เรียบเรียง : วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง
“เสียงประชาชน” คือ ต้นทางสำคัญในการนำมาออกแบบ “อนาคตประเทศไทย” โดยเฉพาะในห้วงยามสำคัญที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม2566 หลังจากสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566
รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่
ในภาคอีสานเป็นการออกเดินทาง พิกัดที่ 13 ณ วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเปิดวงานสนทนาชวนล้อมวงคุยโสเหล่เว้าจา ภายใต้แนวคิด Deliberative Dialogues สนทนาอย่างไตร่ตรอง ใคร่ครวญกับแนวคิดเวที Post-Election “ภาพอนาคต หลังเลือกตั้ง”
Post-Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง
“หากเรายืนอยู่ ณ จุดหนึ่งในอนาคต เราต้องการให้คุณภาพชีวิตของเราเองเป็นอย่างไร ทําอย่างไรจึงจะเป็นเช่นนั้นได้” ไทยพีบีเอสและองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมมือสร้างปรากฏการณ์ครั้งสําคัญในช่วงเวลาของการเลือกตั้ง 2566 ด้วยการนําเครื่องมือนวัตกรรมทางสังคมมาใช้พัฒนาโจทย์คําถาม หาคําตอบ และกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อค้นหาฉากทัศน์ของประเทศ (Scenario Thailand) และภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) ซึ่งจะเป็นพลังของพลเมืองที่ร่วมค้นหาภาพอนาคตของประเทศร่วมกันครั้งนี้ คือพลังของสังคมที่มีส่วนร่วมในการทําความเข้าใจถึง ชะตากรรมที่เป็นไปได้ของประเทศไทยในอนาคต มีส่วนร่วมคิด แลกเปลี่ยน ฝัน แสดงออก ให้คําแนะนํา รวมถึงการตัดสินใจเลือกอนาคตของประเทศที่ตัวเองต้องการ
“Post-Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” จะค้นหา Scenario พร้อมกับถกแถลง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยฐานข้อมูลทางวิชาการ นโยบายรัฐ นโยบายพรรคการเมือง ช่วยในการ ตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ พร้อมส่งต่อสู่การขับเคลื่อนด้วยกระบวนการ Policy Innovation ที่จะทําให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนกําหนดอนาคตของประเทศได้ด้วยตัวเอง
สถานการณ์และความท้าทายของภาคอีสานตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภาคอีสานมีพื้นที่ 168,854 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย มีประชากรกว่า 22 ล้านคน
ข้อมูลจากการศึกษาพบประเด็นสำคัญ สถานการณ์ และความท้าทายของภาคอีสานตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้แก่ 1) ปัญหาความยากจน 2) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 3) ปัญหาการพัฒนาคนของภาคอยู่ในระดับต่ำ 4) ปัญหาด้านภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ 5) ปัญหาการจัดการขยะและของเสีย
ประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนในพื้นที่ ภาคอีสาน
มิติเศรษฐกิจ 1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2) ปัญหาการขยายตัวของเศรษฐกิจของภาคในระดับต่ำ 3) การเข้าถึงบริการสาธารณสุข 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเกษตร 5) การใช้พลังงานทดแทน และ 6) การค้าชายแดนอาจเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอีสาน
สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) มีข้อมูลจากการศึกษาระบุประชากรในอีสานมีรายได้เฉลี่ยสูงสุด 8,145 บาท/เดือน และรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 4,778 บาท/เดือน หนี้นอกระบบของประเทศไทย 68,003.43 ล้านบาท กระจุกตัวอยู่ในอีสาน ซึ่งมีแรงงาน 9 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตร 4 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 43.5 เป็นแรงงานย้ายถิ่น นอกจากนี้แรงงานในเกาหลีใต้ 168,711 คน เป็นแรงงานอีสานมากที่สุด
อีสานมีรายได้จากการท่องเที่ยว 73,892 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.4 ในช่วงโควิด-19 มีการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 สูงกว่าทั้งประเทศ อีสานเป็นพื้นที่ได้รับรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีสูงสุด มีโอกาสในการพัฒนาพลังงานทดแทน มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า 1,600 เมกะวัตต์ มีการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
มีมูลค่าการค้าชายแดน 335,255.3 ล้านบาท
ประเด็นเร่งด่วนมิติสังคม 1) ปัญหาความยากจน 2) การพัฒนาคนของ ภาคอยู่ในระดับต่ำ 3) การเข้าถึงบริการสาธารณสุข 4) การขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร 5) ความรุนแรงและความยุติธรรม และ 6) เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
ประเด็นเร่งด่วนสถานการณ์สังคม (People) อีสานมีจำนวนคนจนทั้งประเทศจะอยู่ในอีสานร้อยละ 44.8 และ 10 อันดับจังหวัดความยากจนอยู่ในอีสาน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 20,270 บาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ 6,000 บาท มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคต่อหัวประชากร 80,352 บาท / คน / ปี กลุ่มคนส่วนใหญ่ของภาคถึงร้อยละ 61.0 มีหนี้สินครัวเรือน คิดเป็น 8.7 เท่าของรายได้
เด็กอีสานทุก ๆ 1 ใน 3 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีลักษณะเป็นครอบครัวข้ามรุ่น หรือครอบครัวแหว่งกลาง มีข้อมูลว่า เด็ก ป.1 มี IQ 94.79 ต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากล และ IQ เฉลี่ยของทั้งประเทศ
ประเด็นเร่งด่วนมิติสิ่งแวดล้อม 1) การจัดการขยะและของเสีย 2) ปัญหาด้านภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ และ 3) พี่นที่ป่ากับที่ทำกินผู้ยากไร้
ด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) ปัญหาด้านภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ การจัดการขยะและของเสีย และพื้นที่ป่ากับที่ทำกินผู้ยากไร้ อีสานมีคุณภาพน้ำผิวดินอยู่ในระดับดี และมีการพึ่งพาแหล่งน้ำผิวดินจากแม่น้ำต่าง ๆ เช่น น้ำเลย น้ำสงคราม น้ำมูล หนองหาน น้ำพอง น้ำชี ลำปาว แม่น้ำเสียว ลำตะคอง และมีพื้นที่ชลประทาน 6.3 ล้านไร่ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่เกษตรอีสาน ภัยแล้งและความขัดแย้งด้านน้ำทั้งในและระหว่างประเทศมีแนวโน้มเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งอีสานประกอบไปด้วยลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขง
อีสานมีการผลิตขยะร้อยละ 26.8 ของประเทศ มีอัตราส่วนผู้ก่อกำเนิดของเสีย 81 : 1 ผู้รับบำบัดกำจัด ทำให้ความสามารถในการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีน้อย มีระดับความเป็นเมืองเพิ่มสูงขึ้น มีปัญหาการกระจายที่ดินไม่เท่าเทียม การพิพาทกับหน่วยงานรัฐ และการบุกรุกป่า มีพื้นที่ป่าร้อยละ 12 ของพื้นที่ภาค ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศร้อยละ 40
นอกจากนี้ อีสานเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช คือ แอ่งสกลนคร ได้แก่ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม และแอ่งโคราช ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ
ผู้เชี่ยวชาญจากการศึกษาวิจัย มองว่าอีสานจะเป็นภาคที่มีเศรษฐกิจที่ดี เนื่องจากมีสมาร์ทฟาร์มหรือเกษตรอัจฉริยะ (Smart farmer) และสตาร์ทอัพ (Startup) มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพื่อขยายตลาด อีสานควรเป็นพื้นที่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำงาน อีกทั้งยังมีการสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ที่รวมไปถึงแหล่งทุน การตลาด การเงิน และการเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
เบิ่งอีสาน ณ สถานการณ์ปัจจุบันจากพิกัดขอนแก่น
เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ “ผมบอกว่าขอนแก่นศตวรรษหน้า เรามีแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นจังหวัดที่อยู่เย็นเป็นสุขและน่าอยู่ที่สุดในโลก ถ้าเทียบก็เหมือนกับเป็นฉากทัศน์ที่สาม แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นก็คือความจริงที่ยังปรากฏอยู่ ความจริงคือนักการเมืองที่ยังคอร์รัปชั่น การรวมศูนย์อำนาจ ความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง โครงสร้างใหญ่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนของมิติของเศรษฐกิจกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่รุกคืบเข้ามาในธุรกิจต่างจังหวัดมากขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นท้องถิ่นชุมชนจะอ่อนแอมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเชิงมิติทางเศรษฐกิจ แต่โลกของความเป็นจริงจะอยู่ที่ฉากทัศน์ที่หนึ่ง แต่เวลาทำงานจะบอกว่าต้องทำความฝันกับความเป็นจริงให้เป็นหนึ่งเดียว
คิดว่าทางออกในเชิงของการดำรงชีวิต เชิงการทำงานจะเลือกฉากทัศน์ที่สอง แสงแดดรำไรและวงวันนี้ เห็นว่าเป็นการถกเถียงการแถลงที่มีคนที่มีความคิด ไอเดียดี ๆ มองปัญหาดี ๆ แต่สำคัญที่สุดก็คือ ความคิดดี ๆ ไอเดียดี ๆ ความหวังดี ๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนการกระทำยังไง การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาจากข้างบน ต้องเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา เปลี่ยนแปลงจากชุมชนท้องถิ่น ถ้าให้มองระหว่าง 2-3 ฉากทัศน์ คิดว่ายังมีแสงแดดที่รำไรอยู่ แต่สำคัญที่สุดจะเป็นฉากทัศน์ที่สาม คือ เราต้องลงมือทำ เลิกฝากความหวังไว้กับคนอื่น เลิกฝากความหวังไว้กับนักการเมือง โดยเฉพาะด้วยความเคารพ ที่เริ่มต้นในการพูดให้อิงว่าเราจำเป็นต้องทำงานภายใต้ความร่วมมือ ต้องประสานงานทุกภาคส่วน ประสบการณ์ของขอนแก่นทศวรรษหน้า เคยทำเรื่องฉากทัศน์มาก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และพบว่าฉากทัศน์ที่เราคิดไว้มันไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ลงมือทำ
สำคัญที่สุด คนที่จะทำต้องยกระดับ วันนี้เรามีคนที่มีความรู้ มีความเข้าใจเยอะ รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ รู้เท่าทันต่อการเมือง รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง แต่สำคัญที่สุดเมื่อไหร่จะทำ ถ้าทำนั้นแหละจะเห็นความรุ่งเรืองในฉากทัศน์ที่สาม”
จรูญพิศ มูลสาร สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น (ประเด็นทรัพยากร) “ปัญหาการออกแบบการพัฒนาที่ไม่ได้เอาต้นทุนมาวิเคราะห์ ต้นทุนที่มันจะเกิดขึ้นและสำคัญเลย คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมนุษย์อยู่บนโลกนี้และจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของโลก และ ณ ตอนนี้วิกฤตโลกกำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะภูมิอากาศ แต่ว่าพื้นที่ในอีสานเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยด้านภูมิอากาศที่สุดแล้ว ณ ตอนนี้ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นภายในอีก 10 ปี ข้างหน้า คือ การย้ายฐานลงทุนที่เริ่มต้นมาแล้ว
สถานการณ์ตอนนี้ในภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ที่ได้เก็บข้อมูลมาโดยฐานทรัพยากรมีการลดลง เนื่องจากมันถูกใช้อยู่เรื่อย ๆ และไม่มีการสร้างเพิ่มและเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ค่ามลพิษสูงขึ้น เนื่องจากการออกแบบการใช้มันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่มี ใช้ผิดวิธีทำให้เกิดปัญหาไม่สมดุลย์ โดยข้อมูลจากการทำวิจัยด้านเครดิตจากการคำนวณต่อคนมีการติดลบแต่ทิศทางการพัฒนาไม่ได้ถูกกำหนดโดยพื้นที่ แต่ถูกกำหนดโดยรัฐส่วนกลางมันทำให้เกิดปัญหามลภาวะสูงขึ้น โดยขอนแก่นติดอันดับที่ 1 ใน 10 ตลอด 10 ปี โดยมีเรื่องน้ำเสียเรื่องฝุ่นละอองและเรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมามันส่งผล กระทบต่อ สุขภาพวะของเศรษฐกิจและต่อการเป็นอยู่ การใช้ชีวิตของประชาชน แต่ถ้าจะพัฒนาให้ชุมชนไปข้างหน้าได้ต้องมองความหลากหลายของทรัพยากรและวิถีชีวิตของคน”
ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนนามกุล นักวิชาการอิสระ “คือถ้าดูสถานการณ์ปัจจุบันมันน่าจะอยู่เบอร์ 1 มันไม่ค่อยดี อะไรก็ไม่ดีไปหมด แต่เราดูย้อนหลังประวัติไปในช่วง 10 ปี 20 ปี ถ้าดูเฉพาะภาคการเมือง “ผมไม่คิดว่ามันจะดีขึ้น”เพราะว่าเรามีแต่นักเลือกตั้ง เราไม่มีคนที่จะเป็นปากเสียง ดังนั้น จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่ถ้าดูบริบทสังคม คนรุ่นใหม่มากขึ้น เรื่องที่เราไม่กล้าพูดในรุ่นผม พูดกันแต่เมาส์มอยในวงอาหาร ตอนนี้วงกาแฟ พูดในที่สาธารณะ ไฮปาร์ค เขาการพูดการแสดงตัว ถ้าดูบริบทสังคมการเปลี่ยนแปลงอันนี้มันใหญ่มาก มันเลยทำให้ผมคิดว่าน่าจะเป็นสอง เพราะบริบทสังคมคนรุ่นใหม่และความเเยกแยะในสังคมมันเป็นแรงกดทับมาก พอแรงกดทับมันมากก็จะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ คนรุ่นใหม่ไม่ทน เพราะอนาคตเขาจะไปอยู่ไหน มันจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่แต่มันไม่ไปถึงฉากทัศน์ที่สามหรอก มันจะดีขึ้นหน่อยหนึ่ง
ดังนั้นผมคิดว่าน่าจะเป็นฉากทัศน์สอง “ผมอยากให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องภาษีหรือทรัพยากรที่อาจจะไม่ใช่ตัวเงิน คนไทยชอบมองว่าพวกนีเป็นของกลาง แปลว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่ว่ามันไม่ใช่ ต้องคิดใหม่ว่ามันคือของเราทุกคน”
ดังนั้น คนที่จะมาบริหารจัดการจะต้องบริหารด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ถ้าโปร่งใสแบบตรวจสอบไม่ได้ ไม่ให้ตรวจ ไม่เรียกโปร่งใส และมีเหตุผลที่จะใช้ทรัพยากร เหตุผลที่จะใช้ทรัพยากรคืออะไร เช่น ของที่มันจะเป็นตรงกลาง ถนน ระบบไฟ ระบบสื่อมวลชน อันนี้ต้องลงทุน จะให้แต่ละรายไปทำคงไม่ได้ เราจะไปทำถนนเฉพาะหน้าบ้านเราคงไม่ได้ อันที่สองคือปัญหาเฉพาะหน้า เช่น อุบัติภัยอันนี้จำเป็นต้องแก้ปัญหา อันดับที่สาม สำคัญมาก คนที่จะเป็นคนใช้ทรัพยากรจะต้องเข้าไปใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์กับปัญหาสังคมที่ขึ้นโดยโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร เรื่องที่ดิน ระบบจ้างงานที่ไม่ดีระบบสวัสดิการไม่ดี
ผมคิดว่า ทรัพยากรซึ่งรวมภาษีของพวกเรา มันต้องถูกทำอย่างงี้ มันถูกใช้แบบนี้ ที่ผ่านมาไม่ใช่ ที่ผ่านตัดสินโดยคนไม่กี่คนเบื้อง หลังก็อาจจะมีผลประโยชน์ด้วย ไปซื้ออะไรที่คนเขาก็ตั้งคำถามว่าคุณจะไปรบกับใคร จะไปใช้อะไรในสถานการณ์แบบนี้ โควิด ทรัพยากร เศรษฐกิจแย่จะตายอยู่แล้วคนไม่มีกิน ทำมาหากินไม่ได้ ตกงาน คุณใช้เงินไปแบบนั้น เหตุผลมันคืออะไร ผมคิดว่าคนที่มาบริหารเป็นหลักคือรัฐบาล และระบบราชการ สองส่วนนี้คือส่วนสำคัญที่จะต้องแก้ไข ถ้าไม่ถูกแก้ไข ภาษีเราก็จะไปไหนไม่รู้ เราก็ไม่อยากเสียภาษี บาทหนึ่งก็ไม่อยากเสียนะ ผมคิดว่าผมอยากให้เขาสังเกตตรงนี้ครับ”
1 คำ สำหรับอนาคตอีสานในอีก 10 ปี ข้างหน้า
ในปี 2575 หรือ 10 ปีข้างหน้าเราจะอายุเท่าไร ? เรามองเห็นอนาคตภาคอีสานเป็นแบบไหน ? ขอ 1 คำสำหรับอนาคตภาคอีสานในอีก 10 ปี คำไหนที่เหมาะสมกับภาคอีสานที่สุด ซึ่งทั้งผู้ชมจากออนไลน์และผู้ร่วมเสวนาต่างได้ระดม 1 คำสำคัญมาแลกเปลี่ยนช่วยให้เห็นสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากหลากหลายมุมมอง
ฉากทัศน์อีสานและประเทศไทยในอีก 10 ปี
เมื่อลองจินตนาการถึงภาพอนาคตอีก 10 ปี ของอีสาน และประเทศไทย อาจจะมีภาพอีกหลากหลาย Infinity และอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น การมองไปข้างหน้าด้วยข้อมูลอย่างใคร่ครวญถึงปัจจัยแวดล้อม อุปสรรค โอกาสและเงื่อนไขที่รอบด้าน จะเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ร่วมเสวนาได้เห็นอนาคตเพื่อเตรียมรับมือและออกแบบร่วมกัน
“3 ภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของประเทศไทย 2575”
เสียงประชาชน เลือกอนาคตอีสาน เลือกอนาคตประเทศไทย