เครือข่ายศรีสะเกษตุ้มโฮม อันซีนถิ่นราษี ร่วมจัดกิจกรรม “Locals Voice” ฟังเสียงประเทศไทย ฟังเสียงคนท้องถิ่น เพื่อเปิดพื้นที่ฟังเสียงคนสามวัย ได้แก่ เด็กเยาวชน วัยกลางคน และผู้สูงอายุ กับมหกรรม “เล่น เปลี่ยนโลก Play Day” เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้พัฒนาทักษะชีวิตให้เด็กและเยาวชนเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชน องค์กรบริการส่วนตำบลดู่ โรงเรียนบ้านดู่ค้อ โรงเรียนบ้านกอย โรงเรียนหวายคำวิทยาคม โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดู่ คณะกรรมการพัฒนาเด็กเยาวชนตำบลดู่ ศูนย์การเรียนรู้เอ็นอ้านาเทิง เครือข่ายอีสานตุ้มโฮม และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ณ ศูนย์เรียนรู้เอ็นอ้านาเทิง ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ร่วมสร้างพื้นที่เรียนรู้ของคนทุกวัยในชุมชน เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา
ศูนย์เรียนรู้ เอ็นอ้านาเทิง
“พื้นที่ส่วนบุคคล ประโยชน์สาธารณะ…” เสถียร พันธ์งาม อายุ 62 ปี ข้าราชการครูวัยเกษียณ อดีตผู้บริหารสถานศึกษา นิยามพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เอ็นอ้านาเทิง ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ พื้นที่แปลงเกษตรผสมผสานที่มี ทั้ง ท้องร่องยกสูงซึ่งถูกใช้เป็นแปลงนาสาธิต มีสระน้ำไว้เลี้ยงปลา ผลไม้นานาชนิด ทั้ง ฝรั่ง มะม่วง มะพร้าว และพืชผักพื้นบ้านปลูกสลับสับเปลี่ยนกันไปตามที่ใจและแรงบันดาลได้ พร้อมด้วยเถียงนาขนาดไม่น้อย ซึ่งเด็ก ๆ และคนในชุมชนเรียกว่า “บ้านต้นไม้” ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการ เล่น และเรียนรู้ของคนสามวัยในชุมชน
“พื้นที่ส่วนบุคคล ประโยชน์สาธารณะ แปลว่า การลงมือทำเป็นเรื่องของตัวเอง ทำแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงเลยอยากทำให้ส่วนรวมหรือบุคคลอยู่รอบข้างเราได้เข้ามามีความสุข มาเห็นการเปลี่ยนแปลง ได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเป็นเจ้าของ ผมนับเป็นการล้อมรั้วอีกรูปแบบ โดยไม่ต้องลงทุนล้อมแบบโครงสร้างอะไร แต่ให้คนมาช่วยล้อมเพราะเขาเป็นเจ้าของ ทำมา 2 ปียังไม่มีปัญหาอะไรเลย
ผมมีความเชื่อว่า การจะทำอะไรสักอย่าง เราอย่ามองข้ามฐานทุนตัวเอง ผมพยายามจะหามุมแคบที่สุด มองฐานทุนของคนทุกคน ไม่ว่าจะทำงานอะไรต้องมีฐานทุน 5 อย่าง
ทุนที่ 1 คือ ภูมิประเทศ
ทุนที่ 2 คือ ทุนเหตุการณ์
ทุนที่ 3 คือ ทุนบุคคล
ทุนที่ 4 คือ ทุนเวลา
ทุนที่ 5 คือ ทุนงบประมาณ
เพราะฉะนั้น เราต้องไปวิเคราะห์ฐานทุนทั้ง 5 ประการ มันจึงจะสามารถทำงานได้ ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ ฝ่ายการเมืองปกครองท้องถิ่นที่คุณอยู่ ความสมัครสมานสามัคคีเป็นอย่างไร ปัญหาในชุมชนมีความรุนแรงไหม ปัญหาเด็ก ปัญหาเยาวชน ปัญหาคนทำงาน ปัญหาผู้สูงอายุ ต้องรู้ว่ามีปัญหาอะไรขนาดไหน ต้องมองรอบด้าน”
ที่นี่ศรีสะเกษ
ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน และมีประชากรผู้สูงอายุ จำนวน 12,519,926 คน ซึ่งคิดเป็น 18.94% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ แบ่งความช่วงอายุ ดังนี้
อายุระหว่าง 60-69 ปี 56.25%
อายุระหว่าง 70-79 ปี 29.52%
อายุ 80 ปีขึ้นไป 14.23%
โดยประชากรผู้สูงอายุในภาคอีสานมีมากที่สุด รวม 3,966,559 คน รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ กรุงเทพฯ ตะวันออก และตะวันตก ตามลำดับ
จังหวัดศรีสะเกษ มีประชากร 1,452,321 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้สูงอายุ 267,070 คน คิดเป็น 18.39 % นอกจากนี้ในด้านพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ศรีสะเกษมีเนื้อที่ 8,839.976 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 22 อําเภอ 206 ตําบล 2,633 หมู่บ้าน และมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ชาวลาว ชาวเขมร ชาวกูย และเยอ มีเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา และมีจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้าชายแดนรวม 1,612.39 ล้านบาท ส่งออก 1,127.45 ล้านบาท การนำเข้า 484.94 ล้านบาท
ฟังเสียงคนสามวัย หัวใจเดียวกัน
“มันแทงเข้าไปในหัวใจ มันมีความรู้สึกว่าโอกาสแบบนี้เราหาได้น้อย การที่จะรับฟังเสียงของทุกคน มันเป็นโอกาสน้อยมากที่จะมารับฟัง เพราะฉะนั้นการที่เรามาจัดกิจกรรม มารับฟัง อย่างน้อยเราก็ได้เผยแพร่ไปยังโลกกว้าง…” วาสนา กตะศิลา หรือ เด็ก ๆ ในโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) เรียกว่า คุณครูยาย เพราะเป็นทั้งครูในโรงเรียน และเป็นเกษตรกรสวนทามมูล ที่นำเอา “ข้าวบังเอิญ” และกิจกรรมการตีข้าวแบบโบราณ มาร่วมแลกเปลี่ยนในฐานการเรียนรู้ ณ สวนเอ็นอ้านาเทิง ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
“เราเปิดโอกาสให้พี่น้องให้ชุมชนได้รู้ว่า เขาต้องการอะไร เขามีความคิดอย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้โลกกว้างขึ้น ให้พี่น้อง หรือไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ หรือคนอื่น ๆ ได้เห็นแนวความคิดของผู้คน ในชุมชนของเรา ได้ฟังความคิด ไม่ว่าจะทั้งเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ เหมือนกับว่าได้ส่งเสียงให้มันไกลออกไป
ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งการพัฒนาต้องมาจากพื้นที่ฐานจริง ๆ ต้องมาจากบริบทของชุมชนจริง ๆ คราวนี้ก็จะถูกขยายส่งเสียงออกไป ถ้าสามารถทำได้ทุกเดือน สามารถทำได้ในทุกจังหวัด ในทุกพื้นที่ คิดว่าประเทศเราจะเจริญไปกว่านี้ เพราะจะเป็นการส่งเสียงไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า” คุณครูวาสนา ย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารจากท้องถิ่น
ฟังเสียงคนท้องถิ่น ฟังเสียงคนทุกวัน
กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุข้อมูล จำนวนผู้สูงอายุสัญชาติไทยจำแนกตามจังหวัด พ.ศ. 2566 ว่าประเทศไทยมีประชากร รวมทั้งสิ้น 66,054,830 คน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้สูงอายุ 12,814,778 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.40% ของประชากรทั้งหมด
สถิติที่ปรากฏยืนยันว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่งสังคมสูงอายุในอัตราเร่ง นั่นเป็นส่วนสำคัญให้สังคมทุกระดับ ทั้งครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และระดับชาติ ต้องเตรียมรับมืออย่างรอบด้านในการรองรับสังคมสูงวัย และ “สังคมแหว่งกลาง” ที่มีช่องว่างของช่วงวัยระหว่าง ทั้งรุ่น ลูกหลาน พ่อแม่ และคนสูงอายุ ที่ยิ่งห่างกันก็ยิ่งต้องขยับเข้ามาใกล้กัน ซึ่งพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ภายใต้ความร่วมมือของทุกช่วงวัยเพื่อร่วมเปิดพื้นที่และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนร่วมกัน