เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน 69 องค์กร ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสาธารณะ ‘พรรคการเมืองกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่’ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2556 เพื่อมองข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 ที่ใช้อยู่ และโอกาสกับข้อท้าทายในเส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ‘ฉบับประชาชน’ พร้อมเชิญ 8 พรรคการเมือง แลกเปลี่ยนมุมมอง “นโยบายพรรคการเมืองกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่”
เมื่อปี 2564 มีการรวมรายชื่อของประชาชนกว่า 150,921 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าไปยังสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่ท้ายที่สุดก็ถูกตีตกไป
ในช่วงเวลาที่สำคัญ ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ 14 พ.ค. 2566 เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจนได้รวบรวมข้อมูลจากการจัดเวทีรับฟังปัญหาและข้อเสนอของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อยกร่าง “รัฐธรรมนูญคนจน”
เสวนาวงแรก “เส้นทางสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่” จึงชวนทุกคนร่วมกันมองถึงการมีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ในทุกหมวด ทุกมาตรา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาปากท้องและความยั่งยืนของประชาชนอย่างแท้จริง
000
บทบาทของ ส.ส.ร. ในการร่างรัฐธรรมนูญ
000
อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กล่าวว่า ส.ส.ร. คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ คนร่างรัฐธรรมนูญ ในอดีตคนที่มีอำนาจจะเป็นคนร่างแล้วให้รัฐธรรมนูญออกมา เพื่อให้ได้ปกครองตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ เท่ากับว่าประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปมีอำนาจ
แม้ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองโดยประชาชนของประชาชน เพื่อประชาชน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามคำจำกัดความของประชาธิปไตย เราอยากได้ตัวแทนของประชาชนทั่วประเทศเข้ามา ไม่ใช่เอาตัวแทนผู้มีอำนาจเข้ามา จึงจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยสภาร่าง กำหนดเอาไว้เพียงแค่ 99 คน
99 คน เฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องหลายส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่ราษฎรเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความยุติธรรม แล้วเราจะทำอย่างไร ถึงจะได้คนที่มีความรู้เกี่ยวกับชาวบ้านเข้ามาเยอะ แต่คนที่มีความรู้เรื่องระบบการปกครอง ทั้งแบบล้มเหลวและประสบความสำเร็จ คนเหล่านี้ก็จะหาได้จากไหน จึงมีการแบ่งสัดส่วนเอาไว้จำนวนหนึ่งใน 99 คน
อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่ต้องเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องมาศึกษาใหม่ ถ้าไม่ศึกษา บทเรียนเก่า ๆ จะเอามาจากไหน ก็ต้องเอาคนที่เคยมีตำแหน่งสูงในการบริหารราชการแผ่นดินเข้ามาส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์
แล้วเมื่อมีรัฐธรรมนูญต้องมีนักการเมือง ดังนั้นจะทำอย่างไรให้นักการเมืองเข้ามา ซึ่งนักการเมือง ก็คืออดีต ส.ส. จึงมีการแบ่งโควตาส่วนหนึ่งเอาไว้ให้พวกอดีต ส.ส. ดีเด่น เป็นที่ประจักษ์ และมีประสบการณ์เข้ามา
นี่คือ ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน เราได้คนที่มีกลุ่มหลากหลาย ทั้งคนที่มีความรู้เรื่องหลักการรัฐธรรมนูญ หลักการปกครอง ที่เคยบริหารกระทรวงทบวง กรมต่าง ๆ เคยประชุม ครม. เคยสั่งราชการมาแล้ว และเคยประชุมสภามาแล้ว ไม่ใช่รู้แต่เรื่องชาวบ้านอย่างเดียว
กลุ่นนี้ส่วนหนึ่งแบ่ง 99 คน ในขบวนเลือกตั้ง เราได้โควต้ามา เราก็เชิญพวกอาจารย์เข้ามา ซึ่งเรามีการคัดสรรกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ส่วนตัวผมเข้าไปในฐานะผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง เข้าไปเป็น ส.ส.ร. ซึ่งหลังเลือกตั้งเสร็จ ผมได้เป็นประธานสภาร่าง เขาให้เวลาแค่ 240 วัน หรือประมาณ 8 เดือน และต้องฟังประชาพิจารณ์ แล้วเวลาร่างจะเอาคนมาแสดงความคิดเห็นทั้งหมดคงไม่ได้
เราก็เลยให้ความเห็นว่า เราต้องตั้งธงให้เป็นธงเดียวก่อน ซึ่งเราแบ่งรัฐธรรมนูญตามหมวดอยู่แล้ว อย่างหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดความมั่นคง หมวดนิติบัญญัติ หมวดตุลาการ หมวดสิทธิมนุษยชน ใครสนใจหมวดไหนให้ไปแสดงความจำนงลงชื่อไว้ แต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นหมวดเดียว จะลงชื่อ 2 – 3 หมวดก็ได้ เราจะได้เลือกบุคคลที่สนใจเรื่องนั้นจริง ๆ มาทำงาน
เราให้คนเหล่านี้ แยกทำงานหมวดใคร หมวดมันให้ดีที่สุด เพื่อเอามาเป็นข้อยุติในรัฐธรรมนูญ ทำให้งานเร็วขึ้น เพราะบางคนมาร่างรัฐธรรมนูญหมวด 1 แต่ไม่ได้สนใจหมวดนั้น สนใจหมวดอื่น แต่เอามาอยู่ในหมวดนี้ด้วยกัน ไปถามในสิ่งที่ตัวเองสงสัย เพื่อเริ่มต้นใหม่อย่างนี้ไม่ได้งานไม่สำเร็จแน่ เมื่อได้ข้อยุติในแต่ละหมวดแล้ว คนไหนสงสัยว่าทำไมหมวด 1 ถึงต้องเขียนอย่างนี้ คนที่อยู่ในหมวด 1 ก็จะเป็นคนให้คำตอบ ก็จะทำให้ง่ายและเร็วขึ้น
ทำให้ 240 วัน เรารวบรวมความเห็นจากประชาชนมาด้วย แล้วก็มาแยกแยะ ว่าประชาชนที่แสดงความเห็นมา แต่ละท้องถิ่นเขาสนในและถามมาอยู่ตรงหมวดไหน เราเอาคำถามและความต้องการไปใส่ในหมวดนั้นและให้คนในหมวดนั้นถกกัน ว่าจะทำตามได้ไหม ทำไม่ได้เพราะอะไร ทำได้แต่ควรจะเสริมอะไรเข้ามาอยู่ในมาตรานั้นของรัฐธรรมนูญ นี่คือการวางการทำงานทำให้ง่ายขึ้น
ตอนที่เราจะให้ปักธงว่าเราจะไปทางไหน ผมจะใช้ตัว ก สองตัว ก แรกคือ แก้ เราจะแก้รัฐธรรมนูญเก่าไหม เราควรจะแก้ตรงไหน ก สอง คือ ก้าว รัฐธรรมนูญเก่าก็เรามาแก้แล้ว จุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญเก่า ๆ เราจะก้าวไปทางไหนอีก ที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ไม่มีบัญญัติมาก่อน เราจะไปถึงจุดตรงนั้นยังไง เช่น องค์กรอิสระสมัยก่อนเราก็ไม่มี นี่คือตัว ก ก้าว เรามีแก้แล้วก็ก้าวมีของใหม่ๆเข้ามา เข้ามาเราก็ปรับธงกันตรงนี้และออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาของรัฐธรรมนูญซึ่งผิดไปจากของเดิม
000
จุดแข็งจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540
000
อุทัย พิมพ์ใจชน เสริมต่อว่า ตอนนั้นบ้านเมืองมีปัญหาจากการดำเนินงานในระบอบประชาธิปไตย 2 อย่าง คือ
1. ซื้อเสียง เป็นที่มาของความวิบัติทางการเมือง เข้าไปถอนทุน ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง ไม่มีปากเพราะเอาเงินเขามาแล้วจะเอาอะไรจากเขาอีก ก็ถือว่าหายกัน ประชาชนก็ไม่มีปากเสียงไปทวงบุญคุณไม่ได้ เพราะบุญคุณจบไปแล้วตั้งแต่รับเงินเขาแล้ว แล้วก็ไปตั้งกลุ่ม ไปซื้อผู้แทนด้วยกันอีก นั่นคือจุดอ่อน
2. การโกงกินคอร์รัปชัน ทุกหย่อมหญ้า ทุกระดับชั้น เราจะแก้จัดการยังไง เพราะว่าลำพังให้มาตรการปัจจุบันสอบสวนกันเองไม่ได้ ต้องมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมา ที่เรียกว่า กรรมาธิการพิเศษ ป.ป.ช. ปปง. และสตง. เป็นองค์กรอิสระขึ้นมา ซึ่งคัดเลือกจากบุคคลที่มีประสบการณ์และมีความสามารถ ความรู้เป็นที่ประจักษ์ ส่งเข้ามาและให้วุฒิสภาคัดเข้ามาเป็นกรรมการแต่ละคณะ
แต่ตอนนั้นเราไปใช้ระบบโควต้า คณะกรรมการการคัดสรร แต่ละคณะจะมีใครบ้าง ให้โควต้าว่าพรรคนี้ได้กี่คนหามา อันนี้เราไปตกล่ม ซึ่งพักใหญ่ก็ได้คนเยอะ พอได้คนเยอะ สมมุตเราต้องการผลไม้เปรี้ยวมาทำอาหารแต่คณะใหญ่เสนอมะกรูด อีกพรรคเสนอมะนาว เสนอมะขาม คุณว่าใครจะได้ มะกรูดต้องได้ทั้งที่มะกรูดเปรี้ยวน้อยกว่ามะนาว แต่คณะมันใหญ่กว่าอันนี้มันเสียหายเพราะว่าเราเอาระบบโควต้าไปใช้แล้วก็เห็นชัด
คราวที่แล้วตอนปฏิวัติปี 2549 คณะร่างรัฐธรรมนูญ พลเอกประวิตรให้ลูกน้องวิ่งตามมาถามผม ว่าองค์กรอิสระที่ควรจะแก้ในรัฐธรรมนูญปี 40 อันนั้น คือ จุดอ่อนสำคัญเท่าที่เห็น เป็นเรื่องเดียวที่มีอยู่ อย่างอื่นไม่มีปัญหาอะไร เป็นปัญหากับคนอยากใช้อำนาจตามอำเภอใจเท่านั้นเอง ไม่เป็นปัญหาอะไรกับประชาชนและการบริหาร
ทีนี้เสียท่า เอาโควตาคัดคนเข้ามาพรรคใหญ่มีอำนาจอยู่แล้ว ก้ได้คนของตัวเป็นกรรมการคัดสรร พอส่งเข้าไปเลือกก็ได้คนพวกเดียวกันแทนที่จะได้คนกลางจริง ๆ ไม่ใช่
ผมให้ความเห็นว่า การคัดสรรครั้งแรกควรเอาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความดีเป็นที่ประจักษ์ อาจจะเป็นข้าราชการ ตุลาการอะไรพวกนี้ก็เป็นกรรมการคัดสรรก่อน พอเป็นกรรมการคัดสรรได้องค์กรอิสระทุกองค์กรแล้วก็จะมีประธานเขาเลือกกันเอง ประธานองค์กรอิสระ ต่อไปถ้ากรรมการองค์กรอิสระหมดวาระ การที่จะเอากรรมการคัดสรร ให้เอาประธานองค์กรแต่ละองค์กรมาเป็นกรรมการคัดสรรร อันนี้จะหลุดจากพรรคการเมือง
แต่ตอนนั้นคนที่มาวิ่งมาตามผม เป็นทหารติดตามพลเอกประวิตร เขาเอาไปทำตามเหมือนกัน แต่เอาครึ่งเดียว เอาอันแรกจากผู้ทรงคุณวุฒิ ก็จะได้พวกผู้พิพากษาเป็นส่วนใหญ่ คุณเห็นว่าองค์กรอิสระจะมีผู้พิพากษาจะไปอยู่เยอะ ผู้พิพากษาเป็นคนทำงานแคบจะตาย เหมือนม้าใส่กระบอกตา เพราะวิ่งอยู่บนลู่สำนวนเท่านั้น ผู้พิพากษาไม่ใช่คนกว้าง อันนี้เป็นจุดอ่อนเท่าที่เห็น แต่จุดเด่นก็มีเยอะ
000
ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2560
000
อุทัย พิมพ์ใจชน วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันรัฐธรรมนูญเขียนโดยคนที่สถาปนากันเอง แต่งตั้งกันเอง และก็เขียนตามความต้องการของตัวเองว่าตัวเองจะเข้ามามีอำนาจได้ยังไง มีอำนาจแล้วจะใช้อำนาจได้อย่างไรจึงจะสะดวก กลายเป็น คำว่าโดยประชาชน เพื่อประชาชน แทบจะไม่มี หรือบอกว่าไม่มีเลยก็ได้ คำว่าเพื่อประชาชนเป็นแค่คำอ้าง เพื่อความประสงค์ของผู้ปกครองเป็นหลักใหญ่มากกว่า
ความเลวร้ายในการซื้อเสียงก็หนักกว่าเดิม เพราะเดิมทีปี 40 ไม่ให้เอาคะแนนมานับที่หน่วย เพราะมันกำหนดเป้าได้ ซื้อได้ เกรงใจกันได้ มันตรวจสอบได้ มันล็อคเสียงได้ เรามาเทรวม แต่ก็มีการอ้างว่าเปลี่ยนหีบบ้าง ซึ่งมันไม่จริงอ้างมากกว่า เพื่อจะเอากลับไปนับที่เดิมเพื่อคนทุนหนาจะได้ไปซื้อ ส.ส. ซื้อประชาชนในเขตเลือกตั้ง เพราะลงทุนตรงนี้ได้แน่ เอาแค่ 10- 20 คนก็พอ ยังไงก็ได้ร่วมรัฐบาล เขาต้องการแค่นี้ แต่ว่ามันเป็นผลเสียกระจายไปเยอะ
ดังนั้นถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการเมืองปัจจุบันที่มันแย่ มันเกิดจากการซื้อเสียง ต้องเข้าไปถอนทุน ประชาชนไม่มีปากเสียง เพราะหายกัน ถือว่าเลือกฉันก็เพราะเงินของฉันจะเอาอะไรอีก ก็เกิดการไปถอนทุน ซื้อพวกต่อ เพื่อจะได้เป็นมุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ เป็นรัฐมนตรี ปัจจุบันจึงมีกระทรวงเกรด A เกรด B หาเงินง่าย หาเงินคล่อง หาเงินได้เยอะ มันเสียหายมาจากการซื้อเสียง ถ้าคุณแก้การซื้อเสียงไม่ได้การเมืองเอาดีไม่ได้
วิธีที่จะป้องกันการซื้อเสียงได้มีอยู่ 3 ทาง คือ 1. คุณต้องเอาคะแนนมานับที่เดิม มานับรวมอย่างที่รัฐธรรมนูญปี 40 ทำ หรือ 2. คุณใช้อิเล็กทรอนิกส์โหวต โหวตด้วยการกดปุ่มออนไลน์ไปรวมที่ศาลากลางเลย พอปิดหีบปั๊บก็รู้เลยใครได้เป็น มันจะไม่รู้ว่าใครลงให้ใคร หรือ 3 ให้มีรัฐบาลอยู่ได้ 4 ปีตามรัฐธรรมนูญแต่เลือกตั้งมีทุก 2 ปี ถ้ามีการซื้อเสียงนายทุนคนไหนจะลงทุนซื้อเสียงทุก 2 ปี จะถอนทุนทันไหม เป็นการดัดหลังนายทุน แก้โดยธรรมชาติ
แต่ถ้าคุณแก้เรื่องชื้อเสียงไม่ได้ ให้รัฐธรรมนูญวิเศษยังไงนะคุณก็ปฏิบัติตามความประสงค์ที่แท้จริงของการปกครองประชาธิปไตยไม่ได้ ชื้อเสียงกับการทุจริตองค์กรอิสระ ตอนหลังพอ คสช. เข้ามา เอาคนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระให้ คสช. ตั้งได้เอง เลือกได้ว่าวันนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ อีกวันไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะเสียหายถึงฉันก็ไม่เป็นความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วคุณจะต้องการก็จะไม่ได้ก็ไม่เป็น เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ทั้ง ๆ ที่เรื่องเดียวกัน ถามว่าเกิดจากอะไรเกิดจากกรรมการองค์กรอิสระนี่แหละ เป็นคนตีความออกมา วินิจฉัยออกมา บางเรื่องไม่น่าจะเป็นก็เป็นบัตรเขย่ง บางคนควรจะเป็นโมฆะ ก็ไม่เป็น
แปลงร่างจาก 40 ที่เป็นเป็นกำแพงใหญ่ ซึ่งป้องกันประชาชนเขาก็ลอดกำแพงส่วนหนึ่งออก เพราะฉะนั้นองค์กรอิสระจุดอ่อนของปี 40 ในการตั้งกรรมการคัดสรรต้องเปลี่ยนใหม่ อย่าให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยว ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประชาชนเห็นจริงมากแล้ว
000
บทเรียนรัฐธรรมนูญปี 2560 สู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
000
อุทัย พิมพ์ใจชน มองว่า แทบจะไม่เหลือแล้ว เพราะว่าวุฒิสภาเป็นกับดักใหญ่แต่ 2 ปีก็จะหมดแล้ว กว่าจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญได้ถึงตอนที่จะไปเข้าสู่สภาใหญ่คงไม่ใช่ ส.ว. ชุดนี้ หรือเขียนในพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ว่า การโหวตรัฐธรรมนูญอย่าให้ ส.ว. ชุดนี้ก็มีส่วนโหวต แปลว่าโอกาสแก้ก็สูงเพราะตอนนี้เสียงของประชาชนมันดังกว่าเสียงของ คสช. แล้วเท่าที่ติดตามสถานการณ์ดู
รู้สึกมีส่วนร่วมและมีส่วนหวงแหน เพราะว่าเป็นของฉัน เป็นของที่ฉันรับรู้แต่ผมรอว่าต้องให้เวลา 2 ปีผ่านไป ทีนี้มันก็ดีอย่างหนึ่งรายละเอียดในการดำเนินงานก็จะละเอียดขึ้นไม่ใช่ ฉุกละหุกแบบปี 3940 แต่ขนาดว่าฉุกละหุก เราก็โอเคนะ แต่ท่านมีเวลาได้มันก็จะละเอียดมากกว่านี้ ผมคิดว่าเราน่าจะคอยได้สำหรับรัฐธรรมนูญ
ถ้าคุณแก้เรื่องซื้อเสียงได้ การเมืองเราจะบริสุทธิ์ขึ้น ถึงตอนนั้นทุกอย่างมันก็จะโอเคในความคิดของเรา ในความเห็นผม ข้อที่ 1 โหวตตรงคุณไปจ้าง กกต. ทำอะไรได้ ทุกวันนี้หมดไปกับการเลือกตั้งเป็นพันพันล้าน แต่ถ้าคุณใช้เครื่องมือโหวตอันทันสมัย เห็นไปดูงานมาหมดเงินไปมากกว่าเครื่องมือด้วยประเทศเรานิดเดียว
อย่างอินเดียเขาใหญ่กว่าเราเขายังโหวตแบบออนไลน์ได้แล้วทำไมไม่ทำแล้วลงทุนครั้งเดียว เครื่องมือยังใช้ได้หลาย ๆ ครั้ง มันไม่ทำเพราะอะไร เพราะเราต้องการจะเอาอำนาจต้องการจะหาลู่ทางเข้ามามีอำนาจ จะทำอะไรได้แบบไม่เข้าท่า เอาเรื่องซื้อเสียงซึ่งมันต้องแก้โดยธรรมชาติอย่างที่ผมบอกรัฐบาลอยู่ 4 ปี เลือกตั้งทุก 2 ปี กล้าซื้อ 2 ปี ก็บรรลัย 2 ปี ถอนทุนทันไหม แล้วดีอย่างถ้าเลือกตั้งทุก 2 ปี พ.ศ. 2543 รัฐบาลที่สัญญาทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้ว 2 ปียังไม่ทำเขาโหวตพลิกได้สามารถเปลี่ยนรัฐบาลกลางทางได้ แล้วถ้ารัฐบาลเข้ามาทำได้สมใจเขาก็โหวตกลับเข้ามาก็อยู่ได้อีก 4 ปีอย่างนี้เป็นต้น
000
ทำไมถึงต้องมาคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญใหม่
000
สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธิธรรมสิ่งแวดล้อม คณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญคนจน กล่าว เราคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญคนจนมาจากประชาชนที่ร่วมกันถกเถียงและยกร่างขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราคาดหวังว่า ตัวแทนพรรคการเมือง ส.ส. ที่เห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง และเดินทางไปหาพี่น้องประชาชนได้ถึงที่บ้าน ในวันหนึ่งที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ท่านจะไปหาประชาชนเหมือนที่ท่านไปหาเสียงในวันนี้
ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญห่างไกลจากพี่น้องประชาชนมาก เพราะเชื่อว่าคนร่างจะต้องเป็นที่มีความรู้ทางกฎหมายเป็นนักวิชาการเท่านั้น หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ เป็นผู้มีความดีความชอบต่าง ๆ ที่จะมานั่งเขียนรัฐธรรมนูญ แต่จากการร่างของเะครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจนที่เราเห็นความสำคัญว่า ประชาชนคือส่วนสำคัญในการเขียนรัฐธรรมนูญ เราได้จัดเวทีในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อฟังเสียงพี่น้องประชาชน ไม่ต่างจากที่คุณอุทัยพูดเมื่อสักครู่ว่า มันมีหมวด มีมาตราที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ให้พี่น้องที่อยู่ในแต่ละพื้นที่เข้าไปคุย เลือกที่จะสะท้อนประเด็นปัญหาจากหมวด จากพื้นที่ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาของพี่น้อง
กลุ่มเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติอาจจะให้ความสำคัญในหมวดว่าด้วยการจัดการ การกระจายอำนาจ หรือการถือครองเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสำคัญ และถกเถียงถึงปัญหาของตัวเองว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องที่ทำกิน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีปัญหาอย่างไร และในหมวดว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติควรจะเขียนว่าอย่างไร เขาเห็นและเสนอความคิดเห็นได้จากปัญหาที่เกิดจากเขาจริง ๆ หรือว่าเรื่องโครงสร้างอำนาจต่าง ๆ ที่เป็นแปลงไปในรัฐธรรมนูญ 2560 โครงสร้างอำนาจต่าง ๆ ที่เห็นชัดว่า รวบอำนาจการจัดการที่อยู่ในภาครัฐ และลดอำนาจการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มันกระทบกับสิทธิของพี่น้องอย่างไร
ดังนั้นส่วนนี้พี่น้องประชาชนเห็นตรงกันว่า เรื่องการจัดการอำนาจควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งถูกเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจน อันนี้คือตัวอย่างหรือส่วนสำคัญที่เราเห็นชัด คือ เรื่องสิทธิในการพัฒนา พี่้น้องเห็นว่า ยุทธศาสตร์ชาติมันสร้างพื้นที่หรือความร่ำรวยให้กับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนายทุนกลุ่มเดียว แต่ส่วนสำคัญคือ มันกระจายความจนให้กับพี่น้องอย่างทั่วถึงมาก ๆ สิทธิในการเข้าถึงการพัฒนาก็เป็นส่วนสำคัญที่พี่น้องประชาชนเห็นว่า ยุทธศาสตร์ชาติมีปัญหาอย่างไร และควรจะปรับจากยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปที่มากำกับกลไกรัฐ เป็นการกระจายอำนาจให้พี่น้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิทธิในการพัฒนาอย่างไร
อีกส่วนหนึ่งที่พี่น้องเครือข่าย รัฐสวัสดิการ พี่น้องสลัมสี่ภาคมาร่วม คนจน คนที่เข้าถึงสิทธิพื้นฐานลำบาก เห็นประเด็นสำคัญ ทั้งเรื่องสิทธิการเข้าถึงพื้นที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ สิทธิที่จะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สิทธิในการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่การมาแจกหรือให้ในมิติสงเคราะห์
ระบบสวัสดิการที่เข้าถึง เป็นธรรมอันนี้คือส่วนที่พี่น้องสะท้อน ดังนั้นอยากจะฝากว่า การเขียนรัฐธรรมนูญที่พูดถึงโครงสร้างอำนาจการบริหารประเทศ การเขียนรัฐธรรมนูญที่ต้องรับรองสิทธิของประชาชนทุกคน เพื่อให้มีสิทธิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นธรรม
อีกส่วนที่สำคัญ คือ สิทธิการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบอำนาจรัฐ นอกจากการซื้อเสียง ส่วนสำคัญที่ตัวเองมองว่าจะกำกับ ส.ส. ผู้แทนฯ รัฐบาล ก็คือ กลไกอำนาจประชาชนที่สามารถตรวจสอบรัฐบาล ส.ส. ที่เขาเลือกเข้าไป ไม่ใช่รอ 4 ปี แต่จะมีกลไกที่กำกับ ถอดถอน และตรวจสอบผู้ว่าฯ หรือ ส.ส. ที่เราเลือกเข้าไปอย่างไร
กลไกการเลือกตั้ง กลไกรัฐธรรมนูญ กลไกประชาธิปไตย จะต้องพูดถึงสิทธิในการเลือกและถอดถอน และสิทธิในการติดตามตรวจสอบด้วย ไม่ใช่ให้โอกาสหรือสิทธิเราในการเลือกเข้าไปเท่านั้น หลังจากนั้นเขาอ้างเรา แต่ไม่คำนึงถึงเสียงเราเลย ดังนั้นการมีสิทธิเสรีภาพในส่วนต่าง ๆ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และถอดถอนคนที่เราเลือกเข้าไปก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องเขียนไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น อยากบอกกับพรรคการเมืองว่า เรายังมุ่งหมายว่าท่านจะให้ความสำคัญในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ไปเป็นรัฐธรรมนูญประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียน
ถามว่าจะเขียนอย่างไร ส.ส.ร. หรือคนที่มาร่าง สิ่งที่สำคัญ เหมือนที่เครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจนให้ความสำคัญก็คือ ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มประเด็น ทุกอาชีพ หรือในมิติชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทุกคนควรจะเข้ามามีส่วนร่วม การจะกำหนดเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ส.ส.ร. ที่จะเปฺ็นตัวแทนในการยกร่าง องค์ประกอบของ ส.ส.ร. จะต้องมีภาตประชาชนส่วนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทั้งประเด็น อาชีพ และชาติพันธุ์ ความหลากหลายต่าง ๆ หรือเพศสภาพ ต้องคำนึงถึงความหลากหลายที่รอบด้านในการเข้ามาเป็นตัวแทนในการเขียน
ที่สำคัญการเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ตัวแทนในการเขียน หรือ ส.ส.ร. แต่กระบวนการที่ได้มาซึ่งเนื้อหา อย่างที่พูดถึงรัฐธรรมนูญคนจน สิ่งที่สำคัญคือ กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเสนอ กำหนด เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ จะสร้างกระบวนการอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็น หรือว่าข้อเสนอในการเขียนร่างรัฐธรรมนูญด้วย ถือเป็นภาคส่วนสำคัญ เพราะประชาชนมีส่วนในการเขียนร่างรัฐธรรมนูญเอง และย้ำว่าประชาชนสามารถเขียนได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ถ้าท่านอยากเห็นว่าประชาชนเสนออย่างไร ไปดูในรัฐธรรมนูญคนจนเป็นตัวอย่าง
000
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญคนจนและเนื้อหาที่ได้มา
000
บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กล่าวว่า ก่อนอื่นพูดถึงที่มาของกฎหมายนิดนึงไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ข้าว พ.ร.บ. ที่ดิน หรือ พ.ร.บ. แรงงาน ไม่เคยถูกเขียนโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงาน พ.ร.บ. ข้าวไม่ถูกเขียนโดยชาวนา พ.ร.บ. ที่ดินไม่เคยถูกเขียนโดยเกษตรกร และ พ.ร.บ. ภาษีไม่เคยถูกเขียนโดยผู้เสียภาษี รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยไม่เคยถูกเขียนโดยรัฐบาลทหาร นี่คือสิ่งที่มันสะท้อนภาพความเป็นจริงที่เราได้เห็นวังวนมันมาตั้งแต่ก่อนปี 2540 ถึงยุคปี 2540
เรามีรัฐธรรมนูญที่หลายคนบอกว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ในขณะเดียวกันคุณอุทัยก็สะท้อนว่ามันมีจุดอ่อน ของมัน ท้ายที่สุดแล้วก็มีการเกณฑ์คนเข้ามา เพื่อที่จะโหวตเอาส่วนใดส่วนหนึ่ง ในขณะเดียวกันการออกไปรับฟังความคิดเห็นของรัฐธรรมนูญ 2540 การรับฟังความคิดเห็นในส่วนที่มาของ ส.ส.ร. จำนวน 100 คน จะแบ่งเป็นสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้งและแบ่งโควตา
ส่วนของการเลือกตั้งอาจแบ่งเป็น ระดับจังหวัด เป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดเข้ามา แต่ในขณะเดียวกัน การรวมกับความคิดเห็นประชาชน แล้วก็ส่วนต่าง ๆ หลังจากที่รับฟังก็เอาชุดรับฟังความคิดเห็นมาโยนให้กับนักวิชาการ นักกฎหมาย เพื่อให้นำไปเขียนเป็นกฎหมาย หลายข้อจึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนได้ เพราะว่าเวลาจะไปอธิบายที่มาของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา ว่ามาจากอะไร มาจากความเดือดร้อนอย่างที่คุณสุภาพร พูดถึงเมื่อสักครู่ ยังคงเป็นวังวนอยู่แบบนี้
ในส่วนของสมัชชาคนจน สมัชชาพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และเครือข่าย 69 องค์กรในการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ จริง ๆ แล้ว เรามีแนวคิดมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 และอย่างที่หลายท่านได้ประกาศจุดยืนว่าจะไม่เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐประหารเด็ดขาด ซึ่งหลังจากการเลือกตั้ง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนมามีการเลือกตั้ง เราก็เห็นว่า ขบวนการในการบังคับใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านนั้นมามีปัญหา จำเป็นต้องที่จะรับการแก้ไขหรือการเขียนใหม่ เราเคยตั้งความหวังไว้กับนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งทั้งหลาย เราเคยจัดเวทีพรรคการเมืองฟังเสียงคนจนหลังการเลือกตั้งปี 2562 ทุกภาค จัดทั้งหมด 7 เวที มีพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 13 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมฟังความคิดเห็นปัญหาของพี่น้องเครือข่าย
สุดท้าย 4 ปีผ่านไป ปัญหานั้นยังคงอยู่ ขณะเดียวกันเองวันนี้หลาย ๆ พรรคการเมืองมีการชูประเด็น เพื่อที่จะเสนอนโยบายมากมายมหาศาล เหมือนกับว่าถ้าเลือกตั้งเสร็จแล้วคนไทยจะหายจน ท้ายที่สุดแล้วมันก็เป็นปัญหาอยู่ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญยังไงให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม แล้วก็จะออกแบบ ส.ส.ร. อย่างไร ครั้งที่แล้วเราก็เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง แล้วว่า ส.ส.ร. ที่มาจัดการเลือกตั้งและการแต่งตั้งมีปัญหาอย่างไร
เราควรที่จะออกแบบ ส.ส.ร. เราอาจใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งไหม หรือใช้จังหวัดเป็นเขต หรืออาจตั้งจำนวนในส่วนของ ส.ส.ร. มาจากการเลือกเลือกตั้งตัวแทนของทุกจังหวัด ในขณะเดียวกันเราจะต้องมีตัวแทนจากกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ มาร่วมด้วยหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่จะต้องมาทบทวนและมาดูว่าจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร
พี่น้องแรงงาน พี่น้องที่เป็นกรรมกรในโรงงานไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน ไม่เคยมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญ พี่น้องแรงงานในระบบ นอกระบบมากว่า 34 ล้านคนไม่เคยมีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมายแรงงาน และไม่เคยเขียนรัฐธรรมนูญไทย ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่อยากสะท้อนให้เห็นว่า เราควรที่จะกำหนดสัดส่วนอย่างไรที่แต่ละภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเถียงกันให้สะเด็ดน้ำไปเลย อาจจะใช้เวลามากกว่าปี 2540
ท้ายที่สุดเราก็จะเห็นที่มา ความต้องการของประชาชน แต่ละส่วน แต่องค์กรว่ามีความเห็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราเองในส่วนของขบวนแรงงาน ซึ่งมีความหลากหลาย จากที่ได้ไปรับฟังความคิดเห็นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาของพี่น้อง แตกต่างออกไปกับพี่น้องที่มาทำงานในกรุงเทพ ในขณะเดียวกันพี่น้องที่ทำงานในอุตสาหกรรมีปัญหาในเรื่องการจ้างงานที่ไม่มั่นคงหรือการจ้าง Sub Contact มันมีปัญหาในทุกรูปแบบทุกภาคส่วน
ฉะนั้นการที่ไปจัดเวทีในพื้นที่ต่าง ๆ เราพยายามเอาทุกภาคส่วนมาร่วมไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนบน ภาคใต้ สามจังหวัดชายแดนใต้ และภาคกลาง เราไปฟังมาทุกภาคและเรามีตัวแทนเกือบทุกสาขาอาชีพเข้ามาร่วมระดมความคิดเห็นมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้ประเด็นที่พี่น้องทุกสาขาอาชีพทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญและกำหนดรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไขปัญหาของคนทุกอาชีพได้หรือว่าของคนชนเผ่าได้
แต่ว่าในรัฐธรรมนูญคนจนที่ผ่านมาที่ร่วมทำมาประมาณ 3 ปีกว่า มันสะท้อนความรู้สึกของชาวบ้าน สะท้อนความต้องการของชาวบ้าน ที่นี้ก็อยู่ที่นักเลือกตั้ง และพรรคการเมืองต่าง ๆ เราจะทำอย่างไร ให้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะนำไปสู่การลงประชามติ เพราะว่าถ้าเกิดเราบอกว่าจะไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลย จะนำไปสู่สถานการณ์ล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ดังนั้นวันนี้ถ้าทุกพรรคการเมืองที่มา ในนโยบายของท่านควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะแก้แค่ไหน อย่างไรแล้วแต่
แต่เบื้องต้นต้องแก้ เพื่อที่จะนำไปสู่การลงประชามติก่อน และจะได้นำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ให้มีการร่าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใครจะเลือกแก้เฉพาะมาตรา หรือทั้งฉบับก็แก้กันไป อย่างน้อยต้องมีการทำให้ประชาชนทั่วไปได้ลงมติว่าควรที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจากที่เราลงไปฟังความคิดเห็นจากทุกจังหวัดหรือภูมิภาคทุกคนมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหา จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ต้องได้รับร่างใหม่
ฝากผู้ที่จะเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่จะถึงถึงนี้ ฝากไปเป็นแนวคิดกับพรรคการเมืองแต่ละพรรคด้วยว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องได้อย่างไร
000
คนรุ่นใหม่กับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
000
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่ กล่าวว่า ต้องตอบก่อนว่า ทำไมเราถึงอดทนกับรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ อย่างแรกทุกคนน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มาจากเราเลย มาจากผลพวงคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่อยู่ ๆ ก็ยึดอำนาจประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญเข้ามาแล้วมาสถาปนาอำนาจตัวเอง
ทีนี้รัฐธรรมนูญ 2560 มีจุดฉะงักหลายอย่างมากที่ทำให้ประเทศเราไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ทำให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ปัญหาอย่างหนึ่งที่มันอยู่ในนั้นคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรืออย่าง การกำหนด ให้มี ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากประชาชนอีกเหมือนกัน และให้อำนาจเขาเยอะแยะมากมาย
รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ล็อคหลายชั้น มีอำนาจที่ว่าด้วยเรื่องของ ส.ว. 250 คน มีอำนาจที่ว่าด้วยเรื่องของการกำหนดว่าดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการกำหนดเรื่องของสิทธิเสรีภาพ แต่มีห้อยพ่วงด้วยคำว่า “แต่” ในหมวดสิทธิเสรีภาพยังมีคำว่า “แต่” ไม่เข้าใจว่าจะกำหนดแบบนั้นได้อย่างไรในรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน แต่มี คำว่า แต่ว่าถ้าไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง เลยให้ตีความต่อว่า ความมั่นคงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไร? ไม่ใช่ประชาชนอย่างพวกเราหรอ
เรื่องสำคัญพวกนี้เป็นส่วนที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ 2563 เห็นชัดแล้วว่า ถ้าเรายังทนอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เรามีแต่จะจนลง เรามีแต่จะถูกพวกนายทุน พวกกลุ่มที่นิยมอำนาจเข้ามาช่วงชิงและดูดกินเลือดเนื้อของพวกเราไปในแต่ละวัน และพี่น้องประชาชนไม่มีที่ดินจะอยู่ ไม่มีที่ดินจะทำมาหากิน
ทีนี้มีจุดพิสูจน์ก่อนหน้าที่จะได้รัฐธรรมนูญอีกว่า ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเลยตั้งแต่การร่างจนถึงคนกลาง มันไม่ได้เกิดมาเพื่อประชาชนเลย? ตั้งแต่ช่วงของการทำประชามติในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อมีการร่างเสร็จแล้วก็ต้องมีการทำประชามติ ถามพี่น้องประชาชนว่าจะเอาไหมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ชอบกันหรือเปล่า อยากได้มันหรือเปล่า
ช่วงนั้นจะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งและค่อนข้างแพร่หลาย ออกมารณรงค์ให้ Vote No เพื่อที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หลายคนรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่ากระบวนการสร้างไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนเลย และเนื้อหาที่อยู่ในนั้นถ้าหากมันผ่านไป มันจะเป็นการติดล็อคไม่ให้เรามีสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรหลายส่วนมากหรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่ได้เปิดโอกาสให้กับเราในการกำหนดชีวิตของตัวเอง
กลายเป็นว่าช่วงที่เกิดการทำประชามติในช่วงนั้นมีพี่น้องประชาชนออกมารณรงค์ให้โหวตโน แต่โดนดำเนินคดีโดยรัฐบาล คสช. หรือรัฐบาลที่มีนายกชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ดี ในยุคนั้น โดนไปอย่างน้อย 197 คน มันพิสูจน์ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ได้ก่อร่างสร้างตัวมา เพื่อประชาชน ไม่ได้ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยการเคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน มันเกิดขึ้นมาจากการปิดปากประชาชน จับคนเข้าค่าย จากการทำร้ายพี่น้องที่ออกมายืนหยัดต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นเราจะทนอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าหลายคนคงเห็นตรงกันว่า ไม่ได้
เมื่อตอน 2563 เรามีการเคลื่อนอยู่หลายครั้งที่กดดันพยายามอยากจะให้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะเรื่องของอำนาจ ส.ว. 250 คน ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นคณะประชาชนปลดแอก เรามีข้อเสนอที่อยากจะให้แก้หน้าตา 269 ถึงมาตรา 272 ที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจ ส.ว. 250 คน ที่ยกมือโหวตเลือกนายกได้มีอำนาจในการแนะนำองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีความอิสระเท่าไหร่
กฎหมายข้อบัญญัติเหล่านี้มาตรา 269 – 272 เราเคยมีการเสนอว่าให้มีการแก้ไขเพื่อโล๊ะกฎหมายตัวนี้ออกไป มันอยู่ในบทเฉพาะกาลเพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นต้องทำประชามติก็ได้ รัฐสภาในขณะนั้นที่ได้รับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2562 สามารถที่จะทำได้ แต่ไม่เกิดกระบวนการพิจารณา เพราะไม่รู้ว่าเพราะอะไร เพราะสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเขา หรือว่าเขาอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการเอากฎหมายพวกนี้ออก หรือไม่อยากงัดข้อสู้กับ ส.ว. ที่มาจากรัฐประหาร
นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ติดใจเรามาตลอดจนสุดท้ายรัฐสภาล่วงเลยมาจนครบอายุ ครบวาระ 4 ปี ต่อมาเราได้มีการพูดกันเยอะมาก ในเรื่องของมาตรา 256 ที่ ส.ว. 250 คน มีอำนาจในการจะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะแก้ไขได้หรือไม่ เป็นกำแพงใหญ่มาก ใหญ่จนทำให้เราเกิดความรังเกียจไปเลยใน ส.ว. 250 คน ในมุมหนึ่งเขาถูกคัดเลือกมาบางคนอาจมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตทางหน้าที่การงานในชีวิต ก็เข้ามาอยู่ดีกว่า แต่ว่า 4 ปีที่ผ่านมาคุณไม่ทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชนเลย แล้วคุณคุมอำนาจที่จะเป็นการแก้ไขส่วนสำคัญของประเทศไว้แบบนี้ โดยที่ไม่เคยฟังเสียงประชาชนเลย มันก็เลยทำให้เราคอยรังเกียจพวกเขาไปด้วย
มาตรา 256 บอกว่า ส.ว. ต้องยกมือยินยอม 1 ใน 3 ก็คือ 84 เสียงให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แค่ 84 คนเขายังไม่ทำเลย มี ส.ว. ทั้งหมด 250 คน 84 คนยังไม่ยินยอมที่จะมองเห็นความทุกข์ร้อนของประชาชน หรือมองเห็นจุดที่ประชาชนเรียกร้องในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นโดยปริยายหมดวาระ 4 ปี คนยิ่งเกลียด ส.ว. มากไปกว่าเดิม ปัญหาอีกอย่างคือ ส.ว. 250 คนนี้มีอายุอีก 1 ปี มีวาระ 5 ปี สภามีอายุ 4 ปี ส.ว. มีอำนาจเกินมาอีก 1 ปีเท่ากับว่าการเลือกตั้งเสร็จไปแล้ว แต่เราก็ยังติดล็อค ส.ว. 250 คนเพื่อยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีความพยายามที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ ไม่มีใครสนใจ ส.ว. รัฐสภาก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ มีเพียงแค่บางพรรคที่สนใจ
มีความพยายามร่างแล้วยื่นจาก iLaw สองครั้ง รวบรวมรายชื่อได้เป็นแสนคน รอบแรก 1 แสนกว่า รอบที่สอง 2 แสนกว่าคน พอเข้าไปในรัฐสภาก็ตีตก ตีตกอย่างไร้เยื่อใยกับความพยามยามที่ไปหารายชื่อมาเป็นแสนคน หลังจากนั้นเอาใหม่ เมื่อเอาทั้งฉบับไม่ได้ก็มีการยื่นแก้ไขเพียงแค่มาตราเดียว คือ มาตรา 272 ไม่ให้ ส.ว. โหวตเลือกนายก เขายังไม่ให้ผ่าน จะกลัว 250 คนอะไรขนาดนั้น
ในวาระที่จะมีการเลือกตั้ง เราจะอยากคาดหวังกับรัฐบาลใหม่ ว่าคงต้องแก้ได้หมดแล้ว เพราะไม่งั้นก็เกินกว่าที่เราจะยอมรับมันไหวจริง ๆ กับวิธีการการทำงานของรัฐสภาแบบ 4 ปีที่ผ่านมาแบบนี้ เราไม่อยากถูกมองว่าเป็นเพียงแค่มดงาน เราไม่อยากถูกมองว่าเป็นแค่ 1 ในฟันเฟืองที่ทำให้พวกเขาเอาเงินโกยเข้ากระเป๋า เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น มนุษย์ทุกคนมีชีวิต มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เป็นมุนษย์เท่าเทียมกัน คนที่อยู่ตรงนี้อยู่ในรัฐสภามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นแล้วมันไม่ถูกต้องเลยที่คนเป็นตัวแทนอยู่ในนั้นจะมาทำตัวอยู่ว่ามีอำนาจกำหนดทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในประเทศมันผิดหลักการไปหมด
ในส่วนนี้ถ้าพูดไปถึงแนวทางในการสร้างร่างอย่างไรเพื่อให้มันแฟร์ได้ที่สุดได้บ้าง มายด์คิดว่าอย่างแรก ต้องเริ่มที่บทบาททางการเมืองวัฒนธรรมเรื่องบทบาททางการเมือง เมื่อก่อนนักการเมืองจะชอบหาเสียงกับเราว่าไว้ใจเขาเถอะ ผมเข้าไปผมจะทำให้เอง ผมเคยทำให้เห็นแล้ว ผมเคยเอาของมาแจกจ่าย ผมเคยมาพ่นยุงให้ ผมเคยทำนั่นทำนี่ให้ เชื่อมั่นในตัวผมเถอะ เดี๋ยวผมจะไปตัวแทนของพวกคุณ และผมจะไปทำให้เองอยู่กับผมอะดีแน่นอน
มันคือการเชื่อมั่นในตัวบุคคล มันคือการฝากความหวังทั้งหมดในการใช้ชีวิตดำเนินชีวิตของเราไว้กับตัวนักการเมือง มายด์คิดว่าหลังจากนี้หลังจากนี้ควรเปลี่ยนใหม่ เอาใหม่ คิดก่อนอันดับแรกคนที่อยู่ในรัฐสภามีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเราหรือไม่? แล้วคนที่อยู่ในรัฐสภาจริงๆ แล้วเขามีหน้าที่ในการทำงานเพื่อเราใช่ไหม?
ดังนั้นแทนที่เราจะมองว่า เราจะฝากความหวังไว้ให้กับคนพวกนั้น เราเปลี่ยนใหม่เป็นว่า ถ้าหากเรารู้สึกทุกข์ร้อนหรือเดือดร้อนอะไรเราแสดงมันออกมาแล้วเราไปสั่งคนพวกนั้นอย่างนั้นถูกต้องกว่าไหม? คนที่จะเข้ามาอยู่ในรัฐสภา ช่วงที่ทำเป็นเผด็จการครอบงำประเทศไทยแบบนี้ เขาอาจหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นผู้แทนของราษฎร หมายความว่าเขาต้องทำทุกอย่างตลอดระยะเวลา 4 ปีที่มีวาระนั้นในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นลำดับแรก ไม่ใช่ความมั่นคงในอาชีพของตัวเอง
เมื่อนักการเมืองเข้าไปอยู่ในรัฐสภา หมายความว่า นักการเมืองต้องอุทิศตนเพื่อการทำงาน เพื่อพี่น้องประชาชน เพราะเราเป็นคนเลือกเขาเข้าไปเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องช่วยกันกระจายการทำงานทางความคิดตรงนี้คือเราไม่ต้องกลัวคนที่ใส่สูทอยู่ในสภาหรอก เราจงเชื่อมั่นในอำนาจของเรา อำนาจในความเป็นพลเมือง อำนาจในความเป็นประชาชนคนที่จ่ายภาษีทุกบาททุกสตางค์ ทำงานทุกอย่างแล้วจ่ายภาษีให้รัฐ เชื่อมั่นในอำนาจของตัวเองก่อน และเชื่อให้ได้ว่าเราสามารถสั่งคนพวกนั้นที่อยู่ในสภาได้ เราสามารถบอกพวกเขาให้ได้ด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นจะต้องทำอะไรเพื่อเราบ้างอย่างเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่เป็นอันดับแรกและมันจะต้องทำเมื่อรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น
000
มีแค่นโยบายดี ๆ ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่
000
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ย้ำชัดว่า “ไม่ได้” นโยบาย ก็คือนโยบายเท่านั้น นโยบายคือส่วนแก้ปัญหาเฉพาะด้านยิบย่อย เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิแรงงาน แต่รัฐธรรมนูญมันคือหัวใจสำคัญในการกำหนดว่าใครมีอำนาจอะไร ทำอย่างไรบ้างในประเทศนี้ เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีอำนาจในการที่จะทักท้วง ท้วงติง และเป็นคนกำหนดชีวิตของตัวเองและการจัดสรรอำนาจที่จะอยู่ในรัฐสภาด้วย
000
เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำได้อย่างไร
000
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ วางกลไกไว้ไม่ให้แก้ไข ต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญ 2534 แต่แค่อัพเกรดขึ้นมา เขาแก้ความล้มเหลวของฉบับ 2534 ที่ทำให้พลเอกสุจินดา คราประยูร เข้าไปอยู่ในอำนาจได้ 47 วัน ถือว่าล้มเหลว
ตอนนั้น รสช. ยึดอำนาจ เดือนกุมภาพันธ์ 2534 พลเอกสุจินดา เป็นนายก 7 เมษายน 2535 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2535 ต้องลาออก เมื่ออาจารย์มีชัยมาร่างรัฐมนูญอีกครั้ง ก็มีการอัพเกรดรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ซึ่งหลังจากที่พลเอกสุจินดา ลาออกได้ 2 วัน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที 4 มาตรา เรื่องแรกคือ นายกต้องเป็น ส.ส. เพื่อที่จะบอกกับผู้นำเหล่าทัพ ว่าถ้าจะมาเล่นการเมือง ท่านต้องออกจากกองทัพ มาเทียบเท่ากับประชาชนเสียก่อน เหมือนกับถ้าเป็นเจ้าอาวาสก็ต้องบวชก่อน
พอปี 2538 ก็เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปถูกยกเลิกหมด และใช้ถ้อยความเหล่านี้แทน ถึงปี 2539 เกิดการแก้ไขอีกครั้ง แต่แก้ไขแค่มาตราเดียว คือ มาตรา 211 ที่เป็นมาตราการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขให้มี ส.ส.ร. จึงเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมา อาจารย์มีชัยในฐานะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 เห็นว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง จึงวางกลไกห้ามแก้ ด้วยการบอกว่าให้ ส.ว. 1 ใน 3 ต้องเห็นชอบด้วย ซึ่ง 1 ใน 3 ไม่มาก แต่หนึ่งในสามนั้นดันมาจาก คสช.ทั้งหมด
ที่ผ่านมา ส.ว. ต้องเห็นชอบ 84 คนมันไม่เคยถึง ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ก็คต่อเมื่อสวชุดนี้หมดวาระ ในวันที่ 11 พฤษภาคม ปีหน้า แต่จากวันนี้จะถึงปีหน้ายังคงต้องทนอยู่ และอำนาจที่เราทนกันไม่ได้ ก็คือการที่ ส.ว. จะมาเลือกนายกด้วย เสียงข้างมากถ้าเกิดเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลเอกประวิทย์ คุณเศรษฐา คุณพิธา หรือจะเป็นใครก็แล้วแต่มันไม่มีปัญหา เพราะประชนมีสิทธิ์เท่ากันรัฐธรรมนูญก็มาจากหีบบัตรเลือกตั้งที่เรามีปัญหาก็คือ ส.ว. ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประชาชนแต่ดันจะมาเลือกนายกด้วย มันเคยเกิดมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน และกำลังจะเกิดอีก ดังนั้นเราต้องไม่ให้มันเกิด
ย้อนกลับไปที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2534 อัพเกรด ตอนนั้นเขาพยายามวางกลไกสืบทอดอำนาจ เรื่องแรกคือให้ส.ว. เลือกนายกได้ แต่ถูกนิสิตนักศึกษาประท้วง จนอาจารย์วิชัยเอาออกก็เลยผ่านได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในร่างแรก ส.ว. จึงเลือกนายกไม่ได้ แล้วค่อยมีการแปะเพิ่มมาตอนหลัง อันนี้เป็นเทคนิคที่เขาเรียนรู้ในรัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มี กกต. ก็ยังไม่มา ป.ป.ช. ก็ยังไม่มี ส.ว. ก็เลือกนายกไม่ได้ แต่ปัจจุบันมาแบบจัดเต็ม ส.ว. เลือกนายก องค์กรอิสระ 3 ดุล ก็มาจากการเห้นชอบของ ส.ว. อันนี้จึงทำให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกมาถึงปีที่ 9
ถ้าหากท่านมาตามรัฐธรรมนูญตามปี 2562 ตามเสียงของประชาชนไม่มีปัญหา เราไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล เราพูดตามหลักการ เพราะต้องถามว่าไม่มีตรงนี้พลเอกประยุทธ์จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร เพราะท่านมี ส.ส. อยู่แค่ 116 เสียง จะเป็นนายกได้อย่างไร แต่ที่เป็นได้ก็เพราะ ส.ว. ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ที่ ส.ว. จะมาโหวตเลือกนายกกับ ส.ส.
รัฐธรรมนูญปี 2534 ไม่ได้สืบทอดอำนาจอะไรมากมาย แต่เรายังทนไม่ได้ตอนนั้น ก็ต้องร่างใหม่ แล้วฉบับนี้แย่กว่าเยอะ เราจะทนได้อย่างไร ทนไม่ได้ก็ต้องมาว่ากันใหม่อีกที แต่คำถามคือแล้วจะร่างใหม่กันอย่างไร เรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับแล้ว ถ้าจะมีไปเรื่อย ๆ อีกก็คงไม่ไหว แต่ถ้าตั้งใจว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วใช้โอกาสที่กระแสประชาธิปไตยกลับมาทางฝั่งประชาธิปไตยอีกครั้ง ก็คือการเมืองวนกลับมาหาทางความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอีกครั้ง เมื่อ 9 ปีก่อนถ้าเราไม่ทำกันขนาดไปปิดล้อมโดยเลือกตั้งถ้าเราปกครองตัวเองกันเป็นเล่นกันตามกฎกติกา พลเอกประยุทธ์ก็มายึดอำนาจไม่ได้
ดังนั้นการที่กระแสของประชาธิปไตยวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งใช้โอกาสนี้ในการสร้างประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้หมุนกลับไปหา การล้มล้างรัฐธรรมนูญและระบอบเผด็จการอีก เรียกง่ายว่าการสลับกันระหว่างการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และการเมืองที่มาจากการปฏิวัติจะต้องข้ามพ้น ประสบการเมืองที่อยู่ตามป้ายข้างหลังที่บอกว่า จนสิทธิ จนอำนาจ จนโอกาส และถูกทำให้จน ที่เราจนไม่ได้เป็นเพราะเราอยากจนแต่จนเพราะเราขาดโอกาสต่างหาก
ถามว่ารัฐธรรมนูญเกี่ยวอะไรกับเรา รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิเลือกตั้งเกี่ยวกับปากท้องของเราอย่างไร อันนี้เป็นปัญหา เพราะเราไม่เคยทำให้รัฐธรรมนูญมาถึงปากท้องได้ เราชอบคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิทธิเลือกตั้ง สิทธิชุมชน สิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งถูกต้องทั้งหมด ลองมองย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เราจะมี พ.ร.บ.ป่าไม้หรือ พ.ร.บ.อุทยาน ป่าไม้หรือที่ทั้งหลายในป่าคือซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน เราสามารถเข้าไปหาอาหารได้ ก่อนที่เราจะมีประตูน้ำมาปิดอยู่ทุกคลองที่ลงแม่น้ำ แล้วก็นั่งเรือหาปลาออกมาที่แม่น้ำได้ แต่ตอนนี้คลองต่าง ๆ รวมถึงแม่น้ำปิดหมด ชาวบ้านทำอย่างไรในเมื่อแม่น้ำไม่มีปลาและริมน้ำกลายเป็นปูน ไม่มีผักให้เราเก็บกิน พอเราจะเข้าไปเก็บในป่าก็กลายเป็นบุกรุกป่า สุดท้ายก็ต้องเข้าโรงงาน เพื่อเอาเงินมาซื้อของในร้านสะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ตของนายทุน
ระบบทุนนิยม คือ การให้เสรีภาพทางการแข่งขัน แต่ข้อสำคัญคือ เราต้องคิดเรื่องของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ผมเสนอหลักการสำคัญข้อหนึ่งที่เราต้องเริ่มต้นใส่ลงไปในรัฐธรรมนูญคือเรื่องของการที่ประชาชนหรือแรงงานต้องส่งเสริมกิจการที่แรงงานเป็นเจ้าของ โรงงานที่คนงานเป็นเจ้าของ เราต้องส่งเสริมตรงนี้ให้มากขึ้น หรืออย่างต่ำในโรงงานกรรมการบริษัทต้องมีตัวแทนคนงาน ในมิติต่าง ๆ ที่ย่อยลงไปอย่าคิดแค่ อบต. หรือเทศบาล แต่ต้องลงไปถึงป่าชุมชนหรือป่าชายเลนชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านบริหารจัดการแม่น้ำทรัพยากร แล้วก็มีการบริหารจัดการโดยที่ อบต. และท้องถิ่นร่วมมือกัน เราต้องการรัฐธรรมนูญแบบนี้ซึ่งมันไม่มีทางเกิด ด้วยการมาแก้ทีละมาตรา และที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยาว 40,000 คำ ถามว่ามีใครเคยเปิดดูไหม หลายคนอาจจะเคยเปิดดูแต่ว่ามันยาวเกินไป รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่ควรเกิน 10,000 คำ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาจัดทำกันใหม่ และแน่นอนว่าเราต้องการรัฐบาล ที่มาจากหีบบัตรเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งแบบไหนที่เป็นธรรมที่สุด ผมขอเรียนนักการเมืองว่าสิ่งหนึ่งที่เรายังขาดไป คือ
1. การตั้งรัฐบาลของเราในระบบรัฐสภา ต้องรวมไปด้วยเสียงข้างมาก การรวมเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาต่อรองกันแค่เก้าอี้รัฐมนตรี จากนี้ไปต้องมาเจรจาต่อรองกันเรื่องนโยบาย ที่ทุกพรรคหาเสียงไว้ ต้องมาทำให้เป็นนโยบายรับผิดชอบร่วมกัน ข้อไหนเหมือนกันก็เดินหน้าต่อ ข้อไหนต่างก็มาทำให้ตรงกัน และจะมาอ้างว่าเราเป็นพรรคร่วม เป็นเสียงข้างน้อยไม่ได้อีกต่อไป ทุกพรรคจะได้รับผิดชอบต่อประชาชนโดยไม่มีเหตุผลว่าเสียงไม่ถึงอีกต่อไป
2. นโยบายพรรคจะต้องจัดทำเป็นงบประมาณแผ่นดิน ทุกวันนี้ส.ส.ทำได้ค่าตัดงบประมาณ ตัดงบแล้วงบที่ตัดไปอยู่ตรงกลาง ซึ่งตรงกลางรัฐบาลนำไปใช้ ทีนี้ต้องเปลี่ยนใหม่ ต้นปีจะต้องมาทำกรอบงบประมาณก่อน เงิน 34 ล้านล้านบาทควรจัดสรรอย่างไร และให้สำนักงบประมาณไปจัดทำมา และส่งมาให้ทางสภาพิจารณาอีกที ตรงนี้ไม่เคยเกิดขึ้น รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่ไปหาเสียงมาไม่เคยสามารถเอาสิ่งที่หาเสียงมาทำเป็นงบประมาณแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตรงนี้ขาดไปในส่วนของรัฐธรรมนูญ
เรามี ส.ส.ร. มาแล้ว 2 ครั้ง ตอนปี 2491 แล้วกลายมาเป็น 2492 กับ 253 กลายเป็น 2540 เราเคยทำมาแล้ว 2 ครั้งทำอีกสักครั้งให้เป็นครั้งสุดท้ายให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องของโอกาสทางการเมืองและโอกาสทางทรัพยากร เราจะไม่จนสิทธิ จนอำนาจ จนโอกาสอีกต่อไป
000
บทบาทของ ส.ส.ร. ควรเป็นแบบไหน
000
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า ส.ส.ร. ที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน ตัวที่มาของผู้ร่างต้องมีความชอบธรรมจากประชาชนและต้องสมดุล เปรียบเทียบว่า ถ้าเราจะสร้างบ้านขนาดใหญ่ให้คน 66 ล้านคนอยู่ เราต้องการสถาปนิกและวิศวะเก่ง ๆ แต่สถาปนิกและวิศวะจะมาคิดแทนประชาชนแบบที่ผ่านมาไม่ได้ แต่ควรต้องสร้างบ้านและให้เจ้าของบ้านเลือก ต้องออกแบบ ส.ส.ร. แบบนั้น ให้ประชาชนเลือก
และวิธีการเลือกหรือการลงประชามติต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง ไม่ใช่ทำตอนจบ และตอนเริ่ม แต่ตอนกลางเนื้อหาต้องทำด้วย เช่น ประเทศไทยจะให้มีวุฒิสภาต่อไปไหม หรือจะมีสภาเดียวไปเลย อันนี้สามารถทำประชามติได้ เราสามารถทำได้มากกว่า 1 คำถาม และเอาสิ่งที่เป็นคำตอบของประชาชนมาทำรัฐธรรมนูญเรื่องนี้มีละเอียดที่ยังคงต้องพูดคุยกันต่อไป แต่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นรัฐมนูสืบทอดอำนาจ แย่กว่ารัฐธรรมนูญ 2534 แต่โอกาสของการแก้ไขจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ส.ว. ชุดนี้หมดวาระ ก็คือพฤษภาคม 2567 แต่อย่าเพิ่งรอให้หมดเวลาแล้วค่อยพูด เราต้องบอกตั้งแต่ตอนนี้ว่าเขาต้องเคารพในเสียงของประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่หลังเลือกตั้ง
ผมเสนอนักการเมืองว่าหลังจากเลือกตั้งแล้วเรามาตั้งวงคุยกัน อาจจะเป็นกรรมาธิการที่ประชาชนมีส่วนร่วมชวนมาคุยว่ากลไกให้ประชาชนมีสิทธิในทรัพยากรที่จับต้องได้อย่างแท้จริงคืออะไรที่จะใส่ในรัฐธรรมนูญการป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดมากเกินไปต้องป้องกัน และประชาชนจะมีส่วนร่วมในทรัพยากรมากขึ้นอย่างจับต้องได้คืออะไร ก็ต้องส่งเสริมพวกป่าชุมชน ป่าชายเลนชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกลไกประเภทโรงงานที่มีสัดส่วนของคนงานเป็นกรรมการ ส่งเสริมบริษัทที่คนงานเป็นเจ้าของมากขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่เป็นแค่สหกรณ์ออมทรัพย์ อย่างเช่นทีมฟุตบอลบาร์เซโลน่าบาซ่า เป็นกิจการที่แฟนบอลเป็นเจ้าของไม่ใช่นายทุน นี่คือสิ่งที่เราควรจะส่งเสริมให้มาก ๆจะทำให้ประชาธิปไตยกระจายมาถึงโอกาสในทรัพยากรที่กระจายตัวไปอย่างมากที่สุด เรื่องนี้ควรมาตั้งวงคุยกันว่าจะทำอย่างไร
000
สิ่งที่พรรคการเมือง หรือประชาชนต้องทำหลังจากนี้
000
สุภาภรณ์ มาลัยลอย มองว่า นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเน้นเรื่องปากท้อง และรัฐธรรมนูญยังอยู่ ส่วนสำคัญที่ตัวเองทำ ก็คือการกระจายอำนาจ การจัดการทรัพยากรเป็นไปไม่ได้เลย ปัจจุบันแผนแม่บท และการบริการจัดการแร่ที่มาจากยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดพื้นที่พี่น้องให้เป็นแหล่ง เพื่อที่จำขออนุญาตทำเหมืองแร่ได้ โดยไม่ได้ฟังเสียงประชาชน และไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน
ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่เราต้องการ คือการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรไปถึงประชาชน เพราะฉะนั้นนโยบายการจัดการทรัพยากรจะเป็นไปไม่ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ยังอยู่ อีกส่วนขอยกตัวอย่าง BCG เขียวที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังพูดถึงว่า BCG ประเทศไทยเขียวบนพื้นฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดให้ประชาชนต้องออกจากพื้นที่ป่า และเอาพื้นที่ไปปลูกป่า ไม่ใช่เขียวที่แท้จริง
นโยบายเหล่านี้ที่สืบทอดและมาจากยุทธศาสตร์ชาติยังอยู่ ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องถูกแก้ไขและเขียนใหม่ ในเรื่องสิทธิการพัฒนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มี และตัดออกไปคือเรื่องของสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนทุกคน เราอยู่ภายใต้ฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยไม่มีมาตรการจัดการ เราพยายามพยายามหาผักที่ปลอดสารพิษ แต่ผักที่ปลอดสารพิษยังกระจายอยู่ทั่วเมืองและเราต้องกินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเรากินสารพิษ เพราะทางเลือกมีน้อย เราทำมาหากินในที่ดินที่ปรนเปื้อนมลพิษและไม่ถูกจัดการ แต่พี่น้องประชาชนไม่มีทางเลือก เพราะการจัดการมลพิษมีต้นทุนสูง แต่มาตราการการป้องกันของเรา การลดทอนทางกฎหมายตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา คำสั่งที่ทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าแต่มาตรการเชิงป้องกันและแก้ไข ไม่มีการรับรองหรือผลักดันกฎหมาย
กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายด้านมาตราป้องกัน ถุกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรีมองแค่ว่า เป็นกฎหมายทางการเงิน สิ่งเหล่านี้มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่วางโครงสร้างในการรวบอำนาจที่รัฐบาลและไม่กระจายอำนาจสู่ประชาชน ดังนั้นประชาชนนอกเหนือจากไปเลือกตั้งวันที่ 7 และ 14 พ.ค. ท่านยังมีหน้าที่ในการกำกับนโยบายและผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกันต่อไป
ด้าน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ให้ความเห็นว่า อย่างแรกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่กำหนดถึงอยากให้แต่ละพรรคการเมืองมองเห็นประชาชนเป็นความสำคัญอันดับแรก อย่าไปคิดว่าความคิดของทุกท่าน ทุกคนนั้นจะสามารถทำแล้วเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกคนได้ ท่านต้องถามประชาชนให้มากมองเข้าไปให้เห็นถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนให้มาก นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับแก้ให้กับนโยบายที่พวกตัวเองรับได้ พูดมันออกมาให้มันชัด ๆ ว่าแต่ละนโยบายมันจะมีกลไกในการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากพอในการที่จะเลือกพวกท่านเข้าสภา
ส่วนถัดมาคือวาระของเรื่องรัฐธรรมนูญการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าเป็นวาระเร่งด่วน ที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ฉะนั้นมีความจำเป็นมาก ๆ ที่ท่านจำเป็นต้องกลับไปถามประชาชนว่ารัฐธรรมนูญหลังจากที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา มันได้ทำให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตได้หรือเปล่า มีกินหรือเปล่า ทำให้เขาพยุงชีพกันได้หรือเปล่า ถ้าเขาเห็นตรงกันแล้วว่าเขาไม่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะได้ดำเนินการไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. สภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และการทำประชามติเป็นช่วง ๆ กับเนื้อหาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญสร้างมาแล้ว
นี่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสในการที่จะตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พวกเขาหวังว่าอยากจะได้ เขาจะได้จริงหรือเปล่า อยากให้ทางพรรคการเมืองช่วยตั้งใจในการที่จะทำ เพื่อประชาชนในครั้งนี้จริง ๆ เพราะว่าเราจะไม่อยากให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นเพียงทางผ่านในการชุบตัวของนักการเมืองบางคนที่จะเข้าไปดำเนินการสืบทอดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือสืบทอดในอำนาจของคณะรัฐประหารเราไม่อยากให้เกิดขึ้นแบบนั้น
สิ่งที่สำคัญ คือ เรื่องของการริดรอนสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนตลอดที่มีการรัฐประหารเริ่มต้นที่ผ่านมา รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นตระหนักให้มากถึงกระบวนการทำอย่างไรในการคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาเหล่านั้น เพื่อเป็นตั้งบรรทัดฐานด้วยว่าใครจะมาละเมิดอำนาจประชาชนไม่ได้ และผู้แทนของประชาชนต้องเคารพประชาชนให้มากกว่านี้ นี่เป็นคำสั่งต่อพรรคการเมือง
ถึงพี่น้องประชาชนทุกคน พี่น้องเรามีอำนาจมากพอที่จะสั่งพวกเขาได้ ในเมื่อพวกเขาเสนอตัวมาเป็นผู้แทนเรา เขาเสนอตัวในการจะเข้าไปอยู่ในจุดในจุดที่ควบคุมกลไกประเทศว่าจะไปทิศทางไหน ฉะนั้นมั่นใจในอำนาจของตนเองว่าเราสั่งเขาได้ เราบอกเขาได้ เราสามารถที่จะทักท้วงเขาได้ถ้าหากพวกเขาละเลยไปว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นมันเป็นการทำเพื่ออะไรทำเพื่อพวกเราหรือเปล่า
ถ้าหากเกิดการเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100% อย่าลังเลที่จะสมัครไปเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ พี่น้องทุกคนมีสิทธิ์ในการที่จะเสนอตัวไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปกำหนดชีวิตตัวเอง เพื่อไปกำหนดชีวิตของลูกหลานเรา ของครอบครัวเรา ของคนในชุมชนเรา พี่น้องที่อยู่บนดอยพี่น้องชาติพันธุ์สามารถอยู่กับป่าได้ อย่าให้ใครมาตัดสินพวกท่านพวกท่านมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับมนุษย์ที่อยู่ตรงนี้ทุกคน เท่าเทียมกันกับมนุษย์ที่อยู่ในรัฐสภา ฉะนั้นแล้วเมื่อไหร่ที่มีโอกาสในการช่วงชิงอำนาจกลับมาทำค่ะอย่าไปอิดออก เชื่อมั่นในอำนาจของตัวเองเข้าไว้
ปิดท้ายที่ บุญยืน สุขใหม่ ฝากถึงพรรคการเมืองและประชาชนทุกคนว่า ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เราถูกมองว่าคนไม่เท่ากัน และภายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 มีความขัดแย้งกันตลอด สาเหตุมาจากการที่เรามองว่าคนไม่เท่ากัน คนดีมีสิทธิ์ มีเสียงมากกว่า เราต้องมองว่าคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. รัฐมนตรี ชาวนา หรือกรรมกรในโรงงาน ซึ่งวาระต่อไปหลังจากร่างรัฐธรรมนูญ เราจะเข้ารายชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้ตั้ง ส.ส.ร. ได้ อันนี้ต้องฝากพรรคการเมืองและพี่น้องประชาชนว่าถ้าเราเปิดล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อแล้ว ทุกคนต้องพร้อมที่จะสนับสนุน รวมถึงพรรคการเมืองต้องช่วยผลักดันเรื่องนี้ด้วย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ