เปิดเส้นทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กับความหวังในการล้างมรดกรัฐประหาร ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย

เปิดเส้นทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กับความหวังในการล้างมรดกรัฐประหาร ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลในการใช้อำนาจปิดปากประชาชน จนนำมาสู่นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่อยู่ในนโยบายของพรรคการเมือง

ย้อนดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มรดกจากคสช.

รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับมรดกตกทอดโดยตรงมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารสำเร็จในปี 2557 โดยคนที่ทำงานร่วมกับคณะรัฐประหารมาแล้วหลายครั้งมาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คือ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งจะพบว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบางอย่างที่ซ่อนอยู่ เช่น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช., ศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระ ที่ไม่อิสระ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาประเทศ 

รัฐธรรมนูญที่ไม่สืบทอดอำนาจใคร แต่มีเพื่อประชาชนหน้าตาเป็นอย่างไร

สำหรับประเทศไทยรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าฉบับอื่น ๆ ตั้งแต่ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยการประท้วงการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มาจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 นำมาสู่การชุมนุมประท้วงของประชาชนเพื่อขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 และผ่านการต่อสู้กันอยู่หลายครั้งจนท้ายที่สุด ปี 2538 บรรหาร ศิลปอาชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ขึ้นมา ไปจนถึงการเกิดขึ้นของสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ยังมีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 99 คน ประกอบด้วยประชาชนแต่ละจังหวัดจำนวน 76 คน คนที่มาจากการเลือกตั้ง เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน

รวมถึงการมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 200 คนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งสิ้น จนไปถึงนายกรัฐมนตรีที่ได้มาจากเสียงประชาชนอย่างแท้จริงจากมติของประชาชนที่เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และกระบวนการเลือกนายกที่ต้องมาจากเสียง ส.ส. จาก 500 เสียง ต้องได้เกินกึ่งหนึ่งคือ 251 เสียงเท่านั้น ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 อย่างสิ้นเชิง

ประชามติในรัฐธรรมนูญไทย หนึ่งในกลไกที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

สำหรับรัฐธรรมนูญ การทำประชามติถือเป็นขั้นตอนแรกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งได้โดยการเข้าชื่ออย่างน้อย 50,000 คน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติทำประชามติ การเข้าชื่อโดยประชาชนยังเป็นการมีส่วนร่วมในการ “กำหนดคำถามประชามติ” ว่าจะออกมาอย่างไร เพื่อรับรองว่าสสร. ที่มาจากประชาชนจะมีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ประชาชนสามารถทำได้ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ

ไอลอว์ (ilaw) และภาคีเครือข่ายเป็นกลุ่มภาคประชาชนสังคมที่จัดทำแคมเปญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมล่าสุด เขียนใหม่ทั้งฉบับเลือกตั้ง 100% ชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อเป็นขั้นแรกไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน สลัดทิ้งมรดกคณะรัฐประหารในคราบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอปัญหาทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

ความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวเพื่อความต้องการการเปลี่ยนแปลงของภาคประชาชนถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แคมเปญของไอลอว์และภาคีเครือข่ายได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากการระดมรายชื่อเพื่อเสนอทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรีใหม่ถึง 2 แสนกว่ารายชื่อ

แต่เมื่อความต้องการของประชาชนกลับถูกสกัดกั้นจากเสียงในสภา ด้วยผู้ลงมติไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาก่อนด้วย จำนวนผู้ลงมติ 406 คน เห็นด้วย 143 เสียง ไม่เห็นด้วย 262 เสียง งดออกเสียง 0 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 จึงทำให้วาระดังกล่าวถูกปัดไปอย่างน่าเสียดาย

ภาพจาก iLaw

ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ยิ่งไปกว่านั้นการปัดตกวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะส่งผลให้ต้องรอการรับร่างและวาระเดิมอีกนานแค่ไหน รวมถึงคำพูดของ ชลน่าน ศรีแก้ว ที่กล่าวไว้ว่า

เริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรกให้มีการทำประมติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ ‘เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกประเทศ’ ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 66 

การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ เส้นทางสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

เมื่อ 13 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ และได้มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยให้ยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

ถัดมา 3 ตุลาคม 2566 มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำการทำประชามติ) โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย ออกมาระบุถึงใจความสำคัญถึงหลักการที่คุยกันว่า 

จะมีการทำประชามติก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีข้อยกเว้นคือไม่แตะต้องหมวด 1บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงไม่แตะต้องบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจที่แทรกอยู่ในหมวดอื่น ๆ แต่จะมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายลูก (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) จะเสร็จภายใน 4 ปี ถ้ายาวไปถึงการเลือกตั้งรอบหน้าก็จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ประชาชนเห็นชอบ

คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 34 คน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน และแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 

  • กลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย และยังไม่ปรากฏว่าเปลี่ยนสังกัดไปทำงานหรือเป็นสมาชิกพรรคอื่น
  • ตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
  • ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพกฎหมาย ข้าราชการ – อดีตข้าราชการจากหลายองค์กร
  • ภาคประชาชน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ – รัฐศาสตร์

โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ดังนี้

เส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่รัฐบาลเพื่อไทยจะดำเนินการต้องใช้ระยะเวลาถึง 4 ปี หรืออาจจะมากกว่าและน้อยกว่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญถือเป็นรูปธรรมของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกฎหมายสูงสุดที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ ท้ายที่สุดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ประชาชนทุกคนสามารถติดตามความคืบหน้าของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้จากการเคลื่อนไหวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงภาคประชาสังคมที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ตลอด เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเรื่องนี้ไม่ให้หายไปจากกระแสสังคมอีกด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ