วงเสวนา วิกฤตรัฐธรรมนูญ”ไทย”ใครบิดเบือน? โดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ และ อ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ดำเนินรายการโดย อ.อานนท์ มาเม้า ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนใจในประเด็นทางการเมืองซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างของสังคมไทย
โดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ และ อ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้หยิบยกแนวคิดที่นำมาใช้เป็นหลักในการอธิบายวิกฤตรัฐธรรมนูญแตกต่างกันออกไป ดังนี้
อ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า “วิกฤตรัฐธรรมนูญในครั้งนี้พวกท่านคงทราบกันดีว่า มันเริ่มต้นมาจากตอนที่รัฐสภามีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปีที่แล้วก็ครั้งหนึ่ง ปีนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าก็ไปสะดุดลงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญก็รับวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 68 ซึ่งในความเห็นของผมแล้ว มันไม่มีเขตอำนาจใดๆเลยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมารับวินิจฉัยเรื่องนี้ได้”
“ระบบที่เราเรียกว่าองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีอยู่ 2 ระบบ 1.ระบบกระจายอำนาจ หรือเราเรียกกันว่า American Model คือโมเดลแบบสหรัฐอเมริกา หมายความว่า ศาลทุกศาลมีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ทุกศาล อันนี้สหรัฐอเมริกาใช้ ประเทศอินเดียใช้ 2.ระบบรวมอำนาจ มีภาคพื้นยุโรป ระบบแบบออสเตรีย เยอรมัน และเป็นระบบที่เริ่มแพร่หลายไปในหลายๆประเทศ ก็คือ มีศาลรัฐธรรมนูญศาลเดียวที่จะมาทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ว่ากฎหมายมันตราขึ้นมา มันขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ “
“เราจำเป็นจะต้องแยก 2 ระบบนี้ให้เคลียร์ก่อนก็เพราะว่า 2 ระบบนี้มันมองไม่ตรงกัน ระบบกระจายอำนาจแบบสหรัฐอเมริกานั้นหมายความว่าศาลทุกศาลมันมีเขตอำนาจในทุกๆคดี และรวมทั้งกรณีที่เป็นประเด็นข้อพิพาทกันในศาลแล้วมีคนหยิบยกขึ้นมาว่า กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลแห่งคดีนั้นก็จะเป็นคนพิจารณาเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอำนาจมันกว้่าง ในขณะที่ประเทศที่เลือกใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญ คือศาลเดียวที่จะคอยรวมศูนย์เอาไว้ เป็นคนวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คือศาลรัฐธรรมนูญมันจำเป็นจะต้องให้มีอำนาจจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูยกำหนด สาเหตุที่จำเป็นจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้มีอำนาจจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเท่านั้น เช่นรัฐธรรมนูญบอกมี 10 รายการ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจแค่ 10 รายการ จะตีความขยายอำนาจตัวเองออกไปไม่ได้ ก็เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญในระบบแบบนี้วินิจฉัยแล้ว มันมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร หากให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจตัวเองได้ออกไปเรื่อยๆ เหมือนระบบแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งศาลมีเขตอำนาจทั่วไป ให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆ สุดท้ายศาลรัญธรรมนูญจะเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของระบบของรัฐธรรมนูญในรัฐเสรีประชาธิปไตย ที่เน้นในการแบ่งแยกอำนาจอย่างได้ดุลยภาพ เพราะฉะนั้นเวลาจะเริ่มต้นอธิบายว่าประเทศนั้นประเทศนี้มีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องกลับไปดูก่อนว่าเขาใช้ระบบแบบกระจายอำนาจการควบคุมแบบสหรัฐฯ หรือใช้แบบรวมอำนาจการควบคุมแบบเยอรมันนีหรือออสเตรีย ปัญหาคือว่าของคือว่าของไทยเราใช้รูปแบบรวมอำนาจไว้ที่ศาลรัฐธรรมมนูญ แบบเยอรมันนีแบบออสเตรีย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเดินตามหลักนี้”
“ของไทยไม่ปรากฏบทบัญญัติใดเลยที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”
ในขณะที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ กลับมองต่างออกไป ไม่ได้มองที่ศาล แต่มองที่ตัวรัฐธรรมนูญเอง โดยกล่าวว่า “ในระบบในโลกนี้ ถ้าจะว่ากันตามอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่เขียนบทความอธิบายถึงฐานะของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันว่าไ่ม่แตกต่างจากฐานะและบทบาทของศาลในอีกระบบหนึ่ง โดยเขาแยกระบบที่จะมีการพิจารณาถึงบทบาทของศาลต่อบทบาทของสภา เป็น 2 ระบบ คือ 1.supremacy of parliament ซึ่งก็คือระบบของอังกฤษ ซึ่งเริ่มต้นและตั้งอยู่บนฐานความคิดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเพราะแสดงออกทางสภา เมื่อแสดงออกโดยสภา สภาย่อมมีอำนาจสูงสุด ศาสไม่มีอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยว เรื่องทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นอำนาจของสภาในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชน 2.supremacy of constitution ถือว่ารัฐธรรมนูญอยู่เหนือสิ่งอื่นใด และสิ่งที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองที่สำคัญมากที่สุดก็คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่้เป็นคุณค่าสูงสุด และรัฐธรรมนูญมุ่งต่อการคุ้มครองสิทธินี้ การที่จะมีรัฐ ก็มีรัฐขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนนั่นเอง เพราะฉะนั้นกลไกของรัฐทั้งหมดต้องมารองรับสิ่งสิ่งนี้ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนไม่ได้ “
“ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า เราจะตีความรัฐธรรมนูญของเราเป็นแบบไหน ถ้าหากเราจะตีความว่ารัฐธรรมนูญของเราเป็นรัฐธรรมนูญที่ถือรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งทรงค่าสูงสุดและถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่ป้องกันตนเองได้ เราก็จะเห็นได้จากหลักเกณฑ์ที่มันอยู่ในหลักพิทักษ์รํฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนว่า ถ้าหากว่ามีอะไรก็ตาม รวมจนกระทั่งถึงการกระทำที่เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ถึงขั้นที่เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือว่าจะเป็นการทำการเพื่อที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่นอกเหนือจากวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รัฐธรรมนูญก็วางหลักที่จะให้รัฐธรรมนูญนั้นสามารถที่จะปกป้องตนเองได้ผ่านประชาชน นั่นคือประชาชนสามารถที่จะร้องต่อผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในกรณ๊นี้ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ”
“ที่สำคัญที่สุดก็คือ ให้สิทธิประชาชนในการที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านการล้มล้างการปกครองได้ โดยวิธีการที่เรียกว่าเป็นสันติวิธีในมาตรา 69 อันนี้เป็นฐานสำคัญในทางความคิดของการยอมรับว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีฐานะและมีหน้าที่ในฐานะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”
ในช่วงท้ายของการเสวนาทั้งสองท่านได้แสดงทัศนะต่อประเด็นเกี่ยวกับวิกฤตของสถาบันการเมืองไว้ โดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ มองว่าวิกฤตที่เกิดขึ้น เกิดจากการทำลายความไว้วางใจจากประชาชนของสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรีบางท่านออกมาประกาศไม่รับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะมาประท้วงการทำหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งการประท้วงในครั้งนี้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และสภาประชาชนไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากตัวบทกฎหมายแต่สามารถเกิดขึ้นได้ตามข้อเท็จจริง ในขณะที่ อ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เห็นว่า การที่เราจะวินิจฉัยว่ารัฐบาลได้รับความไว้วางใจหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญที่สุดต้องไปวัดด้วยกระบวนการการเลือกตั้ง และมองว่าสถาบันทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้กระทำการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว และทางเดียวที่จะทำสภาประชาชนจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยใช้กลไกของรัฐธรรมนูญเข้าไปแก้เพื่อตั้งสภาประชาชน
จากการเสวนาในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการตีความแตกต่างกันออกไปตามหลักคิดของแต่ละคน แต่ก็ยังคงไม่สามารถตอบคำถามคาใจของใครหลายคนได้ว่า ท้ายสุดแล้วทางออกของวิกฤตครั้งนี้คืออะไร? อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเสวนาในครั้งนี้จะไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันเพื่อที่จะพูดคุยถกเถียงเพื่อหาทางออก…
นอกจากการเสวนาโดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ และ อ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุลแล้ว เสียงจากผู้ที่เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ก็เป็นเสียงที่น่าสนใจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคนในสังคมที่จะร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตในครั้งนี้ พวกเขาเหล่านี้คิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์บ้านเมืองในขณะปัจจุบัน ฟังเสียงของผู้เข้าร่วมรับฟังเสวนาได้ตามคลิปด้านบน