ทีมวิจัยช้างป่าตะวันออก Kick off พัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วม

ทีมวิจัยช้างป่าตะวันออก Kick off พัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วม

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ตะวันออก ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก และเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง เปิดเวทีพูดคุยเพื่อกำหนดแนวทางในการศึกษาวิจัยและพัฒนาศักภาพเครือข่ายชุมชนเพื่อการจัดการช้างป่า ร่วมกับผู้นำและชาวบ้านผู้เผชิญปัญหาช้างป่าที่ออกหากินและสร้างผลกระทบในพื้นที่ 10 ชุมชนของตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชน เพื่อการจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนงานพัฒนาต้นแบบและพัฒนาการขยายเครือข่ายอาสาสมัครที่ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 – ได้มีการจัดประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชน เพื่อการจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้แผนงานพัฒนาต้นแบบและพัฒนาการขยายเครือข่ายอาสาสมัครที่ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขึ้น ณ อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนบ้านหนองปรือกันยาง หมู่ที่ 5 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

โดยมีผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัญหาช้างป่าออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์กลุ่มป่าตะวันออก โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จำนวน 10 ชุมชน ได้แก่ บ้านหนองปรือกันยาง บ้านคลองมะหาด บ้านอ่างเสือดำ บ้านหนองปลาซิว บ้านเขาวงค์ บ้านเนินน้อย บ้านหนองปรือน้อย บ้านอ่างเตย บ้านหนองประโยชน์ และบ้านหนองเรือ เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดควบคุมผลักดันช้างป่า จุดสกัดเขาวงค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา นักวิจัย จากเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง นักวิจัยและนักวิจัยท้องถิ่น จากศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก กรรมการ กป.อพช.ตะวันออก และเจ้าหน้าที่ชุดป้องและกันบรรเทาสาธารณภัยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าตะเกียบ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกว่า 60 คน บรรยากาศการพูดคุยที่เป็นกันเอง เปิดโอกาสการแลกเปลี่ยนสถานการณ์และบทเรียนของแต่ละชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

ในช่วงเช้า ตาล วรรณกูล นักวิจัยและผู้ประสานงาน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโดยชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายของโครงการฯ ว่า เพื่อเป็นการจัดการปัญหาช้างป่าร่วมกันจึงจำเป็นที่คนทุกคนในพื้นที่ที่ช้างป่าเข้ามาสร้างผลกระทบจะต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาและพัฒนาแนวทางในการจัดการปัญหาด้วยตนเอง โดยกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะนโยบายสาธารณะต่อรัฐบาลในอนาคต

“การวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการนี้ เราจะก้าวเดินไปด้วยกัน โดยเรามีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวบ้านในชุมชน ทั้งเรื่องของการจัดการองค์ความรู้ และการบริหารจัดการทรัพยากร และเราจะมาร่วมกันออกแบบข้อเสนอนโยบายสาธารณะร่วมกัน ซึ่งเราทุกคนเป็นเจ้าของข้อมูลร่วมกัน”

ตาล วรรณกูล กล่าว

ด้าน จันทรานนท์ ชญานินศิวกูร หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการต่อผู้เข้าร่วม คาดหวังว่าทุกคนในพื้นที่จะต้องเป็นเจ้าของโครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชน เพื่อการจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกันโดยนับจากวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งเราเป็นผู้ที่อยู่กับปัญหาและมองเห็นปัญหามานาน และเราจะศึกษาและพัฒนากันเองและใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อจัดการช้างป่าในพื้นที่เอง

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ 1) วิจัยและพัฒนาชุดความรู้ ฐานข้อมูลช้างป่า และระบบติดตามช้างป่าในระดับเครือข่ายชุมชน ด้วยเครื่องมืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 2) พัฒนาศักยภาพเครือข่ายการจัดการช้างป่าชุมชน และพัฒนากลไกประสานการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ บนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์พลเมือง และ 3) วิจัยและพัฒนาแนวทางการลดผลกระทบและควบคุมความเสียหายจากช้างป่า ในระบบการจัดการร่วมกันเป็นเครือข่าย

“อันที่จริงผมอยากให้ทุกคนเป็นหัวหน้าโครงการด้วยกัน เพื่อที่จะได้ช่วยกันคิด วางแผน และตัดสินใจไปด้วยกัน เพราะงานวิจัยนี้พวกเราจะช่วยกันทำ และนำกลับมาใช้กันเองในท้องถิ่นของเรา เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้และการจัดการของพวกเราเอง”

จันทรานนท์ ชญานินศิวกูร กล่าว

จากนั้น พิเชฐ นุ่นโต นักวิจัย เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง ได้ให้ภาพรวมของโครงการฯ และนำการพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยตอนหนึ่งได้ระบุว่า ควรเพิ่มศักยภาพชุมชนในการจัดการช้างป่า ด้วยการเพิ่มสวัสดิการให้อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า ถอดบทเรียนการจัดการ เรียนรู้พฤติกรรมช้างป่า และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งสะท้อนเรื่องการทำงานเครือข่าย การจัดการความรู้ และต้องการได้รับการสนับสนุนเพื่อจัดการตนเอง ให้เท่าทันกับสถานการณ์ช้างป่าที่กำลังยกระดับความรุนแรง และต้องการตอบสนองต่อปัญหาอย่างทันท่วงทีด้วยการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากชุมชนและพลเมืองในพื้นที่ไม่ได้ติดอาวุธทางปัญญา ไม่ได้เห็นช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของการจัดการ และไม่มีกระบวนการเสริมพลังและจัดการความรู้ร่วมกัน ซึ่งงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพของชุมชน สร้างและเสริมพลังนักวิจัยท้องถิ่น เพื่อให้เกิดจัดการความรู้ และใช้ความรู้เพื่อการวางแผนการจัดการและปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ชุมชน

โครงการนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความรู้ พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของชุมชน และจัดการตนเองเพื่อลดผลกระทบจากจากช้างป่าอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยประสานความสมดุลด้านการจัดการช้างป่า และการจัดการร่วม ในแนวทางที่คำนึงถึงคน คำนึงถึงช้าง และระบบนิเวศ หรือการจัดการเชิงระบบนิเวศ (Eco-centric) ซึ่งจะพุ่งเป้าให้เกิดการเกลี่ยความรู้จากเครือข่ายที่มีศักยภาพ ไปสู่เครือข่ายเป้าหมาย และเกิดการสร้างความรู้ใหม่ในการจัดการช้างป่าร่วมกัน

จากการประเมินผ่านเวทีชุมชนที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูล ความรู้ และระบบการจัดการ ของกลุ่มอาสาสมัครที่ดูแลช้างป่า และชุมชนที่มีส่วนร่วมในการจัดการช้างป่า ยังไม่ได้เชื่อมผสานกัน และไม่มีระบบการจัดการความรู้จากการเฝ้าระวังช้างป่า มาปรับใช้เพื่อการจัดการช้างป่าในพื้นที่ชุมชนอย่างเหมาะสม และนำไปสู่ปัญหาหลายประการ เช่น ความปลอดภัยของอาสาสมัครเฝ้าระวังช้าง พฤติกรรมช้างป่าที่เปลี่ยนไปที่อาจเนื่องมาจากการใช้วิธีการเฝ้าระวังที่รุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งระหว่างชุมชน และการไม่ได้ตกลงเส้นทางการเฝ้าระวังช้างป่าร่วมกัน

ดังนั้น กรอบการวิจัยของโครงการวิจัยฯ มุ่งงานวิจัยและพัฒนาไปที่การศึกษาข้อมูลพฤติกรรมช้างป่าที่ออกมาหากินในพื้นที่ชุมชน โดยใช้กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการเก็บรวมรวมข้อมูล และเสริมพลังของนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นและเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังช้างป่าไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการเติมความรู้หรือลดความเหลื่อมล้ำเชิงความรู้ของแต่ละกลุ่มเครือข่าย และเพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบระบบการจัดการช้างป่าในพื้นที่ชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการควบคุมกำหนดทิศทางพื้นที่หากินของช้างป่า และพัฒนาให้เกิดการผสานการทำงานกันมากขึ้น ยกระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มอาสาสมัครช้างป่า และเกิดเครื่องมือใหม่และกรอบแนวคิดใหม่ในการบริหารจัดการช้างป่าในพื้นที่ชุมชน โดยจะมีการนำร่องการทำงานร่วมจากการกิจกรรมการทดลองเชิงปฏิบัติการ การเก็บข้อมูลในแนวทางวิทยาศาสตร์พลเมืองและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งจะมีการเชื่อมข้อมูล การวิเคราะห์ร่วมจากนักวิจัยท้องถิ่นและนักวิชาการร่วมกัน

เช่นเดียวกันกับการแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมทั้ง 10 ชุมชน ก็ยังสะท้อนถึงบทเรียนการจัดการช้างป่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในหลายประเด็น อาทิ เช่น องค์ความรู้ที่ไม่ได้ถูกพัฒนาร่วมกัน การจัดการที่ไม่ได้สอดประสานการ ตลอดจนการสนับสนุนหรือการส่งเสริมให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมที่ยังมาไม่ถึงพื้นที่ชุมชน

“ชาวบ้านเคยได้รับการอบรมจากหน่วยงานหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากโครงการนี้จะสามารถสร้างแสงสว่างให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยก็นับเป็นเรื่องที่ดี”

โอษา กิติลาภะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 22 บ้านเขาวงค์

“ตอนนี้ช้างป่าพัฒนาตัวมันเองจนเข้ามาหากินอยู่ในหมู่บ้าน เข้าบ้านนั้น ออกบ้านนี้ พฤติกรรมของมันเปลี่ยนไปมาก จากอดีตแค่มาหากินตามขอบหมู่บ้าน วันนี้ความเสี่ยงของเรากลับไม่ใช่พื้นที่รอบนอก แต่เป็นใจกลางหมู่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งก็น่าจะถึงเวลาที่ชุมชนในพื้นที่จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันจัดการเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้”

ปัญญา วาจาดี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 บ้านหนองปรือกันยาง

“หมู่บ้านเราอยู่ชิดกลับขอบป่า เป็นพื้นที่ที่ช้างป่าออกจากคูกันช้าง เวลาจะมีการไล่หรือผลักดันช้างป่าก็ต้องใช้เส้นทางผ่านมายังหมู่บ้านอ่างเสือดำ และบ่อยครั้งที่การประสานงานทำความเข้าใจซึ่งกันและกันก็มีปัญหา ถ้าจะจัดการร่วมกันก็ต้องเริ่มหาข้อมูลและประสานงานกันให้ดี”

สุภาวรรณ พิมภา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านอ่างเสือดำ

อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชน เพื่อการจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มีระยะดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี ในการดำเนินการไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการจัดการช้างป่าในพื้นที่ 10 ชุมชน ของต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา


ภาพและเนื้อหาจากหมุด : ตาล วรรณกูล

https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000032269

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ