อ่านนโยบายพรรคการเมืองเรื่องฝุ่นผ่านปากผู้สมัคร

อ่านนโยบายพรรคการเมืองเรื่องฝุ่นผ่านปากผู้สมัคร

นับถอยหลังเตรียมเข้าคูหาเลือกนโยบายที่ใช่ สำหรับการเเก้ไจทย์ให้กับเรา  แต่สำหรับวันนี้ก่อนจะตัดสินใจเราอยากชวนทุกคนมาดูนโยบาย ทั้งจากพรรคการเมืองและ ตัวแทนพรรคการเมืองจากการลงพื้นที่หาเสียงและแสดงวิสัยทัศน์ในพื้นที่ภาคเหนือ สำหรับการเเก้โจทย์ปัญหา “ฝุ่นควัน”​ ให้กับชาวภาคเหนือ และประเทศไทย

การหาเสียงที่ผ่านมาเราจะเห็นนโยบายพรรคการเมืองที่ออกมาเรียกคะแนนเสียงในแบบนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาปากท้อง หรือ นโยบายสวัสดิการสังคม เเต่มีอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญ ซึ่งก็คือ “นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม” ภายในมีเนื้อหานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข PM 2.5 คำถามที่ตามมาคือ พรรคการเมืองสนใจปัญหานี้มากน้อยเเค่ไหน เพราะอาจจะไม่ได้ถูกนำเสนอมากเท่านโยบายทางเศรษฐกิจ

องศาเหนือพาส่อง พรรคการเมืองไหน

มีนโยบายแก้ฝุ่น PM 2.5

เรื่องฝุ่นก้าวไกลกำหนดไว้ใน นโยบายสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หมวดหมู่ย่อย 9 เสาหลัก ซึ่งในเรื่องฝุ่นนั้นจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ อากาศสะอาด

  1. ออก ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ ควบคุมการรับซื้อหรือนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน
  • ออกข้อกำหนดว่าสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ที่ห้ามมีการเผาแปลงการเกษตร รวมถึงการควบคุมการรับซื้อสินค้าเกษตรของกลุ่มทุนในประเทศจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน
  • สร้างความร่วมมือกับผู้บริโภคในการไม่ซื้อสินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่มีการเผา (เช่น ภาครัฐอาจติดฉลากบนสินค้าที่ตรวจย้อนกลับไปได้ว่าไม่ได้มีการเผาในกระบวนการผลิตในต่างประเทศ)
  • ออก ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ (Transboundary Haze Pollution Act) ให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย
  • ทำการทูตเชิงรุก เพื่อเจรจาและสร้างความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนวิถีการผลิต (เช่น สนับสนุนการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อให้เกิดการแปรรูปซังข้าวโพดแทนการเผา การหมักพืชอาหารสัตว์เพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทย)
  1. เพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรในการลดการเผา
  • เปิดให้เกษตรกรสามารถขอรับสินเชื่อ 0% พร้อมการดูแลหลังการขาย สำหรับเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว (อ้อย) และเตรียมดิน (ข้าว และข้าวโพด) โดยหากมีการจัดการในลักษณะกลุ่ม/สหกรณ์/ผู้ประกอบการในชุมชนที่ให้บริการเกษตรกรในอัตราที่กำหนด จะได้รับเงินสนับสนุนอีก 25%
  • รับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด ในอัตรา 1,000 บาท/ตัน เพื่อมาใช้ประโยชน์ (เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์) และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ (เช่น ภาชนะบรรจุ) โดยเกษตรกรสามารถได้รับการสนับสนุนโดยการขายให้กับผู้รวบรวมรายใดก็ได้
  • เปิดให้ผู้ประกอบการที่นำเศษวัสดุทางการเกษตรไปแปรรูป และ/หรือไปใช้ประโยชน์ ได้รับเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ยในการดำเนินการ และจะได้รับทุนตั้งตัว (100,000 บาท/ราย) และทุนสร้างตัว (1,000,000 บาท/ราย) เพื่อขยายกิจการให้ยั่งยืนในระยะยาว
  • เปิดให้เกษตรกรที่ดำเนินการโดยปลอดการเผาและดำเนินกาด้ารอื่นๆ ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (หรือ GAP) สามารถขอรับมาตรฐาน GAP และ/หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
  • เพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเผา/ไฟป่า ในการจัดการไฟป่า จัดการเชื้อเพลิง ลดการเผาในพื้นที่เกษตร เป็นจำนวน 3 ล้านบาท/ตำบล เพื่อจัดเตรียมระบบ อุปกรณ์ และบุคลากรในการลดการเผา และจะได้รับรางวัลในการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการลดการเผาลงได้
  1. เพิ่มเป้าหมายค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย
  • กำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ให้ทะเยอทะยานและสอดรับมาตรฐานสากลมากขึ้น ตามข้อเสนอของกรีนพีซประเทศไทย (สำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เราจะกำหนดจาก 37.5 เป็น 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และสำหรับค่าเฉลี่ย 1 ปี เราจะกำหนดจาก 15 เป็น 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)
  1. เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัด-แจ้งเตือน-ตรวจสอบเรื่องฝุ่น
  • เพิ่มสถานีตรวจวัดและระบบเตือนภัยให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ระวังและป้องกันสุขภาพตนเอง (เช่น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมภายนอก สวมหน้ากากอนามัย)
  • เพิ่มงบประมาณจัดหาเทคโนโลยีการตรวจวัดค่าฝุ่นในอากาศที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก
  • เพิ่มอำนาจเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษให้เข้าตรวจโรงงานอุตสาหกรรมได้ เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ให้มีเพียงพอสำหรับการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด
  • ระบุให้สารมลพิษที่ก่อให้เกิด PM 2.5 เป็นสารมลพิษที่ต้องถูกเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมาย PRTR
  • สนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมและท้องถิ่นในการหาต้นตอของโรงงานที่ปล่อยมลพิษให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  1. สนับสนุน พ.ร.บ. อากาศสะอาด
  • สนับสนุนการขับเคลื่อน พ.ร.บ. อากาศสะอาดของภาคประชาชน เพื่อให้มีกลไกทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศในภาพรวม โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ ที่จะเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดการขยะ ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาช้างป่า ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหามลพิษทางแสง จัดการต้นตอก๊าซเรือนกระจก ขยะเป็นศูนย์ รับมือกับวิกฤตสภาพอากาศ ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ

ที่มา : https://shorturl.asia/u1lyQ

เรื่องฝุ่นเพื่อไทยเน้น ผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิ มนุษยชนขั้นพื้นฐาน สร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวางโครงสร้างให้พร้อมต่อการรับมือ เน้นที่การเจรจาระหว่างประเทศตัดปัญหาที่ต้นตอ

รวมถึงวางแผนแก้ไขปัญหา เป็น 3 ระยะ

ระยะสั้น ทันทีหน่วยงานรัฐต้องแจ้งเตือนค่าฝุ่นล่วงหน้าให้ประชาชนวางแผนได้กรณีฝุ่นสูงจะมีการอพยพกลุ่มเสี่ยงให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แบบเดียวกับที่รับมือกับภัยพิบัติอื่นๆ พร้อมทั้งแจกหน้ากากให้กลุ่มเปราะบางรวมถึงสั่งหยุดโรงเรียนเพื่อลดความเสี่ยง 

ระยะกลาง เพื่อไทยจะประสานกับกรมชลประทานให้ปล่อยน้ำเข้านาหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเปลี่ยนตอข้าวให้เป็นปุ๋ยสำหรับอ้อยจะประสานโรงงานน้ำตาลให้ลงทุนตัดอ้อยไถกลบแทนการเผา ควบคู่กันไปจะมีการปลูกต้นไม้เพื่อดักจับฝุ่นและจูงใจให้คนหันมาใช้ รถพลังงานสะอาดด้วยมาตรการทางภาษี

ระยะยาว ต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการปัญหาฝุ่น บังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันยุติปัญหาฝุ่นทั้งในประเทศและข้าม พรมแดน พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือเกษตร เก็บเกี่ยวและขุดกลบที่ไม่ต้องเผา เพื่อจัดการฝุ่นให้ถึงต้นตอ

นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในการพัฒนาและสนับสนุนเกษตรกร เช่น อุปกรณ์การเก็บเกี่ยว และการเพิ่มรายได้หรือลดต้นทุน ส่วนด้านประมง จะมีการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลรวมถึงเศรษฐกิจประมง และการเจรจาข้อตกลงต่างๆ กับต่างชาติ

ที่มา : https://ptp.or.th/environment-policy?fbclid=IwAR3JgbMUQ_8uxDuoGRdTJE_lT5jQ6-LPb-yzqRDudC9ZPY2QBDWxwvwjaus

เรื่องฝุ่นและนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย ออกนโยบายจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นทุกด้าน ทั้งด้านการเกษตร การจราจร ขนส่งสาธารณะ และการเดินทาง

มาตรการ ด้านการเกษตร

  • เอาผิดกับคนเผาป่าเผาไร่อย่างจริงจัง สร้าง Mobile Application – เครือข่ายปราบการเผาไร่ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และเครือข่ายอาสาป้องกันการเผาไร่ ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกเพื่อลดการเผา เช่น ส่งเสริมการไถกลบตอซังเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ และผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์
  • ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น ไม้ป่า ไม้หายาก เพื่อทดแทนการเกษตรที่ต้องเผาตอซัง โดยจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษ บนเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 40,000 ไร่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกป่า สร้างรายได้ ให้เกษตรกร ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 60 จังหวัด
  • ส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (Wet & Dry) ช่วยลดก๊าซมีเทนในดิน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้ชาวนาจากการขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้จากการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้มีมูลค่าขายเป็นเงินได้ หาช่องทางการจัดจำหน่ายและหาคนมารับซื้อกับเกษตรกรโดยตรง

มาตรการด้านการจราจร การขนส่งสาธารณะ และการเดินทาง

  • ใช้กองทุน SMEs และกองทุน Startup เป็นแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานผลิตรถโดยสารและรถยนต์ไฟฟ้า ดอกเบี้ยไม่เกิน 3%-4%
  • ใช้กองทุนวิสาหกิจชุมชนเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนเกษตรกรรวมตัวกันร่วมกันใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดการเผาในแปลงเพาะปลูก
  • ลดการใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผลิตไฟฟ้า และสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar Rooftop หรือ Solar Cell บนพื้นที่ว่าง อย่างน้อย 5 KW จำนวน 2 ล้านครอบครัว โดยรัฐเป็นผู้ลงทุน ให้ชาวบ้านส่งไฟฟ้าคืนเข้าสายส่งของรัฐ เป็นการผ่อนจ่ายการลงทุน และแบ่งไฟฟ้าส่วนหนึ่งหรือทอนกลับให้ชาวบ้านเพื่อลดค่าไฟฟ้ารายเดือน
  • ออกมาตรการทางภาษีให้สิทธิลดหย่อนภาษี และการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่สนับสนุนนโยบาย “สลับ-เหลื่อมเวลาการทำงานและเวลาเรียน” และนโยบาย “Work from home หรือ Learn from home”
  • ออก “โครงการสร้างไทยมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า” ให้คนไทยที่ทำมาหากินด้วยมอเตอร์ไซด์คู่ใจ สามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 5% ต่อปี ซื้อมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าได้ จำนวน 1 ล้านคัน เพิ่มการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV
  • ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีที่ดินแก่เจ้าของที่ดินที่ สมัครใจเข้าร่วม “โครงการสวนสีเขียวที่เที่ยวชุมชน (Volk Green Park)” ที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ร่วมเป็นปอดที่สร้างอากาศ บริสุทธ์ และยังเป็นพื้นที่สันธนาการของประชาชนด้วย

ที่มา : https://shorturl.asia/uNaUb

เรื่องฝุ่นและนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เน้นผลักดันการออกกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

นโยบายครอบคลุมด้านพลังงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการขยะ การจัดการคุณภาพอากาศ และป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการส่งเสริมภาคเกษตรกรเพื่อลดการก่อมลพิษ โดยมีนโยบายที่สำคัญคือ

  • ทบทวนกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม และบทลงโทษ ที่ต้องชดใช้ความเสียหายสอดคล้องกับผลกระทบที่เกิด
  • กำหนดมาตรการและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาการแก้ข่าวสาร เปิดช่องทางรับฟังข้อคิดเห็นต่อปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ
  • เร่งรัดมาตรการลดการเผาไร่ ตอซังข้าว โดยมีการรณรงค์ ส่งเสริม และมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อจูงใจให้ลดและเลิกการเผา
  • เร่งเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 160 ล้านไร่

ที่มา : https://www.facebook.com/DemocratPartyTH

นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ความสำคัญผ่านนโยบายลดฝุ่น PM 2.5 เช่นการ
• ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ปัญหามลภาวะเป็นพิษแบบ Single Command รวม PM 2.5
• เพิ่มรถเมล์ไฟฟ้า
• ส่งเสริมรถอีวี
• ใช้มาตรฐานยูโร 5 กับรถใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67
• เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด 50%

ที่มา : https://shorturl.asia/lTs0Z

นโยบายพรรคชาติพัฒนากล้า กำหนดยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี หนึ่งในนั้นคือ นโยบาย ‘พันธบัตรป่าไม้’ ในการเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ หรือ 26 ล้านไร่ มูลค่า 65,000 ล้านบาท รวมถึงสร้างรายได้เกษตรกรโดยปลูกป่าไม้เศรษฐกิจทดแทนการปลูกข้าวโพดของเกษตรกร   

พันธบัตรป่าไม้ เป็นกลไกทางการคลังรูปแบบใหม่ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงปัจจัยการผลิตเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและระบบนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน เงินทุน และความต้องการใช้ไม้เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ โดยการระดมทุนและทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากการปลูกป่าเศรษฐกิจเป็นการดำเนินธุรกิจที่มี ผลกำไรจึงทำให้การปลูกป่าเศรษฐกิจสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกรเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

การปฏิรูปพลังงาน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตด้วย โดยเป้าหมายของพรรคคือ ขยายพื้นที่ป่าของประเทศเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 26 ล้านไร่ของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมทางนโยบาย ผ่านการออกพันธบัตรป่าไม้มูลค่า 65,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต

ที่มา : https://www.facebook.com/chartpattanakla/

พรรคเสรีรวมไทย ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านฝุ่นไว้ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • เน้นการป้องกัน ควบคุมและแก้ปัญหามลพิษ ทุกแหล่งไม่ให้สร้างความเสียหายต่อชุมชน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม จัดการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ให้แก่ผู้ก่อมลพิษต้องมีส่วนร่วม รับผิดชอบต่อการแก้ปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน
  • นอกเหนือจากนี้พรรคเสรีรวมไทยยังมีนโยบายด้านทรรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อท อื่น ๆ ในเรื่องน้ำมัน ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับประชาชน รวมถึงมีนโยบายเกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาด และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนด้านเกษตรมีแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมอย่างยั่งยืน 

ที่มา : https://sereeruamthai.or.th/?page_id=232

พรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านฝุ่น คือ

  • บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ : กําหนดแผนและเป้าหมาย รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการกระจายอํานาจการบริหาร และการจัดการไปสู่ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นโดยส่งเสริมจากทุกภาคส่วน
  • ควบคุม และแก้ปัญหามลพิษ : ควบคุมมลพิษจากทุกแหล่งไม่ให้สร้างความเสียหายต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม จัดการของเสียอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ กําาหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหามลพิษ ปรับปรุงกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติในการจัดการมลพิษให้เคร่งครัด ชัดเจน และทันสมัย
  • นอกเหนือจากนี้ยังมีนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อื่น ๆ วิจัยและพัฒนาความรู้เพื่อความยั่งยืน พัฒนาคุณภาพการผลิตพลังงาน และแสวงหาพลังงานทดแทนจากทรัพยากรธรรมชาติ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์

ที่มา : https://www.chartthaipattana.or.th/policy/natural

พรรคภูมิใจไทย ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านฝุ่น โดยในส่วนของนโยบาย แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่ในหัวข้อ “ให้คุณภาพชีวิตที่ดี”

  • รถเมล์ไฟฟ้า ลด Pm2.5 ค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท สูงสุด 40บาท ทุกเที่ยว ทุกสาย ตลอดวัน การเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะจากรถใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมประเทศด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาฝุ่น pm 2.5 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
  • ติดโซลาร์ รูฟ ฟรี ลดโลกร้อนทุกครัวเรือน
  • วินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันละ 6,000 บาท วินไรเดอร์ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ทางภูมิใจไทยจะมีนโยบายเพื่อให้ผู้ขับขี่ทุกคนสามารถเปลี่ยนมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในราคาที่เอื้อมถึง
  • การให้บริการรถขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีแผนที่จะดำเนินการไม่เกิน 3 ปีในการเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถเก่า ๆ หรือรถร้อน มาเป็นรถไฟฟ้า เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน เข้าถึงการให้บริการโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสก็สามารถเข้าถึงการให้บริการ ซึ่งจะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามสมมติฐานที่กระทรวงคมนาคมตั้งใจไว้

ที่มา : https://bhumjaithai.com/policy

พรรคเพื่อชาติจี้ ผลักดันแก้ไขฝุ่น PM 2.5 หนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด สร้างระบบแจ้งเตือน เมื่อค่าฝุ่นควันถึงระดับอันตราย ผ่านระบบ SMS

“พรรคเพื่อชาติ” มีนโยบายร่วมผลักดันคุณภาพชีวิตให้คนไทยด้วยการผลักดันนโยบายรับมือฝุ่นควันเพื่อสุขภาพของคนในชาติ Livable Society โดยมีรายละเอียด ทั้งในด้านการป้องกัน  

สนับสนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับภาคประชาชนและนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชาชีพ (เครือข่ายอากาศสะอาด) นโยบายสร้างระบบแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นควันถึงระดับอันตราย ผ่านระบบ SMS และจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อค่าฝุ่น AQI เกิน 200 ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติของพื้นที่ รัฐต้องแจกหน้ากากที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน

ด้านการปกป้องสุขภาพประชาชน เมื่อระดับค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่วิกฤต โดยพรรคเพื่อชาติจะจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น อย่างน้อย 1 ห้องในทุกโรงเรียนและชุมชนเพื่อสุขภาพประชาชน นโยบายสนับสนุนให้เครื่องกรองฝุ่น ให้มีคุณภาพและราคาถูก และสถานประกอบการณ์สามารถให้พนักงาน Work From Home ได้ในวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

สนับสนุนสวัสดิการและประกันชีวิตให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า นโยบายดูแลควบคุมพื้นที่เกษตร ที่จำเป็นต้องเผา กระจายอำนาจให้เป็นการกำหนดร่วมโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และออกกฎห้ามนำเข้าผลิตผลทางการเกษตร ในพื้นที่ที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงสนับสนุนการเฝ้าระวังและออกกฎเข้มข้นเพื่องดเว้นการเผาป่า ในด้านความยั่งยืนนั้นจะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อทำงานร่วมกันแนวราบ (Flat Organization)

ที่มา : https://www.facebook.com/phueachart/


แน่นอนว่านั่นคือนโยบายหลักเรื่องฝุ่นของพรรคการเมือง ในระดับพื้นที่ก็มีการพูดคุยถึงปัญหาในพื้นที่และนโยบายแบบไหนที่จะช่วยพื้นที่ได้ องศาเหนือนำบทสรุปจากเวทีการพูดคุยถึงนโยบายแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ 2 เวที เวทีที่ 1 จัดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ‘Alliance Against the Haze เพื่อน/สู้/ควัน’ ณ ร้าน The Goodcery TH ร่วมกับ Surin Pitsuwan Foundation และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดงาน กับคำถามจากภาคประชาชนสู่นักการเมืองที่ว่า ‘อนาคตของอากาศบริสุทธิ์จะมาอีกเมื่อไหร่’ โดยมีตัวแทนจากผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมด 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล,พรรคไทยสร้างไทย,พรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาธิปัตย์

และอีกเวทีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 THAILAND
บทบาทพรรคการเมือง กับ นโยบายการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย
 ที่ทางสภาลมหายใจภาคเหนือ the bulletin สมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ควอ. PM 2.5 forum และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ โรงแรม THE EMPRESS HOTEL CHIANGMAI จังหวัดเชียงใหม่ ห้องนกยูง ชั้น 3 อาคารโรงแรมเอ็มเพรส พรีเมียร์ เพื่อมองไปข้างหน้าเพื่อเกิดรูปธรรมในการแก้ปัญหา ผ่านเสวนาประเด็นบทบาทพรรคการเมือง กับ นโยบายการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทย โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง 6 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยสร้างไทย และ ไม่สังกัดพรรคใด


มองอนาคตอากาศบริสุทธิ์

ผ่านนโยบายจากปากผู้สมัครที่จะแก้ไขปัญหา PM 2.5

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล

ระยะสั้น คือ ห้ามนำเข้าข้าวโพดที่มาจากพื้นที่การเผา ระยะยาว ต้องพัฒนากฎหมาย

ย้ำว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาในทุกแหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน โดนเน้นย้ำแหล่งกำเนิดนอกประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้น การห้ามนำเข้าข้าวโพดที่มาจากพื้นที่การเผา มาตรฐาน GAP ห้ามเผา ต้องมีการตรวจสอบ

ส่วนในระยะยาว ต้องพัฒนากฎหมายแบบสิงคโปร์ทำกฎหมายเอาผิดการลงทุนข้ามพรมแดน เปลี่ยนเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นผสมผสานมากขึ้น ประกันรายได้ส่วนที่เกษตรกรปรับเปลี่ยน

ให้ตำบลละ 3 ล้าน จัดการไฟป่า

ปัจจุบันไฟป่าเยอะกว่าพื้นที่เกษตร พรรคก้าวไกลเสนอให้ตำบลละ 3 ล้านในการจัดการไฟป่า โดยลงไปยังเครือข่ายและภาคประชาชนในชุมชนด้วย 

ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในอีก 14 ปีข้างหน้า

ลดภาวะโลกร้อนไปด้วย และการปรับเปลี่ยนยางยนต์ที่เป็นขนส่งสาธารณะแบบไฟฟ้ามากขึ้น ต้องทำภายใน 7 ปี พร้อมตรวจสภาพฟรีในระยะเวลาสามเดือน ก่อนเข้าฤดูกาลฝุ่น พร้อมติดสติ๊กเกอร์ว่าตรวจสภาพแล้ว

เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง

เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ทุกจุดเพื่อลดฝุ่นควันลงไปครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 2 ปี

นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล

ตนเป็นคนนึงที่ ชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับไฟเรื่องไฟป่าฝุ่นควัน ย้อนไทม์ไลน์กับไปเมื่อปี 2550 เรื่อง PM 2.5 เป็นเรื่องราวที่ทำให้ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาคุยกัน สิ่งหนึ่งที่สรุปได้ในตอนนั้นคือปัญหาฝุ่นควันไฟป่าไม่เคยเมตตาปราณีใคร ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน

ในยุคแรกทุกคนต่างชี้นิ้ว ว่าต่างคนต่างเป็นสาเหตุ นี่คือประเด็นที่ สสส. พยายามจะทลายกำแพง คือทำอย่างไรจะให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการคิดแก้ไขปัญหาและต้องอยู่ในกระบวนการนี้มาโดยตลอด

ผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ไม่ว่าร่างไหนเราจะเห็นกรรมาธิการร่วมที่มาจากทุกภาคส่วน ร่างของพี่น้องประชาชนเพื่อที่จะมีประชาชนเป็นกรรมาธิการร่วม ไม่ว่าพรรคไหนเราควรจะมายำรวมกันในชั้นกรรมาธิการและเสนอรวมกันออกมา นี่คือส่วนแรกที่คิดว่าสำคัญ

จัดการเรื่องระหว่างประเทศ

เราพูดกันเยอะเรื่องของพืชเศรษฐกิจ หรือประเทศเพื่อนบ้าน หลายครั้งที่บอกว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แต่เราสามารถเขียนในมาตรการของตัว พ.ร.บ.อากาศสะอาด หรือกฎหมายอื่นได้เช่น GMP หากเราตรวจสอบพื้นที่การนำเข้าพืชทางการเกษตร ที่ไม่มีมาตราฐาน GMP สามารถเขียนในมาตรการไว้ นี่เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่จะทำหากมีอำนาจ

รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

ขอความร่วมมือเกษตรกร นำหลักการต่าง ๆ องค์ความรู้ที่มีอยู่มากมาย สำคัญที่สุดคือ วัสดุทางการเกษตร ใครเป็นคนทำใช้งบเท่าไหร่ ทางก้าวไกลเสนอชัดเจนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรรับซื้อตันละ 1000 บาท เพื่อเกษตรกรจะได้มีแรงจูงใจ

กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

เราผ่านผู้ว่าราชการมากี่คน นายอำเภอมากี่คน หัวหน้าอุทยานมากี่คน ทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือหัวหน้าอุทยาน เราจะต้องเริ่มทำตอนคุยประเด็นนี้ใหม่ทุกครั้ง

นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องท้องถิ่น พรรคก้าวไกลพูดอย่างชัดเจนในพื้นที่ภาคชนบท แก้ไขบริหารแหล่งกำเนิดท้องถิ่น เอาไปตำบลละ 3 ล้าน ให้คนในพื้นที่คุยกันและออกแบบการจัดการเชื้อเพลิงรถเชื้อเพลิงต้องเขียนในสาระของกฎหมายว่าด้วยเรื่องของเพราะ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่อยู่ 13,000,000 ไร่ เป็นพื้นที่ป่า 3,000,000 ไร่ เป็นป่าเต็งรัง 60% ไฟใหม้ที่เกิดก่อนพื้นที่จุดเป็นป่าผลัดใบ และช่วงนี้ ที่เผชิญเหตุอยู่ในพื้นที่เขตป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา หากควบคุมไม่ได้จะไปที่ป่าเมฆ เช่นบนดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก

สาเหตุที่เกิดฝุ่นควันจากภาคการขนส่งก็ดี อุตสาหกรรมก็ดี แต่ย้ำเสมอว่าภาคเหนือเป็นเรื่องของพื้นที่ป่า คนทำงานเรื่องของไฟป่าหมอกควัน นอกจากเรื่องกระจายอำนาจ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการนิเวศป่าไม่มีทางจัดการได้ เพราะฉะนั้นคือเรื่องของการปฏิรูปความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ความรู้เชิงเดียวเป็นปัญหามาก การผสมความรู้ที่เป็นความรู้พื้นบ้าน การประสานความรู้ในพื้นที่ระบบการตัดสินใจ ที่จะใช้ความรู้ไหนในการบริหารจัดการพื้นที่นั้น ๆ พื้นที่ต้องเป็นคนบริหารจัดการและตัดสินใจร่วมกับความรู้และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น

วันนี้เราทะเลาะเรื่องของการชิงเผาไม่เผา คนพูดไม่เคยอยู่ในป่า

ถ้าเราสามารถจัดการเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ถ้าเราใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ไฟป่าไม่เคยแยกว่าจะเข้ามาในเขตไหนก่อน เพราะฉะนั้นการใช้พื้นที่และสนับสนุนระบบการตัดสินใจในพื้นที่ จึงตรงกับนโยบายของพรรคก้าวไกล คือ เรื่องระบบการกระจายอำนาจ วันนี้หลายพื้นที่ที่สามารถจะบริหารจัดการได้ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินหลายพื้นที่มีระบบจีไอเอสจีพีเอสระบบรายแปลง ทะเบียนของคนใช้ที่ดินสามารถลิงก์กับระบบบัตรประชาชนได้แหล่งเกิดมลพิษ หรือไฟตรงจุดไหนคือไฟที่ไม่มีความจำเป็น ไฟที่ไม่มีเจ้าของ ไฟที่ไม่มีการควบคุม

วันนี้พร้อมที่จะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจที่เราพูดเรื่องของ green economy เศรษฐกิจสีเขียว Soft Power แต่วันนี้เราทำไม่ได้ เพราะที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะทำเกษตรอินทรีย์ก็ไม่ได้ไม่มีการรับรอง GMP กรมวิชาการเกษตรจะเข้าไปก็ไม่ได้ กรมพัฒนาที่ดินก็เข้าไม่ได้ ชลประทานก็เข้าไม่ได้ เชียงใหม่พื้นที่เกษตรกรรมอยู่ประมาณ 3,000,000 ไร่ ถามว่ามีโฉนดที่ชอบด้วยกฎหมายกี่แปลง วันนี้สิ่งที่พี่น้องประชาชนบอกว่า 1 2 3 4 ที่เขาจะต้องทำ คือ การปลูกพืชที่กินเร็วปลูกเร็ว ได้เร็ว การตลาดอยู่ที่ไหนการตลาดรอเราอยู่ที่หน้าบ้าน เราสามารถลดพื้นที่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ ทางเลือกของพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นการเกษตรที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มันมีหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อินทนนท์ เพราะชาวบ้านมีทางเลือกที่จะปรับตัว การใช้ชีวิตแบบใหม่เค้ากลับมารักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการท่องเที่ยวทำให้เขาต้องดูแลป่ามากขึ้น การทำแนวกันไฟและจัดการบริหารสิ่งเหล่านี้พวกเขาจะทำได้เองเมื่อถึงฤดูหรือเวลาที่จะต้องรักษาผืนป่า

ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย

เสนอผลักดันร่างพระราชบัญญัติ พ.ร.บ. อากาศสะอาด มาตรการทางภาษี และเอื้อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 

พรรคไทยสร้างไทยได้ดำเนินการติดต่อพูดคุยกับฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งทาง สปป.ลาวพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ พร้อมกันนี้ต้องมีการจัดการกับภาคเอกชนเหมือนกับทางสิงคโปร์ 

นอกจากนี้ต้องมีการช่วยเหลือที่เกิดจากการร่วมมือและช่วยกันจากหลายฝ่าย โดยการแก้ไขปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 นั้น พรรคไทยสร้างไทยเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยการรับฟัง เพื่อให้อยู่ร่วมกันในการประกอบธุรกิจ 

ธันวา ไกรเลิศ ผู้สมัครเขตกรุงเทพมหานคร พรรคไทยสร้างไทย

เวลาเราเสนออะไรต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จะติดตรงคอขวดตลอดกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าถามว่าปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะแค่ในภาคเหนือ ทั้งกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ปัญหาหลักมาจากเรามีทีมบริหารและนักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพอยู่เป็นจำนวนมาก นักวิชาการหลายท่าน ภาคประชาชนหลายากลุ่มที่ได้รับเชิญเข้าไปเป็นกรรมการที่ปรึกษาชุดต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดนี้ แต่เสียงสะท้อนที่ผ่านมาคือฟังเฉย ๆ แต่ไม่มีการแก้ปัญหา หากเราแก้ปัญหาคอขวดตรงนี้ได้ข้อเรียกร้องของทุกท่านจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

นอกเหนือจากปัญหาหลักของเชียงใหม่และภาคเหนือ ตนเองเป็นตัวแทนที่มาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน อันดับแรกขอพูดถึงควันจากภาคยางยนต์ ที่ผ่านมาในแผนส่วนวาระแห่งชาติมีการกำหนดมาตรการจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ใหม่ แต่ระยะเวลาผ่านไปปรากฏว่าปริมาณรถยนต์เก่าที่สะสมอยู่ในประเทศเราตอนนี้กว่าสี่แสนคันโดยเฉพาะรถบรรทุกกับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายถึงมาตรการที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปเชียงใหม่ก็จะเห็นรถควันดำ อีสาน กรุงเทพและปริมณฑลแค่ขับขึ้นสะพานภูมิพลขึ้นวงแหวนรอบนอกเจอควันดำทุกเช้า

เสนอการตรวจสภาพรถยนต์เมื่อต่อภาษี

เราเห็นหลายผู้บริหารทั้งท้องถิ่นและระดับประเทศออกมาบอกว่าจะตั้งด่านอย่างเข้มงวดกวดขันในช่วงที่ฝุ่น Pm 2.5 พีค ถามว่าดีไหม ดีมากอยู่แล้วแต่มันเป็นการทำดีผิดเวลา การตั้งด่านจะมาตั้งเฉพาะตอนที่ฝุ่นพีคไม่ได้ ต้องทำตลอดและต่อเนื่อง หากเราให้ความสำคัญกับการตรวจสภาพรถยนต์มาต่อภาษีเชื่อมั้ยครับว่ามีรถกี่พันกี่ 10,000 คันที่ไม่เคยต้องตรวจสภาพจริงแต่สามารถต่อภาษีประจำปีได้ นี่เป็นกระบวนการคอรัปชั่นอย่างนึงในประเทศนี้ที่มีมากมายรวมถึงสิ่งนี้

แผนเข้มงวดฝุ่นพิษจากอุตสาหกรรม

ในแผนวาระแห่งชาติมีการพูดถึงเรื่องนี้ การจัดการโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แต่ถามว่าผ่านมาถึงวันนี้เราเห็นแผนอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง ในโรงงานขนาดใหญ่อาจมีบ้างเพราะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ม.เกษตรศาสตร์ เคยกล่าวไว้ในรายการหนึ่งว่า มันเหมือนกล่องดำที่เราไม่สามารถรู้ว่าโรงงานที่อยู่ในละแวกบ้านที่เราอยู่นั้นแต่ละวันแต่ละเดือนปล่อยควันอะไรออกมาบ้าง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเน้นไปที่ระยอง ชลบุรี แน่นอนว่ามีควันจากโรงงานอุตสาหกรรมอีกฝั่งนึง ซึ่งระยองเหมือนถูกโอบล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมทั้งเมือง ซึ่งระยองปัจจุบันตอนนี้เศรษฐกิจดีมาก เป็นระดับต้นของประเทศแต่คนระยองด้วยหรือไม่ว่าตนเองกำลังเผชิญสภาวะอะไรอยู่ไม่ต่างจากที่เชียงใหม่

ปฏิรูปทางการเกษตร การปฏิรูปการใช้ที่ดิน

การปฏิรูปทางการเกษตร การปฏิรูปการใช้ที่ดิน อิสราเอลยังปลูกผักผลไม้ส่งออกได้ ทำไมภาคเหนือกับอีสานต้องปลุกแต่ข้าวโพดและอ้อย ตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกษตรจบด้านกฎหมายแต่เชื่อว่า ถ้ารัฐบาลใส่ใจจริงจังพื้นที่หลาย 1,000,000 ไร่ในประเทศเราปลูกอย่างอื่นได้ และพี่น้องเกษตรกรจะมีรายได้มากกว่านี้ มีพืชหลายชนิดที่ไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการการเผาในห่วงโซ่ การเผาในภาคเกษตรบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษตามอย่างจริงจังหรือไม่ เรื่องนี้มีความเห็นสองมิติ การบังคับใช้กฎหมายก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีผู้ได้รับผลกระทบอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย คนป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจากการเผาของคนเพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้น

จัดการฝุ่นควันข้ามแดน

มองไปที่รัฐบาลชุดเดิมโดยตรง ผ่านมาสี่ปียังไม่เห็นการเจรจาไม่ว่าจะเป็นทางการทูต หรือไม่ว่านายกเราบินไปพูดคุยกับนายกพม่าลาวเขมรอย่างจริงจังเรายังไม่เคยเห็น

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้สมัครเขต 1 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย

ดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดในประเทศ

ในฐานะฝ่ายค้านในสภาช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การออก พ.ร.บ.อากาศสะอาดในประเทศ พรรคเป็นผู้ยื่นพรบ.อากาศสะอาดที่หลงเหลือค้างก่อนยุปสภาในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายทุกวาระเกี่ยวกับวาระฝุ่น PM 2.5 คณะกรรมการแก้ไขปัญหา PM 2.5

แก้ปัญหาควันข้ามแดน

เอายาพาราไปรักษามะเร็งก็ไม่หาย

ชวนตัวเลขที่น่าสนใจสี่ปีย้อน ตัวเลขจากการเผาไหม้จาก 400,000 ไร่ กระโดดขึ้นมาเป็น 2.4 ล้าน ไร่ได้อย่างไร ประเทศเพื่อนบ้านมีการเผาเป็น 10,000,000 ล้านไร่ได้อย่างไร เรากำลังพูดถึงประเด็นกลุ่มควันข้ามแดน เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ขยับขยายคือการสนับสนุนให้เกิดการไปปลูก สนับสนุนให้เกิดช่องทางการเผา และมีตัวเลขของช่องทางการนำเข้าทั้งทางแม่สาย แม่สอด

ที่มาของปัญหา PM 2.5 ในประเทศ ในภูมิภาคอื่น มีการขอชุดความรู้ความคิด มีคณะกรรมการวิสามัญศึกษา PM 2.5 แบบยั่งยืน

สภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 และ 2563 มีการถอดชุดความรู้นี้ออกมา 3 คณะยื่นเข้าสภาผู้แทนราษฎร 2 เล่มถูกตีตกทั้งหมด มีการนำองค์ความรู้ของภาควิชาการภาคเกษตรกร กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ มาให้ความรู้ 1 เล่ม 500 กว่าแผ่น โดยมีอดีตท่านนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นหัวหน้าคณะทุกชุด ตรงนั้นบวกกับงบประมาณ บวกกับสุขภาพที่สูญเสียไประยะเวลาที่ไม่มีประโยชน์ใดภายใน 4 ปี ขอละไว้ในส่วนของฝ่ายบริหาร ในส่วนฝ่ายนิติบัญญัติที่ตนทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านมากกว่า 4 ปี นอกจากถ่วงดุลอำนาจตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลฝ่ายบริหารและขับเคลื่อนฝ่ายนิติบัญญัติคือยื่นกฎหมายที่เราสามารถขยับเขยื้อนได้มากที่สุด จากเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 จนถึงวันนี้กว่า 400 วัน ถูกดองทั้ง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นในการยกระดับให้กฎหมายนี้เข้ารับหลักการวาระที่ 1 ในสภาได้เลย โดยไม่ต้องผ่าน ครม. สถานะสุดท้ายก่อนที่จะยุบสภาไป คือ นายกฯเซ็นมอบเพื่อไทยยื่นให้สภาประธานชวนหลีกภัย ประธานชวนหลีกภัยมอบให้นายกฯเซ็นให้ขอความเห็นอีก 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตร กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงต่าง ๆ สุดท้ายทุกกระทรวงตีตก โดยให้อ้างเหตุผลก่อนก่อนหน้านี้คือ พ.ร.บ.การเงิน หรือกระทรวงทรัพยากรบอกว่าอยู่ใต้ร่มใหญ่ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ซึ่งต่างกันต่างวาระ เอายาพาราไปรักษามะเร็งก็ไม่หาย เจ้าของกระทรวง เจ้าของเงินแท้ ๆ กลับไม่เซ็นให้นี่ คือ ต้องไปกราบขอบคุณที่ทำให้มีสารตั้งต้นคงค้างไว้อยู่คือ กระทรวงการคลัง ไม่อนุมัติเซ็นและขออนุญาตไม่ออกความเห็น

สิ่งเหล่านี้เรากำลังจะสะท้อนว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นรัฐบาลชนะเลือกตั้ง แพ้เลือกตั้ง เป็นฝ่ายค้านในมิติไหนก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะพยายามขับเคลื่อนในสิ่งนี้ จนกว่าอากาศที่เป็นพิษหายไป ไม่ก็ลมหายใจจะหายไป นี่เป็นอุดมการและจิตวิญญาณอย่างแท้จริงที่ต้องการจะทำงานต่อ

แก้ไขปัญหาโดยการใช้กฎหมาย ‘PPP’ หรือ Polluter Pay Principle ใครใช้มากจากใครก่อให้เกิดมลพิษจ่ายหนัก

พรรคเพื่อไทยเสนอการแก้ไขปัญหาโดยการใช้กฎหมาย ‘PPP’ หรือ Polluter Pay Principle ที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้วยการออกบทลงโทษที่รุนแรง พรรคการเมืองที่เข้มแข็งต้องมีอำนาจมากพอเพื่อไปต่อรองและต่อต้านการผูกขาด ดังนั้นต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อต่อกรกับองค์กรต่าง ๆ และระดับระหว่างประเทศได้

กฎหมายจะมีประโยชน์และมีเหตุผลอย่างไรในการแก้ไขปัญหานี้ สาระหลักของตัว พ.ร.บ.ที่ยื่นไปทำไมถึงไม่ตีตก หนึ่งเรารีดไขมันออก ในส่วนที่เป็น พ.ร.บ.การเงินและได้บรรจุอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถยกระดับและแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้คือเรื่องของหมอกควันข้ามผมแดนคือระบบ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) เป็นหลักการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ก่อมลพิษหรือผู้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม ตรงนี้ใส่สารัตถะของการใครใช้มากจากใครก่อให้เกิดมลพิษจ่ายหนักให้เกิด PPP ของต่างประเทศหรือที่เรียกกันตรงตรงว่าซิมแท็กคือภาษีบาป นำเงินก้อนนั้นมาสนับสนุนส่งเสริมให้กับกลุ่มที่มีปัญหาเพื่อแก้ไขปัญหาในเงื่อนไขต่าง ๆ สิ่งนี้จะมีการยกกรอบเจรจาอาเซียนประเทศเพื่อนบ้าน

เรามีการประชุมกลุ่มอาเซียนหรืออีเอเอ็มเอฟ 2545 จนถึงวันนี้ปี 2566 ยังไม่มีการเจรจามากขึ้นความจริงใจของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าการประชุม cop 26 หรือ cop 27 ไม่มีการใส่เนื้อหาเรื่องของ PM 2.5 เข้าไปมีเพียงการพูดถึงโลกร้อน Climate Chang โลกรวน แต่ล่าสุด ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปกเรื่องของ SCB glod BCG ไม่มีการบรรจุหรือใส่เนื้อหาความเข้มข้นของเรื่อง PM 2.5 เข้าไป หรือแม้กระทั่งการประชุมกลุ่มจีเอ็มเอสลุ่มแม่น้ำโขงก็ไม่มีการใส่สารัตถะว่าต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่อง PM 2.5 ตนเป็นโฆษกคณะกรรมมาธิการ ต่างประเทศ ดึงกระทรวงต่างประเทศเข้ามาพูดคุยได้เชิญหลาย กระทรวง ทบวง กรม กรมเจรจาระหว่างประเทศก็ดี หรือกรมพาณิชย์ในการที่จะบอกว่าทำไมเราต้องนำเข้า ข้าวโพดสูงขนาดนั้น ทำไมเราไม่เพิ่มภาษีในการนำเข้าต่าง ๆ เป็นเนื้อหาหนึ่งที่ทางเขาก็ตอบไม่ได้ เขาบอกว่ากระทรวงต่างประเทศบอกว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ต้องเชิญกระทรวงกลาโหมมาพูดคุยตรงนี้เป็นเส้นใต้ขีดบรรทัดใหญ่ ว่าทำไมถึงแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ ทำไมเราถึงต้องพูดถึงเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดนของประเทศเมียนมาซึ่งเกิดอยู่อีกรัฐหนึ่ง พื้นที่มีสถานการณ์การเมืองที่เข้มข้นอยู่ในตรงนั้น ไม่สามารถเข้าไปยุ่งทุรกรรมหรือสิ่งใดในอาเซียนได้ หากไม่มีกฎหมายหรือไม่มีการตกลงเป็นทวิภาคีขึ้น ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งเป็นหัวเชื้อที่จะทำให้เกิดเป็นข้ออ้างในการที่จะเกิดศึกสงครามที่จะขยายผลได้มากขึ้น

พร้อมชนกลุ่มทุนใหญ่ในการที่จะเข้าไปเจรจา และคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน

การนำเข้าไม่ว่าจะเป็นของทางรัสเซียยูเครน ในเรื่องของการนำเข้าอาหารทางภาคเหนือหรือประเทศไทยหรือจีน ที่จะเป็นเหตุผลของการห้ามเผา เหตุผลที่ทำให้เห็นว่าเรารู้อยู่ว่าแหล่งที่มาคืออะไรแต่เราไม่ขยายเพดานในการที่จะมีเครื่องมือในการเจจารกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นตอของปัญหา ไม่มีใครคุยกับเราไม่มีใครจะรับ ในเมื่อกฎหมายของคุณยังไม่เรียบร้อยและคุณวิ่งหนีมาตลอด ในส่วนของรัฐที่จะเจรจา เราจะ refer context farming พรรคเพื่อไทยจะกล้าอย่างไร ในการที่จะแก้ไขปัญหาพรรคเพื่อไทยจะชนกับกลุ่มทุนใหญ่ในการที่จะเข้าไปเจรจาและคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ความตั้งใจที่จะแก้ไขบวกกับผลกระทบและสิ่งที่เราจะเห็นปลายทาง เรารู้ว่า In put คืออะไร PROCESS คืออะไรเอาต์พุตคืออะไร เพราะฉะนั้น 3 สิ่งนี้ถ้าไม่ทำ 1 2 เราจะแกะไม่ออก ไม่มีหรอกที่จะมาหวังตัวเลขด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนบน

จักรวาล ธนวัฒน์ ผู้สมัคร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์

การวนลูปของฝุ่นในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปลายเดือนเมษายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เรามีปัญหาเรื่องของฝุ่นควันพีเอ็ม 2.5 เข้ามาปกคลุมที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ไฟในเขตป่า ในสมัยอดีตจะเกิดขึ้นคือดอยสุเทพเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเราตื่นมา มองไปที่ทิศตะวันตกของตัวเมืองแล้วไม่เห็นดอยสุเทพแสดงว่าวันนั้นอากาศมีปัญหา แน่นอนจะหายใจค่อนข้างจะลำบาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว แต่สถานการณ์ในวันนี้หนักขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าไม่ได้เป็นเพียงแค่บอกวันธรรมดาที่เป็นผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ

ตอนนี้ทุกคนที่ออกนอกบ้านล้วนแต่กระทบปัญหาด้านสุขภาพทันที ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือระยะยาว เพราะเราไม่มีอากาศหายใจได้สะดวก ทางสภาลมหายใจหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนทิศทางเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพ เราพบว่าปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น และการตอบสนองเชิงนโยบายสาธารณะล่าช้า ภาคประชาชนพยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ทางสภาลมหายใจเองทำในส่วนของ บลูพรินซ์ เพื่อนำเสนอกับผู้บริหารในทุกระดับแต่ไม่ถูกกันตอบสนองในเรื่องของแนวความคิด เรื่องของภาคประชาชนค่อนข้างจะวางรูปแบบที่ชัดเจนและมีแบบแผนแนวทางปฎิบัติที่สามารถนำไปปฏิบัติการณ์ได้ทันที กลับได้รับการตอบสนองค่อนข้างช้าในแง่ของฝ่ายที่กำหนดนโยบายสาธารณะ

ผลักดันการมีส่วนร่วมประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

ในบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์เป็นโอกาสที่ดีเพราะเราได้รวมเอานักวิชาการตลอดจนผู้ที่มีส่วนในการปฎิบัติการ ในแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรงเข้ามาเป็นทีมงานสำคัญในการที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะในภาคส่วน ของพรรคประชาธิปัตย์ดูแลอยู่และเราเป็นพรรคการเมืองระดับกลางเราสามารถที่จะผลักดันและการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้อย่างเพียงพอและมีบทบาทค่อนข้างมาก หลายคนมีบทบาทสำคัญในแง่ของการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐศาสตร์ที่ในเรื่องของเศรษฐกิจเพราะเรากำลังคุยเรื่องของปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เพราะการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนพี่น้องประชาชนที่อยู่กับปัญหาโดยตรง ต้องมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ไม่ได้แยกส่วนให้ส่วนราชการเป็นผู้กำหนดทิศทางเพียงอย่างเดียว

ที่ผ่านมาเป็นการกำหนดทิศทางแนวดิ่งเป็นส่วนใหญ่ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมิติเศรษฐศาสตร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหา เพราะจะเติมเม็ดเงินเข้าไปในการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ให้ชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งทุกวันนี้เค้าขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หรือแม้กระทั่งการชดเชยทางด้านภาษีการเงินประชาชนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากกว่านี้

ผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ต้องเป็นบัญญัติที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหา

การใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหามากขึ้นขนาดนี้เร็ว ๆ จะมีดาวเทียมที่สแกนและโฟกัสได้ถึงระดับ 50 เซนติเมตรดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งจะโฟกัสหาพื้นที่ต่างๆ ที่มีปัญหา โฟกัสถึงจุดความร้อนไฟป่าที่เกิดขึ้นภายในประเทศได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากขึ้น และถัดมาคือการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกต้นไม้ เพื่อในการที่จะวางแผนในการเข้าไปดับไฟเข้าไปวางแผนบูรณาการแนวกันไฟต่าง ๆ ตรงนี้สามารถที่จะช่วยคนในพื้นที่ได้อย่างมาก รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เช่นพื้นที่ไหนมีการปลุกต้นไม้ใหญ่ ในการซับหมอกควัน

สุดท้ายคือการใช้เทคโนโลยีแต่ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงหลักการผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบด้วยในการที่จะกำหนดออกมาตรการด้านกฎหมายด้านต่าง ๆ

ต้องไม่ผลักภาระให้ประชาชน โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ หรือหลักผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ โดยการชดเชยรายได้ประชาชนที่เข้าไปหาของป่า อีกทั้งต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมปัญหา โดยการแก้ไขปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5

จารุพล เรืองสุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อชาติ

ผลักดันการใช้รถ EV ตามโมเดลจากจีน 

ต้นตอทั้งที่มาจากการเกษตร ยานยนต์ ถัดมาคือคมนาคม ต้องผลักดันการใช้รถ EV ตามโมเดลจากจีน 

แก้ปัญหากลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5

พรรคเพื่อชาติเสนอให้เลือกพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่กับกลุ่มทุน กลไกอาเซียนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากอาเซียนมีหลักการห้ามแทรกแซงกิจการ ดังนั้นพรรคเสนอให้ใช้กลไกระดับโลกแทนกลไกในภูมิภาค

แก้ปัญหาการช่วยเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และการดับไฟป่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการช่วยเหลือไม่ได้กระจายถึงเจ้าหน้าที่ที่ดับไฟป่า และทั้งเงินเดือนที่เจ้าหน้าที่ดับไฟมีน้อย จึงขาดแรงจูงใจ สุดท้ายคือนักผจญเพลิงต้องเผชิญกับปัญหาในการดับไฟที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แล้วจะมีประกันช่วยเหลือหรือไม่ นอกจากนี้จะมีแนวทางการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ?

ดัน พ.ร.บ.คนอยู่กับป่า

เสนอให้มี พ.ร.บ.คนอยู่กับป่า เพื่อให้การดูแลพี่น้องชาวเขา วิธีการแก้ไขปัญหาคือการใช้เทคโนโลยีและการวิจัย

ฮาย ปวิสรัตน์ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อชาติ

ในฐานะที่เป็นผู้ประสบภัยคนนึงถ้าอยู่จังหวัดเชียงราย อาการภูมิแพ้จะกำเริบตลอดทั้งเดือนเข้าใจปัญหาในพื้นที่เพราะครอบครัวอยู่ที่จังหวัดเชียงราย แม้ว่าอาการเจ็บป่วยจะไม่ได้ออกอาการ ณ ตอนนี้แต่ในระยะยาวผลของสุขภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมะเร็งปอดหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออะไรก็ตามที่เป็นปัญหาสุขภาพไม่สามารถมองเห็น ณ ตอนนี้แต่เราสามารถป้องกันและแก้ไขได้ในปัจจุบัน

ต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น

ปัจจุบันการบริหารจัดการเป็นการรวมศูนย์อำนาจจนเกินไป ผู้ที่มีอำนาจในการประกาศภัยพิบัติตอนนี้คือผู้ว่าราชการ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่จังหวัดเชียงรายมีการเคลื่อนไหวลงพื้นที่ไปดูว่าผู้ว่าราชการจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบจากผู้แทนผู้ว่าราชการว่าไม่สามารถประกาศได้เนื่องจากกระทบกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เมื่อได้ยินแบบนี้ มีคำถามว่าสิทธิสุขภาพที่ดีของประชาชนการที่จะมีสุขภาพที่ดี ที่อากาศสะอาดหายไปไหน ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหามองว่าเราต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นในการที่จะบริหารจัดการได้เองเนื่องจากผู้ว่าก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างน้อยต้องให้ อบจ. หรือ อบต. รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ รวมถึงมีใครบ้างในนั้นองค์กรภาคประชาสังคมนักวิชาการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มาร่วมมือกันไม่ใช่เฉพาะกิจ ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่มีปัญหาแต่ตลอดทั้งปี เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่เพียงแก้เพียงแค่วันที่มีคุณภาพอากาศที่สูงเกินมาตรฐาน ต้องทำรากฐานให้มั่นคงจริงจังกับเรื่องนี้โดยตรง

คนตัวเล็กเล็กสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ถ้าเรามารวมตัวกัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีได้ตั้งแต่ตอนนี้ เรื่องอะไรบ้าง 1 ถ้ายังแก้ไขปัญหาระยะยาวไม่ได้ต้องมีห้องปลอดฝุ่นให้ทุกชุมชนโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงผู้สูงอายุทุกโรงเรียนจะต้องมีห้องปลอดฝุ่น อให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้มีเครื่องมือที่ใช้ในการ ทำการเกษตรโดยที่ชาวบ้านพี่น้องประชาชนไม่ต้องเผา เพราะทุกวันนี้เผาเพราะต้นทุนต่ำ ดังนั้นงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีการจัดสรรทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ดันกฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด

กฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาดต้องดันให้ถึงที่สุด ไม่ว่าตนจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลก็ตามถ้ามีโอกาสได้ทำงานเป็น ส.ส. เรื่องนี้ต้องผลักดันกฎหมายว่าสิทธิที่จะมีอากาศหายใจ ที่สะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเราสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้หากไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงเรื่องของการลงโทษผู้ที่ก่อมลพิษ PM 2.5 ข้อเสนอให้มีโทษทางอาญาด้วยไม่ใช่เพียงแค่การปรับเงินอาจจะมีโทษจำคุกกรรมการผู้มีอำนาจในแต่ละภาคธุรกิจก็ไม่ควรยกเว้น กลุ่มธุรกิจที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ใหญ่ก็ตามกระบวนการยุติธรรมบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยจะต้องมีการจริงจังกับเรื่องนี้ไม่ทำเพียงแค่มองไม่เห็นหรือไม่มีมาตรฐานอย่างทุกวันนี้

ดันนโยบายวาระแห่งชาติควรจะเป็นวาระแห่งอาเซียน

นโยบายวาระแห่งชาติควรจะเป็นวาระแห่งอาเซียนรวมถึงเป็นวาระแห่งโลก นโยบายการต่างประเทศเราควรจะออกมาในฐานะที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องคาร์บอนเครดิต ให้ภาคธุรกิจดำเนินการอย่างจริงจัง แต่ทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้และภาคธุรกิจไม่มีการถูกบังคับว่าต้องทำสิ่งนี้ดังนั้นรัฐบาลและสภามีหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อผลักดันสิ่งเหล่านี้

ประกันสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่เกิดภัยพิบัติฝุ่น

สุขภาพประชาชนควรมีนโยบายและงบประมาณจัดสรรให้มีประกันสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่เกิดภัยพิบัติฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจประกันภัย เพื่อให้เราสามารถได้รักษาโรคภูมิแพ้หรือโรคทางเดินหายใจโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับฝุ่นได้ฟรี เพราะไม่ใช่ความผิดของเราโดยตรงเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จัดให้มีการตรวจสุขภาพเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจทุกปี

นโยบายการให้สวัสดิการและการมีประกันชีวิตแก่นักดับไฟป่า

สุดท้ายที่เรามองข้ามกันไปผู้ประสบภัยหลักคือนักดับไฟป่าแต่เค้าไม่ค่อย ถูกพูดถึง เราอยากมีนโยบายการให้สวัสดิการและการมีประกันชีวิตแก่นักดับไฟป่าแค่ลำพังอุปกรณ์ป้องกันตนเองยังไม่เพียงพอ

คุณ พงศ์พรหม ยามะรัด ผู้สมัครอิสระ

ปี 2555 มีโอกาสมาช่วยเรื่องของการทวงคืนพื้นป่า เพราะเป็นปีที่เผาหนัก ช่วงนั้นมากับทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ป่าหายเป็นลูกลูกในเวลาไม่กี่ปีหายไปเป็น 100,000 ไร่ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่รุนแรง 11 ปีผ่านไปปัญหายังอยู่และหนักกว่า เดิมคำถามคือผู้นำรัฐบาล เกิดอะไรขึ้นทำไมปัญหานี้ถึงหนักขึ้น เรื่อย ๆ ตนเองลงพื้นที่น่าน เชียงราย เชียงใหม่ ประเด็นคือภาพละครฉากเดิมยังคงเป็นแบบเดิมอยู่

พ.ร.บ อากาศสะอาด พร้อมทั้งคิดแก้ปัญหาในเชิงวิทยาศาสตร์

ปี 2562 เริ่มลุยด้านนี้อย่างจริงจังเพราะสุดทางฝั่งการเมืองพรรคพลังประชารัฐชวนให้เขามาเริ่มสร้างนโยบายเรื่องนี้เองทางพี่ ๆ ในกลุ่มสภาลมหายใจทางภาคเหนือได้มาประชุมร่วมกัน เรื่องของการยกร่าง พ.ร.บ อากาศสะอาด โดยการจับมือกับทางประเทศจีน

คิดในเชิงวิทยาศาสตร์ให้เป็นก่อน ตั้ง lap ใหญ่ที่ภาคเหนือตั้ง lap ใหญ่ภาคกลาง ให้เห็นว่า PM 2.5 นั้นประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง เพื่อจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด

สิ่งที่สองเรากำลังพูดถึงเรื่องของมลพิษทางอากาศอย่าไปตกลงกับคำว่า PM 2.5 เราพูดถึง PM 10 และ PM 1 ที่น่ากลัวกว่า PM 2.5 เพราะซึมเข้าผิวได้ สิ่งที่เราสู้มาตั้งแต่ปี 2555 เราเห็นภาพภาพหนึ่งแล้วว่านี่คือมลพิษที่ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ 14 ถึง 15 ต่อ 100,000 ประชากร รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคใต้ต่ำสุด ตัวเลขนี้ฟ้องว่าเรากำลังเกิดปัญหาอะไรมันถึงบอกว่าเราต้องเริ่มด้วยอะไร

เร่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

สำคัญมากคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นจะโยงไปกับเรื่องของปากท้อง ปัจจุบันนี้เกิดอะไรขึ้นมหาดไทยสั่งกันไฟ ต้องไม่เผา ต้องไปประกาศสภาวะฉุกเฉินคำถาม คือ มหาดไทยมีอำนาจอะไรมากกว่าคนท้องถิ่น สิ่งที่เรากำลังมองอยู่คือการแก้ปัญหานี้ได้ต้องแก้ที่ประชาชนต้องเอาระบบนิเวศของภาคประชาชนมาเป็นตัวตั้งปัญหา

ยุติวิธีการเร่งส่งออกของพืชเชิงเดียวหรือการค้าขายพืชเชิงเดียว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเผาฝั่งพม่าหรือฝั่งลาวตัวเลขเกษตรเชิงเดียวเพิ่มขึ้นกว่า 1,000,000 ไร่ในเวลาเพียงไม่กี่ปีนั่นคือพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ภาคเหนือคือความรับผิดชอบจากสองกระทรวงคือกระทรวงที่หนึ่งกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ เพราะฉะนั้นโครงสร้างนี้ต้องจับมือร่วมกันว่าทำอย่างไรให้ยุติวิธีการทำแบบนี้โดยการเร่งส่งออกของพืชเชิงเดียวหรือการค้าขายพืชเชิงเดียว ฝากด้วยว่าใครเข้ามาในรัฐบาลครั้งหน้าต้องจับสองกระทรวงนี้ รวมถึงกระทรวงที่สามคือกระทรวงมหาดไทยจับมือร่วมกัน ทำอย่างไรคุยกับท้องถิ่น พื้นที่ปลูกอะไรได้ดี และมูลค่าสูง ท้องถิ่นจะตอบว่าอะไรได้ดี ถนัดจะปลูกอะไรและได้ราคาดี อีกฝั่งหนึ่งคือกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร ตอบว่าราคาโลกมันดีและไม่จำเป็นต้องเป็นพืชเชิงเดียว


100 วัน จะทำอะไรหลังจากนี้จากปาก ส.ส.

1.ประกาศภัยพิบัติทางอากาศทันที แต่กว่าจะเลือกตั้งเสร็จต้องใช้เวลา สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา คือเรื่องระบบสนับสนุน 100 วันแรกต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกวันนี้พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.อุทยาน เจ้าหน้าที่ทุกวันนี้เป็นเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เจ้าพนักงาน 100 วันแรกต้องเรียกหน่วยงานเพื่อคุยเรื่องของอุปสรรคตรงไหนเป็นอุปสรรคที่จะนำพาไม่ให้คนร่วมมือกันต้องเคลียร์ออกไปทั้งหมด

2.เรื่องของการเสนอร่างกฏหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะเป็นเครื่องมือและกลไกใหม่ ที่มีอำนาจอยู่แล้วแต่ไม่เคยมีอิทธิฤทธิ์

3.เชียงใหม่มีอยู่ 1,500 กว่าหมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่า ที่เข้มแข็งไม่อยู่ 300 หมู่บ้าน ที่เหลือไม่เข้มแข็งถามว่าฝ่ายสนับสนุนจะเข้าไปอย่างไรถ้าไม่มีเครื่องมือเข้าไปอย่างชอบด้วยกฎหมาย

1.สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนต้องมามีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริงโดยเฉพาะเรื่องของการผลักดันพ.ร.บ. อากาศสะอาด กำหนดเป็นมาตรการวาระแห่งชาติขึ้นมารวมทั้งในส่วนของเวทีระหว่างประเทศ รัฐบาลเองจะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการนำเอาปัญหานี้เข้าไปพูดคุยในเวทีโลก เพราะปัญหาฝุ่นควันสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาวะโลกร้อนไม่สามารถแยกส่วนกันได้

2.การทำงานของพื้นที่ ที่ไม่สามารถกำหนดให้เป็นเขตปฏิบัติหรือการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพส่วนหนึ่งมาจากการรวมศูนย์อำนาจรัฐแบบแนวดิงมากเกินไปการขาดการกระจายอำนาจ เพราะท้องถิ่นไม่สามารถตัดสินใจเองได้

2.สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้ว มีโครงการธนาคารหมู่บ้านที่จะให้อัดฉีดงบประมาณชุมชนละ 2 ล้านบาทเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ รวมทั้ง SME ตัวเล็กตัวน้อยที่สามารถมีกล่องทุน 300,000 ล้านบาท เพื่อวิสาหกิจชุมชนนำเอากองทุนตัวนี้ไปต่อยอดธุรกิจที่จะทำงานเพื่อสังคมในการต่อสู้ปัญหาหมอกควันได้

3.การตรวจสุขภาพฟรีนอกเหนือจากการรักษาพยาบาลฟรี ที่สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่เสี่ยง

1.ผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาด

2.จัดตั้งองค์กรที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีอำนาจสามารถสั่งการแบบบูรณาการทุกหน่วยงานได้ตอนนี้ปัญหาคือเวลาเรื่องรถวรรณกรรมเรื่องไปอยู่ที่กรมขนส่งทางบก โรงงานก็ไปอยู่อีกกระทรวง กระทรวงถามว่าที่พูดมาทั้งหมดกี่พรรคการเมืองเป็นเจ้ากระทรวง ถามว่าในหลายกระทรวงสามารถสั่งการได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกำหนดโทษ หาตัวผู้กระทำผิดที่ปล่อยประละเลยมาได้ด้วย

3.เร่งเจรจากับผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านใน 100 วัน อาทิตย์แรกใครเป็นนายกเป็นรัฐบาลบินไปคุยกับผู้นำประเทศ คุยกับเมียนมา เขมร ลาวนอกจากวิ่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเจรจากับกลุ่มทุนใหญ่ โดยมาตรการหลายอย่างที่สามารถทำได้ลองเปิดเวทีสาธารณะคุยถึงเรื่องนี้และให้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้รับทราบยื่นข้อเสนออะไรไปและหากกลุ่มทุนไม่ทำเราใช้โซเชียลมีเดียเป็นการกดดันจากภาคประชาชน

4.เร่งใช้ตัวกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดในทุกเรื่องแม้กระทั่งขณะปัจจุบันที่ยังไม่มีกฎหมายอากาศสะอาดกฎหมายมีครอบคลุมแทบทุกมิติถ้าบังคับใช้จึงเราคงไม่ต้อง คุยเรื่องนี้บนเวทีแบบนี้

5.เมื่อจัดตั้งองค์กรมีกฎหมายทั้งหมดทั้งมวลต้องเอาตัวคนที่เป็นผู้รู้จริงเข้าไปมีอำนาจในการสั่งการผู้รู้จึงเหล่านั้นอยู่ในห้องประชุมนี้หลายท่านวันนี้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมากต้องเปลี่ยนใหม่

1.แงะงบประมาณแผ่นดินปี 2568 สิ่งที่น่าเสียใจ คืองบปี 2567 หรือตั้งแต่ปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลเรื่องฝุ่นควันจะอยู่ท้ายตารางตลอดเพราะฉะนั้นแสดงถึงความไม่ตั้งใจ ไม่ใส่ใจและไม่แสดงความจริงใจ ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังของรัฐบาล

2.พ.ร.บ. ป่าไม้ ที่ไม่มีการ อัพเดทตั้งแต่ปี 24 เพราะฉะนั้นคนอยู่กับป่า ป่าอยู่เท่า เดิมคนมากขึ้นเป็น 10 เท่า อย่างไรก็เผา อีกเรื่องหนึ่งต้องไปลิ้งค์เกี่ยวกับเรื่องของการเผาเอาที่ เผาเอางบของรัฐทุกอย่างจะต้องจบไป รวมถึงในเรื่องของการที่จะไปทำประกันสุขภาพให้กับนักดับเพลิงหรือคนที่ทำงานอาสาต่าง ๆ

2.การบุกไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นตอสารตั้งต้นของการเจรจา การเผา ทั้งหมด จะเชื่อมกับนายทุนตัวใหญ่ สิ่งนี้จะต้องใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับประเทศไทยเพื่อแก้ไขและทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ประเทศไทยทั้งประเทศ

1.มีความจริงใจกับประชาชนก่อนให้มีการจัดทำเทคโนโลยีหรือระบบแจ้งเตือนค่าฝุ่นทาง SMS หรือทาง LINE ให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าตอนนี้ค่าฝุ่นเท่าใดและเป็นพิษภัยกับประชาชนอย่างไรบ้างเพื่อป้องกันตนเองได้อย่างไรเราจะมีความรู้เรื่องสุขภาพรวมถึงเรื่องการป้องกันตัวเองหรือการเข้าถึงหน้ากากอนามัยเครื่องกรองฝุ่นได้อย่างไรที่รัฐควรจะจัดหาให้อยากมีราคาถูก เพราะประชาชนหายใจเข้าไปทุกวันและรอไม่ได้มิติของสุขภาพ

2.จูงใจให้ภาคธุรกิจมีเครื่องฟอกอากาศให้กับลูกจ้างสามารถให้ภาพธุรกิจนำมาลดหล่อนภาษีได้

3.พ.ร.บ.อากาศสะอาดต้องผลักดันอย่างถึงที่สุด กฎหมายฉบับแรกที่จะเข้าสู่สภาแรกควรจะเป็นเรื่องนี้และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

3.คณะทำงานในแนวราบที่กระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นจัดการตนเองไม่ว่าจะการทำเกษตรอย่างไรในพื้นที่ให้มีรายได้พอเลี้ยงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ข้อกังวลจากเวทีประชาชนฝากถึงพรรคการเมือง

จากเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 THAILAN

ความกังวลเรื่อง พ.ร.บ. อากาศสะอาด สิ่งที่กังวลคือเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายจริงจังและเรื่องของการกระจายอำนาจ การควบคุมอำนาจ ความชัดเจนการกระจายอำนาจจะเป็นอย่างไร มีตัวอย่างที่ชัดเจน ที่เกิดในเชียงใหม่ เช่นเรื่องของการกำจัดขยะ ตนเองเป็นผู้ต่อสู้เรื่องของการกำจัดขยะแบบฝั่งกลบแม่ริม และเป็นผู้ต่อสู้คนเดียวที่ถูกทำร้าย ทางเทศบาลมีคำสั่งปิด-เปิดบ่อขยะ แต่เวลาบอกกำกับดูแลไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ไม่สามารถปิดหรือควบคุมการปิดได้จนถึงวันนี้มีคำสั่งปิดแต่เปิดไม่ได้ จุดนั้นเป็นต้นน้ำที่มีการรั่วไหลของสารพิษลงแม่น้ำมาที่เมืองเชียงใหม่ กลไกการกำกับดูแลเป็นสิ่งที่น่ากังวลแม้เรื่องที่เห็นเป็นรูปธรรมยังไม่มีกลไลที่ชัดเจนแล้วกับฝุ่นจะชัดเจนอย่างไร ?

การกระจายอำนาจในกรณีของไฟไฟป่าซึ่งเป็นภาวะวิกฤต มันเกิดไฟขึ้นในป่า ซึ่งเป็นป่าที่มีประชาชนอาศัยอยู่ และเป็นป่าที่มีเจ้าหน้าที่รัฐดูแลอยู่แต่ พอเราบอกว่าเราต้องการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีบทบาท ในการที่จะร่วมมือกับ ภาคประชาชนในการจัดการลดการลดปัญหาไฟในเขตป่า จำเป็นต้องเข้าใจบริบทไฟป่าของภาคเหนือเพราะเราอยู่ร่วมกับป่า และเป็นป่าผลัดใบยังไงต้องมีเชื้อเพลิง จะทำอย่างไรให้ อปท. มีงบประมาณแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างทันท่วงที

กระบวนการในราชการยังมีการคอรัปชั่น และการจัดการยังมีปัญหา เป็นเรื่องใหญ่มากที่ระดับโลกคุยกัน แต่ประเทศไทยไม่ยอมคุยกัน นักการเมืองไทยอยู่แค่การเมืองไทย และสื่อถูกปิดกั้นห้ามพูดเรื่องนี้ ทุกวันที่ต้องมาแก้ไขแบบนี้เพราะประเทศไทยไม่มีหลักข้อมูล DATA Center ในการเก็บข้อมูลแม้แต่เรื่องเดียว และไม่มีการทำข้อมูล และนำมาวิเคราะห์โดยผู้มีความชำนาญการ อยากฝากเรื่องของการให้สิทธิ์ของในการนำเสนอข้อมูลและรับฟังความเป็นไประดับโลก

สามารถฟังเนื้อหาเพิ่มเติมทั้ง 2 เวที่ได้

อ้างอิง

เนื้อหานโยบายจากประกาศนโยบายพรรคการเมือง

เนื้อหาจาก 2 เวทีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ เวทีเพื่อน สู้ ควัน และ เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 THAILAND

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ