพ.สนาม แต่ตอนนี้วิกฤตเตียงเต็มไม่เพียงพอ ผู้ป่วยต้องรอคิว และกว่าจะได้เตียงในการเข้ารับการรรักษาก็อาจจะช้าไปในผู้ป่วยบางคนที่อาการหนัก ซึ่งการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว ไม่ใช่การผลักภาระไปให้ชุมชน แต่เป็นการรวมพลังความช่วยเหลือจากชุมชน
Home & Community Isolation จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน ทั้งจาก สปสช. เรื่องหน่วยบริการเข้าไปดูแลคนป่วยโควิด-19 สีเขียวซึ่งกักตัวที่บ้านหรือพื้นที่กลางของชุมชน โดยสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อให้สามารถวัดค่าและรายงานต่อแพทย์ เป็นการลดสภาพความแออัดของเตียงที่หน่วยบริการดูแลอยู่ และจัดสรรอาหารให้ครบ 3 มื้อ รวมถึงมีงบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 50 เขต ซึ่งสามารถเขียนโครงการขอได้ โดยบประมาณส่วนนี้ จะให้ไว้กับหน่วยบริการที่ต้องลงไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทางหน่วยบริการและชุมชนจะต้องบริหารจัดการ แต่หากงบประมาณบางส่วนไม่เพียงพอ หรือนอกเหนือจากการดูแลใน Home & Community Isola จะมีงบกองทุนตำบลที่สามารถขอการสนับสนุนเติมได้
เมื่อชุมชนพร้อมเป็นศูนย์พักคอยต้องทำอย่างไร
Step 1 : ชุมชนไหนพร้อมที่จะเข้ามาดูแลพี่น้อง ประสานไปทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จะมีการประเมินความพร้อมของพื้นที่ในการทำ home & community Isolation
Step 2 : จับคู่โรงพยาบาล ศูนย์บริการกับชุมชนที่เข้าร่วม เพื่อจัดตั้งระบบด้วยกัน และถ้าพบผู้ติดเชื้อจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยในกับ รพ.นั้น ๆ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการประเมินภาวะสุขภาพ
Step 3 : พัฒนาศักยภาพเติมความรู้การประเมินความเสี่ยงและระบบการดูแลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้กับแกนนำและอาสาสมัคร
จากนั้น เมื่อมีทีมเข้าไปเตรียมชุมชนแล้วก็จะไปสู่การ Swap แล้วไปที่เรื่องการกระจายวัคซีนว่าในชุมชน ใครที่ได้รับหรือยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่ง รพ.ที่จับคู่กับชุมชนก็ต้องประสานขอวัคซีนอีกครั้ง
การทำ home & community Isolation เป็นนวัตกรรมในการช่วยจัดการผู้ป่วยโดยชุมชน ที่จะพัฒนาระบบในรูปแบบใหม่ด้วยการกักตัวโดยชุมชน ที่ชุมชนเป็นหัวใจสำคัญซึ่งตอนนี้นำร่องไปแล้ว 23 ชุมชน เพื่อมีส่วนแก้ปัญหาผู้ป่วยระดับสีเหลืองเข้าถึงการรักษาช้า และการดูแลผู้ป่วยหนักระดับสีแดงที่มีอาการรุนแรง ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีเตียงรองรับเพียงพอ ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
ถ้าชุมชนไหนที่สนใจที่มีลักษณะความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยดูแลกัน ก็สามารถติดต่อมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อประเมินความพร้อมพื้นที่ ในการทำ home & community Isolation โดยมีแนวทางเติมความรู้การประเมินความเสี่ยงและระบบการดูแลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้กับแกนนำและอาสาสมัครรวมไปถึงกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ดูแลอยู่ ซึ่งก็น่าสนใจที่จะเป็นโมเดลสำคัญในการช่วยดูแลกันโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง