ฟังเสียงประเทศไทย : ‘ปัญหาช้างป่า’ การเยียวยาที่ไม่ถูกเมินเฉย 

ฟังเสียงประเทศไทย : ‘ปัญหาช้างป่า’ การเยียวยาที่ไม่ถูกเมินเฉย 

รู้หรือไม่ ภาคตะวันออกของประเทศไทย กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ออกมาหากินนอกพื้นรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ปีละไม่ต่ำกว่า 20 ราย และสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ครั้ง ในช่วง 3- 4 ปีที่่ผ่านมา 

สิ่งเหล่านี้เป็นความสูญเสียที่ชาวบ้านต้องแบกรับ พร้อมกับการเรียกร้องถึงการชดเชย เยียวยาที่ทั่วถึง และเป็นธรรมกับสิ่งที่เสียไป นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยเดินทางมารับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ภาคตะวันออก ผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่ากว่า 30 คน 


ซึ่งหลาย ๆ ท่าน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเรา ถึงมุมมองการแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่าตะวันออกไว้ดังนี้

เจริญ คงสวัสดิ กลุ่มคนกับช้างทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มองว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องช้าง จะต้องจำกัดจำนวนประชากรช้างให้เหมาะสม ต้องสร้างอาหารให้เพียงพอกับจำนวนช้างและพื้นที่ในป่า อาหารที่เราเข้าไปดูตอนหน้าแล้ง แห้งไปหมด อาหารไม่มี ซึ่งอาหารถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และเมื่อเราจำกัดจำนวน และมีอาหารพอแล้ว เราก็มาทำรั้วให้แข็งแรง เพื่อป้องกัน หรือจำกัดในการที่ช้างจะออกมา 

เทียนไพร สำเภาน้อย อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มองว่า คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน คือทำอย่างไรให้คนกับช้างสมประโยชน์กัน ช้างอยู่ในพื้นที่ช้าง คนอยู่ในพื้นที่คน ไม่กระทบกระทั่ง ไม่เบียดเบียนกัน ทุกวันนี้ปัญหามันกว้างไกลไปแล้ว

ธนเกียรติ ชัยราช เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบภัยจากช้างป่า จ.ปราจีนบุรี มองว่า ต้องเปลี่ยนจากชดเชยเป็นชดใช้ เพราะชดเชยไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ถ้าเป็นชดใช้จะได้เต็มที่จากการที่เกษตรกรลงทุนไปแล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนตรงนี้ก็ได้แค่ที่รัฐกำหนดเอาไว้

000

แล้วถ้าเป็นคุณ จะมีวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นด้านล่างนี้ได้เลย

000

สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรช้างป่า

ช้างป่าในไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ถูกจัดให้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่ปัจจุบันกลับต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาวะสวนทางของจำนวนช้างป่า กับแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

ข้อมูลจากการสำรวจของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลที่มีการสำรวจไว้ เมื่อปี 2534  ประเทศไทยมีจำนวนช้างป่า 1,975 ตัว 

ปัจจุบันปี 2566 ประเทศไทยมีช้างป่ามากถึง 4,013-4,422 ตัว โดยกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 16 กลุ่มป่า 

พื้นที่ความขัดแย้งรุนแรง

พื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามากที่สุดขณะนี้ คือ กลุ่มป่าตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีอัตราประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้นมากถึงปีละ 8.2% สูงที่สุดในประเทศไทย

โดยปี 2541 ภาคตะวันออกมีช้างป่าอาศัยอยู่เพียง 140 ตัว แต่ปัจจุบันจำนวนช้างป่าภาคตะวันออกพุ่งไปถึง 592 ตัว ขณะที่พื้นที่ป่ามีอยู่ 1.3 ล้านไร่ สามารถรองรับช้างได้เพียง 323 ตัวเท่านั้น 

พื้นที่ของกลุ่มป่าตะวันออก ประมาณ 1,470,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 8 แห่ง

1 อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี

2.อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

3.อุทยานแห่งชาติน้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี

4.อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จ.ตราด

5.อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี 

6.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง

7.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี

8.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวาย จ.จันทบุรี

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชี้ให้เห็นว่า ช้างป่าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่พื้นที่ป่ามีจำนวนเท่าเดิม ความอุดมสมบูรณ์ของปริมาณน้ำและอาหารไม่เพียงพอ จึงเกินศักยภาพการรองรับของพื้นที่ ทำให้ช้างป่าขยายพื้นที่ออกหาอาหารไปนอกป่าอนุรักษ์ 

สอดคล้อง กับงานศึกษา “ประชากร โครงสร้างอายุและการใช้ประโยชน์พื้นที่ของช้างป่าในกลุ่มป่าตะวันออก”ของศุภกิจ วินิตพรสวรรค ที่สำรวจข้อมูลช่วงปี 2558-2561 ระบุถึง พฤติกรรมการหากินและการใช้ประโยชน์พื้นที่ของช้างป่า ส่วนใหญ่พบมากในพื้นที่ราบ ตามแนวขอบเขตของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ติดกับพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชน อีกทั้งพบการเคลื่อนที่ซึ่งสอดคล้องกับช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวทางการเกษตร

ความสูญเสีย จากการปะทะกันระหว่างคนกับช้างป่า

ด้าน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม พยายามรวมรวมข้อมูล จัดทำปฏิทินพืชเกษตรที่มีผลต่อช้างป่าตะวันออก (ตอนเหนือ) ปี พ.ศ.2565 เพื่อสังเกตุการณ์การเคลื่อนที่ของช้างป่า และเตรียมรับมือการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง

นั่นชี้ว่า ช้างป่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต และออกจากป่ามานานแล้ว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่อยู่ในชุมชนรอบผืนป่า และความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรที่กำลังเผชิญอยู่ อาจไม่ใช้เรื่องง่ายที่จะจัดการ

5 ปีที่ผ่านมา ในภาคตะวันออก สถิติความสูญเสียของคนที่ถูกช้างป่าทำร้าย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี 

ปี 2560 บาดเจ็บ 25 คน เสียชีวิต 19 ราย  

ปี 2561 บาดเจ็บ 19 คน เสียชีวิต 19 ราย

ปี 2562 บาดเจ็บ 27 คน เสียชีวิต 22 ราย 

ปี 2563 บาดเจ็บ 11 คน เสียชีวิต 24 ราย

ปี 2564 บาดเจ็บ 12 คน เสียชีวิต 24 ราย

ปี 2565 บาดเจ็บ 22 คน เสียชีวิต 27 ราย

ปี 2566 บาดเจ็บ 14 คน เสียชีวิต 12 ราย 

แต่ไม่ใช่แค่คนที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้าย เพราะช้างป่าเอง เมื่อออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกป่า ก็ได้รับอันตรายเช่นเดียวกัน เช่น ถูกรถชน โดนยิง ตกบ่อน้ำ และไฟช็อต // โดยสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตของช้างป่า ที่กรมอุทยานฯ ได้ทำการสำรวจไว้ มีดังนี้

ปี 2560 มีช้างป่าได้รับบาดเจ็บ 10 ตัว เสียชีวิต 8 ตัว

ปี 2561 ช้างป่าได้รับบาดเจ็บ 4 ตัว เสียชีวิต 14 ตัว

ปี 2562 ช้างป่าได้รับบาดเจ็บ 13 ตัว เสียชีวิต 26 ตัว

ปี 2563 ช้างป่าได้รับบาดเจ็บ 9 ตัว เสียชีวิต 27 ตัว

ปี 2564 ช้างป่าได้รับบาดเจ็บ 9 ตัว เสียชีวิต 26 ตัว

ปี 2565 ช้างป่าได้รับบาดเจ็บ 8 ตัว เสียชีวิต 43 ตัว

ปี 2566 ช้างป่าได้รับบาดเจ็บ 10 ตัว เสียชีวิต 10 ตัว 

นอกจากนี้ข้อมูลจากการศึกษาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าปี 2564 ของเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง ยังระบุว่า ช่วงเดือนที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากที่สุด คือ เดือนพฤศจิกายน รองลงมาคือเดือนมกราคม และเดือนธันวาคม ซึ่งตรงกับช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย และตรงกับช่วงที่พืชเกษตรกลุ่มข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดกำลังเก็บเกี่ยวพอดี  

จากสถิติกรณีช้างป่าออกนอกพื้นที่และสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในภาคตะวันออก ของกรมอุทยานฯ ที่มีการสำรวจไว้ ตั้งแต่ปี 2561-2566 พบว่า 

ปี 2561 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,399 ครั้ง สร้างความเสียหาย 942 ครั้ง

ปี 2562 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 2,358 ครั้ง สร้างความเสียหาย 319 ครั้ง

ปี 2563 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 4,761 ครั้ง สร้างความเสียหาย 1,371 ครั้ง

ปี 2564 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 8,006 ครั้ง สร้างความเสียหาย 1,398 ครั้ง

ปี 2565 ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 16,376 ครั้ง สร้างความเสียหาย 1,510 ครั้ง

และช่วงต้นปี 2566 นี้ ช้างป่าออกนอกพื้นที่ 3,353 ครั้ง สร้างความเสียหาย 954 ครั้ง

การพัฒนาของพื้นที่ มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

นอกจากความเปลี่ยนแปลงของประชากรช้าง ความเปลี่ยนแปลงของภาคตะวันออกก็สำคัญ 

ในฐานะภูมิภาคที่มีเนื้อที่เล็กที่สุดในบรรดา 6 ภูมิภาคของประเทศไทย ด้วยพื้นที่เพียง 34,380 ตารางกิโลเมตร แต่ภาคตะวันออกเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม จากการพัฒนา Eastern Seaboard สู่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในปัจจุบัน

จำนวนประชากรกว่า 5 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่นับรวมประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในพื้นที่นี้

ภาคตะวันออกได้ฉายาว่า “เมืองแห่งนิคมอุตสาหกรรม” เพราะนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออก คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 132,084 ไร่ หรือร้อยละ 77.8 รองลงมาคือ ภาคกลางรวมกรุงเทพและปริมณฑล พื้นที่ประมาณร้อยละ 16 

นอกจากนี้ ภาคตะวันออกยังมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตร เป็นแหล่งผลิตข้าว พืชผัก พืชหัว อาทิ มันสำปะหลัง และเป็นแหล่งผลิตผลไม้และผลไม้แปรรูปที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งยังมีศักยภาพในด้านการทำประมง

แหล่งการทำเกษตรที่สำคัญของภาคตะวันออก คือ

1.จ.จันทบุรี มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 39.9

2.จ.ระยอง มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 14.4 

3.จ.ฉะเชิงเทรา มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 10.7 

4.จ.ตราด มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 10.4

ปี 2562 ภาคตะวันออกมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรรวมประมาณ 12.90 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมของภาคตะวันออกได้เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือสิ่งที่คนในภาคเกษตรต้องเผชิญ 

 หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า

จากสถานการณ์ที่ช้างป่าออกมาหากินนอกเขตป่าอนุรักษ์ และเข้าไปกินพืชผลทางการเกษตรของประชาชน จนได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องจับมือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ออกหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ในลักษณะเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือภัยแล้ง ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับให้ความช่วยเหลือเยียวยาอยู่แล้ว

เกณฑ์การชดเชยที่มีอยู่ในปัจจุบัน อ้างอิงตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

กรณีราษฎรเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ 

  • กรณีบาดเจ็บสาหัส (รักษาตัวใน รพ.ติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป) ช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท 
  • กรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการ (ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้) ช่วยเหลือเบื้องต้น 13,300 บาท
  • กรณีสาธารณะภัยขนาดใหญ่หรือรุนแรง ต้องรักษาตัวในสถานพยาบาล จ่ายเงิน หรือสิ่งของปลอบขวัญ รายละไม่เกิน 2,300 บาท
  • ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
  • เงินสงเคราะห์ครอบครัว กรณีหัวหน้าครอบครัวหรือผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวเสียชีวิต สงเคราะห์ครอบครัวอีกไม่เกิน 29,700 บาท

ที่พักชั่วคราว 

  • ค่าดัดแปลงสถานที่สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว ครอบครัวละไม่เกิน 2,500 บาท 
  • ค่าผ้าใบ/พลาสติก/วัสดุอื่น ๆ สำหรับกันแดด กันฝน ครอบครัวละไม่เกิน 1,000 บาท
  • ค่าจัดหาสาธารณูปโภคในที่พักชั่วคราว จัดให้ตามความจำเป็น

ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้าง 

  • ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำได้รับความเสียหาย (ผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของ) จ่ายหลังละไม่เกิน 49,500 บาท 
  • ค่าซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว โรงเรียน สำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ได้รับความเสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 5,700 บาท

ส่วนกรณีพืชผลทางการเกษตรของราษฎรได้รับความเสียหายจากช้างป่า จะได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 

เงินช่วยเหลือกรณีพื้นที่เพาะปลูกเสียหายไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

  • ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท
  • พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท
  • ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท 

แม้ว่าที่ผ่านมา มาตรการเยียวยาต่าง ๆ จะมีการปรับปรุง แต่ยังไม่สามารถตอบสนองกับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากพฤติกรรมของช้างป่าที่มีรูปแบบการกินที่สร้างความเสียหายต่างจากภัยธรรมชาติทั่วไป ซึ่งเป็นการเสียหายแบบสะสมตลอดฤดูกาล ที่ส่งผลต่อปริมาณการเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถขอรับการชดเชยตามหลักเกณฑ์ได้ เกิดเป็นช่องว่างของการเยียวยา ที่ชาวบ้านเห็นว่ายังไม่เป็นธรรม

000

ฉากทัศน์ การดูแล และเยียวยาผลกระทบ

หลังจากอ่านชุดข้อมูลสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่าแล้ว ทางรายการได้จัดทำฉากทัศน์เรื่องของการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากช้างป่าภาคตะวันออกมาเป็นตุ๊กตาตั้งต้นให้ทุกท่านได้ลองเลือกกันดูว่า ฉากทัศน์ไหนที่ทุกคนอยากจะให้เกิดขึ้นจริง

ฉากทัศน์ที่ 1 ต้นไม้ใหญ่ปกคลุมดูแล รวมศูนย์จัดการปัญหา

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล “ช้างป่า” ทรัพยากรที่มีค่าของไทยและของโลก รับหน้าที่ดูแล ชดเชย เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งฟื้นฟูระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อการคืนช้างกลับสู่ป่าซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา

รัฐสนับสนุนงบประมาณ และส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาแหล่งพืชอาหารและแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรช้างป่า ควบคู่กับการควบคุมจำนวนประชากร จัดทำพื้นที่บัฟเฟอร์โซนเป็นกันชนระหว่างคนและช้าง

ปลดล็อคกลไกเงื่อนไขกฎหมาย และการนิยามความเสียหาย “ภัยพิบัติช้างป่า” ให้มีหลักเกณฑ์การเยียวยาบนฐานความเป็นจริงและเป็นธรรม ที่ดูแลโดยหน่วยงานหลักหนึ่งเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและล่าช้าในการจัดการรับมือความเสียหายที่เกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 2 พืชในหนองน้ำ ร่วมมือระดับพื้นที่จากหลายหน่วยงาน

มีกลไกในการจัดการปัญหาช้างป่าในระดับจังหวัด เป็นคณะทำงานที่บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งข้าราชการ เอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เพื่อกำหนดนโยบายรายพื้นที่ในการบริหารจัดการผลกระทบจากช้างป่า เนื่องจากมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ และสามารถติดตามกรณีปัญหาได้ใกล้ชิด

รัฐสนับสนุนงบประมาณ และส่งเสริมให้เกิดการทำงานแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มีการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อรับมือ “ภัยพิบัติช้างป่า” ซึ่งแตกต่างจากภัยทางธรรมชาติทั่วไป ไม่ใช่การประกาศภัยพิบัติเป็นรายครั้ง และปรับ “เกณฑ์การเยียวยา” เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการดูแล ชดเชย และเยียวยาที่สอดคล้องกับความสูญเสียและรวดเร็วทันท่วงที่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยผ่านการมีส่วนร่วมต้องเกิดขึ้นก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และความรุนแรงในการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง

ฉากทัศน์ที่ 3 ผืนหญ้าคลุมดิน ร้อยท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการ

ชุมชนคนอยู่ใกล้ช้าง เจ้าหน้าปฏิบัติการ และท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน คือหัวใจในการร่วมกันแก้ปัญหา ด้วยกระบวนการขยายข้อมูล สื่อสารสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว เพื่อบรรเทาความรุนแรงของการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง ให้อยู่ในจุดสมดุลที่ปลอดภัยทั้งคนและช้าง

รัฐสนับสนุนงบประมาณเป็น “กองทุนท้องถิ่น” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและชดเชยเยียวยาได้อย่างทันท่วงที และมีการพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ เพื่อกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปฎิบัติงานได้อย่างประสิทธิภาพ ไม่ต้องหวั่นวิตกต่อการตรวจสอบ

ในชุมชนมีระบบการเตือนภัยของชุมชน เฝ้าระวังเพื่อลดการใช้ความรุนแรงในการเผชิญหน้าของคนกับช้าง ต้องอาศัยงบประมาณในการดูแลอาสาสมัคร และต้องควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐในการสร้างสมดุลระหว่างพืชอาหารและแหล่งน้ำ กับจำนวนประชากรช้าง

000

ร่วมโหวตฉากทัศน์ ผ่านลิงก์

000

ข้อเสนอจากนักวิชาการและภาครัฐ

หลังจากโหวตเลือกฉากทัศน์ที่ทุกคนอยากให้เป็นแล้ว เรามีชุดข้อมูลอีกหนึ่งชุดจากรายการฟังเสียงประเทศไทยที่ได้ลงพื้นที่ไปจัดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้วยกัน 4 ท่าน

  •    พิเชฐ นุ่นโต เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง
  •    ศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  •    เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
  •    สมเกียรติ สุสัณพูลทอง ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ปราจีนบุรี

หลักเกณฑ์ชดเชยเยียวยาผํู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าในวันนี้

เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า เกณฑ์ใหม่ที่จะมีการประกาศใช้ในวันที่ 26 พ.ค. นี้จะมีผลบังคับใช้ ถามว่าจะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 มาตรา 60 ระบุไว้ว่า ให้สามารถเอาเงินใน่สวนอนุรักษ์สัตว์ป่า มาเป็นเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ไม่ว่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ หรืออยู่ในเขตพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่กรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบอยู่ แม้กระทั่งออกมาข้างนอกก็เช่นเดียวกัน

กรมอุทยานฯ สามารถเอาเงินจากกรมอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นเงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าไปชมธรรมชาติ ค่าไปถ่ายทำสารคดี เข้าไปดำเนินการใด ๆ ในพื่นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งทางอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ดูแลอยู่ ปีนึงมีรายได้ประมาณหลัก 10 ล้าน ไม่ถึง 100 ล้าน กฎหมายเปิดช่องให้เราเอาเงินตรงนี้มาใช้ในการชดเชยเยียวยาได้ ทางกรมอุทยานฯ จึงได้มีการร่างหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดว่าจะเอาเงินตรงนี้มาใช้จ่ายอะไรบ้าง เบื้องต้นที่ได้คุยกัน เรามุ่งเน้นไปที่เรื่องการเสียชีวิตและบาดเจ็บ 

สำหรับเสียชีวิต เราคาดหวังว่า จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเงินรายได้ของสัตว์ป่า จำนวน 100,000 บาท สำหรับผู้เสียชีวิต เราอยากจะตั้งตามหลักเกณฑ์ 1.จำนวนวงเงินของงบประมาณที่เรามี 2.ความเป็นมาเป็นไปของตัวเงินที่จะมีความยึดโยงว่ามาจากที่ไหน ไม่ใช่จะตั้งเท่าไหร่ก็ตั้งได้ สิ่งหนึ่งที่เราไปยึดโยงมา ผมเสนอเองว่า อย่างน้อยต้อง 100,000 บาท ผมยึดโยงมาจากความเสียหายของผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เป็นหลักเกณฑ์ของกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรม เวลาเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายจนตาย ก็จะได้รับประมาณ 110,000  บาท เราคิดว่า เรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีของชีวิตและร่างกาย เราคาดหวังว่าจะไปเติมของเดิมจากปกติที่ได้รับจาก ปภ. หรือทางจังหวัด ตาม พ.ร.บ. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 

กรณีเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้ 49,000 บาท เราอยากให้เขาได้รับเหมือนเดิม เราอยากเติมในส่วนที่กรมอุทยานฯ สามารถเข้า่ชวยเติมเรื่องช่วยเหลือเยียวยาอีก 100,000 บาท กรณีที่เสียชีวิต ผมเข้าไปคุยกับทาง ปภ. และเกษตร เรื่องของการช่วยเหลือเยียวยา ต้องเรียนว่า ในทางราชการมีระบบระเบียบ มีกฎหมายที่เราต้องคำนึง ไม่ใช่นึกเอา 

ส่วนกรณีพืชผลเกษตร เราร่างไว้เช่นกัน โดยประยุกต์ใช้กับหลักเกณฑ์กองทุนพืชอาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย ที่กรมอุทยานฯ เคยมี หลักเกณฑ์นี้มีอยู่ข้อหนึ่งที่เราเอามาปรับใช้ คือเรื่องที่เราจ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย ในการเกิดแต่ละครั้ง ซึ่งเราเคยจ่ายมาแล้วก่อนหน้านี้ สมัยท่านดํารงค์ พิเดชเป็นผู้บริหาร โดยที่กองทุนนี้เป็นกองทุนที่เราตั้งกันเอง เงินมาจากการรับบริจาค ตั้งแต่ประมาณปี 2550 จนเงินไม่เหลือ ปัจจุบันเงินเหลือประมาณ 1,800,000 บาท เราจึงเอามันไว้เป็นอันกับรอง เน้นเรื่องของชีวิตและการบาดเจ็บก่อน สำหรับการบาดเจ็บเราจ่ายตามจริง ครั้งละไม่เกิน 30,000 บาท และมีค่าเสียเวลา ค่าชดเชยการขาดรายได้ จ่ายรายวัน วันละไม่เกิน 200 บาท จ่ายไม่เกิน 6 เดือน ตัวนี้เป็นร่าง ซึ่งเราต้องเอาเข้าคณะกรรมการเงินรายได้ ต้องตั้งขึ้นตามระเบียบการใช้จ่างเงินรายได้ ฉบับใหม่ มีผล 26 พ.ค. นี้ 

เราจะทำทุกอย่างไว้รอ เพื่อให้คณะกรรมการประกาศใช้ ซึ่งคณะกรรมการประธานก็คือ ท่านอธิบดี พออธิบดีประกาศก็จะสามารถนำมาบังคับใช้ อีกเรื่องที่พยายามผลักดันก็คือ กระบวนการ ขั้นตอนในการจ่ายเงิน มันต้องถือเป็นหน้าที่ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านร้องขอ ต้องกรณีเกิดความเสียหายแล้ว เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ที่ต้องยื่นเรื่องและขอใช้เงินเลย ไม่ใช่ไปขอให้ชาวบ้านร้องขอ เป็นแนวทางปฏิบัติที่เราต้องออกหลักเกณฑ์เป็นแนวทางปฏิบัติในการจ่ายเงิน เพราะถือเป็นเงินนอกงบประมาณ ที่เขาให้ใช้จ่ายในเชิงงบประมาณ ทุกอย่างต้องมีระเบียบหลักเกณฑ์ เราต้องร่างหลักเกณฑ์ขึ้นมาว่า ตั้งแต่มีผู้เสียชีวิต พื้นที่เข้าไปดำเนินการสำรวจ หรือดำเนินการอย่างไร ให้เขาได้รับเงินในทันที

กระบวนการชดเชยเยียวยาระดับจังหวัดเป็นอย่างไร

สมเกียรติ สุสัณพูลทอง ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปราจีนบุรี กล่าว ลักษณะเดียวกับที่ ผอ.เผด็จพูดไป เราอยู่ในราชการมีระเบียบในการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของนโยบาย ที่เห็นชัดเจน คือ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยที่มีอยู่ และที่ผอ.เผด็จจะเติมเข้ามาอีก 

ในระดับจังหวัดเวลาเกิดปัญหา เรื่องการเยียวยาเราต้องถือ พ.ร.บ.ป้องกันสาธาณะภัยเป็นหลักในการดำเนินการ แต่อีกส่วนทางชาวบ้านเองก็พยายามดูแลช่วยเหลือกันเอง อย่างเช่น จ.ปราจีนบุรี มีการจัดตั้งกองทุนเยียวยา ช่วยเหลือจากผู้ที่ประสบภัยจากช้างป่า ซึ่งในฐานะหน่วยงานภาครัฐ เรามีหน้าที่ลงไปสนับสนุน อย่างที่ผ่านมา เขาไม้แก้ว มีการจัดวิ่ง พาช้างกลับบ้าน เราสนับสนุนช่วยดำเนินการให้ อันนี้เป็นอีกส่วนที่ช่วยเยียวยา

ในส่วนระดับจังหวัด ใช้ พ.ร.บ. ป้องกันสาธารณภัยเป็นหลักในการดำเนินการในเรื่องของนโยบาย อันนี้เฉพาะในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยา และมีการช่วยเหลือผลักดันร่วมกัน

ขั้นตอนเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าแล้ว มาแจ้งทางจังหวัด จะต้องไปพิสูจน์ทราบความเสียหายก่อน ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน และก็ต้องไปจัดทำข้อมูล ผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอ ก็จะมีคนพิจารณาในระดับอำเภอ และจะขึ้นมาที่จังหวัดก็จะมีคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งค่อนข้างจะเร็วเพราะเราเข้าใจความเดือนร้อนของชาวบ้าน เมื่อเกิดเหตุแล้วเราคุยกับทาง ปภ. แล้วก็รีบคุยกับทางอำเภออย่างเร่งรัด เราก็จะดำเนินการในระดับจังหวัด 

ซึ่งถ้าหลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานผลักดันอยู่ผ่าน จังหวัดก็จะเป็นตัวประสาน แต่จะถือ ปภ. เป็นหลัก แต่เราจะรวบรวมข้อมูลให้ทาง ผอ.เผด็จด้วย 

พิเชฐ นุ่นโต เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องของการชดเชยเยียวยา ว่า จะเป็นไปได้ไหม ที่จะมีกลไกรวมกันแล้วทำให้เกิดประสิทธิภาพเรื่องของการเบิกจ่ายครั้งเดียว โดยที่ตัวเงิน และคนตรวจสอบอยู่ที่ท้องถิ่น ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ทางกรมอุทยานฯ จัดชุดเฉพาะกิจขึ้นมา มีอาสาที่จะเข้ามาช่วย

ผมคิดว่าถ้าอาสาหรือชุดเฉพาะกิจสามารถเช็คความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเพิ่งตัวเกษตรอำเภอก่อน แต่ชุดนี้เข้าถึงเร็วและเช็คความเสียหายอย่างรวดเร็ว จะช่วยเรื่องของความถูกต้องแม่นยำได้ เมื่ออาสามีความรู้ จะสามารถช่วยกันประเมินและส่งข้อมูลกลับไปที่คณะกรรมการท้องที่ได้เลย  ผมจึงมองว่า จะเป็นไปได้ไหมที่เงินต่าง ๆ จะมากองอยู่ที่ท้องถิ่นก่อน โดยใช้ฐานข้อมูลความเสียหายในแต่ละปีที่อาสา และเจ้าหน้าที่เก็บ เพื่อประเมินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่น่าจะประมาณนี้ และจัดสรรงบประมาณให้ก่อน เพื่อที่จะสำรองไว้ในแต่ละปี 

อันนี้เป็นแนวคิดคร่าว ๆ ที่คิดว่า จะทำให้เกิดการเยียวยาที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นคีย์หลักสำคัญที่นักวิชาการสรุปออกมาว่า จะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งลดลง และชาวบ้านไม่เกิดการเดือดร้อนมากเกินไป ซึ่งต้องรวดเร็ว ทันท่วงที ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะไม่เป็นธรรม 

ผมคิดถ้ากลไกอาสาเข้ามาช่วยน่าจะทำให้เร็วขึ้น เพราะเขาอยู่พื้นที่อยู่แล้ว เมื่อช้างมาหากินตรงนี้ ตัวขออาสาก็จะช่วยกันเช็คได้ เพราะโดยปกติ อาสาจะช่วยกันผลักดัน ถ้าสมมติว่าสองทีมนี้อบรมพร้อมกัน และมีชุดความรู้เข้ามาเสริมกันได้ ก็จะเกินการทดแทนหรือหนุนเสริมกันได้ เพราะอย่าลืมว่าเวลาช้างกิน บางทีกินเป็น 10 ไร่  เจ้าหน้าที่อาจจะกำลังไม่พอ อาสาจะเข้ามาช่วยประเมินความเสียหายตรงนี้ ผมคิดว่าน่าจะช่วยหย่นระยะเวลาและกำลังคนเพิ่มขึ้นด้วย 

เผด็จ ลายทอง เสริมต่อว่า เรื่องอาสามีอยู่แล้ว ปกติอาสาเกิดจากความเดือดร้อนในพื้นที่ ซึ่งอาสาชุดแรกที่ออกมา คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ได้เกิดเป็นอาสาทั่วไปที่ไปช่วยตามมูลนิธิต่าง ๆ อาสาที่เกิดจากภัยจากช้างป่า คือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และออกมาป้องกันพืชผลของตัวเอง พอมีหลายคนก็จับมือร่วมกัน คนที่มีจิตสาธารณะ ครอบครัวตัวเองยังไม่ได้รับผลกระทบ ก็ออกมาร่วมด้วย จึงกลายเป็นเครือข่ายที่มากขึ้น จำนวนคนมากขึ้น

กรมอุทยานเข้าไปให้ความรู้ครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2550 ต้น ๆ ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น เป็นของมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อบรมแล้วก็สร้างเครือข่าย ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของเราออกไปให้ความรู้  เราให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก และพยายามผลักดันให้มีการช่วยเหลืออุดหนุนเครือข่ายผลักดันเฝ้าระวังช้าง ที่ทุกวันนี้เงินเริ่มลงแล้ว ในป่าตะวันออกมีประมาณ 131 แห่ง มีจากเครือข่ายอาสาแท้ ๆ 92 แห่ง และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.อส.) ที่มีภารกิจของสัตว์ป่าอยู่ด้วย ในภาคตะวันออกมีการเอาเครือข่ายกลุ่มนี้มาเติมให้กับเครือข่ายเฝ้าระวังช้าง จึงทำให้ที่นี่พิเศษกว่าที่อื่น 

ซึ่ง อส.อส. มีเครือข่ายหลายประเภท เช่น เครือข่ายไฟป่า เครือข่ายตามพระราชดำริโครงการพัฒนาความเป็นอยู่พี่น้องประชาชน และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าโดยเอาส่วนนี้มาทำเรื่องเครือข่ายช้างป่าด้วย จึงทำให้เครือข่ายของสำนักสองมีมากที่สุดในประเทศที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกรมอุทยานฯ จำนวน 50,000 บาทต่อเครือข่าย/ปี ซึ่งตอนนี้ทุกคนได้รับแล้ว และทุกคนทำแผนเองว่า จะเอาเงินไปใช้ในส่วนไหน โดยผ่านการทำประชาคม หรือความเห็น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยต่าง ๆ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยดูแผน 

สำนักอุทยานฯ เป็นสำนักใหญ่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขามีรายได้ ก็มีการให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา เฝ้าระวังผลักดันช้างป่าโดยเฉพาะ ในอดีตที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีภารกิจของตัวเอง ไม่เคยได้งบคนเพิ่มที่จะมาเฝ้าระวังและผลักดันช้าง ทำให้ภารกิจในพื้นที่ของเขาโหลด แต่ปัจจุบันท่านอธิบดีบอกว่าให้ไปเอาเงินรายได้ของทางอุทยานมานำร่องพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จำนวน 15 ชุดปฏิบัติการที่จะกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราพยายามที่จะสร้างแพลตเทินหรือรูปแบบทิ้งทางการแก้ไข เพื่อผลักดันการของบประมาณที่เป็นรูปธรรม             

ในอดีตเวลาเราของบประมาณไป 100 บาท ทางภาครัฐ หรือสำนักงบประมาณจะให้มาแค่ 30 บาท เราไม่เคยได้ตามที่ขอไป สิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องสร้างแพทเทินให้เขาเห็นว่าการดำเนินงานลักษณะนี้มีทิศทางการแก้ไขปัญหารุนแรง หรือชัดเจนขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีปัญหานี้ปัญหาเดียวในประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่คุณพิเชฐพูดว่า ท้องถิ่นเป็นกลไกแรก ท้องถิ่นทุกท้องถิ่นผมเชื่อว่า เขาต้องการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เขา แต่เขาไม่มีเงิน ถ้าเงินไปกองอยู่ที่ท้องถิ่น ผมเชื่อว่า ท้องถิ่นพร้อมจ่าย โดยไม่รอว่า สตง. จะเข้าไปตรวจหรือเปล่า 

ซึ่งในอดีตเขากลัวจะถูกเรียกเงินคืน แต่ปัจจุบันหลายแห่งกล้าจ่าย อย่างที่ปราจีนบุรี อบต.ทุ่งโพธิ์ จ่ายเลยเวลาพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ไม่ต้องร้องไปทางอำเภอ เพราะในอดีตหน่วยงานตรวจสอบมองว่า มันไม่ใช่ภารกิจของท้องถิ่น ควรเป็นภารกิจของกรมอุทยานฯ ไม่ใช่ท้องถิ่น เพราะก่อนหน้านี้ ยังไม่มีบทนิยามไหน เขียนชัดว่าช้างป่าถือว่าเป็นภัย จนกรมอุทยานทำหนังสือไปถึง ปภ. ให้ ปภ. ให้คำจัดการความของคำว่า ภัยอื่น ๆ ช้างป่าที่ลงมาสร้างความเสียหาย ถือว่าเป็นภัยอื่น ๆ หรือไม่ตามคำนิยามของ ปภ. ซึ่งเขียนมาชัดเจนว่าเป็นภัย 

ด้าน ศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองเรื่องของการเยียวยาว่า ต้องขอบคุณกรมอุทยานฯ ที่มีความพยายามพัฒนาที่จะมีระเบียบออกมารองรับ มีเงินช่วยเหลือต่าง ๆ แต่ว่าอันดับแรก ท้องถิ่นจะมีศักยภาพ เข้าถึงปัญหา ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนการกระจายอำนาจ เพราะเรื่องการแก้ไขปัญหาช้างป่า ควรให้บทบาทกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดปัญหา เขารู้ปัญหา และจะจ่ายได้จริง เมื่อเทียบกับกรมอุทยานฯ ที่มีบุคลากรจำกัด หรือกลไกของจังหวัด 

แต่งบประมาณที่ต้องใช้ ไม่ใช่แค่เงินช่วยเหลือหรือชดใช้ แต่มีในส่วนของอาสาสมัครเฝ้าระวังด้วย เหมือนที่ทาง ผอ.เผด็จพูด อส. อส. เป็นของทางกรมอุทยานฯ ก็รับภาระไป แต่อาสาสมัครที่เป็นประชาชนในพื้นที่ ชุดเฉพาะกิจ เวลาแก้ไขปัญหาต้องมองภาพรวม ว่าเรามีเงินที่ต้องจ่ายกี่อย่างบ้าง ยังไม่นับโครงสร้างพื้นฐาน ที่ภาคประชาชนต้องมีทำรั้ว แต่เงินที่สำคัญ ที่ฟังจากเวทีภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ชุดเฉพาะกิจที่เป็นของชาวบ้าน ซึ่งต้องเป็นเงินอีกก้อนที่จ่ายให้กับอาสาสมัคร โดยผู้ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังต้องทำทั้งสองอย่าง คือ เฝ้าระวังไม่ให้ช้างมาทำร้าย เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดความเสีย

ดังนั้นต้องมีเงินก้อนนี้มากันไว้ เขาต้องได้รับค่าชดเชย เพราะอาสาสมัครเฝ้าระวัง เป็นอาสา และเป็นคนในพื้นที่ เกิดเขาบาดเจ็บ หรือได้รับความเสียหาย เงินที่ช่วยเขาจะมากกว่าประชาชนทั่วไปไหม เขามีภารกิจเพิ่มขึ้น เขาต้องได้รับความเป็นธรรม เพราะเขาอาสามา เป็นเงินที่เขาตายไป หรือได้รับบาดเจ็บระหว่างเฝ้าระวัง ต้องมีเงินก้อนนี้ไว้ เงินก้อนนี้เป็นเงินชดใช้เมื่อเกิดภัย 

เมื่อการตีความเรื่องเงินมันชัดเจนว่าแก้ไขปัญหาได้แล้ว ท้องถิ่นหรือระเบียบการช่วยเหลือของมหาดไทยที่ท้องถิ่นดูแล สามารถจ่ายได้ทันที โดยไม่ต้องเข้าสู่กรรมการ แต่เมื่อประกาศเป็นภัยแล้วต้องเข้าสู่คณะกรรมการในการจ่ายเงินช่วยเหลือ แต่ท้องถิ่นมีงบประมาณจำกัด ผืนป่าตะวันออกต้องมีการคุยกับ อปท. ทั้งหมดร่วมกัน และเอาเงินมาแชร์กัน ซึ่งต้องคุยกับ อบจ. ด้วย อย่าง อบจ.ชลบุรี เป็น อบจ.ที่มีรายได้มาก และ อบจ. ในภาคตะวันออกเป็นภาคอุตสาหกรรม เงินที่เข้า อบจ.จึงมากกว่า ถ้าเราผลักภาระให้เทศบาลหรือ อบต. เงินไม่พออยู่แล้ว เพราะงบประมาณน้อย ต้องมีเงินของ อบจ. เข้ามา ซึ่ง เงินของ อบจ. เป็นเงินที่ใช้ในการช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยเหลือภัย ต้องมีเงินของ อบจ. มา กสม.ก็เลยมองว่าต้องใช้ กลไกของจังหวัด เพราะต้องบูรณาการกัน 

ดังนั้น ในกลไกของจังหวัดที่ผู้ว่าฯ เป็นประธาน ถ้ามีคณะกรรมการที่เป็นส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่อุทยาน หัวหน้าเขต ท้องถิ่น ตัวแทนชุมชนที่ดูแลมาช่วยกันวางแผนภาพรวมว่ามีเงินกี่ก้อน โดยเฉพาะเงินของท้องถิ่น และเงิน อบจ. เทศบาล อบต. จะจ่ายกันยังไง แต่ในแง่ของการจัดการทรัพยากรที่มีฐานระบบนิเวศเชื่อมต่อกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาเป็นรายจังหวัดได้ ต้องจัดการเป็นระบบนิเวศ ต้องอาศัยกลไกของผู้ว่าฯ ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องร่วมกันในการใช้เงินส่วนนี้ อันนี้ต้องใช้ผู้ว่าฯ อย่างเดียว ผู้ว่าฯ จะมีบทบาทในการจัดการร่วม และต้องประสานงานกับ อบจ. เข้ามาในลักษณะของเงินช่วยเหลือ ไม่นับเงินบริจาค ไม่งั้นจะเจอปัญหาการจ่ายเงินซ้ำซ้อน ต้องมีตัวกลางของจังหวัดที่อาจจะเป็นภาระของ ปภ. วางแผนจัดการเรื่องจ่ายเงิน ต้องมีหน่วยที่มองบูรณาการทั้งหมด และรู้ว่ามีเงินกี่ก้อนที่เข้ามา และรู้ว่าจะเอาเงินส่วนนี้จัดการยังไง 

ถึงแม้จะมีระเบียบ แต่ระบบราชการจะเจอปัญหาขั้นตอนการจ่ายเงินยุ่งยาก แม้กระทั่ง ปภ. หรือท้องถิ่น อาจจะต้องใช้วิธีแบบ One Stop Service ส่วนตัวเคยถามกรมบัญชีกลาง เขาบอกว่า ส่วนใหญ่ราชการจะใช้เงินทดลองราชการแบบฉุกเฉิน ไม่มีใครกล้าจ่ายเงินมากไปกว่าขั้นต่ำที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้  ซึ่งจริง ๆ เราสามารถจ่ายได้มากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญของท้องถิ่น เราต้องมีเหตุผลชัดเจน ถ้าเรามีเหตุผลชัดเจน และทุกหน่วยเห็นพ้องต้องกัน ฟ้องยังไงก็ไม่ผิด แต่ต้องมีเหตุผลชัดเจน ว่าฟ้องแบบนี้ไม่ผิด เคยบอกนิติกรท้องถิ่นว่า เราต้องมีเหตุผลชัดเจน และผู้บริหารเห็นด้วยว่ามีภาระความจำเป็น นิติกรก็ไม่ผิด เพราะสถานการณ์ตอนนั้นจำเป็นจริง เกิดภัยจริง ใช้หลักสัดส่วนที่เหมาะสม การจ่ายนั้นมีเหตุมีผลของการจ่าย จึงต้องมีการสำรวจความเสียหาย กรมบัญชีกลางมีรูปแบบที่จ่ายได้     

อีกส่วนคือ ความยากของกรมอุทยานฯ ในการของบประมาณ เพราะสำนักงบประมาณ หรือกรรมาธิการ ซึ่งปกติเขาจะจ่ายเงินตามเพดาน ปีก่อนได้เท่าไหร่ ปีต่อไปก็ได้เท่านั้น ยกเว้นคุณมีโครงการนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ ผอ.เผด็จบอกว่าต้องสร้างอะไรใหม่ ๆ ถ้าสร้างอะไรใหม่ ๆ แล้วคุณสามารถแก้ปัญหาไปได้ก้าวหน้ากว่าเดิม จะมีเหตุผลจูงใจ

ด้านสมเกียรติ สุสัณพูลทอง มองว่า เป็นสิ่งที่ดี ที่จะมี One Stop Service ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็ว แต่ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าระเบียบกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ปลดล็อค สิ่งเหล่านี้จึงจะตามมา อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องนำไปพูดคุยกันว่า เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ไหม ถ้าเห็นด้วยจะทำอย่างไรให้มันเกิด ก็คือต้องมานั่งแก้ 

เพราะตอนนี้ทุกภาคส่วนถูกล็อคด้วยกฎระเบียบต่าง ๆ ท้องถิ่นต้องถือระเบียบของท้องถิ่นของตัวเอง ปภ. จะจ่ายเงิน ต้องเริ่มจากกระบวนการขั้นตอนของตัวเอง ซึ่งแต่ละหน่วยงานกระบวนการไม่ตรงกัน แต่ถ้าจะเอาเงินมารวม ก็ต้องคิดว่าจะเอามารวมยังไง

เผด็จ ลายทอง กล่าวว่า เรื่องของการจ่ายเงิน ปัจจุบันภัยของช้างป่าได้รับความสำคัญจากในอดีตมาก ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ผมเดินไปขอความร่วมมือจากใคร ไม่มีเลย เป็นหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ท้องถิ่นวงแตกหมด แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้วองค์การปกครอง และท้องถิ่นให้ความสำคัญ รวมไปถึงประชาชนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ทางจังหวัดเขาจะพยายามรวบรวมอยู่แล้วว่า มีพื้นที่ไหนได้ไม่ได้ มีกองทุนกี่กองทุนที่อยู่ในพื้นที่ มีทั้งระดับอำเภอ และระดับตำบล 

ทางฝั่งจังหวัดจันทบุรีมีทุกอำเภอ 6 อำเภอ จ่าย 50,000 บาท ผู้ที่ได้รับผลกระทบอะไรก็จ่ายก่อนเลย ซึ่งส่วนใหญ่อำเภอจะมีกองทุนของเขาต่างหาก ไม่ว่าจะผ้าป่า หรือ จัดวิ่ง จัดระดมทุน บริจาค ไปตั้งเป็นกองทุน และจะจ่ายเลย เงินเหล่านี้มีข้อดี คือ หยืดหยุ่น จ่ายได้เลย ข้อเสียมันไม่ถูกกฎหมาย และไม่มีระเบียบปฏิบัติอย่างแท้จริง เงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ไม่เข้าข่ายเรื่ยไร แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิน จะมีคณะกรรมการเรื่ยไรของสำนักนายกรัฐมนตรีที่ต้องควบคุมกำกับ และต้องทำโครงการเข้าไปขอ ได้รับความเห็นชอบจากคณะนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะสามารถเรี่ยไรได้

เราพยายามเดินเข้าไปดูว่าแต่ละส่วนต้องทำอย่างไรจึงจะปลดล็อคได้ ผมเห็นด้วยถ้าสามารถจัดสรรแล้วโยนลงไปให้ท้องถิ่น ตั้งกองไว้ เพราะท้องถิ่นสามารถจ่ายได้เร็วที่สุด แต่กลไกเรื่องการจัดการต้องเป็นระดับจังหวัด ท้องถิ่นเดียวไม่สามารถจัดการได้ เพราะช้างไม่ได้เดินแค่ท้องถิ่นเดียว ดังนั้นในกระบวนการแก้ไขปัญหา ท้องถิ่นจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญมาก และเชื่อมโยงกับทางวิชาการ และระดับส่วนกลาง 

ข้อจำกัดของการให้ท้องถิ่นเป็นตัวหลักในการทำงาน

พิเชฐ นุ่นโต มองว่า ในมุมของอาสาที่ต้องประสานการทำงานร่วม ทั้งตัวของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน และหน่วยงาน มันมีหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีแนวทางที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องมีการคุยกันระดับ อปท. และ อบจ. ว่าจังหวัดนี้จะมีระบบการบริหารจัดการอย่างไร  ใครจะประสานการทำงานกับแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเราทำเวทีทางฝั่งป่าตะวันออก และป่าตะวันตกมาก่อน ชาวบ้านเห็นตรงกันว่าต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แต่คนที่ดูแลก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ก็อยากให้มีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการด้วย เพราะที่่ผ่านมาปัญหาต่าง ๆ ถูกละเลยไปมาก ทั้งเรื่องของการเยียวยา หรือ บางจุดได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่มีความรับรู้ เพราะไม่มีใครลงพื้นที่

แต่ผมยังมองว่า คนที่ทำหน้าที่ประสานเป็นตัวหลักยังคงต้องเป็นกรมอุทยานฯ เพราะมีความเข้าใจเรื่องสัตว์ป่า แต่คนที่จะดึงการมีส่วนร่วมจ่ากท้องถิ่น ควรจะต้องเป็นคณะทำงานที่เป็นฝ่ายปกครอง หรือภาคประชาชน ที่เป็นตัวแทน หรือ NGO ที่ทำงานกับชาวบ้านตลอดเวลา  

เผด็จ ลายทอง เสริมประเด็นนี้ต่อว่า ระเบียบเก่า ๆ ที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ไม่ได้มองถึงว่า ภัยจะเกิดจากช้างป่าแบบนี้ เราไม่เคยมองว่า ช้างป่าจะสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาขนได้มากขนาดนี้ มันไม่มีระเบียบเฉพาะ 

เมื่อไม่มีระเบียบเฉพาะพอเอาไปคลุมกับเรื่องอื่น ๆ หมดจึงเป็นปัญหา เช่น  พืชผลเกษตรต้องไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาให้ประโยชน๋ได้เหมือนเดิม ต้องเสียหายอย่างสิ้นเชิง จึงจะสามารถจ่ายเงินได้ ถ้าไปเจอเจ้าหน้าที่ที่ตีความตามตัวหนังสือ พืชอย่างเช่น อ้อย จะไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือเลย ส่วนไผ่ หรือมะม่วง ถ้าไม่ถูกดันล้มไปทั้งต้น จะไม่ได้รับความชดเชยเลย  เพราะถ้ากิ่งหัก กิ่งอื่นยังมี อ้อยล้มลงไปหักยอด เหยียบย้ำลงไปเดี๋ยวมันก็แตกใหม่ เขามองความเสียหายแบบปกติ ไม่ว่าจะน้ำท่วม ไฟไหม้ ลมพัด หรือภัยพิบัติอื่น ๆ ไม่เคยมีใครคิดว่าจะต้องเอาใช้กับช้าง 

เมื่อตีความไปแบบนั้นก็ทำให้โอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยามันยาก ซึ่งพอหน่วยงานจะจ่ายเงินให้ก็กลัว เพราะเวลาจ่ายเงินไปแล้ว หน่วยงานตรวจสอบมาบอกให้เรียกคืน จะไปเรียกเงินคืนไม่ได้ เขาก็กลัว ผมเคยเข้าไปคุยให้แก้เรื่องนี้ แก้ไม่ได้จริง ๆ ต้องทำหลักเกณฑ์ใหม่ 

พิเชฐ นุ่นโต กล่าว หลักแรกคือเรื่องของความรวดเร็ว หลักสอง คือ เรื่องของความแฟร์ เป็นธรรม เป็นเรื่องที่ต้องทำระยะยาวทั้งในเรื่องของระเบียบ การทำงานร่วมของจังหวัด และเรื่องของข้อติดขัดที่ยังไม่แฟร์ เช่น เราไม่เคยคิดถึงค่าเสียหายที่เรามองไม่เห็นนั้นคือ จิตใจ เราไม่มีกลไกการเยียวยาจิตใจกับเรื่องนี้มาก่อนในประเทศไทย ซึ่งในต่างประเทศ เริ่มมีการพูดคุยกันว่า ควรมีการบำบัดกลุ่ม หรือคนที่ญาติพี่น้องเสียชีวิต ควรจะมีจิตแพทย์เข้ามาดูแล หรือการเยียวยาผู้เสียชีวิต ควรจะต้องดูแลไปถึงคนที่อยู่ข้างหลังด้วย ซึ่งต้องออกแบบเรื่องของการเยียวยาที่มันครอบคลุมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 

หรือก่อนหน้าความเสียหายก็เริ่มมีการพูดคุยกันว่า ต้องมีหลักของการป้องกันก่อนเกิดความเสียหาย เช่น ท้องถิ่นสามารถเสนอโครงการที่อยากทำ เพื่อป้องกันความเสียหายได้ อันนี้ได้ทั้งสองอย่าง ชาวบ้านรู้สึกป้องกันตัวเองได้ บางโครงการจะส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนของพื้นที่ด้วน เช่น บางพื้นที่เริ่มอยากจะปรับเปลี่ยนพืชที่สามารถอยู่ร่วมกันกับช้างได้ บางพื้นที่อยากจะอยู่ร่วมในลักษณะของการท่องเที่ยว ซึ่งบางพื้นที่มีศักยภาพ แต่บางพื้นที่ก็อาจจะไม่เหมาะ ซึ่งก่อนและหลังความเสียหาย ต้องมีทำการวิจัยออกมา จะทำอย่างไรให้การเยียวยาครอบคลุมยิ่งขึ้น ดูแลคนที่ครอบครัวสูญเสีย และสภาพจิตใจด้วย 

การบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

สมเกียรติ สุสัณพูลทอง กล่าว ต้องไปดูว่า ระเบียบราชการเปิดหรือไม่ เงินหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ต้องมีที่มาที่ไป ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีภัยนี้ กลไกที่รองรับจึงไม่ครอบคลุม อันนี้เป็นหนึ่งจุดที่ต้องไปปลดล็อค แม้แต่เรื่องของการเยียวยาสภาพจิตใจไม่เคยถูกพูดถึง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องนั่งเถียงกันว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันติดอยู่ตรงไหน 

ในเรื่องของเงิน ที่บอกว่า กลไกจังหวัดเป็นผู้ประสาน ต้องบอกว่าทุกวันนี้ทำอยู่ ทาง ปภ. เป็นแม่ข่ายหลัก เขาจะรู้เลยว่าเงินช่วยเหลือจะมาจากส่วนไหนได้บ้าง 1. จากท้องถิ่นที่เราคุยกัน ปภ. ต้องไปไล่ หรือเงินบางตัวที่เป็นระเบียบอื่น เช่น ของสำนักนายก ปภ. จะเป็นคนรู้ ก็จะมาช่วยในการประสาน ความรวดเร็วก็จะต่างกันไป 

แต่กลไกที่บอกว่าให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมีอยู่แล้ว เวลาสำรวจความเสียหาย ต้องผ่านผู้ปกครองท้องถิ่นในการพิจารณาผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้ทีไ่ด้รับความเสียหายอยู่แล้ว 

000

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ