30 มี.ค. 2566 – คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) รวมเครือข่าย 24 องค์กร ออกแถลงการณ์ก่อนการเดินหน้ายื่นหนังสือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุ ข้อกังวลต่อโครงการพัฒนาเมืองช้าง เนื้อที่ 8,687 ไร่ ในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา (Elephant Land) ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ จัดทำสถานที่ควบคุมช้างป่าที่มีพฤติกรรมดุร้าย ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแควระบมและป่าสียัด แปลงที่ RF111 หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะมีการสร้างแหล่งหากินของช้าง บนเนื้อที่ 6,000 ไร่ และสร้างที่อยู่อาศัยของช้าง บนเนื้อที่ 2,500 ไร่
กป.อพช. ให้ข้อมูลว่า พื้นที่เป้าหมายตั้งโครงการฯ ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบเพียง 5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนถึง 15 กิโลเมตร การสร้างถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากินของช้างป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ จะทำให้เกิดการเพิ่มปัจจัยดึงดูดช้างป่าออกมาจากป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่มากขึ้น อีกทั้งกังวลว่าในระยะยาวจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว หากไม่สามารถควบคุมช้างป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ได้ เนื่องจากช้างป่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องการพื้นที่เดินทางหากินเป็นอาณาบริเวณที่กว้าง
ทั้งนี้ กป.อพช. ระบุ ขอให้หน่วยงานผู้มีส่วนร่วมพัฒนาโครงการฯ เข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพิจารณาถึงหลักการจัดการสัตว์ป่าบนหลักวิชาการ การมีส่วนร่วม และสวัสดิภาพของคนและสัตว์ป่าในระยะยาว
แถลงการณ์ดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
00000
แถลงการณ์ เรื่อง ข้อกังวลต่อโครงการพัฒนาเมืองช้างในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา (Elephant Land) ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแควระบมและป่าสียัด แปลงที่ RF111 หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
ถึง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, อธิบดีกรมป่าไม้, องคมนตรี ในนามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์, อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และอธิบดีกรมการปกครอง
เนื่องจากได้มีแนวทางพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด แปลงที่ RF111 ในพื้นที่ หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา (Elephant Land) ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยมีวัตถุประสงค์โครงการฯ 1) เพื่อกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีภูมิประเทศเหมาะสมสำหรับเป็นเมืองช้าง เนื้อที่ 8,687 ไร่ ในท้องที่ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีรอยต่อระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรี 2) เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเกี่ยวกับช้างป่า และ 3) เพื่อแก้ไขปัญหาช้างทุ่งเดินหากินทำลายพืชผลและทำร้ายชีวิตของประชาชน ให้เข้ามาอยู่รวมกันในเมืองช้าง ซึ่งจะมีการดำเนินโครงการเมืองช้างฯ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ดังนี้
1. สร้างแหล่งหากินของช้าง บนเนื้อที่ 6,000 ไร่
2. สร้างที่อยู่อาศัยของช้าง บนเนื้อที่ 2,500 ไร่
3. สร้างฝายต้นน้ำลำธาร จำนวน 10 แห่ง
4. สร้างโป่งเทียม จำนวน 20 แห่ง
5. ทำทางตรวจการและแนวป้องกันไฟป่า
6. สร้างแนวป้องกันช้างออกนอกพื้นที่
7. สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาคารนิทรรศการ จุดชมวิว ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ลานจอดรถ และห้องน้ำ เป็นต้น
โดยในปี 2569 จะต้องมีเมืองช้างเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น และอยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนถึง 15 กิโลเมตร แม้ว่าในที่ประชุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 มีความคิดเห็นจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐหลายฝ่าย ถึงความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างฯ บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ยังได้มีการประชุมอีกครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐในระดับพื้นที่ โดยมี นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทราได้นำเสนอในที่ประชุมถึงโครงการพัฒนาเมืองช้าง ในพื้นที่แนวกันชน จังหวัดฉะเชิงเทราว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าในระยะเร่งด่วน ควรจัดทำสถานที่ควบคุมช้างป่าที่มีพฤติกรรมดุร้าย โดยมีพื้นที่ที่เหมาะสมคือ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด แปลงที่ RF111 ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการบุกรุกปลูกต้นยูคาลิปตัส และในระยะยาวควรพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านช้างป่าต่อไป ขณะเดียวกันด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 ได้นำเสนอแผนในการดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำในพื้นที่โครงการเมืองช้างฯ ด้วยเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ ขนาดความจุ 1.3 ล้าน ลบ.ม. ช่วงที่ 2 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ ขนาดความจุ 2.3 ล้าน ลบ.ม. และช่วงที่ 3 ดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำไปยังแปลงปลูกป่า และในวันที่ 16 มีนาคม 2566 นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ แปลงที่ RF111 เพื่อเตรียมการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างฯ ในพื้นที่แปลง RF111 นั้น
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และภาคีเครือข่าย จึงขอแสดงความกังวลต่อการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองช้างในพื้นที่แนวกันชนจังหวัดฉะเชิงเทรา (Elephant Land) ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 หมู่ที่ 10 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
1. พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมป่าสียัด แปลงที่ RF111 ซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่และประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยรอบพื้นที่ ได้แก่ บ้านศรีเจริญทอง หมู่ที่ 10 จำนวน 339 ครัวเรือน บ้านหนองใหญ่ หมู่ที่ 15 จำนวน 321 ครัวเรือน บ้านวังหิน หมู่ที่ 4 จำนวน 478 ครัวเรือน บ้านกระบกคู่ หมู่ที่ 18 จำนวน 448 ครัวเรือน ในตำบลคลองตะเกรา และบ้านท่ากลอย หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตะเกียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอท่าตะเกียบ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จำนวน 622 ครัวเรือน จึงมีความกังวลว่าในระยะยาวจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว หากไม่สามารถควบคุมช้างป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ได้ เนื่องจากช้างป่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องการพื้นที่เดินทางหากินเป็นอาณาบริเวณที่กว้าง และสามารถเอาชนะอุปสรรคสิ่งกีดขวางได้เสมอ ซึ่งมีบทเรียนสำคัญจากจัดการช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์เขาตะกรุบ จ.สระแก้ว ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรทบทวนบทเรียนเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนที่จะพัฒนาและดำเนินโครงการเมืองช้างฯ ดังกล่าว
2. ในการประเมินผลกระทบ ซึ่งโครงการเมืองช้างฯ ยังไม่มีการระบุในแผนยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนว่าจะมีการประเมินผลกระทบอย่างไร เนื่องจากเป็นโครงการที่มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้าน สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเสนอให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังกล่าว
3. ในการสร้างการมีส่วนร่วมยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านครบทุกมิติ ทั้งการร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมออกแบบวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผล และร่วมตรวจสอบถ่วงดุล อันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ และภาครัฐ จึงเสนอให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและรอบด้านครบทุกมิติ รวมถึงการบังคับใช้ มาตรา 52 แห่งพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อให้เกิดการจัดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา
4. การสร้างถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากินของช้างป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ จะทำให้เกิดการเพิ่มปัจจัยดึงดูดช้างป่าออกมาจากป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหน่วงให้ช้างป่าที่อยู่อาศัยหากินนอกป่าอนุรักษ์กลับเข้าป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ช้าลงหรืออาจไม่กลับเลย ซึ่งอาจจะสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าเพิ่มมากขึ้น จึงเสนอให้ทบทวนการใช้พื้นที่แปลง RF111 ในการดำเนินโครงการ ฯ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบในอนาคต
5. เนื่องจากพื้นที่แปลง RF111 อยู่ระหว่างสวนป่าลาดกระทิงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน หากมีการดำเนินโครงการฯ จะกลายเป็น Corridor ที่เชื่อมเส้นทางช้างป่าจากป่าอนุรักษ์ออกมาหากินนอกป่าอนุรักษ์ไกลขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ จึงเสนอให้ทบทวนพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ที่ว่า “ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจาย”
6. ช้างป่าที่พบนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ล้วนแล้วแต่เป็น “ช้างป่า” ที่ออกมาจากป่าอนุรักษ์ทั้งสิ้น มิใช่ “ช้างทุ่ง” ดังที่โครงการฯ นิยามว่า เป็นช้างที่เกิดและอาศัยอยู่นอกป่าอนุรักษ์ที่ไม่สามารถผลักดันเข้าไปในป่าอนุรักษ์ได้ ซึ่งจะสร้างความสับสนต่อสังคม จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนโครงการฯ ของสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
7. อีกทั้งเมื่อตรวจสอบพื้นที่แปลง RF111 พบว่ามีพื้นที่จำนวน เนื้อที่ 2,002 ไร่ ถูกนำไปเอื้อประโยชน์ให้กลับกลุ่มทุนพลังงานเพื่อใช้ปลูกป่าเพื่อชดเชยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon credit) ซึ่งทาง กป.อพช. และภาคีเครือข่าย เห็นว่าเป็นการฟอกเขียวให้กับกลุ่มทุนพลังงานที่ไม่คิดจะลดหรือหยุดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง ขณะที่นโยบายโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ยังคงเป็นที่ถกเถียงของสังคมด้านความไม่เป็นธรรมหลายประเด็น จึงเสนอให้ทบทวนการพิจารณาในการใช้พื้นที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานดังกล่าว
ด้วยเหตุผลทั้ง 7 ประการนี้ ทาง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และภาคีเครือข่าย จึงเกิดข้อกังวลต่อการพัฒนาโครงการเมืองช้างฯ ดังกล่าว และขอให้หน่วยงานผู้มีส่วนร่วมพัฒนาโครงการฯ ได้โปรดเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และพิจารณาถึงหลักการจัดการสัตว์ป่าบนหลักวิชาการ การมีส่วนร่วม และสวัสดิภาพของคนและสัตว์ป่าในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการเสนอให้มีการจัดการความสมดุลระหว่างจำนวนประชากรช้างป่ากับพื้นที่รองรับที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากร (Carrying Capacity) โดยการควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร พร้อม ๆ กับการพัฒนาศักยภาพพื้นที่รองรับที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกลุ่มป่าตะวันออก (Eastern Forest Complex) ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ มาโดยตลอด
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และภาคีเครือข่าย ลงวันที่ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566
—————————————–
รายนามองค์กรภาคีเครือข่าย
1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้
2. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ
3. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือตอนล่าง
4. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน
5. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคตะวันออก
6. ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม
7. เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง
8. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตร ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม
9. เครือข่ายชายฝั่งทะเลบูรพา 5 จังหวัดภาคตะวันออก
10. เครือข่ายประชาชล
11. เครือข่าย Thai C-CAN
12. มูลนิธิคนเพียงไพร
13. สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
14. เครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำระยอง-ประแสร์
15. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
16. กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (กลุ่มดาวดิน)
17. สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์
18. สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
19. สมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ
20. กลุ่มพลเมืองลิง
21. เครือข่ายเยาวชนลพบุรี
22. เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนลพบุรี (ราษฎรลพบุรี)
23. สภาประชาชนภาคใต้
24. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล