เบิ่งนำนโยบายแบบไหนที่คนอีสานต้องการ

เบิ่งนำนโยบายแบบไหนที่คนอีสานต้องการ

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสจัดกิจกรรม Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง 66 โดยได้เชิญชวนประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมระดมข้อคิดเห็นและความต้องการของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมได้มีการสำรวจความคิดเห็นโดยจำลองให้ผู้เข้าร่วมนำลูกบอลซึ่งแทนด้วยภาษีนั้นควรจะนำไปใช้กับประเด็นไหนมากที่สุด

จากผลการสำรวจผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 334 ราย พบว่าประเด็นการพัฒนาที่คนในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ประเด็นการศึกษา รองลงมาคือการกระจายอำนาจและเศรษฐกิจทั่วถึงเป็นธรรม

ภาคอีสานมีพื้นที่ 168,854 ตร.กม. คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย ถ้าเราเปรียบภาคอีสานเป็นประเทศจะใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ มากกว่า 200 เท่า มีประชากรกว่า 22 ล้านคนเท่ากับ กัมพูชาและลาว ทั้งประเทศรวมกัน

ถึงแม้จะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ภาคอีสานกลับมีสัดส่วน GDP ไม่ถึง 10% ของประเทศไทย มีข้อมูลจากการศึกษาปี 2561 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบุประชากรในภาคอีสานมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 84,000 บาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรไทยทั้งประเทศเกือบ 3 เท่า นอกจากนี้ภาคอีสานมีแรงงานกว่า 9 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตร 4 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 43.5 เป็นแรงงานย้ายถิ่น

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความมั่งคั่งของคนในภาคอีสาน กระจุกตัวอยู่เพียง 4 จังหวัด ที่ถูกเรียกว่า “Big Four of Isan” เท่านั้น ได้แก่

  1. นครราชสีมา มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 296,000 ล้านบาท
  2. ขอนแก่น มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 211,200 ล้านบาท
  3. อุบลราชธานี มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 124,200 ล้านบาท
  4. อุดรธานี มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 111,600 ล้านบาท

ในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้ มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันกว่า 743,000 ล้านบาทหรือเกือบ 50% ของมูลค่าเศรษฐกิจเทียบจากทั้งหมด 20 จังหวัดทั่วภูมิภาค

นอกจากนี้สถานการณ์การท่องเที่ยวของภาคอีสาน ที่ถึงแม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นโบราณสถานมากมายแต่ก็สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ไม่มากนัก ในปี 2562 ภาคอีสานมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพียง 73,892 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 ของรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตคนอีสาน @เมืองอุบลฯ

กระจายอำนาจ ประตูแรกสู่การพัฒนาภาคอีสาน

นายวิรัช มั่นในบุญธรรม นักวิชาการอิสระ ให้ข้อคิดเห็นว่า แนวทางการพัฒนาในแต่ละประเด็นคือการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาชน มาร่วมคิดร่วมทำ วางแผนยุธศาสตร์ว่าจะก้าวไปยังไงต่อ ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา ต้องผสมผสานทำงานเป็นหุ้นส่วนกันเพราะไม่มีหน่วยงานไหนที่จัดการได้เบ็ดเสร็จ ซึ่งสอดคล้องกันกับ ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนนามกุล นักวิชาการอิสระ ที่เลือกให้การกระจายอำนาจเป็นประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียว โดยมองว่าเท่าที่ผ่านมาสถานการณ์ต่างๆในสังคมไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะผู้ที่มีอำนาจไม่ได้เข้าไปจัดการเท่าที่ควร องค์กรอิสระซึ่งต้องเป็นอิสระจริงๆนั้นกลับถูกแทรกแซง

ต้องเริ่มจากการมีรัฐบาลที่ดี มีคนที่มีอำนาจที่มีคุณธรรม โปร่งใส เข้าไปจัดการบริหารประเทศ

ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนนามกุล นักวิชาการอิสระ

นางสาวสมภวิล พิมพิทักษ์ ชุมชนมิตรภาพ จังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นว่า การดูแลของท้องถิ่นจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการกระจายอำนาจ เพราะการอยู่ในชุมชนที่ไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรหรือสวัสดิการต่างๆ การไม่สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในท้องที่ได้โดยคนในท้องถิ่นเอง ย่อมไม่สามารถสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็งได้ ดังนั้นจึงอยากให้มีการกระจายอำนาจสิทธิต่างๆให้ทั่วถึงระดับชุมชน

สอดคล้องกับ นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณะบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น ที่กล่าวว่า ต้นตอของปัญหาทั้งหมดของประเทศไทย มีหน่วยรัฐมากมายพยายามแก้ปัญหาในประเทศแต่ถ้าไม่สามารถสร้างธรรมาภิบาลได้โดยประชาชน ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในประเด็นอื่นของสังคมได้เช่นกัน

องค์ความรู้ภาคอีสาน การศึกษาที่ต้องการระเบียบและระบบ

นางสาวสมภวิล พิมพิทักษ์ แนะนำว่า การศึกษาเป็นเครื่องสำคัญในการพัฒนาคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคอีสานอย่างยั่งยืนในอนาคต และผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนนามกุล เห็นพ้องว่า การศึกษาจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนา ถ้าเรามีระบบการศึกษาที่ดีเพื่อพัฒนาคนอย่างมีคุณภาพ จะทำให้ประเทศก้าวหน้าไปข้างหน้าได้

ขณะที่นายสวาท อุปฮาด เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า นอกจากการศึกษามีความสำคัญต่อการเติบโตของมนุษย์ที่จะต้องมีความรู้ที่เท่าทันและอยากให้ทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาแล้ว แต่การเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ท้องถิ่นนั้น ทำให้องค์ความรู้ที่มีอยู่มันไม่ยกระดับขึ้นมาและไม่เกิดการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้จริง เนื่องจากว่าองค์ความรู้ท้องถิ่นเป็นความรู้ที่สืบทอด ถ้าระบบการศึกษาเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนไปต่อยอดและสร้างการมีส่วนร่วม ความรู้ที่มีอยู่จริงก็จะไม่เลือนรางและสูญหายไป นอกจากนี้การออกแบบและรวบรวมฐานความรู้เพื่อให้มีระบบในการจัดการจะนำไปสู่การพัฒนาได้อีกด้วย

ภาคอีสานมีการผลิตขยะร้อยละ 26.8 ของประเทศ มีอัตราส่วนผู้ก่อกำเนิดของเสีย 81 : 1 ผู้รับบำบัดกำจัด ทำให้ความสามารถในการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีน้อย มีการคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และยังมีระดับความเป็นเมืองเพิ่มสูงขึ้น

ภาคอีสานยังมีปัญหาการกระจายที่ดินไม่เท่าเทียม มีปัญหาการพิพาทกับหน่วยงานรัฐ และมีปัญหาการบุรุกป่า มีพื้นที่ป่าร้อยละ 12 ของพื้นที่ภาค ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศร้อยละ 40 นอกจากนี้ อีสานเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช คือ แอ่งสกลนคร (สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม) และแอ่งโคราช (ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ)

ฟังเสียงสะท้อน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

นายสวาท อุปฮาด เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า เรื่องการเข้าถึงทรัพยากรและการจัดการสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีนโยบายอะไรที่ชัดเจนมากในการทำให้โลกใบนี้กลับไปสู่ธรรมชาติที่ดี ซึ่งการเข้าถึงทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่นี้โดยพื้นฐานอยู่ภายใต้อำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว การมีส่วนร่วมภาคประชาชนน้อย และถึงแม้จะมีกฏหมายที่เข้มงวดแต่กลับมีการบังคับใช้เฉพาะคนที่ด้อยโอกาส คนยากคนจน ทำให้ทรัพยากรถูกแย่งชิงจากคนเล็กคนน้อยไปอยู่ในอำนาจรัฐและกลุ่มทุน

นายยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ ให้ความเห็นว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เชื่อมต่อกันหมดในทุกๆโหมดของการใช้ชีวิตในสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรอาจไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นกฏระเบียบหรือการจัดการๆหลายๆอย่าง

นายสหะ แสงทอง เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน ซึ่งทำเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องฐานการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ที่ผ่านก็มีหลายชุมชนทำเรื่องนโยบายโดยเน้นการสร้างรูปธรรมว่าถ้าจะรักษาฐานทรัพยากรหรือระบบเกษตรความยั่งยืนต้องทำอย่างไร แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือตัวนโยบายระดับประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อย มีหลายชุมชนที่พยายามขับเคลื่อนให้ไปสู่นโยบาย ตั้งแต่ข้อเสนอเรียกร้องหรือไปสู่รูปธรรมแต่ว่าก็ยังถูกหยิบเอาไปใช้น้อย

ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นสำคัญพื้นฐานในเรื่องการดำรงชีวิต ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจะเชื่อมกับเรื่องการทำเกษตร ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางอาหารเช่นกัน นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังเชื่อมโยงกับประเด็นมลพิษที่มีผลกระทบโดยตรงกับคนในสังคม

สหะ แสงทอง เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน

Area Need การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาภาคอีสานอย่างยั่งยืน

โครงการจัดทําแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน (Area Need) ได้มีการศึกษาพื้นที่ภาคอีสานและสรุปความต้องการของพื้นที่ แบ่งออกเป็นมิติต่างๆ ดังนี้

มิติด้านสังคม

ภาคอีสานประสบกับปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นใหญ่ ความต้องการเชิงพื้นที่เฉพาะส่วนภูมิภาคจึงเป็น การพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาสมรรถนะของทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับการพัฒนาและปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการกระจายอำนาจและการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

มิติด้านเศรษฐกิจ

การค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนเป็นโอกาสที่สำคัญของการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัด และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลการเปลี่ยนแปลงนิเวศอันมาจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาค

มิติด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และกิจกรรมการผลิตทางการเกษตร ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งด้านน้ำขาด หรือภัยแล้งรวมไปถึงด้านน้ำเกิน หรืออุทกภัย รวมถึงการจัดการขยะและของเสีย

ข้อมูลจากโครงการจัดทําแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน (Area Need)

เสียงสะท้อน ความต้องการเพื่อเปลี่ยนแปลงภาคอีสาน

ภาพอนาคตการกระจายอำนาจสู่สังคมเข้มแข็ง

การทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช้การเปลี่ยนตัวคนหรือรัฐบาล แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง โครงสร้างนี่สำคัญตอนนี้กระแสสังคมสำหรับบางคนเขายังคิดแค่เปลี่ยนคน รัฐบาล ถ้าเปลี่ยนคนหรือรัฐบาลก็เหมือน 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีอะไรดีขึ้น ถ้าคนใหม่มาไม่ได้มีความซื่อสัตย์พอถึงเวลาก็มีปัญหาเหมือนเดิม

ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนนามกุล นักวิชาการอิสระ

ข้อเสนอ ง่าย ๆ คือ จงทำให้คอร์รัปชันหายไปให้ได้ โดยต้องปราบอย่างอย่างจริงจัง เงื่อนไขก็คือ การสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ทำไงให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและสามารถพัฒนาตนเองได้ มีงบประมาณให้และสร้างแผนและพัฒนาตัวเองได้

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณะบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น

แนวทางถ้ามองในระดับนโยบายและระดับของคนรักนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ใกล้ท้องถิ่นมากที่สุด น่าจะให้ความรู้กับชุมชนชาวบ้านที่เป็นคนเสียภาษีอย่างชาวบ้านให้ได้ประโยชน์จากตรงนี้อย่างที่สุด

ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ สกลจังซั่น

ภาพอนาคตทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

เราจะพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนในฐานะที่เป็นผู้ดูแลทรัพยากรหลัก เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ภาคชุมชนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมตรงนี้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเอื้อให้กับภาคชุมชนท้องถิ่นให้เขามีบทบาทในการดูแล ฟื้นฟูทรัพยากรหรือเรื่องการใช้ประโยชน์ ชุมชนควรมีสิทธิที่จะออกแบบ วางแผนการใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจริงๆ ของเขาได้

สหะ แสงทอง เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน

ภาพอนาคตสังคมสูงวัยในภาคอีสาน

ภาคอีสานที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้น ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ขณะที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในเมือง ถ้ามีระบบดูแลคนแก่ที่อยู่ในชุมชนเขาจะไม่รู้สึกเดียวดาย ตรงนี้น่าที่จะมีเรื่องที่เข้าไปช่วยเหลือเขา เราอยากให้เป็นสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ

ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ สกลจังซั่น

อย่างไรก็ตาม ข้างต้นยังเป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ภาคอีสาน ถึงความต้องการเพื่อให้ภูมิภาคพัฒนาต่อไปข้างหน้าร่วมกัน ร่วมฟังเสียงคนในภูมิภาคถัดไปได้ที่แอปพลิเคชัน C-Site หรือเข้ามาร่วมเสนอไอเดียและร่วมสนุกไปกับ My Politician ออนไลน์ได้ตาม QR Code ด้านล่าง

ข้อมูลจาก :

ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตคนอีสาน @เมืองอุบลฯ

ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตคนอีสาน @ขอนแก่น

‘ฟังเสียง’คนอีสานไม่ทน กับ 3 เรื่องสำคัญต้องเปลี่ยน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ