เตรียมเปิดรายงาน ‘ปัญหาการระทำทรมานฯ’ สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้

เตรียมเปิดรายงาน ‘ปัญหาการระทำทรมานฯ’ สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้

หากมองว่าสถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ปล้นปืน ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน เวลาได้ก็ล่วงเลยมากว่า 11 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้นี้แต่อย่างใด

รายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้พบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2557 จำนวน 14,688 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นถึง 6,286 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงปีละ 571 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 11,366 ราย เฉลี่ยปีละ 1,033 ราย 

จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลไทยพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ รวมทั้งการใช้และการออกกฎหมายพิเศษหลายฉบับ คือ การประกาศใช้มาตรการในการตรวจค้น ห้าม ยึด จับกุม กักตัวหรือควบคุมตัวบุคคล โดยไม่ต้องมีหมายของศาล ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (กฎอัยการศึก) การตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่สามารถปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมและกักตัวผู้ต้องสงสัยโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกไว้ในค่ายทหารได้เป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน และควบคุมตัวในสถานที่พิเศษ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีกไม่เกิน 7 วัน และขยายการควบคุมตัวได้คราวละไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วันโดยได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหาว่าได้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด

แม้จะยอมรับกันในทางกฎหมายว่า บุคคลที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยไม่ใช่ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่สิทธิของบุคคลเหล่านั้นกลับถูกจำกัดเสียยิ่งกว่าผู้ต้องหาในคดีอาญาเสียอีก กล่าวคือ ไม่สามารถพบญาติหรือทนายความได้ ไม่มีการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว ถูกจำกัดเวลาในการเยี่ยม บางกรณีมีการปกปิด หรือย้ายสถานที่ควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้ญาติทราบ

บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ จะต้องเข้าสู่กรรมวิธีในการซักถามข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการซักถามดังกล่าวเป็นการแสวงหาข้อมูลเอาจากตัวผู้ต้องสงสัยเองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหรือกลุ่มก่อความไม่สงบหรือไม่ อันเป็นวิธีการรวบรวมพยานหลักฐานที่นอกเหนือไปจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่โดยอ้างการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังกล่าวที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เป็นเวลา 37 วัน ในสถานที่พิเศษ โดยกำหนดข้อห้ามและสร้างอุปสรรค ทำให้ขาดการตรวจตราจากองค์กรภายในและขาดตรวจสอบจากองค์กรภายนอกที่เป็นอิสระรวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

มีการสั่งห้ามไม่ให้กรณีกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ และทนายความโดยอิสระเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัว หากต้องการเยี่ยมต้องทำหนังสือถึงแม่ทัพฯ ซึ่งอาจไม่ทันการและไม่มีประสิทธิภาพ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกจับกุม กัก หรือควบคุมตัว ถูกทรมานฯ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาบางคน และหน่วยงานของรัฐบางแห่ง จนเกิดเป็นข้อร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่าย ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ที่เคยถูกจับกุมและควบคุมตัวว่าถูกกระทำทรมาน หรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หลายกรณีด้วยกัน 

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับกลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations Fund for Victims of Torture) จึงได้เก็บรวบรวมข้อมูล และให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานฯ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเสียหายทั้งทางกายและจิตใจ ฟื้นฟูและสนับสนุนให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม และได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาจากรัฐ 

และเพื่อเสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ ให้ดำเนินการทั้งในทางนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติ เพื่อป้องกันและขจัดการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งยังดำรงอยู่อย่างกว้างขวางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือหยุดยั้งการกระทำทรมานได้ 

ดังนั้นทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ จึงได้จัดทำรายงานเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงปัญหาของการระทำทรมานฯ ผลกระทบที่เกิดจากการกระทำทรมานฯ และการแสวงหาความร่วมมือในการหยุดยั้งการกระทำทรมานฯ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 13:00-16:30 น. ห้องประชุม ชั้น 3 วิทยาลัยอิสลามศึกษา ตึกศูนย์ภาษาและทดสอบภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี

โดยจะมีการนำเสนอ รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 และการเสวนาแนวทางการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการกระทำทรมาน 

วัตถุประสงค์หลัก คือ 1.เพื่อให้ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ทราบถึงสถานการณ์การทรมานและปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ในจังหวัดชายแดนใต้ 2.เพื่อแสวงหาหนทางร่วมในการป้องกันการกระทำทรมาน และปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ในจังหวัดชายแดนใต้

20160502183001.jpg

ปฎิทินกิจกรรม: งานเปิดตัวรายงานและการสร้างการตระหนักรู้การป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ในจังหวัดชายแดนใต้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ