ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตคนอีสาน @เมืองอุบลฯ

ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตคนอีสาน @เมืองอุบลฯ

เรียบเรียง : วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง

เสียงประชาชน เลือกอนาคตประเทศไทย กับเวทีเสวนา Post election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ยังคงเปิดพื้นที่ “ฟัง” ข้อมูลที่หลากหลาย รอบด้าน และชวนมองอีก 10 ปี ข้างหน้าถึงฉากทัศน์สังคมไทย

เลือกอนาคตอีสาน เลือกอนาคตประเทศไทย

ฟังเสียงประเทศไทยล้อมวงคุยในพื้นที่โซนอีสานใต้ ณ ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อให้ผู้ร่วมสนทนา ทั้งจาก ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียง ได้ใคร่ครวญ เตรียมพร้อมรับมือ และออกแบบอนาคตบ้านของพวกเขาโดยการรับฟังเสียงซึ่งกันและกัน พร้อม ๆ กับการมองภาพอนาคตของพื้นที่ภาคอีสานและอนาคตประเทศไทยไปพร้อมกัน ในอีก 10 ปี ข้างหน้าของภาคอีสาน

ขอ 1 คำ สำหรับอนาคตภาคอีสานในอีก 10 ปี

10 ปีข้างคุณอยากเห็นอนาคตภาคอีสานเป็นแบบไหน ? เพจอยู่ดีมีแฮง ชวนระดม 1 คำ เมื่อนึกถึงอีสานในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2575  ชวนจินตนาการว่า ณ ขณะนั้น คุณอายุเท่าไร แล้วมีคำไหนที่เหมาะสมกับภาคอีสานที่สุด ทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา หรือเทคโนโลยีมันจะกลายเป็นแบบไหนในภาพฝันของทุกคน  และต่างมีหลากหลายคำร่วมแลกเปลี่ยนเข้ามาเพื่อขวนจินตนาการถึงอีสานแห่งอนาคต

ประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนในพื้นที่ ภาคอีสาน

นอกจาก 1 คำ ที่ผู้ชมออนไลน์ได้ระดมมาแลกเปลี่ยนและร่วมกันจินตนาการถึงประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อหาทางออก และข้อเสนอ เพื่อให้ทุกคนได้มีข้อมูลเพิ่มเติมในการมองอนาคต ทีมงานฟังเสียงประเทศไทย ยังได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์จากสาระประเด็นสําคัญ สถานการณ์และความต้องการเชิงพื้นที่ของภาคอีสานที่ศึกษาโดย สกสว. เมื่อพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลอาจยังไม่ครบถ้วนและลึกซึ้งเท่าที่คนในพื้นที่สัมผัสและอยู่ร่วมมา แต่จะขอใช้เป็นจุดตั้งต้น เพื่อนำสู่การพูดคุยบนความแตกต่างหลากหลายเพื่อเป็นข้อมูลในการแลกเปลี่ยนโสเหล่สนทนา ณ เมืองอุบลฯ

มิติเศรษฐกิจ 1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2) ปัญหาการขยายตัวของเศรษฐกิจของภาคในระดับต่ำ 3) การเข้าถึงบริการสาธารณสุข 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเกษตร 5) การใช้พลังงานทดแทน และ 6) การค้าชายแดนอาจเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอีสาน

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) มีข้อมูลจากการศึกษาระบุประชากรในอีสานมีรายได้เฉลี่ยสูงสุด 8,145 บาท/เดือน และรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 4,778 บาท/เดือน หนี้นอกระบบของประเทศไทย 68,003.43 ล้านบาท กระจุกตัวอยู่ในอีสาน ซึ่งมีแรงงาน 9 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตร 4 ล้านคน  และนอกภาคเกษตร 5 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 43.5 เป็นแรงงานย้ายถิ่น นอกจากนี้แรงงานในเกาหลีใต้ 168,711 คน เป็นแรงงานอีสานมากที่สุด

อีสานมีรายได้จากการท่องเที่ยว 73,892  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.4  ในช่วงโควิด-19 มีการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3  สูงกว่าทั้งประเทศ อีสานเป็นพื้นที่ได้รับรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีสูงสุด มีโอกาสในการพัฒนาพลังงานทดแทน มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า 1,600 เมกะวัตต์ มีการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว

มีมูลค่าการค้าชายแดน 335,255.3 ล้านบาท

ประเด็นเร่งด่วนมิติสังคม 1) ปัญหาความยากจน 2) การพัฒนาคนของ ภาคอยู่ในระดับต่ำ 3) การเข้าถึงบริการสาธารณสุข 4) การขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร 5) ความรุนแรงและความยุติธรรม และ 6) เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

ประเด็นเร่งด่วนสถานการณ์สังคม (People) อีสานมีจำนวนคนจนทั้งประเทศจะอยู่ในอีสานร้อยละ 44.8 และ 10 อันดับจังหวัดความยากจนอยู่ในอีสาน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 20,270 บาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ 6,000 บาท มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคต่อหัวประชากร 80,352 บาท / คน / ปี กลุ่มคนส่วนใหญ่ของภาคถึงร้อยละ 61.0 มีหนี้สินครัวเรือน คิดเป็น 8.7 เท่าของรายได้

เด็กอีสานทุก ๆ 1 ใน 3 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีลักษณะเป็นครอบครัวข้ามรุ่น หรือครอบครัวแหว่งกลาง มีข้อมูลว่า เด็ก ป.1 มี IQ 94.79 ต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากล และ IQ เฉลี่ยของทั้งประเทศ

ประเด็นเร่งด่วนมิติสิ่งแวดล้อม 1) การจัดการขยะและของเสีย 2) ปัญหาด้านภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ และ 3) พี่นที่ป่ากับที่ทำกินผู้ยากไร้

ด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) ปัญหาด้านภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ การจัดการขยะและของเสีย และพื้นที่ป่ากับที่ทำกินผู้ยากไร้ อีสานมีคุณภาพน้ำผิวดินอยู่ในระดับดี และมีการพึ่งพาแหล่งน้ำผิวดินจากแม่น้ำต่าง ๆ เช่น น้ำเลย น้ำสงคราม น้ำมูล หนองหาน น้ำพอง น้ำชี ลำปาว แม่น้ำเสียว ลำตะคอง และมีพื้นที่ชลประทาน 6.3 ล้านไร่ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่เกษตรอีสาน   ภัยแล้งและความขัดแย้งด้านน้ำทั้งในและระหว่างประเทศมีแนวโน้มเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งอีสานประกอบไปด้วยลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขง

อีสานมีการผลิตขยะร้อยละ 26.8 ของประเทศ มีอัตราส่วนผู้ก่อกำเนิดของเสีย 81 :  1 ผู้รับบำบัดกำจัด ทำให้ความสามารถในการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีน้อย มีระดับความเป็นเมืองเพิ่มสูงขึ้น มีปัญหาการกระจายที่ดินไม่เท่าเทียม การพิพาทกับหน่วยงานรัฐ และการบุกรุกป่า  มีพื้นที่ป่าร้อยละ 12 ของพื้นที่ภาค ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศร้อยละ 40

นอกจากนี้ อีสานเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช คือ แอ่งสกลนคร ได้แก่ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม และแอ่งโคราช ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ

ผู้เชี่ยวชาญจากการศึกษาวิจัย มองว่าอีสานจะเป็นภาคที่มีเศรษฐกิจที่ดี เนื่องจากมีสมาร์ทฟาร์มหรือเกษตรอัจฉริยะ (Smart farmer) และสตาร์ทอัพ (Startup) มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพื่อขยายตลาด อีสานควรเป็นพื้นที่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำงาน อีกทั้งยังมีการสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ที่รวมไปถึงแหล่งทุน การตลาด การเงิน และการเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

คนอีสาน เลือกอนาคตอีสาน เลือกอนาคตประเทศไทย

ตลอดการสนทนากว่า 3 ชั่วโมง และการเทียบเคียงภาพอนาคตอีสานและอนาคตประเทศไทย ซึ่งภาพอนาคตที่ว่านี้ อาจจะมีอีกหลากหลาย Infinity และอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่มีโอกาสที่จะเกิด โดยเรียกว่า “3 ภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของประเทศไทย 2575” ผ่านการทอแสงของดวงอาทิตย์ใน 3 ลักษณะ  มาให้ทุกคนร่วมโหวตกันว่า แต่ละท่านในทีนี้มองเห็นภาพอนาคตที่เราจะต้องเผชิญเป็นอย่างไร โดยใช้เป็นการเทียบเคียงกับพระอาทิตย์ที่ทอแสง ส่องแสงในลักษณะต่าง ๆ ทั้ง 1.สุริยุปราคา 2.เมฆหนา…แสงมาไม่ถึง และ 3.พระอาทิตย์ทรงกลด ท้องฟ้าแจ่มใส มีสายรุ้งรอบพระอาทิตย์ ซึ่งในเวทีโสเหล่เสวนา ณ เมืองอุบลฯ มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์และสิ่งที่มองเห็นในหลายลักษณะแตกต่างกันออกไป

คำปิ่น อักษร ผู้อำนวยการโฮงเฮียนฮักน้ำของบ้านตามุย

“การพลิกฟื้นแผ่นดินอีสาน เรียกได้ว่าเป็นความหวังที่ต้องปูไว้ เปรียบเสมือนแสงทอง ถึงแม้จะดับไปแล้ว” คำปิ่น อักษร ผู้อำนวยการโฮงเฮียนฮักน้ำของบ้านตามุย แลกเปลี่ยนถึงฉากทัศน์ที่มองเห็นและโหสตเลือกเมื่อนึกถึงอีสานในอีก 10 ปี ข้างหน้า

“ในสิ่งที่เป็นข้อเสนอการพลิกฟื้นแผ่นดินอีสาน ในส่วนของความหวัง เราต้องกลับมาคิดใหม่ในเรื่องทรัพยากร ดิน น้ำ ซึ่งเราถูกรุกล้ำโดยนโยบายจากรัฐจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง และแม่น้ำชี รวมถึงทรัพยากรที่เราถูกรัฐจัดการโดยที่มองคนละระบบ ไม่ว่าจะเป็นที่ดงมะไฟ ในเรื่องของเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดขอนแก่นที่กำลังจะเกิดอุตสาหกรรมโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะมา หรือว่าเป็นเขื่อนในแม่น้ำโขง รวมถึงสายส่งที่ผ่านไร่นาชาวบ้าน ต่างเป็นเรื่องเดียวกันกับสิ่งที่รัฐบาลมองเห็นและกินรวบมาทุกยุคทุกสมัย

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรารู้สึกอึดอัด แต่ถ้าให้พูดถึงในมุมมองของการเมืองหรือมุมมองจากมิติโลก จะเห็นว่าเกิดการตื่นตัวของวิกฤตศรัทธา วิกฤตความเชื่อต่าง ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดสั่นคลอนสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ยังคิดว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ เพราะคนรุ่นก่อนต่างแก่ชราเป็นโรคภัยและเสียชีวิต รุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาได้สร้างปรากฎการณ์มีการต่อสู้ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง การกลับไปรักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด และกลุ่มต่าง ๆ อาจไม่มีสังกัดองค์กรต่างเกิดมาเพื่อการอยู่รอดด้วยตัวเอง โดยไม่ได้พึ่งพารัฐบาล แต่ละคนต่างดูแลตัวเอง ประชาชนเริ่มดูแลตัวเอง จริง ๆ เราไม่ได้พึ่งพารัฐมา 8 ปีแล้ว เรายังต้องสู้กับรัฐในเชิงนโยบายป่าไม้ ในเชิงนโยบายเขื่อน ในเชิงนโยบายการผันน้ำที่แอบอ้างว่าจะสร้างความเจริญให้คนชาวอีสาน

คิดว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่จะคาดหวังกับสิ่งที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ คิดใหม่ แต่นักการเมืองหัวเก่าที่คิดเรื่องการแก้จน พักหนี้ ซึ่งเป็นการไม่พัฒนา เป็นการย่ำอยู่ที่เดิม ซึ่งได้ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง พร้อมอ้างรับปันผลกำไรในทุนไม่กี่ทุน แล้วพยายามอ้างความชอบธรรมหวังประชาชนจะได้ประโยชน์จากเกษตร จากไฟฟ้าที่มีเหลือเฟือล้นลาน หรือแม้กระทั่งในเรื่องของสิ่งที่พยายามกดทับ

การเมือง ทั้งเรื่องระบบการศึกษา ที่หลายคนเห็นว่า เด็กเกิดมาต่างสิ้นหวัง ยิ่งคนนี้ยุคที่ต้องไปสัมภาษณ์ใหม่ เก็บวิจัยใหม่ ช่วงศูนย์ปีถึงแปดเกิดมาในยุคนี้จะเป็นยังไง เยาวชนจะรู้สึกอย่างไรกับประเทศไทยในอนาคต ที่มีการแย่งชิงทรัพยากร วิกฤตโลก เขาเหล่านี้จะพบเจออะไรบ้างในชีวิต เราควรโอบอุ้มพวกเขา”

ฐานันดร พันธ์เพชร มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต

“พี่น้องเอ๋ย ไผว่าอีสานแล้ง ให้จูงแขนเข้ามาเบิ่ง มีเวทีฟังเสียงประชนชนปานนี้ มันสิแล้งได้จังได๋ สั่นดอกว่า” ฐานันดร พันธ์เพชร มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต เอ่ยผญาอีสาน เพื่อย้ำถึงความหวังที่เขามองเห็นจากการฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน  “ผมเลือกฉากพรรคที่สามพระจันทร์ทรงกลด ผมเห็นพระจันทร์ทรงกลดอยู่ตรงหน้าวงล้อมเห็นทุกยุคทุกวัย ที่มาห้อมล้อมเป็นแสงสว่างวงใหญ่ให้แผ่ออกให้ส่งผลไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชุน ของคนอีสานให้มีชีวิตดีขึ้น ให้มีความเท่าเทียมและความเสมอภาค นี่คือความความหวังที่ผมเห็นจากเวทีฟังสียงประชาชนครับ”

รุ่งทิวา วอทอง นักข่าวพลเมืองบ้านไร้เสียง

“เลือกฉากทัศน์ที่สองค่ะ แสงสว่างรำไร หลายคนได้พูดถึงความสิ้นหวัง ตอนนี้หลาย ๆ คนได้เผชิญ และได้เห็นแสงอาทิตย์เรืองรองหรือว่าแสงสว่างรำไร แต่แสงสว่างนั้นส่วนใหญ่จะพูดถึงแต่ตัวเอง ไม่ได้พูดถึงแสงสว่างจากหน่วยงานรัฐหรือนโยบาย” รุ่งทิวา วอทอง นักข่าวพลเมืองบ้านไร้เสียง อธิบายเหตุผลและฉากทัศน์ที่เลือกโหวต “ทุกคนพูดถึงแสงสว่างที่มาจากตัวเอง มาจากการรวมกลุ่มกันของคนที่ประสบปัญหาหลาย ๆ อย่าง ลูก ๆ ก็มีปัญหาของเขาเหมือนกัน การขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และขาดการเข้าถึงตอนนี้มันไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของการศึกษา เฉพาะคนมีเงินมีสิทธิ์ซื้อโอกาสให้ตัวเองเพียงเท่านั้นมันยังไม่เท่าเทียม พร้อมมองเห็นถึงนโยบายใน 20 ปี ยังคงครอบเราไว้อยู่ แต่ยังมีช่องทางที่จะพลิกและเปลี่ยนได้ แต่มันเป็นช่องเล็ก ๆ ที่มีแสงน้อยนิดแต่ก็ยังมีคนพยายามไปอย่าง คป.สม.ของอุบลราชธานีพยายามเปลี่ยนนโยบายให้เป็นประโยชน์ให้ได้ มีการรวมกลุ่มกัน มีการนำเสนอและทำนโยบายของตัวเองออกมา พร้อมนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอไปพรรคการเมืองที่เขาเห็นว่าเรารวมกลุ่มกันได้ใหญ่พอที่จะมีคะแนนเยอะ เขาอาจจะมาทำนโยบายที่สอดคล้อง แล้วนำมาขายให้กับพวกเรา แต่พอเอาไปแล้วก็ขายไว้แค่ตอนขายเสียงก็ได้ เช่นตอนนี้มีป้ายที่จะขึ้นเงินเดือนให้ อสม. ขึ้นเงินเดือนให้ผู้สูงอายุ สามพันบาท สวัสดิการ เจ็ดร้อยบาท

แต่พวกเราจะต้องติดตามด้วยว่าเอามาขายแล้ว เราสนใจนะ ไม่ใช่ว่ามาให้เงินเราสองร้อย เราเลือกไปเพราะตอบสนองต่อความต้องการของเรา พอเราไม่ติดตามก็ไม่ทำ ยกตัวอย่างความพยายามที่จะพลิกนโยบายที่ครอบเราอยู่ อย่าง คป.สม.เขาไปนอนหน้า ทำเนียบรัฐบาลห้าวันสิบวันอยู่เดือนหนึ่ง แล้วเขาก็ได้มติ ครม. ลงมา พอเรานำมติ ครม. ไปที่จังหวัด ทางรองผู้ว่าฯบอกว่า มติ ครม. ออกทุกวันอังคาร มันไม่ใช่กฎหมาย ก็ไม่ทำอะไรนะ  ลักษณะนี้ คือ ความหวังมาจากพวกเราเอง เรียกร้องจากพวกเราเองก็ได้ หาวิธีการเอากะลาที่ครอบพวกเราออกจากพวกเรา ถึงแม้ว่ามันจะหนักช่องทางมันอาจจะเล็ก แต่เราก็ต้องพยายาม เพราะยังมีรุ่นลูก ๆ หลาน ๆ ของเราที่รออยู่ แล้วก็เดี๋ยวมาช่วยกันง้างกะลาที่ครอบเราอยู่ ก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ”

อุบล อยู่หว้า ที่ปรึกษาเครือข่ายทามมูล

“การเมืองไทยมีปัญหาที่ใหญ่มาก แต่สิ่งที่การเมืองไม่เสนอเลยคือ อุดมการณ์ การเมืองไทยไม่เสนออุดมการณ์เลย” อุบล อยู่หว้า ที่ปรึกษาเครือข่ายทามมูล ย้ำถึงมุมมองต่อปัญหาการเมืองไทย

“อุดมการณ์ คือ เจตนาที่มุ่งมั่นจะพาสังคมไปจุดนั้น ซึ่งกลุ่มการเมืองต้องนำเสนอออกมา อุดมการณ์จะต้องเริ่มจากปัญหาหลักของแผ่นดินว่ามีปัญหาอะไร พรรคการเมืองจะต้องเริ่มจากปัญหานั้น ปัญหาที่ปรากฏให้เห็นที่ชัดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร ปัญหาความเหลื่อมล้ำเราอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลกร่วมกับรัสเซีย โคลัมเบียและเม็กซิโก เพราะฉะนั้น อุดมการณ์ทำให้การเมืองจะต้องเริ่มต้นที่ความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่มาก ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มการเมืองต้องนำเสนออุดมการณ์นี้ออกมาว่า จะลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมให้มันมากขึ้นได้ยังไง

แต่ว่าเราเห็นการเมืองที่นำเสนอตัวเลขเต็มไปหมด ผมขับรถออกมาจากบ้านเจอแต่ตัวเลขเต็มข้างถนน คำถามคือหรือประชาชนเราเข้าใจการเมืองแค่นั้น ผมไม่เชื่อว่าประชาชนไทยหรือประชาชนอีสานอ่อนด้อยเรื่องความเชื่อมโยง ปัญหาการเมืองกับโครงสร้าง ผมไม่เชื่อว่าพี่น้องเป็นแบบนั้น แต่มันคงอยู่ที่วิธีการเอาชนะซึ่งกันและกัน  อันนี้ประเด็นที่หนึ่งผมคิดว่า จากนี้ไปเราจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้กลุ่มต่างเมืองการเมืองต่าง ๆ นำเสนอให้การออกมา หรือมั่นคงมั่งคั่งเป็นอุดมการณ์ ถ้าเป็นก็นำเสนอออกมา ถ้าพรรคใดคิดว่าอุดมการณ์นี้เป็นการสร้างชาติให้อธิบายออกมาว่า มั่นคงมั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นอุดมการณ์ยังไง และมีรายละเอียดทางอุดมการณ์ยังไง

ประเด็นที่หนึ่งคือกลุ่มการเมืองไม่เสนออุดมการณ์ เอาตัวเลขผลประโยชน์เฉพาะหน้ามาเสนอกัน ประเด็นที่สองคือ การเมืองไทยไม่ให้เกียรติ และไม่ชอบธรรม ที่มาเลเซียก็ไม่ได้ มีพรรคที่ได้เสียงข้างมากเหมือนกัน ในที่สุดก็ให้ อันวาร์ ฮิบราฮิม ที่เป็นพรรค ส.ส. มากสุดมาตั้งรัฐบาล นั่นคือการเคารพความชอบธรรม ว่าคุณได้ ส.ส.มากที่สุด ก็ตั้งรัฐบาล

ที่นี้เราหลังการเลือกตั้ง มันอาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า เกมสกปรก ในการตั้งรัฐบาลโดยไม่สนใจความชอบธรรม เช่นการซื้องูเห่า การจัดการประนีประนอมผลประโยชน์กัน เพื่อตั้งรัฐบาลโดยไม่สนใจความชอบธรรม  อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่ง ที่คนมาอยู่ในวงนี้และในสื่อไม่ควรยอม ประชาชนไม่ควรยอมรับการตัดสินใจจากการเมือง ที่ไม่เคารพความชอบธรรมจากพรรคไหน ถ้าเขาได้ก็ต้องยอมให้เขาตั้งรัฐบาล พรรคไหนได้ ส.ส.มากก็ต้องให้เกียรติ นั่นคือเสียงจากประชาชนที่เป็นผู้เลือกตั้ง จากสองประเด็นที่กล่าวมาคืออุดมการณ์ที่จะต้องออกมากับต้องเคารพความชอบธรรม ผมอยากจะเสนอไว้เพียงเท่านี้ครับ”

นี่คือบางส่วนของการคุยที่ประชาชนหลากหลายความคิด มาร่วมหารือ อภิปราย และรับฟังกันอย่างใคร่ครวญ ไม่ด่วนตัดสิน หรือ Deliberative Dialogue เพื่อสะท้อนความต้องการ ความเห็น และรับฟังกันบนฐานข้อมูล ร่วมให้ข้อเสนอ หาทางออกของประเด็นทางสังคม ส่งต่อเสียงของพวกเราทุกคนสู่การกำหนดนโยบายในระดับพื้นที่ และประเทศ เพื่อออกแบบอนาคตสำหรับเราทุกคน ชุมชน พื้นที่ภาคอีสานและประเทศนี้

ซึ่งข้อมูลจากวงสนทนา จะถูกรวบรวมและส่งต่อสู่การขับเคลื่อนด้วยกระบวนการ Policy Innovation ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 เวทีทั่วประเทศ โดยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทําให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนกําหนดอนาคตของประเทศ ที่จะมีเวที Policy Hackathon ในปลายเดือนเมษายน 2566 นี้ เพื่อยืนยันถึงการฟังเสียงประเทศไทย เพื่อบอกถึงสิ่งที่อีสานเป็น สิ่งที่คนอีสานเห็นและเรากำลังทำเพื่อเลือกอนาคตอีสาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ