ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุเกินกว่า 12 ล้านคนแล้ว จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดร้อยละ 25. 2 โดยมีจังหวัดอุตรดิตถ์ อุทัยธานี และพิจิตรอยู่ใน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนร้อยละมากที่สุดซึ่งอยู่ในโซนภาคเหนือตอนล่าง (ประกอบด้วยพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ สุโขทัย อุทัยธานี และ อุตรดิตถ์)
จากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สังคม ชุมชนจึงต้องเตรียมความพร้อมกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ผศ. คมสันต์ นาควังไทร อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร แม่สอด ชี้ว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมมีการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น ขณะเดียวกันอัตราการเกิดก็น้อยลง ผลกระทบภาพรวมที่ตามมาคือ มีวัยทำงานน้อยลง ยกตัวอย่างกรณีที่อ.แม่สอด ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ตอนลงไปทำงานวิจัยด้านผู้ประกอบการพบว่า ขาดแคลนกำลังคนวัยทำงาน แปลว่าวัยทำงานน้อยแต่คนวัยเกษียณสูงขึ้น
มีกลุ่มผู้สูงอายุทั่วไปที่มีเงินดูแลตัวเองได้ หรือทำงานข้าราชการบำนาญซึ่งเป็นกลุ่มไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีอยู่ กลุ่มถัดมาคือกลุ่มที่ไม่มีเงินเกษียณและสุขภาพไม่ดีมีโรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ซึ่งคิดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการเข้ามาดูแลจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุด เพราะส่วนมากไม่มีลูกหลานดูแล กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มอื่นก็อาจจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพเช่นกันแต่อาจจะยืนระยะได้ยาวกว่าเนื่องจากมีพื้นฐานชีวิตที่ดีกว่า
รัฐสวัสดิการสำคัญอย่างไรกับโจทย์สังคมสูงวัย
ผศ. คมสันต์ ชี้ว่าสำคัญเนื่องจากคนสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รัฐควรเข้ามาดูแลหรือมีสวัสดิการที่ตอบโจทย์กับสังคมสูงวัย และยังมีเรื่องขาดแคลนกำลังวัยทำงาน รวมทั้งนักศึกษา วัยเรียนด้วย เพราะอัตราการเกิดใหม่น้อยลงมาก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจที่ขาดกลุ่มคนเหล่านี้ขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรม
อยากให้มีการสร้างอาชีพให้วัยทำงานที่เป็นลูกหลานผู้สูงอายุกลับมาทำงานในพื้นที่เพื่อกลับมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน รวมถึงรักษาสภาพจิตใจ ถัดมาคืออยากให้มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะและเข้ามาช่วยดูแลเรื่องสุขภาพ อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพกาย
ส่วนเรื่องการเก็บออมเงินสำคัญต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ รายได้ เพื่อเก็บสำรองไว้ในช่วงวัยเกษียณ ต้องวางแผนเรื่องกองทุนและประกันชีวิตด้วย หรืออีกวิธีคือออกจากงานประจำแต่มีอาชีพเสริมที่คนสูงอายุสามารถทำได้ เพราะบางคนเข้าสู่วัยเกษียณแต่ร่างกายยังไม่เสื่อมสมรรถภาพยังคงทำงานเลี้ยงชีพตัวเองได้อยู่
เช่นเดียวกับจังหวัดพิจิตรเป็นอีกพื้นที่เจอกับสถานการณ์สังคมสูงวัย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางภาคเหนือตอนล่างระหว่างจังหวัดนครสวรรค์และพิษณุโลก มีแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมไหลผ่าน มีลักษณะเป็นที่ราบคนส่วนใหญ่จึงทำการเกษตรเป็นหลักแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เกษตกรเป็นหนี้ ขาดแคลนแรงงาน แผนพัฒนาจังหวัดในปี พ.ศ 2566-2570 จึงมีเป้าหมายให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาคเกษตร การท่องเที่ยว มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวของชุมชนขับเคลื่อนเรื่องสังคมสูงวัยในพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยไม่ได้มองแค่กลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้นแต่รวมถึงวัยแรงงานและลูกหลาน เพราะผลกระทบเกี่ยวโยงกับ ‘คน 3 วัย’ อย่างที่ นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และทำงานในมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรมากว่า 11 ปี ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์และกระบวนการทำงานที่คิดค้นโดยคนในชุมชน
พิจิตรเป็นสังคมสูงวัยไป 20% แล้ว ปัญหาก็อย่างที่เห็นกระทบกันหมดทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ผู้สูงอายุบ้างก็อยู่คนเดียวหรืออยู่ตายายสองคน มีภาระต้องเลี้ยงหลานเพราะลูกต้องไปทำงานหากินที่อื่น บวกกับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่เหมาะอีก เป็นเหมือนกันหมดในภาคเหนือล่างรวมถึงพิจิตรด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรและเป็นหนี้สินเลยเป็นปัญหา
เมื่อพูดถึงสวัสดิการคือการแจกเบื้องต้นให้ชีวิตชาวบ้านพอจะมีเงินซื้อข้าวกินแต่ละวัน อย่างเบี้ยคนจน เบี้ยผู้สูงอายุก็ได้แค่นั้นแต่ความจริงพอไหมก็ไม่พอ และชาวบ้านไม่ได้ต้องการแค่นั้นแต่ต้องการจะช่วยตัวเองมากกว่า เพราะงั้นทุกวันนี้ผู้สูงอายุต้องดิ้นรนทำมาหากินเพื่อที่จะได้มีเงินมาเลี้ยงลูกหลานนี่คือสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคมสูงวัย
ถามว่าใครจะมาช่วยแก้ ถ้ารอแต่ราชการก็เห็นอยู่ที่ผ่านมาเป็นยังไง ทีนี้จะทำยังไงเพราะคนกลุ่มนั้นไม่ได้ลงมาแก้ มาแล้วก็ผ่านไปแต่ละปีการพัฒนาก็ไม่ต่อเนื่อง เพราะงั้นพิจิตรเราเลยก่อตัวชมรมผู้สูงอายุขึ้นมา
จุดเริ่มต้นของโรงเรียนผู้นำผู้สูงอายุจ.พิจิตร
ก่อตัวจากมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว และมองหาว่าปัญหาในเมืองคือเรื่องอะไรก็คือเกษตรกรป่วยเป็นมะเร็งจากสารเคมีเกษตรและเป็นหนี้สินเกือบ 100% ฉะนั้นโจทย์คือทำยังไงให้เกษตรกรสามารถแก้ปัญหาและพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งมีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่สามารถทำได้
ต่อมาทำยังไงให้คนเหล่านี้รวมตัวกัน วิธีคือให้แต่ละอำเภอหาว่าตำบลไหนมีการรวมตัวผู้สูงอายุเอาแกนนำคนกลุ่มนี้มานั่งคุยปัญหา หาวิสัยทัศน์ร่วมกัน นำภูมิปัญญาที่มีมาใช้ จากนั้นพาไปดูงานภาคอีสานซึ่งทำงานกันเป็นเครือข่ายเพราะงั้นกลับมาจึงนำเกษตรกร แรงงาน และผู้สูงอายุมาช่วยกันคิดเกิดเป็นโรงเรียนผู้นำผู้สูงอายุ ที่มีกระบวนการเรียนรู้จาก “ปราชญ์ชาวบ้าน”
บางคนเสียชีวิตไปแล้วก็มี หรือปัจจุบันบางคนอายุ 80 กว่าปีก็เป็นตัวอย่างให้ลูกหลานได้เรียนรู้ สิ่งนี้เกิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ไม่รอกระทรวงการพัฒนาสังคม หน่วยงานราชการแล้วลุกขึ้นมาทำเอง คำว่าภูมิปัญญารวมหมู่คือสิ่งนี้ไง
สานเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้กลับไปพัฒนาชุมชน
มีมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรเป็นตรงกลางเชื่อมร้อยเครือข่ายแต่ละตำบลเข้าด้วยกัน จัดเวทีสัญจรเดือนละครั้งเพื่อให้แกนนำชุมชนมาเรียนรู้กระบวนการว่าแต่ละอำเภอทำเรื่องอะไรและอันไหนคือเรื่องดี ก็มาแลกเปลี่ยน แชร์ร่วมกันแล้วนำเอากลับไปพัฒนาชุมชนต่อเกิดเป็นนโยบาย ‘1 อำเภอ 1 ต้นแบบ’ ต้นแบบการเรียนรู้ดูแลผู้สูงอายุที่ชุมชนคิดร่วมกัน
ยกตัวอย่างเช่น ด้านสวัสดิการ จากปัญหาเรื่องเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทไม่เพียงพอ ชุมชนจึงคิดนโยบายที่แต่ละพื้นที่ทำกันคือเก็บเงินวันละ 1 บาท ใน 1 เดือนจะมี 30 บาทหักจากเบี้ยผู้สูงอายุ เอาเข้าธนาคารกลางเก็บไว้ เงินที่มีอยู่เอาไว้สามารถนำมาใช้ในเวลาเจ็บป่วย หรืออยากกู้ก็สามารถกู้ได้หรือตายไปก็คืนเงินให้กับลูกหลาน เป็นนวัตกรรมสังคมที่ยั่งยืน หรือด้านเศรษฐกิจ มีนโยบายให้ทุกครอบครัวปลูกผักผลไม้ 14 ชนิด เพื่อลดรายจ่าย มีการรวมกลุ่มทำอาชีพเสริม
เราต้องสร้างเครือข่ายเอาคนดีคนเก่งที่มีใจทั้งชาวบ้าน พระสงฆ์เหมือนดอกไม้งามมาเชื่อมร้อยกัน มีมูลนิธิเป็นคนเชื่อมร้อยพวงมาลัย ฉะนั้นชมรมผู้สูงอายุแต่ละตำบลก็ต้องไปเชื่อมตำบลอื่นๆ เพื่อมาดูแลคน 3 วัยปัจจุบันมีพระสงฆ์เข้ามาร่วมด้วย ดูแลสุขภาพพระสงฆ์และวัดซึ่งปกติผู้สูงอายุเขาไปวัดกันอยู่แล้ว เอาวัฒนธรรม ทุนทางสังคมผนึกกลังเข้ามาเกิดเป็นนโยบายดูแลพระสงฆ์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
นายสุรเดชทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ยากกว่าการคิดวิสัยทัศน์ร่วมกันคือ การขับเคลื่อนยังไงให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ไทยพีบีเอสในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะ ทำหน้าที่สื่อสารที่ไม่ได้มองแค่ว่าเป็นกลไกของจังหวัด สื่อสารความจริงเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของแต่ละพื้นที่
ขบวนการนี้ดำเนินมานานกว่า 12 ปี ผ่านการคิดค้นนโยบายผ่านการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวิธีคิดร่วมกันของแต่ละชุมชนจนเกิดเป็นเครือข่ายดูแลคน 3 วัยที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ อย่างไรก็ตามหากมีการสนับสนุน นโยบายจากภาครัฐที่สามารถเข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ดีกว่าเดิม
การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงมีการเสนอนโยบายเรื่องต่าง ๆ ที่คิดผ่านมุมมองจากภาครัฐซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาและทำได้จริงอย่างที่เสนอไว้ได้หรือไม่ หรือหากประชาชนคนในพื้นที่ซึ่งอยู่ เห็นและมีไอเดียการแก้ปัญหาแบบชุมชนนั้นจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้หรือไม่ เป็นอีกโจทย์ที่ต้องร่วมคิดกันต่อหลังจากนี้
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอนโยบายได้ที่ Yourpriorities พื้นที่ระดมความคิดเห็นและการสร้างนโนบายแบบมีส่วนร่วม