ส่องวิกฤตปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือตอนบน ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนมาอย่างยาวนาน

ส่องวิกฤตปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือตอนบน ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนมาอย่างยาวนาน

โดย กิตติศักดิ์ กรีบกำไร, ดาวิกา หวังผล, ธัญชนก ธิน้อมธรรม, พันธนันท์ กาศโอสถ, ภัทราวดี ตงเท่ง, ศิริวรรณ์ สุรินทะ, กิตติกานต์ ปัญญานวล, พิมพ์กานต์ คำจุมปู, กิรณา กิริยาภรณ์ และวิสุนัน สุยะกัน

ภาคเหนือตอนบนประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ น่าเที่ยว ด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม และมีบรรยากาศดี แต่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ฤดูฝุ่นควัน’ ที่ทำลายภาพจดจำอันงดงามของภาคเหนือตอนบนเนื่องจากสถานการณ์ “ฝุ่นควัน” ทำให้หลายจังหวัดมีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยแอพพลิเคชั่น AirVisual สามารถวัดค่าคุณภาพทางอากาศได้มากกว่า 151 AQI i ขึ้นไป ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนี้ จะยิ่งทวีความหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต หากไม่ร่วมมือกันการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

นิสิตสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่ศึกษาในรายวิชาวารสารศาสตร์ข้อมูลดิจิทัล ได้สืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฝุ่นควันในภาคเหนือตอนบนจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อาทิ www.gistda.or.th , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และHDCservice กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น พบข้อมูลที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบเพื่อให้ภาคเหนือตอนบนกลับมาสวยงามในทุกฤดูเช่นในอดีตที่ผ่านมา  

ที่มาของปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ

สาเหตุของการเกิดฝุ่นควันในภาคเหนือตอนบน มีการศึกษาวิจัยและรายงานจากหลายภาคส่วน ระบุว่าสาเหตุหลักเกิดจากการเกิดไฟป่าโดยสาเหตุของการเกิดไฟป่าเกิดจาก 2 สาเหตุ    คือ
1. เกิดจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด และการลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต (spontaneous combustion) เป็นต้น

2. เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไร่หรือเศษวัสดุทางการเกษตร การเก็บหาของป่า การกำจัด และการล่าสัตว์ เป็นต้น

ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดไฟป่าไว้ว่า ภูมิศาสตร์ของภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะลักษณะของป่าแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ใบไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดไฟป่า การพัดพาของลมจะทำให้ไฟลุกติดได้ง่ายและไกลขึ้นและด้วยสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเทยิ่งทำให้ฝุ่นควันมีเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้ง ชาวบ้านในภาคเหนือส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว จะเผาป่าเพื่อเริ่มทำการเกษตรครั้งใหม่ หรือพืชบางชนิดอาจต้องใช้ไฟเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตหรือผลัดเปลี่ยน เช่น เห็ดเผาะเมื่อมีต้นไม้และหญ้าขึ้นคลุมผิวดินมาก ๆ จะไม่สามารถขึ้นได้และยากต่อการหา จึงทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเมื่อเผาป่าเพื่อหาของป่าได้ง่ายขึ้น จะเห็นได้จากข้อมูลแสดงการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ปี 2563 – 2565 ที่มีการแบ่งออกเป็นคดีต่าง ๆ ดังนี้ 

ข้อมูลจากรายงานสถิติคดีเกี่ยวกับการป่าไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ทั้งหมด 6,219 คดี โดยส่วนใหญ่ คือ คดีอื่น ๆ (คดีบุกรุกพื้นที่ และคดีทำไม้)  จำนวน 3,580 คดี คิดเป็นร้อยละ 57.57 รองลงมา คือ คดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า จำนวน 1,875 คิดเป็นร้อยละ 30.15 นอกจากนี้ยังมีคดีไฟป่า จำนวน 635 คดี คิดเป็นร้อยละ 10.21 และอันดับสุดท้าย คือ คดีเกี่ยวกับของป่า จำนวน 129 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.07 

จากรายงานสถิติดังกล่าวแม้จะมีการระบุว่ามีจำนวนคดีไฟป่าเพียง 635 คดี แต่แท้จริงแล้วคดีสัตว์ป่า และคดีหาของป่าก็มีส่วนเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดไฟป่าได้ เช่น การเผาป่าให้เกิดควันเพื่อเอื้อต่อการล่าสัตว์ป่า การเผาป่าเพื่อสะสางหน้าดิน เป็นต้น  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง อาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง” อาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดไฟป่าและฝุ่นควัน นั่นคือ ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” เมื่อช่วงปีใดเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ทำให้มีค่าดัชนีความแห้งแล้ง Palmer Drought Severity Index (PDSI) มาก ซึ่งจะเกิดไฟไหม้มากกว่าในช่วงของ “ลานีญา” ที่มีฝนตก อีกทั้งความแห้งแล้งนี้เองทำให้ไฟป่าสามารถลุกลามไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ การเกิดไฟไหม้ซึ่งนำไปสู่ปัญหาฝุ่นควันของภาคเหนือตอนบน เมื่อมีการเผาไหม้จะทำให้เกิดจุดความร้อนสะสม (Hotspot) โดย GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ให้ความหมายจุดความร้อนไว้ว่า จุดความร้อน คือ จุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากเป็นความร้อนจากไฟ แสดงในรูปแบบแผนที่เพื่อนำเสนอตำแหน่งที่เกิดไฟในแต่ละพื้นที่แบบคร่าว ๆ ดังภาพ

ภาพ จุดความร้อนภาคเหนือตอนบน ประเทศไทย วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566
ที่มาข้อมูล : NASA FIRMS

โดยข้อมูลจากดาวเทียม Suomi NPP – VIIRS ข้อมูลวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566 แสดงให้เห็นถึงจุดความร้อนสะสมทั่วภาคเหนือ ของประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 448 จุด แบ่งเป็นของภาคเหนือตอนบนถึง 246 จุด   

จากจุดความร้อนสะสมในภาคเหนือตอนบนจากดาวเทียม MODIS ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 – 2565) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  – 31 พฤษภาคม ของทุกปี พบว่ามีจุดความร้อนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2562 มีจุดความร้อนมากที่สุดจำนวน 9,859 จุด รองลงมาคือ ปี 2563 จำนวน 7,223 จุด  ตามมาด้วยปี พ.ศ. 2560  จำนวน 4,320 จุด, พ.ศ. 2564 จำนวน 3,840 จุด, พ.ศ 2561 จำนวน 3,519 จุด และอันดับสุดท้าย ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 1,811 จุด ตามกราฟดังนี้

กราฟแสดงจุดความร้อนสะสมในภาคเหนือตอนบนรายปี พ.ศ. 2560 – 2565

เมื่อจำแนกจุดความร้อนแต่ละจังหวัดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 – 2565) จะพบว่า จังหวัดที่มีจุดความร้อนจำนวนมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เชียงใหม่ และจังหวัดน่าน ตามลำดับ 

จากชุดข้อมูลจุดความร้อนแยกตามรายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนซึ่งสอดคล้องกับสถิติการดับไฟป่า ที่มีจำนวนครั้งที่สูงในปี พ.ศ. 2562 และปี พ.ศ 2563 ซึ่งเมื่อเทียบสถิติการดับไฟป่าและพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้แล้ว จะพบว่า ในภาคเหนือตอนบนจะมีจำนวนครั้งการดับไฟและพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้สูงที่สุดตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ในปี พ.ศ. 2563  ได้มีการเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีจุดความร้อนสูงถึง 2,551 จุด ซึ่งมีปริมาณพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ถึง 53,720.5  ไร่ และเมื่อเราเปรียบเทียบกับชุดข้อมูลจุดความร้อนแยกรายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากพื้นที่จุดความร้อนในปี พ.ศ. 2563 

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจาก ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช สถิติการดับไฟป่าใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และจังหวัดพะเยา โดยเปรียบเทียบข้อมูล 10 ปี ย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2556 ถึง ปี 2565 จะเห็นได้ว่าจากสถิติการดับไฟป่า ในปี 2562 ได้มีการดับไฟป่ารวมไปแล้วทั้งสิ้น 4,680 ครั้ง รวมพื้นที่กว่า 81,408.80 ไร่ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ ปี 2547 ที่มีสถิติการดับไฟป่าสูงถึง 5,235 ครั้ง รวมพื้นที่กว่า  42,238.0 ไร่  แต่ในปีถัดมา ปี 2563 ได้มีสถิติการดับไฟป่า 4,379 ครั้ง โดยน้อยลงจากปี 2562 ถึง 301 ครั้ง แต่กลับมีพื้นที่ถูกไฟไหม้มากว่าถึง 103,121.40 ไร่ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 20 ปี  สอดคล้องกับข้อมูลจุดความร้อนในปี 2563 ที่จังหวัดเชียงใหม่มีจุดความร้อนไปมากถึง 2,551 จุด

ในปี 2563 มีจำนวนสถิติการดับไฟป่าลดลง แต่กลับมีปริมาณพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า สาเหตุมาจากการเกิดเหตุไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ที่กลับมารุนแรงในรอบ 15 ปี โดยในปี 2563 จังหวัดเชียงใหม่ได้มีสถิติการดับไฟป่ารวม 2,735 ครั้ง และรวมพื้นที่ถูกไฟไหม้ถึง  53,720.5 ไร่ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้เท่ากับสนามหลวง 720 แห่ง ซึ่งทำให้ปริมาณพื้นที่ถูกไฟไหม้ในภาคเหนือและภาคเหนือตอนบนในปี 2563 ยังคงมีปริมาณที่สูงอยู่

สถิติการดับไฟป่าและปริมาณพื้นที่ถูกไฟไหม้ปัจจุบัน จากข้อมูลปีล่าสุด พบว่า มีสถิติการดับไฟป่าลดลงมาเหลือเพียง 1,503 ครั้ง และพื้นที่ถูกไฟไหม้ก็ลดลงเหลือเพียง 24,656.30 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของจุดความร้อนที่ลดลงจากปี 2564 – 2565 ถึง  2,029 จุดความร้อน

สามารถสรุปได้ว่า ปัจจุบัน ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีจำนวนสถิติการดับไฟป่า ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี 

เนื่องจากสถิติการดับไฟของภาคเหนือตอนบนมีมากถึง 1,503 ครั้ง ดังนั้นสาเหตุของการเกิดไฟป่าจึงมีโอกาสที่มาจากธรรมชาติ อาทิ กิ่งไม้แห้งเสียดสี ฟ้าผ่า เป็นต้น และรวมถึงมาจากการกระทำของมนุษย์เอง ที่มีการลักลอบเข้าป่า เพื่อกระทำการแสวงหาผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีจำนวนผู้ลักลอบเข้าป่าจริงมากกว่าจำนวนที่ถูกจับกุมได้ 

ผลกระทบจากฝุ่นควันต่อด้านเศรษฐกิจที่คาดไม่ถึง

ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือมีมานานมากกว่า 10 ปี แต่กลับมาวิกฤตอีกครั้งหลังจากได้รับผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของมลภาวะหมอกควันในทุกปี ที่ผ่านมาปัญหามลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้รายได้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวลดลงอย่างกะทันหัน

เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวในภาคเหนือลดลง ส่งผลถึงภาวะการว่างงานของประชาชนจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาท่องเที่ยวมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เกิดปัญหาหมอกควันคือช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 

จากปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวลดลง ทำให้จังหวัดในภาคเหนือตอนบนเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากค่าฝุ่นที่สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดทำให้นักท่องเที่ยวกังวลในเรื่องของผลกระทบของปัญหาหมอกควันเมื่อเทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศซึ่งเป็นระดับคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและมีผลกระทบต่อการทำกิจกรรมภายนอกเป็นเวลานานส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง

จำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สําคัญคือ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบทั้งด้านธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากในช่วงที่เกิดปัญหาหมอกควันดังกล่าว สายการบินได้มีการงดเที่ยวบินบางเที่ยวบิน โดยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการสัญจรบนเส้นทางหลวงระหว่างจังหวัด รวมทั้งข่าวสารเกี่ยวกับปริมาณหมอกควันและฝุ่นละออง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ส่งผลให้นักท่องเที่ยวงดหรือเลื่อนแผนการท่องเที่ยวออกไป ปัญหาหมอกควันที่ยังคงปกคลุมในภาคเหนือยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสงกรานต์และกระจายไปจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ แต่ละปีสร้างความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว โดยคาดว่าปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ลดลงประมาณร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดนี้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะเท่ากับ 1.05 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้ทั้ง 3 จังหวัดนี้สูญเงินจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไปสู่ธุรกิจบริการต่างๆประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 25.0

มูลค่าเงินที่เสียโอกาสในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า กรณีที่ ดัชนีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยในแต่ละเดือน จะส่งผลกระทบต่อจำนวน นักท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 68,827 คน คิดเป็นมูลค่าทาง เศรษฐกิจที่เสียโอกาสจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเท่ากับ 309,071,177.06 บาท

มูลค่าทางเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อดัชนีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เปลี่ยนแปลง (ตั้งแต่ปี 2557 – 2561) พบรายละเอียดดังนี้

ผลกระทบด้านสุขภาพ 

จากการที่พื้นที่ในภาคเหนือตอนบนยังคงพบเจอกับปัญหามลพิษจากฝุ่นควันอย่างหนัก ซึ่งส่งกระทบและเป็นอุปสรรคในการคมนาคมขนส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุดยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย โดยจากการสำรวจข้อมูลจาก HDCservice กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566  มีจำนวนทั้งสิ้น 2,648,243 คน โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 649,032 ราย รองลงมา คือ จังหวัดเชียงราย 467,574 ราย และ จังหวัดลำปาง จำนวน 396,271 ราย

รวม จำนวนป่วย (รายโรค) ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ในปี พ.ศ. 2563-2566 ของ 8 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน จากการสำรวจข้อมูลพบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และจังหวัดอื่น ๆ รองลงมา ทำให้เห็นว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมียอดจำนวนผู้ป่วยรวมเป็นจำนวนมาก 

ด้านโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนพบมากที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2566 ใน 5 อันดับ ได้แก่ โรคผิวหนัง จำนวน 721,613 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย โรคตาอักเสบ 445,755 ราย อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย และ หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า โรคที่ตรวจพบในจังหวัดภาคเหนือตอนบนมากที่สุด คือ โรคผิวหนังมีจำนวนผู้ป่วยถึง 721,613 ราย และโรคอื่น ๆ รองลงมาตามลำดับ และยังมีอีกหลากหลายโรคที่เกิดจากฝุ่นควัน แสดงให้เห็นว่าฝุ่นควันอันตรายต่อชีวิตของเรามากแค่ไหน โดยรวมแล้ว สถานการณ์ฝุ่นควันในภาคเหนือตอนบนยังคงเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน 8จังหวัดภาคเหนือตอนบนถึงปัจจุบัน

การป้องกันทางร่างกาย สุขภาพ

จากผลกระทบของฝุ่นควันที่มีต่อร่างกายและสุขภาพในจำนวนมาก ฝุ่นควันสามารถทำให้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ดังนั้นประชาชนจึงควรป้องกันร่างกายและสุขภาพของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหรือการป่วยจากฝุ่นควัน 

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง” อาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการป้องกันและดูแลตนเองจากฝุ่นควัน ไว้ดังนี้

อันดับแรกต้องทราบถึงสถานการณ์ฝุ่นควันในช่วงต่าง ๆ ก่อน ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือหรือประเทศไทยจะอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาวถึงฤดูร้อน จะเป็นช่วงที่มีฝุ่นควันจำนวนมาก วิธีการดูแลป้องกันตนเองจากฝุ่นควันเบื้องต้น คือ ต้องทราบข้อมูลของสถานการณ์หรือคอยเฝ้าดูเตือนภัยฝุ่นควันความเข้มข้นของฝุ่นควันจากสถานีต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง  หน่วยงานของประเทศไทยที่รับผิดชอบเรื่องการรายงานฝุ่นควันโดยตรงคือ กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีสถานีที่คอยรายงานอยู่ในหลาย ๆ จังหวัด หรืออยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

ในระดับค่าต่าง ๆ มีการเตือนภัยถึงสภาพอากาศว่ามีฝุ่นควันปะปนในอากาศมากน้อยเพียงใด โดยมีสีต่าง ๆ เป็นตัวกำหนด หากอยู่ใน “โซนสีเหลือง” หมายถึงในอากาศเริ่มมีฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงวัย หรือผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้คนกลุ่มนี้ หากค่าฝุ่นควันอยู่ในโซนสีเหลืองต้องเฝ้าระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่สำหรับคนทั่วไปอาจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 

สีเหลืองระดับค่าดัชณีคุณภาพอากาศ AQI ( Air Qulity Indax ) จะมีค่าประมาณไม่เกิน 100 แต่หากเกิน 100 ก็จะเปลี่ยนเป็น“โซนสีส้ม” ถ้าหากเป็นโซนสีส้มคนทั่วไปต้องเฝ้าระมัดระวังตนเองจากฝุ่นควัน ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือว่ากลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำก็จะต้องเฝ้าระมัดระวังตนเองเป็นพิเศษ 

แต่เมื่อเป็น “โซนสีแดง” ทุกคนต้องเฝ้าระมัดระวังและต้องป้องกันตนเองเป็นพิเศษ ดังนี้

  • 1. ลดการสัมผัส ลดการสัมผัสและลดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นควัน โดยการสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นควันขนาดเล็กได้ ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็นหลายมาตราฐาน และไม่ใช่หน้ากากอนามัยทั่วไปที่ใช้ป้องกันโรคหรือหน้ากากที่มีเยื้อบุสามชั้น แต่คือหน้ากาก N95 ที่ได้การรับรองจากองค์กรทางสาหรัฐอเมริกา ในเรื่องของ FFP2 มาตราฐานของยุโรป และต้องสวมใส่ให้ถูกวิธี หน้ากากอนามัยต้องรัดแน่นกับใบหน้า หลังจากนั้นบีบเหล็กดัดตรงสันจมูกให้แนบไปกับสันจมูก
  • 2.ลดการสัมผัสภายนอกอาคาร การทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายภายนอกอาคาร เพราะในอาคารจะมีอากาศที่ดีกว่าภายนอกอาคาร บริเวณนอกอาคารจะมีฝุ่นควันมาก โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ต้องหายใจเอาอากาศเข้าในปริมาณมาก ๆ ก็จะส่งผลเสีย ทำให้สัมผัสอากาศที่มีฝุ่นควันเข้าไปในปอดค่อนข้างมาก อาจทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้น 
  • 3.การจัดการสภาพแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย ลดการใช้น้ำหอม ลดการใช้ธูป การทำความสะอาดที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยทางอ้อมหรือปัจจัยเสริมที่ลดการสัมผัส หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ก็ควรหลีกเลี่ยงในช่วงนี้ ควรทำให้ที่พักอาศัยสะอาดอยู่ตลอดเวลาหรือซื้อเครื่องฟอกอากาศ 

กรณีป่วยหรือเริ่มมีอาการในช่วงฝุ่นควันมาก จะเป็นอีกขั้นตอนของการดูแลป้องกันตนเอง นั่นคือ ต้องพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวและมีอาการแสดงออกมาให้รีบพบแพทย์ โรคที่อาการแสดงออกชัดเจน คือ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด กลุ่มโรคเหล่านี้จะเป็นโรคกลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังอาการมากที่สุด

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง” ยังได้กล่าวถึงระดับการเตือนภัยหรือวิธีการดูค่าฝุ่นควันเพิ่มเติม ไว้ว่า “การเตือนหรือการสื่อสารต่อประชาชนในปัจจุบันยังมีการสื่อสารหรือส่งสารที่ผิด สื่อหลาย ๆ แห่งมีการสื่อสารหรือส่งสารที่ผิดพลาดไปพอสมควรในเรื่องของระดับมาตราฐานหรือค่ามาตราฐานของ PM2.5 ปัจจุบันจะเรียกว่าค่ามาตราฐานรายวันและจะอยู่ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่มีกฎหมายออกมาใหม่และกำลังเตรียมประกาศใช้ จะใช้ค่ามาตราฐานของ PM2.5 อยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นค่ารายวันไม่ใช่ค่ารายชั่วโมง แต่เนื่องด้วยเครื่องมือในปัจจุบันจะวัดค่าออกมาเป็นรายชั่วโมง จึงทำให้หลาย ๆ คนมักจะนำค่ารายชั่วโมงไปอ้างอิงกับค่ามาตราฐานว่าเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในกรณีนี้ไม่สามารถสรุปได้ ต้องนำมาเฉลี่ยทั้งวันก่อนถึงจะนำมาเทียบกับค่ามาตราฐานได้

เครื่องวัดค่าดัชณีคุณภาพอากาศ AQI ( Air Qulity Indax ) และค่า PM2.5 ที่มหาวิทยาลัยพะเยา

ค่ารายชั่วโมงให้นำไว้เตือนว่าเมื่อไหร่ที่ฝุ่นควันเริ่มเยอะ จะได้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่จะนำมาใช้สื่อสารกับประชาชนไม่ได้ ถ้าต้องการแจ้งหรือประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนควรจะใช้ค่ามาตราฐานรายวัน และค่ามาตราฐานรายวันจะเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ค่ารายชั่วโมงยังไม่ได้บ่งชี้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพและยังไม่ได้มีงานวิจัยบ่งชี้ชัดเจนว่าสมารถนำมาใช้เป็นค่ามาตราฐานได้”

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง” ยังพูดเสริมถึงคำที่มักจะเข้าใจผิดคือสีของค่าดัชณีคุณภาพอากาศ AQI ( Air Qulity Indax ) และค่า PM2.5 ว่า “สองค่านี้ไม่ใช่ค่าเดียวกัน การตรวจฝุ่นควันทางอากาศจะมีการตรวจ 6 ตัวพร้อม ๆ กัน บางตัวอาจจะเกินมาตราฐาน บางตัวอาจจะไม่เกิน หรืออาจจะเกินพร้อมกัน ซึ่งการที่จะสื่อสารกับประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เลยทำการสรุปออกมาเป็นค่าดัชณีคุณภาพอากาศ AQI ( Air Qulity Indax ) ซึ่งค่า AQI จะมีสีต่าง ๆ ถ้าหากเกิน 100 ก็คือเกินมาตราฐาน ถ้าหากอยู่ในช่วง 80 – 100 ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรจะเฝ้าระวัง แต่ถ้าหากเกิน 100 ทุกคนควรเฝ้าระวังตนเองจากฝุ่นควันและผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ”

แนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือตอนบน

จากสาเหตุของการเกิดไฟป่าซึ่งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือตอนบนข้างต้น ทางคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าในภาคเหนือตอนบน สามารถสรุปได้ ดังนี้ 

ปัจจุบันปี 2566 รัฐบาล โดย กรมควบคุมมลพิษเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้หลักการ 7 มาตรการ 3 พื้นที่ คือ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ดังนี้

พื้นที่เมือง : มีแหล่งกำเนิดมาจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรม ดังนี้

การจราจร 

  1. ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน
  2. เพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำเพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง

โรงงานอุตสาหกรรม 

  1. ตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง จำนวน 896 โรงงาน เช่น โรงงานที่ใช้หม้อน้ำ โรงงานที่ใช้ถ่านหิน โรงงานหลอมเหล็ก เป็นต้น
  2. ควบคุมสถานประกอบการ เช่น กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น

พื้นที่เกษตร : มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร ดังนี้

  1. ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร
  2. สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 17,640 คน และตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%

 พื้นที่ป่า : แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญมาจากไฟป่า ดังนี้

  1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน
  2. บูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า
  3. การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า
  4. กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนละ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

โดย 7 มาตรการตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ภายใต้แผนเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย

นอกจากนี้ในปี พ.ศ 2566 จังหวัดในภาคเหนือตอนบนนำโดยจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปางยังได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อกำหนดแนวทางขั้นต้นในเชิงปฏิบัติการเพื่อระงับไฟป่าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีรายละเอียดดังนี้ 

1. ร่วมกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อ ประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน

2. ร่วมกำหนดแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ร่วมกันในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 4 จังหวัด โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกัน มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ การลาดตระเวน การทำแนวกันไฟ และหากเกิดไฟป่าในเขตพื้นที่รอยต่อต้องมีการบูรณาการปฏิบัติงานดับไฟร่วมกัน ซึ่งได้กำหนดรายชื่ออำเภอที่มีพื้นที่ป่ารอยต่อระหว่าง 4 จังหวัดไว้แล้ว 

3. มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ร่วมกันทั้ง 4 จังหวัด เช่น การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือ ใช้ทางการเกษตร เศษกิ่งไม้ใบไม้ และการใช้แอปพลิเคชัน เพื่อเชื่อมโยงกลไกความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 

4. มีการถ่ายทอดข้อมูลสถิติต่าง ๆ สร้างการรับรู้สถานการณ์จุดความร้อน และค่า PM2.5 ร่วมกัน เพื่อสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

5. มีการเข้มงวดแหล่งกำเนิด PM2.5 แหล่งอื่น ๆ เช่น รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และเขตก่อสร้าง เพื่อควบคุมไม่ให้ ค่าคุณภาพอากาศ (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐานสำหรับสถิติการดับ

“โดยเบื้องหลังของปัญหามาจากเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ปัญหาหลักของการเผาจะเกิดในป่า ซึ่งมาจากชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่ามากินมาขาย พอมีการเผาป่าก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจพัง สุดท้ายก็วนกลับไปที่กลไกลเศรษฐกิจเหมือนดั่งเดิม นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากจะเข้ามาเที่ยว ไฟล์บินก็บินไม่ได้ฝุ่นควันหนาบังเส้นทางการบิน อีกอย่างคือการสูญเสียทางสุขภาพ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง
อาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา

จากสาเหตุการเกิดปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ ตลอดจนผลกระทบด้านต่าง ๆ และโรคภัยที่ประชาชาชนในภาคเหนือตอนบนต้องประสบ ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จัดการแก้ไขปัญหาจากต้นตอของแหล่งกำเนินอย่างแท้จริง

ดังนั้น รัฐบาลควรเพิ่มมาตราการจัดการ หาทางออกและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างจริงจัง พร้อมสอดส่อง ดูแล และป้องกันก่อนแก้ไขปัญหาในภายหลังเพื่อสามารถลดโอกาสการเกิดความสูญเสียต่อผืนป่า ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอีกได้ในอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ