อยู่ดีมีแฮง : ผกาเปรย ดอกไม้ป่า เบ่งบานนอกตำราเรียน

อยู่ดีมีแฮง : ผกาเปรย ดอกไม้ป่า เบ่งบานนอกตำราเรียน

ห้องเรียนตามใจสู่โอกาสทางการศึกษา

บรรยากาศอันแสนร่มรื่นของบริเวณบ้านบนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ซึ่งถูกแผ่คลุมไปด้วยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่น้อยนานาพรรณ เราได้พบว่ากลุ่มน้อง ๆ วัยระดับชั้นประถมราว 9-10 คน กำลังล้อมวงวาดภาพระบายสี และกระจายกันอยู่ตามร่มไม้ ขณะเดียวกันพี่ๆ วัยมัธยมทั้งชายหญิง 4-5 คน ต่างกำลังง่วนอยู่กับการขุดดิน เพื่อเตรียมแปลงปลูกผัก ส่วนหนึ่งช่วยกันหอบเศษฟางข้าวในทุ่งนาที่เหลือหลังเสร็จจากการเก็บเกี่ยว นำมามาคลุมโคนต้นไม้ก่อนจะรดน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน

ที่นี่คือห้องเรียนของน้อง ๆ ในอำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ภายใต้ชื่อ “สวนนิเวศเกษตรศิลป์”

“สวนนิเวศเกษตรศิลป์ เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมด้านเด็กในชุมชน เราเปิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่เรียนรู้เพื่อทำกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ ได้มาเล่น ได้มาสร้างงานศิลปะ ได้มาเจอพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน”

พี่หยา สัญญา ทิพย์บำรุง ผู้สร้างห้องเรียนแห่งนี้ได้เล่าให้เราฟัง

สัญญา ทิพย์บำรุง สวนนิเวศเกษตรศิลป์

นอกจากบรรยากาศห้องเรียนตามใจที่แลดูน่าเรียนรู้แล้ว เรายังได้เห็นความโดดเด่นของผู้เรียน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองจากพื้นที่แห่งนี้ได้ “แป๋ง” ฐานกร ขันธ์แก้ว เขาเป็นเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งการศึกษาในระบบไม่อาจตอบโจทย์การเรียนรู้ของเขา แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนได้เปิดโอกาสให้เขาเค้นเอาความสามารถออกมาและแสดงความรู้ ทักษะ และความชำนาญด้านดนตรี จนทำให้หลายคนยอมรับ และต้องเรียกเขาว่า “อาจารย์แป๋ง”

จากนักเรียนนอกห้อง สู่อาจารย์นักดนตรี

พี่หยาเล่าให้เราฟังว่า ได้รู้จักกับแป๋งจากการลงไปในชุมชน เห็นเด็กคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์เลาะชุมชน แต่ในมือเขาจะถือซออยู่ตัวหนึ่ง ทำให้รู้สึกเป็นจุดสนใจของตนเอง และเริ่มเข้าไปทำความรู้จักกับแป๋งผ่านผู้นำชุมชน

“ผู้นำชุมชนก็ชวนไปหาแป๋ง แล้วก็ได้คุยกับแป๋ง แล้วก็ได้รู้เรื่องราวของแป๋ง จึงชวนมาร่วมกิจกรรมที่สวน”

การอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ รวมถึงการถูกบูลลี่ในโรงเรียนเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แป๋งไม่ชอบไปโรงเรียน รู้สึกว่าไม่ใช่พื้นที่ของตนเอง รู้สึกว่าไปก็เรียนไม่ทันเพื่อน เรียนก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะไปโรงเรียนทำไม หรือไปแต่ไม่เข้าห้องเรียนบ้าง อยู่ตามป่าอะไรอย่างนี้แล้วก็กลับบ้าน

สิ่งที่เรารู้คือแป๋งชอบสีซอ แต่แป๋งไม่มีโอกาสที่จะมีพื้นที่ ให้เขาได้ไปนั่งสีซอ พอรู้ว่าเขาชอบเล่นซอและเห็นความสามารถของเขา พวกเราจึงตกลงกันตั้งวง ซึ่งครั้งแรกที่เขาตกลงกันตั้งวงชื่อวง “ผกาเปรย” ซึ่งแปลว่าเป็นดอกไม้ป่า พอตั้งวงเสร็จเขาก็จะมีกลุ่มที่ชอบกันตรึมด้วยกัน เขาก็รวมวงฝึกซ้อมเล่นกัน พอเขาได้มีพื้นที่ขึ้นเล่นเวทีใหญ่ ๆ หรือขึ้นไปเล่นให้ผู้คนได้ฟัง แป๋งเริ่มมีความมั่นใจ เราก็ชวนไปหาผู้รู้หรืออาจารย์นักดนตรีด้วย แป๋งก็จะฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าตัวเองมั่นใจ แล้วเล่นเป็นบทเพลงได้ เล่นร่วมวงกันคนอื่นได้ สามารถขึ้นเวทีเล่นเองก็มีความมั่นใจ

อาจารย์แป๋งผู้มี passion ด้านกันตรึม

เสียงซอกันตรึม ดังสลับกับเสียงกลอง พร้อมกับคำร้องเป็นภาษาเขมร ดังก้องไปทั่วท้องทุ่งอยู่ราวๆ ชั่วโมง ซึ่งอาจารย์แป๋งได้เล่นให้เราฟัง แม้จะไม่รู้ความหมายของเพลง แต่ก็ฟังแล้วอินไปกับจังหวะดนตรี

ด้วยความเป็นคนเขินอายเราจึงได้สนทนากับอาจารย์แป๋งเพียงเล็กน้อยถึงความชอบ และที่มาของการเล่นซอ

“เห็นคุณตาทวดเล่น ก็เลยชอบครับ แกสอนให้ตั้งสายเทียบเสียงซอ และสอนให้เล่นเพลง 2-3 เพลง อะยัย แล้วก็กะแจงจิ๊ กับฮูตึ๊ ครับ ประมาณนี้ครับ เราก็ฟังเพลงทุกวัน แล้วจำมาเล่น”

แป๋งเล่าให้ฟังว่าการได้ออกมาทำกิจกรรมแบบนี้ทำให้เขามีความสุข และสนุก

“สนุกครับ สนุกกว่าเรียนในห้องเรียน” คำตอบพร้อมกับใบหน้าอมยิ้ม

แม้ทักษะอ่านเขียนด้านวิชาการอาจไม่คล่องแคล่ว แต่ด้วยความเอาใจใส่และขยันฝึกฝนการเล่นดนตรี ทำให้เขาสามารถถ่ายทอดความรู้ และศิลปะดนตรีกันตรึมให้กับน้อง ๆ เยาวชนในพื้นที่ได้ จนหลายคนต้องซูฮกเขาว่า “อาจารย์แป๋ง” ผู้ที่เป็น ดอกไม้ป่าที่บานนอกตำราเรียน

พื้นที่แห่งการเรียนรู้ สร้างทักษะเห็นคุณค่าในตัวตน

ห้องเรียนข้างนอก อาจเป็นทางที่ถูกจริตมากกว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยมๆ แคบๆ

เป็นโอกาสให้น้อง ได้มีพื้นที่ ได้มีโอกาส ได้มีเวที ในขณะที่เขาเรียนไม่เก่ง แต่เขามีความสามารถ เราพยายามชูความสามารถของเขา ให้คนอื่นได้เห็น ให้เห็นคุณค่าว่าสิ่งที่เขาเล่นได้ สิ่งที่เขาเล่นเป็น มันมีค่า มีมูลค่า และที่สำคัญ คือ แป๋งเล่นซอและทำซอขายเอง จนแป๋งสามารถเก็บสะสมเงิน ช่วยทางบ้านสร้างบ้านได้ ตอนนี้บ้านแป๋งก็เสร็จแล้ว โดยส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำพักน้ำแรงของแป๋งที่ไปรับจ้างสีซอ ไปเล่นกันตรึมกับเพื่อน ๆ ในวง ได้เงินมาก็ให้คุณยายเป็นคนเก็บ ยายก็รวบรวมเก็บให้ สุดท้ายก็ได้เงินก้อนและก็สร้างบ้านจนเสร็จ

“เขามีความมั่นใจ เขารู้สึกดีใจ และเขาภูมิใจในสิ่งที่เขาทำได้ค่ะ” พี่หยา กล่าวด้วยสีหน้าปลื้มปริ่มอย่างภูมิใจกับการเห็นกล้าพันธุ์ที่ตนมีส่วนร่วมเพาะปลูกกำลังงอกงามและเติบโต

“เรื่องของการศึกษาเราก็มองเป็นเครื่องมือ เครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เด็กได้มีวุฒิ มีกระบวนการด้านการศึกษา แต่ว่าการศึกษาในระบบนอกระบบมีความต่าง บางอย่างเราก็จะเรียนรู้ทั้งในระบบทั้งในและนอกระบบ และดูว่าอันไหนที่เราช่วยได้ ก็คือไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบ พี่หยามีความรู้สึกว่ามันมีความสำคัญเท่ากัน ขึ้นอยู่กับกระบวนการในการทำมากกว่าค่ะ สุดท้ายแล้วเป้าหมายเดียวกัน”

พี่หยากล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ