ฟังเสียงประเทศไทย: เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคตะวันออก

ฟังเสียงประเทศไทย: เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคตะวันออก

เศรษฐกิจดี เทคโนโลยีก้าวไกล การศึกษาเท่าเทียม ทรัพยากรแวดล้อมสมบูรณ์ สังคมเป็นธรรมและเสมอภาค สิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพฝันในอนาคตของใครหลาย ๆ คน ที่เฝ้ามองและอยากจะให้เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้เราทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมั่นคงขึ้น 

เช่นเดียวกับตัวแทนคนภาคตะวันออกกว่า 30 คน ทั้งนักวิชาการ ตัวแทนเกษตรกร ชาวประมง ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และนักพัฒนาชุมชน ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยได้เชิญชวนมาร่วมแลกเปลี่ยนความฝัน และความหวังต่อภาพอนาคตที่อยากจะให้เกิดขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคที่ตัวเองอยู่ ไปจนถึงระดับประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ผ่านประสบการณ์และสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญร่วมกันมา

แต่ก่อนที่ทั้ง 30 ท่าน จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนภาพฝันต่ออนาคตของตัวเอง ทางรายการเราได้เปิดคำถามให้ทุกคนที่มาร่วมสนทนาในวันนั้นได้ร่วมตอบคำถามไปพร้อม ๆ กับคนบนโลกออนไลน์ด้วยว่า  “อนาคตภาคตะวันออก แบบไหนที่แต่ละคนอยากจะให้เป็น” 

นี่คือความคิดเห็นที่เรารวบรวมมาให้ทุกคนได้อ่านกัน โดยคำสำคัญเหล่านี้เป็นเสมือนสารตั้งต้นของการพูดคุยขยายประเด็นในวงสนทนาครั้งนี้ด้วย 

ภาคตะวันออกมีอะไร?

ภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคที่มีเนื้อที่เล็กที่สุดในบรรดา 6 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีพื้นที่เพียง 34,380 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 6% ของพื้นที่ประเทศ แต่กลับเป็นภูมิภาคที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ และภาคกลาง 

ในช่วงปี 2554-2561 เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% สูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 4.5% โดยปี 2561 ภาคตะวันออกมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของ GDP ประเทศ

000 GDP 000

พื้นที่เศรษฐกิจหลักของภาคตะวันออกกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ ดังจะเห็นจากสัดส่วนของ GDP ต่อภาคคือ

  1. ชลบุรี ร้อยละ 34.8
  2. ระยอง ร้อยละ 32.7
  3. ฉะเชิงเทรา ร้อยละ 12.7 

ขณะที่จังหวัดที่มี GDP จังหวัดต่อภาคต่ำที่สุดคือ จังหวัดนครนายก ร้อยละ 1 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การกระจายการพัฒนาในภาคตะวันออกยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่

000 ด้านเศรษฐกิจ 000

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกพึ่งพาอุตสาหกรรมมากที่สุด จากข้อมูลสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เฉลี่ยช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2562) คือ

  •  ภาคอุตสาหกรรม เหมืองหิน เหมืองแร่ และอื่นๆ มีสัดส่วนร้อยละ 65.3
  •  ภาคบริการ ค้าส่งค้าปลีก และขนส่งฯ มีสัดส่วนร้อยละ 28.5
  • ส่วนภาคการเกษตรมีบทบาทน้อยเพียงร้อยละ 6.3

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรพรีเมียมที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่นกัน ทุเรียน มังคุด ลำไย

000 ด้านการเกษตร 000

ภาคตะวันออกมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตข้าว พืชผัก พืชหัว อาทิ มันสำปะหลัง และเป็นแหล่งผลิตผลไม้ และผลไม้แปรรูปที่สำคัญของประเทศ รวมท้ังยังมีศักยภาพในด้านการทำประมง ทั้งประมงชายฝั่งและประมงน้ำลึก 

แหล่งการทำเกษตรที่สำคัญของภาคตะวันออก คือ

  1. จันทบุรี มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 39.9
  2. ระยอง ร้อยละ 14.4
  3. ฉะเชิงเทรา ร้อยละ 10.7
  4. ตราด ร้อยละ 10.4 

ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมของภาคตะวันออกได้เปลี่ยนไป พื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยมากขึ้น

000 ด้านอุตสาหกรรม 000

ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็มีความท้าทายสำคัญคือ การรองรับการพัฒนาและการลงทุนอุตสาหกรรม ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสะอาด เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นหมายรองรับการลงทุนแห่งอนาคต เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์

แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ มลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ปัญหาน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ขยะ การแย่งน้ำ และการจราจรติดขัด

000 ด้านการท่องเที่ยว 000

ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น พัทยา เกาะช้าง และเกาะเสม็ด

แต่ในช่วงที่ผ่านมา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งของภาคตะวันออกประสบปัญหา เสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย โดยเฉพาะชายหาดและแหล่งปะการังธรรมชาติ ปัญหาขยะมูลฝอย และมีการบุกรุกพื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว

000 การเจ็บป่วย 000

ด้านสุขภาพ ประชาชนในภาคตะวันออกมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น มะเร็ง ความดันโลหิต หัวใจ เบาหวานและหลอดเลือดสมอง มากขึ้น

เพิ่มขึ้นจาก 5,866.6 ต่อประชากรแสนคนในปี 2559 มาเป็น 6,644.1 ต่อประชากรแสนคนในปี 2562

และยังมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนซึ่งมีผู้เสียชีวิตร้อนละ 26 ของทั้งประเทศในปี 2562


000 ปัจจัยที่กระทบต่อภาคตะวันออก 000 

1. โครงการลงทุนขนาดใหญ่ อย่าง เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นำมาสู่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่  โดยเฉพาะโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเชื่อมระบบการขนส่งระหว่าง EEC กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

2. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดิน เปลี่ยนกฎหมายผังเมือง จากแผนผัง EEC ที่ตั้งเป้ารองรับการขยายตัวของเขตเมืองอีก 20 ปี ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 8.29 ล้านไร่ รองรับประชากร 6 ล้านคนเศษ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน รูปธรรมที่ปรากฏคือพื้นที่เกษตรกลายเป็นอุตสาหกรรม อีกทั้ง ยังกำหนดให้พื้นที่เมือง ที่อยู่อาศัย และพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรม สามารถตั้งโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ โดยพื้นที่เมืองส่วนใหญ่อยู่ติดทะเล ทั้งเมืองพัทยา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่เมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

3. ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำ สถานการณ์น้ำในชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่พื้นที่เหล่านี้กลับถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของ EEC  โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกผลักดันให้เป็น “มหานครผลไม้” โครงการจัดการน้ำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าวในระยะยาว จนอาจได้รับความเสียหายอย่างไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อีก 

โอกาสและข้อท้าทายของ “ภาคตะวันออก”

ดร.นรากร ศรีสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ หนึ่งในนักวิชาการที่ทำการศึกษาความต้องการระดับพื้นที่ Area Needs ภาคตะวันออก กล่าวว่า ข้อน่าสังเกตจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เมื่อปี 2564 เราพบว่า อันดับหนึ่งที่ทั้งคนในพื้นที่และนักวิชาการให้ความสำคัญเลยก็คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ปี 2565 ที่เราได้ทำการสำรวจอีกหนึ่งรอบ เราพบว่า คนให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจหรือความยากจนเป็นอันดับแรก  

ตรงนี้ลองมองดูว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของโควิด-19 ที่มันยาวนาน แล้วเพิ่งมาเกิดผลในปีที่แล้ว อันนี้เป็นประเด็นสั้น ๆ ที่เอามาแลกเปลี่ยน เพื่อดูว่าคนในภาคตะวันออก หรือผู้ทรงคุณวุฒิในภาคตะวันออกมอง 3 มิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ด้าน บุบผาทิพย์ แช่มนิล ประธานคณะกรรมการประสานงาน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคตะวันออก มองถึงคนรุ่นใหม่ที่ความจะได้รับโอกาสทางด้านการศึกษาที่ไม่เหลื่อมล้ำ เพราะเด็ก ๆ เติบโตมา อยู่ในกระบวนการแข่งขันเรื่องของการศึกษา ใครไม่สามารถไปสายพานนี้ได้ ก็ถูกเขี่ยตกหมด กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่กลับไปอยู่ในพื้นถิ่นก็ทำอะไรไม่ได้ 

ตามที่อาจารย์นรากรบอก 3 อันดับแรกในแต่ละด้าน ล้วนแล้วมาจากผลพวงของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เวลาเรามาพูดถึง ณ ปัจจุบันนี้ ที่เรากำลังคุยกันว่า EEC คือโอกาสหรืออุปสรรค แต่มันครอบคลุมชีวิตไปทุกด้านเลย ทั้งด้านบริบทพื้นที่ ด้านคุณภาพชีวิต 

เรายืนยันไม่ว่า ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี แต่เรามีบทเรียนจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ถ้าเราเอา EEC มาเป็นตัวตั้งแล้วช่วยกันคลี่ออกมาก็จะเห็นว่า ถ้าจะทำให้ไม่ให้คนตกงาน ว่างงาน ควรจะทำอย่างไร 

สุเมธ เหรียญพงษ์นาม กลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ จ.ปราจีนบุรี มองว่า EEC ถ้าชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม อย่างเช่นที่ ปราจีนบุรี กำลังจะเป็นอุตสาหกรรมกำจัดขยะครบวงจรของโลก เพราะรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าขยะทุกอย่างมาที่ประเทศไทยหลังจากที่ประเทศจีนปิดแล้ว ด้วยคำสั่ง 4/2559 

รวมไปถึงคำสั่งยกเลิกผังเมืองทุกอย่างที่มี ถ้าคุณอยากจะตั้งอุตสาหกรรม บ่อขยะที่เกี่ยวข้องกับโรงขยะ อุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือโรงไฟฟ้า คุณจิ้มมาได้เลยตรงไหนก็ได้ เกษตรกรรมชั้นดีก็สามารถจิ้มมาได้ ด้วยคำสั่งของ 4/2559 ในคณะปฏิวัติ

แต่จริง ๆ แล้วต้องถามประชาชนในพื้นที่หรือเปล่า ว่าต้องการไหม บ่อขยะไปตั้งที่บ้านผม เหม็นทุกวัน ทั้งวัน ทั้งคืน ไม่มีใครแก้ไขปัญหานี้ได้ รัฐบาลก็ยังแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้     

ประไพ สาธิตวิทยา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงสามัคคีบ้านพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กล่าวว่า อุตสาหกรรม หรือ EEC ที่จะเข้ามา เราไม่ได้ว่า แต่ขออย่างเดียวว่า โรงงานที่มาตั้ง อย่าทิ้งน้ำเสียลงทะเล เพราะตอนนี้เรากำลังเจอผลกระทบ สัตว์น้ำน้อยลง พื้นที่ทำกินเราหมดไป เขาถมทะเลออกไปอีก 1,500 ไร่ เราเดือนร้อนเพราะพื้นที่เราแคบลง พื้นที่ทำกินเราน้อยลง สัตว์น้ำเราน้อยลง แถมต่อไปประมงชายฝั่งต้องเสียภาษีอวนอีกเมตรละ 0.25 บาท      

โชติชัย บัวดิษ ผู้จัดการสวนสุภัทราแลนด์ ตั้งคำถามว่า EEC ทำให้เกิดโอกาศด้านการท่องเที่ยวอย่างไร เพราะงบประมาณ EEC ไม่ได้เป็นผู้ถือ แต่เป็นคนออกนโยบาย นโยบายส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม แต่อย่าลืมว่าคนประมาณ 70% – 80% ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและบริการ ส่วนอุตสาหกรรมมาจากที่อื่นทั้งนั้น มาใช้ประโยชน์ซะส่วนใหญ่ แต่คนที่ทุกข์ใจ คือคนในพื้นที่ 

วัฒนา บรรเทิงสุข นักวิชาการสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเป็นยา มองว่า เรื่องของความจริงใจและความซื่อสัตย์ที่เราต้องอยู่ร่วมกัน ซึ่งภาคเกษตรของเราที่บอกว่ามีมากถึง 70% เป็นเพราะเราไปไหนไม่ได้ ต้องกัดฟันทำ เพื่อให้พวกเรามีกิน แต่วิถีที่มันเปลี่ยนไป เราก็ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ แต่คณะที่ทำ เราทำสิ่งที่เพื่อไปซื้อข้าว ซื้ออาหาร และซื้อสุขภาพด้วย

ภาพอนาคตประเทศไทย 2575

หลังจากฟังเสียงสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ รวมถึงโอกาส และความท้าทายด้านศักยภาพของภาคตะวันออกแล้ว ทีมงานฟังเสียงประเทศไทยเราได้ประมวลภาพอนาคตที่อาจจะเป็นไปได้ในอีก 10 ปี ข้างหน้ามาให้ทุกท่านได้ร่วมกันเลือกและเติมข้อมูลกันต่อด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 สุริยุปราคา 

ประเทศไทย ยังวนเวียนอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว แม้ภาคท่องเที่ยวจะกลับมาเฟื่องฟู แต่ยังเน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จนสภาพแวดล้อมทรุดโทรม 

ภาคเกษตรตกไปอยู่ในมือทุนใหญ่จากต่างชาติ ขณะที่รัฐยังคงมีวิธีคิดแบบรวมศูนย์ไม่ยอมกระจายอำนาจ การทุจริตคอร์รัปชันฝังรากลึกเกินเยียวยา 

ด้านการศึกษา ถือเป็นยุคล่มสลายของระบบท่องจำและการกำกับเนื้อหาจากส่วนกลาง ขณะที่ลูกหลานคนรวยมีทางเลือกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เปราะบางถึงขั้นวิกฤต จากปัญหามลภาวะทั้งอากาศ ดิน และน้ำ รวมถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร 

ต้นทุนด้านสุขภาพคนไทยสูงลิ่ว จนคนจำนวนมากเข้าไม่ถึง และบุคลากรทางการแพทย์ยังขาดแคลน กลุ่มคนสูงวัยและอาชีพอิสระที่ขาดหลักประกันทางสังคม และไร้เงินออม กลายเป็นอีกปัญหาของสังคม

ฉากทัศน์ที่ 2 แสงแดดรำไร 

ประเทศไทยประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอด ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทุนใหญ่ใช้ฐานข้อมูล Big Data และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มครอบงำตลาดขณะที่คนรุ่นใหม่ปรับตัว กลายเป็นแรงงานอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและกฎหมายแรงงาน แต่ขาดความมั่นคง

ด้านการศึกษาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างกว่าในห้องเรียน โรงเรียนเล็กแต่ยังต้องเผชิญการยุบ-ควบรวม เพราะคนเรียนและงบประมาณน้อย ส่วนในระดับอุดมศึกษา กลายเป็นมหาวิทยาลัยแพลตฟอร์ม และเน้นการเปิดสาขาในพื้นที่ต่าง ๆ

สังคมและคุณภาพชีวิต แม้มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่ก็ต้องจ่ายแพง ขณะที่ความสัมพันธ์กลับเหินห่าง กลายเป็นสังคมปัจเจกเต็มรูปแบบ คนสูงวัยมีแนวโน้มใช้ชีวิตตามลำพัง และต้องพบกับความเจ็บป่วยที่ได้รับจากช่วงวัยทำงาน สวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้เข้าถึงการรักษาที่ดีและทันท่วงที

ฉากทัศน์ที่ 3 พระอาทิตย์ทรงกลด

ประเทศไทยพุ่งทะยานไปข้างหน้า จากวิสัยทัศน์ของรัฐที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่มุ่งสร้างความแตกต่างในทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์

ประชาชนสามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาชุมชน เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างรายได้พึ่งพาตนเองในชุมชน มีการยกระดับความรู้จนเกิดเป็นปัญญารวมหมู่ ส่งผลให้คนในสังคมเท่าทันและใช้เทคโนโลยีเพื่อสมดุลของชีวิต ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม 

ในมิติสุขภาพมีการใช้ระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม ขณะที่ด้านการศึกษาเรียนรู้ของไทย คนทุกวัยสามารถใช้ฟอร์มและช่องทางออนไลน์ทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา ครูทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษา ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่า จะปรึกษากับคนหรือปัญญาประดิษฐ์

ส่วนการศึกษาในท้องถิ่นได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ทำให้ความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและภาษาที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น อย่างสร้างสรรค์

แลกเปลี่ยนกับคนพื้นที่

ภาราดร ชนะสุนทร ประธานกลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง พอเห็นฉากทัศน์แรกผมก็เลือกเลย ไม่ต้องอ่านฉากทัศน์ 1-3 เพราะสิ่งที่เราทำหรือเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นนโยบายที่ไม่มีความพร้อม ระยองเหมือนกับถูกนโยบายรัฐมัดมือชกให้ EEC เข้ามาสร้างปัญหาให้กับชุมชน สุขภาพของคนระยองแย่ลง ต้องเสียเงินให้โรงพยาบาล 
  
ตาล วรรณกูล ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่า กลุ่มฟันน้ำนม จ.ฉะเชิงเทรา ถ้าไม่เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ยังเป็นสุริยุปราคา ผมเลือกอันนี้ โดยให้ความจำกัดความไว้ว่า กีดกัน ริดรอน กดทับ ผูกขาด สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ แม้แต่รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้กับพวกเรา ก็คือ 4 คำนี้

ถ้าเราไปดูที่ดัชนีความก้าวหน้าของคน ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำ การจ้างงานของคนภาคตะวันออกสูงเป็นอันดับหนึ่ง 0.82% รองลงมาเป็นเศรษฐกิจ 0.74% ในมิติเศรษฐกิจ มิติการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเป็นอันดับหนึ่ง เหมือนจะมีประโยชน์กับผู้คนทั่วไปในประเทศนี้ แต่ลองมองย้อนไปด้านอื่น ๆ ด้านสุขภาพต่ำ 0.68% การศึกษายิ่งต่ำ 0.58% ที่อยู่อาศัย 0.59% การมีส่วนร่วมอยู่อันดับสุดท้ายเลย 0.52% อันนี้คือผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้เกิดดัชนีความเหลื่อมล้ำ สะท้อนถึงการพัฒนาประเทศโดยที่ไม่เห็นหัวประชาชน
 
อบรม อรัญพฤกษ์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง  ผมก็มีความหวัง เรามองว่า 10 ปี การที่เราจะเช้งทุกอย่างได้ ทุกคนต้องมีหวัง เพราะฉะนั้นผมเลยเลือกข้อสุดท้ายพระจันทร์ทรงกลด ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าประเทศไทยมันไปได้อีก

อันนี้อาจจะแตกต่าง และมีเหตุผลส่วนตัวว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงถึงแม้มันยากก็ต้องเปลี่ยน วันนี้อาจจะยากพรุ่งนี้อาจะง่าย แต่ถ้าเราบอกว่ามันไม่ได้เลย ประตูปิด ประตูปิดนี่หนักเลยนะ ประเทศไทยลูกเราจะอยู่อย่างไร อันนี้สำคัญ ผมอยากจะฝากว่าประตูปิดไม่ได้ เราต้องมีทางออก เราต้องมีความหวัง
พีระพัฒน์ สนองสุข อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ตอนแรกก้คิดแล้วว่าจะเลือกข้อ 1 แต่ไป ๆ มา ๆ พออ่านข้อ 2 แล้ว ผมเลือกข้อ 2 ดีกว่า เพราะผมคิดว่าคนไทยเรามีศักยภาพในการดิ้นรนด้วยตัวเองสูง อย่างพี่ ๆ ที่มานั่งบางคนไม่ได้ทำงานราชการ ไม่ได้รับเงินเดือนจากรัฐ แต่เราก้ดิ้นรนกันเพื่อชุมชน และผมเห็นว่าเรามีคนรุ่นก่อน รุ่นหลัง และคนรุ่นใหม่ที่มีแรงมีไฟกำลังพยายามช่วยกันอยู่ ผลเลยคิดว่า แสงแดดรำไรมันพอเป็นไปได้ ถึงแม้ว่ารัฐอาจจะยังไม่เปลี่ยนแต่เรามีคนไทยที่ยังดิ้นรนไปด้วยกัน สู้ไปด้วยกันอยู่

ส่วนในวงการเทคโนโลยีเราจะเน้นการแบ่งปันมากกว่า เราจะไม่ปิดกั้นข้อมูล เรามีโอเพ่นซอส ซอฟแวร์ที่มันเปิด คนจะยิ่งชอบ ยิ่งควรส่งเสริม ด้านข้อมูลเหมือนกันเราไม่ควรว่าเป็นชาติใดชาติหนึ่ง ควรแชร์กันทั้งโลก เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มากกว่า และมันยิ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง ยิ่งข้อมูลแชร์ออกไปมากขึ้

แลกเปลี่ยนกับเรา

หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลศักยภาพของพื้นที่ภาคตะวันออก ควบคู่ไปกับเสียงสะท้อนจากตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คุณคิดว่า อนาคต หรือ ทิศทางการแก้ไขปัญหา ควรเดินหน้าต่อไปทางไหน สามารถร่วมโหวตฉากทัศน์ที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลย

หรือท่านไหนสนใจอยากฟังเนื้อหาของวงเสวนาฟังเสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคตะวันออกแบบเต็มรูปแบบ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ