จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่ยังเดินทางลำบาก โดยเฉพาะเส้นทางรถยนต์นั้นยังถือว่ายากสำหรับคนที่ไม่ชอบการขึ้นลงภูเขาที่คดเคี้ยว การเดินทางที่ไม่ง่ายทำให้พื้นที่ของจังหวัดแห่งนี้ยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่เยอะมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ
แต่ที่น่าสนใจมากก็คือการที่ชาวบ้านยังใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ทั้งในเรื่องที่ตั้งของบ้านเรือน การกิน ประเพณี และอื่น ๆ และเรื่องที่น่าสนใจมากนั่นก็คือ การใช้ใบไม้ที่ชื่อว่า ใบตองตึง มาใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่นั้นใช้ในการมุงหลังคา แม้ปัจจุบันจะมีกระเบื้อง แต่ด้วยความคุ้นชินชาวบ้านเองก็ยังใช้ในการมุงหลังคา
เริ่มเข้าหน้าแล้ง ใบไม้ในป่าร่วงหล่น ทับถมหนาแน่น นับเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้ไฟป่าหากว่ามีประจุไฟเกิดขึ้น โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบอย่างป่าเต็งรัง แต่ในป่าประเภทนี้จะมีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นหนาแน่น คือ ไม้พลวง หรือที่คนภาคเหนือเรียก ต้นตึง ซึ่งมีใบไม้ใหญ่ นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ใบดิบนำมาห่ออาหารได้ ส่วนยามแล้งใบไม้แห้งร่วงหล่น ชาวบ้านมักนำมาไพเป็นหลังคา เรียกกันว่า หลังคาตองตึง
ที่หย่อมบ้านห้วยปูแกง หมู่บ้านห้วยเดื่อ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่อุดมด้วยความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ รายล้อมด้วยภูเขา มีแม่น้ำไหลผ่านในหมู่บ้าน มีทั้งต้นไม้ใหญ่ คือต้นตองตึง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คนในชุมชนนำมาใช้ประโยชน์มากมาย ทั้งส่วนของใบนำมามุงหลังคาบ้านทำให้บ้านเรือนร่มเย็นและส่วนของลำต้นทำเป็นเสาบ้าน สร้างที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์เลี้ยง มีการปลูกต้นไผ่ตามบ้านรวมทั้งขึ้นเองตามธรรมชาติและป่าเขา สามารถนำมาสร้างบ้านเรือนได้เช่นเดียวกับต้นตองตึง นำมาสานเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ทำรั้วกันแดด ลม ให้ความร่มเงาแก่บ้าน ผลผลิตขอไผ่คือหน่อไม้ สามารถนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืช ผัก ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ให้ผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายชนิด เช่น โกโก้ ข้าวโพด ข้าว ถั่ว (ถั่วลายเสือ ถั่วงา) กระเทียม พริกกะเหรี่ยง เป็นต้น
ทุกๆ ปี เมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม จะมีกลุ่มเกษตรกรจากภายนอกมาซื้อไพหลังคานับแสนแผ่น เพื่อจะนำไปปกคลุมไร่สตรอเบอรี่ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หลังจากช่วงไฮซีซั่นกำลังจะผ่านไป
การเก็บใบตองตึงมักทำในช่วงเดือนดังกล่าว โดยชาวบ้านจะออกไปเก็บกันตั้งแต่เช้ามืด ในยามที่น้ำค้างชโลมใบไม้ให้ชุ่มชื้น ใบไม้จะมีความเหนียว โดยการเก็บจะมีการจัดเรียงใส่ใบไม้ในตะกร้า (หรือ ก๋วย) จากนั้นก็นำมาเย็บด้วยตอกจนได้หลังคาใบตอง
สำหรับหย่อมบ้านห้วยปูแกง หรือหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ประชากรราวครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ดังนั้น จึงต้องพึ่งพารายได้จากการการขายสินค้าที่ระลึกให้กับท่องเที่ยวเป็นหลัก และเมื่อฤดูกาลท่องเที่ยวกำลังจะผ่านไป พวกเขาก็สามารถหารายได้เพิ่มเติมจากการไพใบตองตึงนี่เอง ซึ่งครูเทียนชัย ธิติกัลยกร ครูกศน. ศศช.ห้วยปูแกง ได้เล่าว่า มีผู้มารับซื้อหลังคาใบตองตึงของหมู่บ้านนับแสนแผ่น เฉลี่ยรายได้แต่ละครัวเรือนจากการไพหลังคาประมาณ 3,000-5,000 บาท ซึ่งชาวบ้านก็บอกว่า อย่างน้อยพวกเขาก็มีรายได้
ในขณะที่เยาวชนคนหนึ่งของหมู่บ้านกำลังไพใบตอง ถามว่าเธอเพียงคนเดียวสามารถไพได้ประมาณกี่แผ่นต่อวัน เธอตอบว่า 300-400 แผ่นต่อวัน
เขียน : สร้อยแก้ว คำมาลา
ที่มา : https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000039214#news_slideshow