หลังจาก ไทยพีบีเอส โดย สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ เปิดรับสมัครอาสานักข่าวพลเมือง ร่วมรายงานสถานการณ์เลือกตั้ง 66 พบว่ามีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วม และขอมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยที่ทำให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ มาสมบทกับการทำงานของนักข่าวพลเมืองเดิมทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก และวันที่ 3 พ.ค. 2566 ไทยพีบีเอสได้เปิดกองบรรณาธิการ Digital News Room ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจเครื่องมือสื่อสารเพื่อ วางแผนการทำงานร่วมกัน
นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา กล่าวต้อนรับและสะท้อน 3 มิติสำคัญของการรวมตัวกันเป็นอาสาสมัครนักข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอส ในวาระการเลือกตั้ง 66
มิติแรก คือการทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 14 พ.ค.66 ที่เกี่ยวข้องกับวันเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งเหล่าอาสานักข่าวพลเมืองจะได้ทำความเข้าใจ มาเตรียมความพร้อมในการที่จะทำประเด็นเนื้อหา แบบไหนที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับการรายงานผลเลือกตั้ง
การเตรียมความพร้อมในเรื่องของการมาใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันหรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่ไทยพีบีเอสได้จัดเตรียมไว้ให้ในการที่เราจะสื่อสารเรื่องวาระเลือกตั้งของประเทศเราไปสู่สังคม
มิติที่สอง เป็นเรื่องการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ มองว่าเป็นมิติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเราคงไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นพลเมืองที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่พวกเราอาสาสมัครนักข่าวพลเมืองจะทำหน้าที่สื่อสารและคอยสอดส่องตรวจตราว่า กระบวนการประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งสมบูรณ์แบบแค่ไหน สร้างสรรค์แค่ไหน มีความโปร่งใสแค่ไหน ผ่านช่องทางของไทยพีบีเอสที่เรากำลังร่วมงานกันอยู่
มิติสุดท้าย เรื่องการทำงานแบบมีส่วนร่วมของการสื่อสารวาระเลือกตั้ง เราทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานผ่านภาคีเครือข่าย ผ่านเครือข่ายอาสานักข่าวพลเมืองที่มีอยู่ทั่วประเทศ
“พวกเราทุกคนเป็นพลังของภาคพลเมืองที่จะสามารถสื่อสารความสมบูรณ์แบบของการเลือกตั้ง ความสมบูรณ์ของการเป็นประชาธิปไตยบ้านเราได้”
นางอัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ส.ส.ท. บอกว่า วาระการเลือกตั้งครั้งนี้ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ได้เปิดรับอาสานักข่าวพลเมืองขึ้น แต่ก่อนหน้านี้บทบาทของสำนักฯ มีการทำงานกับเครือข่ายนักสื่อสารพลเมืองผ่านอบรมกันมาเป็นระยะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจำนวนหนึ่งที่มาในวันนี้จะเป็นคนที่เคยทำงานร่วมกันมา รู้จักเครื่องมือและวิธีการทำงานกับไทยพีบีเอส แต่ขณะเดียวกันก็มีอาสาสมัครนักข่าวพลเมืองอีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้สมัครใหม่อีกกว่า 200 คนที่จะเข้ามาร่วมงานกันรวมกว่า 500 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจากแบบสำรวจของการสมัครเข้ามา พวกเขามีเจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์ที่สมัครเข้ามาแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่หลัก ๆ
1. อยากเป็นส่วนร่วมของกระบวนการประชาธิปไตยที่ทำให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้
2. อยากทำหน้าที่พลเมืองและอยากจะร่วมรายงานร่วมสื่อสาร
3. อยากเรียนรู้วิธีการเทคนิคด้านการสื่อสาร
ทั้งหมดเป็นความต้องการของเครือข่ายที่สมัครเข้ามาเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหัวใจที่ทำให้เราออกแบบกระบวนการอบรมและการทำงานต่อจากนี้ด้วยกัน
โดยเครื่องมือสื่อสารสำคัญของนักข่าวพลเมืองและในช่วงของสถานการณ์การเลือกตั้ง คือ แอปพลิเคชัน C-site ซึ่งไทยพีบีเอสพัฒนาขึ้นมา สามารถให้เครือข่ายอาสาสมัครได้ รายงานข่าว เรื่องเล่า ด้วยแบบฉบับของตนเอง โดยมีพิกัดเชิง Location แสดงผล และยังมีระบบร่วมกันทำ DATA ด้วย
“ระบบของ C-Site สามารถทำได้ทั้งรายงานข่าว เรื่องเล่าที่มาได้ทั้ง TEXT ภาพ คลิป และปักหมุดพิกัดอยู่ในแพลทฟอร์ท C-site และการทำ Data ได้ในลักษณะของแบบสำรวจที่จะร่วมกันบางอย่างในวันเลือกตั้ง ”
ทุก ๆ กิจกรรมที่ทำแอปพลิเคชัน C-site จะได้รับ Coin หรือเหรียญดิจิตอลให้สะสม ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวจะมีผลต่อการพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง และเครือข่ายสื่อสาธารณะที่อยู่ทั่วประเทศ
“อนาคตจะมีระบบในการจัดเรตให้คุณค่าข่าวของผู้รับสาร และคนที่อยู่ในวิชาชีพ Coin ที่สะสมอาจจะพัฒนาไปสู่คุณค่า และมูลค่าที่อยู่ระหว่างการจัดระบบ เช่น มีของสมนาคุณอาสาสมัคร หรือมีหลักสูตร หรือสิทธิพิเศษ ที่อาสาสมัครผู้ใช่้งาน C-Site สามารถได้รับจากการมาร่วมกันสื่อสารสาธารณะ”
ติดอาวุธการสื่อสารกับ 3 ผู้เชี่ยวชาญ
นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนสังเกตุการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (WeWatch) วิทยากร ผู้ให้ความรู้และทักษะการจับตาการเลือกตั้ง สิ่งในที่อาสาสมัครทำได้ และทำไม่ได้ ข้อควรระวัง กล่าวขอบคุณอาสาสมัครนักข่าวพลเมืองมีจิตใจที่จะอาสาช่วยจับตาเลือกตั้ง ซึ่งเราพยายามช่วยกันทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม
“การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามมาก และมาครั้งนี้ผมคิดว่าทุกคนไม่อยากที่จะให้มันรุนแรง และไม่ให้เกิดปัญหาประเทศเดินหน้าต่อไปได้”
อีกประเด็นหนึ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือการให้การสังเกตการณ์กับภาคประชาชน ต้องยอมรับว่าปี 2562 กกต.ไม่สนับสนุนการสังเกตการณ์ ครั้งนี้ต่างออกไป ท่าทีของ กกต. อยากที่จะอำนวยความสะดวกหรือร่วมมือกับภาคประชาชน ซึ่งตนมองว่า เป็นการได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย และคิดว่าถ้าทำให้ดีขึ้น ทำให้การเลือกตั้งน่าเชื่อขึ้น หรือช่วยกันเป็นหูเป็นตามากขึ้น มีประชาชนตื่นตัวในการช่วยกันตรวจสอบเลือกตั้งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี และเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง
การเลือกตั้ง 2566 มองว่าภาคประชาสังคมออกมาร่วมกันจับตาการเลือกตั้งมากกว่าครั้งก่อน ๆ รวมถึงการเห็นบรรยากาศของการดีเบต การถกเถียงหรือการประชันวิสัยทัศน์ คือสังคมไทยเราไม่ได้มีเข้มข้นแบบนี้มาก่อน และคนใช้โซเชียลมีเดียเยอะมาก สิ่งที่น่ากังวลอาจจะเป็นเรื่องการใช้ความรุนแรงทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งในต่างประเทศมีปัญหานี้เยอะมากต้องใช้กระบวนการรองรับเพราะว่าจะมีการทำลายความน่าเชื่อถือ(Discredit) กัน
“การใช้ความรุนแรงใช้คำพูดที่เป็น Hate Speech สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ผมคิดว่า ต่อไปในอนาคตอาจจะเป็นเครื่องมือที่เราต้องระวังต้องจับตา”
ในขณะที่ คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส แลกเปลี่ยนประสบการณ์ Do & Don’t อะไรคือสิ่งที่เราต้องระวังในการรายงานช่วงสถานการณ์การเลือกตั้ง อาทิ การรู้เท่าทันจริยธรรมการทำเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย, กฎกติกาการโพสทางการเมืองของ Facebook และ TikTok หรือการป้องกันการทำเนื้อหาแล้วมีการบิดเบือนออกไป เช่น
– ภาพ ต้องตรงกับเนื้อหา
– เงื่อนเวลาเปลี่ยน โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ต้องช่วงบอกเวลาเสมอ
– การใช้คำว่า “ระบุช่วงเวลา” พยายามอย่าใช้คำวานนี้ เพราะอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นวันนี้
– การให้เครดิตแหล่งข้อมูล เครดิตที่ดีควรจะคลิกกลับไปหาต้นฉบับได้ หรือการตัดต่อ ดัดแปลงภาพ ทำให้คนที่หยิบเครดิตมันผิดต่อไปเรื่อย ๆ
“การทำเนื้อหาแบบไหนน่าสนใจในออนไลน์ เอาเข้าจริงสาระสำคัญคือความถูกต้อง ความรอบด้าน ความเป็นธรรม หรือความสมดุลมากกว่า”
แต่ก็อยากจะฝาก 4 หลักการการทำเนื้อหาแบบไหนที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นหลักการทางการตลาดคือ
- Right Time โพสเนื้อหาให้ถูกเวลา เช่น เวลาตอนเช้า คนสนใจเรื่องอะไร หรือใกล้ปิดหีบคนสนใจเนื้อหาในเรื่องไหน หรือพื้นที่ไหนเกิดมีคนดัง นักการเมืองศิลปินดารา คนสนใจไหม หรืออาจจะลองเลือกดูบริบทบรรยากาศโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ โลเคชันต่าง ๆ ที่จอดรถ เนื้อหาพวกนี้ถือเป็นเนื้อหารายล้อมจากเนื้อหาหลักที่จะให้ข้อมูลและประโยชน์
- Right format คือการจัดสรรเนื้อหาให้มันสวยงามตรงตามรูปทรง เช่น เราถ่ายรูปเป็นแนวนอน แต่ถ้าเราอยากจะมีเวลาหน่อยตกแต่งให้มันเป็นสี่เหลี่ยมเหมาะกับมือถือ ซึ่งในปัจจุบันคือคนดูผ่านมือถือ
- Right platform คือการต้องเข้าใจในแพลตฟอร์มที่เราจะเอาไปลง เช่นทวิตเตอร์เน้นข้อความสั้น ๆ ถ้าเราอยากรายงานเป็นวิดีโอทำบน Youtube ถ้าเราอยากทำลง TikTok ต้องเป็นวิดีโอแนวตั้งไม่ต้องยาวมาก
- Right content เป็นหัวใจสำคัญ เนื้อหาที่ดีต้องเป็นเนื้อหาที่ถูกต้อง รอบด้าน เป็นธรรม อย่าให้เนื้อหาบิดเบือน
ด้าน นายคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหารด้านข่าวสืบสวน แลกเปลี่ยนกระบวนการทำงานในมุมมองข่าว การเลือกตั้งเราจะรายงานเนื้อหาแบบไหนว่า โดยเล่าสถานการณ์การเลือกตั้งในรอบนี้ในมุมของสำนักข่าวที่ติดตามดูการรายงานข่าวและแผนมาตั้งแต่ต้นปี สถานการณ์การเลือกตั้งจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง การเลือกตั้งเป็นแบบไหน
สิ่งแรกที่เห็นจากการเลือกตั้งปี 66 การแข่งขันค่อนข้างเข้มข้นกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะว่าเป็นสถานการณ์การเลือกตั้งที่ตัวละครเดิม ๆ ลงสู่สนามการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนเรื่องของการหาเสียง การลงพื้นที่ของผู้สมัคร รูปแบบการเลือกตั้ง วิธีการนับคะแนนก็เปลี่ยนไปจากรอบที่แล้ว การแข่งขันหน้าใหม่ลงมาเล่นเยอะ เบอร์ใหญ่ก็ลงสนามกันอย่างเข้มข้น
สิ่งสำคัญ ถ้าต้องรายงานข่าวที่มักจะพูดกับนักข่าวในสำนักข่าวเสมอว่า เราต้องระมัดระวังอะไรบ้าง
อย่างแรก เราต้องรู้เรื่องกฎหมายการเลือกตั้งก่อนว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ แน่นอนกฎหมายการเลือกตั้งรอบแรกวันที่ 7 พ.ค. 66 คือวันเลือกตั้งล่วงหน้า ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันที่ 6 ไปจนถึงปิดคูหาการเลือกตั้งในวันลงคะแนนการเลือกตั้ง เรื่องแอลกอฮอล์ไม่ได้แน่นอน
การรายงานข่าวทั้ง 2 วันจะมีความต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากในวันเลือกตั้งล่วงหน้า พรรคการเมืองยังหาเสียงได้ ไม่ได้ห้ามเหมือนวันที่ 14 บุคคลากรที่ต้องไปรายงานในวันที่ 7 จะมีข้อที่ควรระวังอยู่ 2-3 อย่าง เข้าใจว่านักข่าวพลเมืองก็คงไม่ต่างกัน
สิ่งที่ต้องระวัง คือเรื่องภาพ ระวังการไปยืนอยู่หน้าป้ายพรรคการเมือง ป้ายที่จะบ่งบอกว่าข้างหลังเราเป็นใคร
อีกเรื่อง คือพรรคการเมืองที่หาเสียงในวันที่ 7 ไม่สามารถเข้าไปหาเสียงในคูหาเลือกตั้งได้ ถ้าเราจะรายงานบรรยากาศเราต้องรายงานว่า เราเห็นอะไรและเรารายงานแบบไหน ใครทำอะไร ที่ไหนอย่างไร เมื่อไหร่ เป็นสูตรของการรายงานอยู่แล้ว แต่เห็นอะไรให้รายงานแบบนั้น เช่น เห็นประชาชนไปรายงานลงคะแนน แต่เราคงไม่ไปสัมภาษณ์คนที่ไปลงคะแนน แล้วบอกว่า เขาชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไรในพรรคการเมืองอันนี้ไม่ได้
และโดยเฉพาะในวันที่ 14 สิ่งที่ต้องระวังมาก คือการปรากฎชื่อพรรคการเมืองในการรายงานข่าว ชื่อเบอร์ ชื่อผู้สมัคร หรือแม้กระทั่ง ป้ายข้างหลังทั้งหมดเห็นไม่ได้เลย
เสียงของการใช้ภาษาการรายงานข่าว ประโยคที่เราพูดการรายงานข่าวจะต้องไม่ไปเข้าทางหรือโน้มเอียงไปในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
อีกประเด็นที่เราเจอกันมากในโค้งสุดท้าย ก่อนคะแนน คือการทุจริตซื้อเสียง ซึ่งช่วงนี้มีทั้งข่าวจริงและข่าวไม่จริงเต็มไปหมดเลย
“บางที่เห็นภาพคนแจก มีเงิน มีป้ายผู้สมัครแล้วจะบอกได้ว่าผู้สมัครพรรคนั้นพรรคนี้ไปซื้อเสียงหรือไม่ อันนี้ควรจะใช้ความระมัดระวังมาก เพราะไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือใครกลั่นแกล้งกัน”
อย่างแรก คือการพิสูจน์ก่อนว่าภาพมาจากไหน แต่แน่นอนถ้าเราไปเจอจริง ๆ ว่ามีหัวคะแนนบางคน แจกเงินผู้สมัคร พร้อมกับติดป้าย บอกสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้ แต่อย่าลงรายละเอียดว่าป้ายเบอร์นั้นเบอร์นี้ชื่อคนสมัครคนนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง ถ้ามีการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ เราก็รายงานการสอบสวนของเจ้าหน้าที่มาเพิ่มเติมได้ สำคัญที่สุด ถ้าไม่มั่นใจให้ปรึกษากันก่อนได้ว่ามีข้อมูลแบบนี้เราจะรายงานกันอย่างไร
ตามกฎหมายของกกต. ที่เราจะพูดไม่ได้ก่อนหนึ่งสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ถึง วันที่ 14 พ.ค. คือ หนึ่ง เรื่องโพลรายงานไม่ได้เลย เนื่องจากโพลเป็นการชี้นำ ซึ่งขั้นตอนของการทำโพลมีความสลับซับซ้อน มีที่มาที่ไปอยู่พอสมควร แต่ว่าตามกฎหมายการเลือกตั้งโพลไม่สามารถนำเสนอได้ ถ้าจะได้ต้องหลังจากปิดคูหาเลือกตั้ง
สอง เราไม่สามารถที่จะรายงานเรื่องของความต้องการของประชาชนต่อนักการเมือง เช่น ต้องการเรื่องกระจายอำนาจ ต้องการเรื่องสวัสดิการ ต้องการเรื่องค่าแรง ในช่วงเจ็ดวันของการเลือกตั้งมันมีส่วนเข้าทางกับโยงกับนโยบายบางพรรค มันเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับทางการเมือง
เนื้อหา 7 วันของการเลือกตั้ง เรามักจะให้รายงานบรรยากาศของการหาเสียง สิ่งที่เกิดขึ้น หรือข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของเขา เช่น เรื่องการจัดการตนเอง อาจจะพอพูดได้ แต่พูดในภาพใหญ่อาจจะต้องใช้ความระมัดระวัง
หลังการเติมความรู้ความเข้าใจ ติดอาวุธทางการสื่อสารกันแล้ว อาสาสมัครนักข่าวพลเมืองได้แบ่งกองบรรณาธิการย่อยเป็น 4 ภาคคือ เหนือ อิสาน ใต้ และกลางรวมตะวันตก ตะวันออก เพื่อวางแผนการทำงาน มองประเด็นในพื้นที่ และกลับมานำเสนอแผนร่วมกันในกองบรรณาธิการรวมในช่วงท้ายของการอบรมฯ และเตรียมการจะลุยการจับตาสถานการณ์เลือกตั้ง 66 ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. และวันเลือกตั้งจริง 14 พ.ค. 66 ร่วมกับไทยพีบีเอส
#เพราะพลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ ติดตามการรายงานข่าวสารของอาสาสมัครนักข่าวพลเมือง รายงานการเลือกตั้ง 66 ได้ทาง https://www.csitereport.com/csiteelection66